ใครคือ “บรูตุส” ในเหตุการณ์กบฏ “เสื้อแดง” ? ( บทความที่นายกฯ อภิสิทธิ์ควรอ่าน ) 22/4/52

ใครคือ “บรูตุส” ในเหตุการณ์กบฏ “เสื้อแดง” ? ( บทความที่นายกฯ อภิสิทธิ์ควรอ่าน ) 22/4/52


ใครคือ “บรูตุส” ในเหตุการณ์กบฏ “เสื้อแดง” ?

( บทความที่นายกฯ อภิสิทธิ์ควรอ่าน )

 

 

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันที่ 21 เมษายน 2552
รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


เมื่อก่อนคริสต์ศตวรรษปีที่ 85 (85 BC) หรือกว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา มีบุรุษนาม บรูตุส (Marcus Junius Brutus) ถือกำเนิดขึ้นมาในกรุงโรม


มีความเชื่อว่าบรูตุสเป็นลูกนอกสมรสของจักรพรรดินามกระเดื่องของโรม นั่นคือ จูเลียส ซีซาร์ (Gaius Julius Caecar) เนื่องจากแม่ของบรูตุสคือ นางซีพิโอนิส(Servilia Caepionis) ในภาษาปัจจุบันก็อาจเรียกได้ว่าเป็นกิ๊กคนหนึ่งของซีซาร์ อย่างไรก็ตามหากเป็นจริงตามความเชื่อดังที่กล่าวแสดงว่า ซีซาร์จะต้องมีความสัมพันธ์กับแม่ของบรูตุสตั้งแต่ซีซาร์อายุ 15 ปี อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงพฤติกรรมที่ซีซาร์มีต่อบรูตุสในลักษณะที่พ่อมีต่อลูกก็อาจทำให้เชื่อได้เช่นกัน


บรูตุสสร้างตัวเองมาจากการปล่อยเงินกู้และนำพาตนเองเข้าสู่วงการเมือง เมื่อสงครามกลางเมืองระหว่าง ปอมปีย์และซีซาร์อุบัติขึ้นเมื่อปีที่ 49 ก่อนคริสตกาล บรูตุสเลือกอยู่กับฝ่ายปอมปีย์ เมื่อซีซาร์ทราบก็ได้ให้ความเมตตากับบรูตุสเป็นอย่างมาก โดยออกคำสั่งกับทหารใต้บังคับบัญชาของเขาว่า หากบรูตุสมอบตัวโดยสมัครใจก็ให้จับเป็นเชลย หรือหากบรูตุสต่อสู้ก็อนุโลมเฉพาะแต่เพียงเขาเพียงผู้เดียวมิให้ทำร้าย ภายหลังสงครามที่ฝ่ายปอมปีย์เป็นผู้แพ้ บรูตุสได้ทำจดหมายที่มีเนื้อหาว่าเขาเป็นผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยและขอโทษต่อซีซาร์และซีซาร์ก็ได้ให้อภัยโทษต่อบรูตุสในทันที


ซีซาร์ได้รับบรูตุสเป็นบุตรบุญธรรมและสนับสนุนให้บรูตุสได้มีตำแหน่งในวงการเมืองโดยหารู้ไม่ว่านี่คือที่มาของจุดจบของจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ของโรมในเวลาต่อมา


แผนการลอบสังหารซีซาร์เกิดขึ้นในปีที่ 44 ก่อนคริสตกาลโดยเหล่านักการเมืองหลายคน และบรูตุสก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมด้วย กล่าวกันว่าเป็นการลอบสังหารที่นองเลือดเนื่องจากผู้ที่ลอบสังหารหลายคนก็ได้รับบาดเจ็บไปไม่น้อย ในช่วงที่บรูตุสจ้วงแทงซีซาร์ ได้ปรากฏคำพูดวลีหนึ่งที่ซีซาร์ได้เอ่ยกับผู้ที่กำลังจะจ้วงแทงตนเอง ได้เห็นกับตาของตนเอง ได้รู้ซึ้งถึงก้นบึ้งของหัวใจผ่านตาของผู้ทรยศเป็นอย่างไร และได้รับรู้ว่าเป็นผู้เดียวกับที่ตนเองเคยมีเมตตาให้อภัยโทษและชุบเลี้ยง ว่า “เอ็งก็เอากับเขาด้วยหรือ” Et tu, Brute? (and you Brutus?)


ภายหลังการลอบสังหารซีซาร์ บรูตุสได้รับข้อเสนอให้ประนามซีซาร์ว่าเป็นทรราช แต่บรูตุสมิได้กระทำเนื่องจากหากกระทำ ตำแหน่งหน้าที่ในวงการเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากซีซาร์ก็จะต้องหลุดมือไปเนื่องจากแต่งตั้งโดยทรราช ในกรณีนี้บรูตุสจึงเป็นคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แอบอ้าง


จุดจบของบรูตุสมาถึงเมื่อเกิดมีความขัดแย้งอันเป็นที่มาของสงครามระหว่าง มาร์ค แอนโทนี และจักรพรรดิออคเตเวียน เมื่อบรูตุสทราบว่ากองทัพของทั้ง 2 ฝ่ายมีขนาดไม่พอพียงที่จะรักษากรุงโรมเอาไว้ได้ บรูตุสจึงทำตัวเป็นตาอยู่โดยยกทัพบุกเข้าโรม ทำให้มาร์ค แอนโทนี และจักพรรดิออคเตเวียนหันหน้าจับมือกันเพื่อต่อสู้กับบรูตุสจนพ่ายแพ้และต้องฆ่าตัวตายในที่สุด


พฤติกรรมของบรูตุสที่กระทำต่อซีซาร์และผู้อื่นจึงได้ชื่อว่าเป็นพฤติกรรมของคนทรยศที่มีต่อผู้มีพระคุณที่โด่งดังคนหนึ่งของโลก และได้รับการเล่าขานมาโดยตลอดไม่แพ้พฤติกรรมของจูดัสที่มีต่อพระเยซู


เวลาได้ผ่านไปกว่า 2,000 ปี แต่ประเทศไทยในยุคหลังทักษิณจะมีพฤติกรรมเยี่ยงบรูตุสปรากฏขึ้นมาในสังคมหรือไม่ และในลักษณะเช่นใด ผู้เขียนอยากให้ลองพิจารณาดูกัน


เหตุการณ์ความไม่สงบที่ได้เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และพัทยาในช่วงวันสุกดิบก่อนสงกรานต์ได้ก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนของประเทศไทยอย่างที่ไม่สามารถจะคาดคิดได้ว่า ผู้ที่กระทำจะทำตัวเป็นจักรพรรดิเนโรที่สำเริงสำราญกับการเผากรุงโรมที่ตนเองปกครองอยู่


ภายหลังการปฏิวัติเมื่อ 19 ก.ย.49 ทักษิณ ชินวัตรกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งเมื่อเขาสามารถจัดตั้งรัฐบาลตัวแทนนำโดยสมัคร สุนทรเวชที่เอื้อประโยชน์ต่อเขาในการต่อสู้ข้อกล่าวหาที่ คตส.ได้กล่าวหาเขาไว้หลายคดี ทางเลือกในเวลานั้นได้ถูกประเมินแล้วว่ามีอยู่หลายทางไม่ว่าจะโดยการต่อสู้ในทางคดี หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตราเช่น มาตรา 309 ซึ่งสมัคร สุนทรเวชได้กล่าวไว้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกระทำก่อนเลือกตั้ง 2-3 เดือน ประเทศไทยจึงได้เห็นภาพทักษิณ ชินวัตรกลับเข้าประเทศเพื่อต่อสู้คดี ก้มลงกราบแผ่นดินและกล่าวว่ามั่นใจในกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อเขา


อย่างไรก็ตาม วลีที่ว่า “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” ยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่จริง ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 10 คนที่ทักษิณได้ขอความเห็นเกี่ยวกับคดีที่รัชดาฯ ซึ่งเป็นคดีแรกที่ทางการสามารถนำสู่ศาลสถิตยุติธรรมได้ มี 11 ความเห็นที่ล้วนเห็นว่า ทักษิณยากที่จะรอดจากข้อกล่าวหา ดังนั้นทางเลือกทางเดียวที่คิดว่าเนียนที่สุดก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 309 เพื่อลบล้างความผิดเพื่อไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลอีกต่อไป นี่คือที่มาของการริเริ่มแก้รัฐธรรมนูญอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูในทุกๆ วิธีการ โดยพ่วงการแก้ไขในมาตราอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น มาตรา 237 หรือ 190 เพื่ออำพรางความต้องการของตนเอง


การหลบหนีอออกนอกประเทศโดยอาศัยความปรานีและการให้เกียรติต่อผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกฯ ของศาลจึงเป็นสิ่งที่ทักษิณกระทำต่อศาล เพื่อหนีคำพิพากษาที่เป็นไปตามที่คาดเอาไว้ ทำให้ทักษิณเหมือนถูกหอกโมกขศักดิ์ที่จะต้องติดคุกเมื่อกลับเข้าประเทศ การต่อสู้เพื่อให้ตนเองหลุดจากคำพิพากษาและคดีความอื่นๆ ที่รออยู่อีกหลายคดีที่มีโทษรุนแรงกว่าจึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ต้องมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม


การถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งอย่างน่าอับอายของสมัครและสมชาย และการเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ของอภิสิทธิ์ ทำให้ยุทธศาสตร์ของทักษิณต้องเปลี่ยนไปเป็นการก่อความวุ่นวายเพื่อบีบให้มีการเจรจาต่อรอง โดยมีแนวร่วมไม่ว่าจะเป็นพวก “เสื้อสูท” ในรัฐสภาที่ได้ยื่นร่างกฎหมายเพื่อการปรองดองเอาซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมความผิดทั้งหลายที่ได้เกิดขึ้นในอดีตหลัง 19 ก.ย. 49 จนถึงอนาคตต้นเดือน พ.ค. 52 เอาไว้ราวกับจะรู้ว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้นมา หรือพวก “เสื้อแดง” ที่อยู่นอกสภาโดยหมอเหวงที่ยื่นญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ไม่มีการรับรององคมนตรีมาแทนฉบับที่ใช้ในปัจจุบันไว้ในวาระการประชุมรัฐสภา และที่ลืมไม่ได้ก็คือพวก “เสื้อขาว” ที่เป็นนักวิชาการจอมปลอม เช่นจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของนักวิชาการที่ดีที่ชี้ถูกเมื่อถูกหรือชี้ผิดเมื่อผิด


เมื่อการก่อกวนของพวก “เสื้อสูท” ในรัฐสภาผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่เพิ่งตั้งขึ้นมาได้เพียง 3 เดือนเศษไม่สำเร็จ การก่อกวนโดยพวก “เสื้อแดง” ที่อยู่นอกสภาจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เหลืออยู่


การก่อความไม่สงบในช่วง 8-14 เม.ย.ที่ผ่านมาในเขตกรุงเทพฯ และพัทยาจึงเป็นการปฏิบัติการเผาเมืองเฉกเช่นจักรพรรดิเนโรกระทำต่อกรุงโรม ทักษิณจึงทำทุกอย่างเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายเจรจาต่อรองที่ตนต้องการโดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียของประเทศชาติแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการยกโทษไม่เอาผิดในคดีที่ศาลพิพากษาตัดสินจำคุกแล้วแล้ว หรือการขอทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้คืน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่สามารถทำโดยวิถีทางธรรมดาได้ หากแต่ต้องอาศัยการก่อความรุนแรงเพื่อล้มล้างการปกครองหรือหากทำไม่สำเร็จก็หวังจะสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเจรจาต่อรอง


ยุทธศาสตร์ “ป่วนเพื่อต่อรอง” โดยอ้างการปฏิวัติประชาชนจะไม่สามารถสำเร็จได้เลย หากไม่มีพฤติกรรมเยี่ยงบรูตุสในศตวรรษที่ 21 เกิดขึ้นมา


การเข้าขัดขวางการประชุมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศที่พัทยาของพวก “เสื้อแดง” โดยอาศัยการปะทะกับ “เสื้อน้ำเงิน” ที่จัดตั้งขึ้นมาโดยผู้หวังดีแต่ประสงค์ร้ายเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึง พฤติกรรมเยี่ยงบรูตุสในระบบราชการไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายความมั่นคงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน


สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้หนึ่งที่ได้เคยกล่าวก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุจลาจลในช่วง 8-14 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า “พร้อมที่จะเจรจากับทักษิณ ชินวัตร ที่ไหนก็ได้” ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เสียหายหากท่านมิได้มีตำแหน่งเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงที่มีหน้าที่หลักในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งน่าจะเป็นที่คาดได้ว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ จักต้องรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างกับประชาชนทั่วไป แต่ดูเหมือนจะมิได้เป็นเช่นนั้น


แล้วด้วยเหตุใดที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ จึงจะต้องไปเจรจากับผู้ที่หนีคำพิพากษาจำคุกของศาล และจะมีประเด็นอะไรที่จะต้องเจรจาหากมิใช่เพื่อต่อรองการบังคับใช้กฎหมาย


สุเทพ เทือกสุบรรณ มีหน้าที่ที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายมิใช่หรือ ที่สำคัญก็คือด้วยอำนาจของรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงมีที่ใดบ้างในกฎหมายที่ให้อำนาจท่านไปกระทำเรื่องการเจรจากับผู้ที่หนีคำพิพากษาของศาลเช่นนี้


พฤติกรรมของสุเทพ เทือกสุบรรณจึงปฏิบัติตนให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าคุณอยู่ข้างไหนกันแน่?


การที่สุเทพ เทือกสุบรรณ ยอมรับการแต่งตั้งกลับเข้ามาเป็น ผบ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้งหนึ่งของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ก่อนหน้าการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของอภิสิทธิ์เพียงวันเดียวโดยหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยในปัจจุบัน และยังคงให้ดำรงตำแหน่งเดิมทั้งที่มีความมัวหมองจากกรณีการฆ่าประชาชนเมื่อ 7 ต.ค. 51 ตามที่ ป.ป.ช.ได้มีการแถลงผลการสอบสวนในเบื้องต้นแล้ว จึงเป็นการตั้งบุคคลที่มีความขัดแย้งของผลประโยชน์เข้ามาดำรงตำแหน่ง ทำให้การแก้ไขการปิดการจราจรในบริเวณกรุงเทพฯ ของพวก “เสื้อแดง” ในช่วงแรกๆ (8-10 เม.ย.) ที่ผ่านมามีความน่าสงสัยว่าเหตุใดตำรวจจึงไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่ เฉียบพลันทั้งที่เป็นความผิดซึ่งหน้าและมีผู้กระทำผิดในช่วงแรกจำนวนน้อยมาก


เป็นความบกพร่องของ ผบ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือเป็นความบกพร่องของสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือไม่บกพร่องเลยทั้ง 2 คน เพราะเป็นความผิดของพวก “เสื้อแดง” เอง ที่หากไม่มาปิดถนน เหตุก็ไม่เกิด


ประกอบกับการเพิกเฉยไม่เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนที่มีความขัดแย้งกับผู้ที่ถูกกล่าวหาในกรณีการแจ้งข้อกล่าวหากับพันธมิตรฯ จำนวน 30 คน ซึ่งเป็นเหตุที่ชวนให้สงสัยว่า สุเทพ เทือกสุบรรณกำลังใช้วิธีการสีกากีจับเหลืองเพื่อเอาไปเป็นเบี้ยเพื่อเจรจาต่อรองกับแดง


ดูเหมือนสุเทพ เทือกสุบรรณกำลังเป็น “นักเจรจา” เพื่อทำให้อภิสิทธิ์อยู่ในตำแหน่งให้ได้นานที่สุดมากกว่าความพยายามแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง


ดังนั้นจุดที่ชี้แพ้ชนะในวิกฤตช่วง 8-14 เม.ย.ที่ผ่านมา จึงมิได้ขึ้นอยู่กับทักษิณและพวกแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยของรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงที่ชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณที่ไร้ประสิทธิภาพหรือมีเจตนาพิเศษอื่นๆ อีกทางหนึ่งด้วย


หลักฐานเชิงประจักษ์อีกชิ้นหนึ่งก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดกับนายกฯ อภิสิทธิ์ที่พัทยาและที่กระทรวงมหาดไทยที่เกือบทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียบุคลากรที่สำคัญไปอย่างไม่น่าให้อภัย เพราะการผิดพลาดในครั้งแรกที่เกิดกับนายกฯ ที่ต้องติดไฟแดงและเผชิญหน้ากับความรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายโดยพวก “เสื้อแดง” ที่พัทยายังอาจให้อภัยได้หากเป็นความบังเอิญและเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว


แต่การผิดพลาดซ้ำสองในระยะเวลาไล่เรี่ยกันที่เกิดขึ้นภายในกระทรวงมหาดไทยจากความรุนแรงกรุ้มรุมล้อมกรอบทำร้ายร่างกายของพวก “เสื้อแดง” จนมีผู้บาดเจ็บหลายคน และเผยแพร่ภาพของความป่าเถื่อนไร้ขื่อแปของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในสถานที่ราชการที่มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เช่น กระทรวงมหาดไทยออกไปทั่วโลก ทำให้ไม่อาจตีความเป็นอื่นๆ ได้นอกจากความไร้ประสิทธิภาพหรือด้วยมีเจตนาพิเศษอื่นๆ ของรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงที่ชื่อสุเทพ เทือกสุบรรณ


ไม่รู้ว่ามีภาพการวิ่งหนีแบบไร้สติ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เผยแพร่ออกไปด้วยหรือไม่ ผู้เขียนอยากจะทราบว่า สุเทพ เทือกสุบรรณจะเอาหน้าไปตั้งไว้ที่ไหน


พฤติกรรมเยี่ยงบรูตุสในศตวรรษที่ 21 ในกรณีของเหตุการณ์ความรุนแรงของกบฏ “เสื้อแดง” ที่ผ่านมาจึงสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมทรยศเนรคุณที่บุคคลหลายๆ คนกระทำมีต่อผู้มีพระคุณและประเทศชาติ ไม่เฉพาะแต่เพียงที่ทักษิณกระทำต่อประเทศบ้านเกิดของตนเอง แต่ยังมีอีกหลายกรณีจากทั้ง สื่อฯ นักวิชาการ ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ รัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ที่ไม่เผยแพร่อันตรายจากทักษิณ ชินวัตร และระบอบทักษิณที่ได้แพร่พิษร้ายให้กับสังคมไทย ซ้ำร้ายยังฉวยโอกาสยกย่องทักษิณ ชินวัตร และระบอบทักษิณอยู่เป็นนิตย์


เหตุการณ์ที่พัทยาทำให้ประเทศไทยต้องเสียเกียรติภูมิจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่ไม่สามารถดำเนินการได้ และทำให้ประมุขผู้นำประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น IMF UN World Bank ต้องตกอยู่ในอันตราย เป็นต้นทุนความเสียหายที่สูงจนมิอาจประเมินค่าได้เพราะมิใช่แต่เพียงส่งผลกระทบต่อประชากรในประเทศไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่กระทบต่อประชากรรัฐสมาชิกที่ไม่ได้ใช้ผลจากข้อสรุปจากการประชุมนี้มากกว่า 2,000 ล้านคน


การออกมาเสนอให้นายกฯ อภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่ง หรือเสนอให้ยุบสภา ของนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หรือจากอาจารย์ปริญญา ท่าพระจันทร์ จึงเป็นการเปิดเผยสีเสื้อและพฤติกรรมของตนเองที่มีต่อประเทศชาติผู้มีพระคุณที่ให้เงินไปเรียนหนังสือและให้ตำแหน่งหน้าที่การงาน เพราะเป็นข้อเสนอที่ให้อภิสิทธิ์ไปล้างรถขณะที่ไฟกำลังไหม้บ้าน ถ้าหากเป็นสิทธิที่จะเสนอทำไมไม่ไปเสนอในช่วงรัฐบาลสมัครหรือสมชายก่อนหน้านี้ พูดตรงๆ ก็คือทำไมจึงไม่เผยแพร่อันตรายจากทักษิณ ชินวัตร และระบอบทักษิณที่ได้แพร่พิษร้ายให้กับสังคมไทย ทำไมไม่ทำหน้าที่ของนักวิชาการที่ดีที่ชี้ถูกเมื่อถูกหรือชี้ผิดเมื่อผิด


พวกคุณตอบแทนผู้มีพระคุณแบบนี้หรือ?


พฤติกรรมของสื่อฯ ไทยก็เช่นกัน นอกจากไม่เผยแพร่อันตรายจากทักษิณ ชินวัตร และระบอบทักษิณที่ได้แพร่พิษร้ายให้กับสังคมไทย ซ้ำร้ายยังฉวยโอกาสยกย่องทักษิณ ชินวัตร และระบอบทักษิณอยู่เป็นนิตย์ ยกเว้น ASTV และช่อง 11 ฟรีทีวีเกือบทั้งหมดที่อยู่ในการดูแลของ อสมท.หรือทหาร พวกคุณทำอะไรอยู่เมื่อมีการสลายการชุมนุมเมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 เม.ย.นอกจากโปรแกรมบันเทิง ThaiPBS เอา นปก.รุ่น 2 เช่น สมศักดิ์ บุญงามอนงค์ มาชี้ทางออกให้สังคม นอกเหนือจากนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่ไม่สามารถชี้ผิดถูกอีกต่อไปแล้ว หรือแม้แต่การสัมภาษณ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (นปก.รุ่น 1)


ผู้เขียนเห็นด้วยในความเท่าเทียมกันในโอกาสใช้สื่อของคนทุกคน แต่ไม่เห็นด้วยกับความเท่าเทียมกันของโอกาสในการโกหกโดยใช้สื่อฯ ที่เรียกตนเองว่าเป็นสื่อสาธารณะ เพราะอย่างน้อยห้องน้ำสาธารณะก็ยังจำกัดการใช้กับคนที่มาทำห้องน้ำเลอะเทอะ แล้วคนที่ท่านให้โอกาสเขานั้นมีประวัติการทำเลอะเทอะในสังคมมามากน้อยเพียงใด ลองดูความจริงวันนี้ผ่านสื่อฯ เช่น CNN BBC หรือ อัลจาซีราห์ เป็นตัวอย่างก็ได้ เมื่อมีการสัมภาษณ์ทักษิณ ชินวัตรเกี่ยวกับกบฏ “เสื้อแดง” หากฟังภาษาอังกฤษไม่ออกไม่เป็นไร แต่ฟังน้ำเสียงเปรียบเทียบดูก็ได้ ทำไมเมื่อนักข่าวถามด้วยสำเนียงที่ราบเรียบ แต่ทำไมทักษิณ ชินวัตรจึงตอบคำถามของเขาหรือเธออย่างตะกุกตะกักแตกต่างจากสภาพของฮีโร่ที่สื่อฯ ไทยพยายามสร้างภาพอย่างสิ้นเชิง แตกต่างกับเมื่อเวลาสัมภาษณ์อภิสิทธิ์ที่ตอบด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ สีหน้าสงบนิ่งไม่เลิกลั่ก


สื่อฯ ทั้งหลายโดยเฉพาะ ThaiPBS พวกคุณตอบแทนผู้มีพระคุณแบบนี้หรือ?


สำหรับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ คุณไม่ใช่แมวที่มี 9 ชีวิต แต่หากยังไม่จัดการหาผู้ที่ต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์กบฏ “เสื้อแดง” ที่เกิดขึ้น ต่อให้มีมากกว่า 9 ชีวิตผู้เขียนเกรงว่าจะไม่เพียงพอ


ถ้าอยากจะรู้ว่ามีคนใกล้ชิดคนใดมีพฤติกรรมเช่นบรูตุสบ้างก็ลองดูหน้าบรรดารัฐมนตรีและขุนทหารที่ออกทีวีรอบตัวคุณเมื่อ 13 เม.ย.ที่ผ่านมาดูก็จะทราบได้ไม่ยาก


สังคมให้โอกาสคุณเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่ไม่ได้ให้คุณอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ไปเรื่อยๆ โดยไม่ยอมทำอะไรเพื่อประชาชน


คุณสอบไม่ผ่านในกรณีการย้ายสนามบินฯ มาเรื่องหนึ่งแล้ว กรณีรัฐมนตรีที่ทำงานไร้ประสิทธิภาพ เช่น สาทิตย์ ก็เป็นเรื่องที่ผู้เขียนไม่คิดว่าคุณสอบผ่าน บททดสอบที่สามที่ยังไม่ได้คำตอบก็คือกรณีของเหตุการณ์ความรุนแรงของกบฏ “เสื้อแดง” ที่ใช้ชีวิตผู้บริสุทธิ์เป็นเครื่องสังเวย


ทักษิณ ชินวัตร ปรามาสรัฐบาลนี้ว่า “ปล่อยให้เด็กสองคนเข้ามาทำงานได้อย่างไร” แต่หลังจากเหตุการณ์กบฏ “เสื้อแดง” ผู้เขียนคิดว่ารัฐบาลนี้ได้อาศัย “ทุน” ของอภิสิทธิ์มา “แบก” สาทิตย์เด็กที่ยังไม่โตเต็มวัย และสุเทพนักเลงแก่บ้านนอกที่ไร้ประสิทธิภาพหรือมีเจตนาพิเศษ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีแรง “แบก” ไปอีกนานเท่าใด


แต่ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่คุณควรที่จะปลดแอกเลิก “แบก” ไม่ว่าผู้ใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ยังไม่โต หรือนักเลงแก่บ้านนอก หรือรัฐมนตรีท่านใด คุณผ่านวิกฤตในครั้งนี้มาด้วยพลังประชาชนจะไม่ลองเชื่อในพลังประชาชนอีกสักครั้งหรือ และได้โปรดระมัดระวังอย่าให้เหตุการณ์ลอบสังหาร สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ด้วยอาวุธสงครามอย่างอุกอาจ ซึ่งเป็นเสมือนสัญญาณเตือนภัยต่อ “บุคคลสำคัญ” ทุกคนในบ้านเมืองนี้ผ่านไปเฉยๆ โดยคุณไม่คิดทบทวนความผิดพลาดที่ผ่านมาเพื่อเปลี่ยนแปลงปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงแต่อย่างใดเลย มาเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองอีกครั้งเป็นอันขาด



หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้