จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (33) 11/4/49

จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (33) 11/4/49



จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (33)




33. สงครามชีวิตของตัวตนกับการสลายตัวตน : ชีวิตที่สมบูรณ์มิใช่มีแค่การเมืองเท่านั้น


ชีวิตคือเรื่องราวการเผชิญโลกของ ตัวตน (self) หรือว่า ชีวิตคือเรื่องราวแห่ง การสลายตัวตน ในขณะอยู่กับโลกกันแน่? ในทัศนะแบบภูมิปัญญาบูรณาการ การมองชีวิตทั้งสองแบบล้วนถูกต้องทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้นั้นจะมองชีวิตจากในระดับจิตขั้นใดต่างหาก


หากเราใช้ โครงสร้างวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ เป็น แกนหลัก ในการทำความเข้าใจ พัฒนาการของสังคมมนุษย์อย่างเป็นกระบวนการโดยรวม จุดเด่นของมุมมองแบบนี้ก็คือ โครงสร้างวิวัฒนาการทางจิตนี้เป็น โครงสร้างเชิงลึก ที่เป็นศักยภาพแฝงอยู่ในตัวคนเราทุกคน นี่ก็ย่อมหมายความว่ามนุษย์ทุกคน ไม่ว่า 'ทักษิณ' หรือ 'สนธิ' หรือใครก็ตาม ก็ต้องมีพัฒนาการผ่านระดับขั้นของจิตนี้ไต่ขึ้นไปเป็นขั้นๆ ตามโครงสร้างวิวัฒนาการของจิตนี้เสมอโดยไม่มีข้อยกเว้น


ความแตกต่าง ที่บังเกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาทางจิตของปัจเจกคือ ความแตกต่าง ใน ระดับความเร็ว ในการผ่านแต่ละขั้นตอนของโครงสร้างของจิตที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคนกับ ความแตกต่าง ใน ระดับความสูง (ความลึก) ที่แต่ละคนสามารถปีนป่ายไต่ขึ้นไปได้ใน ชีวิตนี้ ที่ไม่เท่ากัน


เราสามารถจำแนก โครงสร้างวิวัฒนาการของจิตตั้งแต่เกิดจนบรรลุธรรม ได้เป็น 10 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้ โดยจะขออธิบายจากขั้นตอนที่พัฒนาน้อยที่สุดไปจนถึงขั้นตอนที่พัฒนาสูงสุด โดยมี ตัวตน เป็นผู้นำทางในการพัฒนาทางจิตไปตามลำดับ


ขั้นที่ 1 sensoriphysical หรือ sensorimotor

เป็นการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสในระดับกายภาพ ระดับวัตถุอันเป็น ระดับจิตของทารกแรกเกิด ที่เอาจิตของตัวเองรวมเป็นหนึ่งเดียวกับโลกวัตถุภายนอก เพราะตัวทารกเองยังไม่สามารถจำแนก 'ภายนอก' กับ 'ภายใน' ได้ สำหรับทารกแล้ว ร่างกายทั้งหมดของเขาก็คือ 'ปาก' และ 'โลก' ของทารกก็คือ 'อาหาร' เท่านั้น


ขั้นที่ 2 phantasmic-emotional

เป็นระดับจิตที่ถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกหรือแรงผลักดันทางฮอร์โมน โดยยังไม่สามารถคำนึงถึงเหตุผล หลักศีลธรรม จิตระดับนี้เริ่มเข้าใจเรื่องจินตภาพ (image) ได้บ้างแล้ว เป็นจิตในระดับทารกหลังคลอดได้ 15-24 เดือน จิตในระดับนี้เทียบได้กับ จิตของมีมสีเบจ


ขั้นที่ 3 rep-mind หรือ magic

เป็นขั้นตอนที่ 'ใจ' (mind) เริ่มปรากฏออกมาเป็นรูปร่างแล้ว เป็นระดับจิตที่เริ่มสามารถคิดในเชิงสัญลักษณ์อย่างง่ายๆ ได้ เริ่มมีตัวตนในเชิงมโนทัศน์ (concept) สามารถนิยามตนเองอย่างง่ายๆ ได้ เป็นระดับจิตของเด็กอายุตั้งแต่ 2-4 ขวบ (สามารถคิดในเชิงสัญลักษณ์ได้) ไปจนถึง 7 ขวบ (เริ่มสามารถคิดในเชิงมโนทัศน์ได้)? แต่จิตใจระดับนี้ยังเป็นจิตที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (egocentrism) และหลงตัวเอง (narcissism) อยู่ คือคิดว่าโลกจะเป็นดังใจนึกของตัวเองทุกประการอยู่ จึงยังเป็นจิตในระดับ มายาคติ (magic) คิดและมองโลกแบบการ์ตูนอยู่ จิตในระดับนี้เทียบได้กับ จิตของมีมสีม่วง


ขั้นที่ 4 rule/role mind หรือ Conop หรือ mythic

เป็นจิตระดับกลางๆ ที่ความเชื่อเรื่อง อำนาจวิเศษ (magical power) ได้ย้ายจากตัวเองแบบเด็กๆ ในขั้นตอนก่อนไปสู่ความเชื่อเรื่องอำนาจวิเศษของ เทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่นอกตน จึงเรียกจิตในระดับนี้ว่า ปรัมปราคติ (mythic) (เทียบได้กับ จิตของมีมสีแดง) ในอีกด้านหนึ่ง จิตในระดับนี้ เป็นจิตที่เริ่มเข้าใจแล้วว่า ตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้ทุกอย่างตามความอยาก ความปรารถนา และแรงผลักดันภายในของตัวเอง แต่คนเราจะต้องปฏิบัติตามกฎและหน้าที่ หากต้องการจะอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น

จิตระดับนี้ โดยปกติจะเริ่มเกิดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่คนส่วนใหญ่จบการศึกษาแค่ระดับชั้นประถม ระดับจิตของพวกเขาจะหยุดอยู่แค่ระดับนี้เท่านั้นจนวันตาย ยกเว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะดิ้นรนไขว่คว้าหาความรู้ใส่ตัวเองอยู่ตลอดเวลาผ่านช่องทางต่างๆ จึงจะสามารถยกระดับตัวเอง มีพัฒนาการทางจิตต่อไปได้ จิตในระดับนี้เทียบได้กับ จิตของมีมสีน้ำเงิน


ขั้นที่ 5 formal-reflexive หรือ formol หรือ rational

เป็นจิตที่พัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง โดยผ่านระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาไปจนถึงระดับปริญญาตรีที่เป็นกระบวนการฝึกฝนจิตให้เริ่มคิดเป็น เริ่มรู้จักใช้เหตุผลข้อมูลในการวิเคราะห์ จนสามารถมีวิจารณญาณเป็นของตัวเองได้ กระทั่งเกิดเป็น โลกทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อว่า หากมีความปรารถนาในสิ่งใด ก็จงไปบรรลุสิ่งนั้นด้วยหลักฐาน เหตุผล ข้อมูล และความเข้าใจ มิใช่ด้วยการอ้อนวอนร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยที่ยังคงงอมืองอเท้าอยู่

คนไทยส่วนใหญ่ที่ทำงานในภาคสมัยใหม่ หรือชนชั้นกลางไม่ว่าภาคเอกชนหรือภาคราชการ จะสามารถพัฒนาระดับจิตของพวกเขาได้แค่ระดับนี้เท่านั้น เทียบได้กับ จิตของมีมสีส้ม (โลกทัศน์แบบทันสมัยนิยม) หากปัจเจกชนคนไหนต้องการจะยกระดับจิตของตนให้สูงขึ้นไปกว่านี้ คนผู้นั้นจะต้องเป็นผู้รักการอ่านหนังสือที่หลากหลาย รักการคิดอย่างรอบด้านและลึกซึ้งจนเป็น ปัญญาชน ผู้มีระบบการคิดที่ลุ่มลึกซับซ้อนพิสดารจริงๆ ถึงจะเป็นไปได้


ขั้นที่ 6 vision-logic

เป็นจิตที่สามารถคิดอย่างเห็นภาพรวมทั้งหมดได้ เป็นจิตที่สามารถเห็นเอกภาพท่ามกลางความแตกต่าง เป็นจิตที่แลเห็นความหลากหลายของมุมมอง และสามารถเข้าใจมุมมองต่างๆ ที่แตกต่างกันได้อย่างไม่บิดเบือน และเคารพอย่างจริงใจในความต่างนั้นได้ เป็นจิตที่สามารถใช้ตรรกะขั้นสูงอย่างวิภาษวิธี (dialectic) และอย่างไม่เป็นเส้นตรง (monlinear) ได้ และเป็นจิตที่สามารถสังเคราะห์บูรณาการ "ความจริงที่แยกส่วน" ให้ประสานกันได้อย่างสมดุล


อนึ่ง จิตในระดับ vision-logic นี้ยังสามารถแยกย่อยได้อีกเป็น 3 ระดับย่อยคือ

(ก) early vision-logic เป็นระดับจิตที่เทียบได้กับ จิตของมีมสีเขียว ซึ่งเป็นโลกทัศน์แบบพหุนิยม หรือโพสต์โมเดิร์น

(ข) middle vision-logic เป็นระดับจิตที่เทียบได้กับ จิตของมีมสีเหลือง ซึ่งเป็นโลกทัศน์แบบบูรณานิยม

(ค) late vision-logic เป็นระดับจิตที่เทียบได้กับ จิตของมีมสีเทอร์ควอยส์ (โลกทัศน์แบบองค์รวม) และ จิตของมีมสีคอรอล (โลกทัศน์แบบองค์รวมบูรณา) ซึ่งเป็นขั้นตอนสูงสุดของการพัฒนาจิตในระดับโลกียะ


10 ขั้นตอนแห่งระดับวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ ตั้งแต่ขั้นที่ 1 จนถึงขั้นที่ 6 ข้างต้น มีประโยชน์ในการช่วยให้เรามีความเข้าใจ เรื่องราวของตัวตน จากมุมมองพัฒนาการทางจิตของ ปุถุชนตั้งแต่เกิดจนตาย ว่าต้องผ่านขั้นตอนการพัฒนาอย่างไรบ้าง จะได้มองออกว่า ควรจะ 'ชี้นำ' ตัวตน ของตนเองให้ผ่าน สงครามชีวิต ไปในทิศทางใด และได้อย่างไร


แต่ถ้าหากเราต้องการจะเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไปอีกว่า คนเราจะบรรลุธรรมได้อย่างไร? เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ ภูมิปัญญาบูรณาการบอกว่า เราจำเป็นต้องมีความเข้าใจขั้นที่ 7 จนถึงขั้นที่ 10 แห่งระดับวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ ดังต่อไปนี้


กว่าที่มนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง จะมีพัฒนาการทางจิตมาจนถึงขั้นที่ 6 หรือ vision-logic ซึ่งเป็น ระดับจิตของปัญญาชน ได้ ผู้นั้นก็คงผ่านโลกมาไม่น้อย เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต รวมทั้งใช้ชีวิตทางโลกอย่างเจนจัดมาแล้ว จนกระทั่งสามารถมองทะลุซึ้งถึงความเป็นอนิจจังของชีวิต


การอ่านหนังสือธรรมะ หรือหนังสือเชิงปรัชญา เชิงจิตวิญญาณเป็นจำนวนมาก เพื่อดับกระหาย จึงมักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนเป็นอันดับแรกสำหรับคนในระดับจิตขั้นที่ 6 นี้ ทำให้ช่วยพอกพูนสติปัญญาทางธรรมให้แก่คนผู้นั้นจนสามารถพัฒนาจิตของเขาเป็น late vision-logic หรือจิตที่พัฒนาจนติดเพดานบนของขั้น vision-logic ได้ แต่แม้กระนั้น คนผู้นั้นก็ยังรู้สึกว่า "ไม่เพียงพอ" อยู่ดี


เพราะลำพังแค่การอ่านหนังสือธรรมะ หนังสือเชิงปรัชญา-ศาสนาและเชิงจิตวิญญาณอย่างเดียว ต่อให้คนผู้นั้นตะลุยอ่านนับร้อยนับพันเล่ม ก็ไม่อาจดับความกระหายทางจิตใจของคนผู้นั้นได้หรอก อุปมาดั่งคนที่กำลังหิวโซแลเห็นภาพเขียนรูปอาหารอันโอชะตั้งอยู่เบื้องหน้า ย่อมไม่อาจดับความหิวเพราะแค่แลดูภาพวาดฉันใด ลำพังการแค่อ่านหนังสือโดยไม่มี การปฏิบัติธรรม เพื่อมี "ประสบการณ์โดยตรง" ใน "สิ่งนั้น" ที่หนังสือธรรมะได้แค่พรรณนา ก็ไม่อาจทำให้จิตของผู้นั้นยกระดับเกินไปกว่าขั้นที่ 6 หรือ vision-logic ได้หรอก


ครั้นเมื่อเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ไม่ว่าคนผู้นั้นจะปฏิบัติในแนวทางคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพุทธเถรวาท หรือในแนวทางมหามุทราของพุทธทิเบต หรือในแนวเซนของพุทธมหายาน หรือในแนวโยคะสูตรของฮินดู หรือในแนวเซียนของเต๋า หรือในแนวคาบาล่าของศาสนายิว หรือในแนวซูฟีของอิสลาม หรือในแนวภาวนาเชิงรหัสนัยของคริสต์หรือแม้แต่ในแนวนิวเอจของตะวันตกก็ตาม สิ่งที่ภูมิปัญญาบูรณาการค้นพบก็คือ พัฒนาการของจิต หลังจากที่คนผู้นั้นได้เริ่มปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องจริงจัง มันก็ยังเป็นขั้นตอน (stage model) อยู่ดี ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็นอีก 4 ขั้นตอนของการพัฒนาเชิง "สลายตัวตน" หรือ "ข้ามพ้นตัวตน" (four general stage of transpersonal development) ดังต่อไปนี้


ขั้นที่ 7 psychic

จิตที่เริ่มข้ามพ้น "ตัวกู-ของกู" ขั้นแรก เป็นระดับจิตที่เคยมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณเชิงรหัสนัยกับธรรมชาติ (nature mysticism)


ขั้นที่ 8 subtle

จิตที่ละเอียดสุขุมยิ่งขึ้นไปอีก เป็นระดับจิตที่เคยมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณเชิงรหัสนัยกับ "เทพเจ้า" (deity mysticism)


ขั้นที่ 9 causal

จิตที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีกจนถึงขั้น "นิรรูป" (formless mysticism)


ขั้นที่ 10 mondual

จิตที่ข้ามพ้นความเป็นคู่ (อทวิภาวะ) แล้ว (nondual mysticism)
อนึ่ง ระดับจิตตั้งแต่ขั้นที่ 7 ขึ้นไปนี้ เป็นขอบเขตของ อภิจิต (Superconscious) หรือจิตอริยะที่ข้ามพ้นตัวกู-ของกูไปแล้ว โดยมันดำรงอยู่ในเชิงโครงสร้างของจิตในตัวคนเราทุกคน ในฐานะที่เป็นศักยภาพของจิตที่สามารถพัฒนาได้ ถ้าฝึกฝนจิตอย่างจริงจังดุจการฝึกฝนศิลปะทั่วไป


สำหรับปุถุชนสามารถพัฒนาจากขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 6 ได้ โดยผ่านการเลี้ยงดูของครอบครัว สถาบันการศึกษา และหนังสือ ส่วนขั้นที่ 7-10 เป็นแค่ศักยภาพของปุถุชนเท่านั้น แต่สามารถทำให้เป็นจริง ทำให้มันเผยตัวพัฒนาออกมาได้ด้วย การปฏิบัติธรรม อย่างจริงจังและต่อเนื่องยาวนาน ส่วนการจะฝึกฝนจิตด้วยแนวทางใดนั้น ภูมิปัญญาบูรณาการบอกว่า มันเป็นแค่ความต่างของโครงสร้างเชิงผิว (surface structure) ซึ่งถูกกำหนดโดยความต่างของบริบททางวัฒนธรรมเท่านั้น


แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ คนผู้นั้นจะต้องตระหนักรู้ให้ได้ก่อนว่าแนวทางที่ตัวเองเลือกฝึกฝนจิตหรือปฏิบัติธรรมนั้น มันจะพา "ตัวตน" ของตนไต่ระดับ โครงสร้างเชิงลึกของจิต ขั้นที่ 7-10 ไปได้ไกลที่สุดแค่ไหนในชีวิตนี้ต่างหาก


เหมือนอย่างที่คนเราพอเกิดมาและเจริญเติบโตพอจะพูดได้ และคิดเชิงนามธรรมได้ก็ต้องพัฒนาจาก จินตภาพ ไปสู่ สัญลักษณ์ และไปสู่ มโนทัศน์ อันเป็นโครงสร้างเชิงลึกของภาษาอย่างเป็นขั้นตอนก่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่อาจพัฒนาย้อนศรได้ โดยที่ เนื้อหา ของจินตภาพ, สัญลักษณ์ และมโนทัศน์อันเป็นโครงสร้างเชิงผิวของภาษาย่อมสามารถแตกต่างได้อย่างหลากหลาย


แต่ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงคือ ทิศทางของการพัฒนาในเชิงโครงสร้างเชิงลึกที่ว่านี้ ฉันใดก็ฉันนั้น วิวัฒนาการทางจิตของคนเราไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด ผิวสีอะไร เพศอะไร หรือวรรณะอะไร ก็ล้วนแล้วแต่จะต้องพัฒนาไปตามทิศทางของโครงสร้างเชิงลึกของจิตทั้ง 10 ขั้นตอน จนกว่าจะบรรลุธรรมดังที่กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น โดยไม่มีข้อยกเว้นความแตกต่างที่แลเห็น จึงเป็นเพียงความแตกต่างของเนื้อหาอันเป็นโครงสร้างเชิงผิวที่ถูกกำหนดด้วยปัจจัยต่างๆ เท่านั้น แต่ไม่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างเชิงลึกนี้ไปได้


การพัฒนาของจิตในระดับโลกียะอย่างขั้นที่ 1-6 ก็ดี หรือการพัฒนาของจิตในระดับโลกุตตระอย่างขั้นที่ 7-10 ก็ดี ล้วนดำเนินไปตามหลักวิวัฒนาการของจักรวาฬที่ว่าด้วย "การผุดบังเกิดขึ้นมาใหม่" ของระดับจิตที่จะมี "ความลึก" ยิ่งกว่าระดับเดิมเสมอโดยเป็น "การก้าวข้าม และหลอมรวม" ระดับจิตขั้นก่อนเสมอด้วย


ระดับจิตที่ผุดขึ้นมาใหม่ในขั้นตอนใหม่นี้ จะทำให้คนผู้นั้นมีร่างกายเดิมก็จริง แต่ สภาวะจิต ของเขาจะไม่เหมือนเดิม ในความหมายที่ว่า เขาจะนิยาม "ตัวตน" ของเขาใหม่ในทิศทางที่สูงส่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม (higher sense of self) โดยที่ทิศทางที่สูงส่งกว่าเดิมนี้ ในขณะเดียวกันก็เป็นทิศทางที่สลาย "ตัวตนเก่า" ของเขาผู้นั้นด้วย


สายตาของเขาที่มองโลก มองผู้อื่น มองจักรวาฬก็จะเปลี่ยนไป นอกจากนี้แรงจูงใจ แรงผลักดันในชีวิตของเขาก็จะเปลี่ยนไปด้วย สิ่งที่ตัวเขาใส่ใจในการเรียนรู้ก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยที่จุดยืนเชิงจริยธรรมของเขาก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่สูงส่งยิ่งขึ้นตามขั้นตอนของโครงสร้างเชิงลึกแห่งพัฒนาการของจิตที่กล่าวมาข้างต้น


ถ้าหากจิตทั้ง 10 ขั้นที่กล่าวมานี้ เปรียบเหมือน บันได มันก็ยังขาด ผู้ปีนบันได หรือ "ตัวตน" และก็ยังขาด ทิวทัศน์ (view) หรือโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่มองเห็นจากขั้นบันได้นั้นๆ


เนื่องจากในแต่ละขั้นบันได ผู้ปีนบันไดหรือ ตัวตน จะเห็นทิวทัศน์แตกต่างกันไป หรือมองโลกต่างกันไป ปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั่วทุกสังคมจนแทบเป็นกลียุคอย่างเช่นในยุคปัจจุบันนี้ หากสาวต้นตอไปจนถึงสาเหตุลึกๆ แล้ว เราจะพบว่า ล้วนเกิดขึ้น เพราะผู้คนมีโลกทัศน์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีวิวัฒนาการของจิตที่แตกต่างกัน จึงเกิดสงครามโลกทัศน์ หรือสงครามระหว่างตัวตน โดยที่ยังไม่สามารถบูรณาการความต่างทางความเชื่อ โลกทัศน์ และอุดมการณ์


ทั้งนี้ก็เพราะว่า ผู้ที่จะสามารถบูรณาการความต่างแห่งทิวทัศน์ของตัวตนต่างๆ ได้ จะต้องมีระดับจิตที่สูงกว่า middle vision logic ขึ้นไป (มีมสีเหลือง) ซึ่งปัจจุบันยังเป็นคนส่วนน้อยมากๆ ของสังคมนี้อยู่ และมีแต่คนประเภทนี้เท่านั้น ที่สามารถเป็นผู้นำทางปัญญาที่แท้จริงให้กับสังคมนี้ได้








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้