ทฤษฎี "หน่วยองค์รวม" ในการวิเคราะห์สรรพสิ่ง 17/8/2547

ทฤษฎี "หน่วยองค์รวม" ในการวิเคราะห์สรรพสิ่ง 17/8/2547


 

ทฤษฎี "หน่วยองค์รวม" ในการวิเคราะห์สรรพสิ่ง


อวกาศของไอน์สไตน์ มิได้ใกล้ความจริงกว่าภาพท้องฟ้าของแวนโก๊ะ
เกียรติภูมิของวิทยาศาสตร์ในเรื่องความจริงก็มิได้สัมบูรณ์มากไปกว่า
ความจริงในเพลงของบาคห์หรือในงานเขียนของตอลสตอย"

อาเธอร์ โคสต์เลอร์




ปัจจุบันโลกเราอยู่ในภาวะวิกฤต จนยากยิ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีสุขภาวะที่ดีได้ สังคมของเราก็อยู่ในภาวะวิกฤตเช่นกัน การมุ่งแก้ปัญหาสังคมใดๆ การมุ่งแก้วิกฤตใดๆ ล้วนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ จินตนาการและปฏิบัติการที่เป็นระบบ-หลากมิติอย่างบูรณาการ รวมทั้งความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าและต่อเนื่องยาวนาน ถึงจะเป็นผลสำเร็จได้


ในการมุ่งแก้ปัญหาหรือวิกฤตใดๆ สิ่งที่ผู้นำต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ สภาวะ "ตาบอดคลำช้าง" หรือข้อจำกัดขององค์ความรู้ไม่ว่าสาขาใดๆ (วิทยาศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์) ที่มีลักษณะเฉพาะทาง แยกส่วน ขาดความเชื่อมโยงกับองค์ความรู้อื่นๆ อย่างเป็นระบบ หรือไม่ก็เป็นอคติแบบฉันทาคติที่เชื่อมั่นเกินไปกว่าองค์ความรู้ในสาขาของตน ดีกว่า จริงแท้กว่า ลึกกว่า องค์ความรู้สาขาอื่นๆ


นอกจากสภาวะ "ตาบอดคลำช้าง" ที่เป็นผลมาจาก ความคับแคบทางวิชาการ ในการประยุกต์ใช้วิชาการหรือศาสตร์ต่างๆ ในการแก้ปัญหาแล้ว สภาวะ "จับแพะชนแกะ" หรือการหลงผิดที่พยายามใช้ศาสตร์หลายๆ สาขามาช่วยแก้ปัญหา โดยขาดความชัดเจนในกรอบวิธีคิดและมรรควิธีที่มีความบูรณาการอย่างแท้จริง ก็เป็นอีกขั้วตรงข้ามที่ผู้นำอาจต้องประสบเช่นกันในการมุ่งแก้วิกฤต


คุณประโยชน์ของแนวทางบูรณาการ (integral approach) จึงอยู่ที่การนำเสนอกรอบวิธีคิดและระเบียบวิธีที่สามารถทำให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างเป็นองค์รวม แต่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆ อย่างแยกส่วนได้ โดยไม่ขัดแย้งกันหรือไม่ไปลดทอนมิติของปัญหา-วิกฤตที่กำลังมุ่งแก้ไขอยู่


ถ้ากล่าวในเชิงปรัชญาแห่งความรู้แล้ว การมุ่งใช้ศาสตร์ใดๆ ในการแก้ปัญหาสังคมนั้น เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ล้วนต้องทำให้เกิดปัญหาลดทอนนิยม (reductionism) (สภาวะ ตาบอดคลำช้าง) ขึ้นมาทั้งสิ้น เพราะศาสตร์ต่างๆ จำเป็นต้อง ลดทอน ปัญหาในความเป็นจริงที่ยุ่งยากและซับซ้อน เพื่อทำให้ง่ายขึ้นต่อความเข้าใจ ก็เลยจำเป็นต้องนำเสนอองค์ความรู้ในมุมมองเดียวจากมิติเดียวแห่งความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาของตน ซึ่งไม่ผิด แต่ถูกต้องแค่บางส่วนเท่านั้น


พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้นำเชิงบูรณาการ (integral leader) ที่มีจิตสำนึกเชิงบูรณาการ (integral awareness) อย่างแท้จริง จะไม่ปฏิเสธองค์ความรู้ใดๆ เลย ทั้งองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ทางสังคมศาสตร์ ทางวัฒนธรรม และทางจิตวิญญาณ ในฐานะที่ต่างก็เป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่สั่งสมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีอคติหรือฉันทาคติต่อองค์ความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งเป็นพิเศษด้วย


ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำเชิงบูรณาการจะไม่เชื่อว่า "เงิน" แก้ปัญหาได้ทุกเรื่องทุกอย่าง แต่ "เงิน (เศรษฐกิจ)" ก็เป็นวิธีการหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกับ "เทคโนโลยี", "ศีลธรรม", "จิตใจ", "วัฒนธรรม", "การเรียนรู้" และ "การจัดการอย่างเป็นระบบ" ฯลฯ ซึ่งต่างก็เป็นวิธีการที่ต้องใช้ควบคู่กันไปอย่างเป็นบูรณาการ ไม่ว่าจะแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม


ในสายตาแห่งบูรณาการ โลกนี้ประกอบด้วย สิ่ง/กระบวนการ/เหตุการณ์ เท่านั้น และสิ่งที่ต้องเรียนรู้ก็คือ เหตุการณ์/ประสบการณ์/ความรู้ต่างๆ เท่านั้น


แต่อะไรเล่าคือ หน่วยในการวิเคราะห์สรรพสิ่งของภูมิปัญญาแบบบูรณาการ? ทฤษฎี หน่วยองค์รวม (holon) หรือ โฮลอน คือหน่วยที่ภูมิปัญญาบูรณาการใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างกรอบทฤษฎี/ปรัชญา/ญาณวิทยาในการรับรู้ทำความเข้าใจ ความเป็นจริงที่หลายมิติและซับซ้อนอย่างเห็นเป็นภาพรวมได้


เพราะฉะนั้นหากใครก็ตาม "แอบอ้าง" ว่าใช้แนวทางแบบบูรณาการ แต่พวกเราสามารถ "รู้ทัน" โดยจับเท็จได้ว่า ผู้นั้นมิได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมโนทัศน์เรื่อง โฮลอน หรือหน่วยองค์รวมเลย ก็จงตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อนได้เลยว่า ผู้นั้น "ไม่รู้จริง" หรือ "สร้างภาพ" ว่าตัวเองมีวิชันเชิงบูรณาการแค่นั้น


เราได้เคยกล่าวไปแล้วว่า ประวัติศาสตร์ของจักรวาฬ (Kosmos) ที่เริ่มต้นจากบิ๊กแบงเป็นประวัติศาสตร์แห่งวิวัฒนาการจากวัตถุธาตุไปสู่ชีวิต และไปสู่จิตใจหรือจิตสำนึกของมนุษย์ (human consciousness) โดยที่โลกทางวัตถุธาตุเรียกว่า "กายภูมิ" (the physiosphere) โลกทางชีวิต เรียกว่า "ชีวภูมิ" (the biosphere) และโลกทางจิตใจยังแบ่งเป็นโลกทางจิตวิทยา ที่เรียกว่า "เจตภูมิ" (the moosphere) กับโลกทางจิตวิญญาณที่เรียกว่า "ธรรมภูมิ" (the theosphere)


การที่วัตถุธาตุได้กลายมาเป็นชีวิต ซึ่งเป็น "ระบบใหม่" ที่แตกต่างไปจากเดิมเชิงคุณภาพ ย่อมแสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษยิ่งอันหนึ่งของการวิวัฒนาการว่า สามารถแสดงตัวออกมาในรูปการณ์ที่เรียกว่า "การปรากฏสิ่งใหม่" (emergent) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโฉมอย่างลึกซึ้ง (profound transformation) ในขั้นตอนแห่งการวิวัฒนาการ


การศึกษาโลกหรือจักรวาฬ จึงไม่ควรจำกัดแค่กายภูมิอย่างวิชาฟิสิกส์ หรือแค่ชีวภูมิอย่างวิชาแพทย์หรือนิเวศวิทยา หรือแค่เจตภูมิอย่างวิชาจิตวิทยา หรือแค่ธรรมภูมิอย่างหลักธรรมทางศาสนา แต่ควรศึกษาทุกๆ ภูมิของจักรวาลอย่างครอบคลุม การวิวัฒนาการทุกมิติ โดยใช้หน่วยวิเคราะห์ที่สามารถวิเคราะห์แต่ละภูมิได้อย่างไม่ติดขัด และสามารถอธิบายหลักแห่งวิวัฒนาการของจักรวาฬอย่างสามารถที่จะนำเสนอ "วิชันแห่งการพัฒนาที่บูรณาการให้แก่มนุษยชาติได้"


หน่วยวิเคราะห์ที่ว่านั้นก็คือ โฮลอน (holon) หรือ "หน่วยองค์รวม" นั่นเอง


"โฮลอน" ถูกภูมิปัญญาบูรณาการนำมาใช้เป็นหลักการข้อแรกในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาฬที่กล่าวว่า


"ความจริงประกอบด้วยโฮลอนหรือหน่วยองค์รวมต่างๆ" หรือ


"ความจริงประกอบขึ้นมาจากองค์รวม/ส่วนย่อย" (whole/parts)
ในความหมายที่ว่า สิ่งต่างๆ (entity) เป็นองค์รวม (whole) ในตัวของมันเอง แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นบางส่วนหรือส่วนย่อยของสิ่งอื่นที่เป็นองค์รวมที่ใหญ่กว่าด้วย


โฮลอนคือ องค์รวมที่เป็นส่วนย่อยขององค์รวมอื่น ยกตัวอย่างเช่น อะตอมทั้งหมดเป็นส่วนย่อยของโมเลกุลทั้งหมด ซึ่งโมเลกุลทั้งหมดก็เป็นส่วนย่อยของเซลล์ทั้งหมด ซึ่งก็เป็นส่วนย่อยของอวัยวะทั้งหมด


สิ่งต่างๆ จึงไม่ใช่เป็นแค่องค์รวม หรือไม่ใช่เป็นแค่ส่วนย่อย แต่เราต้องเข้าใจสิ่งต่างๆ ในเชิงวิภาษวิธี (dialectic) ว่า


สิ่งต่างๆ เป็นทั้งองค์รวมและส่วนย่อยในเวลาเดียวกัน คือเป็นโฮลอนนั่นเอง


นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากยังเชื่อว่า ความจริงหรือจักรวาลประกอบขึ้นมาจากอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม (subatomic particle) ซึ่งถูกเพียงบางส่วนในมิติของกายภูมิเท่านั้น แต่ถ้าใช้มุมมองเชิงฟิสิกส์เช่นนี้มาศึกษา จักรวาฬจะไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นการลดทอน (reductionist) ความจริงในมิติอื่นโดยเฉพาะในเจตภูมิกับธรรมภูมิให้เหลือเพียงกายภูมิเท่านั้น


จริงๆ แล้วจะต้องกล่าวว่า อนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม โดยตัวมันเองก็เป็นโฮลอนอันหนึ่ง เหมือนกับเซลล์ เหมือนกับสัญลักษณ์ เหมือนกับจินตภาพ เหมือนกับมโนทัศน์ ที่ต่างก็เป็นโฮลอนเช่นกัน


กล่าวโดยนัยนี้ โฮลอน จึงมิใช่สิ่งที่ดำรงอยู่ในเชิงภาววิสัยเหมือนอย่างอนุภาคเลยทีเดียว แต่มันเป็นสิ่งที่มนุษย์เราใช้ในการมอง ทำความเข้าใจ และอธิบายสรรพสิ่งในเชิงตรรกะ เพื่อที่จะสามารถบูรณาการความรู้ต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และปรัชญาเข้าด้วยกันได้


โฮลอน จึงเป็นเสมือนจุดอ้างอิงที่คนเราใช้ในการตีความสิ่งต่างๆ ในบริบทต่างๆ ของภูมิปัญญาบูรณาการที่สำคัญมาก


จากจุดอ้างอิงของโฮลอน เมื่อเราใช้ในการพิจารณาสรรพสิ่ง เราจะเห็นว่า สรรพสิ่งประกอบขึ้นมาจากโฮลอน, สิ่งประดิษฐ์ (artifacts) ซึ่งเป็นผลผลิตของโฮลอน และกองต่างๆ ของวัตถุ (heap) เช่น กองดิน กองทราย ฯลฯ


หรืออาจพูดได้ว่า สรรพสิ่งประกอบขึ้นมาจาก โฮลอนที่มี "ตัวรู้" (sentient holon) ซึ่งแบ่งย่อยได้อีกเป็นโฮลอนเชิงปัจเจก (individual holon) กับ โฮลอนทางสังคม (social holon) และ โฮลอนที่ไม่มี "ตัวรู้" (insentient holon) ซึ่งได้แก่ สิ่งประดิษฐ์ กับกองต่างๆ ของวัตถุ


จึงเห็นได้ว่า โฮลอนที่มี "ตัวรู้" เป็นใจกลางของกระบวนการวิวัฒนาการของสรรพสิ่ง เพราะสิ่งประดิษฐ์ที่โฮลอนที่มี "ตัวรู้" ได้สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าต่างๆ วัฒนธรรม ภาษา ความคิด กฎหมาย ระบบการเมือง และเทคโนโลยี ฯลฯ มันก็คือ โลกทั้งหมดที่เรารู้จัก มันก็คือ อารยธรรมทั้งหมดของคนเรานั่นเอง


เพราะฉะนั้น ภูมิปัญญาบูรณาการจึงเสนอว่า ถ้าสามารถเข้าใจหลักวิวัฒนาการของโฮลอน โดยเฉพาะโฮลอนที่มี "ตัวรู้" ได้ เราก็จะสามารถมีวิชันอย่างบูรณาการที่สามารถเข้าใจทิศทางการวิวัฒนาการของสรรพสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งนั่นย่อมช่วยให้คนเราสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างมีวิสัยทัศน์และอย่างบูรณาการโดยแท้จริงได้ ซึ่งจะได้กล่าวในตอนต่อๆ ไป เพราะประโยชน์ที่จะได้รับจากการประยุกต์ใช้จากเรื่องโฮลอนนี้มีมากมายเหลือเกิน ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ดังจะได้เห็นจากข้อเขียนชุดนี้







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้