หลักวิวัฒนาการของ "หน่วยองค์รวม" กับความจริงของจักรวาฬ 24/8/2547

หลักวิวัฒนาการของ "หน่วยองค์รวม" กับความจริงของจักรวาฬ 24/8/2547


หลักวิวัฒนาการของ "หน่วยองค์รวม" กับความจริงของจักรวาฬ



เราได้กล่าวไปแล้วว่า สิ่งต่างๆ ล้วนเป็น "หน่วยองค์รวม" หรือ โฮลอนของสิ่งอื่น ทุกๆ สิ่งล้วนแล้วแต่เป็นองค์รวม/ส่วนย่อยอยู่เช่นนั้นตลอดมา ในเมื่อจักรวาฬประกอบขึ้นมาจากหน่วยองค์รวม เพราะฉะนั้นถ้าหากเราสามารถเกาะกุมได้ว่า หน่วยองค์รวมทั้งหลายมีลักษณะร่วมกันอะไรบ้าง เราก็ย่อมสามารถที่จะทำความเข้าใจได้ว่า วิวัฒนาการในภูมิต่างๆ ของจักรวาฬมี ลักษณะร่วมกันอย่างไรได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกายภูมิ ชีวภูมิ เจตภูมิ และธรรมภูมิ


นี่คือหลักการข้อที่สองในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาฬที่กล่าวว่า "โฮลอน (หน่วยองค์รวม) ทั้งปวงล้วนมีคุณลักษณะที่แน่นอนบางอย่าง" ซึ่งสืบทอดจากหลักการข้อแรกที่กล่าวว่า "ความจริงของจักรวาฬประกอบขึ้นมาจากโฮลอนต่างๆ หรือหน่วยองค์รวมต่างๆ"


เนื่องจากว่า แต่ละโฮลอนล้วนเป็นองค์รวม/ส่วนย่อยอยู่ในตัวเอง เพราะฉะนั้น โฮลอนแต่ละตัวจึงต้องมี "แนวโน้มสองอย่าง" อยู่ในตัวเพื่อรักษาความเป็นตัวของมันเอาไว้ คือรักษาความเป็นองค์รวม (wholeness) กับความเป็นส่วนย่อย (partness) ของตัวมันเอาไว้


แนวโน้มในการรักษา ความเป็นองค์รวมของตัวโฮลอน จึงหมายถึงการรักษาเอกลักษณ์ของตัวมัน และความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) ของตัวโฮลอน ถ้าโฮลอนล้มเหลวในการรักษาแนวโน้มนี้ ตัวมันเองก็ดำรงอยู่ไม่ได้ สิ่งนี้เป็นความจริงของโฮลอนทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอะตอม เซลล์ อวัยวะ หรือไอเดียก็ตาม


แต่โฮลอน นอกจากจะเป็นองค์รวมในตัวของมันเองแล้ว มันยังเป็นส่วนย่อยของระบบอื่นหรือองค์รวมอื่นด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นโฮลอนแต่ละตัวนอกจากจะต้องรักษาความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้แล้ว ขณะเดียวกัน มันก็ต้องสามารถปรับตัวหรือทำตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม หรือระบบอื่นที่เป็นโฮลอนที่ใหญ่กว่า ที่โฮลอนเป็นส่วนย่อยของมันด้วย ถ้าโฮลอนนั้นปรับตัวไม่ได้ มันก็ดำรงอยู่ไม่ได้เช่นกัน


ความสามารถในการรักษาความเป็นตัวของตัวเอง (ที่เป็นองค์รวม) กับความสามารถในการทำตัวให้เหมาะสม (ในฐานะที่เป็นส่วนย่อย) นี้เราเรียกว่า เป็นความสามารถตามแนวนอน (horizontal capacities) ของโฮลอน


แต่ตัวโฮลอนนอกจากจะมีความสามารถตามแนวนอน (ในระดับเดียวกัน) แล้ว มันยังมีความสามารถตามแนวตั้ง (vertical capacities) (ในต่างระดับ) อีกด้วย ซึ่งความสามารถตามแนวตั้งนี้ก็มี 2 อย่างเช่นกันคือ ความสามารถในการข้ามพ้นตัวเอง (self-transcendence) กับความสามารถในการสลายตัวเอง (self-dissolution)


เรื่องนี้ต้องขยายความ ยกตัวอย่างเช่น


ถ้าหากโฮลอนหนึ่งล้มเหลวในการรักษาความเป็นองค์รวมและส่วนย่อยของมัน มันจะเริ่มล่มสลาย และเมื่อมันล่มสลาย มันจะแตกกระจายออกเป็นโฮลอนย่อย อย่างเช่น เซลล์แตกสลายเป็นโมเลกุล ซึ่งแตกสลายเป็นอะตอม นี่คือความสามารถในการสลายตัวเองของโฮลอน แต่ในขณะเดียวกัน โฮลอนก็มีความสามารถในการเสริมสร้างตัวมันด้วยการยกระดับ หรือก้าวข้ามตัวมันเองไปได้ในทิศทางที่ทวนกลับ ความสามารถในการสลายตัวเอง เหมือนอย่างเช่น โมเลกุลที่มารวมตัวกันเป็นเซลล์ นี่เป็นความสามารถในการข้ามพ้นตัวเองของโฮลอน อันเป็นกระบวนการที่ทำให้โฮลอนใหม่เผยตัวออกมาจากโฮลอนเดิมด้วยการข้ามพ้นโฮลอนเดิม


เพราะฉะนั้น กระบวนการวิวัฒนาการจึงไม่ใช่กระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ (natural selection) เหมือนอย่างที่ลัทธิดาร์วินเชื่อกันหรอก แต่วิวัฒนาการเป็นกระบวนการในการข้ามพ้นตัวเองของเหล่าโฮลอนต่างหาก ด้วยการเพิ่มองค์ประกอบใหม่ๆ เข้าไปในกระบวนการนั้น


จะว่าไปแล้ว แรงผลักดันที่ก่อให้เกิดการข้ามพ้นตัวเอง (self-transcending) นี้ก็มาจากตัวจักรวาฬเองที่ค่อยๆ เผยตัวออกมาอย่างเต็มรูปขึ้นเรื่อยๆ


แรงผลักดันในการข้ามพ้นตัวเองของจักรวาฬ นี้แหละที่ทำให้ "ชีวิต" ผุดโผล่ขึ้นมาจาก "วัตถุธาตุ" และก็ทำให้ "ใจ" (mind) ผุดโผล่ขึ้นมาจาก "ชีวิต" และยังทำให้ "จิตวิญญาณ" ผุดโผล่ขึ้นมาจาก "ใจ" ด้วย


นี่คือหลักการข้อที่สาม ในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาฬที่กล่าวว่า "โฮลอนเป็นสิ่งที่ผุดโผล่ออกมา" และโฮลอนใหม่ๆ ที่ผุดโผล่ขึ้นมา จะนำความแปลกใหม่ ความสร้างสรรค์ สิ่งใหม่ๆ และรูปแบบใหม่ตามมาด้วย


พวกเราทั้งหลาย ล้วนดำรงชีวิตอยู่ในเอกภพที่การสร้างสรรค์ล้วนผุดเกิดอย่างไม่มีจบสิ้น


ธรรมจิต (Spirit) คือสุญตา คือการสร้างสรรค์ และคือตัวจักรวาฬเอง จากธรรมจิตหรือจากความว่าง ก่อให้เกิด "รูป" (form) และรูปใหม่ที่ผุดโผล่คือ โฮลอนใหม่ที่บังเกิด


ไม่มีศาสตร์แขนงไหนที่กล้าปฏิเสธว่า การข้ามพ้นตัวเองเป็นที่มาของวิวัฒนาการทั้งปวงของจักรวาฬ ศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าศาสตร์ไหนล้วนพูดถูก (เป็นบางส่วน) จากมุมมองของมันที่เข้าไปศึกษาค้นคว้าความจริงของจักรวาฬ


โอกาสที่ลิงชิมแปนซีตัวหนึ่งที่พิมพ์ดีดอย่างสะเปะสะปะ แล้วจะสามารถพิมพ์บทละครของเชกสเปียร์ออกมาได้มีเท่ากับหนึ่งใน 10 ยกกำลัง 40 ถ้าหากมันจะเกิดขึ้นก็คงกินเวลาถึงแสนล้านล้านปี ขณะที่จักรวาลเพิ่งถือกำเนิดมาได้แค่สิบหกพันล้านปีเท่านั้น เวลาแค่สิบหกพันล้านปีนี้ ยังไม่พอแม้แต่จะผลิตสารเอนไซม์ตัวหนึ่งออกมาโดยบังเอิญ! (จากการคำนวณของนักวิทยาศาสตร์เอง)


เพราะฉะนั้น แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็เริ่มคล้อยตามแล้วว่า การสร้างสรรค์ (creativity) ที่ไม่ใช่ความบังเอิญนี้ต่างหาก ที่เป็นผู้สร้างจักรวาฬขึ้นมาจาก "ความว่าง" (Emptiness) อย่างมี "เจตนารมณ์" ที่ชัดเจนอันหนึ่งที่สามารถรับรู้ได้จากการคลี่คลาย ผุดบังเกิดโฮลอนใหม่ๆ ออกมาอย่างเป็นระบบ อย่างมีโครงสร้างในท่ามกลางกระบวนการแห่งวิวัฒนาการของตัวจักรวาฬเอง


นี่คือหลักการข้อที่สี่ในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาฬที่กล่าวว่า "โฮลอนผุดโผล่ออกมาอย่างมีโครงสร้างเป็นลำดับชั้น (holarchically)"


คำว่า โครงสร้างเป็นลำดับชั้นแบบโฮลอน (holarchy) เป็นคำผสมระหว่างคำว่า hierachy กับคำว่า holon จริงอยู่ที่ปัญญาชนในยุคโพสต์โมเดิร์นมีทัศนะในเชิงลบ ต่อคำว่า hierachy ที่มีตัวแทนที่โดดเด่นคือรัฐกับบรรษัทขนาดใหญ่ เพราะเป็นโครงสร้างเป็นลำดับชั้นที่มีลักษณะครอบงำบงการผู้คน แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า มันยังมีโครงสร้างเป็นลำดับชั้นตามธรรมชาติ (natural hierachy) ที่ดำรงอยู่อย่างเป็นโฮลอนอย่างนั้นอยู่แล้ว อย่างเช่น อนุภาค/อะตอม/โมเลกุล/เซลล์ หรืออักษร/คำ/ประโยค/บท hierachy แบบนี้ เราไม่ควรต่อต้านหรือปฏิเสธ และเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน เราจึงใช้คำว่า holarchy แทน natural hierachy เพื่อที่จะได้แยกแยะออกจาก dominator hierachies อย่างระบบราชการ พรรคการเมือง บรรษัทขนาดใหญ่ และวิจารณ์พฤติกรรมของมันได้


ในเมื่อโฮลอนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในจักรวาฬ และโครงสร้างเป็นลำดับชั้นแบบโฮลอน หรือ holarchy ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น เพราะฉะนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า รูปแบบการพัฒนาและวิวัฒนาการทั้งปวง จะต้องขับเคลื่อนไปโดยการทำให้เป็นโครงสร้างอย่างเป็นลำดับชั้นแบบโฮลอน (holarchization) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เพิ่มความเป็นองค์รวม ด้วยการผุดโผล่โฮลอนใหม่ และหลอมรวมโฮลอนเก่าเข้าไว้ด้วย นี่เป็นหลักการข้อที่ห้า ในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาฬที่กล่าวว่า "โฮลอนที่ผุดโผล่ขึ้นมาแต่ละอันจะก้าวข้าม แต่ก็จะหลอมรวมโฮลอนก่อนหน้านั้นเอาไว้ด้วย"
ยกตัวอย่างเช่น เซลล์ย่อมก้าวข้ามโมเลกุลของมัน แต่ก็รวมโมเลกุลอยู่ในตัวภายใต้โครงสร้างเป็นลำดับชั้นแบบโฮลอน


นี่เป็นความเข้าใจที่สำคัญมากในการศึกษา วิวัฒนาการของสรรพสิ่งที่แลเห็นว่า โฮลอนทั้งหลายเป็นองค์รวม/ส่วนย่อย โดยที่ในฐานะที่เป็นองค์รวมมันก้าวข้าม แต่ในฐานะที่เป็นส่วนย่อยมันถูกหลอมรวมวิวัฒนาการของจักรวาฬ จึงมิใช่สิ่งใดอื่น นอกจากการก้าวข้ามและหลอมรวม...การก้าวข้ามและหลอมรวมเท่านั้น


ในกระบวนการก้าวข้ามและหลอมรวมของวิวัฒนาการของจักรวาฬนี้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงเรื่อง "ความสูงกว่า" กับ "ความต่ำกว่า" ของภูมิต่างๆ ในจักรวาฬ ชีวภูมิก้าวข้ามแต่หลอมรวมกายภูมิ ดังนั้น ชีวภูมิย่อม "สูงกว่า" กายภูมิในเชิงของโครงสร้างตามลำดับชั้นแบบโฮลอน กายภูมิซึ่งต่ำชั้นกว่าชีวภูมิ จึงมีความเป็นพื้นฐานมากกว่าชีวภูมิ ในความหมายที่ว่าต่อให้สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ตายหมด โลกในฐานะที่เป็นกายภูมิก็ยังดำรงอยู่ได้ แต่ถ้ากายภูมิถูกทำลาย โฮลอนชั้นที่สูงกว่าไม่ว่าชีวภูมิหรือเจตภูมิก็อยู่ไม่ได้


ในทำนองเดียวกัน เจตภูมิสูงชั้นกว่าชีวภูมิ หากชีวภูมิหรือระบบนิเวศน์ถูกทำลาย จิตมนุษย์ที่อยู่ในเจตภูมิก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ เพราะชีวภูมิเป็นส่วนย่อยของเจตภูมิที่เป็นโฮลอนที่สูงกว่า นี่เป็นความจริงของจักรวาฬที่เหล่ามนุษยชาติผู้กำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกในปัจจุบัน ไม่อาจมองข้ามเป็นอันขาด







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้