15. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 15) 24/7/2550

15. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 15) 24/7/2550

ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 15)
 


15. อารยะขัดขืนของนักปรัชญา

วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549...วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

อารยะขัดขืน (Civil disobedience) จักเป็นอาวุธสำคัญของสังคมไทยต่อจากนี้ไป เมื่อต้องเผชิญต่อ อำนาจเผด็จการที่แฝงมาในรูปแบบต่างๆ อย่างล่าสุดก็คือ “ระบอบทักษิณ” และอาจเผื่อไปถึงการฟื้นชีพของ “ระบอบทักษิณกลายพันธุ์” ในอนาคตอันใกล้

อารยะขัดขืน คือการกระทำที่ฝ่าฝืนและต่อต้านกฎหมายโดยสันติวิธี มันเป็นการกระทำในเชิงศีลธรรม เป็นการประท้วงหรือคัดค้านคำสั่งหรือกฎหมายของผู้ปกครองที่อยุติธรรม มันเป็นการต่อต้านการกระทำของรัฐบาลที่ประชาชนเห็นว่าไม่ถูกต้อง

อารยะขัดขืน จึงเป็นการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเพราะผู้นั้นประสงค์ที่จะปฏิบัติตาม “คำสั่งที่สูงยิ่งไปกว่านั้น” หรือ “คำสั่งแห่งมโนธรรม” แห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเอง มันจึงเป็นการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเพื่อทำให้ยุติธรรมได้รับการปฏิบัติจริงในสังคม

อารยะขัดขืน จึงมิได้มุ่งเปลี่ยนแปลงแย่งชิงอำนาจรัฐ แต่มุ่งต้านอำนาจรัฐด้วยการมุ่งเปลี่ยนแปลง “บางสิ่ง” ในกฎหมายหรือนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม จึงเห็นได้ว่า กลยุทธ์ของอารยะขัดขืน อย่างนี้จะใช้ได้ผลก็เฉพาะในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมอยู่บ้างแล้วเท่านั้น แต่ไม่อาจใช้กับประเทศที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างเต็มรูปที่ยังห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

คุณลักษณะที่สำคัญของอารยะขัดขืน ก็คือ มันต้องเป็นปฏิบัติการทางการเมืองที่ตั้งใจจะละเมิดกฎหมาย เพื่อสื่อสารกับสังคมการเมืองว่า ขณะนี้ได้เกิดอะไรผิดปกติบางอย่าง จนทำให้ผู้คนซึ่งปกติปฏิบัติตามกฎหมาย จำต้องจงใจละเมิดกฎหมาย โดยเต็มใจที่จะรับผลทางกฎหมายของการละเมิดกฎหมายดังกล่าวนั้น มิหนำซ้ำปฏิบัติการแบบอารยะขัดขืนนี้จะต้องใช้สันติวิธี และเป็นการกระทำสาธารณะโดยแจ้งให้ฝ่ายรัฐรับรู้ล่วงหน้าอย่างเปิดเผย เป้าหมายหลักของอารยะขัดขืน ก็คือ การปลุกมโนธรรมสำนึกของสาธารณะให้ตั้งคำถามกับตัวกฎหมายที่เป็นเหตุให้พลเมืองดีๆ เหล่านั้น ต้องทำอารยะขัดขืน

ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์หนุ่มแห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้สึกอย่างรุนแรงว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 นี้มันไม่ชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มันมีสาเหตุมาจากการที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชิงยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ทั้งๆ ที่เหตุผลในการยุบสภานั้น มันไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยตัวแทนแบบรัฐสภาเลย

ไชยันต์ เป็นศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เขาก็บินไปเรียนต่อด้านรัฐศาสตร์ที่ยูนิเวอร์ ซิตี้ ออฟ วิสคอนซิน เมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงไปต่อปริญญาเอกที่แอลเอสอี ยูนิเวอร์ ซิตี้ ออฟ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สอนเรื่องทฤษฎีและปรัชญาการเมือง สอนเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเสรีภาพ ฯลฯ มาเป็นเวลา 14 ปีแล้ว ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ เขาเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานให้เกิดเครือข่ายวิชาการเพื่อประชาธิปไตยที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้นายกฯ ทักษิณลาออกเพราะขาดจริยธรรม

ไชยันต์ เห็นว่า นายกฯ ทักษิณได้ใช้วิธีการยุบสภาเพียงเพื่อหลีกหนีปัญหาส่วนตัว อันเนื่องมาจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่กลุ่มทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ในราคา 7.3 หมื่นล้านบาท เมื่อเดือนมกราคม 2549 ซึ่งเทียบกับราคาในวันที่พรรคไทยรักไทยของทักษิณได้อำนาจในปี 2544 แล้ว มูลค่าของหุ้นชินคอร์ปสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 5 หมื่นล้านบาท ส่วนต่างนี้ล้วนเกิดจากการใช้อำนาจรัฐเกื้อหนุนเป็นพิเศษทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังได้ใช้วิธีการเลี่ยงภาษีอย่างสลับซับซ้อน ซึ่งได้สร้างความเสียหายโดยตรงต่อผลประโยชน์ของแผ่นดินอันขัดต่อหลักจริยธรรมของความเป็นนายกรัฐมนตรีผู้ควรมีบทบาทหน้าที่ในการปกป้องรักษาผลประโยชน์ทุกประการของแผ่นดิน

แม้สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งจะได้พยายามนำเรื่องนี้ขึ้นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยยื่นคำร้องให้วินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติ แต่ก็น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธไม่รับคำร้องนั้น

ครั้นเมื่อพิจารณาถึงมาตรการทางการเมืองก็พบว่า พรรคฝ่ายค้านเองก็ไม่มีเสียงเพียงพอที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ขณะที่ตัวนายกฯ ทักษิณเองก็ไม่ได้ตัดสินใจให้สภาเปิดอภิปรายทั่วไปดังที่เคยรับปากไว้ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ชี้แจงเรื่องนี้ต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ รวมไปถึงเสียงเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก แต่นายกฯ ทักษิณกลับใช้วิธีการยุบสภาเพื่อหลีกหนีปัญหาแทน

ไชยันต์ เห็นว่า การประกาศยุบสภาด้วยสาเหตุอันมิชอบของนายกฯ ทักษิณ นอกจากจะเป็น การหนีการตรวจสอบของรัฐสภา ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 185 วรรคหนึ่งแล้ว การจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 214 วรรคสอง ที่บัญญัติห้ามมิให้มีการลงประชามติรับรองสถานภาพของบุคคลใดหรือคณะบุคคลใดไว้อย่างชัดแจ้งด้วย

เพราะเป็นที่รู้กันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกทำให้กลายเป็นเสมือนการลงประชามติรับรองตัวบุคคล คือรับรองตัวนายกฯ ทักษิณโดยปริยาย ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่การลงคะแนนเพื่อจัดตั้งระบบผู้แทนเช่นที่ผ่านมา แต่เป็นการลงมติรับรองนายกฯ ทักษิณ ซึ่งหวังจะใช้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งฟอกตัวจากข้อกล่าวหาทั้งปวง

ไชยันต์ ไม่ต้องการให้เสียงของเขาเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะรับรองตัวบุคคลหรือฟอกคนผิด อีกทั้งเขาไม่มั่นใจและไม่ไว้วางใจว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับการดูแลการเลือกตั้งคือ กกต.จะดูแลให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ โปร่งใสและยุติธรรมได้

ไชยันต์ เป็นนักปรัชญาการเมืองที่มีเหตุผลชัดเจนสำหรับการกระทำของตัวเองเสมอ และเขาเป็นคนที่เชื่อในปรัชญาการเมืองกรีกโบราณ ที่ว่า จริยธรรมไม่ใช่สิ่งที่คนเรามี คนเราเชื่อ คนเราจะรู้ว่าตัวเองมีจริยธรรมก็ต่อเมื่อตัวเองได้แสดงออกซึ่งการกระทำเชิงจริยธรรมแล้วเท่านั้น

การกระทำของเขามาจาก ความเป็นนักปรัชญา ของตัวเขา ผู้มักตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่า คนเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างไร? เพราะปรัชญามีกำเนิดมาจากความสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์ การที่คนเราได้คิดว่า การมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มาก ได้ทำให้เกิดคำถามทางปรัชญาตามมามากมาย

คนทั่วไปจำนวนมากผ่านโลกไปวันหนึ่งๆ โดยมองโลกด้วยสายตาที่เฉยชา มีเหตุผลนานัปการที่ทำให้คนส่วนมากตกอยู่ในวังวนของเหตุการณ์ประจำวัน จนสูญเสียความสามารถที่จะรู้สึกอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับโลกและชีวิต

นี่คือความต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างนักปรัชญากับคนทั่วไป นักปรัชญาไม่เคยชินกับโลก ไม่เคยมองโลกด้วยสายตาที่เฉยชา และไม่มีวันที่จะเป็นเช่นนั้น ในบรรดาผู้คนทั้งหลาย มีเพียงนักปรัชญาเท่านั้นที่กล้าเผชิญต่อสิ่งที่อยู่นอกอาณาจักรของภาษาและการดำรงอยู่ ปรัชญามิใช่วิชาที่ใครจะเรียนได้ก็จริง แต่สิ่งที่คนทั่วไปอาจเรียนได้และควรเรียนก็คือ การคิดอย่างเป็นปรัชญา หรือเข้าใจวิธีคิดของนักปรัชญา เพื่อที่จะสามารถมองโลก และชีวิตได้อย่างใหม่สดเสมอ

นักปรัชญาเป็นผู้ที่ปรารถนาจะเป็นผู้ค้นพบเหตุผลของสัจธรรมยิ่งกว่าการได้เป็นผู้มีอำนาจวาสนา หรือผู้ร่ำรวยมั่งคั่ง เพราะเขารักในความรู้ยิ่งกว่าลาภ ยศ สรรเสริญ

ไชยันต์เป็นนักปรัชญาที่พยายามดึงปรัชญาจากเบื้องสูงลงมาไว้บนดิน นำมันเข้าสู่บ้านเรือนเพื่อตรวจสอบชีวิต จริยธรรม ความดี และความชั่ว เขาเชื่อว่า ญาณทัศนะที่ถูกต้องย่อมนำไปสู่การกระทำที่ถูกต้อง และคนที่ทำสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้นที่เป็นผู้มีคุณธรรมอย่างแท้จริง การที่คนเราทำผิด เป็นเพราะคนเราไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีกว่า นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน

ไชยันต์ เห็นว่า ไม่มีใครที่ทำในสิ่งที่ขัดกับมโนธรรมของตนแล้วจะมีความสุขได้ คนที่รู้วิธีที่จะมีความสุขย่อมจะกระทำตามมโนธรรมของตนเองเสมอ คนที่รู้ว่าอะไรถูก ย่อมทำในสิ่งที่ถูก

ไชยันต์ เชื่อว่าลึกๆ แล้ว นายกฯ ทักษิณไม่มีความสุขในชีวิตต่อให้รวยล้นฟ้าก็ตาม นายกฯ ทักษิณจะยังมีชีวิตที่มีความสุขต่อไปได้ยังไง ถ้าลึกๆ แล้ว ตัวเขาเองก็รู้ว่าสิ่งที่ตัวเขาได้ทำลงไปนั้นผิด

คนที่โกหก คดโกง เจ้าเล่ห์ ชอบกล่าวร้ายคนอื่น จะมีความสุขที่แท้จริงได้หรือ ก็ในเมื่อมโนธรรมของเขาย่อมตามพร่ำบอกตัวเขา ตามเฝ้าหลอนตัวเขาอยู่เสมอว่า สิ่งต่างๆ ที่ตัวเขาได้กระทำลงไปนั้นไม่ถูกต้อง

อันที่จริงขอเพียงคนเรารู้จักใช้สามัญสำนึกให้ถ้วนถี่อย่างจริงใจ อย่างไม่หลอกตัวเอง คนเราทุกคนก็ย่อมสามารถเข้าใจความจริงทางปรัชญาได้เสมอ

คนเราต้องหมั่นเชื่อในสิ่งที่ “เหตุผล” บอกกับเรา เพราะมีแต่ “เหตุผล” เท่านั้น ที่จะทำให้ทุกคนมองเห็นสิ่งต่างๆ ตรงกันได้

โดยผ่านการครุ่นคิดอย่างรอบคอบ และด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งปวง ประกอบกับ วิถีแห่งนักปรัชญา ของตัวเอง ได้ทำให้ ไชยันต์ ตัดสินใจเลือกใช้ วิธีการ “อารยะขัดขืน” ด้วยการฉีกบัตรเลือกตั้งเพื่อต้านความไม่ชอบธรรมของการเลือกตั้งในครั้งนี้





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้