38. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 38) 2/1/2551

38. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 38) 2/1/2551

ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 38)


38. วิถีกู้ชาติของศรี อรพินโธ (ต่อ)

หลังจากที่ลี้ภัยมาที่เมืองพอนดิเชอรี่แล้ว อรพินโธ ได้มีโอกาสศึกษาเรื่องราวของมหาโยคี อกัสติยะ ด้วยความตื่นตาตื่นใจ อกัสติยะ (Agastya) เป็น สิทธะ (Siddha)หรือ ผู้สำเร็จวิชากุณฑาลินีโยคะ ที่เป็นบุคคลในตำนาน เพราะเชื่อกันว่า ท่านเป็นหนึ่งในเจ็ดของมหาฤาษีผู้ถ่ายทอดคัมภีร์พระเวทออกมา

สิทธะ ในยุคโบราณอย่าง อกัสติยะ เป็นทั้งนักรหัสนัย นักปราชญ์ ศิลปิน และนักวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ท่านยังเป็น “นักปฏิวัติ” ที่ต่อสู้กับ “สันดานมนุษย์” หรือธรรมชาติของมนุษย์ อีกด้วย ท่านเป็นบุคคลผู้ซึ่งสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดในความเป็นมนุษย์ และได้ทิ้ง “โรดแมป” หรือ แผนที่นำทางไปสู่การสำเร็จทางจิต ไว้ให้แก่คนรุ่นหลังในรูปของบทกลอนที่แต่งด้วยภาษาทามิล (ภาษาท้องถิ่นในอินเดียใต้) เป็นจำนวนมาก

อกัสติยะ เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการที่คนคนหนึ่งสามารถพัฒนาตัวเองให้กลายเป็น ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นมาได้ด้วยความวิริยะพากเพียรพยายามในการฝึกฝนตนเองด้วยวิชาโยคะ และด้วยการอุทิศตนให้แก่พระผู้เป็นเจ้า

ประวัติศาสตร์แห่งวัฒนธรรมอินเดีย เป็นประวัติศาสตร์แห่งการเผยตัวให้เห็นถึงปริศนาความเร้นลับแห่งจิตมนุษย์โดยแท้ และวิชาโยคะ คือ กุญแจที่จะไขปริศนาของจิตได้ เพราะ โยคะเป็นการมีประสบการณ์โดยตรงในการเข้าถึงจิตแห่งจักรวาล (หรือจักรวาฬ)

พวกโยคี ฤาษี สิทธะในยุคโบราณล้วนเข้าถึง จิตแห่งจักรวาลนี้ ได้ก็ด้วยการฝึกลมปราณ และเจริญสมาธิภาวนาตามหลักของโยคะ เพราะ โยคะ คือ การบำเพ็ญตบะซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะแห่งการเป็น “นายของตัวเอง” ในช่วงแรกเริ่มของการฝึกโยคะ ธรรมชาติของมนุษย์หรือสันดานมนุษย์จะต่อต้านวิชาการฝึกตนนี้ เพราะจิตมันยังไม่เชื่อง แต่เมื่อฝึกฝนไปนานวันเข้าจนช่ำชองและจิตอยู่ในโอวาทแล้ว การปฏิบัติโยคะของผู้นั้นจะเป็นไปเองอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องบังคับฝืนใจทำอีกต่อไป

อรพินโธ ยังจำได้ดีว่า ตอนที่เขากำลังทำสมาธิอยู่ในคุกที่อลิปอร์นั้น “เบื้องบน” ได้บอกกับเขาว่า ความเป็นฮินดูนั้นได้รับการสืบทอด และพัฒนาโดยเหล่าฤาษี เหล่ามุนี เหล่าโยคี เหล่านักบุญ และเหล่าอวตารทั้งหลาย โดยเขาก็ต้องกระโจนเข้าร่วมในสายธารนี้ด้วย เพราะแผ่นดินนี้จะอยู่ได้ก็ด้วยธรรมและควรจะอยู่เพื่อธรรมเท่านั้น

อรพินโธ ตระหนักดีว่า แม้โยคะที่ตัวเขากำลังฝึกฝนอยู่นี้จะเป็นการสืบทอดสายธารแห่งโยคะมาจาก สิทธะ อย่าง อกัสติยะ ก็จริง แต่ ณ ปลายทางที่ วิชาโยคะแบบเก่า อย่าง กุณฑาลินีโยคะ ของ อกัสติยะ สิ้นสุดลงที่นั่นแหละ คือจุดเริ่มต้นแห่ง บูรณาโยคะ (Integral Yoga) ของตัวเขา นับจากนี้เป็นต้นไป

* * *

สี่ปีต่อมา ค.ศ. 1914

ชีวิตในช่วงสี่ปีแรก นับจากที่ อรพินโธ ลี้ภัยมาอยู่ที่เมืองพอนดิเชอรี่นี้ เป็นชีวิตที่ยากเข็ญทางเศรษฐกิจ และต้องอยู่อย่างอดมื้อกินมื้อ อรพินโธ ใช้ชีวิตเป็น โยคี ในเมืองเล็กๆ ติดชายทะเลแห่งนี้ แทบไม่ต่างจากโยคีที่บำเพ็ญเพียรทางจิตบนเทือกเขาหิมาลัยแต่อย่างใด จะต่างกันก็แค่ “ถ้ำ” ของเขาคือ บ้านเช่าหลังเล็กๆ ที่ อรพินโธ อยู่กับผู้ติดตามที่เป็นเด็กหนุ่มไม่กี่คนเท่านั้น

บ้านพักของพวกเขาแทบไม่มีเครื่องเรือนอะไรเลย อาหารการกินก็ขัดสน พวกเขาอยู่ได้เพราะการจุนเจือด้วยการส่งเงินจำนวนน้อยนิดของพรรคพวกในขบวนการกู้ชาติเท่านั้น ในยุคสมัยที่ทางการปราบปรามอย่างเข้มงวด การส่งเงินมาให้ผู้นำขบวนการปฏิวัติอย่าง อรพินโธ จึงเป็นเรื่องอันตราย ทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าช่วยเหลือ อรพินโธ อย่างเปิดเผย

ทางการอังกฤษไม่เคยเลิกเชื่อว่า อรพินโธ จะวางมือจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองจริง พวกเขามองว่า อรพินโธ ใช้โยคะและศาสนาเป็นเครื่องบังหน้าเพื่อปิดบังการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติของตัวเขาเท่านั้น พวกเขายังคงมองว่า อรพินโธ เป็นบุคคลที่อันตรายที่สุดคนหนึ่งในอินเดีย ที่อยู่เบื้องหลังขบวนการกู้ชาติที่สร้างความหนักอกหนักใจให้แก่ทางการอังกฤษมาโดยตลอด

อย่าว่าแต่ทางการอังกฤษเลย แม้แต่พรรคพวกในขบวนการปฏิวัติด้วยกันเอง ในตอนแรกๆ ก็ไม่เชื่อว่า อรพินโธ จะวางมือจากการปฏิวัติจริง พวกเขาแค่คิดว่า อรพินโธ คงมาหลบภัย และปฏิบัติธรรมสักครึ่งปีแล้วคงกลับไปเคลื่อนไหวต่อ แต่หนึ่งปีผ่านไปแล้ว ก็ไม่มีวี่แววว่า อรพินโธ จะกลับไป สองปีผ่านไป สามปีผ่านไป อรพินโธ ก็ยังคงคร่ำเคร่งอยู่กับการบำเพ็ญโยคะเหมือนเดิม จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1914 พรรคพวกของ อรพินโธ ในขบวนการปฏิวัติ จึงเริ่มเชื่อว่า อรพินโธ ได้เลือกที่จะเป็นโยคีแน่นอนแล้ว

ในบรรดาเด็กหนุ่มไม่กี่คนที่คอยอยู่ดูแล อรพินโธ ในช่วงนั้น มีอยู่คนหนึ่งถูกทางการอังกฤษซื้อตัวให้เป็น “สายสืบ” คอยจับตาดูพฤติกรรมของ อรพินโธ ว่ายังคงมีการเคลื่อนไหวเชิงลับเพื่อการปฏิวัติอยู่อีกหรือไม่ เด็กหนุ่มคนนี้แหละที่ต่อมาได้ก้มลงกราบแทบเท้าของ อรพินโธ สารภาพว่า เขาเป็นสายสืบให้แก่ทางการ เพราะเขารู้สึกละอายต่อมโนธรรมในใจที่ได้กระทำผิดต่อ “คุรุ” ของตน เด็กหนุ่มยืนยันว่า เขาไม่เคยรายงานในสิ่งที่ให้ร้ายต่อ อรพินโธ เลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะตัวเขาก็รู้ดีว่า อรพินโธ คร่ำเคร่งอยู่กับการบำเพ็ญเพียรทางจิตจริงๆ

“อาจารย์ครับ ผมขอโทษ โปรดยกโทษให้ผมด้วยนะครับ”

นี่เป็นคำอำลาของเด็กหนุ่มคนนั้น ก่อนที่เขาจะผละจาก อรพินโธ และเลิกทำงานให้กับทางการต่อไป เพราะไม่อาจทนต่อความสำนึกผิดทางมโนธรรมอีกต่อไปได้

อรพินโธ แผ่เมตตาให้แก่เด็กหนุ่มผู้นั้น เขารำพึงในใจว่า

“ความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณที่ได้มาจากการค่อยๆ เรียนรู้จากบทเรียนชีวิต และประสบการณ์ชีวิตในชีวิตประจำวันนั้น มันเนิ่นช้าและกินเวลานานมากเหลือเกิน ผู้คนส่วนใหญ่จึงมีน้อยคนที่จะมีความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณสูงกว่าระดับเฉลี่ยของสังคมในตอนนั้นได้...”

“ผู้คนส่วนใหญ่เหล่านี้ ไม่รู้ว่าต้องตายแล้วเกิดใหม่ ไม่รู้อีกกี่ชาติถึงจะมีความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณขึ้นมาได้บ้าง พวกเขาเหล่านี้ยังไม่ได้ตระหนักรู้กันเลยว่า ด้วยการบำเพ็ญโยคะปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา คนเราจะสามารถย่นย่อหลายภพหลายชาติให้เหลือเพียงไม่กี่สิบปีเท่านั้นในชาตินี้ชาติเดียวได้...”

“ในช่วงสามสี่ปีมานี้ ตัวเราได้บำเพ็ญเพียรโยคะ จนมีความรุดหน้าใน วิชาโยคะแบบเก่า ไปมากแล้ว แต่ทำไมหนอตัวเราจึงยังรู้สึกว่ามันยังไม่เพียงพออยู่ดี..”

“วิชาโยคะทั้งหลายในอดีตนั้น มุ่งที่เข้าถึงภาวะศักดิ์สิทธิ์ในจิตสำนึกของตนเป็นหลัก ด้วยการมุ่ง ยกระดับพลัง (ascent)ให้สูงส่งยิ่งขึ้นจนถึงระดับของ ธรรมจิต (Spirit) แต่การแค่สามารถเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์ในจิตสำนึกของตน ด้วยวิชาโยคะแบบเก่าแค่นี้ มันไม่เพียงพอหรอกที่จะทำให้สามารถสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์บนโลกใบนี้อย่างรวมหมู่ที่เป็นเป้าหมายหลักในชีวิตของเราได้...”

“เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะ วิชาโยคะแบบเก่า มองโลกนี้ ชีวิตนี้ว่าเป็นแค่มายา เป็นทุกข์ เป็นอนิจจังอย่างเดียวเท่านั้น โดยละเลยที่จะมองว่า โลกนี้ ชีวิตนี้ก็ยังมีด้านที่เป็นการเผยตัวของการสร้างสรรค์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (The Divine) ด้วย...”

“ด้านที่เป็น การเผยตัวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะที่เป็น วิวัฒนาการของจักรวาฬ นี้แหละ ที่สร้างความชอบธรรมให้แก่ วิชาโยคะแบบใหม่ที่ตัวเราจะสถาปนาและบัญญัติขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการเปลี่ยนแปลง สันดานของมนุษย์ ในทุกๆ ระดับทั้งกาย ใจ และวิญญาณ เพื่อทำให้คนเราสามารถกลายเป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาจิตวิญญาณให้ศักดิ์สิทธิ์และสมบูรณ์ได้...”

“ตัวเราไม่เคยคิดบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อการหลุดพ้น เอาตัวรอดเพียงลำพังเลย เราคิดแต่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้เป็นการสร้างสรรค์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการเข้าไปร่วมมือกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำการช่วยยกระดับและวิวัฒนการโลกใบนี้...นี่เป็น ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ เพียงหนึ่งเดียวในชีวิตของเราเสมอมาและตลอดไปตราบจนลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชีวิตเรา การจะบรรลุภารกิจอันนี้ได้ เราต้องเข้าไปช่วยผลักดันทำให้ชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้เป็น ชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ อย่างแท้จริง ด้วยการทำให้ทุกระดับ ทุกมิติในชีวิตของคนเรานี้เป็นทั้งกายศักดิ์สิทธิ์ ใจศักดิ์สิทธิ์ และวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ โดยเริ่มต้นจากตัวเราเองเสียก่อน...”

“โอ! นี่ช่างเป็นภารกิจที่ใหญ่โตมโหฬารเหลือเกิน และช่างท้าทายเสียเหลือเกิน แม้แต่เราเองก็รู้ว่า คนที่ฝึกปฏิบัติโยคะที่คิดในแนวใหม่แบบของเรานี้ มีจำนวนน้อยคนเหลือเกินในโลกใบนี้ ท่ามกลางผู้ฝึกปฏิบัติโยคะจำนวนนับเป็นล้านๆ คนทั่วโลกใบนี้...”

“เพราะใน วิชาโยคะแบบใหม่ ของเรา ไม่เพียงแต่มุ่งไปที่การยกระดับพลัง (ascent) เหมือนของวิชาโยคะแบบเก่าเท่านั้น แต่ยัง มุ่งไปที่การชักนำพลังศักดิ์สิทธิ์จากจิตศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนให้ลงมา (descent) ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกเปลี่ยนแปลงผู้คนอย่างรวมหมู่ด้วย...”

“พลัง ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนที่แท้จริง ที่สามารถทำให้ ชีวิตที่สามัญ กลายเป็น ชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ ได้นั้นคือ พลัง ของ จิตศักดิ์สิทธิ์ (Supermind หรือ Supermental) การปรากฏและเผยตัวของ จิตศักดิ์สิทธิ์ ในยุคนี้จะสามารถทำให้เกิดวิวัฒนาการครั้งใหญ่แก่มวลมนุษยชาติในยุคนี้ได้”

* * *

ว่าแต่ว่า อรพินโธ จะสามารถค้นพบและเข้าถึง จิตศักดิ์สิทธิ์ นี้ได้อย่างไร?





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้