จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (9) 25/10/48

จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (9) 25/10/48



จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (9)



9. ผู้นำที่มีปรีชาญาณ แต่ขาดปัญญาญาณ



"ความจริงคือผู้ชนะ มันไม่สำคัญหรอกว่าใครคือผู้แพ้"

(สุภาษิตโบราณของอินเดีย)



มาตรการกึ่งการคลัง ของทักษิโณมิกส์ โดยการใช้หน่วยงานของรัฐอย่างรัฐวิสาหกิจ และธุรกิจที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่เงินเหล่านี้จะไม่ปรากฏอยู่ในงบประมาณประจำปีของรัฐบาล แต่จะอยู่ในบัญชีของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานนั้นๆ โดยเนื้อแท้แล้วมันก็คือ การก่อหนี้ของรัฐบาลนั่นเอง และเป็น หนี้สาธารณะ ที่ในที่สุดก็ต้องตกเป็นภาระของประชาชนทั่วประเทศอยู่ดี เพียงแต่โดยการใช้มาตรการกึ่งการคลังนี้ มันทำให้ตัวเลขรายจ่ายของรัฐบาลดูน้อยกว่าความเป็นจริงได้เท่านั้น ซึ่งไม่ต่างกับการเล่น "มายากล" เท่าไหร่นัก


ยิ่งรัฐบาลเร่งรัดให้มีการจัดตั้ง บรรษัทรัฐวิสาหกิจ เพื่อเข้าไปถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจหลักๆ และจะนำบรรษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้ บรรษัทรัฐวิสาหกิจ นี้เป็นผู้รับภาระหนี้สินและทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจนั้น นี่เท่ากับว่าหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ถือว่าเป็น หนี้สาธารณะ จะถูกโอนไปยังบรรษัทแห่งนี้ ทำให้ ยอดหนี้สาธารณะในปัจจุบันจำนวนเกือบล้านล้านบาท อันตรธานหายไปจากบัญชีทันที เพราะเป็นบริษัทมหาชนไปแล้ว และก็ หมายความว่า รัฐบาลจะมีโอกาสก่อหนี้จำนวนมหาศาลได้อีกเพื่อเดินหน้านโยบายของทักษิโณมิกส์ที่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากต่อไป


บอกได้คำเดียวว่า นี่เป็นความฉลาด ความเก่งในการหมุนเงินที่น่ากลัวยิ่ง! น่าหวาดเสียวยิ่ง! และสามารถมองได้ในอีกแง่มุมหนึ่งว่า แนวทางของทักษิโณมิกส์กำลังเข้าตาจนเสียแล้ว และกำลังหมุนเงินอย่างหน้ามืดตามัว พร้อมๆ กับกองหนี้สาธารณะที่ใหญ่โตยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ราวกับจะไม่มีเพดานก่อหนี้


สิ่งนี้เองที่ทำให้ต้องหันมาพิจารณากันว่า ผู้นำที่เก่งหรือมีแต่ปรีชาญาณอย่างเดียวโดยขาดปัญญาญาณเป็นสิ่งอันตรายหรือไม่?


ความเก่ง หรือ ปรีชาญาณ (intellect) เป็นเครื่องมือที่สำคัญใน การประกอบอาชีพในโลกที่ต้องคอยตอบสนองต่อความต้องการของกิเลสของผู้คนอยู่ตลอดเวลา แต่ลำพังแค่มีปรีชาญาณอย่างเดียวโดยขาดการเจริญสติความรู้ตัว มักจะนำมาซึ่ง ความมืดบอด ให้แก่คนผู้นั้น แม้ผู้นั้นจะได้ทำสิ่งต่างๆ ขึ้นมาอย่างมากมายอย่างทุ่มเทก็จริง แต่ เขาจะไม่รู้ตัว ไม่รู้ทัน ไม่สำเหนียกเลยว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการกำลังพัฒนาหรือกำลังทำลายกันแน่?


ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ปรีชาญาณเป็นสิ่งที่ควรต่อต้านหรือควรถูกรังเกียจ เพียงแต่ต้องการจะบอกว่าปรีชาญาณนั้นมีประโยชน์ก็จริง แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่มาก


ผู้นำที่ดีจะต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดของปรีชาญาณของตนเอง "ผู้นำ" จะต้องนำปรีชาญาณของตนมาใช้ในฐานะที่เป็นผู้รับใช้ ไม่ใช่เป็นเจ้านายของตัวเอง เพราะ เมื่อใดก็ตามที่ปรีชาญาณหรือความฉลาดแกมโกงนี้กลับกลายมาเป็นเจ้านายที่มีอำนาจเหนือ "ผู้นำ" คนนั้น มันจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งเหมือนอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้


ยิ่งถ้า ผู้นำคนนั้น มีความทะเยอทะยานอย่างไม่มีที่สุด และเป็นผู้ที่พยายามพิสูจน์ให้คนทั้งโลกเห็นว่า ตัวเองเหนือกว่าผู้ใดทั้งสิ้น โดยใช้เวลาทั้งชีวิตหมดไปกับการต่อสู้ดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ที่เหนือกว่าใคร ซึ่งมันเป็นเส้นทางของการแสวงหาอำนาจอย่างไม่หยุดหย่อนนั่นเอง


แม้ตอนนี้ ตัวเขาจะไต่ขึ้นมาจนถึงบันไดขั้นบนสุดของประเทศนี้ได้แล้ว ก็ขอถามหน่อยว่า แล้วมันได้อะไรขึ้นมาเล่า? เพราะดูไปแล้ว ตอนนี้ "ผู้นำ" ของเราคนนี้ดูเคว้งคว้างอยู่กลางท้องฟ้าอย่างไรพิกล เพราะไม่มีบันไดขั้นไหนให้ตัวเขาปีนต่อไปอีกแล้ว ขณะที่ตัวเขาก็ไม่สามารถไต่ลงมาได้ และก็ไม่สามารถปีนต่อไปที่ไหนได้อีกแล้ว


ตอนนี้เขาจึงลอยเท้งเต้งอยู่บนท้องฟ้า เขาจำต้องใช้ชีวิตอย่างเสแสร้งว่า ตัวเองได้บรรลุทุกอย่างในชีวิตแล้ว ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เขาน่าจะรู้แก่ใจตนเองได้ดีว่า ช่วงเกือบห้าปีที่ผ่านมานี้ นโยบายต่างๆ ของเขาแทบไม่มีอันไหนที่ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันเลย ทุกอย่างเป็นแค่การสร้างภาพ และการหลอกตนเองกับหลอกประชาชนระดับรากหญ้าให้มีความหวังลมๆ แล้งๆ ในวันข้างหน้าเท่านั้น


ปรีชาญาณ เป็นสิ่งที่แปลกแยก เป็นสิ่งที่หยิบยืมมาจากที่อื่น เมื่อผนวกกับการคำนวณ การวางแผง และความฉลาดแกมโกงย่อมทำให้สามารถสร้างความร่ำรวย และยึดครอง "อำนาจ" ได้ แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคุณธรรม ความจริง ความดี ความงาม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ผุดบังเกิดออกมาจาก ปัญญาญาณ แต่อย่างใดทั้งสิ้น


ปัญญาญาณจะงอกงามขึ้นมาได้จะต้องมาจากการถ่อมตัว ถ่อมตน ยินยอมพร้อมใจที่จะลอกทิ้งของเก่า พร้อมที่จะรับของใหม่อย่างไม่อวดดี อย่างไม่มีอัตตาตัวตน ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ผู้มีปัญญาญาณจะไม่เอา ความสำเร็จ เป็นตัวตั้ง แต่จะเอา ความสุขใจ ความเบิกบานใจ เป็นตัวตั้ง เพราะความสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ มากมาย ส่วนใหญ่นิยามของ "ความสำเร็จ" ที่คนทั่วไปเข้าใจกัน ก็เป็นแค่ ความเติมเต็มของความอยากตามบรรทัดฐานของสังคม เป็นแค่การตอบสนองต่ออัตตาตัวตนของผู้นั้นเท่านั้น


ลองพิจารณา "ความสำเร็จ" ของ "ผู้นำ" คนนี้ของเราให้ลุ่มลึกดูสิ บางทีเราอาจจะพบว่า เพียงเพื่อให้คนทั่วไปยกย่องว่าตนเองได้รับความสำเร็จ ตัวเขาได้สูญเสียอะไรไปบ้าง จิตวิญญาณของเขาได้รับการยกระดับขึ้นบ้างหรือไม่ ห่างไกลจากการหยั่งรู้ในตนออกไปมากขึ้นแค่ไหน เพราะมัวไปหมกมุ่นอยู่กับการทำให้ทั่วโลกยอมรับว่า ตัวเองคือผู้ที่ประสบความสำเร็จ โดยหาได้ตระหนักเลยว่า ความสำเร็จเช่นนี้ของเขาคือ ความล้มเหลวครั้งใหญ่ของเขาที่โลกจะได้ประจักษ์ในเวลาอีกไม่นานนักหลังจากนี้


ในทางกลับกัน ผู้ที่มีปัญญาญาณไม่แน่ว่า จะพบพานกับความสำเร็จตลอดเวลา แต่เขาจะเป็นคนที่มีจิตใจเบิกบานอยู่เสมอ แบบไหนคือความสำเร็จที่จริงแท้หนอ? ฮิตเลอร์ เคยเขียนไว้ในอัตชีวประวัติของเขาว่า


"วิธีการไม่สำคัญ เป้าหมายสำคัญกว่า ถ้าคุณประสบความสำเร็จ อะไรก็ตามที่คุณทำมาย่อมถูกต้อง แต่ถ้าคุณล้มเหลว อะไรที่คุณทำมาก็ผิดทั้งสิ้น"


"ถ้าคุณโกหกแต่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่โกหกไว้ก็จะกลายเป็นความจริง จะทำอะไรก็ตาม จงจำไว้ว่า ความสำเร็จคือ เป้าหมายสุดท้าย เพราะความสำเร็จจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นถูกต้อง หากคุณล้มเหลวแสดงว่าทุกอย่างที่ทำมานั้น ผิดพลาดหมด"


ฮิตเลอร์ เคยเป็น ฝันร้าย ของคนบนโลกนี้มาแล้ว เมื่อ 60 ปีก่อนก็ได้แต่ภาวนาว่า จะไม่มีใครมาเป็น ฝันร้าย ของคนประเทศนี้ในยุคนี้อีก และ วิถีแห่งปัญญาญาณ คือหนทาง "ตื่น" จากฝันร้ายนี้ อันเป็น หนทางเดียว เท่านั้น


(หมายเหตุ : ข้อเขียนชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือชื่อ "ปัญญาญาณ" ของ โอโช, สำนักพิมพ์ใยไหม, พ.ศ. 2548 แปลและเรียบเรียงโดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด)







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้