จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (15) 6/12/48

จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (15) 6/12/48



จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (15)


15. ลูกแกะที่หลงทาง

หลายพันล้านปีที่ผ่านมา โลกใบนี้ยังประกอบด้วยบรรยากาศที่เป็นพิษ ของเหลวที่เป็นพิษ และพื้นผิวที่ว่างเปล่าไร้ระเบียบ จากนั้น กระบวนการวิวัฒนาการของโลก ได้เปลี่ยนแปรส่วนประกอบของโลกใบนี้ไปเป็นความอุดมจากการทับถมของแร่ธาตุ มีอากาศที่ใช้หายใจได้ มีน้ำที่ใช้ดื่มกินได้ มีดิน มีป่าไม้ มีปลา และมีสัตว์ ซึ่งต่อมา เผ่าพันธุ์และอารยธรรมของมนุษย์ก็ได้ "ผุดบังเกิด"ขึ้นและเจริญเฟื่องฟูขึ้น


วิวัฒนาการอันน่ามหัศจรรย์ของชีวิตนั้น เริ่มต้นจากเซลล์พืชสีเขียว เซลล์ที่น่ามหัศจรรย์เหล่านี้มีความสามารถที่จะยึดจับ พลังงานแสงอาทิตย์ ในส่วนที่เกินจากที่มันจำเป็นต้องใช้ในการเจริญเติบโต และการเลี้ยงชีวิตของมันไว้ได้ นี่เป็นความสามารถที่พวกมันใช้ตลอดระยะเวลาหลายพันล้านปี เพื่อสร้างส่วนประกอบที่เข้มข้นและมีรูปร่างมากมาย ซึ่งชีวิตและกิจกรรมทั้งมวลของมนุษย์ต้องพึ่งพา


เพราะ สัตว์ขาดความสามารถที่จะยึดจับ และเปลี่ยนรังสีของแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานที่มีประโยชน์ได้โดยตรง กิจกรรมทั้งหมดของสัตว์ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะมนุษย์ จึงมีผลให้เกิดการสลายระเบียบที่สร้างขึ้นโดยเซลล์พืชสีเขียว


แต่เรื่องนี้ยังไม่ใช่ปัญหาสำคัญ ตราบใดที่กิจกรรมเหล่านี้ของมนุษย์ยังอยู่ในขอบเขตความสามารถของเซลล์พืชสีเขียวที่จะเปลี่ยนของเสียจากสัตว์และมนุษย์ กลับไปเป็นสสารที่มีระเบียบและใช้ประโยชน์ได้


หรือ ตราบใดที่ของเสียจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ยังให้สารอาหารแก่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดได้ การสร้างโครงสร้างที่แม้จะยิ่งสลับซับซ้อน และมีระเบียบมากขึ้นกว่าเดิม (อย่าง อารยธรรม ของมนุษย์) ผ่านวัฏจักรที่พึ่งพาตนเองได้ของชีวิตก็จะยังสามารถดำเนินไปได้ไม่มีวันสิ้นสุด


แต่นับตั้งแต่เมื่อ 150 ปีที่แล้ว ที่มนุษย์เริ่มนำ แหล่งพลังงานที่เข้มข้น อย่าง น้ำมัน มาใช้เป็นจำนวนมากในการหล่อเลี้ยง อารยธรรมบริโภคนิยม ของตน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ มนุษยชาติได้เปลี่ยนสสารที่มีการจัดระเบียบให้กลายเป็น "ขยะ" และ "ของเสีย" ทั้งที่มองเห็นได้ และที่เล็กขนาดโมเลกุลในอัตราที่รวดเร็วเกินกว่าที่เซลล์พืชสีเขียวที่เหลืออยู่ในโลกจะสามารถนำมันกลับมาผ่านกระบวนการใช้ใหม่ได้ทัน


มิหนำซ้ำของเสียที่มนุษย์ผลิตออกมามีจำนวนมากที่ประกอบด้วยโลหะที่มีพิษ และสารประกอบที่ไม่ใช่ธรรมชาติซึ่งมีความคงตัว และจะไม่สามารถย่อยสลายด้วยเซลล์พืชสีเขียวได้เลย


จริงอยู่บัดนี้ ภายใต้การครอบงำของอารยธรรมบริโภคนิยม เผ่าพันธุ์มนุษย์สามารถยึดครองพื้นที่ทางนิเวศวิทยาของโลกใบนี้ไว้ได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยความเร็วและพลังอำนาจที่น่าตระหนก เพราะเผ่าพันธุ์มนุษย์สามารถครองโลกทางกายภาพนี้ได้ด้วย ความสุดยอดทางเทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็น ความเขลาทางชีววิทยาอย่างสุดๆ เช่นกัน เพราะ วิถีแห่งอารยธรรมบริโภคนิยม ที่เผาผลาญน้ำมันซึ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์สะสมของเซลล์พืชสีเขียว หลายร้อยล้านปีเช่นนี้มันกำลังนำไปสู่ หายนะของสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศวิทยาของโลกใบนี้จนแทบจะกล่าวได้ว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์กำลังเริ่มสวนทางย้อนกลับกระบวนการวิวัฒนาการของโลกในเชิงชีววิทยาก็ว่าได้


เผ่าพันธุ์มนุษย์ของเรากลายเป็น "ลูกแกะที่หลงทาง" ไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 150 ปีก่อน เมื่อมองจากสายตาแห่ง กระบวนการวิวัฒนาการของโลกในเชิงชีววิทยา เพราะสิ่งที่พวกเรานิยามว่าเป็น "ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ" นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการสวนทางย้อนกลับวิวัฒนาการที่ยาวนานถึงสี่พันล้านปี


ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ปราศจากการยกระดับ การพัฒนาทางจิตสำนึกและจิตวิญญาณของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ "สูงส่ง" พอที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการสวนทางย้อนกลับวิวัฒนาการของจักรวาฬ (Kosmos) ได้ จึงเป็น ความเขลาอย่างบูรณาการ ชนิดหนึ่ง และเป็น อวิชชาอย่างบูรณาการ ชนิดหนึ่งด้วย


พร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกยืดยาวขึ้น พร้อมๆ กับที่ความต้องการของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งด้วย


"การพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจ" ในอีกด้านหนึ่ง จึงหมายความว่า เราใช้ไม้เพิ่มมากขึ้น ใช้กระดาษเพิ่มมากขึ้น จับปลาเพิ่มขึ้น บริโภคธัญญาหารเพิ่มขึ้น เผาผลาญน้ำมันเพิ่มขึ้น มลพิษทางน้ำและทางอากาศก็เพิ่มทวีคูณเป็นเงาตามตัวด้วย


นี่เป็นความต้องการทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นๆ อย่างไม่รู้จบต่อระบบนิเวศอันจำกัด บนสมมติฐานว่า ระดับการบริโภคของประเทศพัฒนาแล้ว คือมาตรฐานที่บรรลุได้สมควรที่ส่วนอื่นๆ ที่เหลือของโลกควรจะเอาเยี่ยงอย่าง ซึ่ง ไม่ต่างจากการฆ่าตัวตายรวมหมู่อย่างช้าๆ ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เมื่อมองจากสายตาแห่งวิวัฒนาการที่ยาวไกลของจักรวาฬ


เราจะฝากอนาคตของเผ่าพันธุ์มนุษย์ไว้กับการเก็งกำไรของนักค้าเงินข้ามชาติ และพวกนักการเมืองที่กระหายอำนาจ และหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่จอมปลอมในชีวิตไปวันๆ ต่อไป โดยยอมให้อารยธรรมของเผ่าพันธุ์เราพังไปต่อหน้าต่อตาในรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา


หรือเราจะรับผิดชอบในการปรับตัว ปรับการใช้ชีวิต และกล้าเลือกที่จะเดินบนวิถีที่ประสานสอดคล้องกับวัตถุประสงค์แห่งวิวัฒนาการของจักรวาฬ?...นี่เป็นโอกาสและเป็น "ทางเลือก" ที่พวกเราทุกคนยังมีอยู่ ที่จะมีชีวิตอย่างมีจิตสำนึก


ลองเหลียวดูความเป็นจริงรอบๆ ตัวเราให้ดีเถิด "ผู้นำ" ของเราเฝ้าแต่ปลุกระดมให้ประชาชนอย่างเราเร่งรีบ ขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยที่ไม่เคยตักเตือนพวกเราสักคำเลยว่า


"การเติบโตทางเศรษฐกิจ" ก็เหมือนยาเสพติดอย่างเฮโรอีนชนิดหนึ่ง นั่นคือ ในตอนเริ่มแรก หากใช้เพียงเล็กน้อยจะสามารถสร้างความคึกคักกระฉับกระเฉงได้ แต่ในไม่ช้าก็จำเป็นที่จะต้องใช้มันมากขึ้นๆ เรื่อยๆ เพื่อเลี่ยงความเจ็บปวดทรมานซึ่งเป็นผลมาจากการที่มันกำลังทำลายสุขภาพทางกายและทางใจของผู้ใช้ไปเรื่อยๆ


บัดนี้ "ผู้นำ" ของเรากำลังทำตัวไม่ต่างไปจาก ไมดาส ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์หนึ่งในเทพปกรฌัมของกรีก ตามเรื่องกษัตริย์ไมดาสองค์นี้ ทรงปกครองชาวฟริเจียซึ่งเป็นชนชาติโบราณในแถบเอเชียไมเนอร์ ด้วยความเป็นที่โปรดปรานของเทพเจ้า เทพไดโอนิซุสจึงเสนอที่จะมอบพรให้แก่ไมดาส คือเขาจะขออะไรก็ได้จะให้ตามนั้นทุกอย่าง


ทั้งๆ ที่ไมดาสก็ร่ำรวยอย่างล้นเหลืออยู่แล้ว แต่เนื่องจาก ธาตุแท้ของไมดาส เป็น คนโลภที่ไม่รู้จักพอ ไมดาสจึงขอพรจากเทพเจ้าว่า ให้ทุกสิ่งที่เขาสัมผัสแตะต้องกลายเป็นทองคำทั้งหมด


ไมดาสได้รับพรตามนั้นจริงๆ แต่เมื่อการสัมผัสของไมดาสได้เปลี่ยนให้อาหาร เครื่องดื่ม และแม้กระทั่งพระธิดาสุดที่รักของพระองค์ก็กลายเป็นทองคำ ไมดาสจึงเริ่มตระหนักได้ว่า สิ่งที่เขาคิดว่าได้รับ พร นั้น ความจริงเป็น คำสาป เสียมากกว่า


บัดนี้ไมดาสมีทองคำโดยไม่จำกัด แต่ทว่าเขาได้มันมาด้วย ราคาแห่งชีวิต ทั้งของเขาและของบุคคลอันเป็นที่รักของเขา


ใช่หรือไม่ว่า พวกเราส่วนใหญ่ล้วนกลายเป็นลูกแกะที่หลงทางภายใต้มายาอิทธิพลของบริโภคนิยม โดยที่พวกเราอยู่ภายใต้การปกครองของ "ผู้นำ" ที่ต้องคำสาปเหมือนไมดาส?


อะไรคือราคาที่พวกเราต้องจ่ายไปให้กับการหลงทางในครั้งนี้ และการต้องคำสาปหนนี้?


ผู้ที่พบคำตอบนี้ได้ เขาจะไม่มีวันมองโลกเหมือนเช่นเดิมได้อีกต่อไป






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้