13 วิชันประเทศไทยแบบโพสต์โมเดิร์นฉบับธีรยุทธ

13 วิชันประเทศไทยแบบโพสต์โมเดิร์นฉบับธีรยุทธ


วิชันประเทศไทยแบบโพสต์โมเดิร์นฉบับธีรยุทธ


นอกจากจะได้วิพากษ์ทักษิโณมิกส์แล้ว ธีรยุทธยังได้นำเสนอแนวทางเป้าหมาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่แตกต่างออกไปใน "โรดแมปประเทศไทย" ของเขาด้วย ในการนำเสนอยุทธศาสตร์ ธีรยุทธได้เน้นในส่วนปรัชญาหลักคิด โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการเปลี่ยนแปลงในโลก จุดอ่อนจุดแข็งของประเทศไทย ปรัชญาของสังคมการเมืองที่ควรยึดถือ รวมทั้งได้วางเป้าหมายว่า ต้องการให้ประเทศก้าวไปในทิศทางใด และอย่างไร
ในแง่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ธีรยุทธได้เสนอเป้าหมาย 7 ประการ ที่ประเทศไทยควรบรรลุต่อจากนี้ไปคือ


(1) เป็นสังคมแห่งสิทธิเสรีภาพ และเป็นสังคมเปิดของข้อมูลข่าวสาร

ถ้าประชาชนทุกระดับต่างตระหนักถึงสิทธิที่ตนมีอยู่ และใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จะนำไปสู่การเพิ่มทุนเศรษฐกิจ-สังคม ยกตัวอย่างเช่น การใช้สิทธิในการเสนอร่างกฎหมายของประชาชนที่เห็นว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ การใช้สิทธิผู้บริโภคเพื่อเรียกร้องหน่วยผลิตผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน และยิ่งเมื่อประเทศไทยเป็นสังคมเปิดของข้อมูลข่าวสาร ผู้บริโภคมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ย่อมทำให้การตัดสินใจทางเศรษฐกิจทำได้ดีขึ้น เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงควรขยายสิทธิของผู้บริโภคให้เป็นจริงภายใน 4 ปี สิทธิแห่งอัตลักษณ์ชุมชนและวัฒนธรรมให้เป็นจริงภายใน 5 ปี


(2) ให้ประเทศไทยมีความยุติธรรมทางสังคม

ต้องตั้งเป้าลดช่องว่างทั้งในเรื่องของการกระจายรายได้ การออกกฎหมายและข้อกำหนดในด้านอื่นๆ ของสังคมให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น และลดปัญหาความยากจนให้ได้อย่างชัดเจนภายใน 10 ปี


(3) ต้องทุ่มเททรัพยากรทุกส่วนของประเทศในการสร้าง "ความรู้" ให้กับคนตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงขั้นสูงภายใน 10 ปี

เพราะความรู้ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานหลักตัวหนึ่งที่ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าประชาชนทุกระดับสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการประกอบอาชีพและพัฒนาตนเองจนยืนหยัดท่ามกลางภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ การบรรลุเป้าหมายข้อที่ 3 นี้ จึงเป็นการช่วยหนุนเป้าหมายข้อที่ 2 ให้บรรลุผลสำเร็จได้

นอกจากนี้ ธีรยุทธยังเสนอให้มีการยกระดับความรู้ในด้านต่างๆ จนถึงระดับความรู้ขั้นสูง อันเป็น หลักเศรษฐศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 21 ที่เพิ่งก่อตัวขึ้นดังนี้


3.1 เศรษฐกิจแห่งความรู้ เนื่องจากขณะนี้โลกเศรษฐกิจมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือ การใช้ความรู้เป็นฐานเศรษฐกิจที่เน้นการจัดการ สังคมแห่งความรู้จะมีเป้าหมายในการใช้ความรู้เพื่อเพิ่มสร้างขยายตัวความรู้เอง ไม่ใช่เพื่อทำอะไรให้มนุษย์โดยตรง หรือสนองความต้องการของมนุษย์โดยตรง แต่จะเป็นการนำความรู้ใหม่ๆ มาต่อยอดความรู้เดิม (ซึ่งเป็นจิตระดับมีมสีเขียวขึ้นไป-สุวินัย) เพื่อพัฒนาของเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งความรู้ยังเป็นปัจจัยที่ขนานไปกับทุนและแรงงาน การพัฒนาความรู้ก็เท่ากับเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพของทุนและฝีมือแรงงานไปด้วยพร้อมๆ กัน นอกจากนี้จะเกิดการปฏิวัติด้านการจัดการขึ้นในสังคมแห่งความรู้ จะมีการใช้ความรู้ด้านการจัดการมาเสริม ทุนนิยมแห่งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญเหนือตลาด ระบบเศรษฐกิจจะไม่ใช่ระบบของการผลิตและการกระจายสิ่งของ แต่จะเป็นระบบการผลิตและการกระจายความรู้แทน ภาคเศรษฐกิจ "ความรู้และบริการ" ที่ได้รับอิทธิพลดังกล่าวจะขยายตัว มูลค่าจะเกิดขึ้นจากการมีนวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมเกิดจากการสร้างความรู้ใหม่ เพื่อค้นหาวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น และมีความสามารถในการใช้ข้อมูลเพื่อการปรับตัวภายในองค์กรอย่างยืดหยุ่น


3.2 เศรษฐกิจแห่งความหลากหลาย แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 จะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม คือจะต้องคิด "นอกกรอบ" ให้มากขึ้น ผู้นำจะต้องกล้าคิด "เศรษฐกิจ" อย่างหลากหลายกว่าเดิม เช่น เศรษฐกิจของบุคลิกภาพ เศรษฐกิจแห่งอัตลักษณ์ เศรษฐกิจแห่งวัฒนธรรม เศรษฐกิจแห่งจิตใจ เศรษฐกิจแห่งสุขภาพ เศรษฐกิจแห่งนิเวศน์ ฯลฯ เหมือนอย่างที่แนวคิดเรื่อง การเมืองในศตวรรษที่ 21 ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตามไปด้วย ผู้นำที่ "แท้จริง" ก็ต้องกล้าคิด "การเมือง" ที่นอกกรอบและหลากหลายกว่าเดิม เช่น การเมืองเชิงสุขภาพ การเมืองเชิงวัฒนธรรม การเมืองเชิงอัตลักษณ์ การเมืองแห่งจิตใจ การเมืองเชิงนิเวศน์ การเมืองเชิงบุคลิกภาพ เป็นต้น อย่าลืมว่า โลกในยุคโพสต์โมเดิร์นอย่างในยุคปัจจุบัน เป็นโลกที่ให้ความสำคัญกับนามธรรม สัญลักษณ์ และถือว่ามันเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ ดังนั้น ภาวะนามธรรมใดๆ ก็ตาม ย่อมสามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ถ้าหากรู้จักจัดการกับมัน ยกตัวอย่างเช่น


(ก) คนอาชีพสร้างสรรค์ ตั้งแต่นักวิจัยและพัฒนาไปจนถึงนักออกแบบแฟชั่นสามารถนำเศรษฐกิจแห่งความหลากหลาย เศรษฐกิจแห่งอัตลักษณ์ เศรษฐกิจแห่งวัฒนธรรม และเศรษฐกิจแห่งสุขภาพมาใช้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น

(ข) ผู้จัดการองค์กร ตลอดจนงานอำนวยการต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพและกิจกรรมบันเทิงก็สามารถนำเศรษฐกิจของบุคลิกภาพ เศรษฐกิจแห่งจิตใจ เศรษฐกิจแห่งสุขภาพมาใช้เป็นพื้นฐานในการทำงานได้

(ค) ผู้ทำงานเชิงสังคม ก็สามารถนำเศรษฐกิจแห่งจิตใจ เศรษฐกิจแห่งบุคลิกภาพ และเศรษฐกิจแห่งสุขภาพมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มได้

(ง) งานพักผ่อนหย่อนใจตั้งแต่กีฬา การออกกำลังกายจนถึงกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ เศรษฐกิจแห่งจิตใจ เศรษฐกิจแห่งอัตลักษณ์ เศรษฐกิจแห่งวัฒนธรรม เศรษฐกิจแห่งนิเวศน์ และเศรษฐกิจแห่งสุขภาพ มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยจัดการให้มีมูลค่าเพิ่มได้


(4) การสร้างสังคมแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม

ท่ามกลางโลกแห่งความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เกิดจากโรคระบาดข้ามชาติ และผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ การเลือกการบริโภคและการใช้บริการจึงขึ้นอยู่กับการวางใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นหลัก ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจแห่งความวางใจ จะเห็นได้ว่า ในยุคนี้ความวางใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจได้กลายเป็น "ทรัพย์ที่มองไม่เห็น" ที่มีมูลค่ามหาศาล และยังเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการลดความซับซ้อน ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนใดๆ ทั้งปวง

นอกจากนี้ การที่สังคมไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นพหุสังคมมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนากลไกแก้ไขความขัดแย้ง การปะทะทางความคิดความเชื่อที่แตกต่าง โดยใช้ทรัพย์แห่งความวางใจนี้เป็นเครื่องมือสำคัญ


(5) สร้างสังคมแห่งสุขภาพที่ดีทั้งทางกายและทางจิตใจ

การสนับสนุนสปิริตชุมชน การให้ความใส่ใจกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และนิเวศน์ที่ดี ย่อมย้อนกลับมาเกื้อกูลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย


(6) สร้างสังคมที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจวัตถุ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม

เราไม่ต้องปฏิเสธแนวคิดแบบ "ทันสมัยนิยม" ของตะวันตกทิ้งไปทั้งหมด แต่ต้องนำมันมาปรับใช้อย่างเหมาะสม กล่าวคือ เราควรพัฒนาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยมากกว่าเดินตามก้นตะวันตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา


(7) เราควรดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความร่วมมือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยประโยชน์ร่วมกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า เป้าหมายของวิชันฉบับธีรยุทธกับเป้าหมายของทักษิโณมิกส์มีจุดร่วมกันอยู่ไม่น้อยที่ฝ่ายรัฐบาลสามารถนำเอาข้อดีของวิชันฉบับธีรยุทธมาปรับปรุงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของตนได้ หรือพรรคฝ่ายค้านก็เช่นกัน สามารถศึกษาวิชันฉบับธีรยุทธมาพัฒนานโยบายของพรรคเพื่อแข่งขันกับพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าก็ได้เช่นกัน หรือแม้แต่ขบวนการประชาชน ก็สามารถนำวิชันฉบับธีรยุทธแปรเป็นข้อเรียกร้องกดดันต่อรองกับรัฐบาลก็ย่อมได้


อนึ่งในการบรรลุเป้าหมาย 7 ประการข้างต้น ธีรยุทธได้เสนอยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืน 10 ประการดังต่อไปนี้


(1) จุดแข็งของคนไทยในมิติหลากหลาย


1.1 คนไทยมีบุคลิกจิตใจดี เอื้อเฟื้อ อดทน ดังนั้นเราจึงควรพัฒนาเศรษฐกิจของบุคลิกภาพ และเศรษฐกิจแห่งจิตใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานยั่งยืนของเศรษฐกิจภาคบริการ


1.2 ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตร ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศิลปะ และธรรมชาติ และเนื่องจากในปัจจุบันเป็นโลกแห่งความหลากหลาย ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจแห่งความหลากหลาย เศรษฐกิจแห่งอัตลักษณ์ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัว เฉพาะส่วน เฉพาะถิ่น เศรษฐกิจแห่งวัฒนธรรม และเศรษฐกิจแห่งนิเวศน์ จะทำให้การท่องเที่ยว การผลิตสินค้า และบริการต่างๆ มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น


1.3 ในโลกแห่งความเสี่ยงและความซับซ้อน ความไว้วางใจและเศรษฐกิจแห่งความไว้วางใจ จึงมีความสำคัญ ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนามาตรการ มาตรฐาน สถาบันและองค์ความรู้มารองรับสถานการณ์ดังกล่าว


1.4 จำเป็นต้องรีบเร่งพัฒนาและสร้างสรรค์ เศรษฐกิจแห่งความรู้อย่างเร่งด่วน เพราะนี่คือจุดอ่อนของประเทศไทยในปัจจุบัน


1.5 การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ ตลอดจนการแพทย์ การพยาบาล ภูมิปัญญาตะวันออก สมุนไพร ยา เทคโนโลยีชีวภาพที่เหมาะสม จะสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงได้


1.6 การปรับตัวของคนไทยรุ่นหนุ่มสาวในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้พวกเขาได้ฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น


1.7 เศรษฐกิจแห่งความหลากหลายจะช่วยถ่วงดุล เศรษฐกิจมาตรฐานเดียว ซึ่งถูกครอบงำโดยเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก


1.8 เศรษฐกิจไทย ควรจะก้าวไปในระดับใกล้เคียงกับเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านมากกว่าที่จะก้าวกระโดดแบบล้ำหน้าไปตามลำพัง เพราะข้อจำกัดด้านผลผลิตเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มระดับปานกลางไม่ใช่ระดับสูง และปัญหาเรื่องการอพยพเคลื่อนย้ายของแรงงานเข้ามาในเขตเมืองที่ยังคงมีอยู่สูง


(2) ยกระดับการใช้ข้อมูลเชิงข่าวสารให้เป็นความรู้ในระดับสร้างความก้าวหน้าที่ยั่งยืน


เนื่องจากโลกปัจจุบันเป็นโลกของข้อมูลข่าวสาร ขณะที่ประเทศไทยยังด้อยเรื่องการศึกษาวิจัย ขาดวัฒนธรรมการอ่านและการเรียนรู้ ทั้งๆ ที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มตัว โดยเศรษฐกิจในอนาคตจะเป็นเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความรู้ และข้อมูลข่าวสาร จริงอยู่ที่เป็นเรื่องไม่ยากในสมัยนี้ที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการหาข้อมูลได้เป็นจำนวนมากในระยะสั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การมี "ปัญญา" ในการรู้จักเลือก แยกแยะข้อมูลที่มีจำนวนมากเกินไปนี้ แล้วนำข้อมูลเท่าที่จำเป็นมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ด้วยสติปัญญาของเราเพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ต่อไป รวมทั้งจัดระเบียบแนวคิดสร้างแนวคิดจนพัฒนาเป็นทฤษฎีและเชื่อมโยงเป็นระบบได้


ธีรยุทธยังได้ให้ความสำคัญกับความรู้แบบคิดทบทวนตนเอง หรือความรู้แบบเจริญสติ คือการตระหนักรู้เข้าใจตนเอง โลก ข้อจำกัดของตนเองและโลก รวมทั้งมีการทบทวนความรู้เดิม ความหมายเดิม และจุดมุ่งหมายชีวิตเดิม เพื่อเข้าใจจุดยืนปัจจุบันของประเทศ ด้วยเหตุนี้ ธีรยุทธจึงไม่เห็นด้วยกับวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภคอย่างที่รัฐบาลทักษิณกำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ธีรยุทธเสนอให้สร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานปัญญา สติและความรู้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนแท้จริง


(3) เน้นเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่ม


เนื่องจากคนในปัจจุบันยึดติดกับสัญลักษณ์มากกว่าตัวสินค้าเอง หรือให้ความสำคัญกับนามธรรมมากกว่าตัวสินค้ารูปธรรม ดังนั้นหากจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับนามธรรมของตัวสินค้านั้นได้ สินค้าชนิดนั้นๆ ก็จะยิ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วย จึงควรเร่งพัฒนาความรู้ความสามารถในด้านการจัดการกับสินค้าไทย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพจนกลายเป็นแบรนด์ระดับชาติในอนาคต


(4) ต้องมองโลกให้กว้างพ้นไปจากกลุ่มสังคม หรือพรมแดนรัฐชาติของตนเอง จะได้ไม่ยึดติดอยู่กับกรอบเดิมๆ แห่งรัฐชาติของตนเอง


(5) ต้องตระหนักว่า ทุกสังคมกำลังอยู่ในความเสี่ยงระดับโลก ผู้นำประเทศไม่ควรฝันเฟื่อง "วาดวิมานในอากาศ" ให้ผู้คนทั้งประเทศหลงคล้อยตามเพื่อกระตุ้น "ฟองสบู่" ให้ผู้คนหันมาจับจ่ายใช้สอยอย่างบ้าคลั่งราวกับจะไม่มีวันพรุ่งนี้ ความเสี่ยงระดับโลกเหล่านี้อย่างโรคระบาด กากของเสีย ภัยจากภูมิอากาศเป็นพิษ หรือนิวเคลียร์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง จึงควรมีแผนงานรองรับไม่ใช่ใช้ความมั่นใจในอำนาจแบบ CEO ซึ่งเคยส่งผลให้เกิดวิกฤตทั่วโลกมาแล้ว


(6) การเติบโตที่ยั่งยืนและมั่นคง จะต้องคำนึงถึงความสมดุลของทุน 3 ประเภท คือ ความสมดุลระหว่างทุนเศรษฐกิจ, ทุนมนุษย์ และทุนสังคมวัฒนธรรม มิใช่เน้นแค่การเจริญเติบโตในทุนทางวัตถุเพียงอย่างเดียวอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จุดอ่อนของการวิเคราะห์ "ทุน" แบบโมเดิร์นของพวกเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คือไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้ว "ทุน" ไม่มีตัวตนหรือแก่นแท้ใดๆ "ทุน" จึงมีความหมายที่กว้างกว่าทุนเศรษฐกิจที่คับแคบ และหลากหลายกว่าทุนทางวัตถุการเงิน กล่าวคือ "ทุน" แบบโพสต์โมเดิร์น เป็นการพิจารณา "ทุน" ที่มองด้านนามธรรมมากกว่าตัวตนทางวัตถุ และเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ที่โยงเข้ากับทุนเศรษฐกิจได้อย่างองค์รวม เช่น ทุนสังคม ทุนมนุษย์ ทุนวัฒนธรรม ทุนความรู้ ทุนจิตใจ ทุนความไว้วางใจ เป็นต้น หลักเศรษฐศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 21 จึงตั้งอยู่บนการมีความเข้าใจ "ทุน" แบบโพสต์โมเดิร์นที่ผนวกเรื่อง "การบริหารจัดการ" เข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการวิเคราะห์เศรษฐกิจและการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ หนังสือ "ว่าด้วยทุน" ของคาร์ล มาร์กซ์ ในยุคโมเดิร์นต้องเปิดทางให้กับแนวคิด "ว่าด้วยทุนแบบโพสต์โมเดิร์น" ถึงจะเข้าใจความเป็นจริงในปัจจุบันอย่างถ่องแท้ได้


(7) ประเทศไทยจะต้องสร้างนโยบายสังคม และนโยบายวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่งตายตัว ที่ไม่มีอคติ ที่ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ที่ยอมรับความหลากหลายทางสังคม และทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความสมดุลและความเท่าเทียมกัน ทั้งวัฒนธรรมของชนชั้นสูงในอดีต วัฒนธรรมแบบป็อปของ "คนรุ่นใหม่" และวัฒนธรรมของชาวบ้าน


(8) การสร้างความยั่งยืนทางการเมือง ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างพรรคการเมือง (การเมืองแบบตัวแทน) ภาคประชาชน และกลุ่มสื่อมวลชน ปัญญาชนนักวิชาการ องค์กรต่างๆ เพื่อให้มีการถ่วงดุล ตรวจสอบและประสานงานกันได้ เพื่อสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และสร้างความหลากหลายทางการเมือง ไม่ใช่การเมืองแบบกีดกันออกอย่างที่ระบอบทักษิณกำลังกระทำอยู่ที่ควบคุมสื่อทางอ้อมและโต้ตอบอย่างรุนแรงต่อนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ


(9) ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างภาคการเมืองต่างๆ ควรอาศัยปัญญาและองค์ความรู้แบบเจริญสติ คิดทบทวนตนเอง รวมทั้งใช้คุณธรรม ค่านิยม และจิตสำนึก เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย มิใช่การดื้อดึงยึดมั่นในความคิดความเชื่อของตนเองฝ่ายเดียว


(10) สร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับประเทศใกล้เคียง โดยตระหนักย้ำในการมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน การเคารพชื่นชมความแตกต่างทางวัฒนธรรมของกันและกัน และการมีอนาคตร่วมกัน


วิชันประเทศไทยดังกล่าวข้างต้นนี้ธีรยุทธเชื่อว่า ถ้าหากประเทศไทยพัฒนาตามแนวทางดังกล่าวได้ภายใน 20 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะก้าวหน้าอย่างมั่นคง และทำให้ผู้คนมีสันติสุขอย่างแท้จริงได้ อย่างไรก็ดี ธีรยุทธได้ออกตัวว่า แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นข้างต้นของเขานี้ เป็นแค่อีกหนึ่งทางเลือกของแนวทางในการพัฒนาประเทศเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ คนไทยทั้งหลายจะต้องหันมาคิดทบทวนร่วมกันถึงแนวทางในอนาคต โดยทบทวนทั้งอดีตและปัจจุบันควบกันไปด้วย จะได้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันได้ว่า จะเลือกก้าวเดินต่อไปอย่างไรในอนาคต ไม่ใช่พึ่งแต่วิชันของนายกฯ ทักษิณคนเดียวเท่านั้น








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้