26. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 26) 9/10/2550

26. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 26) 9/10/2550

ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 26)
 


26. จักรวาลน้อยของนักกลยุทธ์

...ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 กรุงเทพมหานคร

เช้าตรู่วันนั้น ‘เขา’ รีบลุกจากที่นอนตรงดิ่งไปที่ต้นโพธิ์ใหญ่ข้างบ้านเหมือนเช่นเคย พร้อมกับธูปก้านหนึ่งที่จุดแล้วในมือ ต้นโพธิ์ต้นนี้ ‘เขา’ เป็นคนปลูกเองกับมือตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน อาจเป็นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของดินที่อยู่ติดคลองด้วยกระมัง จึงทำให้ต้นโพธิ์ต้นนี้เติบโตอย่างรวดเร็วผิดปกติ เพราะเพียงแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น ต้นโพธิ์ต้นนี้ก็เติบใหญ่ขนาดสองคนโอบ สูงกว่าตึกสี่ชั้นและแผ่กิ่งก้านใบหนาดกออกเป็นบริเวณกว้าง

‘เขา’ รู้ว่านี่คงถึงเวลาแล้วที่ตัวเขาจะใช้โคนต้นโพธิ์ต้นนี้เป็นตำแหน่งแห่งที่ของตัวเขาใน จักรวาล เพื่อการบำเพ็ญเพียรทางจิต และการเจริญสมาธิภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ ‘เขา’ เริ่มงานเขียนชุด “พุทธบูรณา” หรือ “พุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์” เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน ตัวเขาก็ยิ่งขะมักเขม้นมานั่งบำเพ็ญเพียรทางจิตที่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่นี้ทุกเช้ามิได้ขาด

พลัง แรงบันดาลใจ ความสร้างสรรค์ และปัญญาญาณทั้งปวงในงานเขียนงานคิด และการงานอื่นของ ‘เขา’ ล้วน “ผุดบังเกิด” ขึ้นมาจากที่นี่ทั้งสิ้น

ที่โคนต้นโพธิ์ต้นนี้ ‘เขา’ ได้ปูแผ่นไม้ที่ด้านหนึ่งสูงกว่าอีกด้านหนึ่งสามนิ้วเพื่อใช้รองนั่งแทนอาสนะ หลังจากปักธูปที่จุดแล้วไว้บนพื้นดินตรงข้างหน้า ‘เขา’ ก็นั่งขัดสมาธิสูดลมหายใจลึกๆ ช้าๆ อย่างตั้งมั่นและผ่อนคลาย เขาฝึก สมาธิแบบวัชรเซน ต่อเนื่องไปจนธูปดับหมดก้าน จึงค่อยออกจากสมาธิ

บริเวณรอบๆ ต้นโพธิ์ใหญ่ที่ ‘เขา’ นั่งสมาธิอยู่นั้น เป็นป่าละเมาะเล็กๆ บนพื้นที่รกร้างที่ยังไม่ได้ถูกพัฒนา เพียงไม่กี่ก้าวจากต้นโพธิ์ใหญ่เป็นลานปูนเล็กๆ ที่ ‘เขา’ ใช้ฝึก มวยฝ่ามือมังกรแปดทิศ (ปากัว) ที่เป็นการฝึกเดินเป็นวงกลมรอบเสาไม้กับต้นขนุนเป็นรูปเลขแปดอารบิก ข้างๆ มีม้าหินไว้สำหรับนั่งพักผ่อน และมีอ่างบัวสามอ่างตั้งอยู่รอบๆ

ไม่ว่าในตอนที่ ‘เขา’ นั่งทำสมาธิใต้ต้นโพธิ์ หรือตอนที่ ‘เขา’ ลุกขึ้นมาฝึก มวยปากัว หรือแม้แต่ตอนที่ ‘เขา’ ยืนผ่อนคลายอิริยาบถ ณ สถานที่นั้น กาย ใจ และปราณของเขาได้รวมเป็นหนึ่งเดียว และหลอมรวมแนบแน่นจนเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่นั้น

สถานที่แห่งนั้นคือ จักรวาลน้อยแห่งความงามในโลกของ ‘เขา’ มันเป็นจักรวาลเล็กๆ ที่งดงามอย่างมีตำหนิ และเป็นความงามที่เปราะบาง ในสายตาของ ‘เขา’ สถานที่แห่งนี้ไม่เคยเหมือนกันสักวันเดียว ลักษณะใบไม้ร่วงต่างๆ ที่ตกลงคลุมพื้น ใบหญ้าที่งอกเงยอย่างไร้ระเบียบ มุมแสงแดดที่ลองไชผ่านกิ่งไม้ลงมากระทบพื้น มันเป็นภาพลักษณ์ที่แปรเปลี่ยนในรายละเอียดอยู่เสมอ มันอาจแลดูไม่สมบูรณ์พร้อม เพราะขาดการตกแต่ง แต่ในอีกมุมหนึ่งมันกลับเป็นความงามที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในธรรมชาติ และเชิดชูในความเป็นธรรมชาติ

ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของสถานที่แห่งนี้ ในขณะที่ ‘เขา’ กำลังนั่งสมาธิอยู่ จึงเป็น จักรวาลน้อยแห่งความงามตามธรรมชาติ ของตัวเรา แม้ขณะที่กำลังนั่งสมาธิอยู่ ‘เขา’ ได้ยินเสียงลมพัดผ่านอย่างชัดเจน

เมื่อ ‘เขา’ ออกจากสมาธิและลืมตาขึ้น กิ่งใบของต้นไม้ต่างๆ รอบบริเวณนั้น พร้อมใจกันผันลู่พรูพร่างราวกับกำลังทักทายตัวเขา ผีเสือตัวน้อยๆ บินฉวัดเฉวียนอยู่บริเวณนั้นราวกับกำลังระบำรำฟ้อนนกกางเขนสองตัวส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวราวกับกำลังร้องเพลงให้ตัวเขาฟัง มดดำ มดแดงบนพื้นเดินไปมารอบๆ บริเวณที่ตัวเขากำลังนั่งสมาธิอยู่ราวกับกำลังเดินพาเหรดสวนสนาม

‘เขา’ ถึงกับเผยอยิ้มน้อยๆ ออกมาเมื่อแลเห็นยอดหญ้ากำลังหยอกล้ออยู่กับลมระเริง หยาดน้ำค้างที่ยังคงเกาะอยู่ที่ปลายหญ้าส่งประกายแวววาวเมื่อกระทบกับแสงอาทิตย์อ่อนๆ จิตใจของ ‘เขา’ ในห้วงยามนั้นเปี่ยมไปด้วยความเบิกบาน ปราโมทย์ เมตตา กรุณา และปีติในชีวิต

แม้แต่ความร่วงโรยของใบโพธิ์ที่ร่วงหล่นบนพื้นดินกระจัดกระจายก็กลายเป็นความงามอย่างโศกซึ้งในสายตาของ ‘เขา’ นี่คือความเป็นจริงแห่งชีวิตที่เรียบง่าย ชีวิตที่รุ่มรวยทางจิตวิญญาณอยู่อย่างเรียบง่ายโดยสมัครใจและเต็มใจ เอาชนะความหรูหราที่จอมปลอม และฉาบฉวยของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ด้วยความเรียบง่ายโดยสมัครใจ

แม้จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่ก็มีจิตใจที่จดจ่อเป็นสมาธิกับสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ และปรากฏอยู่จริง เพื่อเปิดโอกาสให้ตนเองหรือตัวตนแห่งตน สามารถเข้าถึงธรรมชาติอย่างบูรณาการในขั้นสูงสุดของการดำรงอยู่ จนกระทั่งสามารถตระหนักรู้ใน ธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ได้อย่างเป็นไปเองโดยธรรมชาติ

ความตระหนักรู้ ที่ว่า ความร่าเริง เป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิต ความร่าเริงที่ทำให้มนุษย์ทุกผู้ทุกนามมีชีวิตชีวา

ความตระหนักรู้ ที่ว่า การได้เติมเต็มในประสบการณ์ของ ‘ตัวเขา’ ย่อมเพิ่มคุณภาพชีวิตของสรรพสิ่งทั้งปวงไปพร้อมๆ กัน

ความตระหนักรู้ ที่ว่า ตัวตน ในทุกชาติภพของ ‘ตัวเขา’ เป็นผู้ที่เป็นที่รักของ จักรวาล ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ที่เหนือประวัติศาสตร์แห่งกาลเวลา...ตัวตนที่ไร้ตัวตนอย่างแท้จริง

ความตระหนักรู้ ที่ว่า ความรู้สึกนึกคิดของ ตัวเขา ในขณะนี้ สดใสและกระจ่างใสราวกับท้องฟ้าที่ไร้เมฆ

ความตระหนักรู้ ที่ว่า ยิ่ง ‘ตัวเขา’ ได้เรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตอย่างสง่างามและสมบูรณ์ในโลกของเขามากเท่าใด ความลี้ลับของ จักรวาล ก็จะยิ่งเปิดเผยออกมาให้ตัวเขาได้รู้เห็นมากขึ้นเท่านั้น

ความตระหนักรู้ ที่ว่า การมอบตัวตนแห่งตน ให้แก่ มหาสุญญตา อย่างสิ้นเชิง คือหนทางในการรู้แจ้ง

ความตระหนักรู้ ที่ว่า คนเราแต่ละคนมี ขอบเขตแห่งพลังจิต อันเป็นพื้นที่ที่ผู้อื่นจะล่วงละเมิดมิได้ ภายในขอบเขตแห่งพลังจิตนี้ คนเราได้สร้างโลกแห่งความเป็นจริงของผู้นั้นขึ้นมา ด้วยพลังที่มีอยู่ใน ‘ปัจจุบันขณะ’ คนแต่ละคนคือ ‘นาย’ ผู้เป็นเจ้าผู้มีอำนาจสูงสุดในขอบเขตแห่งพลังจิตนี้ที่สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ได้ภายในชีวิตนี้

ผู้ที่จะสามารถตระหนักรู้และเข้าถึง ธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ดังข้างต้นนี้ได้ ผู้นั้นจะต้องสามารถชะลอความเร็วในการรีบเร่งใช้ชีวิตลงได้เสียก่อน จะต้องสามารถมีความใจเย็น มีความอดทน และความใส่ใจพอที่จะมองอย่างใกล้ชิด สามารถฝึกฝนศิลปะต่างๆ อันสุขุมประณีตได้ก่อนเท่านั้น

ผู้นั้นจะต้องซาบซึ้งและแลเห็นคุณค่าในความไม่จีรังของชีวิต ผู้นั้นจึงจะสามารถเหยียบย่างบนโลกใบนี้อย่างแผ่วเบา อย่างอ่อนโยน และอย่างรู้ถึงวิธีที่จะซาบซึ้งในคุณค่าไม่ว่ากับสิ่งใดก็ตามที่เข้ามาเผชิญหน้ากับผู้นั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสักเพียงใดก็ตาม

เมื่อใดก็ตามที่คนเราสามารถหยุดความหมกมุ่นที่ตนเองมีต่อความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นความมั่งคั่ง หรืออำนาจได้ ผู้นั้นก็ย่อมสามารถหันมาเบิกบานกับชีวิตได้เลยในทันที ณ ที่นี่และเดี๋ยวนี้!

‘เขา’ รำพึงในใจกับตนเองว่า

เพราะ ทักษิณ ไม่สามารถหยุดความหมกมุ่นที่ตัวเขามีต่อความมั่งคั่งและอำนาจได้ ทักษิณ จึงไม่มีทางที่จะพบกับความสงบสุขที่แท้จริงได้ในชีวิตนี้ ต่อให้ ทักษิณ ยิ่งใหญ่แค่ไหน รวยล้นฟ้าปานใด หรือมีอำนาจมากแค่ไหนก็ตาม ทั้งหมดล้วนเป็นแค่สมมติทั้งสิ้น”

‘เขา’ หยุดความหมกมุ่นที่ตัวเขามีต่อความสำเร็จทั้งหลายทางโลกได้ เพราะตัวเขาสำรวจพิจารณาเพ่งดู ใจ ของตนเอง จนกระทั่งแลเห็น ใจ ตนเองสงบ นิ่ง วาง มันเป็นกระบวนการฝึกฝนกายใจที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ชีวิตที่ประเสริฐสมบูรณ์อย่างแท้จริง คือการบำเพ็ญตบะบารมีทั้งปวงให้สมบูรณ์พร้อม แล้วปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนแห่งตน มิใช่ความสำเร็จทางวัตถุและทางโลกอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน

ปัญญาแห่งโพธิ คือการรู้แจ้งว่า สรรพชีวิตล้วนเป็นพุทธะ และสมบูรณ์พร้อมอย่างที่มันเป็นอยู่แล้ว

บุญกุศลที่แท้จริง ย่อมเป็นการกระทำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์สมบูรณ์อยู่ในตัวเอง อยู่เหนือการหยิบฉวยเอาด้วยความคิดแบบปุถุชนที่ชอบช่วงชิงกัน ไม่อาจได้มาด้วย “ความสำเร็จ” ทางโลก

ใจที่สงบศานติตั้งอยู่ใน ไกวัลยธรรม เช่นนี้ ได้มาก็ด้วยการฝึกฝนตนเองทั้งกาย-ใจ-ปราณ และด้วยการซาบซึ้งใน ธรรมอย่างบูรณาการ หรือ “ธรรมบูรณา” เท่านั้น

บ่ายวันนั้นเอง ‘เขา’ ได้เขียน "พุทธบูรณา" ตอนที่ 27 ชื่อ “โลกอาจรอดได้ แม้เพราะกตัญญู” ออกมาอย่างไม่ติดขัดเลย







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้