15 อะไรคือ "ขาลง" ของทักษิโณมิกส์?

15 อะไรคือ "ขาลง" ของทักษิโณมิกส์?


อะไรคือ "ขาลง" ของทักษิโณมิกส์?


นับตั้งแต่ย่างเข้าปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลทักษิณได้ประสบกับปัญหาหลายเรื่องที่ประดังเข้ามาไม่ขาดสาย ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่าหนักอกหนักใจทั้งสิ้น ไม่ว่าเรื่องไข้หวัดนก ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างหัวชนฝาของพนักงานรัฐวิสาหกิจและแนวร่วม ปัญหา FTA โดยเฉพาะกับจีนที่ไม่เป็นไปตามที่ดีดลูกคิดรางแก้วคาดหวังไว้ และอื่นๆ


จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ระยะหลังๆ มานี้ เริ่มมีการพูดถึงหรือตั้งข้อสังเกตจากสื่อว่า ฤานี่จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่ง ขาลง ของรัฐบาลทักษิณเสียแล้ว?


หากการพูดถึง "ขาลง" ของรัฐบาลทักษิณ เป็นเรื่องของแค่ความรู้สึกนึกคิด (perception) เฉยๆ เพราะเห็นรัฐบาลกำลังประสบปัญหาต่างๆ รุมเร้าก็ดูจะเป็นทัศนะที่ตื้นเขินเกินไป และไม่สร้างสรรค์ให้กำลังใจกันเลย ทั้งๆ ที่ต่างก็ลงเรือลำเดียวกันและเป็นปัญหาของประเทศชาติเดียวกันกับของเรา


หาก "ขาลง" เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลทักษิณถูกปัญหาต่างๆ รุมเร้า เราลองตั้งคำถามกับตัวเองใหม่ดูสิว่า หากเป็นรัฐบาลชุดอื่นที่ผ่านมา ไม่ว่ารัฐบาลบรรหาร รัฐบาลชวลิต หรือรัฐบาลชวน แล้วเผชิญกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้ที่ประดังเข้ามาพร้อมๆ กัน เหมือนอย่างรัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลชุดอื่นจะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่านี้หรือไม่? ถ้าคิดว่าได้พวกเราก็ต้องเรียกร้องให้ยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ เพื่อเลือกรัฐบาลชุดอื่นที่คิดว่าดีกว่ารัฐบาลทักษิณ ลองตั้งสติพิจารณาให้ดี คิดว่าทุกคนคงได้คำตอบเองจากใจของตัวเอง


การที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ มิใช่ต้องการแก้ต่างให้รัฐบาลชุดนี้ แต่ต้องการให้พวกเรามองให้ออกว่า การวิเคราะห์หรือประเมินสถานการณ์ว่า ขณะนี้รัฐบาลทักษิณกำลังอยู่ใน "ขาลง" หรือไม่นั้น ควรจะมีหลักคิดหรือมีมาตรฐานในการคิดที่ชัดเจนกว่าการใช้แค่ความรู้สึกประเมินเอา ซึ่งไม่แน่ไม่นอน


ในที่นี้ ผู้เขียนขอเสนอหลักคิดในการประเมินภาวะ "ขาลง" ของทักษิโณมิกส์ โดยวัดจากระดับความรุนแรงของปัญหาที่รัฐบาลทักษิณเคยเผชิญ กำลังเผชิญและคาดว่าจะเผชิญในอนาคตออกเป็น 4 ระดับ ดังต่อไปนี้


ระดับที่หนึ่ง เป็นปัญหาระดับ bounded rationality หรือปัญหาความมีเหตุมีผลที่ถูกจำกัดของผู้นำผู้ต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหา


หมายความว่า เมื่อเผชิญปัญหาใหญ่ๆ ที่การตัดสินของผู้นำมีส่วนชี้ขาดในการกำหนดทิศทางของการแก้ไขปัญหา มีความเป็นไปได้สูงมากว่า ตัวผู้นำอาจมีข้อมูลไม่รอบด้าน มีอคติตั้งแง่ไว้ก่อน หรือแบกภาระงานไว้มากเกินไปจนเครียดพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้จิตใจและสมองไม่แจ่มใส ไม่สามารถวินิจฉัยปัญหาได้อย่างถูกต้อง ยิ่งถ้าเป็นรัฐบาลเถ้าแก่ที่ปัญหาใหญ่ๆ ทุกเรื่องถูกตัดสินใจโดยผู้นำเดี่ยวเพียงคนเดียวเท่านั้นด้วยแล้ว ปัญหา ความมีเหตุมีผลที่ถูกจำกัด ของตัวผู้นำ (bounded rationality) ซึ่งเป็นศัพท์ทางวิชาการของเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบัน ย่อมกลายเป็นปัญหาใหญ่โดยตัวของมันเองอย่างแน่นอน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องนี้ก็คือ ผู้นำประเทศของเราต้องล้มป่วยในวันมาฆบูชา นอนพักฟื้นอยู่กับบ้านเสียก่อนถึงค่อยมีเวลามาขบคิดทบทวนว่า ทำไมกลุ่มต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงคัดค้านอย่างหัวชนฝา จากนั้นจึงออกมา ตำหนิตนเอง ทางวิทยุแล้วตัดสินใจชะลอการแปรรูปออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการแปรรูปให้ชัดเจน โปร่งใสยิ่งขึ้น จากตัวอย่างอันนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ในขณะนี้กระบวนการตัดสินใจของผู้นำประเทศของเรา ตกอยู่ในปัญหาระดับ bounded rationality แล้ว ซึ่งทำให้ไม่มีหลักประกันว่า ต่อจากนี้ไปการตัดสินใจในปัญหาใหญ่เรื่องอื่นๆ ของผู้นำประเทศของเรา จะไม่บกพร่องอีก ยิ่งท่านเป็นผู้นำประเภท "คิดไว ทำไว" อยู่แล้วด้วย


ระดับที่สอง เป็นปัญหาระดับ organizational failure หรือปัญหาความล้มเหลวเชิงองค์กร ในการดีไซน์ระบบบริหาร (governance structure) ที่สามารถป้องกันการเกิด "ลัทธิฉวยโอกาส" ได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกความจริงทางเศรษฐกิจและธุรกิจ มนุษย์ปุถุชนนอกจากจะมุ่งแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดให้แก่ตัวเองแล้ว ถ้าหากมีโอกาสมนุษย์ก็จะประพฤติตนเลยเถิดไปในทิศทางของ "นักฉวยโอกาส" อีกด้วย ปัญหาในระดับนี้จะรุนแรงยิ่งกว่าระดับที่หนึ่ง ซึ่งเป็นการตัดสินใจไม่สมบูรณ์ของผู้นำ เพราะปัญหามันลามไปถึงขั้นโครงสร้างการบริหาร หรือระบบการบริหารที่ไม่สามารถป้องกัน "ลัทธิฉวยโอกาส" ของผู้เกี่ยวข้องได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมี 2 กรณี กรณีแรก คือ ปล่อยให้มีการให้โควตาหุ้นแก่ผู้มีอุปการคุณจำนวนมหาศาล หลังการแปรรูปปตท. ซึ่งตกอยู่กับเครือญาตินักการเมืองที่อยู่ในรัฐบาล ในกรณีนี้ปัญหารุนแรงสืบเนื่องไปจนถึงระดับที่สามและระดับที่สี่ที่จะได้กล่าวต่อไป กรณีที่สอง คือ ปัญหาปกปิดข้อมูลการระบาดของไข้หวัดนกในช่วงแรกๆ เพราะเจ้าหน้าที่ระดับล่างไม่กล้าพูดความจริงออกมาเพราะ "ข้างบน" เกรงกระทบธุรกิจส่งออกไก่ นี่เป็นพฤติกรรมลัทธิฉวยโอกาสอย่างอ่อนๆ ของเจ้าหน้าที่ระดับล่าง และเป็นลัทธิฉวยโอกาสอย่างแรงของ "ข้างบน"


ระดับที่สาม เป็นปัญหาระดับ legitimacy หรือปัญหาความชอบธรรม เป็นปัญหามาตรการที่ทำให้แนวทางหรือโลกทัศน์หนึ่งๆ (ในกรณีนี้คือ ทักษิโณมิกส์) ทำงานได้ดีในระดับจิตของมันหรือไม่ โดยยังมิได้เปรียบเทียบกับแนวทางในระดับจิตอื่น


ยกตัวอย่างเช่น การวิจารณ์ทักษิโณมิกส์จากมุมมองของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ หรือแม้แต่จากมุมมองของโพสต์โมเดิร์น เป็นการหักล้างทักษิโณมิกส์จากปัญหาระดับที่สี่ หรือระดับ authenticity (ที่จะได้กล่าวต่อไป) ซึ่งยังไม่ใช่การหักล้างในระดับ legitimacy เพราะอยู่คนละระดับจิตกัน


แต่การวิจารณ์ทักษิโณมิกส์จากมุมมองของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งเป็นพวกโมเดิร์นเหมือนกัน เพราะอยู่ในระดับจิตเดียวกัน เป็นการหักล้างในระดับ legitimacy


ในการตรวจสอบระดับ "ขาลง" ของแนวทางใดๆ ก็ตาม ปัญหาความรุนแรงในระดับ legitimacy เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดเสมอ เพราะมันเป็นตัวบ่งชี้ว่า สุดท้ายแล้วสังคมจะยินยอมพร้อมใจยอมรับแนวทางนั้นหรือไม่ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เหตุที่พรรคไทยรักไทยได้ชัยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ก็เพราะพรรคไทยรักไทยได้รับ legitimacy ในช่วงนั้น (แต่ยังไม่เคยประสบความสำเร็จในระดับ authenticity เลย แม้จนถึงบัดนี้) ขณะที่พรรคฝ่ายค้านในขณะนี้ ไม่มีทั้ง legitimacy และ authenticity จึงยากที่จะกลับมาอีก


หากพรรคฝ่ายค้านต้องการกลับมาเป็นผู้ชนะอีกครั้ง ก็ต้องเริ่มทำงานในระดับ authenticity ลงมาก่อน เพื่อช่วงชิง legitimacy ในภายหลัง แต่สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านกำลังทำอยู่ในขณะนี้ เป็นแค่การต่อสู้ในระดับ legitimacy (ที่ตัวเองไม่มี) อย่างเดียว จึงยากที่จะชนะได้ ยกเว้นพรรคไทยรักไทยจะสะดุดขาตัวเองสูญเสีย legitimacy เองเท่านั้น


เพราะฉะนั้น "ขาลง" ของทักษิโณมิกส์จึงมิใช่เกิดจากสื่อ "เพี้ยน" (การวิจารณ์ว่าสื่อเพี้ยนของนายกฯ ทักษิณก็เป็นตัวบ่งชัดว่า ขณะนี้ท่านกำลังมีปัญหา bounded rationality)


จึงมิใช่เกิดจากปัญหาภายนอกต่างๆ รุมเร้า และมิใช่เพราะกลุ่มต่อต้านหรือพรรคฝ่ายค้านเข้มแข็งขึ้นหรอก


หากมันจะเกิดขึ้น ก็คงเกิดขึ้นเพราะระดับความชอบธรรมหรือ legitimacy ที่ค่อยๆ ลดลงต่างหาก ซึ่งเริ่มจากปัญหา bounded rationality ที่ขยายตัวไปเป็นปัญหา organizational failure ที่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นปัญหา legitimacy ในที่สุด


ระดับที่สี่ เป็นปัญหาระดับ authenticity หรือปัญหาความเป็นของแท้ของแนวทางหรือโลกทัศน์นั้น ซึ่งหมายถึงแนวทางนั้นมีด้านลึก หรือมีระดับความลึกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือวิวัฒนาการตัวเองไปสู่ระดับจิตที่สูงขึ้นกว่านั้นอย่างเช่น ระดับจิตแบบโพสต์โมเดิร์น (มีมสีเขียว) มีความแท้ (more authentic) มากกว่าระดับจิตแบบโมเดิร์น (มีมสีส้ม) และระดับจิตแบบบูรณาการหลังโพสต์โมเดิร์น (มีมสีเหลือง) มีความแท้มากกว่าระดับจิตแบบโพสต์โมเดิร์น


ทักษิโณมิกส์ไม่มี authenticity ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว (หากไม่มีการยกระดับจิตของแนวทางนี้ไปสู่โพสต์โมเดิร์น และไปสู่บูรณาการหลังโพสต์โมเดิร์นในที่สุด) และก็ยังไม่บูรณาการอย่างแท้จริง (อย่างมากก็แค่เริ่มคิดแบบบูรณาการในระดับ cognitive การรับรู้ หรือในระดับวิชันเท่านั้น แต่ยังไม่บูรณาการในระดับจิตใจ อารมณ์ และความสัมพันธ์)


สุดท้ายนี้ ผู้เขียนได้ทดลองทำดัชนีวัดภาวะ "ขาลง" ของทักษิโณมิกส์ที่วัดจากระดับความรุนแรงของปัญหา 4 ระดับที่ได้กล่าวไปแล้ว


เท่าที่ผู้เขียนประเมินเป็นการส่วนตัว

ทักษิโณมิกส์มีปัญหา authenticity ซึ่งเป็นปัญหาระดับปรัชญาอย่างน้อย 3 เรื่องคือ (1) การสร้าง ฟองสบู่ (ที่คิดว่าจะควบคุมได้) ขึ้นมาอีกครั้ง (2) ส่งเสริมลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งคงนำไปสู่การล่มสลายของชุมชนในชนบท (3) มุ่งเน้นความเจริญทางวัตถุมากเกินไปจนขาดสมดุล ส่วนปัญหา legitimacy ซึ่งเป็นปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ เท่าที่เห็นมีอยู่อย่างน้อย 3 เรื่องคือ


(1) การทับซ้อนของผลประโยชน์

(2) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่แจ่มชัดในหลักการว่าเพื่ออะไรกันแน่ เพื่อตลาดหลักทรัพย์ หรือเพื่อประชาชน?

(3) การเมืองแบบกีดกันออก


ส่วนปัญหาอื่นๆ นอกจากนั้น ล้วนยังเป็นปัญหาในเรื่อง organizational failure หรือปัญหา bounded rationality ซึ่งเป็นปัญหาการจัดการที่ยังพอแก้ไขได้





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้