ความจริงที่หลากหลายของจักรวาฬ
ปัญหาต่างๆ มากมายในโลกนี้ ในสังคมนี้ส่วนใหญ่มีที่มา จากการยึดติดยึดมั่นถือมั่นใน "มุมมอง" ของตนเองเป็นใหญ่ ราวกับว่า "ความจริง" จากมุมมองที่ตนเองมองเห็นนั้นเป็น "ความจริง" เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วมันก็เป็นแค่ ความจริงเฉพาะด้าน ที่มีส่วนถูกต้องอยู่บ้างในบางแง่บางมุม แต่ก็ยังมิใช่ ความจริงเชิงบูรณาการ ที่ประกอบขึ้นมาจาก มุมมองที่แตกต่างและหลากหลาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น "ความจริง" เหมือนกัน แต่ทุกอันก็ล้วนเป็น "ความจริงเฉพาะด้าน" เช่นเดียวกัน (คือ รู้สึกว่ามันเป็นความจริงอย่างจริงแท้เมื่อมองจากมุมมองนั้น โดยที่ยังมิได้ตระหนักว่า ยังมีความจริงอย่างอื่นนอกเหนือไปจากนั้น ดำรงอยู่อีกได้)
ความจริงหรือสัจธรรมสามารถปลดเปลื้องคนเราให้เป็นอิสระทางความคิดได้ก็จริง แม้เพียงเข้าถึงความจริงได้แค่บางประเภทเท่านั้น เช่น ความจริงทางวิทยาศาสตร์ หรือความจริงทางศิลปะ หรือความจริงทางศาสนา (จิตวิญญาณ) แต่ ภูมิปัญญาบูรณาการ ยังกล่าวเสริมอีกว่า การปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระ จะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นถ้าผู้นั้นสามารถเข้าถึงได้ในทุกประเภท ทุกมิติของความจริงของจักรวาฬ ที่จำแนกได้เป็น 4 ประเภท หรือจตุรภาค
การมีความเข้าใจและยอมรับในความจริงที่แตกต่างและหลากหลายนี้ ถือเป็น ก้าวแรก ของการมี ภูมิปัญญาแบบบูรณาการ และเป็นการเตรียมปรับตัวเองให้เข้ากับ ตัวจักรวาฬ ด้วย อันจะนำไปสู่ การยกระดับจิต ของคนเรา ซึ่งในที่สุดก็จะลุถึงขั้นสามารถ ปรองดองกับทุกสรรพสิ่งได้
การมีความเข้าใจและยอมรับในความจริงที่หลากหลายของจักรวาฬ คือการเปิด "พื้นที่" ให้ความจริงเหล่านี้มันพูด กับ เรา ให้มันพูด ภายใน ตัวเรา และให้มันพูด ผ่าน ตัวเราออกไปนั่นเอง และนี่คือ การค้นพบอันยิ่งใหญ่ของโพสต์โมเดิร์น และทำให้เราสามารถ ทึ่ง ใน ปรีชาญาณ ของ คนโบราณ ที่กล่าวในเชิง ปรัมปราคติ ว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก โดยที่พระพรหมนั้นมีสี่หน้า ซึ่งถ้าพูดด้วยภาษาและการตีความแบบโพสต์โมเดิร์นอย่างในปัจจุบัน ก็จะเป็นว่า สิ่งที่คนโบราณนับถือบูชาว่าคือพระพรหมนั้น ที่แท้ก็คือบุคลาธิษฐาน (การทำให้เป็นบุคคล) ของตัวจักรวาฬ (Kosmos) นี่เอง และ สี่หน้าของพระพรหมนั้นที่แท้ก็คือ ความจริง 4 มิติ หรือจตุรภาคของจักรวาฬนั่นเอง!
นักคิดนักทฤษฎีที่สำคัญของโลกล้วนสามารถจัดประเภทอยู่ในภาคใดภาคหนึ่งของ ความจริงทั้ง 4 ภาค ของจักรวาฬนี้ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น ใน ภาคซ้ายบน นั้นได้แก่ ฟรอยด์, คาร์ล จุง ศรีอรพินโธ โพลตินัส ปีเจต์ ซึ่งเป็นนักคิดนักทฤษฎีในเรื่องจิต การตีความ และการอ่านความหมายของโลกภายในที่เป็นปัจเจกใน ภาคซ้ายล่าง นั้นได้แก่ แมกซ์ วีเบอร์, ยีน เกบเซอร์ ซึ่งเป็นนักคิดนักทฤษฎีในเรื่องโลกทัศน์, วัฒนธรรม อันเป็นโลกภายในของกลุ่มคนใน ภาคขวาบน นั้นได้แก่ ศาสตร์เชิงประจักษ์ประเภทต่างๆ ที่ศึกษาโลกภายนอกเชิงพฤติกรรมของปัจเจก
ส่วนใน ภาคขวาล่าง นั้นได้แก่ นักคิดเชิงระบบอย่างคาร์ล มาร์กซ์ ทฤษฎีระบบ (Systems Theory) ประเภทต่างๆ อันเป็นการศึกษาโลกภายนอกของกลุ่มคน
ใครก็ตามที่ออกมาแสดงความเห็นของตนใน เวทีสาธารณะ ไม่มากก็น้อยย่อมต้องสะท้อนความจริงของภาคใดภาคหนึ่งที่ผู้นั้นได้ฝึกฝนเรียนรู้จนชำนาญเป็นพิเศษกว่าภาคอื่นออกมากันทั้งสิ้น หรือย่อมต้องสะท้อน "ความจริงเฉพาะด้าน" หรือ "ความจริงบางด้าน" จากมุมมองของผู้นั้นออกมาด้วยกันทั้งสิ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่มีใครมีความเห็นที่ถูกต้องหมดหรือผิดหมดอย่างสิ้นเชิงหรอก ทุกคนต่างถูกต้องกันทั้งนั้น เพียงแต่ถูกต้องไม่หมด...ถูกต้องเพียงบางส่วนเท่านั้น
เพราะฉะนั้น คนเราจึงควรเปิดใจให้กว้าง ยิ่งเป็น "ผู้นำ" ด้วยแล้ว ยิ่งต้องเปิดใจให้กว้าง รับฟังเรียนรู้ "ความจริงที่หลากหลาย" จากมุมมองในแต่ละภาคต่างๆ ของจักรวาฬให้มาก เพื่อให้ทัศนะของ ผู้นำ เข้าใกล้ความจริงของจักรวาฬมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในที่สุดก็จะสามารถนำไปสู่ ข้อยุติความขัดแย้งทางความคิดได้ เพราะทุกฝ่ายต่างก็จะมี ทัศนะที่บูรณาการยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนเกิด เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย ขึ้นมาได้ในที่สุด
ปัญหาของคนที่ยึดติดอยู่ในกรอบโลกทัศน์แบบทันสมัยนิยม (โมเดิร์น) ก็คือ คนเหล่านี้มีความโน้มเอียง (ที่เกิดจากการถูกอบรมฝึกฝนด้วยระบบการศึกษา) ที่จะ มุ่งมองความจริงของจักรวาฬเฉพาะภาคซีกขวาเท่านั้น คือมุ่งมองไปที่พฤติกรรมเชิงภววิสัยที่เป็นเป้าของการสังเกตการณ์จากภายนอกได้เป็นหลักเท่านั้น
วิธีการศึกษาเช่นนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาสมอง ร่างกายมนุษย์ สิ่งของ สังคม ระบบนิเวศ ฯลฯ แต่วิธีการศึกษาแบบนี้ไม่เหมาะต่อการศึกษาเรื่อง "ใจ" หรือ "จิต" ซึ่งเป็น มิติด้านใน อันอยู่ใน ภาคซีกซ้าย ของความจริงของจักรวาฬ ซึ่งต้องพึ่ง การตีความ (interpretation) เป็นหลัก จะใช้แค่การสังเกตการณ์จากภายนอกอย่างภววิสัยเฉยๆ ไม่ได้
การเข้าถึงความจริงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถบูรณาการ วิธีการศึกษาแบบภาคซีกขวา กับวิธีการศึกษาแบบภาคซีกซ้าย เข้าด้วยกันอย่างมีสมดุล
ความจริงของจักรวาฬ มิได้ประกอบขึ้นมาจาก "ข้อเท็จจริง" (facts) เท่านั้น เหมือนอย่างที่พวกทันสมัยนิยม พวกประจักษ์นิยม พวกประสบการณ์นิยม ซึ่งเป็นพวกที่ยึดถือบูชาวิธีการศึกษาแบบภาคซีกขวาเป็นหลัก "เชื่อ" กัน
แต่ ความจริงของจักรวาฬ ก็มิได้ประกอบขึ้นมาจาก "การตีความ" เท่านั้น เหมือนอย่างที่พวกโพสต์โมเดิร์น "สุดโต่ง" เชื่อกันอันเป็นการยึดถือบูชาวิธีการศึกษาแบบภาคซีกซ้ายอย่างสุดโต่ง
ทั้งสองพวกข้างต้นล้วนบกพร่องที่ยึดมั่นถือมั่นกับวิธีการศึกษาแบบของตนอย่างสุดโต่ง (quadrant absolutism)
ขณะที่ภูมิปัญญาบูรณาการนำเสนอว่า ความจริงของจักรวาฬเป็นทั้งข้อเท็จจริงและการตีความในเวลาเดียวกัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ เพราะ มนุษย์เราและสังคมเราต้องใช้วิธีการศึกษา ทั้งภาคซีกขวาและภาคซีกซ้ายนี้ ในการยกระดับจิตสำนึกของตัวเอง และของสังคม เพื่อก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้นในกระบวนการวิวัฒนาการของจักรวาฬนี้
อย่างที่เราได้บอกไปแล้วว่า วิธีการศึกษาแบบประจักษ์นิยมและพฤติกรรมนิยมของภาคซีกขวาที่วิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติใช้กันอยู่นั้น มันเป็นวิธีที่มีประโยชน์มาก ในการศึกษาสิ่งที่เป็น ภายนอก ของโฮลอนหรือหน่วยองค์รวมต่างๆ เพียงแต่มันไม่เพียงพอ และไม่อาจชักนำคนเราไปสู่ ด้านลึก อันเป็น ภายใน ของโฮลอนได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเกิดอาการ หดหู่ ขึ้นภายในจิตใจขึ้นมา วิธีการศึกษาแบบประจักษ์นิยมอย่างประสาทวิทยาที่เกี่ยวกับสมองก็จะบอกคุณว่า เพราะสมองคุณขาด สารเซโรโทนิน แต่ครั้นพอหมออัดฉีดสารเซโรโทนินเข้าไปในสมองคุณจนเต็ม คุณคิดหรือว่าตัวคุณจะหายจากการหดหู่ได้?
บางทีอาการหดหู่อาจเกิดขึ้นจากการที่ตัวคุณสูญเสียความหมายคุณค่าหรือหลักธรรมในการดำรงชีวิต ซึ่งคุณจะเข้าใจตัวคุณและสาเหตุของการหดหู่ได้ด้วยการที่ตัวคุณต้องดิ่งลึกเข้าไปสำรวจภายในจิตใจของคุณด้วยวิธีการศึกษาของภาคซีกซ้าย เพียงแต่เมื่อคุณมีอาการหดหู่ขึ้นมา ร่างกายของคุณโดยเฉพาะสมองของคุณจะสะท้อนอาการนี้ออกมาในรูปของการขาดสารเซโรโทนินด้วยเท่านั้น ซึ่งนี่เป็น ข้อเท็จจริง ทางกายภาพที่สามารถ พิสูจน์ ได้ แต่การจะ แก้ไข ความหดหู่ให้หมดไปได้ คุณต้อง เข้าใจ ความเจ็บปวดภายในจิตใจของคุณ ตีความ มันอย่างหา ความหมาย สำหรับตัวคุณให้เจอ เพื่อที่ในที่สุดแล้วคุณจะบังเกิด ความแจ่มกระจ่าง ขึ้นภายในจิตใจคุณ และเมื่อใดที่คุณสามารถ "ผลิตซ้ำ" ความแจ่มกระจ่าง ความมีจิตผ่องใสให้บังเกิดขึ้นภายในตัวคุณได้บ่อยๆ ครั้งเข้าจนชำนาญ คุณก็ย่อมสามารถเข้าถึง ความกระจ่างแจ้งแห่งดวงจิตของพระพุทธะ ที่เป็น ธรรมชาติภายใน ของตัวคุณได้เข้าสักวัน
การเข้าใจและตระหนักถึง ความจริงที่หลากหลายของจักรวาฬ จึงมิใช่เรื่องของนักปรัชญาบนหอคอยงาช้างอย่างที่หลายคนอาจจะรีบด่วนสรุปเช่นนั้น แต่มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวพันโดยตรงกับ การดับทุกข์ ของปัจเจก และ สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการมีวิชัน และการชี้นำประเทศของ "ผู้นำ" ที่ไม่ควรมีความสุดโต่งในภาคซีกขวาของการเรียนรู้เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้