12 โรดแมปประเทศไทยฉบับธีรยุทธ บุญมี - ความต่างที่ทักษิโณมิกส์ควรเปิดใจกว้างรับฟัง

12 โรดแมปประเทศไทยฉบับธีรยุทธ บุญมี - ความต่างที่ทักษิโณมิกส์ควรเปิดใจกว้างรับฟัง


โรดแมปประเทศไทยฉบับ ธีรยุทธ บุญมี
ความต่างที่ทักษิโณมิกส์ควรเปิดใจกว้างรับฟัง



ถ้าคนตะวันตกเองก็วิพากษ์ต่อสังคมวิถีชีวิตแบบโมเดิร์น เหตุใดประเทศอื่นๆ จึงจำเป็นจะต้องดิ้นรนมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเพื่อก้าวตามประเทศตะวันตก?"

"ตะวันตกครอบงำความคิดคนไทย ไม่เพียงแต่การสร้างหรือตีเส้นให้มองเฉพาะในกรอบ เช่น มองว่าต้องพัฒนา ต้องสร้างความก้าวหน้าทางวัตถุ ต้องเร่งให้เศรษฐกิจขยายตัว ฯลฯ แต่ยังควบคุมลึกซึ้งไปจนถึงขั้นว่าอะไรคือ ความรู้"

"การควบคุมความคิดของตะวันตก มีทั้งที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง และที่ชัดเจนเปิดเผย การสร้างองค์ความรู้ที่เป็นกลางของตะวันตกเองก็ยังแฝงเร้นด้วยอคติที่เอื้อต่อการครอบงำของตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ ศิลปะ วรรณกรรม มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ การปลดแอกทางความคิดและการสร้างองค์ความรู้ การสร้างทัศนคติ ค่านิยม ความดี ความงามเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย และควรเป็นภารกิจร่วมกันของคนไทยทุกคน"

ธีรยุทธ บุญมี "ความคิดหลังตะวันตก"
สำนักพิมพ์สายธาร, พ.ศ. 2546



การเกิดระบอบทักษิณขึ้นในประเทศนี้ มีความหมายทางประวัติศาสตร์ในแง่ที่ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นักการเมืองแห่ง "ทุนใหม่" ในระดับจิตมีมสีส้ม (รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องการจำแนกระดับจิตด้วยมีมสีต่างๆ โปรดอ่านข้อเขียนของผู้เขียนเรื่อง "ระดับจิตทักษิโณมิกส์" ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญทางทฤษฎีที่ผู้เขียนใช้วิเคราะห์ระบอบทักษิณ) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จได้ จริงอยู่ เราเคยมีรัฐบาลนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งก็มีระดับจิตมีมสีส้มเหมือนกัน และก็เคยมีบทบาทและได้รับความนิยมจากชนชั้นกลางเช่นกันในการบริหารประเทศ ช่วงปี พ.ศ. 2534 แต่ครั้งนั้นยังเป็นรัฐบาลชั่วคราวเฉพาะกิจ เป็นพวก "ทุนเก่า" ซึ่งมิได้เป็น "ปฏิปักษ์" ต่อระบบเก่าจนคิดปฏิรูประบบราชการเท่ากับรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และก็มิได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเท่าด้วย


เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระดับขั้นตอนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และจิตสำนึกของสังคมไทยในปัจจุบัน กลุ่มพลังทางการเมืองที่มีระดับจิตมีมสีส้ม จะได้เปรียบ กลุ่มพลังการเมืองที่มีระดับจิตมีมสีน้ำเงินในทุกๆ ด้าน เพราะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากโลกาภิวัตน์ได้รวดเร็วกว่า และพวกมีมสีส้มก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุดในสังคมนี้ที่กำลังสะสมความมั่งคั่งให้แก่พวกของตน โดยพึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่ต้องพึ่งพาการคอร์รัปชันแบบเก่า (กล่าวคือ พวกเขากำลังซื้อประเทศนี้มิใช่ขายประเทศนี้เหมือนกลุ่มพลังการเมืองแบบเก่า)


กลุ่มพลังทางการเมืองที่พยายามเสนอแนวทางแบบมีมสีเขียว (อย่างพรรคถิ่นไทยยังไม่อาจเกิดในสังคมนี้ได้ เพราะยังไม่มีพลังทางเศรษฐกิจรองรับ และจิตสำนึกของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ที่ในเมืองกลุ่มหลักคือ มีมสีส้ม ในชนบทกลุ่มหลักคือ มีมสีน้ำเงิน และมีมสีแดง (กลุ่มคนจน) ก็ยังไม่สามารถพัฒนาจิตสำนึกตนเองจนถึงระดับมีมสีเขียว ซึ่งเป็นจิตระดับปัญญาชนหัวก้าวหน้าแนวโพสต์โมเดิร์นได้


กลุ่มพลังการเมือง หรือพรรคการเมืองแบบมีมสีเขียว อาจจะยังไม่พร้อมที่จะเกิดในสังคมไทยขณะนี้ก็จริง (แต่ไม่ช้าก็เร็ว กลุ่มพลังการเมืองแบบมีมสีเขียวต้องเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อสังคมไทยมีวิวัฒนาการมากกว่านี้ แต่ก็คงอีกหลายปีข้างหน้า) แต่การปรากฏตัวของ ปัญญาชนสาธารณะ ซึ่งมีระดับจิตมีมสีเขียว ที่ออกมาวิพากษ์ระบอบทักษิณอย่างตรงไปตรงมา นับว่าทันกาล และทรงพลังทางความคิดยิ่งกว่าการวิจารณ์ของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งยังคงวิจารณ์ระบอบทักษิณจากระดับจิตแบบมีมสีน้ำเงิน (เพราะไม่ค่อยรู้เรื่องเศรษฐกิจ) และพยายามเริ่มใช้กลยุทธ์แบบมีมสีส้ม (การตลาด) ในการคัดเลือกตัวผู้สมัครแข่งขันชิงผู้ว่าฯ กทม.มาแข่งกับพรรคไทยรักไทย ตอนนี้กลายเป็นว่ากลุ่มพลังที่มีระดับจิตมีมสีน้ำเงินที่ต่อต้านทักษิโณมิกส์อย่างรุนแรงที่สุด กลับกลายเป็นพวกกลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจและแนวร่วม ซึ่งในระยะยาวแล้วคงไม่อาจต้านทานทักษิโณมิกส์ได้


ตัวแทนของปัญญาชนสาธารณะที่มีระดับจิตมีมสีเขียวแบบโพสต์โมเดิร์น ที่ออกมาวิพากษ์ระบอบทักษิณอย่างเอาการเอางานคือ ธีรยุทธ บุญมี (ขณะที่อัมมาร์ สยามวาลา อาจถือได้ว่าเป็นปัญญาชนสาธารณะที่มีระดับจิตมีมสีส้มแบบโมเดิร์น ที่ออกมาวิพากษ์ทักษิโณมิกส์ในแง่ที่ไม่สมเหตุสมผลกับหลักวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เขายึดถือ)


"โรดแมปประเทศไทย" (ตุลาคม 2546) ของ ธีรยุทธ บุญมี มีแนวคิดที่ขัดแย้งกับแนวคิดในการดำเนินงานของรัฐบาลทักษิณที่เน้นเศรษฐกิจสำคัญที่สุด เร่งการแปลงประเทศและทรัพย์สินให้เป็นทุน มุ่งการบริโภค โดยไม่ใส่ใจกับประสิทธิผลและประสิทธิภาพของนโยบาย


ขณะที่ ธีรยุทธ เสนอให้สร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมบนพื้นฐานของทุนความรู้ และปัญญา ทุนสังคม-วัฒนธรรม และทุนของความหลากหลาย ข้อวิพากษ์ของธีรยุทธนั้นถูกต้อง แต่จุดอ่อนของข้อเสนอของเขาก็คือ สิ่งที่เขาเสนอขาดพลังทางการเมืองที่มารองรับนำไปปฏิบัติให้เป็นจริง ซึ่งไม่ใช่ความผิดพลาดของธีรยุทธที่เป็นปัญญาชนสาธารณะ เพราะธีรยุทธมิใช่นักการเมือง แต่การไม่มีกลุ่มการเมืองใดเลยในประเทศนี้ที่อาสาแปลงแนวคิดของเขาให้กลายเป็นพลังการเมืองที่สามารถต่อกรกับระบอบทักษิณได้อย่างไม่เสียเปรียบในแง่วิสัยทัศน์นี้ต่างหากเล่าที่คือปัญหาของประเทศนี้!


ธีรยุทธมองว่า ยุทธศาสตร์ของทักษิโณมิกส์นั้นอิงอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวของนายกฯ ทักษิณที่ขายความมั่นใจให้แก่คนไทยและต่างชาติได้ นอกจากนี้ ตัวนายกฯ ทักษิณเองก็มีลักษณะผู้นำที่ดีหลายประการ เช่น มีความรู้หลายด้าน กล้าเผชิญปัญหา ทำให้สื่อสารกับประชาชนได้ดี จึงมีศักยภาพที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้ นอกจากนี้ยังมีความคิดริเริ่ม และเพดานความคิดระดับสากลที่กว้างไกลกว่านักการเมืองแบบเก่า มองขอบเขตความเชื่อมโยงปัญหาได้ดีกว่าเดิม มีความมั่นใจและกล้าใช้อำนาจ ซึ่งทำให้การเมืองแบบทักษิณมี "ความชอบธรรม" สูงกว่าการเมืองแบบเก่า


แต่ยุทธศาสตร์ของทักษิโณมิกส์เป็นการหันหัวเรือเศรษฐกิจและการเมืองไทยกลับแบบ 180 องศา ในความหมายที่ว่า นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา สังคมไทยได้พัฒนามาสู่ทิศทางของการกระจายอำนาจมาสู่ชุมชน ประชาชนมีสิทธิ มีเสรีภาพการวิจารณ์ มีการถ่วงดุลระหว่างภาคส่วนต่างๆ นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540 ยังทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาสนใจหลักการแบบเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนนิยม สังคมตรวจสอบธรรมรัฐ การพึ่งพิงตนเอง การเป็นตัวของตัวเอง การใช้ทรัพยากรของตนเท่าที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพ และเอาตัวรอดในสภาพวิกฤตเศรษฐกิจขณะนั้น


ครั้นพรรคไทยรักไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาล ได้หันมาใช้นโยบายแบบทักษิโณมิกส์กลับทิศทางข้างต้นเป็นตรงกันข้าม โดยอาศัยนโยบาย "ประชานิยม" เป็นตัวการทำให้ประชาชนในระดับล่างมีความสามารถในการใช้จ่ายบริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันก็กระตุ้นการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับรากหญ้าให้ชุมชนริเริ่มนำทรัพยากรของตนมาแปลงเป็น "ทุน" เพื่อเข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว ทั้งๆ ที่ภูมิต้านทานและความเตรียมพร้อมทางด้านองค์ความรู้แบบทุนนิยมยังไม่แข็งแกร่งพอ


ความล่มสลายหลังเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540 ทำให้เกิดความแตกต่างในท่าทีขึ้นมาระหว่างกลุ่มทุนกับกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม กล่าวคือ ในขณะที่กลุ่มทุน ต้องการฟื้นตัวและก้าวไปข้างหน้าในวิถีทุนนิยมต่อไปอย่างรวดเร็วที่สุด กลุ่มพลังอื่นๆ ของสังคมกลับต้องการให้ระบบเศรษฐกิจมีการทบทวนบทเรียนให้ฟื้นตัวและก้าวไปข้่างหน้าอีกครั้งอย่างมีสติ มีความรับผิดชอบต่อประชาชน ต่อสังคม ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่เน้นความพอดี และการพึ่งตัวเอง ในช่วงหลังวิกฤต สังคมไทยได้ถกเถียงวิจารณ์ในเรื่องเหล่านี้กันอย่างกระตือรือร้น


ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคไทยรักไทยในต้นปี 2544 ส่วนหนึ่งก็เพราะพรรคไทยรักไทยสามารถเสนอนโยบายที่ "โดนใจ" ทั้งกลุ่มคน และกลุ่มพลังอื่นๆ ของสังคมนั่นเอง แต่ยิ่งเวลาผ่านไปนานเข้า ทักษิโณมิกส์กลับยิ่งสนอง "ความปรารถนา" ของกลุ่มทุนมากกว่าความปรารถนาของกลุ่มพลังอื่นๆ ของสังคมมากยิ่งขึ้นทุกที ขณะที่นโยบาย "ประชานิยม" ก็มีแต่ทำให้ชุมชนคิดพึ่งตนเองน้อยลง


ด้วยเหตุนี้ ธีรยุทธจึงมองว่า นโยบายของทักษิโณมิกส์ ไม่ใช่นโยบายสร้างทุนนิยมเพื่อสังคม แต่เป็นทุนนิยมเพื่อการเมือง หรือทุนนิยมเพื่อรัฐ กล่าวคือ รัฐบาลไทยรักไทยได้ใช้นโยบายประชานิยมและโครงการเอื้ออาทรต่างๆ เข้ามาครอบงำความคิดชาวบ้านระดับรากหญ้า พยายาม "จัดระเบียบความคิด" ผู้คนให้คิดไปในทิศทางเดียว คือ มุ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภควัตถุเป็นหลักอย่างขาดสมดุลกับด้่านอื่นๆ พยายามผูกจิตใจชาวบ้านเข้ากับภาคการเมืองผ่านผลประโยชน์ต่างๆ ที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการเอื้ออาทรประเภทต่างๆ นอกจากนี้ รัฐบาลชุดนี้ยังมีท่าทีกีดกัน "ตัดตอน" การเคลื่อนไหวสังคมของกลุ่มพลังต่างๆ อย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางการเมืองแบบรากหญ้าและการมีส่วนร่วม


ความสำเร็จของทักษิโณมิกส์ เป็นแค่ความสำเร็จในการแทนที่การอุปถัมภ์เชิงบุคคล ด้วยการอุปถัมภ์เชิงนโยบายเท่านั้น ในขณะที่การอุปถัมภ์เชิงบุคคลเป็นความสัมพันธ์แบบซึ่งหน้าระหว่างผู้อุปถัมภ์และผู้ใต้อุปถัมภ์ และมีลักษณะเฉพาะถิ่น แต่การอุปถัมภ์เชิงนโยบายจะมิใช่ความสัมพันธ์โดยตรง ผู้ใต้อุปถัมภ์ต้องสามารถ "จินตนาการ" ได้ก่อนว่า ผู้อุปถัมภ์คือ ภาคการเมือง ซึ่งผู้ใต้อุปถัมภ์ต้องมอบความภักดีแก่ผู้อุปถัมภ์เช่นกัน ถ้าบอกว่านี่คือความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของสังคมไทยก็เห็นจะไม่ผิดนัก แต่แค่นี้ยังไม่เพียงพอหรอกถ้ามองจากสายตาของระดับจิตที่สูงกว่านั้น


ธีรยุทธยังเตือนทักษิโณมิกส์อย่างหวังดีอีกว่า การเร่งรีบดำเนินการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับความเสี่ยงสูง นี่ยังไม่นับรวมราคาที่ต้องจ่ายไปในการใช้อำนาจและการจำกัดควบคุมความคิดความเสี่ยงสูงที่กำลังนำพาประเทศนี้เข้าสู่ "ทางแพร่งแห่งหายนะ" ได้แก่


(1) ความเสี่ยงสูงด้านการพัฒนาผิดทิศ เพราะการที่รัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว โดยไม่ให้ความสำคัญกับความมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ขาดการพึ่งตนเอง และการใช้นโยบายประชานิยมอย่างไม่บันยะบัันยัง อาจทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกที่รุนแรงกว่าปี 2540 ได้อีกครั้ง


(2) ความเสี่ยงสูงในเชิงปรัชญาการสร้างประเทศ ปัจจุบันระบอบทักษิณหันมาเน้นนโยบายมุ่งรวมประเทศเป็นโครงสร้างเดียวกัน ภายใต้อำนาจและวิธีคิดเดียวกัน ซึ่งเป็นการละเลยความหลากหลายทางการเมือง สิทธิเสรีภาพทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม


(3) ความเสี่ยงสูงในเชิงการเมือง เพราะพรรคไทยรักไทยมีแนวโน้มที่จะสถาปนาระบบพรรคการเมืองเดียว ซึ่งอาจไปบั่นทอนประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535


(4) ความเสี่ยงสูงในเชิงสังคม หากในอนาคตอันใกล้ ภาวะหนี้สินของผู้คนระดับรากหญ้ารุนแรงขึ้นเนื่องจากถูกกระตุ้นให้ใช้จ่ายเกินตัว ย่อมกลายเป็นปัญหาสังคมอีกแน่นอน


(5) ความเสี่ยงสูงต่อการคอร์รัปชันทั้งระบบ โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งทับซ้อนแห่งผลประโยชน์ของกลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจที่สังกัดชัดเจนกับภาคการเมือง เวลาที่เราพูดกันว่า นายกฯ ทักษิณ กำลังเดิมพันประเทศทั้งประเทศด้วยกลยุทธ์ทักษิโณมิกส์ของเขา เรากำลังพูดถึงความเสี่ยงสูง 5 ประการข้างต้นนี้นั่นเอง ลำพังเราจะหวังไปพึ่งนายกฯ ทักษิณคนเดียว ในการปฏิรูประบบทั้งระบบเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องนัก มันเป็นหน้าที่และความชอบธรรมที่พวกเราทุกคนจะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเท่าที่จะทำได้ เหมือนอย่างที่ ธีรยุทธ บุญมี ได้ทำหน้าที่ของเขาเป็นอย่างดีแล้วในฐานะที่เป็นปัญญาชนสาธารณะที่ออกมาวิจารณ์และตักเตือนรัฐบาล (โปรดดูตารางเปรียบเทียบมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาลทักษิณกับธีรยุทธ บุญมี)








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้