0
HOME
Clip Taichi
บทความ Taichi
ยอดยุทธ์
คุรุและบทความจิตวิญญาณ
โศลกธรรม
สั่งซื้อหนังสือ
ปกิณกะ
ติดต่อ
เพิ่มเติม
0
HOME
Clip Taichi
บทความ Taichi
ยอดยุทธ์
คุรุและบทความจิตวิญญาณ
โศลกธรรม
สั่งซื้อหนังสือ
ปกิณกะ
ติดต่อ
เพิ่มเติม
0
หน้าแรก
บทความทั้งหมด
การเมืองเชิงบูรณาการ
การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 3) 14/12/2547
การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 3) 14/12/2547
การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 3)
พวกเราต้องมีความเข้าใจร่วมกันในประเด็นหนึ่งว่า การที่นโยบายของรัฐบาลจะสำเร็จหรือไม่นั้น มันไม่ได้อยู่ที่ความต่อเนื่อง ความมีวิสัยทัศน์ และความช่ำชองในการบริหารงานของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ว่า "ประชาสังคม" ในประเทศนั้น ยอมรับนโยบายนั้น สนับสนุนนโยบายนั้น และเข้าร่วมปฏิบัตินโยบายนั้นอย่างกระตือรือร้นหรือไม่ด้วย
จะเห็นได้ว่า นโยบายของรัฐบาลที่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องเป็น นโยบายสาธารณะที่แท้จริง โดยที่คำว่า สาธารณะนี้หมายถึงรัฐกับประชาสังคม ไม่ใช่แค่รัฐเพียงลำพังเท่านั้น
ปัญหาหลักปัญหาหนึ่งในเมืองไทยภายใต้ ระบอบทักษิณ นี้ก็คือ เราแทบไม่มีนโยบายสาธารณะ มีแต่นโยบายรัฐบาลที่มีลักษณะการตลาดที่หวังผลเชิงคะแนนเสียงเฉพาะหน้าเท่านั้น มิหนำซ้ำนโยบายส่วนใหญ่ยังออกมาจากการ "ดำริ" ของนายกฯ ทักษิณเป็นหลัก โดยไม่เคย "ปรึกษาหารือ" กับประชาสังคมก่อนออกนโยบายเลย
"ประชาสังคม" (Civil Society) หมายถึง หน่วยองค์กรที่ไม่ใช่ธุรกิจที่เป็นสื่อกลางระหว่างปัจเจกบุคคลกับรัฐเช่น ครอบครัว ชุมชนละแวกบ้าน โรงเรียน วัดวาอาราม สถานปฏิบัติธรรม สมาคม มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ นโยบายของรัฐในด้านต่างๆ จะกลายเป็นนโยบายสาธารณะได้ ต้องประกอบไปด้วยหลักการ 2 ข้อคือ (1) นโยบายของรัฐต้องไปเสริมสร้างองค์กรที่เป็นสื่ออยู่ตรงกลาง หรือประชาสังคมนั้นให้เข้มแข็ง กับ (2) นโยบายของรัฐควรต้องพยายามอาศัย หรือเข้าไปร่วมมือกับองค์กรที่เป็นสื่อระหว่างรัฐกับปัจเจกชนนั้นให้มากที่สุด
ถ้าพิจารณาจากมุมมองนี้ จะเห็นได้ว่า สไตล์การบริหารงานของนายกฯ ทักษิณ เป็นสไตล์การทำงานที่ "ตัดตอน" บทบาทของประชาสังคมกับ มุ่งขายตรง" แก่ปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนาในภาคชนบทที่ล้าหลังอันกว้างใหญ่โดยผ่านนโยบายประชานิยมที่นับวันยิ่งทวีความสุดโต่งยิ่งขึ้นทุกขณะ ซึ่งผลลัพธ์ของมันย่อมนำความวิบัติทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศนี้อย่างแน่นอน
บทเรียนจากระบอบทักษิณนี้ทำให้เราคาดคิดได้ว่า สไตล์การบริหารงานของนายกฯ คนต่อไปในยุคหลังทักษิณ น่าจะเป็นสไตล์การทำงานที่ยอมรับ เคารพ และเพิ่มบทบาทของประชาสังคมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้านหนึ่งก็เพื่อช่วยกันกอบกู้ความเสียหายที่ระบอบทักษิณได้ทำเอาไว้ ส่วนอีกด้านหนึ่ง ก็เพื่อผลักดันให้นโยบายปฏิรูปอย่างรอบด้านในยุคหลังทักษิณ เป็นนโยบายสาธารณะที่แท้จริง ที่ประชาสังคมยอมรับ สนับสนุนและเข้าร่วมปฏิบัตินโยบายปฏิรูปเหล่านั้นอย่างกระตือรือร้น หาไม่แล้ววิกฤตของประเทศไทยในยุคหลังทักษิณจะยืดเยื้อและรุนแรงเกินเยียวยาเลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่า แนวทางการปฏิรูปเชิงบูรณาการในยุคหลังทักษิณนี้ นอกจากจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่อง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง) แล้วยังจะต้องมี แนวทาง "ประชาสังคม" แบบพหุนิยมเข้ามาเป็นแกนหลักด้วยถึงจะได้ผล
แนวทางแบบนี้ย่อมไม่เห็นด้วยกับการปล่อยให้รัฐมีขนาดใหญ่ มีบทบาท อำนาจหน้าที่มากมายจนกลายพันธุ์เป็น "อำนาจนิยม" ได้ง่ายอย่างที่ ระบอบทักษิณ กำลังเป็นอยู่ เพราะระบอบทักษิณได้ทำให้ รัฐ กลายเป็น พวกลัทธิทำแทน ที่มุ่งทำการแทนสังคมในแทบทุกเรื่องอย่าง "หลงตัวเอง" แต่ในขณะเดียวกัน แนวทางแบบนี้ก็ไม่เห็นด้วยกับลัทธิปัจเจกชนแบบสุดขั้ว แบบตัวใครตัวมัน แบบรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี แบบเห็นแก่ตัวโดยไม่ห่วงใย ไม่สนใจสังคม
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แนวทางนี้ยึดทางสายกลางเป็นที่ตั้ง ที่อยากให้ปัจเจกชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นชุมชนที่มุ่งทำอะไรที่ใหญ่กว่า กว้างขวางกว่าการทำอะไรเพื่อปัจเจกชนเท่านั้น หลักการที่สำคัญของการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนแบบประชาสังคมก็คือ กลุ่มก้อนนี้จะต้องไม่กลายเป็นส่วนของรัฐ หรือของราชการหรือถูกจัดตั้งโดยหน่วยงานราชการ แต่ควรจะเป็นการรวมตัวของคนใกล้ชิด หรือคนที่มีความผูกพันกันในมิติใดมิติหนึ่ง หรือคนที่มีสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และมีลักษณะส่วนบุคคลค่อนข้างสูง จะเป็นครอบครัว โบสถ์ วัด โรงเรียน ชุมชนหมู่บ้าน ละแวกบ้าน สมาคม มูลนิธิ องค์กรการกุศล องค์กรพัฒนาชุมชน เครือข่ายต่างๆ ก็ได้
หรือจะเป็นกลุ่มก้อนที่สืบทอดกันมาจากจารีตประเพณี หรือศาสนาอย่างสำนักปฏิบัติธรรมก็ได้ หรือจะเป็นกลุ่มก้อนที่เน้นคุณค่าทางจิตใจ หรือความจงรักภักดีต่อสถาบัน หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ก็ได้
กลุ่มก้อนเหล่านี้ ควรเข้ามามีบทบาทช่วยกันทำงานเพื่อส่วนรวม เพื่อสังคมให้มากยิ่งขึ้น มิใช่ปล่อยให้รัฐผูกขาดหรือครอบงำการให้สวัสดิการเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ภายใต้ระบอบทักษิณนี้ จึงเห็นได้ว่า การให้อำนาจ การเพิ่มอำนาจให้แก่กลุ่มก้อนต่างๆ ในสังคม หรือให้แก่ "ประชาสังคม" จนสามารถทำงานอย่างแตกต่าง อย่างหลากหลายกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภายใต้หลักการแบบพหุนิยมคือ แนวทางหลักที่รัฐและสังคมจะต้องเอามาใช้ชี้นำนโยบายสาธารณะในยุคหลังทักษิณ
จุดยืนทางการเมืองแบบ พหุนิยม มีความสำคัญ และมีความจำเป็นมากในการแก้ไขปัญหาหลักๆ ของประเทศที่นับวันมีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นจุดยืนที่ให้ความสำคัญแก่ประชาสังคม เพื่อไปถ่วงดุลบทบาทของรัฐไทยที่มีความโน้มเอียงเป็น "รัฐนิยม" และ "อำนาจนิยม" อยู่ก่อนแล้ว ในการกำหนดการเมือง และกำหนดนโยบายต่างๆ ซึ่งจะทำให้การเมืองไทยมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น และทำให้การพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศนี้มีความปรองดอง ราบรื่นขึ้นกว่าที่ผ่านมาได้
สิ่งที่เป็นอันตรายมากที่สุดอีกอย่างหนึ่งของ ระบอบรัฐนิยมอย่างระบอบทักษิณ เมื่อมองจากมุมมองแบบ พหุนิยม ก็คือ รัฐนิยม และอำนาจนิยม มันได้ไป ทำลายสังคมให้อ่อนแอลง และ ทำให้ผู้คนกลายเป็นปัจเจกชนที่ถูกแปลกแยกและถูกโดดเดี่ยว ที่ถูก "มอมเมา" ด้วยการตลาดแบบลัทธิบริโภคนิยมได้ง่าย
เพราะเมื่อภาคสังคมถูกรัฐนิยมกับอำนาจนิยมกวาดล้าง หรือถูกลดความชอบธรรมลงไป ขณะที่รัฐกลับมีอำนาจมีบทบาทหน้าที่ที่เข้าไปแทนที่องค์การต่างๆ ของสังคมมากขึ้นทุกทีถึงขนาดที่รัฐได้เข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับชีวิตของปัจเจกชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยที่ปัจเจกชนเองเมื่อขาดภาคประชาสังคมมารองรับมาปกป้อง มาช่วยรวมกลุ่มก็จะทำให้พวกเขาอ่อนแอลง เปลี่ยวเหงา เบื่อหน่ายจนถึงขั้นรู้สึกแปลกแยกกับชีวิต แปลกแยกกับสังคม จนเป็นที่มาของ ความล้มเหลวทางจิตใจของปัจเจกชนจำนวนมากในยุคนี้ได้
เราจะเห็นได้ว่า เดี๋ยวนี้คนไทยเป็นจำนวนมากมีชีวิตอยู่อย่างไร้สิ่งยึดเหนี่ยวในชีวิต เราอยู่ใกล้กันทางกายภาพก็จริง แต่เราไม่ได้อยู่ด้วยกันอย่างมีน้ำใจไมตรี มีความปรารถนาดีต่อกันเหมือนชุมชนในอดีต คนไทยเดี๋ยวนี้มีชีวิตอยู่อย่างซ้ำซากจำเจ น่าเบื่อหน่าย เมื่อผสมกับความเหงา ความหดหู่ ก็อาจทำให้บางคนถึงกับผุดลุกขึ้นมาทำอะไรแผลงๆ เพื่อสร้างสีสันให้แก่ชีวิต หรือเพื่อหาอะไรแปลกๆ ในชีวิต
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เดี๋ยวนี้คนไทยฆ่าตัวตายมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากความรู้สึกที่โดดเดี่ยว แปลกแยก รู้สึกเป็นทุกข์เพราะหาความหมายในชีวิตไม่เจอ แต่ความจริงที่น่าตระหนก ยิ่งกว่านั้นก็คือ การดำรงอยู่แบบรัฐนิยม อำนาจนิยมของระบอบทักษิณ กับความล้มเหลวทางจิตใจของคนไทยจำนวนมากที่กล่าวมาข้างต้น มันเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน!
ถ้าเราเข้าใจได้เช่นนี้แล้ว เราจะตระหนักรู้ได้ทันทีเลยว่า ระบอบทักษิณซึ่งเป็นระบอบแห่งรัฐนิยม และอำนาจนิยมชนิดหนึ่งมันไม่มีทางแก้ไขปัญหาความล้มเหลวทางจิตใจของคนไทยจำนวนมากที่เป็นปัจเจกชนได้เลย เพราะต่อให้ระบอบทักษิณนี้จะให้ "คำมั่นสัญญา" ที่สวยหรูยิ่งกว่า "คิกออฟแคมเปญ" เป็นสิบเท่าร้อยเท่าที่ให้ความคาดหวังแบบ "ฟองสบู่" ที่ชวนฝันเกี่ยวกับอนาคตแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งที่ระบอบทักษิณนี้ได้ก็เป็นเพียงแค่ "เศษเงิน" ที่ใช้ "ฟาดหัว" ผู้คนเพื่อกอบโกยคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพื่อกลับมาครองอำนาจ เถลิงอำนาจอีกครั้งเท่านั้น
เนื่องเพราะ ระบอบทักษิณนี้มันมิเคยแยแสต่อการกอบกู้ฟื้นฟูความล้มเหลวทางจิตใจของผู้คนอย่างแท้จริง ซึ่งมีทางทำได้และต้องรีบเร่งกระทำโดยเร็ว โดยผ่านการเพิ่มอำนาจจริงๆ ให้แก่ภาคประชาสังคมเท่านั้น จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่เราจะต้องใช้ การเมืองแบบพหุนิยมเข้าไปแทนที่การเมืองแบบรัฐนิยม และอำนาจนิยมของระบอบทักษิณ เพื่อทำการปลดปล่อยพลังที่มีศักยภาพสูงของภาคประชาสังคมออกมาใช้ในการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และจิตใจอย่างรอบด้าน และอย่างบูรณาการให้จงได้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
การเมืองเชิงบูรณาการกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก 4/1/2548
การสร้างกระบวนการทางการเมืองใหม่ 28/12/2547
การสร้างวัฒนธรรมใหม่แห่งสันติวิธี 11/1/2548
การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 4) 21/12/2547
Powered by
MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว
และ
นโยบายคุกกี้
ตั้งค่าคุกกี้
ยอมรับทั้งหมด