14 วิถีเถ้าแก่นักรบ

14 วิถีเถ้าแก่นักรบ


วิถีเถ้าแก่นักรบ


ไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า เบื้องลึกของปรัชญาแบบทักษิโณมิกส์ ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับปรัชญาการใช้ชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในยุคโพสต์โมเดิร์นสมัยนี้ นั่นคือ เอาความสะดวก, ความรวดเร็ว และความง่ายดาย เข้าว่าราวกับว่าสามสิ่งนี้เป็นไตรสรณะสูงสุดของชีวิต


แต่ในท่ามกลาง ความรวดเร็ว ไม่ว่าคิดเร็ว หรือทำเร็วก็ตาม ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า มีบางสิ่งบางอย่างขาดหายไป วิชันที่ได้มาจากการคิดเร็วนั้น มักดิบฝาดดุจผลไม้ที่บ่มไม่ได้ที่แล้วรีบร้อนที่จะกินเลย เนื้อหามากมายที่ออกมาในช่วงสามปีกว่าของทักษิโณมิกส์ที่เน้น "เศรษฐกิจแห่งความเร็ว" นี้ก็เช่นกัน


การเน้น ความเร็ว ทำให้ คุณภาพของความคิด ที่ออกมาแย่ลง แม้แต่ประสิทธิผลของการทำงาน ที่ต้องทำแข่งกับเวลาอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่อาจรักษาระดับที่คงประสิทธิภาพเอาไว้ได้นานหรอก ที่สำคัญ การมุ่งเน้นความเร็วมากเกินไป ทำให้ตัวผู้นำเองมีความอดทนลดลงตามความเร็วที่เพิ่มขึ้น


สังคมที่เสพติดความเร็ว ความสะดวก และความง่ายดายเข้าไปแล้ว ย่อมค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการคิดใคร่ครวญทบทวนตนเอง ขาดความอดทน อดกลั้นในการรอคอย ไม่ยอมแม้แต่จะปล่อยให้ "เวลา" ค่อยๆ ขัดเกลาอารมณ์บ่มเพาะความรู้สึกให้ลึกซึ้งสุกงอมขึ้น สังคมแบบนี้ย่อมเปิดโอกาสให้รัฐ และระบอบทักษิณใช้วิธีการแบบ อำนาจนิยม เข้ามาจัดการกับปัญหาของประเทศ โดยที่ประชาชนส่วนใหญ๋ไม่ขัดขวาง มิหนำซ้ำกลับยอมรับด้วยซ้ำ


ขณะนี้สไตล์การบริหารแบบ CEO หรือ เถ้าแก่ ของทักษิโณมิกส์เริ่มถูกวิจารณ์มากขึ้น จากเหล่าผู้วิพากษ์ระบอบทักษิณว่า เหมาะกับใช้ในการบริหารกลุ่มธุรกิจของตนเอง แต่ไม่เหมาะในการใช้บริหารประเทศ วาทกรรม ของผู้วิพากษ์เหล่านี้ มองข้าม ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เสนอตัวเองอาสามาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ และได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างท่วมท้น คือ ได้รับ ความชอบธรรม ในการ นำ ประเทศนี้อย่างที่ตัวเขาสามารถจัดการอย่างเบ็ดเสร็จได้


มิหนำซ้ำ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังกล่าวออกมาเอง ในตอนหนึ่งของคำบรรยายพิเศษหัวข้อ "ประเทศไทยในบริบทใหม่ของการแข่งขันในเวทีโลก" (16 สิงหาคม 2546) ว่า

"ผมไม่ชอบเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผมชอบทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี
ผมชอบเป็นตัวผมเองมากกว่าที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี
คนเราจะต้องเป็นตัวของตัวเองในชีวิตจริง
แต่การทำหน้าที่นั้น ต้องทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม เพื่อชาติ เพื่อบ้านเมือง
นั่นคือ สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำ"


แล้วอะไรเล่าคือ ความเป็นตัวของเขาเอง ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าหากไม่ใช่เป็น เถ้าแก่ (หรือ CEO) ของกลุ่มชินคอร์ป?


เพราะฉะนั้น การวิจารณ์รัฐบาลชุดนี้ว่าเป็น รัฐบาลเถ้าแก่ จึงเป็นการวิจารณ์ที่ถูกต้อง แต่ไม่ตรงประเด็น ถูกต้องในแง่ที่ว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ในด้านหนึ่ง แต่ไม่ตรงประเด็น ในแง่ที่ว่า การวิจารณ์แบบนี้หรือวาทกรรมแบบนี้มองข้าม ความจริงอีกด้านหนึ่ง ที่ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยินดี และเต็มใจยอมรับ การนำแบบเถ้าแก่ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการบริหาร "บรรษัทประเทศไทยจำกัด"แห่งนี้


เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะวิจารณ์ให้ตรงประเด็นก็ต้องวิจารณ์ว่า ทำไมสังคมไทยถึงยอมรับให้มี การนำแบบเถ้าแก่ (หรือ CEO ที่เป็นเจ้าของกิจการด้วย) เกิดขึ้นในภาคการเมืองจนเป็นที่มาของระบอบทักษิณ?


ความผิด หรือความไม่ถูกต้องนั้น ไม่น่าจะอยู่ที่เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น "เถ้าแก่" คนที่มีความเชื่อมั่นในตัวของตัวเองสูง คนที่มีสติปัญญาสูงและเก่งกาจในการบริหารการจัดการ อีกทั้งมีความเป็นตัวของตัวเองสูงอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีใครสามารถไปกดดันให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้หรอก นอกจากตัวเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ด้วยความตื่นรู้ตระหนักใน ข้อจำกัดบางด้าน ของตัวเขาเอง


สังคมนี้ต่างหากเล่าที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้าหากจะไม่ยอมรับการนำแบบเถ้าแก่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือต่อให้ยอมรับการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ สังคมนี้ก็ควรเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทิศทางที่สามารถตรวจสอบความไม่โปร่งใส ความไม่ชอบมาพากล ความทับซ้อนแห่งผลประโยชน์ของเหล่าสมาชิก เครือญาติพวกพ้องของรัฐบาลเถ้าแก่ ได้มากกว่านี้


อย่างไรก็ดี ถ้าหากมองการนำอย่างเถ้าแก่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างปราศจากอคติ สังคมเราย่อมสามารถเรียนรู้ ปรัชญาการทำงานที่น่าเป็นแบบอย่างจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ไม่น้อยเลย เหมือนอย่างที่ปรัชญาการทำงานของบุคคลสำคัญที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั่วโลก ได้กลายเป็นตัวอย่างของการศึกษาวิจัยและอ้างถึง ผู้เขียนจะขอยก คมวาทะ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่น่าศึกษาเป็นแบบอย่างดังต่อไปนี้


(1) "สำหรับผม การอ่านหนังสือเป็นทั้งงานหลัก และงานอดิเรก ผมใช้เวลากับการอ่านหนังสือมากตั้งแต่เด็กกระทั่งปัจจุบัน ทุกวันนี้ผมยังต้องอ่านหนังสือทุกวันไม่เคยขาด เพื่อให้ก้าวหน้าตามความคิดของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว"


(2) "ผมทำงานหนักและยิ้มแย้ม ไม่ได้มีอาการย่อท้อแม้แต่นิด ผมไม่ได้เข้มแข็งมาจากไหนหรอก เพราะหัวใจผมก็ทำด้วยเนื้อ แต่การเป็นผู้นำมันย่อท้อไม่ได้ ผู้นำมีสิทธิที่จะเจ็บปวด แต่ผู้นำไม่มีสิทธิที่จะอ่อนแอ"


(3) "เวลาเราคิดมาก มีปัญหาหนักๆ เราต้องนอนให้หลับ ถ้านอนไม่หลับ สมองก็ไม่ปลอดโปร่ง เราต้องเซฟสมองให้มากที่สุด เพราะทุกอย่างต้องใช้สติปัญญา อย่าไปคิดก่อนนอน มันไม่เกิดประโยชน์ ตื่นมาแล้วค่อยคิด ตาลืมใหม่ เรามีพลังขบคิดกับปัญหาอย่างเอาจริงเอาจังแล้วจะแก้ไขได้"


(4) "ตอนที่ผมเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ผมได้ปฏิญาณตนทุกเช้า วันนั้นผมไม่เข้าใจ แต่วันนี้ผมคิดย้อนกลับไป ผมเข้าใจ เขาให้ปฏิญาณตนว่า ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ตายเสียยังดีกว่าที่จะอยู่อย่างผู้แพ้ เพราะฉะนั้น วันนี้ทำไมเราต้องแพ้ยาเสพติด ทำไมเราต้องแพ้คอร์รัปชัน ทำไมต้องแพ้ความยากจน เพราะเราต่างคนต่างอยู่ เราไม่รวมพลังกัน และเราไม่มีการนำไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง"


อาจารย์รุ่นพี่ของผู้เขียนอย่าง ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลชุดนี้เป็น รัฐบาลเถ้าแก่ (ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2547) แต่ผู้เขียนอยากเสนอว่า นอกจากจะเป็นเถ้าแก่แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณยังเป็นเถ้าแก่ประเภท "เถ้าแก่นักรบ" (CEO Warrior) อีกด้วย


*อะไรคือ วิถีแห่งเถ้าแก่นักรบที่พึงปรารถนา?*


เถ้าแก่นักรบ ไม่พึงใช้ดาบ ในเมื่อ มธุรสวาจา หรือดอกไม้สามารถสลายความเป็นศัตรูของฝ่ายต่อต้านได้ดีกว่า


การเคลื่อนไหวทำงานของ เถ้าแก่นักรบ ควรเป็น


ลีลาแห่งเริงระบำที่ปราศจากเสียงดนตรี


เถ้าแก่นักรบใชัการทำงาน ของเขาเป็น การปฏิบัติธรรม ของตัวเขา


จิตใจของ เถ้าแก่นักรบ ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และพร้อมเสมอต่อการปรับตัว เตรียมรับสถานการณ์ทุกรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น


เถ้าแก่นักรบ ต้องเรียนรู้ที่ จะทำให้จิตใจของเขาเป็นกัลยาณมิตรที่ดีที่สุดของตัวเขา


หาก เถ้าแก่นักรบ สามารถพัฒนาจิตใจตนเองจนกระจ่างแจ้งได้ ตัวเขาย่อมสามารถเป็น แสงสว่าง นำทางให้แก่ผู้อื่นได้


หาก เถ้าแก่นักรบ สามารถ เป็นในสิ่งที่ดีที่สุดที่ตัวเขาสามารถเป็นได้ ตัวเขาย่อมสร้างคุณูปการให้แก่คนหมู่มากได้อยู่แล้วโดยปริยาย


เถ้าแก่นักรบ ต้องมีจิตใจที่จดจ่ออยู่กับ ปัจจุบัน เฉกเช่นกับถนนที่ไม่เคลื่อน แต่ตัวรถเคลื่อนที่


ฉันใดก็ฉันนั้น


จิตใจของเถ้าแก่นักรบ จะต้องไม่เคลื่อน ชีวิตต่างหากที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา


วิถีแห่งการฝึกฝนจิตใจของเถ้าแก่นักรบ ในการจัดการกับปัญหาและอุปสรรคทั้งปวงคือ ขจัดความเป็นไปได้ของตนเองในการหลบหนีเอาตัวรอด หลีกเลี่ยงปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่


เผชิญหน้ากับปัญหาอย่างปล่อยวาง ซึ่งเป็นการทำงานด้วยจิตใจในระดับเซน


หากทำเช่นนี้ได้ หนทางย่อมเปิดโล่งอยู่เบื้องหน้า


เถ้าแก่นักรบย่อมกลายเป็นเอกบุรุษ


เถ้าแก่นักรบคือ ผู้ที่เชื่อมั่นในพลังของความดี


ความดีมิใช่สิ่งอ่อนแอ ธรรมะไม่เคยและไม่มีวันอ่อนแอ


แต่ความดีต้องการภาชนะที่เลอเลิศที่สามารถรองรับ บรรจุพลังอันมหาศาลแห่งความดีนั้นได้


จงเป็นภาชนะอันเลอเลิศนั้นเถิด!


****************



ผู้เขียนอยากเชื่อโดยส่วนตัวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังเดินอยู่บนวิถีเถ้าแก่นักรบ ที่พึงปรารถนาดังข้างต้นนี้ ถ้าหาก พ.ต.ท.ทักษิณเชื่อจริงๆ คิดเช่นนั้นจริงๆ ตามที่เขาเคยกล่าวว่า


"ผมได้ผ่านการปฏิญาณทุกวัน การเป็นนักเรียนเตรียมทหาร และนายร้อยตำรวจ 6 ปีติดต่อกัน ได้ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาตั้งสัจจาธิษฐานว่า ต้องตายด้วยคมหอกคมดาบ หากทรยศต่อชาติและราชบัลลังก์ ครั้นเมื่อผมเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแล้วว่า จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผมจะมีโอกาสได้ใช้ ความตั้งใจจริง ความมุ่งมั่น อุดมการณ์ ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถเวลา และความคิดทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนตามที่ได้ตั้งใจไว้ ได้ตั้งปณิธานไว้ และตามที่พี่น้องประชาชนได้มอบความไว้วางใจมา"







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้