34. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 34) 4/12/2550

34. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 34) 4/12/2550

ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 34)


34. วิถีกู้ชาติของศรี อรพินโธ

ศรี อรพินโธ (Sri Aurobindo, ชาตะ ค.ศ. 1872-มรณะ ค.ศ. 1950) เป็นบุคคลที่บังเกิดในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศอินเดียในช่วงยุคหัวเลี้ยวหัวต่อสู่ยุคสมัยใหม่ เขาเป็นดุจ ประกาศก ที่โผล่ขึ้นมาป่าวประกาศแก่มวลมนุษยชาติว่า ความสวยสดงดงามของ อนาคตอันบรรเจิด ของมนุษยชาติจะต้องมาถึงอย่างแน่นอน เขาเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตทั้งชีวิตของเขาเข้าทดลองและพิสูจน์ยืนยันถึงคำประกาศอันนี้ของเขา ซึ่งไม่ใช่ความฝันลมๆ แล้งๆ แต่มันเป็น ความแน่แท้แห่งทิศทางวิวัฒนาการของโลก ที่กำลังมุ่งคลี่คลายไปสู่ทิศทางนั้น

ในห้วงขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมองว่า โลกนี้คือทุกข์ที่ประกอบไปด้วยอุบัติเหตุอันอาภัพซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ ศรี อรพินโธ กลับป่าวประกาศด้วยความมั่นใจว่า โลกนี้คือปาฏิหาริย์และคือความอัศจรรย์ที่กำลังเผยตัวออกมา บุคคลพิเศษเช่นนี้ มีความเป็นมาอย่างไรหนอ จึงกล้าที่จะบันลือสีหนาทอย่างนี้ได้

อรพินโธ โกส (Aurobindo Ghose) เป็นบุตรชายคนที่สามของนายแพทย์คริสโต โกส เขาเกิดที่เมืองกัลกัตตา ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1872 บิดาของเขาเคยไปเรียนเมืองนอกและเกิดความคลั่งไคล้ในการใช้ชีวิตแบบยุโรปหรือแบบตะวันตกอย่างหนัก จนถึงขนาดบังคับให้ผู้คนในครอบครัวของเขาพูดจากันด้วยภาษาอังกฤษแทนภาษาเบงกาลี อันเป็นภาษาท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้เอง อรพินโธ จึงเติบโตขึ้นมาโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่

ด้วยความศรัทธาในอารยธรรมตะวันตกอย่างคลั่งไคล้ ในที่สุด นายแพทย์โกสซึ่งต้องการให้บุตรชายทั้งสามคนของเขารับการศึกษาแบบอังกฤษเท่านั้น จึงตัดสินใจส่งลูกชายของเขาทั้งสามคน รวมทั้ง อรพินโธ ไปเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษ ทั้งๆ ที่ฐานะทางการเงินของนายแพทย์โกสมิได้มั่งคั่งพอที่จะทำได้เช่นนั้น

อรพินโธ ถูกส่งไปเรียนหนังสือที่เมืองนอกตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ ในปี ค.ศ. 1879 เขาต้องใช้ชีวิตเป็นนักเรียนนอกที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาถึง 14 ปีเต็ม หลังจากนั้นกว่าจะได้กลับมาตุภูมิ

ในตอนแรก อรพินโธ พำนักอยู่ที่บ้านของครอบครัวชาวอังกฤษที่เมืองแมนเชสเตอร์ เขาได้เรียนภาษาละตินกับครูที่มาสอนพิเศษให้แก่เขาเป็นการส่วนตัว อรพินโธ มีพรสวรรค์ในการเรียนภาษา จึงทำให้ภาษาละตินของเขาดีมากถึงขนาดเมื่อตัวเขาได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์ปอลที่กรุงลอนดอนแล้ว ครูใหญ่ของโรงเรียนถึงกับยินดีลงมาสอนภาษากรีกและฝรั่งเศสให้แก่เขาเป็นการส่วนตัวโดยเฉพาะ นอกจากนี้ อรพินโธ ยังศึกษาภาษาอิตาลี เยอรมัน และสเปนด้วยตัวเองอีกด้วย

ความที่ อรพินโธ เป็นคนที่รักการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ได้เรียนรู้รับรู้เรื่องราวของวีรบุรุษวีรสตรีของประเทศต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปลดปล่อยมาตุภูมิให้เป็นอิสระจากต่างชาติ สิ่งเหล่านี้ได้มีส่วนช่วย ก่อรูปการจิตสำนึกแห่งความรักชาติ ขึ้นภายในตัวของอรพินโธในวัยรุ่นหนุ่ม จนทำให้ ความปรารถนาที่จะ “กู้ชาติ” และปลดปล่อยอินเดียให้เป็นอิสระจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในตอนนั้น ได้กลายมาเป็นปณิธานและความมุ่งมั่นเพียงหนึ่งเดียวในชีวิตของเขา นับแต่บัดนั้น

อรพินโธ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในวัยรุ่นหนุ่มของเขาหมดไปกับการอ่านหนังสือ เขาเป็นเด็กที่เรียนดีมาก หลังจากเรียนจบจากโรงเรียนเซนต์ปอล เขาจึงได้ทุนการศึกษาให้เข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยคิงคอลเลจในเคมบริดจ์ ซึ่งที่นั่นเขาก็เรียนดีจนได้รับรางวัลอีกเช่นเคย

แต่ที่ต่างออกไปก็คือ ในช่วงที่ อรพินโธ เป็นนักศึกษาของเคมบริดจ์นั้น เขาได้เป็นผู้นำนักศึกษาอินเดียในอังกฤษด้วย และร่วมมือกับเพื่อนพ้องน้องพี่จัดตั้ง สมาคมลับเพื่อการกู้ชาติ ขึ้นมา ขณะนี้เขามีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเป็นนักปฏิวัติเพื่อปลดปล่อยอินเดียให้เป็นเอกราชจากประเทศอังกฤษ

แต่ความอยากเป็นนักปฏิวัติของ อรพินโธ ขัดแย้งกับความประสงค์ของบิดาของเขาที่อยากให้ตัวเขาเป็นขุนนาง และต้องการให้เขาสอบเข้าเป็นข้าราชการระดับสูงของอินเดีย (Indian Civil Service) ในปี ค.ศ. 1890 อรพินโธ ถึงกลับต้องแกล้งมาสอบไม่ทันเพื่อจะได้ถูกตัดสิทธิหมดสภาพการเข้าเป็นข้าราชการพลเรือนระดับสูง จะได้ไม่ต้องมีพันธะกับบิดาของเขา เพราะนั่นไม่ใช่ วิถี ที่เขาต้องการ และไม่ใช่ วิถี ที่ตัวเขาเลือกเดิน

อรพินโธ เป็น “นักเรียนนอก” ก็จริง คำว่า “นักเรียนนอก” นี้ แม้ฟังดูโก้เก๋ แต่ “นักเรียนนอก” อย่าง อรพินโธ หาได้มีชีวิตที่สุขสบายเลย เนื่องจากบิดาของเขาประสบปัญหาทางด้านการเงิน จึงไม่อาจส่งเสียเงินทองมาให้ตัวเขาได้อย่างสม่ำเสมอ อรพินโธ จึงเป็นนักศึกษาที่ต้องอยู่อย่างอดมื้อกินมื้อ อาหารเช้าของเขามีแค่ขนมปังสองแผ่นทาเนยกับชาร้อนหนึ่งแก้วเท่านั้น ส่วนอาหารเย็นก็เป็นจำพวกไส้กรอกราคาถูก บางช่วงแม้แต่ข้าวเย็น เขาก็ไม่ได้ทานเลยทั้งๆ ที่เขาอยู่ในวัยกำลังกินกำลังนอน เขาไม่มีเสื้อคลุมกันหนาวใส่ และต้องพำนักอยู่ในห้องเล็กๆ ที่ไม่มีเครื่องทำความร้อน

แต่ถึงแม้ อรพินโธ จะมีชีวิตที่ยากลำบาก และขัดสนถึงเพียงนี้ เขาก็ไม่เคยมีความคิดที่จะแสวงหาความร่ำรวยเลยแม้แต่น้อย เขายังคงมีความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นที่จะ กู้ชาติ ไม่เปลี่ยนแปลง โดยอุปนิสัยส่วนตัว อรพินโธ เป็นคนขี้อายและเรียบร้อย บุคลิกภาพของเขาเป็นแบบ “อ่อนนอกแข็งใน” เขาเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง ขยันหมั่นเพียรมีวิริยะเป็นเลิศ เขาเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ สภาพแวดล้อมที่ยากลำบากในเมืองนอกได้หล่อหลอมตัวเขาให้มีจิตใจที่แข็งแกร่งดุจเหล็กเพชร

อรพินโธ เดินทางกลับมาตุภูมิด้วยเรือกลไฟในช่วงต้นเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1893 ระหว่างเดินทางเรือของเขาเผชิญกับพายุรุนแรงที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่เขาก็สามารถมาถึงประเทศอินเดียได้อย่างปลอดภัย ในวันที่ 6 เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1893 บิดาของเขาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายก่อนที่ตัวเขาจะเดินทางกลับไปถึงบ้านเพียงไม่กี่วัน

พลันที่ อรพินโธ ย่างเท้าแตะแผ่นดินแม่ที่ท่าเรือบอมเบย์ ตัวเขาก็มี ประสบการณ์ทางวิญญาณ ที่เป็น “บรมสันติ” เป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาทันที โดยที่ตัวเขาไม่ได้ร้องขอแต่ประการใด ดังที่ตัวเขาได้เคยกล่าวไว้ว่า

“ความสงบอย่างยิ่งยวดได้ลงมาสู่ตัวผม และอยู่ล้อมรอบตัวผมเป็นเวลาหลายเดือนเลยทีเดียว ราวกับมาตุภูมินี้กำลังต้อนรับตัวผมกลับคืนสู่อ้อมกอดอีกครั้ง...ผมไม่มีความรู้สึกเสียใจเลยที่จากประเทศอังกฤษที่ตัวผมเคยใช้ชีวิตมาถึงสิบสี่ปีเต็ม ผมอาจจะรู้สึกผูกพันกับภาษาอังกฤษ วรรณคดีอังกฤษ และปรัชญาตะวันตก แต่ผมไม่เคยรู้สึกผูกพันกับอังกฤษในฐานะที่เป็นประเทศเลย”

ปี ค.ศ. 1893 นี้ ถือได้ว่าเป็นปีที่มีความหมายทางจิตวิญญาณมากสำหรับอินเดียที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 เพราะปีนั้น เป็นปีที่สวามี วิเวกนันทะ (Viveknanda) ผู้ซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของมหาโยคี รามากฤษณะ (Ramakrishna)ได้ออกเดินทางไปเผยแพร่วิชาโยคะในโลกตะวันตกเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันก็เป็นปีที่ อรพินโธ หนุ่มในวัย 21 ปีเพิ่งเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ อีกทั้งยังเป็นปีที่ แอนนี่ บีแซนท์ ผู้นำสมาคมเทวญาณวิทยา เดินทางมาอินเดียเพื่อต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดีย และยังเป็นปีที่ มหาตมะ คานธี ในวัยหนุ่มที่เพิ่งเป็นทนายความได้เดินทางไปที่แอฟริกาใต้เพื่อช่วยต่อสู้ให้แก่ชาวอินเดีย ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในประเทศนั้น

หลังจากกลับมาได้ไม่นานนัก อรพินโธ ก็เข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และเลขานุการให้แก่มหาราชาในรัฐบาโรดา ก่อนที่ตัวเขาจะทำเรื่องขอย้ายมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้สอนภาษา และวรรณกรรมอังกฤษที่วิทยาลัยบาโรดา

ระหว่างที่ อรพินโธ เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่วิทยาลัยบาโรดา ซึ่งเขาทำงานอยู่ที่นั่นจนถึงปี ค.ศ. 1905 นั้น เขาก็ได้ทำการเคลื่อนไหวอย่างปิดลับใน ขบวนการกู้ชาติ ระดับแกนนำคนหนึ่ง การเคลื่อนไหวหลักๆ ของ อรพินโธ ในช่วงนั้นมีอยู่ 3 ด้านด้วยกันคือ

หนึ่ง เคลื่อนไหวจัดตั้งองค์การลับ และปลุกระดมมวลชนเพื่อเตรียมการติดอาวุธลุกฮือเมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม

สอง เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ปลุกกระแสรักชาติในหมู่ประชาชนในวงกว้าง และ

สาม จัดตั้งองค์กรมวลชนอย่างเปิดเผยในวงกว้าง โดยใช้กลยุทธ์ไม่ให้ความร่วมมือกับทางการอังกฤษ และต่อต้านแบบอ่อนๆ

ในชีวิตส่วนตัว อาจารย์มหาวิทยาลัยหนุ่มอย่าง อรพินโธ ก็ยังชอบเขียนกลอนอย่างสม่ำเสมอ และสอนประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสให้แก่นักศึกษาในชั้นเรียน ในห้วงยามนั้น จึงมีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า ตัวเขากำลังจะกลายเป็น “บุคคลที่อันตรายที่สุดคนหนึ่งในอินเดีย” สำหรับทางการอังกฤษในขณะนั้น

แม้ อรพินโธ จะพยายามปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมของเขาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เพียงใดก็ตาม แต่ลึกๆ แล้ว เขาก็รู้แก่ใจดีว่า มันมีพลังบางอย่างในตัวเขา ที่ผลักดันตัวเขาอย่างรุนแรงให้ต้องอุทิศทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดในชีวิตของเขาให้แก่ สิ่งนั้น ซึ่งก็คือ การกู้ชาติ! ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การกู้ชาติ ได้กลายเป็น ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ ของอาจารย์มหาวิทยาลัยหนุ่มอย่าง อรพินโธ ไปแล้ว






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้