จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (32) 4/4/49

จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (32) 4/4/49



จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (32)




32. โฉมหน้าแห่งตัวตนของทักษิณ : บทเรียนสำหรับผู้นำคนต่อไป


ปริศนาแห่งตัวตน (อัตตา) ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ชาวพุทธทั้งหลายพึงตระหนักเอาไว้ก็คือ ทั้งๆ ที่หลักธรรมของ พุทธธรรม มีความล้ำลึก และสูงส่งเป็นอย่างยิ่ง แต่เหตุไฉนคำสอนเหล่านี้ จึงยังไม่อาจช่วย คนไทยส่วนใหญ่ และ ผู้มีอำนาจ ให้มีความรุดหน้าทางจิตวิญญาณมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้


เพราะขอเพียงคำสอนเหล่านี้สามารถมีอิทธิพลต่อการยกระดับพัฒนาจิตใจของผู้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ "ผู้นำ" ประเทศให้สูงขึ้นกว่าเดิมได้จริงๆ แม้เพียงไม่มาก เชื่อหรือไม่ว่าสังคมนี้จะต้องน่าอยู่กว่านี้เป็นแน่


แต่ก็อย่างที่ได้เคยกล่าวไปแล้วว่า ลำพังแค่คำสอนตามคัมภีร์ ตามตัวอักษรหรือแค่อ่านหนังสือธรรมะอย่างเดียวเฉยๆ อย่างมากมันก็แค่มีอิทธิพลต่อจิตสำนึกภายนอกของผู้คนเพียงชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น มันหามีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนมนุษย์จากข้างในจากจิตใต้สำนึกได้ไม่


ตรงนี้แหละที่เป็น ความสำคัญของการฝึกจิตเพื่อควบคุมจิตใต้สำนึก หรือ 'อนุสัย' ให้ดำเนินไปในครรลองที่ช่วยให้คนผู้นั้นสามารถเติบโตยกระดับทางจิตอย่างบูรณาการได้


โลกนี้ในสายตาแบบพุทธล้วนเกิดจากกรรม และกรรมนี้เกิดจากอนุสัย กรรมที่หลุดจากอนุสัยแล้วเท่านั้น ที่จะไม่นำมาซึ่งการก่อเกิดอีก ความแตกต่างในชีวิตของผู้คนบนโลกนี้ ก็เกิดจาก กรรม เช่นกัน


เพราะ กรรมทำให้ 'ความคิด' และ 'ผลของความคิด' ของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความแตกต่างใน 'ความคิด' และ 'ผลของความคิด' จึงนำมาซึ่งความแตกต่างในชะตาชีวิตของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก


กรรม มีการทำงานอยู่ 3 แบบด้วยกัน


แบบแรก คือ การก่อให้เกิดการสืบเนื่องของความคิด และผลของความคิดจากอดีตตกทอดสืบต่อกันมา

แบบที่สอง คือ การจำแนกแยกแยะกรรมดีออกจากกรรมชั่ว และการแยกแยะบุญออกจากบาป

แบบที่สาม คือ การก่อให้เกิด หลักประพฤติปฏิบัติเพื่อการพัฒนาทางจิต

การทำงานทั้ง 3 แบบเช่นนี้ของกรรมจักปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนทั่วไปในรูปของ 'ความคิด' และ 'ผลของความคิด' ของปัจเจกบุคคลผู้นั้น


กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พลังของกรรม ย่อมทำงานโดยเริ่มมาจาก 'ความคิด' ซึ่งเป็นการปรุงแต่งของ 'สังขาร' ก่อน พอมี 'ความคิด' แล้วจึงจะเกิด 'ผลของความคิด' หรือ การกระทำ ตามมา ซึ่งได้แก่ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม เพราะฉะนั้น 'ผลของความคิด' ที่แท้ก็ยังเป็น 'ความคิด' ชนิดหนึ่งอยู่นั่นเอง


อนุสัย ก็เป็น 'ความคิด' ชนิดหนึ่งเช่นกัน ซึ่งจัดอยู่ในประเภท จิตใต้สำนึก โดยที่ 'ความคิด' ในที่นี้เราหมายถึง การทำงานของจิตโดยรวม พลังของกรรมและการทำงานของกรรมจักปรากฏออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ได้ จึงจะต้องมีการทำงานของ 'อนุสัย' เกิดขึ้นก่อน เพราะฉะนั้น กรรมที่หลุดห่างออกจากอนุสัย จึงไม่มีพลังที่จะไปควบคุมบังคับมนุษย์ได้อีกต่อไป


ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า อนุสัยคือ สภาพที่ 'ความคิด' หลับลึกนอนก้นอยู่ข้างในภายในจิตใจที่ล้ำลึกของคนเรา แต่มันยังคงทำงานของมันต่อไปไม่มีวันหยุด ไม่ว่าคนผู้นั้นจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม


อนุสัยมีการทำงานอยู่ 10 แบบ และอนุสัยมีอยู่ 10 ชนิด


การทำงานแบบที่ 1 ของอนุสัย คือ ทำให้รากเหง้าของกิเลสแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ดื้อด้านยิ่งขึ้น ถ้ามีกิเลสเกิดขึ้นก็จะทำให้กิเลสนั้นแข็งตัว


การทำงานแบบที่ 2 ของอนุสัย คือ ทำให้เกิดการต่อเนื่องสืบทอด ถ้ามีกิเลสเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง กิเลสอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมาไม่ขาดสาย


การทำงานแบบที่ 3 ของอนุสัย คือ ทำให้งอกเงย ถ้ามีกิเลสเกิดขึ้นก็จะทำให้กิเลสนั้นงอกเงย


การทำงานแบบที่ 4 ของอนุสัย คือ ทำให้เกิดผล


การทำงานแบบที่ 5 ของอนุสัย คือ ทำให้เกิดชาติภพสืบเนื่อง


การทำงานแบบที่ 6 ของอนุสัย คือ ทำให้ขยายตัว ถ้ามีกิเลสเกิดขึ้น กิเลสนั้นจะฟูมฟักตัวเอง ทำให้ขยายตัว


การทำงานแบบที่ 7 ของอนุสัย คือ ทำให้ใจหลงทาง หรือโลเลลังเลที่จะเลือกหนทางที่ถูกเป็นสัมมา


การทำงานแบบที่ 8 ของอนุสัย คือ ชักจูงใจให้ไปทางอื่น


การทำงานแบบที่ 9 ของอนุสัย คือ ทำให้ใจขุ่นมัว ผิดพลาด


การทำงานแบบที่ 10 ของอนุสัย คือ ผูกมัดให้ใจยึดติดอยู่กับกิเลสต่างๆ


จากมุมมองการทำงานของอนุสัย 10 แบบข้างต้น ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการก่อเกิด และแข็งตัวของระบอบทักษิณ ในช่วงห้าปีกว่านี้ว่า แรกเริ่มเดิมที พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คงมีความตั้งใจดีที่จะทำอะไรเพื่อบ้านเมืองอยู่บ้างเหมือนกัน จึงก่อตั้งพรรคไทยรักไทย อาศัย 'ความจริงใจ' (ในตอนนั้น) ช่วงชิงจิตใจของผู้คนค่อนประเทศจนสามารถยึดกุมอำนาจ และมีโอกาสเป็น "รัฐบุรุษ" ที่สามารถปฏิรูปประเทศนี้อย่างจริงจังได้ เพราะ หน้าต่างแห่งประวัติศาสตร์ ได้เปิดโอกาสให้แล้วอย่างนานๆ ครั้งถึงจะมีโอกาสที่หาได้ยากเช่นนี้ แต่ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณไม่รู้ทันกิเลส โดยเฉพาะไม่รู้ทันการทำงานของอนุสัยภายในตัวเขา จึงทำให้กิเลสเข้ามาครอบครองครอบงำจาก"ตัวตนอีกคนหนึ่ง" ของเขาที่อยู่ภายใต้จิตใต้สำนึก ระบอบทักษิณ คือ สิ่งที่สะท้อนถึง กิเลสกองโต ของเขา และพรรคพวกที่ประกอบกันขึ้นเป็น เครือข่ายอำนาจที่ฉ้อฉล ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของ อนุสัยรวมหมู่ ของคนเหล่านี้ทั้งสิ้น


การทำงานของอนุสัยทั้ง 10 แบบเหล่านี้ มันทำงานของมันอย่างซื่อตรงทั้งสิ้นใน ระบอบทักษิณ นี้ ไม่ว่าการทำให้รากเหง้าแข็งแกร่ง ทำให้ต่อเนื่องสืบทอด ทำให้งอกเงย ทำให้ขยายตัว ทำให้หลงทาง ทำให้ขุ่นมัว ทำให้ยึดติด ฯลฯ


นอกจากนี้ อนุสัยยังมีอยู่ 10 ชนิด


อนุสัยชนิดที่ 1 คือ ความโลก


อนุสัยชนิดที่ 2 คือ ความโกรธ


อนุสัยชนิดที่ 3 คือ ความหลง


อนุสัยชนิดที่ 4 คือ ความยโสโอหัง ดูแคลนผู้อื่น


อนุสัยชนิดที่ 5 คือ ความระแวงสงสัย ถึงได้รู้ได้ฟังสัจธรรมแล้ว แต่ก็ไม่มีพลังที่จะไปปฏิบัติ


อนุสัยชนิดที่ 6 คือ ทัศนะหรือความเห็นผิดๆ ที่หลงเชื่อว่า สมบัติอำนาจทั้งหลายในโลกนี้เป็นของตนจริง ตนสามารถครอบครองได้จริง


อนุสัยชนิดที่ 7 คือ ทัศนะหรือความเห็นผิดๆ ที่หลงเชื่อว่าชีวิตนี้มีแค่ครั้งเดียว เมื่อตายไปแล้วทุกอย่างจะจบสิ้น


อนุสัยชนิดที่ 8 คือ ทัศนะหรือความเห็นผิดๆ ที่หลงเชื่อว่ากฎแห่งกรรมไม่มีจริง จึงไม่กลัวบาปกรรม ไม่เห็นว่าการทำความดีมีความหมายจริง


อนุสัยชนิดที่ 9 คือ ทัศนะหรือความเห็นผิดๆ ที่ยึดมั่นอยู่กับอุดมการณ์ที่ผิดพลาด โดยเชื่อว่าเป็นอุดมการณ์ที่ถูกต้อง


อนุสัยชนิดที่ 10 คือ ทัศนะหรือความเห็นผิดๆ เกี่ยวกับแนวทางในการหลุดพ้น


อนึ่ง อนุสัย 10 ชนิดดังข้างต้นนี้ ยังก่อให้เกิด 'อุปกิเลส' หรือกิเลสย่อยๆ ที่เกิดขึ้นตามมาพร้อมๆ กับการทำงานของอนุสัยหลัก 10 ชนิดข้างต้นอีก 20 ชนิด ดังต่อไปนี้


อุปกิเลสชนิดที่ 1 คือ ใจร้อน ฉุนเฉียวง่าย เป็นความโกรธเมื่อพบสิ่งไม่ถูกใจ เมื่อเกิดอนุสัยที่เป็นความโกรธ อุปกิเลสชนิดนี้จะตามมา


อุปกิเลสชนิดที่ 2 คือ เคียดแค้น ผูกพยาบาท


อุปกิเลสชนิดที่ 3 คือ ไม่จริงใจ ปลิ้นปล้อน ตอแหลให้ผู้อื่นตายใจ


อุปกิเลสชนิดที่ 4 คือ ความอิจฉาริษยา ในความสุขความสำเร็จของผู้อื่น


อุปกิเลสชนิดที่ 5 คือ ความติดข้องทางจิต อันเนื่องมาจากความเคียดแค้น ชิงชัง จึงทำให้ อมทุกข์


อุปกิเลสชนิดที่ 6 คือ การปัดความรับผิดชอบ ปกปิดความผิดของตัวเอง


อุปกิเลสชนิดที่ 7 คือ ความงก ความหวงแหนสมบัติ หวงอำนาจ


อุปกิเลสชนิดที่ 8 คือ การหลอกลวง เป็นวิญญูชนจอมปลอม


อุปกิเลสชนิดที่ 9 คือ การหลงตัวเอง หลงในความเก่ง ความรวยของตัวเอง


อุปกิเลสชนิดที่ 10 คือ จิตใจที่คิดร้ายต่อผู้อื่น


อุปกิเลสชนิดที่ 11 คือ จิตใจที่ไร้ความละอายต่อบาป


อุปกิเลสชนิดที่ 12 คือ จิตใจที่ฟุ้งซ่าน ไม่อยู่กับร่องกับรอย


อุปกิเลสชนิดที่ 13 คือ ใจที่ขาดการทบทวนตัวเอง


อุปกิเลสชนิดที่ 14 คือ ใจที่เซ็ง ซึม หมองมัว ไม่กระปรี้กระเปร่า


อุปกิเลสชนิดที่ 15 คือ ใจที่ขาดศรัทธาในความถูกต้องดีงาม


อุปกิเลสชนิดที่ 16 คือ ใจที่เกียจคร้าน ไม่วิริยะอุตสาหะ


อุปกิเลสชนิดที่ 17 คือ ความประมาทเลินเล่อ เอาแต่ใจตัวเอง


อุปกิเลสชนิดที่ 18 คือ การขาดสติอันเนื่องมาจากสุรา ยาเสพติด การละเล่น และอบายมุข


อุปกิเลสชนิดที่ 19 คือ ใจที่ไม่รู้จริง


อุปกิเลสชนิดที่ 20 คือ ใจที่ไม่มีสมาธิ


ลักษณะของใจที่เกิดจาก อนุสัย 10 ชนิด และ อุปกิเลส 20 ชนิด ดังข้างต้นนี้แหละที่สร้าง ตัวตนของคนเรา ที่เป็นมนุษย์เดินดินขึ้นมาให้มีความแตกต่างกันไป ตามลักษณะมากน้อยของอนุสัยและอุปกิเลสแต่ละชนิดที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น การจะเข้าใจ และรู้ทัน "ตัวตนของทักษิณ" จึงต้องวิเคราะห์ให้กระจ่างว่า อนุสัยและอุปกิเลสชนิดใดที่เป็นตัวบงการให้ทักษิณกระทำอย่างที่กำลังกระทำอยู่นี้ รวมทั้งต้องตระหนักด้วยว่า อนุสัยและอุปกิเลสเหล่านี้แหละ มันก็ทำงานและกำลังบงการ "พวกเรา" อยู่ด้วยเช่นกัน แต่อาจจะต่างชนิดต่างระดับกับของทักษิณเท่านั้น จึงเห็นได้ว่า ทั้งทักษิณและผู้คนส่วนใหญ่ต่างก็ไม่อาจบังคับตัวเอง และไม่อาจบังคับใจของตัวเองให้อยู่เหนืออนุสัย และอุปกิเลสเหล่านี้ได้เหมือนกัน สังคมนี้จึงยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทิศทางที่น่าจะดีกว่านี้ได้


ตรงนี้แหละที่เป็น ข้อต่อของห่วงโซ่ที่สำคัญที่สุดในการก้าวข้ามระบอบทักษิณก้าวข้ามลัทธิบริโภคนิยม และก้าวข้ามเผด็จการอำนาจนิยม นั่นคือ ความจำเป็นของการสลายตัวตนของพวกเราแต่ละคนให้ "หลุดพ้น" จากการบงการ และครอบงำของอนุสัยและอุปกิเลสภายในตัวเราด้วยการฝึกฝนปฏิบัติอย่างบูรณาการ เพื่อเปลี่ยนแปลง โครงสร้างเชิงลึก ของตัวเราในทิศทางที่ประเสริฐยิ่งๆ ขึ้นไป มิเช่นนั้นแล้ว การต่อต้านระบอบทักษิณที่ไม่บูรณาการเข้ากับการฝึกฝนปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองในระดับโครงสร้างเชิงลึก ก็จะเป็นแค่เอาอัตตาตัวตนอันใหม่มาทดแทนตัวตนของทักษิณ โดยที่ก็ยังคงถูกบงการ และครอบงำโดยอนุสัยและอุปกิเลสชนิดต่างๆ อยู่เหมือนเดิม








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้