โมเดลการพัฒนาการเมืองเชิงบูรณาการ 16/11/2547

โมเดลการพัฒนาการเมืองเชิงบูรณาการ 16/11/2547



โมเดลการพัฒนาการเมืองเชิงบูรณาการ

 

 



การเมืองเชิงบูรณาการ เป็นความพยายามทางปัญญาและความคิดที่จะ "ก้าวข้าม" ข้อจำกัด ที่เน้นเฉพาะด้านเฉพาะส่วนกับแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายของแนวทางการเมืองไม่ว่าแบบซ้ายหรือแบบขวา โดยใช้แนวคิดเรื่อง จตุรภาคของความจริงของจักรวาฬ กับ แนวคิดเรื่องระดับขั้นตอนของการวิวัฒนาการของจิต ซึ่งจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่อกล่าวในเชิง มีมสีต่างๆ ของระดับจิตตามทฤษฎี "เกลียวพลวัต" (Spiral Dynamics) ที่เป็น โครงสร้างเชิงลึกของโฮลอน (หน่วยองค์รวม) มาเป็น แกนหลัก ในการสร้าง โมเดลการพัฒนาการเมืองเชิงบูรณาการ


ในที่นี้ผู้เขียนจะขอสรุปแนวคิดเรื่อง จตุรภาค กับ เกลียวพลวัต ที่โยงเข้ากับเรื่อง การเมือง ได้อีกครั้ง ก่อนที่จะนำเสนอ แผนภาพ ที่แสดงโมเดลการพัฒนาการเมืองเชิงบูรณาการ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจโมเดลนี้อย่างเห็นภาพรวม


(1) จตุรภาคแห่งความจริงของมนุษย์ เป็นความจริงหลากมิติ ซึ่งมีอยู่ 4 มิติ ได้แก่ (ก) มิติทางเจตนารมณ์ (ภาคซ้ายบน) ซึ่งเป็น มิติแห่งปัจเจก-ด้านใน ในทาง การเมือง หมายถึง ระดับจิต ขั้นต่างๆ ของผู้นำทางการเมือง และนักการเมือง ในเชิง องค์ความรู้ ได้แก่ ทฤษฎีทางจิตวิทยาของมัสโลว์เรื่อง โครงสร้างตามลำดับชั้นแห่งความต้องการของมนุษย์ ทฤษฎีปัญญาทางอารมณ์ (อีคิว) คำสอนเรื่องอหิงสาธรรมของมหาตมะ คานธี ทฤษฎีเอ็นเนียแกรม (วิชานพลักษณ์) เหล่านี้เป็นต้น


(ข) มิติทางวัฒนธรรม (ภาคซ้ายล่าง) ซึ่งเป็น มิติแห่งรวมหมู่-ด้านใน ในทาง การเมือง หมายถึง โลกทัศน์ของผู้นำทางการเมือง และนักการเมืองที่ใช้ในการบริหารประเทศ ในเชิง องค์ความรู้ หมายถึง ทฤษฎีทางการเมืองประเภทต่างๆ เช่น ทฤษฎี "การปะทะทางอารยธรรม" ของฮันติงตัน ทฤษฎีสงครามเย็น ทฤษฎีการเมืองเชิงอัตลักษณ์ของพวกโพสต์โมเดิร์น ทฤษฎี "กระบวนทัศน์ใหม่" ของพวกเอ็นจีโอ เหล่านี้เป็นต้น


(ค) มิติทางพฤติกรรม (ภาคขวาบน) ซึ่งเป็น มิติแห่งปัจเจก-ด้านนอก ในทาง การเมือง หมายถึง พฤติกรรมต่างๆ ที่แตกต่างกันตามแต่ ประเภทของผู้นำทางการเมือง ซึ่งสะท้อน ระดับจริยธรรม ที่ต่างกันออกไป ในเชิง องค์ความรู้ หมายถึง ทฤษฎีที่มุ่งปรับปรุงพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น ทฤษฎีของเดล คาร์เนกี ทฤษฎี CEO ของวิชาบริหารธุรกิจ วิชาศีลธรรมเหล่านี้ เป็นต้น


(ง) มิติทางสังคม (ภาคขวาล่าง) ซึ่งเป็นมิติแห่ง รวมหมู่-ด้านนอก ในทาง การเมือง หมายถึง ลัทธิทางการเมืองที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมและระบอบสังคม ในเชิง องค์ความรู้ หมายถึง ทฤษฎีเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เช่น ลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเสรีนิยม ลัทธิจารีตนิยมของมุสลิม ทฤษฎี "ทางเลือกที่สาม" ทฤษฎีระบบ (system theory) เหล่านี้ เป็นต้น


(2) แถบสีทางจิต (มีม) ของทฤษฎีเกลียวพลวัต

ทฤษฎีเกลียวพลวัตทำการแบ่งระดับจิตของมนุษย์ออกเป็น 9 ระดับ โดยใช้สีเก้าสีเป็นตัวแทนระดับจิตของมนุษย์ ซึ่งมีระดับต่างกัน ซึ่งบางครั้งก็เรียกระดับจิตแต่ละระดับนี้ว่า "มีม" (meme) อันหมายถึง ระบบค่านิยมหลัก ที่กำหนดพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์


อนึ่ง ในทฤษฎีเกลียวพลวัตนี้ยังจำแนกย่อยระดับจิตทั้ง 9 ของเกลียวพลวัตออกเป็นสอง "ชั้น" (tier) ใหญ่ๆ โดย 6 ระดับแรกเป็น ชั้นที่หนึ่ง (first-tier thinking) อันเป็นระดับจิตแบบยังคิดเรื่องของตัวเองเป็นหลักอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความอยู่รอดในเชิงปัจจัย 4 หรือความอยู่รอดทางธุรกิจหรือทางการเมืองของตนเองก็ตาม เพราะฉะนั้น จิตของคนใน 6 ระดับแรกนี้ จึงมักขัดแย้ง ปะทะทางความคิดกันเสมอ เพราะต่างก็ยังยึดมั่นถือมั่นในตัวกู ของกูอยู่


ส่วน ชั้นที่สอง (second-tier thinking) ซึ่งมี 3 ระดับ (ระดับที่ 7-8-9) เป็น ระดับจิตที่เริ่มข้ามพ้นตัวตน (transpersonal) สามารถพัฒนาภายในจิตใจได้อย่างบูรณาการ เป็นองค์รวมและรอบด้าน (entire spectrum of interior development)


ระดับจิตหรือมีม (แถบสีทางจิต) ทั้ง 9 ระดับที่โยงกับผู้นำทางการเมืองเป็นดังนี้

1. มีมสีเบจ ในเชิงการเมืองไม่สามารถ "นำ" ใครได้ เพราะเป็นระดับจิตของฝูงชนที่อดอยาก ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตให้รอดไปวันๆ

2. มีมสีม่วง เป็น ผู้นำทางการเมืองประเภท "เผ่า" (tribal) เป็นระดับจิตของคนที่เชื่อในไสยศาสตร์อย่างงมงาย

3. มีมสีแดง เป็น ผู้นำทางการเมืองประเภท "เจ้าพ่อ" (predatory) เป็นระดับจิตของคนที่เชื่อในอำนาจของเทพเจ้า มุ่งหวังการปกป้องคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชอบแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กำลังความรุนแรง โดยไม่คิดหน้าคิดหลัง

4. มีมสีน้ำเงิน เป็น ผู้นำทางการเมืองประเภท "ชอบจัดระเบียบ" (conformist) เป็นระดับจิตของคนที่เชื่อในเรื่องระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามระเบียบธรรมเนียมกฎเกณฑ์ที่สังคมวางไว้ให้โดยไม่ตั้งคำถาม มีความรู้สึกรักชาติ ยึดถือความถูกต้องตามคัมภีร์ตำรา เป็นหลักในการดำรงชีวิตอย่างเหนียวแน่น และไม่สามารถยอมรับวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างไปจากนั้นได้

5. มีมสีส้ม เป็น ผู้นำทางการเมืองประเภท มุ่งความสำเร็จส่วนตนเป็นหลัก" (achiever) เป็นระดับจิตที่เชื่อในความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์อย่างสุดโต่ง มีความเป็นปัจเจกนิยมสูง ไม่ยึดติดกับความเชื่อของกลุ่ม ชอบค้นหาความจริงด้วยตัวเอง หาคำตอบด้วยระบบตรรกะใช้เหตุผล คิดแบบภววิสัยเป็นคนมองโลกแบบวิทยาศาสตร์ที่พยายามหาทางควบคุมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเป็น ระดับจิตของคนที่มุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จภายนอกเป็นหลัก เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขทางวัตถุ เป็นระดับจิตของคนที่มองว่าโลกนี้คือกระดานหมากรุก สำหรับการเล่นแข่งขัน เป็นจิตของคนที่หมกมุ่นแต่เรื่องกลยุทธ์ และชอบแสวงหาความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์

6. มีมสีเขียว เป็น ผู้นำการเมืองประเภท "พหุนิยม" (pluralistic) เป็นระดับจิตที่ใส่ใจในเรื่องความมีน้ำใจ ชุมชน ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ต้องการเห็นความผูกพันสมานฉันท์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ ต้องการให้มีการเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย ระดับจิตนี้จะเห็นว่า การเติบโตทางจิตวิญญาณหมายถึง การพ้นไปจากความโลภและการแบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นระดับจิตของคนที่ใช้หัวใจตัดสินมากกว่าใช้สมอง จึงต่อต้านโครงสร้างแบบอำนาจนิยมที่ชอบควบคุมและครอบงำ เชื่อมั่นการตัดสินปัญหาโดยใช้ประชามติและการเจรจาเป็นคนที่ยอมรับค่านิยมที่หลากหลายและแตกต่าง โดยไม่เชื่อว่ามีความถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

7. มีมสีเหลือง เป็น ผู้นำการเมืองประเภท "เริ่มบูรณาการ" (integrated) เป็นระดับจิตที่เริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงของโลก, จิตใจ (mind) และธรรมจิต (Spirit) เป็นจิตที่ตระหนักถึงกระบวนการอันยิ่งใหญ่ของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จบสิ้น มีปฏิกิริยาสนองตอบต่อชีวิตอย่างเป็นไปเอง และเป็นธรรมชาติดุจการลื่นไหลของสายน้ำ

8. มีมสีเทอร์คอยส์ เป็น ผู้นำการเมืองประเภท "องค์รวม" (holistic) เป็นจิตแบบองค์รวมที่สามารถผสานความรู้สึก และความรู้เข้าด้วยกันได้ สามารถใช้ความสมานฉันท์ของทุกระดับจิตได้อย่างสร้างสรรค์ จนสามารถสร้าง "การเมืองเชิงบูรณาการ" ขึ้นมาได้ เป็นจิตที่เริ่มมีความเข้าใจเชิงรหัสนัย (mystic) และญาณทัสนะ

9. มีมสีคอรอล เป็น ผู้นำการเมืองประเภท "ทั้งบูรณาการ และองค์รวม" (integral and holistic) เป็นจิตที่มีพัฒนาการเต็มรูปแบบที่เริ่มจากมีมสีเหลือง เป็นจิตที่กำลังก้าวล่วงเข้าสู่ จิตแบบอริยะ ซึ่งเป็น ระดับจิตชั้นที่สาม (Third-tier thinking) และเป็นชั้นสุดท้ายของมนุษย์ที่บรรลุธรรมแล้ว หรือเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาฬอย่างสิ้นเชิงแล้ว


เมื่อเข้าใจหลักคิดแบบจตุรภาคและแถบสีทางจิตของเกลียวพลวัต ตามขั้นต้นแล้ว เราจะขอนำเสนอแผนภาพ โมเดลการพัฒนาการเมืองเชิงบูรณาการ ตาม แผนภาพที่ 1 กับ แผนภาพที่ 2 ดังต่อไปนี้

 


 


จากแผนภาพทั้ง 2 แผนภาพข้างต้นนี้ เราสามารถค้นพบความจริงหลายประการของ การเมืองไทย ที่แต่ก่อนเราอาจมองข้ามไปหรือไม่เข้าใจมันอย่างกระจ่างแจ้งอย่างเป็นองค์รวมนัก ดังต่อไปนี้


(1) ผู้นำประเภท "เจ้าพ่อ" (มีมสีแดง หรือ predatory) ที่เข้ามาสู่วงการทางการเมือง ย่อมเล่นการเมืองที่มีระดับคุณธรรมทางการเมืองต่ำกว่ามาตรฐาน หรือต่ำกว่าเกณฑ์ทั่วไป (pre-conventional) หรือการที่พวก ส.ส.ที่ขายตัว-ซื้อเสียง-ไม่มีอุดมการณ์ ย่อมสร้าง "การเมืองน้ำเน่า" ขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่า การเมืองจะเป็นเช่นไร ย่อมแยกไม่ออกจากระดับการพัฒนาทางจิตของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นเสมอ


(2) เพราะฉะนั้นการ "นำเข้า" ระบอบประชาธิปไตย (ผลผลิตจากระดับจิตของมีมสีส้ม) เข้ามายังสังคมไทยในสมัย พ.ศ. 2475 ซึ่งระดับจิตของผู้คนส่วนใหญ่ยังอยู่ที่มีมสีแดง-มีมสีน้ำเงินอยู่ จึงทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็น "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ลุ่มๆ ดอนๆ เกิดวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหาร โดยกลุ่มเผด็จการซ้ำแล้วซ้ำเล่า


จนกระทั่ง เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นการเผยตัวทางการเมืองของระดับจิตของมีมสีส้ม ครั้งแรกและครั้งใหญ่ของประเทศนี้


จึงทำให้พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเริ่มก้าวไปสู่ทิศทางที่เริ่มเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น แต่แม้กระนั้นก็ยังต้องผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2540 และ การต่อต้านระบอบทักษิณในปี พ.ศ. 2547 แต่แม้กระนั้นจนกระทั่งบัดนี้ ประชาธิปไตยของประเทศนี้ก็ยังไม่พ้น ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม (authoritarian-democracy) อยู่ดี ตัวอย่างล่าสุดนี้คือ ตัวระบอบทักษิณนี่เองที่ยังคงมีความเป็น อำนาจนิยม อยู่สูงมากเลย


(3) ผู้นำประเภท "ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอน" (มีมสีน้ำเงินหรือ conformist) ย่อมเล่นการเมืองโดยยึดกลไกระบบราชการเป็นหลักเท่านั้น ผู้นำประเภทนี้จึงขาดความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะมุ่งปฏิรูปทั้งระบบอย่างจริงจัง และไม่กล้าทำอะไรที่ "นอกกรอบ"


(4) ผู้นำประเภท มุ่งความสำเร็จของตนเป็นหลัก" (มีมสีส้ม หรือ achiever) อย่าง ผู้นำในระบอบทักษิณ อาจจะมีความกล้าในการ "คิดใหม่ทำใหม่" หรือคิดนอกกรอบในการผลักดันนโยบายต่างๆ ก็จริง แต่เนื่องจาก ข้อจำกัดในระดับคุณธรรมของเขาที่อย่างมากก็แค่ตามเกณฑ์ทั่วไป (conventional) คือยังไม่สูงส่งพอ ยังไม่เสียสละมากพอเยี่ยง รัฐบุรุษที่ต้องมีคุณธรรมสูงส่งในระดับ post-conventional จึงทำให้การบริหารบ้านเมืองของเขาเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และเล่นพวกแบบญาติกาธิปไตย รวมทั้งการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อกลุ่มธุรกิจของพรรคพวกตนเป็นสำคัญ


(5) เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ระดับจิต ของผู้นำแห่งระบอบทักษิณเป็นแค่ระดับ มีมสีส้ม เท่านั้น นโยบายประชานิยมของเขาที่ออกมาจึงหวังผลทางการตลาด หรือหวังผลหาเสียงเป็นหลักเท่านั้น หาได้มีจิตเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศนี้อย่างยั่งยืน และจริงจังแต่ประการใด


(6) ในขณะที่ ผู้นำประเภท "พหุนิยม" (มีมสีเขียว หรือ pluralistic) จะสามารถนำเสนอนโยบาย ที่มีความเป็นของแท้ (more authentic) มากกว่า ผู้นำแบบมีมสีส้ม อย่างผู้นำในระบอบทักษิณเหมือนอย่างที่ นโยบายสวัสดิการก้าวหน้า ของ พรรคมหาชน มีความ เป็นของแท้มากกว่านโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย ถึงแม้ว่าองค์ประกอบความเป็นพรรคการเมืองของพรรคมหาชนจะมีระดับไม่ต่างไปจากของพรรคไทยรักไทยก็ตาม คือ ยังเป็นการชุมนุมของเหล่านักการเมืองที่มีระดับจิตหรือมีมสีต่างๆ มารวมกันมากกว่าจะเป็นการรวมตัวกันของเสรีชนผู้มีอุดมการณ์ที่แจ่มชัด


(7) ทฤษฎีการเมืองประเภทต่างๆ หรืออุดมการณ์ทางการเมืองประเภทต่างๆ เป็นแค่การสะท้อนโลกทัศน์และระดับจิตของคนผู้นั้นเท่านั้น แต่เนื่องจาก คนเรามีโลกทัศน์และระดับจิตแค่ไหน ก็จะสร้าง "การเมือง" ที่สอดคล้องกับระดับจิตของตนขึ้นมา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะก่อให้เกิดวิวัฒนาการทางการเมือง และพัฒนาการทางการเมือง หากทุกมิติของสังคมหรือ จตุรภาคของสังคม ถูกละเลย หรือไม่ได้มีการพัฒนาควบคู่กันไปด้วยอย่างมีสมดุลกัน


(8) ทิศทางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศนี้ ถ้าพิจารณาจากโมเดลแบบบูรณาการ จะเห็นว่า คงจะพัฒนาไปตามขั้นตอนดังนี้คือ เริ่มจาก ประชาธิปไตยแบบเผด็จการ หรือแบบอำนาจนิยม (authoritarian-democracy) ซึ่งสะท้อนระดับจิตของ มีมสีน้ำเงิน ไปสู่ ประชาธิปไตยแบบหลายพรรค (multiparty-democracy) ซึ่งสะท้อนระดับจิตของ มีมสีส้ม อันเป็นขั้นตอนปัจจุบัน ซึ่งต่อไปในอนาคตคงจะพัฒนาไปสู่ ประชาธิปไตยแบบสวัสดิการนิยม หรือ สังคมประชาธิปไตย (social-democracy)


(9) ผู้นำที่จะสามารถก้าวข้ามระบอบทักษิณ และชี้นำการปฏิรูปแบบบูรณาการใน ยุคหลังทักษิณ ได้ จะต้องเป็นผู้นำในระดับจิตของ มีมสีเขียวขึ้นไป เท่านั้น หรือยิ่งเป็นผู้นำในระดับจิตของมีมสีเหลืองขึ้นไปได้จะยิ่งดีมากๆ เพราะมีแต่ผู้นำในระดับจิตเช่นนี้เท่านั้นที่จะสามารถสร้าง "การเมืองใหม่" ที่แท้จริง ซึ่งเป็น จุดเริ่มต้น ของการพัฒนา การเมืองเชิงบูรณาการ ขึ้นในสังคมนี้ได้


(10) พรรคทางเลือกที่สามขนานแท้ คือพรรคการเมืองที่เกิดจากการรวมตัวของเสรีชนผู้มีระดับจิตของมีมสีเขียวขึ้นไป ที่สามารถนำเสนอนโยบายต่างๆ จากมุมมองแบบบูรณาการได้ แต่เนื่องจากคนที่มีระดับจิตของมีมสีเขียวขึ้นไป ยังเป็นคนส่วนน้อยนิดของสังคมนี้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดพรรคทางเลือกที่สามที่สมบูรณ์แบบ จึงยังมีอยู่น้อยมากในขณะนี้ สิ่งที่พอจะทำได้บ้างในตอนนี้คือ การทำงานทางความคิด (อย่างข้อเขียนชิ้นนี้) กับ ลองเข้าไปผลักดันผ่านพรรคการเมืองบางพรรคที่ผู้นำพรรคการเมืองนั้น มีจิตใจกว้างขวางเปิดใจกว้าง อีกทั้งยังมีระดับจิต และระดับสติปัญญาที่สูงพอที่จะเข้าใจความสำคัญของโมเดลการพัฒนาการเมืองเชิงบูรณาการนี้ได้เท่านั้น







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้