6. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 6) 22/5/2550

6. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 6) 22/5/2550

ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 6)


6. สุดแต่ใจจะไขว่คว้า

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549...กรุงเทพฯ

เช้าวันนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังคงจัดรายการวิทยุ "นายกฯ ทักษิณพบประชาชน" เหมือนเช่นเคย เขารู้ดีว่า เย็นวันนี้กลุ่มคนที่ต่อต้านเขานัดชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นครั้งที่ 2 ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำจัดการชุมนุมในครั้งก่อน ได้ส่งไม้ผลัดให้กับ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ตัวเขาเองก็นึกไม่ถึงว่าจะมีผู้คนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านตัวเขามากมายถึงเพียงนี้ แม้ตัวเขาจะพยายามปากแข็ง ยืนกรานว่า พวกที่ออกมาต่อต้านตัวเขานั้น เป็น “กลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์จากการทำงานของรัฐบาล” ก็ตาม แต่ลึกๆ ในใจเขาเริ่มหวั่นไหวแล้ว

“มันไม่สมควรจะเป็นแบบนี้นี่นา” ทักษิณเฝ้าถามตนเองด้วยความฉงน เรื่องราวทั้งหมดที่พลิกผันนี้เกิดจากการที่ตัวเขาตัดสินใจขายทิ้งกลุ่มชินคอร์ปของเขาให้แก่บรรษัทเพื่อการลงทุนเทมาเส็กแห่งรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีการลงนามอย่างเป็นทางการร่วมกัน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 73,300 ล้านบาท ความจริงนี่น่าจะเป็น “ข่าวดี” ของเขา ที่ประสบความสำเร็จในการขายทิ้งธุรกิจของเขาซึ่งดำเนินกิจการบนสัมปทานของชาติ จนได้เงินก้อนมหึมาอย่างชนิดที่กินกี่ชาติก็ไม่มีวันหมดอย่างที่น้อยคนนักในโลกนี้ที่จะประสบความสำเร็จทางด้านการเงินอย่างตัวเขาได้

ทักษิณไม่มีทางรู้เลยว่า การตกลงขายทิ้งชินคอร์ปให้เทมาเส็กในวันนั้น จะทำให้ชะตากรรมของเขาพลิกผันไปอย่างสุดขั้วชนิดที่ตัวเขาเองก็ไม่คาดฝันมาก่อน

การขายทิ้งชินคอร์ปให้เทมาเส็กนั้น ความจริงเป็นการใช้ ศิลปะมายากลขั้นสุดยอด ของทักษิณเลยทีเดียวก็ว่าได้ เพราะเขาได้จัดการบริหารธุรกรรมอันนี้ โดยทำให้สมาชิกครอบครัวและญาติของเขาไม่ต้องเสียภาษีให้แก่แผ่นดินเลยแม้สักสลึงเดียวจากการขายทิ้งหุ้นชินคอร์ปมูลค่า 73,300 ล้านบาท โดยใช้ช่องทางการขายหุ้นชินคอร์ปในนามบุคคลธรรมดาซึ่งอ้างได้ว่า กฎหมายย่อมยกเว้นไม่เก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น

ในด้านหนึ่งนั้น ทักษิณใช้บริษัทแอมเพิลริช อันเป็นบริษัทที่ตัวเขาจดทะเบียนก่อตั้งที่เกาะบริติชเวอร์จิน ประเทศเล็กๆ กลางทะเลแคริบเบียน ดำเนินธุรกรรมอำพรางหุ้นชินคอร์ปอย่างซับซ้อน ด้วยการเป็นนอมินีนำหุ้นนี้ไปฝากไว้กับโบรกเกอร์ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังโยกหุ้นสลับฟันปลาข้ามประเทศกลับไปกลับมาระหว่างไทยกับสิงคโปร์ กระทั่งครอบครัวชินวัตรตกลงขายให้แก่เทมาเส็ก หุ้นล็อตดังกล่าวจึงได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิดในช่วงสั้นๆ ก่อนตกไปอยู่ในอุ้งมือของเทมาเส็กแห่งสิงคโปร์ในเวลาต่อมา

ในอีกด้านหนึ่งนั้น ทักษิณได้ใช้อำนาจของเขาในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ขยายสัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติ จากเดิมกำหนดไว้ 25% เป็น 49% ในวันที่ 20 มกราคม 2549 หรือเพียงสองวันก่อนครอบครัวของเขาขายหุ้นให้แก่เทมาเส็ก

ความยอกย้อนซ่อนเงื่อนสลับซับซ้อนที่ทักษิณทุ่มเทลงไปในธุรกรรมก็เพื่อหลีกเลี่ยงภาระเสียภาษีมูลค่า 20,000 ล้านบาทเท่านั้น!

อำนาจและเงินตราเป็นสิ่งที่เย้ายวนใจเหลือเกิน และกลายมาเป็นบ่วงกรรมที่หนักหนาสาหัสที่สุดในชีวิตของเขา กว่าเขาจะรู้ตัว เขาก็ “เสพติด” มันอย่างถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว

ทักษิณในวันนี้ ไม่กล้าเผชิญหน้าและยอมรับ “ความจริง” อันแหลมคมที่ว่า ตัวเขามิได้เป็นทาสของอำนาจและเงินตรามาตั้งแต่เกิด ทั้งเขาและภรรยาคู่ชีวิตของเขาก็เคยมีคืนวันที่ไล่ล่าความฝันของทั้งสองมานานนับปี ในช่วงวัยหนุ่มวัยสาว ในสมัยที่ทั้งคู่ยังไร้ซึ่งอำนาจและเงินทองเหมือนเช่นคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้

ในช่วงเวลานั้น แม้จะไร้ชื่อเสียงเรียงนาม ไร้ซึ่งเงินทอง ไร้ซึ่งอำนาจ แต่ทักษิณและภรรยาที่ดิ้นรนไปศึกษาต่อต่างประเทศถึงสหรัฐอเมริกา โดยภรรยายอมเป็นแค่แม่บ้าน และออกไปทำงานพิเศษที่ห้างสรรพสินค้าหารายได้เสริม เพื่อให้สามีสุดที่รักของเธอมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเรียนในระดับปริญญาเอกได้อย่างเต็มที่ จนกระทั่งเธอต้องแท้งลูกคนแรกโดยไม่รู้ตัว ในห้วงยามที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันสองคนผัวเมียในต่างแดนเช่นนี้ มันให้คุณค่าและความหมายของชีวิตแก่ทักษิณและพจมานภรรยาของเขาไม่น้อยเลย ความรักและความผูกพันมันงอกงามในยามที่คนเราไร้ซึ่งอำนาจและเงินทองเสมอ ขณะที่ความร้าวฉานและความเกลียดชังกลับเบ่งบานได้ดีบนรอยทางแห่งอำนาจและเงินตราเช่นกัน

ทักษิณลืมไปแล้วว่า ตัวเขาก็เคยมีช่วงเวลาแห่งความฝันความหวังอันสดใสงดงามเช่นคนหนุ่มสาวทั่วไปมาก่อน ใจเขามุ่งแสวงหาความสำเร็จ และความมั่งคั่งทางวัตถุเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ราวกับว่าสิ่งนี้เป็นสารัตถะสูงสุดของชีวิต และเขาก็ทำมันได้ดีอย่างยอดเยี่ยมเสียด้วย โดยไม่เลือกวิธีการใดๆ ในที่สุดเขาก็ ไขว่คว้า “มัน” ได้อย่างที่น้อยคนนักในโลกนี้จะทำได้อย่างเขา

“ความสำเร็จ” คล้ายยาเสพติดอย่างหนึ่ง ยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่รู้จักพอ เขากลับยิ่งโหยหาดิ้นรนไขว่คว้ามากยิ่งขึ้นกว่าเดิมราวกับไร้ที่สิ้นสุด

ทักษิณเผชิญกับ “มาร” แล้ว “มารในใจ” เขาซึ่งก็คือความคิดความปรารถนาของตัวเขาเองที่ปรากฏออกมาในรูปของความต้องการร่ำรวย มีชื่อเสียง มีอำนาจ และความโอหังในความสำเร็จที่ตนบรรลุถึงทักษิณมิได้ตระหนักเลยว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนบดบัง ความเห็นแจ้ง ของเขา และสิ่งเหล่านี้คือ บ่วงกรรมที่ร้อยรัดใจเขาเอาไว้มิให้หลุดพ้นเป็นอิสระอย่างแท้จริง

ทักษิณไม่อาจหนีรอดจาก “มาร” ได้ ชั่วชีวิตที่ตัวเขาหมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาความมั่งคั่งและอำนาจ ทำให้ตัวเขาไม่มีเวลาฝึกฝนตนเองในทางอื่น ทักษิณจึง ไม่มีวิธี และ ไม่รู้วิธี ที่จะอยู่กับ มาร โดยที่ มาร ไม่อาจมีอำนาจเหนือตัวเขาได้ เขาไม่รู้แม้กระทั่งว่าการจะสามารถรอดจาก บ่วงมาร ได้นั้น เขาจะต้องมีจิตใจที่สงบหนักแน่นจนสามารถเดินอย่างไม่กลัว ยืนอย่างไม่กลัว นั่งอย่างไม่กลัว และนอนอย่างไม่กลัวได้ในทุกสภาวะ ซึ่งมิใช่สิ่งที่ตัวเขาทำได้ในตอนนี้

ทักษิณไม่เคยเฉลียวใจเลยว่า ยิ่งตัวเขามีอำนาจและความมั่งคั่งมากขึ้นเท่าไหร่ ตัวเขาก็ยิ่งกลายเป็นตัวแทนของ “มาร” มากยิ่งขึ้นทุกที “ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่” ในการขายทิ้งหุ้นชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็กแห่งสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าสูงถึง 73,300 ล้านบาท ได้ทำให้ ทักษิณกลายเป็น “มาร” เต็มตัว ในความหมายที่ลุจุดสูงสุดของอำนาจและความมั่งคั่งในเวลาเดียวกัน...“มาร” ที่พร้อมจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่างเพื่อครองอำนาจให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ และเพื่อถือครองความมั่งคั่งที่ไขว่คว้ามาได้ด้วยความยากลำบากอย่างหวงแหนสุดชีวิต

* * *

การชุมนุมใหญ่วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในตอนเย็น ถือเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 2 โดยมีจุดประสงค์เพื่อกดดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยผู้ชุมนุมต่างมารวมกันเป็นหมื่นๆ คนจนเต็มลานพระบรมรูปทรงม้าในช่วงย่ำค่ำ บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก พร้อมเสียงตะโกนขับไล่ “ทักษิณ ออกไป!” เป็นระยะๆ

แม้ว่าก่อนหน้านี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาลจะไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่พระบรมรูปทรงม้าเป็นที่ชุมนุม แต่สุดท้ายก็ไม่อาจต้านทานพลังของประชาชนที่บุกฝ่าเข้ามาอย่างมุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยว จนทางการต้องยอมอนุญาตให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ได้

การชุมนุมในคืนนั้นแตกต่างจากครั้งก่อนที่สนธินำเดี่ยวเพราะแนวร่วมต่อต้านระบอบทักษิณได้ขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงกลุ่มของผู้ฟังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรเหมือนแต่ก่อนเท่านั้น เพราะคราวนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรประชาธิปไตย องค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัย นักวิชาการ และภาคประชาชนต่างๆ อย่างล้นหลาม จนพัฒนาไปสู่การเกิดขุมพลังเครือข่าย “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

คืนนั้น สนธิได้ประกาศบนเวทีปราศรัยเปิดตัวเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันประกอบด้วยองค์กรเอกชน เครือข่ายประชาชน นักศึกษา รวมกว่า 27 องค์กร อาทิ พิภพ ธงไชย และ สุริยะใส กตะศิลา จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ จังหวัดนครราชสีมา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เพียร ยงหนู ประธานเครือข่ายปกป้องไฟฟ้าประปาเพื่อประชาชน สมศักดิ์ โกศัยสุข และ ศิริชัย ไม้งาม จากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ อวยชัย วะทา แกนนำเครือข่ายครูคัดค้านการถ่ายโอน ปรีดา เตียสุวรรณ ประธานเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อการปฏิรูปการเมือง รสนา โตสิตระกูล เครือข่ายต้านคอร์รัปชัน สุวิทย์ วัดหนู ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค กชวรรณ ชัยบุตร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และเครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น โดยทั้งหมดจะร่วมกันดำเนินพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ใน 3 เป้าหมายหลัก คือ ไล่ทักษิณออกไป โค่นระบอบทักษิณ และปฏิรูปการเมืองโดยภาคประชาชน

ในเวลาเที่ยงคืน สนธิ ลิ้มทองกุล ในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประกาศนัดรวมตัวกู้ชาติอีกครั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 ภายใต้คำขวัญ “เอาประเทศไทยของเราคืนมา” ก่อนจะร่วมกันจุดเทียนชัยแล้วสลายการชุมนุมไป โดยไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้