การเมืองเชิงบูรณาการกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก 4/1/2548

การเมืองเชิงบูรณาการกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก 4/1/2548


การเมืองเชิงบูรณาการกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก



นักปฏิบัติการทางการเมืองเชิงบูรณาการในยุคหลังทักษิณ จำเป็นจะต้องเข้าใจและมี ความเป็นจิตวิญญาณ (spiritnal orientation) อยู่ในระดับหนึ่งถึงจะสามารถสร้างสรรค์ "ทางเลือกที่สาม" ในอุดมคติกับสามารถถางทาง เปิดพื้นที่สำหรับ "การเมืองเชิงบูรณาการ" เพื่อก่อให้เกิด "จุดเปลี่ยนเชิงบูรณาการ" (integral turn) สำหรับสังคมนี้ขึ้นมาได้


ทั้งนี้ก็เพราะว่า วิชันของผู้นำแบบบูรณาการนั้น กว้างไกลเกินกว่าปริมณฑลของตรรกะเหตุผลธรรมดาสามัญ (ordinalry rationality) เสียอีก ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนจำแนกความเป็นศาสนากับความเป็นจิตวิญญาณออกจากกัน ความเป็นศาสนา นั้น ผู้เขียนหมายถึง ชุดของความเชื่อและหลักปฏิบัติที่มีลักษณะจำเพาะชุดหนึ่งที่มุ่งไปสภาวะที่เหนือโลก ขณะที่ ความเป็นจิตวิญญาณ นั้น ผู้เขียนหมายความแค่ ความมีใจเปิดกว้างต่อความอัศจรรย์ของชีวิตและจักรวาฬ (Kosmos) ที่ข้ามพ้นแม้แต่ความเป็นตรรกะเหตุผล (suprarational) ซึ่งสุดท้ายแล้วก็นำไปสู่สภาวะที่เหนือโลกเช่นกัน แต่ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบความเชื่อเชิงศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างตายตัว


เหตุที่การเมืองเชิงบูรณาการจำเป็นต้องโยงกับความเป็นจิตวิญญาณก็เพราะว่า ทั้งผู้นำแบบบูรณาการ และนักปฏิบัติการทางการเมืองเชิงบูรณาการต่างจำเป็นต้องมี ญาณทัสนะ (intuition) หรือความสามารถในการมองสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ อย่างเป็นองค์รวมได้ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีท่าทีที่เปิดกว้าง เพื่อการรับรู้-เข้าถึง ความจริงที่เป็นความรู้แบบข้ามพ้นตัวตน หรือข้ามพ้นตัวกู-ของกูไปได้


การที่คนเราจะเข้าถึง การเมืองเชิงบูรณาการได้ จึงเป็น วิถี ที่แทบไม่แตกต่างจากการที่ผู้นั้นจะเข้าถึง เรื่องจิตวิญญาณ (เรื่องของความจริง ความดี และความงาม ในยุคโพสต์โมเดิร์น) เลย กล่าวคือ ผู้นั้นก็ต้องฝึกเจริญสติ เจริญภาวนา ทำสมาธิวิปัสสนาอยู่เป็นนิตย์เช่นกัน


การเมืองเชิงบูรณาการ จึงไม่ใช่เรื่องของการแค่จับยัดความเป็นจิตวิญญาณใส่เข้าไปในการเมืองอย่างผิวเผิน แต่ มันเป็นเรื่องของการสร้างพื้นที่ให้แก่ความเป็นจิตวิญญาณในโลกของการเมือง และก็เป็นเรื่องของการสร้างพื้นที่ให้แก่การเมืองในโลกของจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กันด้วย


การสถาปนา "การเมืองเชิงบูรณาการ" ในยุคหลังทักษิณ ที่เราต้องทั้ง "ซ่อมและสร้าง" ประเทศนี้จากสิ่งที่ระบอบทักษิณและทักษิโณมิกส์ได้ทำผิดพลาดและล้มเหลวเอาไว้ จึงเป็น กุญแจสำคัญ ที่จะทำให้แนวทางการปฏิรูปเชิงบูรณาการ หลังจากนั้นประสบความสำเร็จได้ หาไม่แล้วก็คงจะผิดพลาดซ้ำรอยลัทธิทักษิณอย่างเลี่ยงได้ยาก เหมือนกับที่ลัทธิทักษิณเอง ในตอนแรกได้พยายาม "คิดใหม่ ทำใหม่" ที่ต่างไปจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว จนเป็นได้แค่ เอาความเลวร้าย "สายพันธุ์ใหม่" มาแทนที่ ความเลวร้ายสายพันธุ์เก่าเท่านั้น แล้วเราก็ต้องมาโอดครวญเสียใจอีกในภายหลังว่า "เราผิดเองที่เลือก เขา มาเป็นนายกฯ"


การเมืองเชิงบูรณาการ จะต้องให้ความสำคัญกับทุกมิติแห่งการพัฒนามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย สภาวะอารมณ์ จิตใจ และจิตวิญญาณของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เอา "เงิน" และ "ความรุนแรง" เป็นฐานคิดอย่างลัทธิทักษิณเช่นทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน การเมืองเชิงบูรณาการก็ต้องมุ่งแสวงหารูปแบบขององค์กรสังคมที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองดูแลตนเองมากยิ่งขึ้น ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และระดับประเทศ


หลักการและแนวทางชี้นำของการเมืองเชิงบูรณาการ ที่เราต้องผลักดันควบคู่ไปกับการปฏิรูปเชิงบูรณาการในยุคหลังทักษิณนั้นได้แก่

(1) จะต้องทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มี "วิสัยทัศน์เชิงบูรณาการ" (integral vision) ร่วมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตัวอย่างของวิสัยทัศน์เชิงบูรณาการ ซึ่งนำเสนอภูมิปัญญาใหม่ มุมมองต่อโลกใหม่ และระเบียบวิธีศึกษาใหม่นี้ ได้แก่ งานเขียนของผู้เขียนเรื่อง "แกะรอยทักษิโณมิกส์" กับ "การเมืองเชิงบูรณาการ" (สำนักพิมพ์ openbooks, 2547) เพื่อที่ผู้คนส่วนใหญ่จะได้มีฐานคิดหรือแม่บทแห่งวิธีคิดที่ตรงกันที่สามารถใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบแนวทางต่างๆ ในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างเห็นภาพรวม อย่างเป็นองค์รวม อย่างหลากมิติ ไม่ใช่การคิดแบบด้านเดียว และแยกส่วนเหมือนอย่างที่เป็นมา


(2) จะต้องสถาปนาจริยธรรมเชิงบูรณาการ (integral morality) ขึ้นมาในสังคมนี้ให้จงได้ กล่าวคือ เราจะต้องให้ความสำคัญทั้ง ปัจจัยภายนอก และ ปัจจัยภายใน อย่างเท่าเทียมกัน ในการแก้ปัญหาของสังคม และปัญหาจริยธรรม คุณธรรมที่เสื่อมถอยลงของสังคม การเมืองเชิงบูรณาการจะต้องใส่ใจในการสร้างเงื่อนไขทางภาววิสัย (ปัจจัยภายนอก) ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาทางอัตวิสัย (ปัจจัยภายใน) ของปัจเจกและสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องมองว่า พัฒนาการอย่างถึงพร้อมในทุกๆ ด้านของ "ปัจเจกบางคน" ย่อมเป็นปัจจัย เป็นเงื่อนไข เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างถึงพร้อมในทุกๆ ด้านของชุมชน และสังคม ขึ้นมาได้เช่นกันด้วย


(3) จะต้องบูรณาการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงผิว (surface structure) กับโครงสร้างเชิงลึก (deep structure) ไปพร้อมๆ กัน โดยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึกเป็น แกนหลัก ในการปฏิรูปประเทศเมื่อสถานการณ์อำนวย เท่าที่ผ่านมาความพยายามในการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ ในประเทศนี้ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ก็เพราะมันเป็นการปฏิรูปแค่รูปแบบ แค่ปริมาณ และแค่เชิงผิวเท่านั้น โดยขาดการเชื่อมโยงกับการปฏิรูปเชิงคุณภาพ เชิงเนื้อหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปที่นำมาซึ่งการยกระดับจิตสำนึก การเปลี่ยนแปลงจิตใจจากภายในจากข้างในซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงลึก เราอาจเปรียบเทียบ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก ได้เหมือนกับ การปฏิวัติ (revolution) และ การยกระดับ (transformation) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์และกระบวนทัศน์ได้อย่างแท้จริง ในขณะที่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงผิว นั้นเทียบได้กับการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมภายนอก ภาพลักษณ์ในเชิงการตลาด ในเชิงรูปแบบ ในระดับเดียวกัน (translation) โดยที่แทบไม่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนเชิงโลกทัศน์ และกระบวนทัศน์ได้อย่างแท้จริงเลย และถึงจะใช้ศัพท์แสงที่ฟังแล้วดูก้าวหน้า เท่ โก้เก๋เพียงใดก็ตาม แต่เวลาก็จะพิสูจน์ให้เห็นได้เองว่า มันเป็นแค่วาทศิลป์ที่หลอกลวงชาวบ้านได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น หามีความเป็นของแท้ (authenticity) อย่างแท้จริงไม่


โอกาสในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึกนั้น มีไม่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ เหมือนกับที่มีคนเคยกล่าวว่า "หน้าต่างแห่งประวัติศาสตร์ เปิดออกไม่ค่อยบ่อยครั้งนัก แล้วก็ปิดเร็วเสียด้วย" อย่างที่ได้เคยกล่าวไปบ้างแล้วว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึกครั้งใหญ่ล่าสุดของประเทศนี้ โดยที่มันเป็นการยกระดับจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีมสีน้ำเงินเข้าสู่จิตสำนึกทางการเมืองแบบมีมสีส้มเป็นครั้งแรกอย่างรวมหมู่ขนานใหญ่ของผู้คนในประเทศนี้


ส่วนยุคปัจจุบันนี้ ถ้าหากเราสามารถ "ข้ามพ้น" ระบอบทักษิณไปได้ ผู้เขียนคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึกในระดับใหญ่ระดับเดียวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ทีเดียว แต่คราวนี้มันจะเป็นการยกระดับจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีมสีส้ม (ธนาธิปไตย) ไปสู่จิตสำนึกการเมืองแบบมีมสีเขียว (พหุนิยม) อย่างรวมหมู่เป็นครั้งแรกของประเทศนี้เช่นกัน แต่ถ้าสังคมเราไม่มีสติปัญญาพอที่จะ "ข้ามพ้น" ระบอบทักษิณไปได้ มิหนำซ้ำกลับถูกครอบงำด้วย โลกทัศน์แบบลัทธิทักษิณที่มีลักษณะกลายพันธุ์ระหว่างธนาธิปไตยกับอำนาจนิยม และอัตตาธิปไตย ด้วยแล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงเช่นกันว่า เส้นทางการพัฒนาของประเทศนี้ หลังจากนี้จะสะดุดล้มครั้งใหญ่ แตกแยกทางความคิดอย่างสุดขั้วร้ายแรงจนเกิด "พยาธิสภาพ" (pathologies) ในทุกด้าน ทุกมิติของสังคมนี้


เราจะยับยั้งอันตรายอันนี้ได้อย่างไร? ถ้าพิจารณาจากมุมมองของการบูรณาการโครงสร้างเชิงผิวกับโครงสร้างเชิงลึกแล้ว ผู้เขียนเห็นว่ามีอยู่ หนทางเดียว เท่านั้นคือ ต้องบูรณาการธรรมจิตหรือพุทธธรรมเข้ากับวิถีของคนไทยในยุคโพสต์โมเดิร์นให้จงได้






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้