วิภาษวิธีของความก้าวหน้าในวิวัฒนาการของจักรวาฬ 7/9/2547

วิภาษวิธีของความก้าวหน้าในวิวัฒนาการของจักรวาฬ 7/9/2547

 


วิภาษวิธีของความก้าวหน้าในวิวัฒนาการของจักรวาฬ



หลักการต่างๆ ในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาฬที่เราได้กล่าวไปแล้วในตอนก่อนๆ นั้น เป็น ฐานคิด ที่สำคัญมากในการที่จะทำให้เราเข้าใจถึง ความหมาย ของแต่ละขั้นตอนหลักๆ ในวิวัฒนาการของจิตมนุษย์ ที่ปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์ที่เราเรียกว่า "โลกทัศน์" (worldviews) ขั้นตอนหลักๆ ของจิตมนุษย์ (human consciousness) และ โลกทัศน์หลัก (predominant worldviews) เท่าที่ได้ปรากฏมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ได้แก่ โลกทัศน์แบบดึกดำบรรพ์ (archaic) ,โลกทัศน์แบบมายาคติ (magic) ,โลกทัศน์แบบปรัมปราคติ (mythic), โลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม (rational) และโลกทัศน์แบบพหุนิยม (plural)


ซึ่งแต่ละขั้นตอนหลักๆ ของจิตมนุษย์ และโลกทัศน์หลักเหล่านี้ก็ได้รังสรรค์ และมีปฏิสังสรรค์กับแต่ละขั้นตอนหลักๆ ของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ-เทคโนโลยี ซึ่งก่อให้เกิด ประเภทของสังคม ตามขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันดังต่อไปนี้ สังคมล่าสัตว์ (foraging), สังคมเพาะปลูก (horticultural), สังคมเกษตร (agarian), สังคมอุตสาหกรรม และสังคมข่าวสาร (informational) นี่ยังไม่รวมถึงประเภทของศาสนา ระบบกฎหมาย ทัศนะเกี่ยวกับศีลธรรม แบบวิถีของเทคโนโลยีชนิดของการผลิตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปตามแต่ละขั้นตอนหลักๆ ของจิตมนุษย์, โลกทัศน์หลัก และพัฒนาการของสังคมมนุษย์


การพัฒนาจากขั้นตอนหนึ่งไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่งนั้น มันมิได้เกิดขึ้นในมิติใดมิติหนึ่ง (เช่น เศรษฐกิจ-เทคโนโลยี หรือโลกทัศน์ หรือระดับจิต) แต่ มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั้ง 4 มิติของจักรวาฬ (มิติด้านใน-ปัจเจก, มิติด้านนอก-ปัจเจก, มิติด้านใน-กลุ่ม และมิติด้านนอก-กลุ่ม) ที่เรียกกันว่า "จตุร-วิวัฒน์" (tetra-evolve) (ดังแผนภาพประกอบ) โดยมิได้มีมิติไหนสำคัญกว่า แต่มันสำคัญเท่าๆ กันทุกมิติ ซึ่งนี่เป็นจุดยืนที่สำคัญมากของภูมิปัญญาบูรณาการ


วิภาษวิธีของความก้าวหน้า (the dialectic of progress) คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงจากขั้นตอนหนึ่งไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง ในกระบวนการวิวัฒนาการของจักรวาฬ โดยที่เมื่อขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการในแต่ละขั้นตอนได้พัฒนาไปจนถึงขีดจำกัดของมัน ซึ่งแสดงออกในรูปของความวุ่นวาย, ภาวะไร้ระเบียบ, กลียุค หรือความล่มจมของระบบ ฯลฯ ก็จะมีแรงผลักดันจากภายในให้ก้าวข้ามขั้นตอนนั้น (self-transcending drive) ไปสู่ขั้นตอนใหม่ที่มีความเป็นระเบียบสูงกว่า แต่แม้ ขั้นตอนใหม่ ที่มีความเป็นระเบียบระบบสูงกว่าจะสามารถดิ้นหลุดจากข้อจำกัดของขั้นตอนเก่าได้ แต่ตัวมันก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ และข้อจำกัดใหม่ๆ ของมันเอง ซึ่งไม่อาจแก้ไขได้ภายในระดับเดียวกัน หรือภายในขั้นตอนนั้น


พูดง่ายๆ ก็คือ เรามี ราคาที่ต้องจ่าย เสมอในทุกๆ ขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการที่มนุษยชาติรุดหน้าไป แม้ปัญหาเก่าจะถูกแก้ไขหรือถูกทำให้ไม่กลายเป็นปัญหาอีกต่อไป แต่ก็จะเกิดปัญหาใหม่ที่มีความยากยิ่งขึ้น ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ให้ต้องมาแก้ไขต่อไปอีกราวกับไม่มีวันจบสิ้น


ขั้นตอนการเติบโตของจิตที่แตกต่างกันจะทำให้มีโลกทัศน์ที่แตกต่างกัน และสร้างสังคมที่ต่างออกไป นี่คือ ความจริงพื้นฐานที่สำคัญมากในการศึกษาพัฒนาการของสังคม


เพราะ ระดับจิตที่เติบโตขึ้น จะมีความสามารถในการรับรู้ (cognitive capacity) ที่พัฒนายิ่งขึ้น จึงทำให้ มองโลกแตกต่างไปจากเดิมด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป


โลกทัศน์ที่ต่างกันจะ "สร้าง" โลกที่ต่างกัน ขึ้นในแต่ละคน คนที่ระดับจิตต่างกันมีโลกทัศน์ต่างกัน แม้จะอยู่ใน พื้นที่ทางกายภาพอันเดียวกัน แต่ "โลก" ของแต่ละคนจะต่างกันมาก


ระดับจิตแบบเหตุผลนิยม (ตรรกะเดี่ยวหรือ formop) (มีมสีส้ม) ก่อให้เกิดโลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม หรือทันสมัยนิยม แล้วก็สร้าง สังคมอุตสาหกรรม ขึ้นมา


ขณะที่ระดับจิตแบบพหุนิยม (ตรรกะเชิงซ้อน หรือ vision-logic) (มีมสีเขียว) ก็ก่อให้เกิดโลกทัศน์แบบหลังทันสมัยนิยมหรือโพสต์โมเดิร์น แล้วก็สร้างสังคมข่าวสาร หรือสังคมความรู้ขึ้นมาอย่าง "ก้าวข้ามและหลอมรวม" สังคมอุตสาหกรรม


ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในยุคที่ ทันสมัยนิยม กำลังเปิดทางให้แก่ หลังทันสมัยนิยม ซึ่งอีกไม่นานก็ต้องเปิดทางให้แก่ บูรณานิยม (integralism) (มีมสีเหลือง) ซึ่งการ เปิดทาง นี้ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดใน แนวทางการเข้าถึงองค์ความรู้ที่ต่างกันระหว่างทันสมัยนิยม กับ หลังทันสมัยนิยม โดยที่ แบบแรก เป็นแบบ "ตัวแทนสะท้อน" (representation paradigm) ขณะที่ แบบหลัง เป็นแบบ "สร้างขึ้น" (constructivism)


กระบวนการในการ ข้ามพ้นความทันสมัย (beyond modernity) ไปสู่โพสต์โมเดิร์น ที่เกิดขึ้นในระดับโลกตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้วในโลกตะวันตกนั้น แสดงออกให้เห็นในรูปของการที่มี คนบางส่วน ที่ระดับจิตของเขา เริ่มข้ามพ้นการใช้แค่ตรรกะเหตุผลเท่านั้น (mere rationality) ในการเข้าถึงความจริง แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน และเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ-เทคโนโลยีที่ก้าวไปไกลกว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม (industrialization)


การเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน เชิงระบบจะต้องควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกของผู้คนเสมอถึงจะได้ผล จะพึ่งแค่อย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้หรอก


เมื่อใดก็ตามที่ความมีเหตุผล (rationality) และอุตสาหกรรมได้ถูกหลอมรวมเข้าเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของ สังคมโพสต์โมเดิร์น อย่างมีความสมดุลยิ่งขึ้นอย่างบูรณาการยิ่งขึ้น เมื่อนั้นแหละที่จะเกิด ความยั่งยืน (sustainable) ในการพัฒนาของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริงขึ้นมาได้


คุณประโยชน์ ของ ความทันสมัยที่ยั่งยืน จึงมิอาจเป็นจริงได้ใน ขั้นตอนของทันสมัยนิยม แต่ อาจเป็นจริงได้ในขั้นตอน หลังทันสมัยนิยม...นี่คือ ความจริงแห่งวิภาษวิธีของความก้าวหน้า


คุณประโยชน์ ของ ประชาธิปไตยทางอ้อม จึงอาจเห็นได้ยากในขั้นตอนของ ทันสมัยนิยม ที่เป็น ธนาธิปไตย แต่เราอาจเห็นได้ในขั้นตอน หลังทันสมัยนิยมที่กลุ่มชนต่างๆ ในทุกๆ ส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเปิดกว้าง


แต่ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนทันสมัยนิยม หรือขั้นตอนหลังทันสมัยนิยม หรือขั้นตอนใดๆ ก็ตาม เราจะต้องไม่ลืมว่า ทุกขั้นตอนล้วนแล้วแต่เป็นการเผยตัวของธรรมจิต (Spirit) ทั้งสิ้น ธรรมจิตหรือจักรวาฬ (Kosmos) ไม่เคยเจาะจงจำกัดตัวเองอยู่แค่ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ยุคใดยุคหนึ่ง หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งโดยจำเพาะ แต่มันดำรงอยู่ใน กระบวนการวิวัฒนาการทั้งหมดทั้งสิ้น จึงครอบคลุมทุกๆ ขั้นตอน ทุกยุค ทุกสถานที่อย่างไม่จำเพาะเจาะจง


การที่ ธรรมจิตต้องทะลุทะลวงฝ่าข้าม ข้อจำกัด ในแต่ละขั้นตอนของวิวัฒนาการ เพื่อให้ขั้นตอนใหม่ ระดับใหม่ ยุคใหม่ สามารถเผยตัวออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ได้ มันก็กระทำผ่าน วิภาษวิธีของความก้าวหน้า ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว


ปัญหาต่อมาก็คือว่า แล้ว ธรรมจิต หรือ จักรวาฬ มันเผยตัวออกมาอย่างไร? ซึ่งเราก็ได้อธิบายไปบ้างแล้วว่า ธรรมจิตหรือจักรวาฬมันเผยตัวออกมาใน 4 มิติ หรือจตุรภาค (the four quadrants) ในทุกๆ ขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของมัน เราขอขยายความให้ละเอียดยิ่งขึ้นดังต่อไปนี้


จักรวาฬ ที่มนุษย์เราสามารถ รับรู้ ได้เป็น โลกเชิงสัมพัทธ์ (relative world) มิใช่ โลกเชิงสัมบูรณ์ (absolute world) หรืออีกนัยหนึ่งเป็นโลกแห่งทวิภาวะ หรือ ความเป็นคู่ (หยิน-หยาง) วิธีเข้าใจโลกเชิงสัมพัทธ์นี้อย่างง่ายที่สุด แต่ก็อย่างบูรณาการที่สุดคือ การแบ่งมันออกเป็น 4 ภาค หรือ 4 มิติโดยใช้ ความเป็นภายใน-ความเป็นภายนอก ของโฮลอน (หน่วยองค์รวม) กับ ความเป็นปัจเจก-ความเป็นกลุ่ม มาเป็นตัวแบ่ง โลกเชิงสัมพัทธ์หรือจักรวาฬที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ออกเป็น 4 ภาคที่เรียกว่า จตุรภาค ซึ่งเป็น มุมมอง (perspective) 4 อย่างที่มนุษย์สามารถมองจักรวาฬได้ภายใต้ ภาษาบุคคลที่หนึ่ง ("I" language) หรือภาษา "ฉัน", ภายใต้ ภาษาบุคคลที่สอง ("we" language) หรือภาษา "เรา" และภายใต้ ภาษาบุคคลที่สาม ("It" language) หรือภาษา "มัน" เท่านั้น!


ภาษา บุคคลที่หนึ่ง หรือภาษา "ฉัน" ใช้สำหรับการรับรู้เชิง อัตวิสัย (subjective) ของมนุษย์ซึ่งเกี่ยวกับ ด้านใน หรือ โลกภายใน ของมนุษย์ เป็นการรับรู้ในเชิง "ความงาม" เกี่ยวพันกับด้านที่เป็น เจตนารมณ์ อันนี้จะอยู่ใน ภาคซีกซ้ายบน (Upper Left) ของจตุรภาค (ดูแผนภาพประกอบ)






กับ ด้านใน ของผู้คน ในเชิงคุณค่า (ค่านิยม) และโลกทัศน์เป็นการรับรู้ในเชิง "ความดี" เกี่ยวพันกับด้านที่เป็น วัฒนธรรม อันนี้จะอยู่ใน ภาคซีกซ้ายล่าง (Lower Left) ของจตุรภาค ภาษาบุคคลที่สาม หรือภาษา "มัน" ถ้าเป็น เอกพจน์ (it) จะใช้สำหรับการรับรู้เชิงภาววิสัย (objective) ของมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวกับ ด้านนอก หรือ โลกภายนอก ของมนุษย์ เป็นการรับรู้ในเชิง "ความจริง" เกี่ยวพันกับ พฤติกรรม (ที่สังเกตเห็นได้โดย คนอื่นจากภายนอก) อันนี้จะอยู่ใน ภาคซีกขวาบน (Upper Right) ของจตุรภาค


ภาษาบุคคลที่สาม ที่เป็น พหูพจน์ (its) จะใช้สำหรับการรับรู้เชิง ภววิสัยร่วม (interobjective) ของกลุ่มคน ซึ่งเกี่ยวกับ ด้านนอก ของผู้คนในเชิงสังคม สถาบัน ระบบต่างๆ โครงสร้างต่างๆ เป็นการรับรู้ในเชิง "ความจริง" เกี่ยวพันกับ ระบบสังคม อันนี้จะอยู่ใน ภาคซีกขวาล่าง (Lower Right) ของจตุรภาค


4 มิติ (จตุรภาค) ของจักรวาฬ (โลกเชิงสัมพัทธ์) จึงเป็น 4 มิติขององค์ความรู้ของมนุษย์ไปพร้อมๆ กันด้วย ตัวตนที่แท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า "ความก้าวหน้าของมนุษยชาติ" นั้น จึงมิใช่สิ่งใดอื่นนอกจาก องค์ความรู้แขนงต่างๆ ใน 4 มิติ ที่เผยตัวออกมาพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนไปของกระบวนการวิวัฒนาการของจักรวาฬ ที่มุ่งไปในทิศทางที่ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง การที่เราจะสร้างสังคมเรา ให้กลายเป็น สังคมความรู้ ได้ จึงต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อนเป็นอันดับแรก


จิต ของคนเรา พัฒนา ได้ก็เพราะ ความรู้ ในเชิงจิตวิทยา ในเชิงศิลปะ ในเชิงภาวนา ในเชิงญาณทัสนะ ในเชิงจิตวิญญาณ


วัฒนธรรม ของคนเรา งอกงาม ได้ ก็เพราะ ความรู้ ในเชิงภูมิปัญญาเชิงขนบธรรมเนียมประเพณี ในเชิงตีความ ในเชิงอัตลักษณ์ ในเชิงคุณค่า ในเชิงศีลธรรมคุณธรรมความเชื่อความศรัทธา ในเชิงความหมาย ในเชิงชุมชน


พฤติกรรม (การเคลื่อนไหว) ของคนเราสะดวกสบายขึ้นได้ก็เพราะ


ความรู้ ในเชิงวิทยาศาสตร์เชิงเทคโนโลยี สาขาต่างๆ


สังคม ของคนเรา มีความศิวิไลซ์ได้ก็เพราะ ความรู้ ในเชิงปรับปรุง ปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ระบบ สถาบัน รูปแบบการบริหาร การจัดการต่างๆ


จะเห็นได้ว่า ธรรมจิตหรือจักรวาฬต้องดำรงอยู่และเผยตัวอยู่ในทุกมิติ ทั้ง 4 มิติ หรือจตุรภาค ธรรมจิตหรือจักรวาฬ ไม่มีทางเป็นแค่จิตหรือเป็นแค่พระแม่ธรณี (Gaia) หรือเป็นแค่ข่ายใยของชีวิต (the web of life) หรือเป็นแค่ปรากฏการณ์เชิงภาววิสัยทั้งปวง แต่มันเป็น ทุกอย่าง ในจตุรภาคนี้แหละ


การครุ่นคิดมุ่งแก้ปัญหาใดๆ ของมนุษย์ และสังคมทั้งปวง โดยขาดมุมมองเชิงจตุรภาคข้างต้น จึงไม่ต่างจากคนตาบอดคลำช้าง*










 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้