17 ระบอบทักษิณวิพากษ์ปริทรรศน์ (2)

17 ระบอบทักษิณวิพากษ์ปริทรรศน์ (2)


ระบอบทักษิณวิพากษ์ปริทรรศน์ (2)



5. การเพิ่มความมั่งคั่งของทุนใหญ่ ซึ่งเป็นทุนหุ้น (ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์)

บางซีกของทักษิโณมิกส์ที่สมควรถูกวิพากษ์มากที่สุด ก็เห็นจะได้แก่ นโยบายที่เพิ่มความมั่งคั่งของตระกูลทุนใหญ่อย่างเดียว แล้วไม่ได้ไปเพิ่มความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยตรง นโยบายพวกนี้ได้แก่


การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในแง่ที่ไม่ได้มุ่งแปรรูปเพื่อสร้างประสิทธิภาพ ทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำให้มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น แต่ไปเน้นหนักที่การแปรรูปเพื่อจะทำให้มูลค่าตลาด (market capitalization) ในตลาดหลักทรัพย์สูงขึ้น จนเท่ากับรายได้ประชาชาติ (GDP) อย่างที่นายกฯ ทักษิณตั้งเป้าเอาไว้


เพราะฉะนั้น การดันการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก็ดี หรือการพยายามผลักดันการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ดี รวมทั้งการแปรรูปอื่นๆ เป้าหมายน่าจะอยู่ที่การเพิ่มความมั่งคั่งสูงสุดของนักเล่นหุ้น โดยเฉพาะทุนใหญ่ซึ่งเป็นทุนหุ้นเป็นหลัก


ในการ "ชำแหละ" ทักษิโณมิกส์นั้น หากชำแหละในเรื่องประชานิยมจะชำแหละได้ยาก การชำแหละเรื่อง การสร้างความมั่งคั่งของทุนใหญ่ ซึ่งเป็นทุนหุ้น


หากดูตัวเลขของกลุ่มทุนชินวัตร เอาเฉพาะกลุ่มวงในจริงๆ 3 บริษัทที่เป็นเรือธงใหญ่คือ AIS ซึ่งทำโทรศัพท์มือถือ SHIN ซึ่งเป็นบริษัท โฮลดิ้ง และ SATTEL ซึ่งให้บริการดาวเทียมไทยคม ณ เวลาเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมปี 2546 มีกำไรสุทธิรวมกันเท่ากับ 23,156 ล้านบาท แล้วมีรายได้รวมกันถึง 87,063 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้เป็นเพียงตัวเลขใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2546 เท่านั้น


มูลค่าตลาดของบริษัทในเครือชินฯ ทั้งหมด ณ เวลาเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมปี 2546 มีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่ในวันที่ 8 มกราคม 2547 (ก่อนเกิดวิกฤตไข้หวัดนก) มูลค่าตลาดของบริษัทในเครือชินฯ ทั้งหมดได้เพิ่มขึ้นถึง 450,000 ล้านบาท


อนึ่ง มูลค่าตลาดของไทยประมาณ 40% เป็นของนักการเมืองมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากรัสเซียซึ่งกว่า 80% เป็นของนักการเมือง และในนั้นเป็นของค่ายชินคอร์ปอเรชั่นค่ายเดียวประมาณ 10% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด


เพราะฉะนั้น ภายใต้ระบอบทักษิณและภายใต้ทักษิโณมิกส์ การเมืองกับตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้แล้ว


6. การพัฒนาแบบประชานิยมเพื่อทุนนิยมของทักษิโณมิกส์ (รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ)


แนวทางประชานิยมของรัฐบาลทักษิณเป็น การเมืองแนวร่วมข้ามชนชั้น เพื่อกระจายโภคทรัพย์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นการรับใช้ทุนนิยมเต็มตัว ตั้งแต่เบื้องต้นที่สินเชื่อจากภาครัฐ ซึ่งกระจายไปถึงมือชาวบ้านชนบท แล้วมักถูกนำไปจับจ่ายซื้อหาสินค้าคงทนในประเทศอย่างโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า จนไปไกลถึงนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ซึ่งเป็นการสืบทอดต่อเนื่องแนวทางปฏิรูปที่ดินของรัฐราชการไทย แต่เดิมที่ "เอาที่ดินจากรัฐ จากหลวงมาให้คนจน" ทว่าได้หักเหผลักดันทิศทางของมันให้รับใช้ทุนนิยม กลายเป็นการปฏิรูปที่ดินเพื่อทุนนิยมเต็มตัวขึ้น ในความหมายที่ว่า แนวทางปฏิรูปที่ดินแบบแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาลทักษิณเป็น "การเอาที่ดินจากรัฐ จากหลวงมาให้คนจนในตลาดซึ่งคนจนอาจสูญเสียที่ดินนั้นไปให้คนรวยอีกได้ในท้ายที่สุด"
นี่นับเป็นการผลักไสที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของรัฐ ของหลวง ของแผ่นดินก้อนสุดท้ายให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน และกลายเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ในตลาดทุนนิยมถลำลึกเข้าไปอีก


ผลลัพธ์โดยรวมของนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ซึ่งเป็น แก่นหลักของแนวทางพัฒนาแบบประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ จึงสอดคล้องลงตัวกับตรรกะแห่งเป้าหมายของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโดยแท้ นั่นคือ ทำทุกอย่างให้เป็นสินค้า และทำให้ชาวนาหมดสิ้นความเป็นชาวนา กลายเป็นปัจเจกที่ต้องลงสนามแข่งขันและเสี่ยงในตลาด จนเหลือผู้ประกอบการที่เข้มแข็งแข่งชนะและประสบความสำเร็จน้อยราย ขณะที่ส่วนใหญ่อ่อนแอ พ่ายแพ้ ล้มเหลว ล้มละลาย กลายสภาพเป็นแรงงานรับจ้างหรือกรรมาชีพในที่สุด


7. กระบวนการครองความคิดจิตใจประชาชนของระบอบทักษิณ (อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์)

ระบอบทักษิณเป็นทั้ง ทักษิณนิยม (Thaksinism) และนิยมทักษิณในเวลาเดียวกัน ทำให้การออกจากระบบนี้ยากเหมือนอย่างในภาพยนตร์เรื่อง Matrix ระบอบทักษิณจึงอาจเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า แม้วทริกซ์ ในเชิงเปรียบเหมือน Matrix ในภาพยนตร์ที่ระบบ Matrix ครอบครองจิตใจของผู้คนที่อยู่ในระบบและทำให้การออกจากระบบเป็นไปได้ยาก เท่าที่ผ่านมา ทักษิณนิยมครองใจผู้คนได้ด้วยการทำให้ผู้คนทุกคนรู้สึกว่า "เท่ากัน" ในความคิด ซึ่งเป็นการสร้างสิ่งที่เรียกว่า "New Subject Position"หรือการสร้างตัวตนใหม่ของประชาชนในฐานะตัวกระทำหรือผู้มีบทบาททางการเมืองขึ้นมาใหม่


โดยการสร้างตัวตนใหม่ และตำแหน่งแห่งที่ใหม่ทางการเมืองให้กับประชาชนในระบอบทักษิณนั้น มีลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากัน เพราะระบอบทักษิณไม่กล่าวถึงปัญหาว่ามีคู่ขัดแย้งอะไรที่ชัดเจน ไม่ได้มองปัญหาในฐานะชนชั้น แต่ระบอบทักษิณจะใช้วาทกรรมแบบว่าคนไทยก็คือ "ไทยรักไทย" ทุกคนเป็นคนไทย ทุกสิ่งทุกอย่างถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ถูกพูดถูกนำเสนอด้วยวาทกรรมที่ทำให้ความขัดแย้งทางชนชั้นไม่ชัดเจน


เช่น นโยบายสวัสดิการที่ผ่านมาทำให้คนบางคนรู้สึกว่าเป็นคนที่ "ด้อยกว่า" และต้องไปรับสวัสดิการ แต่นโยบายของทักษิณนั้น พยายามทำให้ทุกคนเชื่อว่า 30 บาทรักษาได้ทุกโรค และรักษาได้ทุกคน


กล่าวคือ ระบอบทักษิณพยายามทำให้เห็นว่าทุกคนนั้น "เท่าเทียมกัน" ภายใต้นโยบายของเขา ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน หากเป็น "คนจน" ก็มีสิทธิเข้าไปลงทะเบียนกับรัฐ แล้วรัฐจะแก้ปัญหาความยากจนให้ ผู้คนส่วนใหญ่จึงถูกทำให้ "รู้สึก" ว่าเชื่อมโยงกับรัฐ เชื่อมโยงกับวิธีคิดใหม่ๆ ของรัฐบาลทักษิณจนถึงขั้นครองความคิดจิตใจได้


8. การขาดกลไกควบคุมทางสังคมในระบอบทักษิณ (ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์)


การดำเนินนโยบายแบบทักษิโณมิกส์โดยพื้นฐานแล้ว ก็ยังพยายามที่จะขับเคลื่อนแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่มุ่งแปลงทรัพยากรทุกอย่างให้อยู่ในกลไกของตลาดให้ได้ เพื่อที่จะให้ตลาดสามารถขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ ในแง่ของการแสวงหากำไรในระบบทุนนิยมได้อย่างเต็มที่
แต่ก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะขึ้นมา ความคิดเกี่ยวกับระบบทุนนิยมในสังคมไทยมีอยู่ 2 เรื่องคือ


(1) เป็น "ทุนนิยมครึ่งใบ" ในความหมายที่ว่า ทุนนิยมไทยเน้นเฉพาะด้านของการเปิดตลาดเสรี แต่ไม่ค่อยมีด้านของการควบคุมการทำงานของตลาด

(2) ปล่อยให้มีการบิดเบือนเชิงโครงสร้างเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลเผด็จการทหารแล้ว "บิดเบือน" ในความหมายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์กับ "ทุน" ที่เข้ามาในทางการเมือง จากแต่ก่อนเป็นไปเพื่อให้ประโยชน์กับทุนระดับท้องถิ่น ก็เปลี่ยนมาเป็นให้ประโยชน์กับทุนระดับชาติ หรือทุนขนาดใหญ่ และยิ่งทำให้เข้มข้นมากขึ้น โดยอาศัยการเมืองเข้ามาทำให้การบิดเบือนนี้เป็นประโยชน์กับกลุ่มที่กุมอำนาจทางการเมืองในแต่ละช่วงให้มากยิ่งขึ้น


แม้การก่อเกิดของระบอบทักษิณก็ไม่ได้ช่วยทำให้การบิดเบือนเชิงโครงสร้างนี้ลดลง ทั้งๆ ที่ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าเคยตั้งความหวังเอาไว้ว่า เมื่อรัฐบาลทักษิณขึ้นมา พลังของการเคลื่อนไหวทางสังคมจะสามารถ "ต่อรอง" กับรัฐบาลทักษิณได้ แล้วทำให้มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของการลดการบิดเบือนลงไปได้บ้าง


เพราะหลักการในการแก้ปัญหาความยากจนนั้น จะต้องมุ่งแก้ที่ลดการบิดเบือนเชิงโครงสร้างเป็นหลักใหญ่ โดยรัฐและสังคมต้องร่วมมือกันเข้ามากำกับกลไกเชิงโครงสร้าง เพื่อเปิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน


แต่รัฐบาลทักษิณกลับปล่อยให้การทำงานของตลาดดำเนินไปได้อย่างอิสระ โดยไม่ได้เปิด "พื้นที่" ให้พลังอื่นๆ ในสังคมสามารถเข้ามาควบคุมตลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นกลไกของรัฐ หรือกลไกของพลังในสังคมส่วนอื่นๆ


การเคลื่อนไหวในภาคประชาชนที่มีการสั่งสมองค์ความรู้ เพื่อเอาไปใช้ "ต่อรอง" เพื่อให้ลดการบิดเบือนเชิงโครงสร้าง ก็กลับไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกรณีกฎหมายป่าชุมชน หรือว่าเรื่องของนโยบายเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ก็ไม่มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังจากฝ่ายรัฐบาล
ตรงนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แนวทางแบบทักษิโณมิกส์เป็นแนวทุนนิยมที่เลือกใช้เฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์กับตลาดเท่านั้น ในส่วนที่เปิดให้กลไกของตลาดเสรีทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น ทักษิโณมิกส์จะทุ่มทำมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนหรือโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมทรัพยากร


นโยบายแบบทักษิโณมิกส์จึงไม่ใช่นโยบายที่เน้นกลไกตลาดเสรีเท่านั้น แต่ยังเป็นนโยบายที่มุ่ง "เพิ่มอำนาจ" ในการควบคุมทรัพยากรให้กับภาครัฐมากยิ่งขึ้นอีกด้วย


พูดง่ายๆ ก็คือ แนวนโยบายทั้งหมดของระบอบทักษิณกำลังเดินไปในทิศทางที่เป็นการ "กีดกัน" พลังสังคม ไม่ว่าจะเป็นชุมชนท้องถิ่น หรือกลุ่มอื่นๆ ในสังคมที่พยายามจะเข้ามามีบทบาทในการต่อรองในการที่จะใช้ทรัพยากร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก
เพราะว่าในขณะที่มาลดอำนาจการต่อรองตรงนี้ รัฐบาลกลับไปเพิ่มทรัพยากรในเรื่องของโครงการเอื้่ออาทร หรือการผันให้ทุนเข้าไปในท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นตลาดในระบบของทุนนิยมเสรี


จุดอ่อนของแนวทางแบบทักษิโณมิกส์ จึงอยู่ที่เน้นด้านเดียวเกินไป คือไปเพิ่มการมีส่วนร่วมของ "คนจน" ในระบบทุนมากขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นการไปส่งเสริมให้ระบบทุนนิยมทำงานได้ดีขึ้น แต่เป็นการทำงานที่ดีขึ้นในขณะที่การบิดเบือนเชิงโครงสร้างยังไม่ได้มีการแก้ไข


สภาวะเช่นนี้จะไปทำให้คนจนต้องแบกรับภาระของความเสี่ยงในระบบตลาดหนักมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ภาระหนี้สินเท่านั้น แต่เป็นภาระที่ไม่มีทางเลือกทางออกอื่น "คนจน" จะหมดอำนาจในการต่อรองด้านการจัดการทรัพยากร พวกเขาจะถูกดูดเข้ามาผูกพันกับระบบทุนโดยที่ไม่มีกลไกต่างๆ รองรับ หรือช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองอะไรเลย


ภายใต้ระบอบทักษิณ ในอนาคตอันใกล้ "คนจน" อาจจะต้องประสบกับความเสี่ยง หรือความไม่มั่นคงในชีวิตสูงกว่าเดิมมากๆ เลย


9. การปฏิรูปแบบอำนาจนิยมในระบอบทักษิณ (รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ)


สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมการเมืองภายหลังพฤษภาทมิฬ เป็นกระแสการปฏิรูปโดยมีความพยายามปฏิรูป 2 กระแส คือ ปฏิรูปเสรีนิยม กระแสหนึ่งกับปฏิรูปประชาธิปไตยอีกกระแสหนึ่ง


ปฏิรูปเสรีนิยมเป็นกระแสของกลุ่มคนที่เป็นนักวิชาการ ปัญญาชน นักธุรกิจ ซึ่งต้องการเห็นเศรษฐกิจที่เสรีมากขึ้น ต้องการเห็นการเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพ ในขณะที่ปฏิรูปประชาธิปไตยเป็นกระแสของฝ่ายภาคประชาชน/เอ็นจีโอที่ต้องการเห็นการเมืองที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น


สองกระแสนี้ ไม่เหมือนกันทีเดียว เพราะมีความขัดแย้งกันอยู่ ฝ่ายปฏิรูปประชาธิปไตยอาจไม่เห็นด้วยกับเศรษฐกิจเสรีของฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยม หรือฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยมอาจรู้สึกว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองของฝ่ายปฏิรูปประชาธิปไตยอาจจะมากเกินไป อย่างไรก็แล้วแต่ ทั้งสองกระแสนี้มันควบคู่กันมา


จากมุมมองนี้ การเกิดขึ้นของระบอบทักษิณเป็นปฏิปักษ์ต่อสองกระแสปฏิรูปนี้ ฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยมมองว่า ระบอบทักษิณทำลายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจในความหมายของการพยายามจะกระจายอำนาจเศรษฐกิจและไม่ให้เกิดการผูกขาด ขณะที่ฝ่ายปฏิรูปประชาธิปไตยก็มองว่าระบอบทักษิณเป็นการสวนทางประชาธิปไตยทางการเมืองในความหมายของการพยายามกระจายอำนาจการเมือง และให้ประชาชนมีส่วนร่วม


หากเข้าใจแบบข้างต้นนี้ ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า ระบอบทักษิณมันเกิดขึ้นจากอะไร?


ปัจจัยเฉพาะหน้าที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ระบอบทักษิณที่เป็นจุดหักเหแล้วปูพื้นสร้างปัจจัยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้คิดว่ามีอยู่ 2 อย่าง


อันที่หนึ่ง คือวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ได้ทำลายทุนนิยมแบบนายธนาคารลง และทำให้บรรดานักเลือกตั้งอ่อนกำลังทุนลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทุนที่แวดล้อมพรรคไทยรักไทย ซึ่งยังมีกำลังทุนเข้มแข็งกว่า แล้วก็หลบจากวิกฤตครั้งนั้นไปได้


อันที่สอง คือวาระของการปฏิรูปแบบอำนาจนิยมที่แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง 2540 ที่ให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีมากเพื่อเปิดประสิทธิภาพแล้วปิดทุจริต


ปัจจัย 2 อย่างข้างต้น เมื่อบวกกันเข้าจึง "เปิดช่อง" ให้กลุ่มทุนใหญ่ซึ่งเป็นทุนหุ้นก้าวมากุมอำนาจรัฐ โดยที่ตัวรัฐเองก็อยู่ในภาวะที่ถูกจัดโครงสร้างใหม่ให้พร้อมที่จะเป็นแบบอำนาจนิยม


บรรดาเหล่าสถาบันที่สร้างขึ้นแบบเสรีนิยม เช่น คณะกรรมการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจ หรือเหล่าสถาบันที่เปิดช่องให้มีส่วนร่วมทางการเมืองตามแนวคิดปฏิรูปประชาธิปไตย จึงถูกคนที่กุมอำนาจการเงินสูงสุด แล้วเข้ามากุมอำนาจการเมืองสูงสุด "ทำหมัน" ทำให้ปฏิรูปเสรีนิยมกับปฏิรูปประชาธิปไตยหมดสภาพ เหลือชิ้นเดียวที่ทำงานอย่างแรงมากคือ ชุดปฏิรูปอำนาจนิยม


ระบอบทักษิณจึงเกิดขึ้นภายใต้การนำของกลุ่มคนที่เป็นนักปฏิรูปแบบอำนาจนิยมในความหมายที่เชื่อว่า อำนาจรัฐแก้ปัญหาได้ (statist) โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพลังปฏิปักษ์ปฏิรูป ซึ่งเชื่อในเรื่องอำนาจรัฐรวมศูนย์ถึงจะแก้ปัญหาของชาติได้ (โดยเฉพาะเรื่องสงครามปราบยาเสพติด)


*******************



ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการปะติดปะต่อของผู้เขียน เพื่อนำเสนอภาพรวมว่า เหล่าปัญญาชน นักวิชาการระดับหัวกะทิที่เป็นฝ่ายก้าวหน้า ทั้งในเชิงปฏิรูปเสรีนิยมและในเชิงปฏิรูปประชาธิปไตย (ฝ่ายการเมืองภาคประชาชน) ได้วิเคราะห์วิพากษ์ระบอบทักษิณอย่างไรบ้าง แต่ถึงกระนั้น ระบอบทักษิณก็ยังเป็นปริศนาอยู่ดีว่า มันก้าวหน้าหรือล้าหลังกันแน่?

(คงต้องยกไปอภิปรายในตอนหน้า)







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้