35. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 35) 12/12/2550

35. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 35) 12/12/2550

ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 35)
 

35. วิถีกู้ชาติของศรี อรพินโธ (ต่อ)

อรพินโธ แต่งงานกับ ศรีมาติ มริณาลินี (Mrinalini) ในปี ค.ศ. 1901 เมื่อเขามีอายุได้ 29 ปี ขณะที่เจ้าสาวของเขามีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น อรพินโธ กระโจนเข้าสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างแทบที่จะเรียกได้ว่าเต็มตัวใน ปี ค.ศ. 1903

การเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองที่ อรพินโธ ถูกม้วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันได้ดูดกลืนพลังชีวิตของตัวเขาไปอย่างน่าตกใจ คนที่รู้จักเขาแนะนำให้เขาลองฝึกโยคะดูเพื่อเพิ่มพูนพลังชีวิตและสุขภาพ ขณะนั้นเป็นช่วงกลางปี ค.ศ. 1904 หลังจากที่ อรพินโธ เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจังเพียงปีกว่าเท่านั้น

ในตอนแรกที่ อรพินโธ เริ่มฝึก หทะโยคะ จากเพื่อนคนหนึ่งของเขานั้น เขายังไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับโยคะเลย ไม่รู้แม้กระทั่งพระเจ้าคืออะไรในความหมายของโยคะ ครั้นพอเขาเริ่มฝึก อาสนะ และ ปรานายาม รวมทั้ง การบำเพ็ญตบะ (บำเพ็ญเพียรทางจิต) แบบโยคะไปได้พักหนึ่ง อรพินโธ ก็ตระหนักรู้แก่ใจตัวเองว่า “โยคะเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” สำหรับตัวเขานั้น จะต้องไม่ใช่โยคะที่หันหลังให้กับโลกหรือทอดทิ้งโลก โยคะที่เรียกร้องให้ทอดทิ้งโลก ทอดทิ้งสังคม มิใช่โยคะสำหรับตัวเขาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะ อรพินโธ ตระหนักดีอยู่ตลอดเวลาว่า ตัวเขามีภารกิจศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องกู้ชาติ ปลดปล่อยมาตุภูมิให้เป็นอิสระจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

ดังนั้น เมื่อ อรพินโธ ได้ค้นพบว่า พลังอำนาจ ที่ตัวเขาได้จากการฝึกโยคะนั้น นอกจากจะสามารถใช้ไปในการมุ่งสู่ โมกษะ หรือความหลุดพ้นได้ ถ้าหากปรารถนาเช่นนั้นแล้ว มันยังสามารถใช้ใน ปฏิบัติการ ต่างๆ เพื่อบรรลุภารกิจได้อีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมจึงไม่ใช้ พลังอำนาจ ที่ได้จากการบำเพ็ญตบะแบบโยคะนี้ เพื่อการกู้ชาติเล่า?

ในห้วงยามนั้น อรพินโธ หายใจเข้า หายใจออกก็เป็นการกู้ชาติอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว อรพินโธ จึงทุ่มเทให้กับการฝึกโยคะอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ การฝึกหายใจแบบโยคะ ที่เรียกว่า ปรานายาม (Pranayama) สำหรับตัวเขาแล้ว ความปรารถนาที่จะกู้ชาติเป็นแรงผลักดันอันสำคัญที่ทำให้ปัญญาชน และนักเคลื่อนไหวหนุ่มอย่าง อรพินโธ เริ่มหันมาสนใจชีวิตทางจิตวิญญาณ

หลังจากฝึกปรานายามไปได้ไม่กี่เดือน อรพินโธ ก็เห็นผลของการฝึกโยคะอย่างจับต้องได้ ขณะที่กำลังฝึกปรานายามอยู่นั้น อรพินโธ รู้สึกได้ชัดว่า สมองของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยแสงสว่าง จิตใจของเขาก็เปี่ยมไปด้วยพลัง และความคิดสร้างสรรค์ เขารู้สึกได้กระทั่งว่ามีกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ วิ่งรายรอบสมองของเขา ซึ่งมันทำให้ศักยภาพในการคิดและการเขียนหนังสือของเขามีพลังมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดและเห็นได้ชัด

อรพินโธ เริ่มให้ความสนใจกับ “โลกภายใน” และด้านที่เป็นจิตวิญญาณของชีวิตมากขึ้น สิ่งนี้เองที่ทำให้ตัวเขาต่างไปจากนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนอื่นๆ ที่หมกมุ่นอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองจนละเลยมิติด้านอื่นๆ ของชีวิต

วันที่ 30 เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1905 ในท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เข้มข้นและร้อนแรงในขณะนั้นที่ อรพินโธ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างคลุกวงใน อรพินโธ ได้เขียนจดหมายถึง มริณาลินี ภรรยาของเขา พร้อมกับเปิดเผย “ความลับ” ของเขาที่ตัวเขาเป็น นักปฏิวัติ ให้ภรรยาสาววัยสิบแปดของเขาได้รับรู้เป็นครั้งแรกว่า ตัวตน ที่แท้จริงของเขานั้นเป็นอย่างไร จดหมายฉบับนั้นมีใจความส่วนหนึ่งดังต่อไปนี้

“มริณาลินี ยอดรัก

โลกใบนี้ เป็นโลกซึ่งเมื่อคุณแสวงหาความสุข คุณกลับพบแต่ความโศก ความเศร้าติดตามความเบิกบานดุจเงาตามตัว มีวิธีเดียวที่จะเยียวยาโลกใบนี้ได้คือ มอบถวายทั้งความสุขและความโศกทั้งปวงให้แก่เบื้องพระบาทของพระผู้เป็นเจ้าด้วยหัวใจที่นอบน้อมเท่านั้น...”

“สุดที่รักของผม ตอนนี้ผมคิดว่าคุณพอจะเข้าใจเลาๆ แล้วว่า ชายที่คุณอยู่กินด้วยคนนี้เป็นผู้ชายที่มีอุปนิสัยใจคอต่างจากคนทั่วไปในสังคมนี้ เพราะสิ่งที่เขาเคลื่อนไหวปฏิบัติการ จุดประสงค์ในชีวิตของเขา และทัศนคติของเขาแตกต่างไปจากผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ สุดที่รักของผม ตัวผมรู้ดีว่า ตัวผมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพวกเขาเหล่านั้นในทุกๆ ด้าน และไม่ธรรมดา

เวลาคนธรรมดาได้ยินทัศนะหรือการกระทำที่ต่างออกไปจากธรรมดา พวกเขาจะลงความเห็นก่อนเลยว่า นั่นคือ ความเพี้ยน หรือ ความบ้า แต่ถ้าความเพี้ยนหรือความบ้านั้นกลายเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในกิจการงานของคนผู้นั้นเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละ คนผู้นั้นถึงจะไม่ถูกมองว่าเป็นคนบ้าหรือคนเพี้ยนอีกต่อไป แต่จะถูกมองว่าเป็น อัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่แทน

...ผมรู้ดีว่า ความคาดหวังที่สตรีมีต่อสามีของตัวเองนั้น ส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่แค่ความสุขทางโลกเท่านั้น และผมก็รู้ดีว่า สามีที่เป็น “คนบ้า” จะไม่มีวันทำให้ภรรยาของเขาเป็นสุข “ได้”

“สุดที่รักของผม โบราณจารย์แห่งศาสนาฮินดู มักพร่ำสอนอยู่เสมอว่า มนตราสำหรับสตรีเพศ มีอยู่บทเดียวเท่านั้นคือ จงเคารพรักสามีของตนดุจคุรุ ภรรยาที่ดีต้องแบ่งปัน ธรรมะ ร่วมกับสามีต้องช่วยเขา ให้กำลังใจเขาปฏิบัติหน้าที่ของเขาที่ตัวเขายึดถือว่าเป็น ธรรมะ ของตัวเขา ผมอยากให้คุณตระหนักในสิ่งนี้ หากแม้การที่คุณต้องมาแต่งงานกับ “คนบ้า” อย่างผมจะเป็นผลของกรรมเก่าของเราทั้งสองในอดีตชาติก็ตาม”

“สุดที่รักของผม ขณะนี้ ตัวผมมีความบ้าหรือความคลั่งไคล้อยู่สามอย่างด้วยกันที่ตัวผมอยากจะบอกคุณ

ความคลั่งไคล้อย่างที่หนึ่ง คือ ศรัทธาที่ตัวผมเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นและลึกซึ้งว่า คุณธรรม ความสามารถ ทักษะต่างๆ รวมทั้งความรู้ทั้งหลายที่ตัวผมมีอยู่นั้น ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าหรือเบื้องบนประทานให้แก่ตัวผมทั้งสิ้น หาใช่เป็นของผมเองไม่ ผมมีสิทธิ์ใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อตัวเองและครอบครัวเฉพาะเท่าที่จำเป็นและอย่างพอเพียงเท่านั้น ที่เหลือผมต้องมอบคืนให้แก่พระผู้เป็นเจ้า หรือใช้มันเพื่อรับใช้พระผู้เป็นเจ้า ถ้าหากตัวผมใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อปรนเปรอบำเรอความสุขความสบายของตนเองแต่เพียงถ่ายเดียวแล้ว ตัวผมก็จะไม่ต่างกับหัวขโมยคนหนึ่งเลย”

“สุดที่รักของผม การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ การปกป้องผู้ที่มาขอความช่วยเหลือยิ่งเป็นหน้าที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่า ในยุคมืดอย่างทุกวันนี้ ประเทศทั้งประเทศนี้กำลังมาขอความช่วยเหลือจากผมถึงหน้าประตูบ้าน ผมมีพี่น้องร่วมชาติกว่า 300 ล้านคนที่กำลังรอความช่วยเหลือจากผมอยู่ นี่คือสิ่งที่ผมต้องกระทำและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการเห็นด้วยจากตัวคุณ...”

“ความคลั่งไคล้อย่างที่สอง มันเพิ่งเข้ามาเกาะกุมจิตใจของผมเมื่อไม่นานมานี้เอง สุดที่รักของผม สิ่งนั้นคือ ความปรารถนามุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะต้องเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าโดยตรงให้จงได้ ไม่ว่าตัวผมจะต้องทุ่มเทอย่างไรก็ตาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าดำรงอยู่จริง มันจะต้องมีหนทางที่สามารถมีประสบการณ์โดยตรงกับพระองค์ได้แบบเผชิญหน้า ไม่ว่าหนทางสายนี้จะยากลำบากเพียงไหน ตัวผมได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแล้วว่า ผมจะเดินบนเส้นทางสายนี้อย่างแน่วแน่ไม่หวั่นไหว”

“ศาสนาฮินดูสอนว่า หนทางสายที่นำเราไปสู่พระผู้เป็นเจ้าโดยตรงนี้ ดำรงอยู่ในกายนี้ของเรา และในจิตของเรา โดยผ่านการบำเพ็ญโยคะ หลังจากที่ตัวผมได้ทดลองปฏิบัติและสังเกตการณ์การฝึกฝนตนเองของตัวผมในเส้นทางสายนี้มาระยะหนึ่ง ผมได้ค้นพบว่า คำสอนนี้ไม่ผิดพลาด เพราะตัวผมได้มีประสบการณ์กับตัวเองเป็นสัญญาณหรือสัญลักษณ์บ่งบอกว่า สิ่งที่คำสอนนี้บอกเป็นจริง ผมจึงต้องการพาคุณซึ่งเป็นสุดที่รักของผม ร่วมเดินทางไปกับผมบนเส้นทางสายนี้ด้วยกัน อย่ากังวลเลยว่าคุณจะทำไม่ได้ ผมมีความเชื่อมั่นว่า คนเราทุกคนสามารถเข้าถึง ความสมบูรณ์แห่งบารมี ได้ ถ้าหากทุกคนเดินอยู่บนหนทางแห่งโยคะสายนี้”

“ความคลั่งไคล้อย่างที่สาม ของผมก็คือ ขณะที่คนอื่นมองประเทศนี้เป็นแค่แผ่นดินธรรมดา ที่ประกอบด้วยทุ่งหญ้า แมกไม้ ป่าเขา และแม่น้ำ แต่ ตัวผมกลับมองประเทศสุดที่รักของผมนี้เป็นมารดาบังเกิดเกล้าอันศักดิ์สิทธิ์ ผมรักเคารพบูชาแผ่นดินดุจแม่สุดที่รักของผมอย่างเหลือประมาณ ขณะนี้แม่คนนี้ของผมกำลังถูกพวกวายร้ายบดขยี้และสูบเลือดปล้นชาติอยู่ แล้วผู้เป็นลูกอย่างตัวผมจะนั่งงอมืองอเท้าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ได้หรือ?”

“ผมได้ตัดสินใจแล้วว่าจะลุกขึ้นมาสู้กับความชั่วร้ายเหล่านี้ แต่อาวุธของผมไม่ใช่ทั้งปืนและดาบ อาวุธของผมคือ พลังแห่งปัญญาที่ใช้ธรรมนำหน้า ผมรู้ดีว่าตัวผมมี พลัง ที่จะยกระดับประเทศนี้และชนชาตินี้ให้สูงส่งขึ้นได้ ด้วยพลังแห่งปัญญาญาณของตัวผม ผมตระหนักดีว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ส่งผมลงมาจุติบนโลกนี้เพื่อปฏิบัติ ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ อันยิ่งใหญ่นี้ ผมเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ผมอายุแค่สิบสี่ปี และเมื่อผมอายุสิบแปดปี สิ่งนี้ก็ได้กลายมาเป็นปณิธานในชีวิตของผมอย่างไม่มีวันผันแปร ผมไม่ได้ต้องการจะบอกคุณว่า ภารกิจศักดิ์สิทธิ์อันนี้มันจะสำเร็จสมบูรณ์ในชั่วชีวิตของตัวผม แต่มันจะต้องสำเร็จเป็นส่วนใหญ่อย่างแน่นอน”

“ทั้งหมดนี้คือ ความลับ ของผมที่ตัวผมอยากจะบอกคุณ ขอให้คุณอย่าเปิดเผยให้ใครทราบเป็นอันขาด”

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1906 อรพินโธ ได้ทำเรื่องลาไปเพิ่มพูนความรู้เป็นเวลาหลายเดือน เขาได้ใช้โอกาสนั้นไปพบครูโยคะชื่อดังเพื่อศึกษาวิชาโยคะเพิ่มเติม และได้ไปเข้าร่วมสมัชชาของผู้รักชาติทั่วประเทศที่จัดขึ้นที่เบงกาลในเดือนเมษายน ในที่สุด อรพินโธ ก็ทำเรื่องขอย้ายที่ทำงานจากบาโรดามารับตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเบงกาลที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ สาเหตุที่เขาขอย้ายมาที่เบงกาลนี้ ก็เพื่อที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองได้คล่องตัวกว่าเดิมนั่นเอง เพราะเบงกาลเป็นเมืองที่ใหญ่กว่าบาโรดามาก ที่นั่น อรพินโธ ได้ออกนิตยสาร “กรรมโยคี” และเขียนบทความทางการเมืองชี้นำการเคลื่อนไหวหลายชิ้น จนถูกทางการอังกฤษเพ่งเล็ง กระทั่งถูกจับกุมในข้อหาตีพิมพ์เอกสารต้องห้ามในวันที่ 16 เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1907 ขณะที่ตำรวจเข้ามายึดค้นเอกสารที่บ้านพักภรรยาของเขา จึงได้พบจดหมายฉบับลงวันที่ 30 เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1905 ที่ อรพินโธ เขียนถึงภรรยาดังข้างต้น เรื่องราวที่เคย “ปิดลับ” ของ อรพินโธ จึงมิได้เป็น ความลับ อีกต่อไป แต่กลับแพร่ออกไปสู่สาธารณชนยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง โดยเฉพาะจดหมายฉบับดังกล่าวนี้ที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของ อรพินโธ ได้อย่างชัดเจนที่สุด

ข่าวการจับกุม อรพินโธ โดยทางการอังกฤษกลับทำให้ อรพินโธ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศในชั่วข้ามคืน ในฐานะที่ตัวเขาเป็น ผู้นำรุ่นใหม่ที่รักชาติ รพินทรนาถ ฐากุร กวีรางวัลโนเบลคนแรกของเอเชียถึงกลับเขียนกลอนสดุดีความรักชาติของ อรพินโธ ออกมา ชีวิตของ อรพินโธ ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วนับจากวันนั้น








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้