47. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 47) 24/2/2552

47. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 47) 24/2/2552

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 47)


47. ความเป็นมาของทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย กับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ต่อ)

สังคมเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยมี “ความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่” เป็นอุปสรรคขวางกั้นที่สังคมไทยจะต้องฝ่าข้ามไปให้ได้ ด้วยจิตสำนึกแห่งทางเลือกอย่างมีสติบริบูรณ์

ขอให้ “พวกเรา” ชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จงเชื่อมั่นในศรัทธา ความหวัง ความรัก และการให้อภัย แม้จะอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าเป็นใจเอาเสียเลย

“สงครามครั้งสุดท้าย” ของ “พวกเรา” จะยุติลงได้ก็ต่อเมื่อพวกเราสามารถที่จะรัก “ศัตรู” ของตนได้อย่างแท้จริง ทำได้แม้กระทั่งการอธิษฐานภาวนาให้แม้กับผู้ที่เป็น “ฝ่ายตรงข้าม” ของตน พวกเราควรที่จะสามารถรักผู้อื่น ทั้งมิตรและศัตรูได้เหมือนๆ กัน รักอย่างไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้นทั้งปวง รักอย่างมีสติพร้อมบริบูรณ์ และเปี่ยมด้วยปัญญาญาณที่สมบูรณ์

เพราะนี่คือ วิถี ที่พวกเราชาวพันธมิตรฯ ควรเลือกเดินเพื่อไปให้ถึงจุดนี้ให้จงได้ และ นี่คือสุดยอดและเป็นที่สุดของวีรชนนิยม (heroism) หรือวิถีแห่งผู้กล้าที่แท้จริง เพราะนี่คือการมองโลก มองชีวิตจากระดับจิตของ อทวิภาวะ (nondual) อันเป็น ระดับจิตแบบเหนือโลก

ซึ่งตามภูมิปัญญาแบบบูรณาการ (โปรดดู แผนภูมิ “โมเดลระดับจิต” ประกอบ) อธิบายว่า เป็นจิตที่มีโลกทัศน์แบบ รหัสนิยม หรือ รหัสนัยคติ (mystic)

โดยทั่วไป ระดับจิตที่จำแนกตามโลกทัศน์จะแบ่งได้เป็นจิตในโลกทัศน์แบบ มายาคติ (magic) ที่มีความเชื่อแบบงมงายในการเข้าใจธรรมชาติและชีวิต จึงเป็นระดับจิตที่ต่ำที่สุด ที่ยังพบได้ในผู้คนระดับรากหญ้าหรือคนระดับล่างที่ไม่ได้รับการศึกษาหรือมีการศึกษาไม่สูงนัก เมื่อจิตพัฒนาขึ้นมา จิตก็จะมีโลกทัศน์แบบ ปรัมปราคติ (myth) ที่เชื่อและยอมรับการดำรงอยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสมมติเทพ ยอมรับว่า ชีวิตปัจจุบันถูกลิขิตล่วงหน้าแล้วด้วยกรรมในอดีตชาติ จึงยอมรับวรรณะและความไม่เสมอภาคระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และต้องการการมีสังกัดที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง

หากจิตมีการพัฒนาต่อไปอีก จิตก็จะมีโลกทัศน์แบบ เหตุผลนิยม (rational) ที่เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ บูชาวัตถุนิยม ยอมรับระบอบประชาธิปไตยที่คนทุกคนมีความเสมอภาคกันทางกฎหมาย ในสังคมไทยปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป โดยเฉลี่ยจะสามารถพัฒนาจิตมาได้ถึงระดับนี้เท่านั้น หากจิตได้รับการพัฒนาต่อไปอีกด้วย การศึกษา การเรียนรู้ การอ่านหนังสือ และการฝึกฝนทางความคิดอย่างต่อเนื่อง จิตก็จะสามารถมีโลกทัศน์แบบ พหุนิยม (plural) ซึ่งเป็นระดับจิตของปัญญาชน หรือปราชญ์บัณฑิตที่เป็น ปุถุชน ซึ่งเป็นระดับจิตสูงสุดภายใน จิตชั้นที่หนึ่ง (first tier) (ดู แผนภูมิ ประกอบ)

หากผู้นั้นเริ่มปฏิบัติธรรมและฝึกจิตด้วย จิตของผู้นั้นก็จะได้รับการพัฒนาให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก จนมีโลกทัศน์แบบ บูรณานิยม หรือ บูรณาคติ (integral) อันเป็นจิตภายใน จิตชั้นที่สอง (second tier) ซึ่งเป็นระดับจิตที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ (transitional) ระหว่างโลกียะกับโลกุตตระ และถ้าหากผู้นั้นมีภูมิธรรมที่สูงพอ และฝึกฝนปฏิบัติธรรมต่อไปจนรู้แจ้ง และมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณโดยตรง จิตของผู้นั้นก็จะมีโลกทัศน์แบบ รหัสนัยคติ (mystic) ซึ่งเป็นจิตที่อยู่ใน จิตชั้นที่สาม (third tier) และเป็น จิตที่เหนือโลก (ดู แผนภูมิ ประกอบ

ปัญหาความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันก็คือ การที่กลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้า ที่ยังอยู่ในระดับจิตที่มีโลกทัศน์แบบ พหุนิยม (โดยตัวแทนหลักของปัญญาชนแบบนี้คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์) ได้นำเสนอ วาทกรรม ที่ปกป้องผลประโยชน์ของ “คนจน” ในภาคชนบทที่เป็น คนชั้นล่าง หรือเป็น คนชั้นกลางระดับล่าง ที่อยู่ในระดับจิตที่มีโลกทัศน์แบบ มายาคติ กับ ปรัมปราคติ

โดยนำเอามันไปผูกแน่นหรืออิงแอบกับ ระบอบทักษิณ หรือ ธนาธิปไตยที่อยู่ในรูปโฉมของระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบการเลือกตั้ง โดยที่ตัวปัญญาชนกลุ่มนี้เอง ก็มีทัศนคติในเชิงลบต่อระบอบอำมาตยาธิปไตย หรือระบอบศักดินาอยู่แล้วว่า “ล้าหลัง” และเห็นว่า ระบอบธนาธิปไตย หรือทุนนิยมสามานย์นั้น “ก้าวหน้า” กว่า แม้จะโกงกินมากกว่าก็ตาม

ไม่แต่เท่านั้น คนในระบอบทักษิณ เอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในระดับจิตที่มีโลกทัศน์แบบ เหตุผลนิยมกลายพันธุ์ เพราะเป็น เหตุผลนิยมที่ไปผสมพันธุ์กับอำนาจนิยม ที่เป็นลักษณะเด่นของโลกทัศน์แบบ ปรัมปราคติ จึงเป็นโลกทัศน์ที่บิดเบี้ยว สามานย์ เห็นแก่ตัว และหน้าด้าน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แม้ว่าในแต่ละโลกทัศน์ของแต่ละระดับจิตจะมีด้านบวก และด้านลบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละโลกทัศน์ดำรงอยู่ก็ตาม

แต่คนในระบอบทักษิณกลับผนวกเอาด้านลบ หรือด้านที่เลวร้ายทั้งของโลกทัศน์แบบปรัมปราคติ (คืออำนาจนิยม) กับของโลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม (คือ เห็นเงินเป็นพระเจ้า) มาอยู่ในตัว แล้วยังไป “ลอกเลียน” และ “หลอกใช้” วาทกรรมจากโลกทัศน์แบบพหุนิยมของปัญญาชนกลุ่มนั้นมาสร้างความชอบธรรมให้แก่พวกตน แล้วใช้วาทกรรมอันสามานย์ชุดนี้ไป “ครอบงำ” จิตใจของคนรากหญ้าในภาคชนบทที่ยังมีโลกทัศน์แบบ มายาคติ และ ปรัมปราคติอยู่

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขาหรือคนในระบอบทักษิณ เพียงแค่ “ทดแทน” การครอบงำทางจิตใจในเชิงสัญลักษณ์ของระบอบอำมาตยาธิปไตยจากส่วนกลาง ที่เคยมีอิทธิพลอยู่ในจิตใจของคนรากหญ้าในชนบทมาก่อน แล้วแทนที่ด้วยการครอบงำทางจิตใจของระบอบทักษิณ ผ่านนักการเมืองท้องถิ่นที่ “ปรนเปรอ” หรือใช้เงินฟาดหัวให้อย่างเป็นรูปธรรม แล้วใช้คนเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของพวกตน

ขณะเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่แกนนำพันธมิตรฯ ได้ใช้ วาทกรรมแบบ “ราชาชาตินิยม” ซึ่งตอบสนองต่อ โลกทัศน์แบบปรัมปราคติ กับใช้ วาทกรรมแบบ “การเมืองใหม่” ซึ่งสะท้อน โลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม ที่ไม่บิดเบี้ยว ไม่กลายพันธุ์มาเป็นอาวุธสำคัญในการปลุกระดมมวลชน และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ขบวนการของตน ด้วยเหตุนี้ กองทัพหลัก ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงประกอบไปด้วยชนชั้นกลางในเขตเมืองส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับจิตที่มีโลกทัศน์แบบปรัมปราคติกับเหตุผลนิยมเป็นหลัก

ผู้คนที่เข้ามาร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มีจิตใจดีงาม เสียสละ รักความเป็นธรรม สนใจติดตามข่าวสารของบ้านเมือง และตื่นตัวในการเข้าร่วมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เมื่อผู้คนเหล่านี้ได้มารวมตัวกันภายใต้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงกลายมาเป็น เครือข่ายขุมพลังเกิดใหม่ ที่เป็น “อำนาจใหม่” ซึ่งเป็นอำนาจทางสังคม หรืออำนาจทางศีลธรรมที่ผุดขึ้นมาเพื่อต่อต้าน และโค่นล้มระบอบทักษิณ จึงทำให้เกิดการปะทะความขัดแย้ง และความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ขึ้นในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยที่ความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่นี้เกิดจาก การปะทะกันทางโลกทัศน์ ระหว่าง โลกทัศน์แบบปรัมปราคติและเหตุผลนิยม ที่เชิดชูคติราชาชาตินิยม และ “การเมืองใหม่” ของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับ โลกทัศน์แบบมายาคติและปรัมปราคติของคนชั้นล่าง และคนชั้นกลางระดับล่างในภาคชนบท ที่ถูกครอบงำโดย วาทกรรม “ประชาธิปไตยมหาชน” ของคนในระบอบทักษิณที่ลอกเลียนและหลอกใช้วาทกรรม “ประชาธิปไตยมหาชน” นี้จาก โลกทัศน์แบบพหุนิยม ของกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งในสังคมไทยมาสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบทักษิณ

จึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่มี โลกทัศน์แบบพหุนิยม จะมีท่าทีที่เย็นชาหรือรับไม่ได้กับ วาทกรรมแบบราชาชาตินิยม ของแกนนำพันธมิตรฯ สิ่งนี้มันแทบออกมาจากจริต และสัญชาตญาณทางความคิดของคนเหล่านี้เลยก็ว่าได้ เพราะฐานคิดและคุณค่าที่คนเหล่านี้ยึดถือ มันเป็นคนละชุดกับของพวกพันธมิตรฯ และกลับมองว่า วาทกรรมและชุดความคิดของพันธมิตรฯ เป็นสิ่งที่ “ล้าหลัง” และไม่เคารพ “ความเสมอภาค” ของมนุษย์

คนเหล่านี้จึงไม่สามารถมองเห็น ศักยภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และด้านที่ “ก้าวหน้า” ทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ ภายใต้คำขวัญที่อนุรักษนิยม ซึ่งเป็นปฏิบท (paradox) แห่งอัตลักษณ์ (identity) หรือเป็นวิภาษวิธี (dialectic) แห่งอัตลักษณ์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ เนื่องเพราะผู้ที่จะสามารถมองเห็น มองทะลุถึง “เอกภาพแห่งความขัดแย้ง” เชิงอัตลักษณ์ที่ดำรงอยู่ในตัวขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในระดับจิตที่มี โลกทัศน์แบบบูรณานิยม หรือ บูรณาคติ (integral) ขึ้นไป

“พวกเรา” ชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะต้องเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนทางโลกทัศน์ของขบวนการของตนให้ดี อีกทั้งยังต้องเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของพวกปัญญาชนที่มีโลกทัศน์แบบพหุนิยมให้ได้ เพราะคนเหล่านี้มิใช่ “ฝ่ายตรงข้าม” ของพวกเราเลย ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเคยวิพากษ์วิจารณ์พวกเราอย่างรุนแรงก็ตาม และถึงแม้ว่าในขณะนี้ พวกเขาจะเย็นชาต่อขบวนการของพวกเราก็ตาม

จะว่าไปแล้ว พวกเขาจะกลายมาเป็น “มิตรแท้” ของขบวนการของพวกเราในอนาคตข้างหน้า ถ้าหากขบวนการของพวกเราสามารถประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ และเติบโตทางจิตสำนึกจนสามารถยกระดับจิตทั้งของแกนนำของคณะทำงาน และของผู้เข้าร่วมขบวนการของพวกเราให้ไปสู่ โลกทัศน์แบบพหุนิยม หรือบูรณานิยมที่ “ก้าวข้าม” และหลอมรวมโลกทัศน์แบบปรัมปราคติ (ราชาชาตินิยม) และเหตุผลนิยม (การเมืองใหม่) ได้เป็นผลสำเร็จ

จุดแข็งที่เป็นด้านบวกของโลกทัศน์แบบพหุนิยมก็คือ การมองปัญหาแบบยอมรับความหลากหลาย และให้ความเคารพต่อความแตกต่าง ตัวตน (self) ของพวกที่มีโลกทัศน์แบบพหุนิยมคือ ตัวตนแบบเชื่อมโยง (networking self) หรือตัวตนที่อ่อนไหวต่อ “คนชายขอบ” (sensitive self)

คุณค่าที่พวกที่มีโลกทัศน์แบบพหุนิยมให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ ความผูกพันระหว่างเพื่อนมนุษย์ (human bonding) ความอาทรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ (ecological sensitivity) การยกย่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการให้ความสำคัญกับความเสมอภาค (egalitarian values)

จะเห็นได้ว่า คุณสมบัติที่มีสุขภาวะ (healthy values) ของพวกที่มีโลกทัศน์แบบพหุนิยมเช่นข้างต้นนี้ เป็นคุณสมบัติที่ทำให้พวกเขาสามารถกลายมาเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้า และปัญญาชนระดับแนวหน้าของสังคมไทยได้ แม้ว่ายังเป็นปุถุชนอยู่ก็ตาม

แต่ในทางกลับกัน จุดอ่อนของผู้ที่มีโลกทัศน์แบบพหุนิยม โดยเฉพาะพวกที่เป็นโพสต์โมเดิร์นแบบสุดโต่งก็คือ มีความไม่เชื่อ มีความระแวงสงสัยทั้งต่อความจริง ความดี และความงาม อีกทั้งยังไม่เชื่อ หรือไม่ศรัทธาต่อ “สิ่งสูงสุดใดๆ” โดยมองว่ามันเป็นแค่สิ่งประดิษฐ์ทางวาทกรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น การมองโลกแบบโพสต์โมเดิร์นที่สุดโต่งเช่นนี้ ย่อมทำให้ยากที่จะหา “ความหมายให้แก่ชีวิตได้ โลกและชีวิตในสายตาของคนพวกนี้ จึงกลายเป็นสีเทาที่ไม่มีดำ ไม่มีขาว และน่าหดหู่ (mihilistic)

ยกตัวอย่างเช่น การเอา “ธรรมนำหน้า” จึงกลายเป็นคำขวัญที่ดูตลก สำหรับพวกเขา เพราะพวกเขายากที่จะเชื่อว่า “ธรรม” มีจริง เพราะในสายตาพวกเขา “ธรรม” ก็เป็นแค่สิ่งประดิษฐ์ทางวาทกรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นที่สามารถ “ถอดรื้อ” ได้ จะเห็นได้ว่า วิธีคิดของผู้ที่มีโลกทัศน์แบบพหุนิยมหรือโพสต์โมเดิร์นแบบสุดโต่งนี้ แม้อาจจะ “อธิบาย” หรือ “วิพากษ์” โลกและสังคมได้อย่างเฉียบคมก็จริง แต่มันไม่อาจชี้ ทางสว่าง ให้แก่สังคมได้อย่างแท้จริง และไม่อาจกลายเป็น พลังเปลี่ยนแปลงสังคม ได้อย่างแท้จริง เพราะพวกเขาไม่เคยศรัทธาต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ จนถึงขนาดกล้าทุ่มเทชีวิตเข้าแลกเพื่อสิ่งนั้นได้ อีกทั้งยังไม่มีศรัทธาต่อเรื่องจิตวิญญาณหรือเรื่องธรรมะ หรือเรื่องสิ่งสูงสุดจนถึงกับคิดทุ่มเทฝึกฝนปฏิบัติธรรม เพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของคำสอนอย่างเป็นประสบการณ์โดยตรง มิใช่อยู่แค่ในความคิดเฉยๆ ซึ่งเป็นโลกหลักของพวกเขา

ที่สุดแห่งที่สุดของวิถีแบบโพสต์โมเดิร์นนี้ก็คือ การเป็นคน “ฉลาด” และ “รู้ทัน” อำนาจในรูปแบบต่างๆ อย่างไม่ยอมสยบให้ แต่จะว่าไปแล้ว วิถีแบบนี้มันก็มีประโยชน์และมีคุณค่าในตัวของมันเองอยู่ดี ท่ามกลาง ความหลากหลายของเส้นทางแห่งตัวตน (self)ที่จะต้องวิวัฒนาตัวเองต่อไปจนกว่าจะ สลายตัวตน แห่งตนได้ในที่สุด






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้