มาตรฐานการตรวจสอบความจริงที่หลากหลายในสังคมความรู้ 28/9/2547

มาตรฐานการตรวจสอบความจริงที่หลากหลายในสังคมความรู้ 28/9/2547



มาตรฐานการตรวจสอบความจริงที่หลากหลายในสังคมความรู้

 

 



ข้อเขียนชุดนี้ของผู้เขียนเป็นการใช้ แนวทางแบบบูรณาการศาสตร์ (integral approach) ในการทำความเข้าใจ สรรพสิ่ง โดยเริ่มต้นจากการ "แกะรอยทักษิโณมิกส์" (ปัจจุบันตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มแล้วโดย สำนักพิมพ์ openbooks) ซึ่งเป็น ความจริงใหม่ ของสังคมไทย และจะส่งผลสะเทือนที่ยาวนานต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศนี้อย่างแน่นอน ไม่ว่าในเชิงบวกหรือลบก็ตาม บทส่งท้าย ของ "แกะรอยทักษิโณมิกส์" จบลงที่การนำเสนอให้เห็นถึงความจำเป็นในการแยกแยะ ประเภทของความรู้ ออกเป็น 4 ระดับ และ 4 ประเภท ซึ่งได้แก่ ความรู้ทางกาย (body knowledge), ความรู้จากหนังสือ (book knowledge), ความรู้ในเชิงญาณทัสนะ (intuitive knowledge) และ ความรู้ในการข้ามพ้นอัตตาตัวตนของตนเอง (transcendent knowledge) โดยผู้เขียนได้เสนอว่า การจะสถาปนา สังคมความรู้ ที่แท้จริงให้บังเกิดขึ้นและหยั่งรากลึกในประเทศนี้ได้ จำเป็นจะต้องสามารถ บูรณาการ ความรู้ 4 ระดับ/4 ประเภทนี้ให้เกิดขึ้น และเป็นไปได้ใน ระดับปัจเจก เสียก่อน เพื่อก่อให้เกิด การยกระดับจิตสำนึก (transformation of consciousness) ขึ้นใน ปัจเจกบุคคล ผู้นั้น อันจะเป็น การเปลี่ยนแปลง ในระดับ โครงสร้างเชิงลึก (deep structure) ที่มั่นคงถาวรยั่งยืน


นโยบายการพัฒนาเชิง บูรณาการ ที่ไม่ว่าจะออกมาจากรัฐบาล พรรคการเมือง หรือสถาบันทางสังคมต่างๆ และไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางการเงิน การคลัง สาธารณสุข การศึกษา วัฒนธรรม เทคโนโลยี ฯลฯ ก็ตามถึงที่สุดแล้วควรจะมี วิสัยทัศน์แห่งสังคมความรู้ ดังข้างต้นนี้ ร่วมกัน คือ นโยบายต่างๆ เหล่านี้สุดท้ายแล้วควรจะเป็นไปเพื่อ เพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ของปัจเจก ซึ่งจะส่งผลไปสู่ การยกระดับจิตสำนึกของปัจเจก ในที่สุด ถ้าหากเข้า กระทำอย่างบูรณาการ ในทุกมิติของกาย, ใจ และวิญญาณ และในทุกภาคของสังคม, วัฒนธรรม, ธรรมชาติ และจิต


ต่อจาก "แกะรอยทักษิโณมิกส์" ผู้เขียนได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง "การเมืองฝ่ายเบื้องบน" โดยศึกษาจากชีวประวัติของ พระเยซู จากมุมมองแบบ มนุษย์นิยม และ บูรณานิยม เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นว่า แม้แต่ แนวทางการเมือง เอง ก็ยังถูกกำหนดโดย ระดับจิตของปัจเจก เป็นหลัก และ โลกทัศน์ต่างๆ ที่ขัดแย้งกันของผู้คนก็เช่นกัน ล้วนถูกกำหนดโดย ระดับจิตที่มีพัฒนาการต่างกันของแต่ละคน เป็นสำคัญ


การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของ ภูมิปัญญาบูรณาการ ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ก็คือ การใช้ โครงสร้างเชิงลึก อย่าง โครงสร้างแห่งจิตสำนึกของมนุษย์ (the basic structures of consciousness) มาเป็น แกนหลักของโมเดลการพัฒนาสังคมอย่างบูรณาการ โดยสามารถเชื่อมโยงเข้ากับการอธิบาย วิวัฒนาการของจักรวาฬ (Kosmos) ได้อย่างกลมกลืน โดยใช้แนวคิดเรื่อง "หน่วยองค์รวม" (holon) เป็น หน่วยวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย


กล่าวได้ว่า การปรากฏตัวของ ภูมิปัญญาบูรณาการ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ใน โลกตะวันตก ถือเป็น การปรากฏตัวครั้งล่าสุด ของ อภิทฤษฎี ในยุคโพสต์โมเดิร์นที่ จุดประกายความหวัง ให้แก่มนุษยชาติอีกครั้ง ในการจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่รุนแรงขั้นวิกฤตให้ลุล่วงอย่างมีความหวังและยั่งยืนได้ หลังจากที่ อภิทฤษฎีรุ่นก่อนอย่างลัทธิมาร์กซ์ (สังคมนิยม) ได้ประสบความล้มเหลวและล่มสลายไปแล้วเมื่อยี่สิบปีก่อน


ในข้อเขียนก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึง "หลักวิวัฒนาการของหน่วยองค์รวมกับความจริงของจักรวาฬ" กล่าวถึง "ความลึกของวิวัฒนาการกับธรรมจิตในการเคลื่อนไหว" กล่าวถึง "วิภาษวิธีของความก้าวหน้าในวิวัฒนาการของจักรวาฬ" กล่าวถึง "ความจริงที่หลากหลายของจักรวาฬ" และกล่าวถึง ความสำคัญในการปรับตัวเองให้เข้ากับจักรวาฬเพื่อแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง ส่วนในตอนนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง มาตรฐานการตรวจสอบความจริงที่หลากหลายของจักรวาฬ เพื่อที่จะได้มองปัญหาให้ทะลุปรุโปร่งและแก้ไขมันได้


มาตรฐานการตรวจสอบความจริง (validity claims) มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในแง่ที่ว่า มันนำเสนอ วิธีต่างๆ ในการตรวจสอบว่า ตัวเราได้ ปรับตัวให้เข้ากับ จักรวาฬแล้วหรือยัง หรือตรวจสอบว่า ตัวเราได้ เชื่อมต่อเข้ากับ จักรวาฬแล้วหรือยัง?


หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า มาตรฐานการตรวจสอบความจริง คือ วิธีการต่างๆ ที่นำตัวเราไป ผูกพัน กับ ธรรมจิต (Spirit) มันจึงเป็นสิ่งที่บังคับให้ตัวเราต้อง เผชิญหน้า กับความเป็นจริง (reality) และช่วย ป้องปราม ไม่ให้ตัวเราฝันเฟื่อง เพ้อเจ้ออยู่กับแฟนตาซีที่หลอกตัวเองไปวันๆ มันเรียกร้องพยานหลักฐานจากสิ่งอื่นในจักรวาฬนอกจากตัวเราในการพิสูจน์ความจริงของตัวเรา
มันเรียกร้องให้เราต้องออกไปให้พ้นจากตัวเรา และ มันเป็นระบบตรวจสอบและสร้างสมดุลในธรรมนูญของจักรวาฬ


มาตรฐานการตรวจสอบความจริงของจักรวาฬนี้ สามารถแสดงเป็น แผนภูมิตามหลักจตุรภาค ได้ดังต่อไปนี้

 

 




จากแผนภูมิข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า ความจริงที่หลากหลายของจักรวาฬ สมควรถูกตรวจสอบด้วยมาตรฐานการตรวจสอบความจริงที่ต่างกันออกไป โดยจำแนกตามมิติด้านใน-มิติด้านนอกกับมิติปัจเจก-มิติรวมหมู่ ซึ่งผู้เขียนจะขออธิบายเสริมในแต่ละภาคของจตุรภาคดังต่อไปนี้


(1) ความจริงในภาคซีกขวาบนเป็นความจริงเชิงบรรยาย (propositional truth)


คนส่วนใหญ่มักหลงเข้าใจผิดคิดว่า ความจริงเชิงภาววิสัย (objective) ของซีกขวาบนนี้คือ ความจริง ทั้งหมด ของจักรวาฬ ซึ่งไม่ใช่เลย! ความจริงเชิงภาววิสัย (objective truth) นี้เป็น ความจริงแบบตัวแทน (representational truth) ที่แสดงออกมาเป็น แผนที่ ได้ง่าย (simple mapping) จึงสามารถบรรยายออกมาในสิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น ถ้าเรากล่าวว่า "ข้างนอกฝนกำลังตก" เราก็สามารถตรวจสอบความจริงของประโยคนี้ได้ง่ายๆ โดยการออกไปข้างนอกแล้วดูว่าฝนกำลังตกจริงหรือไม่ ถ้ากำลังตกอยู่จริง เราถึงบอกได้ว่า ประโยคข้างต้นที่เรากล่าวว่า "ข้างนอกฝนกำลังตก" เป็นความจริง


มาตรฐานการตรวจสอบ ความจริงเชิงประจักษ์ แบบนี้คิดว่า พวกเราเข้าใจกันดีอยู่แล้วจึงขอข้ามไปกล่าวถึง ความจริงแบบอื่น ที่คนทั่วไปยังไม่ค่อยเข้าใจกัน


(2) ความจริงในภาคซีกซ้ายบนเป็นความจริงประเภทที่ "เป็นความจริง" (truthfulness)


ในขณะที่ความจริงเชิงภาววิสัยอย่างสมอง, ดาวเคราะห์ และระบบนิเวศสามารถนำเสนอออกมาได้ด้วยการทำเป็นแผนที่เชิงประจักษ์ (empirical mapping) ซึ่งเป็นการบรรยายเชิงภาววิสัยอย่างหนึ่ง แต่ความจริงในภาคซ้ายบนอันเป็น ด้านในของโฮลอนหรือหน่วยองค์รวมเชิงปัจเจกนั้น เราต้องใช้มาตรฐานการตรวจสอบความจริงที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เพราะคำถามในที่นี้จะไม่ใช่ว่า "ข้างนอกฝนกำลังตกหรือไม่?" อย่างในภาคซีกขวาบน แต่เป็นคำถามที่ว่า เมื่อผมบอกคุณว่าฝนกำลังตกที่ข้างนอกอยู่นั้น ผมกำลังบอกความจริงคุณหรือกำลังโกหกคุณกันแน่?


กล่าวคือ ความจริงประเภทที่เป็น ความจริงด้านใน (interiortruths) เราจะใช้วิธีตรวจสอบเชิงประจักษ์แบบความจริงเชิงภาววิสัยไม่ได้ วิธีเดียวที่คุณจะรู้ถึง ด้านในของตัวผม และ ความลึกล้ำของตัวคุณ ได้ก็คือ คุณต้องถามผม พูดคุยสนทนากับผม และเมื่อผมบอก สภาวะภายในของตัวผมออกไปให้คุณรับรู้ ผมอาจพูดความจริง หรืออาจโกหกคุณก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นคุณจึงต้อง ตีความ ในสิ่งที่ผมพูดออกไปด้วย!


จึงเห็นได้ว่า มาตรฐานการตรวจสอบความจริงในภาคซีกซ้ายบนนี้คือ"เป็นความจริง" truthfulness) หรือความจริงใจ หรือความซื่อสัตย์ หรือความน่าเชื่อถือของตัวผู้พูด ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของความจริงเชิงภาววิสัย แต่มันเป็นเรื่องของ สิ่งที่เป็นความจริงเชิงอัตวิสัย (subjective truthfulness) ซึ่งเป็นคนละมาตรฐานกัน


อย่างในการตรวจสอบความจริงเชิงภาววิสัยของทักษิโณมิกส์ เราย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือในตัวนายกฯ ทักษิณไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งเป็นคนละมาตรฐานกัน แต่เกี่ยวพันกันอย่างแยกจากกันไม่ได้ (ปัญหาความน่าเชื่อถือของนายกฯ ทักษิณ โปรดดู ทรงยศ แววหงส์ "ไม่มีปัญหาเชื่อผมซี่" ใน รู้ทันทักษิณ 2 สำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน, กรกฎาคม 2547)


นอกจากปัญหาผมตั้งใจโกหกคุณแล้ว ยังมีปัญหาอื่นอีกในการตรวจสอบความจริงของภาคซีกซ้ายบน นั่นคือ ผมอาจหลอกตัวผมเอง ผมอาจหลงตัวเองจนตีความระดับความลึกล้ำแห่งจิตของผมผิดพลาดไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้ หรือโดยเจตนาก็ได้เพื่อปกปิดอะไรบางอย่างในจิตใจของผมต่อตัวผมเอง ยามใดที่จิตไร้สำนึกของผมเริ่มไม่ซื่อตรงต่อตัวผมเอง ยามนั้น จิตแพทย์ คงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับตัวผมเพื่อที่จะทำให้ผมสามารถกลับมาจริงใจกับตัวเองได้อีกครั้ง เพราะจิตแพทย์จะเป็นผู้ช่วยผมในการตีความเกี่ยวกับตัวผมเองให้เข้าใกล้ความเป็นจริงยิ่งขึ้นกว่าเดิมได้


ผมจำเป็นต้องผ่อนคลายตัวเอง ปลดลดแรงต้านทานขัดขืนทั้งหลายภายในจิตใจของผม เพื่อที่ตัวผมจะสามารถดิ่งลึกลงไปภายในจิตใจของผม และเรียนรู้ที่จะรายงานความลึกแห่งจิตใจของผมอย่างตรงไปตรงมา อย่างซื่อตรงจริงๆ ทั้งต่อคนอื่นและต่อตัวผมเอง


จึงมีแต่การทำเช่นนี้เท่านั้นที่ความลึกของผมถึงจะเริ่มสอดคล้องกับพฤติกรรมของผมได้ ที่คำพูดของผมกับการกระทำของผมถึงจะไปด้วยกันได้ และเมื่อนั้นแหละที่ ความจริงในภาคซีกซ้ายบนของผมถึงจะสอดคล้องกับความจริงในภาคซีกขวาบนของตัวผม... ความจริงในภาคซีกซ้ายบนที่ไม่สามารถกำหนดตำแหน่งแห่งที่ได้เหมือนความจริงในภาคซีกขวาบน แต่เรารู้ว่ามันดำรงอยู่ในความตระหนักรู้ของเรา และในความลึกแห่งจิตของเรา


(3) ความจริงในภาคซีกซ้ายล่างเป็นความจริงประเภท "ความเป็นธรรม" (justness)


ความจริงประเภทนี้เป็น ความจริงเชิงอัตวิสัยร่วม (intersubjective) ซึ่งเป็น โลกอัตวิสัย ที่ดำรงอยู่ใน พื้นที่ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็น พื้นที่เชิงอัตวิสัยร่วม ชนิดหนึ่ง พื้นที่ทางวัฒนธรรมเช่นนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าปราศจากสิ่งนี้ ความคิดใดๆ ของปัจเจกจะไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง เพราะปัจเจกผู้นั้นจะปราศจากเครื่องมือในการตีความความคิดของเขาให้ตัวเขารับทราบ เขาจึงไม่อาจพัฒนาความคิดของเขาได้ ตัวเขาย่อมไม่ต่างไปจากทาร์ซานที่ถูกลิงเก็บมาเลี้ยง หรือเมาคลีลูกหมาป่าแต่อย่างใดเลย


จึงเห็นได้ว่า พื้นที่เชิงอัตวิสัยของปัจเจกเป็นสิ่งที่แยกไม่ได้จากพื้นที่เชิงอัตวิสัยร่วม และนี่เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของความคิดแบบโพสต์โมเดิร์น


เพราะฉะนั้นมาตรฐานการตรวจสอบความจริงในภาคซีกซ้ายล่างนี้ จึงไม่ใช่ทั้งความจริงเชิงภาววิสัยอย่างภาคซีกขวาบน และก็ไม่ใช่การเป็นความจริงเชิงอัตวิสัยอย่างภาคซีกซ้ายบน แต่เป็น ความเหมาะสมเชิงอัตวิสัยร่วม (intersubjective fit) หรือ ความเหมาะสมเชิงวัฒนธรรม หรือ การมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน แม้จะต่างความเห็น ต่างอุดมการณ์ ต่างโลกทัศน์ ต่างความเชื่อ มันเป็นเรื่องของ ความเป็นธรรมร่วมกัน ความดีร่วมกัน และความถูกต้องร่วมกัน ของ "พวกเราทั้งหมด" ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือของกลุ่มพวกใดพวกหนึ่ง โดยกีดกันคนอื่นออกไป ปัญหาการตรวจสอบความจริงในภาคซีกซ้ายล่างนี้กำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุดในสังคมไทย ภายใต้ระบอบทักษิณ


(4) ความจริงในภาคซีกขวาล่างเป็นความจริงประเภท ความเหมาะสมในการทำงาน (functional fit)


ความจริงในภาคซีกขวาล่างเป็น ความจริงเชิงระบบ เป็นการบรรยาย ความจริงจากภายนอกที่เกี่ยวกับระบบโครงสร้างทางสังคมต่างๆ จึงต่างไปจากภาคซีกขวาบน ซึ่งเป็นการบรรยายเกี่ยวกับ ข้อเท็จจริงเดี่ยว (single fact) เพราะฉะนั้นมาตรฐานการตรวจสอบความจริงในภาคซีกขวาล่างนี้ จึงเป็น ความเหมาะสมในการทำงาน ที่ตรวจสอบว่า โฮลอนหรือหน่วยองค์รวมต่างๆ สามารถทำงานสอดคล้องกัน ภายในระบบที่เป็นภาววิสัยโดยรวมได้ดีมากน้อย หรือไม่เพียงใด มาตรฐานแบบนี้เป็นพื้นฐานของวิชาสังคมศาสตร์ทั้งปวงที่เป็นความจริงเชิงภาววิสัยร่วม (interobjective)


จะเห็นได้ว่า มาตรฐานการตรวจสอบความจริง 4 ประเภทที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนถึง องค์ความรู้ 4 ประเภท หรือ รูปแบบของความรู้ 4 ประเภทที่ ล้วนแล้วแต่อิงอยู่กับความจริงของจักรวาฬที่มีอยู่ 4 หน้าในทุกๆ โฮลอนหรือหน่วยองค์รวมทั้งหลาย มันจึงเป็น 4 วิถีแห่งการเข้าถึงความจริงของจักรวาฬอย่างไม่มีวิถีไหนเหนือกว่า แต่มันมีคุณค่าความสำคัญเหมือนๆ กันอย่างไม่อาจ ตัดทอน อย่างไหนออกไปได้ 4 วิถีนี้ ภูมิปัญญาบูรณาการ เรียกง่ายๆ ว่า เป็น วิถีแห่งความจริง ความดี และความงาม








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้