การสร้างกระบวนการทางการเมืองใหม่ 28/12/2547

การสร้างกระบวนการทางการเมืองใหม่ 28/12/2547


การสร้างกระบวนการทางการเมืองใหม่


เท่าที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พยายามสังเคราะห์ แก่นความคิดของนักคิดระดับแนวหน้าของสังคมไทย หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ธีรยุทธ บุญมี เกษียร เตชะพีระ อานันท์ กาญจนพันธุ์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อัมมาร สยามวาลา และ ยศ สันตสมบัติ เพื่อทำความเข้าใจ ความเป็นมาและปัญหาของระบอบทักษิณกับทักษิโณมิกส์ (ดังปรากฏอยู่ใน "แกะรอยทักษิโณมิกส์" ของผู้เขียน)


แม้แต่ข้อเขียนล่าสุดของผู้เขียนเรื่อง "การบูรณาการการเมืองสองหน้า" ก็เป็นการสังเคราะห์ แก่นความคิดของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักคิดเชิงปฏิรูปคนสำคัญคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน เพื่อพยายามหา คำตอบและทางออกของสังคมไทยในยุคหลังทักษิณ ว่า ควรจะปฏิรูปอย่างไรดี ถึงจะสามารถสร้างสรรค์สังคมการเมืองและเศรษฐกิจที่สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนแท้จริง มิใช่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


ในที่นี้ผู้เขียนจะพยายามสังเคราะห์ แก่นความคิดของดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักคิดนักเขียนคนสำคัญอีกคนหนึ่งแห่งยุคปัจจุบัน ในส่วนที่เกี่ยวกับ การสร้างกระบวนการทางการเมืองใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยุคหลังทักษิณ โดยเฉพาะในเรื่อง การสร้างฉันทานุมัติทางการเมือง (โปรดดู เสกสรรค์ ประเสริฐกุล "การเมืองภาคประชาชนในยุคโลกาภิวัตน์ : หลักการและความจำเป็นทางสถานการณ์, 2547)


อาจารย์เสกสรรค์มีความเห็นว่า ถ้าหากไม่มีการสร้างกระบวนการทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาให้ทันการณ์ อีกไม่นานนับจากนี้ไป ประชาชนไทยคงจะต้องเผชิญกับความขัดแย้งจำนวนมากมายมหาศาลกว่าเดิม โดยจะเผชิญทั้งความขัดแย้งกับอิทธิพลจากภายนอก และเผชิญกับความขัดแย้งกันเองภายใน อันเนื่องมาจากการเลือกข้างที่ต่างกัน และหาทางออกที่ไม่เหมือนกัน ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะนำไปสู่การสั่นคลอนอุดมคติ และความหมายของความเป็น "ชาติ" อย่างถึงรากถึงโคน จนอุดมคตินี้อาจไม่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยได้อีกต่อไป


ขณะที่ "ประชาสังคม" คือคำตอบของอาจารย์เอนกในการสร้างกระบวนการทางการเมืองใหม่ขึ้นมา (ถ้าเป็นศัพท์ของผู้เขียนเองคงเป็น การบูรณาการกระบวนการทางการเมือง) คำตอบของอาจารย์เสกสรรค์คงเป็น "การสร้างฉันทานุมัติทางการเมือง" ซึ่งผู้เขียนคิดว่า ถูกทั้งคู่ คือ มันเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ตอบจากคนละมุมมองกันเท่านั้น


อาจารย์เสกสรรค์เห็นว่า จินตภาพเรื่องความเห็นพ้องต้องกันหรือฉันทานุมัติทางการเมือง เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเกี่ยวข้องกับความชอบธรรมทางการเมืองของผู้ปกครอง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของกลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทย


ความแตกต่างระหว่างฉันทานุมัติในระบอบประชาธิปไตย กับระบอบอำนาจนิยมนั้นอยู่ตรงกระบวนการที่ใช้สร้างสิ่งนี้ขึ้นมา กล่าวคือ ในระบอบประชาธิปไตย ความเห็นพ้องต้องกันทางการเมือง จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสาธารณะ และผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจของสาธารณชน จึงจะสามารถเป็นฐานความชอบธรรมของการขึ้นสู่อำนาจ และการใช้อำนาจของรัฐบาลได้


นอกจากนี้ ฉันทานุมัติทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ยังไม่ใช่สิ่งที่สมมติ หรือแอบอ้างกันขึ้นมาได้ตามใจชอบ แต่ จะต้องสะท้อนความพอใจที่แท้จริงของกลุ่มพลังต่างๆ ที่สังกัดอยู่ในสังคมเดียวกัน หรือค้นหาจุดสมดุลที่ทุกฝ่ายพอใจออกมาให้ได้ หาไม่แล้วอาจจะก่อให้เกิดสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน หรือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชาชนที่มีผลประโยชน์หรือความคิดเห็นต่างกันได้


จริงๆ แล้วชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองหนึ่งจนสามารถขึ้นมากุมอำนาจเป็นรัฐบาลได้ มีความหมายแค่พรรคการเมืองนั้นได้รับ ฉันทานุมัติเบื้องต้นในการใช้อำนาจอย่างมีเงื่อนไขเท่านั้น แต่เท่าที่ผ่านมา มีความเข้าใจผิด หรือแม้แต่ จงใจบิดเบือนในเชิงวาทกรรมให้กลายเป็นว่า ผู้ชนะในเวทีเลือกตั้งเท่ากับได้รับมอบฉันทานุมัติในการใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จอย่างปราศจากเงื่อนไข


ความเข้าใจเช่นนี้ จึงนำไปสู่ รัฐบาลที่ปฏิเสธความคิดเห็นของสาธารณชน เป็น รัฐบาลที่มองข้ามการวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายค้าน จนกระทั่งกลายเป็น รัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงเข้าตัดสินปัญหา ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจในเรื่องต่างๆ


โดยหลักการแล้ว กระบวนการสร้างความเห็นพ้องต้องกันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรหยุดแค่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ ควรเป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่องไปจนถึงการใช้อำนาจในการบริหารจัดการบ้านเมือง หรือถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีก กระบวนการสร้างฉันทานุมัติทางการเมืองควรถูกหลอมรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการใช้อำนาจในยุคหลังทักษิณด้วย


ทั้งนี้ก็เพราะว่า การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นด้วยโดยอัตโนมัติจากสังคมในทุกๆ เรื่องเสมอไป รัฐบาลไม่ควรคิดว่า สังคมจะมีความคิดเห็นตรงกันและเห็นด้วยกับรัฐบาลทุกเรื่อง ทุกเวลา


จุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งของประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งก็คือ มันได้ทำให้สังคมแตกออกเป็นอนุภาค เป็นปัจเจกที่ประกอบขึ้นเป็นจำนวนทางคณิตศาสตร์เท่านั้น โดยปราศจากอัตลักษณ์ใดๆ ในปัจเจกนั้น ยามที่ไปคูหาหย่อนบัตรเลือกตั้ง ระบอบเลือกตั้งแบบนี้จึงมองข้าม ความหลากหลายหรือพหุลักษณ์ของสังคม โดยขาดความเอาใจใส่ต่อปัญหาอัตลักษณ์ และปัญหาของประชาชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่หลากหลาย กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ


มิหนำซ้ำเท่าที่ผ่านมา กระบวนการสร้างฉันทานุมัติในการใช้อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังคงอาศัยวิธีการของระบอบอำนาจนิยมเป็นหลักคือ มุ่งแต่การรณรงค์ทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์แห่งชาติเป็นสำคัญ โดยที่ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ (หรือ "ประชาสังคม") แทบจะไม่เคยมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย หรือการตัดสินใจของรัฐบาลเลย


วิธีคิดของฝ่ายรัฐในการปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนก็คือ การอ้างถึงผลประโยชน์ของชาติที่เป็นนามธรรมแต่ฝ่ายเดียวของผู้คุมอำนาจ โดยที่แนวคิดเรื่องชาติก็ยังคงเกาะกุม จินตนาการของผู้คนและสื่อต่างๆ ในสังคมได้อยู่ จึงทำให้การขืนต้านนโยบายรัฐของกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เป็นไปอย่างยากลำบากยิ่ง


แต่กระบวนการโลกาภิวัตน์ที่กำลังรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งนี้ กำลังทำให้ข้ออ้างเรื่องชาติกลายเป็นสิ่งที่ว่างเปล่ามากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหมายความว่า กระบวนการผลิตฉันทานุมัติแบบเก่า กำลังจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป และ ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย จะต้องเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกมากในอนาคตอันใกล้ เพื่อทำให้กระบวนการใช้อำนาจตั้งอยู่บนฐานของความเห็นพ้องต้องกันได้


ผู้นำแบบบูรณาการในยุคหลังทักษิณ จักต้องตระหนักถึง ความจำเป็นในการสร้างกระบวนการสร้างฉันทานุมัติทางการเมืองขึ้นมาใหม่ โดยให้ "ประชาสังคม" เข้ามามีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น หาไม่แล้วโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองจะมีอยู่สูง และนำไปสู่สภาวะที่ไม่พึงประสงค์ในทุกหย่อมหญ้าได้ รัฐไทยในยุคหลังทักษิณภายใต้การนำของผู้นำแบบบูรณาการจะต้องรีบเร่งปรับกระบวนทัศน์ และกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งอย่างเป็นระบบ และชอบด้วยหลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน โดยจะต้องใช้ความสร้างสรรค์ในการคิดค้นวิธีการสร้างฉันทานุมัติทางการเมืองที่ต่างไปจากกรอบคิดเดิมให้จงได้ เพื่อไม่ให้บ้านเมืองเต็มไปด้วยความขัดแย้งรุนแรงอย่างไม่รู้จบสิ้น


ผู้นำแบบบูรณาการในยุคหลังทักษิณ จะต้องสันทัดในการสร้างฉันทมติอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นความชอบธรรมในกระบวนการใช้อำนาจในเรื่องใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบถึงประชาชนบางหมู่บางเหล่า เขาจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง และค้นหาจุดสมดุลออกมาให้ได้ กระทั่งบางทีอาจจะต้องยอมถอยถอนจากมติดั้งเดิม ถ้าหากมีเสียงคัดค้านมากพอ เขาจะต้องสันทัดในการจุดประเด็นให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประชาสังคม แล้วสังเคราะห์ความเห็นสาธารณะทั้งหลายมาประกอบการตัดสินใจของตน


นอกจากนี้ เขาจะต้องยกเลิกการออกแบบเศรษฐกิจทั้งประเทศให้มีเพียงเส้นทางเดียว และ เขาจะต้องเลิกใช้อำนาจรัฐรวมศูนย์มากำหนดแนวทางพัฒนาประเทศ โดยไม่เหลือพื้นที่ให้กับทางเลือกที่แตกต่างหลากหลายในสังคม ที่สำคัญ เขาจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนไทยมีแนวทางพัฒนาที่มากกว่ากระแสหลักเพียงกระแสเดียว เขาจะต้องผลักดันให้ประเทศนี้มีความหลากหลายเพียงพอที่จะทำให้ผู้คนสามารถตอบสนองอัตลักษณ์ และสามารถมีความสุขกับชีวิตได้ตามบรรทัดฐานที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป เขาจะต้องฟื้นฟูวิถีแห่งความร่วมมือแบ่งปัน เข้าไปเสริมวิถีแห่งกลไกตลาด เพื่อให้ชาวบ้านและชุมชนของพวกเขาสามารถเลือกวิถีชีวิตที่พวกเขาปรารถนาอย่างมีความหลากหลายได้ ประเด็นนี้แหละ ที่เป็นห่วงโซ่สำคัญที่สุด และเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ไทย และบางทีอาจเป็นแค่หนทางเดียวของประชาชนไทย ที่จะสามารถชดเชยความสูญเสียด้านอธิปไตยซึ่งกำลังถูกโอนย้ายจากรัฐไปไว้ที่กลไกของตลาดเสรี และถ้าหากไม่มีการชดเชยในส่วนนี้ การปล่อยให้สังคมไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของ "ทุนใหญ่" และ "ทุนข้ามชาติ" ก็เท่ากับตัดคนจำนวนกว่าครึ่งประเทศออกจากสิทธิในการมีชีวิตที่ดี ที่ทำได้อย่างมากแค่แบมือขอ "ความเอื้ออาทร" จากรัฐบาลผู้ดำเนินนโยบายประชานิยมเท่านั้น







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้