จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (2) 6/9/48

จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (2) 6/9/48



จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (2)



2. ความหลงผิดของวิถีทักษิณ

วิชาวาทศิลป์ เป็นเหมือน มายาศาสตร์ หรือ ไสยศาสตร์ยุคใหม่ แขนงหนึ่ง เพราะมันเป็นวิชาที่สอนให้นักการเมืองสามารถพูดจูงใจผู้คนให้คล้อยตามความคิดเห็นของตน และสามารถถกเถียงเอาชนะคู่ปรปักษ์ได้ด้วยเหตุนี้ วิชาวาทศิลป์จึงเป็นอาวุธที่ทรงพลังสำหรับนักการเมืองคนไหนก็ตามที่ต้องการได้อำนาจด้วยการปลุกระดมหาเสียง หาความนิยมจากฝูงชน


แต่ ความเชี่ยวชาญในการใช้วาทศิลป์ของ "ผู้นำ" นั้น มันเป็นเสมือนดาบสองคม หากใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะใช้พลังของวาทศิลป์นั้นโดยไม่คำนึงถึงความจริง ความดี และความงาม เช่น ทำให้สิ่งที่เลวร้ายดูเป็นสิ่งดี และทำให้ความเท็จดูเป็นสัจจะ เมื่อนั้น "ผู้นำ" คนนั้นก็สามารถ "กลายพันธุ์" กลายเป็น "เดมาก็อก" (Demagogue) หรือผู้นำฝูงชนที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้าคนที่ปลุกระดมหาเสียง หาความนิยมจากประชาชนโดยการปลุกเร้า หลอกลวงไปได้ง่ายๆ


คงเป็นการยากที่จะปฏิเสธว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญมากในการทำให้ "ผู้นำ" คนนี้ขึ้นมาเถลิงอำนาจได้ตั้งแต่เมื่อห้าปีก่อนคือ วาทศิลป์ของเขา ยิ่งกว่าเงินของเขาเสียอีก และก็คงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธอีกเช่นกันว่า ปัจจัยแห่งความเสื่อมในปัจจุบันของ "ผู้นำ" คนนี้ก็มาจากการสิ้นมนต์ขลังในวาทศิลป์ของเขาที่ไม่สามารถโน้มน้าวจูงใจผู้คนให้เชื่อถือในตัวเขา หรือฝากความหวังในตัวเขาได้อีกต่อไป จนทำให้สถานภาพของเขาตกต่ำลงจาก "ว่าที่รัฐบุรุษ" กลายเป็น "คนลวงโลก" (อีกชื่อเรียกหนึ่งของ "เดมาก็อก") อย่างรวดเร็ว จนน่าใจหาย ทั้งๆ ที่เพิ่งได้รับเลือกจากฝูงชนมาเป็นผู้นำประเทศสมัยที่สองอย่างถล่มทลายได้ไม่กี่เดือนเท่านั้น


ความเสื่อมของเขา มิได้มีสาเหตุมาจาก "ขาประจำ" หรือฝ่ายตรงข้ามคนไหนหรอก แต่มาจากตัวเขาเอง โดยเฉพาะมาจากความหลงผิด และขาดปัญญาที่แท้จริงในเรื่อง ความดี ของตัวเขานั่นเอง หรืออาจกล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า แม้ตัวเขาจะประสบความสำเร็จทางวัตถุ ทางปัจจัยภายนอกอย่างยิ่งใหญ่มากแค่ไหนก็ตาม แต่ในทาง ปัจจัยภายใน ของเขา โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความดีและความจริงนั้น ตัวเขาได้ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า อย่างไม่สมควรเป็นแบบอย่างของอนุชนคนรุ่นหลังด้วยซ้ำ


เพราะแม้จนบัดนี้ ตัวเขาคงยังมิได้ตระหนักด้วยซ้ำว่า วิชาวาทศิลป์ของเขานั้น กำลังส่งผลร้ายต่อตัวเขาเองและต่อฝูงชนผู้ฟังเขา เพราะ ยิ่งเขาใช้วาทศิลป์ของขาชักจูงผู้คนให้คล้อยตามความคิดความเห็นของเขา โดยเฉพาะวิถีของเขามากเท่าใด ฝูงชนผู้ฟังก็จะทึกทักเอาเองว่า สิ่งที่เขาพูดนั้นจริง และเชื่อว่า ชีวิตของพวกเขาในทุกๆ ด้าน จะดีขึ้นจริงถ้าเดินตามเขาอย่างไม่ลืมหูลืมตา


ในขณะเดียวกัน ความนิยมเลื่อมใสของฝูงชนที่มีต่อตัวเขา ก็ทำให้ตัวเขาหลงผิดคิดว่าตัวเองรู้จริง โดยไม่ได้สำเหนียกว่าจริงๆ แล้วตัวเองไม่รู้ในเรื่องที่ตัวเองอวดอ้างว่ารู้ความหลงผิด หลงตัวเองเช่นนี้แหละที่ได้ทำลายโอกาสในความก้าวหน้า ความเติบโตทางปัญญาญาณและทางจิตวิญญาณของตัวเขาไปอย่างน่าเสียดาย


ความหลงผิดของเขายังลุกลามไปถึงการทำให้สังคมสับสนระหว่าง "ความเห็น" (ความเชื่อ) ของเขากับตัว "ความรู้" เพราะเขากำลังใช้อำนาจของเขาไปกดบีบสังคมให้ยอมรับว่า "ความเห็น" ของเขาเป็นสิ่งเดียวกับ "ความรู้" ซึ่งมันไม่ใช่!


เพราะ "ความรู้" จะต้องเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมสิ่งนั้นถึงเป็นความจริง ซึ่งต้องผ่านการพินิจพิจารณาการใช้เหตุผล การวิพากษ์วิจารณ์ และการถกเถียงอย่างรอบด้านกว่าจะได้ข้อสรุป ขณะที่ ความเห็น" เป็นแค่สิ่งที่คนเราอาจยอมรับได้ โดยที่คนผู้นั้นไม่จำเป็นต้องใช้สติปัญญาของตัวเองเลย เหมือนกับที่คนไทยส่วนใหญ่ได้รับเอา "ความเห็น" ของทักษิณมาเป็น "ความเชื่อ" ของตนอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองหลงเชื่อไปนั้นเป็นความจริงหรือไม่ โดยเฉพาะคำมั่นสัญญาจากลมปากของเขา เพราะจะมากหรือน้อย ปัญหาความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ก็มาจากการหลงเชื่อของสังคมในลมปาก และ "ความเห็น" ของเขาก่อนหน้านั้นนั่นเอง แล้วอย่างนี้จะโทษใครเล่า ครั้นจะโทษทักษิณฝ่ายเดียวก็เห็นจะไม่เป็นธรรมนัก คงต้องตำหนิฝูงชนที่หลงคารมเขาเองด้วยถึงจะถูก


แต่ที่เห็นชัดแน่ๆ ก็คือ ภายใต้การนำของเขาคนนี้สังคมเราคงไม่สามารถรุดหน้าไปสู่ สังคมความรู้ ได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่า "ความรู้" มิใช่สิ่งที่จะหยิบยื่นให้แก่กันได้ และก็ไม่ใช่สิ่งที่จะยอมรับกันได้ง่ายๆ โดยปราศจากการใคร่ครวญ วิพากษ์วิจารณ์ แต่มันจะต้องเกิดจากการใช้ปัญญา พินิจพิจารณาไตร่ตรองของตัวผู้ศึกษาเอง มาจากความพากเพียรพยายามของตัวผู้ศึกษาเองในการที่จะ "ผลิต" ความคิดของตนเองออกมาด้วยการใช้ความคิดของตนเอง โดยที่ ผู้นำที่แท้ จะต้องส่งเสริมกระตุ้นสังคมให้มีส่วนร่วมในการ "คิดเอง" และ "คิดเป็น" มิใช่การยัดเยียด "ความเห็น" ของตนทดแทน "ความรู้" เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้


การขาด "ความจริงใจต่อตนเอง" คือปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งของผู้นำคนนี้ เพราะหลายสิ่งที่เขาได้กระทำมันหมิ่นเหม่เหลือเกินกับการหลอกลวงตัวเอง เพราะคนเราหากเป็นคนที่พูดอย่างหนึ่ง แต่ทำอีกอย่างหนึ่ง ก็ไม่มีเรื่องเลวร้ายใดที่เขาจะทำไม่ได้อีกต่อไป ทั้งๆ ที่ ในทางปรัชญานั้น ชีวิตที่ครองอำนาจได้และอยู่รอดได้โดยขาดความจริงใจต่อตัวเองเป็นชีวิตที่ไม่มีคุณค่าความหมายอะไร


เพราะปรัชญาเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากเรื่อง "ความดี" และ คนดีคือ คนที่ไม่ยอมทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม ในทางปรัชญา คนดีควรยอมตายเพื่อความดี เพื่อให้ความดีนั้นมีอยู่ดำรงอยู่ และค้ำจุนโลกนี้ จักรวาฬนี้ต่อไป


ความดีนั้น ย่อมมีผลตอบแทนของมันเองเสมอ เพราะ ชีวิตที่ดี เท่านั้นเป็นชีวิตที่มีคุณค่าสมควรแก่การเกิดมาเป็นมนุษย์ และ ตัวเราต้องเป็นอุดมคติแห่งความดีที่แสดงออกให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในทุกลมหายใจเข้าออกของตัวเรา สิ่งนี้แหละคือคุณค่าในตัวของมันเองอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการยอมรับเลื่อมใสจากฝูงชนหรือผู้คนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะ คนดีต้องไม่พึ่งผู้ใดในเรื่องความดี แม้คนดีจะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ด้อยกว่าตนเอง ทั้งในด้านสติปัญญา คุณธรรม และระดับจิตใจก็ตาม


คนที่หลงใหลในอำนาจและเงินทองอย่างเขาต่อให้เฉลียวฉลาดเพียงใด ก็ต้องถือว่า เป็นชีวิตที่ใช้ผิด และไม่ใช่ชีวิตที่ดีในเชิงปรัชญา เพราะการมีอำนาจมิใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง เนื่องจาก อำนาจเป็นแค่เครื่องมือที่นำไปสู่สิ่งอื่นที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริง ซึ่งในทางปรัชญาแล้ว สิ่งนั้นคือ การบรรลุความสมบูรณ์แบบ ความประเสริฐสุดของการเป็นมนุษย์ โดยใช้ปัญญานำชีวิตอย่างเป็นองค์รวมหรืออย่างบูรณาการ นั่นเอง โดยที่ปัญญาแบบนี้ต้องเป็นปัญญาที่สูงกว่าปัญญาที่ใช้ในการหาความมั่งคั่งหรือเข้าสู่อำนาจ คือต้องเป็นปัญญาที่สมบูรณ์ที่สามารถตรวจสอบชีวิตหรือวิถีของตนได้อย่างรอบด้าน ในทุกมิติอย่างไม่บกพร่อง


เพราะเงินทอง อำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียง มิได้เป็นเป้าหมายแท้จริงของชีวิตในทางปรัชญา แต่เป็นแค่ สัญลักษณ์ของเป้าหมาย ซึ่งเป็นตัวความสำเร็จหรือการบรรลุต่างหาก โดยที่มันจะต้องเป็นการบรรลุในคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่เป็นตัวตนของผู้นั้นอย่างแท้จริงด้วย เพราะฉะนั้น การรู้ว่าอะไรดี และการทำดีจึงเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้


เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักสำหรับประเทศนี้ที่ "ผู้นำ" ของเขากลับสับสนและหลงผิดในเรื่องความดี และการทำดีอย่างร้ายแรงในระดับคุณธรรม และจิตวิญญาณ โดยที่ผู้คนในสังคมนี้จำนวนไม่น้อยก็กำลังสับสน และหลงผิดตามไปด้วยเช่นกัน เพราะหลงเชื่อในวาทศิลป์ของเขา ความเห็นของเขา และวิถีของเขาอย่างไม่ลืมหูลืมตา







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้