จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (34) 18/4/49

จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (34) 18/4/49



จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (34)



34. การเรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบในวิถีชีวิต


ความเข้าใจต่อไปนี้เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับผู้ที่ต้องการจะยกระดับจิตให้สูงกว่าระดับที่ 6 ขึ้นไป เพราะเมื่อใดก็ตามที่การยกระดับทางจิตไม่อาจทำได้ด้วยการศึกษาจากหนังสืออย่างเดียวอีกต่อไป หรือเมื่อใดก็ตามที่การศึกษาจากตำราแต่เพียงอย่างเดียว ยังมิใช่เงื่อนไขที่เพียงพอต่อการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบในเรื่องของจิตอีกต่อไป


เมื่อนั้น เราจะต้องเปลี่ยนแปลงท่าทีต่อการเรียนรู้เสียใหม่ ไปเป็นท่าทีที่แลเห็นว่า 'ครู' 'คำสอน' และ 'ตัวเรา' ที่เป็นผู้เรียนจะต้องแนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริงเสียก่อน จึงจะเกิดการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบขึ้นมาได้


เพราะ ครูที่แท้ มีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ในสิ่งที่เรียนรู้ได้ยากอย่างเรื่อง จิต และ วิถีจิต เพราะ ในวิถีแห่งจิตนี้ครูกับคำสอนจะเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้ามองจากภายนอก ครูคือผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากครูของตนในอดีตที่สืบทอดต่อๆ กันมาจนถึงตน และความเข้าใจอันนี้ก็จะถูกถ่ายทอดโดยตรงไปสู่ศิษย์ด้วย โดยที่สุดท้ายแล้ว ศิษย์ก็จะพบว่า ตัวเขาเองนั้นที่แท้ก็คือ เชื้อสายของครูของตน นั่นเอง เมื่อครูได้ถ่ายทอดคำสอนแก่ศิษย์ ตัวศิษย์ก็จะเติบโตขึ้นเป็นภาพสะท้อนของครู จนกระทั่งวันหนึ่งศิษย์จะกลายเป็นครูไปเสียเอง


ในบรรดา "คำสอนที่ถูกต้องและจริงแท้" ที่ครูจะถ่ายทอดให้แก่ศิษย์นั้น ยังสามารถจำแนกย่อยได้อีกเป็น 2 ประเภทคือ

(1) คำสอนเผยแจ้ง (exoteric teaching) เป็นคำสอนที่สามารถเปิดเผยต่อภายนอกทั่วไปได้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ในเท่านั้น กับ

(2) คำสอนเร้นลับ(esoteric teaching) เป็นคำสอนที่เกี่ยวกับ "เคล็ดลับและอุบายวิธี" ที่ครูเจาะจงถ่ายทอดให้แก่ศิษย์แต่ละคนเป็นการเฉพาะตัวสืบต่อกันมา


เพราะฉะนั้น เราจึงควรจะรู้และตระหนักว่า ไม่มีคำสอนในวิชาทางจิตขั้นสูงแขนงไหนที่ไม่มีคำสอนประเภท "เคล็ดลับและอุบายวิธี" แฝงควบมากับคำสอนประเภทเผยแจ้ง


เหตุที่มีคนจำนวนไม่น้อยเข้ามาฝึกฝนทางจิตแล้วไม่มีความก้าวหน้า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะไม่เข้าใจ "เคล็ดลับและอุบายวิธี" ที่ถูกต้องและเหมาะสม ประกอบกับไม่สามารถมองเห็น ภาพรวม ของทิศทางการพัฒนาทางจิตของตนที่จะมุ่งไป จึงเคว้งคว้างหลงทาง จนท้อแท้และล้มเลิกกลางคันนั่นเอง


พุทธธรรม เองก็มีคำสอนประเภท "เคล็ดลับและอุบายวิธี" ดำรงอยู่มากมายเช่นกัน ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้เคยกล่าวถึงเคล็ดลับ และอุบายวิธีอันมีซับซ้อนอยู่ในอานาปานสติ และสติปัฏฐาน 4 ที่เป็นไปเพื่อบรมธรรมเอาไว้อย่างชัดเจนว่า


"คำว่า เคล็ดลับและอุบายวิธีนี้ เป็นคำที่มีความหมายที่สำคัญมากในพุทธศาสนา เคล็ดลับและอุบายวิธีหมายถึงวิธีการที่ประกอบไปด้วยเทคนิคที่จำเป็นต้องมี ในพุทธศาสนาได้ให้ความหมายความสำคัญกับคำว่า เคล็ดลับและอุบายวิธีนี้มากจนถึงขนาดสามารถพูดได้ทีเดียวว่า พุทธศาสนาทั้งหมดเป็นอุบายวิธีสำหรับจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับทุกข์ การเจริญอานาปานสติ และสติปัฏฐาน 4 ก็เป็นอุบายวิธีอันหนึ่งที่เต็มไปด้วยเคล็ดลับ"


เพราะฉะนั้น ในการศึกษาพุทธธรรมเพื่อพัฒนาทางจิต แม้ตำราพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคำสอนประเภทเผยแจ้ง จะมีความสำคัญก็จริง แต่ถ้าจะทำให้การเรียนรู้พุทธธรรมของเราเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ในช่วงหนึ่งของชีวิตเรามีความจำเป็นที่จะต้องได้พบ ได้เรียนรู้จาก "ครูที่แท้" ที่เป็น "พระไตรปิฎกที่มีชีวิต" หรือเป็น "พุทธธรรมที่มีชีวิิต" มาถ่ายทอดแก่นแท้ของพุทธธรรมโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเคล็ดลับและอุบายวิธีให้แก่ตนผู้เป็นศิษย์ที่ปรารถนาจะเจริญรอยตามครูของตน


สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ ขอให้ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์คำสอนประเภทเคล็ดลับและอุบายวิธีที่ คุรุแห่งยุคปัจจุบันท่านหนึ่ง หรือ หลวงปู่พุทธะอิสระ ได้ถ่ายทอดพุทธธรรมของท่านออกมาให้แก่เหล่าศิษย์ของท่าน ไม่ว่าท่านผู้อ่านที่สนใจพุทธธรรม โดยจากครูท่านใดหรือแนวทางใดก็ตาม ก็น่าจะได้ประโยชน์จากการศึกษาเปรียบเทียบอันนี้ เพื่อช่วยเติมเต็มความเข้าใจพุทธธรรมในเชิงปริยัติ และเชิงปฏิบัติของตัวท่านเอง


อนึ่ง พุทธธรรมของหลวงปู่พุทธะอิสระ ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นการเรียบเรียงคำสอนของท่านในวาระต่างๆ โดยผู้เขียนคัดเลือก (ธรรมวิจัย) คำสอนของท่านในส่วนที่เป็นแก่นของพุทธธรรม โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเคล็ดลับ และอุบายวิธีของท่านมานำเสนอให้เป็นภาพรวมภาพเดียว


หลวงปู่ย้ำว่า การบำเพ็ญตบะแบบพุทธ หรือ การฝึกสติเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิ มีความสำคัญมากเป็นอันดับแรก เพื่อบรรลุความเป็นพุทธะหลวงปู่บอกว่า การบำเพ็ญตบะจะมีประโยชน์ ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงนิสัยและแก้ไขพฤติกรรม โดยเริ่มต้นจากการทำดี ละชั่ว และทำจิตให้ผ่องใส นี่คือที่มาของความหมายแห่งหนทาง หรือวิถีทางที่พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า เป็นมรรคาปฏิปทาคือ ทางสายเอก เป็นทางของบุคคลผู้เป็นเอกบุรุษ เอกสตรีผู้มีปัญญาเดิน


เคล็ดลับและอุบายวิธีที่หลวงปู่ได้ถ่ายทอดให้แก่เหล่าศิษย์คือ การฝึกมหาสติโดยการพิจารณาโครงกระดูกตัวเอง ดังต่อไปนี้


จงนั่งขัดสมาธิ กายตั้งตรง หลับตา สูดลมหายใจลึกๆ เข้าไปเพื่อเตือนสติตัวเองว่า หลังจากนี้จะเริ่มบำเพ็ญตบะแล้วนะ แล้วก็พ่นลมออกยาวๆ เมื่อหายใจเรียบร้อยแล้วให้สติรู้อยู่ที่รูปนั่งขัดสมาธิของตัวเอง


จากนั้นให้เลื่อนจิตเอาความรู้สึกจับไปที่กลางกระหม่อมให้เห็นเป็นกระดูกปรากฏ จากกลางกระหม่อม...เลื่อนจิตไปจับกระดูกหน้าผาก...เลื่อนมาเรื่อยๆ ที่กระดูกโหนกคิ้วทั้งสองข้าง...เธอจะรู้สึกร้อนวูบวาบตามจุดต่างๆ ที่บอกไป...กระดูกเบ้าตาสองข้าง...กระดูกสันจมูกซึ่งมีรูสองข้าง...กระดูกโหนกแก้มสองข้างซ้ายขวา...กระดูกริมฝีปากด้านบนพร้อมฟัน...สำรวจให้ทั่ว...กระดูกริมฝีปากล่างพร้อมฟัน...เอาจิตจับตามไปนะ สติรับรู้ตามไป...กระดูกปลายคาง...กระดูกกรามข้างขวา...เอาจิตจับไปที่กรามข้างขวา...กกหูข้างขวา...เสร็จแล้วอ้อมไปด้านหลังกะโหลกศีรษะด้านขวา...เลื่อนไปที่กะโหลกศีรษะด้านหลังตรงกลาง...กะโหลกศีรษะด้านซ้าย...กระดูกกกหูตรงศีรษะด้านซ้าย...กรามข้างซ้าย...มาถึงปลายคาง...ขยับขึ้นที่ริมฝีปากด้านล่างพร้อมกระดูกฟัน...ขยับขึ้นที่ริมฝีปากด้านบนพร้อมกระดูกฟัน...เลื่อนไปที่กระดูกโหนกแก้มสองข้าง...เลื่อนไปที่สันจมูกซึ่งมีรูสองข้าง...เบ้าตาสองข้าง...กระดูกคิ้วสองข้าง...กระดูกหน้าผากอันเป็นภาพกว้างๆ กระดูกหน้าผากขาวโพลนขึ้นไปจนถึงจอมประสาทกลางกระหม่อม


จากกลางกระหม่อมก็ไหลเรื่อยลงไปด้านหลังที่กะโหลกศีรษะด้านหลัง ไปถึงข้อกระดูกต้นคอที่ติดกับกะโหลกศีรษะข้อที่หนึ่ง...ข้อที่สอง...กระดูกคอข้อที่สาม...ข้อที่สี่...ข้อที่ห้า...ข้อที่หก...ข้อที่เจ็ด


ต่อไปก็เป็นกระดูกบ่าหรือกระดูกไหปลาร้าติดต่อกัน เราจะสำรวจดูกระดูกบ่าด้านหลังทั้งซ้ายและขวาก่อน ซึ่งมีสะบักสองข้างมีแผ่นกระดูกบางๆ อยู่สองข้างเป็นรูปใบโพธิ์....สำรวจทั้งสองข้างเสร็จแล้วอ้อมไปด้านขวาด้านหน้าไปสำรวจดูไหปลาร้าด้านหน้าด้านขวา...ตั้งแต่หัวไหล่ขวาไปถึงลำคอด้านขวา...จากด้านขวาก็ไปไหปลาร้าด้านซ้ายตั้งแต่ลำคอไปถึงหัวไหล่ซ้าย...มาที่กระดูกหัวไหล่ข้างซ้าย...มาที่กระดูกสะบักอีกครั้ง...มาถึงต้นคอด้านซ้ายด้านหลัง...กระดูกบ่าต้นคอด้านขวาด้านหลัง...มันจะร้อนวูบวาบไปตามจุดที่บอก ถ้าเธอเอาสติจับรับรู้มัน


เสร็จแล้วเลื่อนไปที่หัวไหล่ด้านขวา...ลงไปที่กระดูกต้นแขนท่อนบนด้านขวา...ไล่ลงไปจนถึงข้อศอกขวา...ท่อนแขนด้านล่างด้านขวา ซึ่งมีกระดูกลักษณะคล้ายตะเกียบสองท่อนอยู่ติดกันกับกระดูกท่อนบนด้านขวา...ไหลเรื่อยไปจนถึงกระดูกข้อมือด้านขวา...จากข้อมือก็ไปถึงกระดูกฝ่ามือด้านขวา...เลาะไปถึงนิ้วโป้งด้านขวา...นิ้วโป้งข้อที่หนึ่ง...ข้อที่สอง...ย้อนกลับขึ้นมาข้อที่สอง...ข้อที่หนึ่ง...กลับมาที่นิ้วชี้...กระดูกนิ้วชี้ ข้อที่หนึ่ง...ข้อที่สอง...ข้อที่สาม...จากกระดูกนิ้วชี้ด้านขวา ข้อที่สามกลับขึ้นมาเป็นข้อที่สอง...แล้วก็เป็นข้อที่หนึ่ง...เลื่อนไปกระดูกนิ้วกลาง...นิ้วกลางข้อที่หนึ่ง...ข้อที่สอง...ข้อที่สาม...ย้อนกลับขึ้นมา...สาม...สอง...หนึึ่ง...เลื่อนไปที่นิ้วนาง...ข้อที่หนึ่ง...ข้อที่สอง...ข้อที่สาม...แล้วก็...สาม...สอง...หนึ่ง...เลื่อนไปที่นิ้วก้อย...ข้อที่หนึ่ง...ข้อที่สอง...ข้อที่สาม...แล้วก็...สาม...สอง...หนึ่ง...ไหลย้อนขึ้นมาที่กระดูกฝ่ามือ...กระดูกข้อมือซึ่งประกอบด้วยกระดูกสองชิ้นเล็กๆ ปะติดปะต่อกัน...มาถึงกระดูกแขนด้านล่างด้านขวา ซึ่งเป็นกระดูกสองชิ้นต่อจากกระดูกข้อมือ...และขึ้นมาจนถึงกระดูกข้อศอก...กระดูกต้นแขนบนด้านขวา...ขึ้นมาจนถึงหัวไหล่ขวา...ทีนี้ก็ไต่เลยมาจนถึงกระดูกบ่าด้านขวาข้างหลัง


มาถึงต้นคอด้านหลัง...ไหลไปทางกระดูกบ่าด้านหลังด้านซ้าย...ไปถึงหัวไหล่ด้านซ้าย...มันจะไหลมีไออุ่นตามไป (แล้วก็กำหนดสติตามไปแบบเดียวกับการพิจารณากระดูกแขน ข้อมือ และนิ้วด้านขวาข้างต้น แต่คราวนี้เป็นด้านข้างซ้าย)...ต่อมาก็กระดูกท่อนแขนซ้ายด้านบน...ขึ้นมาจนถึงหัวไหล่ซ้าย


จากหัวไหล่ซ้ายก็มาที่บ่าด้านซ้าย...เลาะมาจนถึงต้นคอด้านซ้าย...ทีนี้ก็จะไล่จากกระดูกสันหลังต้นคอที่ติดต่อกันระหว่างกระดูกคอข้อที่เจ็ด...เราจะเริ่มนับหนึ่งใหม่จากหัวไหล่ เริ่มนับข้อที่หนึ่งลงไปจนถึงกระดูกก้นกบ...พิจารณาทีละข้ออย่าลงไปเลย...ข้อที่หนึ่ง...ข้อที่สอง...ข้อที่สาม...ข้อที่สี่...ข้อที่ห้า...ความรู้สึกมันจะเหมือนสภาพที่เราดูดน้ำออกมาแล้วมันค่อยๆ ยุบลง...ข้อที่หก...ข้อที่เจ็ด...ข้อที่แปด...ข้อที่เก้า...ข้อที่สิบ...ข้อที่สิบเอ็ด...ข้อที่สิบสอง...ข้อที่สิบสาม...ข้อที่สิบสี่...ข้อที่สิบห้า...ข้อที่สิบหก...ข้อที่สิบเจ็ด


ต่อไปก็เป็นกระดูกก้นกบลักษณะคล้ายๆ กับหางเต่า...จับจนไปถึงปลายหาง...แล้วก็ย้อนไล่ขึ้นมาจนถึงกระดูกก้นกบด้านบน...กระจายความรู้สึกไปรับรู้กระดูกเชิงกรานทั้งสองข้างที่มีลักษณะเหมือนใบตาล...จากนั้นก็มาไล่พิจารณากระดูกขาข้างขวา...จับกระดูกเชิงกรานข้างขวาให้ชัด...กระดูกขาท่อนบนด้านขวาที่เป็นเหมือนลูกหมากที่ติดกับเชิงกราน...ค่อยๆ เลาะไปเรื่อยจนถึงหัวเข่า...ถึงสะบ้า...ถึงกระดูกหน้าแข้งอันเป็นกระดูกขาด้านล่างสองท่อน ซึ่งมีลักษณะคล้ายตะเกียบเช่นกัน...เลาะลงไปจนกระทั่งถึงกระดูกข้อเท้า...กระดูกส้นเท้าและกระดูกฝ่าเท้า...นิ้วโป้งข้อที่หนึ่ง...สอง...สาม...พิจารณาย้อนกลับ...สอง...หนึ่ง...นิ้วชี้มีสามท่อน...หนึ่ง...สอง...สาม...แล้วก็สาม...สอง...หนึ่ง (ให้พิจารณานิ้วกลางขวา นิ้วนางขวา และนิ้วก้อยขวาในทำนองเดียวกัน)


ทีนี้จับภาพกระดูกฝ่าเท้าขวาทั้งแผ่นให้ชัด...สติเราจะเหมือนกับโฟกัสของกล้องถ่ายรูป เราขยายมันให้เห็นภาพกว้างก็ได้ หรือจะให้เห็นเฉพาะจุดก็ได้...ย้อนขึ้นมาจนถึงข้อเท้า...ท่อนขาด้านล่าง...หัวเข่า...สะบ้า...ท่อนขาด้านบนด้านขวา...ถึงเชิงกรานด้านขวา (จากนั้นก็ย้ายมาพิจารณากระดูกขาด้านซ้าย ในทำนองเดียวกับการพิจารณากระดูกขาด้านขวาดังข้างต้น)...ให้พิจารณาไปเรื่อยๆ เหมือนกับน้ำไหลทีละน้อย มองเห็นถนัดเป็นสีขาวขุ่น


พิจารณาย้อนขึ้นมาจนถึงกระดูกเชิงกรานด้านซ้าย...เข้ามาหยุดตรงกระดูกก้นกบข้อที่สิบเจ็ด...ขยับขึ้นไปที่กระดูกสันหลังข้อที่สิบหก...สิบห้า...สิบสี่...(พิจารณาย้อนกลับขึ้นไปทีละข้อจนถึงกระดูกสันหลังข้อที่หนึ่งตามลำดับ)...คราวนี้จะเห็นภาพกระดูกหัวไหล่ทั้งสองข้าง ปรับภาพให้ชัด ให้กว้างขึ้น...ทีนี้จับไปที่กระดูกต้นคอข้อที่เจ็ดที่ต่อกับกระดูกหัวไหล่...เจ็ด...หก...ห้า...สี่...สาม...สอง...กระดูกต้นคอข้อที่หนึ่งที่ติดกับกะโหลกศีรษะ...จับภาพกะโหลกศีรษะด้านหลังให้ชัด...ไล่ขึ้นไปช้าๆ เธอจะรู้สึกอุ่น...เธอจะเห็นภาพกะโหลกศีรษะด้านบน แล้วหยุดอยู่ที่กึ่งกลางกระหม่อมที่เรียกว่า จอมประสาท...สูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ ให้เต็มปอด...แล้วพ่นลมออกมายาวๆ ช้าๆ นิ่มนวล สุภาพ หมดจด...แล้วก็ลืมตา...ยกมือไหว้พระกรรมฐาน


หลวงปู่บอกว่า ถ้าทำตามที่สอนมาข้างต้นโดยสามารถจับภาพได้ชัด มันจะหยุดราคะ โทสะ โมหะได้อย่างฉับพลัน จิตเราจะสงบนิ่ง "สติ" อุปมาเหมือนแสงไฟฉายที่ส่องไปในความมืด แสงสว่างนั้นแหละที่เป็นสติของเราฉายไปทางไหนก็จะทำให้เราเห็นภาพที่ฉาย


เพราะฉะนั้น เวลาเราหลับตา ก็จงส่งความรู้สึกทั้งตัวให้อยู่ในกายนี้ เช่น พอเอาจิตจับไปที่กระหม่อม หรือที่หน้าผากก็จะเกิดความรู้สึกว่า ตรงที่ที่เราเอาจิตเข้าไปจับนั้น มันจะรู้สึกหนักเหมือนกับมีไออุ่นออกมา ถ้าถึงคำว่า หนัก แสดงว่าสติเราชัด ถ้ายิ่งกว่าชัดก็จะเห็นภาพกระดูกใส เพราะฉะนั้น มหาสติปัฏฐานจึงมีอานิสงส์มหาศาล หลวงปู่บอกว่าสามารถทำให้กระดูกเป็นแก้วได้ เมื่อดับขันธ์ไปแล้ว หลวงปู่ย้ำว่า การพิจารณาโครงกระดูกนี้ให้ดูกระดูกภายในกายเราเท่านั้น ไม่ใช่กายอื่น แต่เวลาฝึกจะให้ดูภาพโครงกระดูกข้างหน้าตัวเราประกอบก่อนหลับตาพิจารณาเพื่อให้น้อมเข้ามาหาตัวเราเองว่า กระดูกเราก็เป็นเช่นนี้


หลวงปู่ยังบอกอีกว่า สำหรับคนที่ฝึกเจริญสติอย่างอื่นไม่เป็นเลยสักอย่างเดียว ก็ขอให้นึกถึงแต่โครงกระดูกภายในกายตัวเองอย่างเดียวก็พอ จงระลึกรู้รูปกายของตน รู้อิริยาบถของตน และรู้โครงกระดูกของตนให้มาก จงหมั่นฝึกให้สติและจิตรวมอยู่กับกาย ที่หลวงปู่เรียกว่า การฝึกแบบกายรวมใจ ที่เป็นการฝึกการรับรู้สภาพของการนั่งที่เรียกว่า อิริยาบถบรรพ หรือการฝึกการรู้โครงสร้างของกายแต่ละชิ้น แต่ละส่วนหรือการฝึกระลึกรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต เช่น เวทนา สุข ทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ ยอมรับ หรือปฏิเสธ


สรุปก็คือ วิชามหาสติปัฏฐานเป็นการฝึกกายรวมใจยังไงก็ได้ให้ใจมันอยู่ในกายนี้ อย่าให้มันหลุดออกไปจากกายเด็ดขาด เพราะมหาสติปัฏฐานมีเรื่อง 2 เรื่องที่ต้องให้ทำคือ กายกับจิต ถ้าพ้นกายกับจิตก็ไม่ใช่มหาสติปัฏฐาน


หลวงปู่ยังบอกอีกว่า ในยุคปัจจุบันที่สังคมและโลกกำลังสับสนเป็นกลียุค คนที่เรียนรู้ และฝึกฝนมหาสติปัฏฐานอย่างจริงจะช่วยโลกได้ โดยการถ่ายทอดออกไปสู่สังคมและโลกข้างนอกให้มีสติยั้งคิด จะทำ-พูด-คิด จึงไม่ผิดพลาด การฝึกมหาสติปัฏฐานนี้จึงเป็นวิชาที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ภัยได้ การเรียนรู้อย่างสมบูรณ์แบบในวิถีจิตจึงมิใช่สิ่งใดอื่นคือ การเรียนรู้และฝึกฝนวิชามหาสติปัฏฐานนี้เอง









 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้