10 เหล่าผู้วิพากษ์ทักษิโณมิกส์

10 เหล่าผู้วิพากษ์ทักษิโณมิกส์


เหล่าผู้วิพากษ์ทักษิโณมิกส์



จนถึงขณะนี้ ก็มีผู้ที่ออกมาวิพากษ์ทักษิโณมิกส์ในเชิงวิชาการพอสมควร ด้วยกรอบความคิด และกรอบการวิเคราะห์ที่หลากหลายพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น รัตพงษ์ สอนสุภาพ ใน Thaksino 's Model ปฏิรูปความมั่งคั่งสู่ฐานอำนาจใหม่ (2546) ได้ใช้กรอบการวิเคราะห์เรื่องกลุ่มทุนแบบเศรษฐศาสตร์การเมือง (ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ) ที่เขาเคยใช้ในงานเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่อง "ทุนขุนนางไทย" (2540) ของเขามาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ การเข้าสู่อำนาจรัฐของกลุ่มทุนสื่อสาร ในฐานะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนายทุน กับกลุ่มข้าราชการประจำกองทัพ และนักการเมือง


จากแต่เดิมที่กลุ่มนายทุนเป็นเพียงตัวประกอบทางการเมืองให้แก่กลุ่มข้าราชการประจำ กองทัพ และนักการเมืองเท่านั้น แล้วเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม และรัฐบาลพลเอกชาติชาย แต่ก็ยังคงถูกคานอำนาจจากกองทัพและข้าราชการประจำ ครั้นในยุครัฐบาลพลเรือนหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ไม่ว่าจะเป็นชวน 1-บรรหาร-ชวลิต และชวน 2 บทบาทของกลุ่มนายทุนก็ยังถูกจำกัดไว้เพียงแค่เป็นผู้สนับสนุนการเลือกตั้ง เป็นเพียงแค่ที่ปรึกษา หรือเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงที่ไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญ โดยที่นโยบายของรัฐบาลยังคงเป็นนโยบายที่มีรากฐานมาจากข้าราชการประจำ ไม่เปลี่ยนแปลง


กล่าวคือ ก่อนรัฐบาลทักษิณ กลุ่มนายทุนไทยยังไม่เคยได้แสดงบทบาทนำในทางการเมืองและเศรษฐกิจมาก่อนเลย ยังคงเป็นผู้ตามนักการเมืองอาชีพและระบอบข้าราชการ แม้จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับก็ตาม แต่รัฐบาลทักษิณได้เปิดโฉมหน้าใหม่ทางประวัติศาสตร์ให้แก่กลุ่มนายทุนไทยเป็นครั้งแรก ด้วยการก้าวเข้ามาสถาปนา "ความเป็นเจ้า" (Hegemony) ผู้ใช้อำนาจรัฐทดแทนกลุ่มอำนาจเก่า เช่น ข้าราชการประจำ และนักการเมืองอาชีพ ซึ่งกำลังถูก "ตัดตอน" ลดทอนอำนาจลงไปมากมาย เหลือเพียงกลุ่มนายทุนฝ่ายเดียวที่จะใช้อำนาจรัฐแบบเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะ กลุ่มทุนใหม่ คือ ทุนสื่อสารโทรคมนาคมจนเป็นที่มาของระบอบทักษิณ หรือ "ทักษิโณโมเดล"


ข้างต้นนี้คือ คุณูปการของงานเขียนของ รัตพงษ์ ในการวิเคราะห์ทักษิโณมิกส์ ซึ่งเขาได้รับอิทธิพลกรอบความคิดนี้มาจากอาจารย์ของเขาคือ สังศิต พิริยะรังสรรค์ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกรุ่นแรกๆ ในงานวิชาการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์


การก่อตัวของระบบทุนนิยมในประเทศไทย แต่บทวิพากษ์ทักษิโณมิกส์โดยรวมของ รัตพงษ์ ก็ยังอ้างอิงบทวิพากษ์ของ ธีรยุทธ บุญมี (2546) อีกทีหนึ่ง (ซึ่งผู้เขียนจะแยกบทวิพากษ์ทักษิณนุวัตร ของธีรยุทธ บุญมี มาวิเคราะห์ต่างหากอย่างละเอียดในภายหลัง)


กรอบการวิเคราะห์แบบ "กลุ่มทุน" อย่างของรัตพงษ์ข้างต้น มีจุดแข็งในเรื่องการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับรัฐเหมือนอย่างที่ สังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ชี้ให้เห็นว่า


"พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคของฝ่ายทุนพรรคแรกที่ได้อำนาจรัฐในการบริหารประเทศ แต่เป็นพรรคของฝ่ายทุนพรรคแรกที่บริหารประเทศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีความหมายที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของไทยในระยะใกล้ เพราะพรรคไทยรักไทยได้ทำให้ลักษณะของรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างลึกซึ้ง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับระบบราชการ กองทัพ ตำรวจ นิติบัญญัติ ประชาสังคม และโลกาภิวัตน์เปลี่ยนแปลงไปหมด"


แต่จุดอ่อนของกรอบการวิเคราะห์แบบนี้คือ มันไม่เพียงพอในการใช้ทำความเข้าใจตัวเนื้อหาของนโยบายทางเศรษฐกิจสังคมของทักษิโณมิกส์ในส่วนนี้ งานของ วิทยากร เชียงกูล (2545) เรื่อง วิพากษ์ไทยรักไทยบนฐานคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบองค์รวม (สถาบันวิถีทรรศน์) โดยเฉพาะส่วนที่ 2 "วิพากษ์นโยบายไทยรักไทย" ที่วิทยากรวิพากษ์นโยบายภาคเกษตร นโยบายสถาบันการเงิน นโยบายแก้ไขปัญหาคนจน นโยบายปฏิรูปสาธารณสุข นโยบายปฏิรูปการศึกษา นโยบายปฏิรูปราชการ พร้อมกับนำเสนอแนวนโยบายของเขาเองประกอบด้วยนั้น นับได้ว่าเป็นการมาเสริมจุดอ่อนนี้ได้พอสมควร


จะว่าไปแล้ว สิ่งที่วิทยากรนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ของเขานั้น มีความหนักแน่นทางวิชาการในการถกเถียงโต้แย้งเชิงนโยบายที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ควรมองข้าม และสามารถใช้เป็นนโยบายหาเสียงแข่งกับพรรคไทยรักไทยได้อย่างสบายหากพรรคการเมืองอื่นสนใจจะนำมาใช้ พูดตรงๆ ก็คือ วิทยากรได้ทำหน้าที่ที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านควรทำดีกว่าตัวพรรคฝ่ายค้านเสียอีก ยกตัวอย่างเช่น


วิทยากรได้วิจารณ์โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยของรัฐบาลว่า เป็นแค่ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาเท่านั้น แต่ถ้าจะช่วยเกษตรกรให้ฟื้นได้จริงๆ จำเป็นต้องปฏิรูปที่ดินและปฏิรูปการเกษตรด้านอื่นๆ พร้อมกันไปด้วย โดยเฉพาะต้องช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตต่อไร่


หรือวิทยากรได้วิจารณ์การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและโครงการสินค้าโอทอป (สินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์) ว่าเร่งรีบอัดฉีดเงินเข้าไป โดยขาดการวางแผนในระดับมหภาคและการจัดการที่ดี เพราะไม่มีการวิเคราะห์ภาพรวมอย่างรอบคอบ และไม่ได้ให้ความรู้ชาวบ้านในการบริหารเงินที่จักก่อให้เกิดการจ้างงานและการเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง แต่กลับปล่อยเงินให้ชาวบ้านต่างคนต่างไปเพิ่มผลผลิตค้าขายเอง ทำให้มีแนวโน้มผลิตสินค้าคล้ายๆ กันมาขายแข่งขันกันเอง แล้วส่วนใหญ่จะขาดทุน


แต่ข้อวิพากษ์ที่สำคัญที่สุดของวิทยากรที่มีต่อรัฐบาลไทยรักไทยก็คือ แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน ภายใต้นโยบายเพิ่มเงินกู้ พัฒนาให้คนจนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ของคนจนได้บางส่วนก็จริง แต่ตราบใดที่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของไทย ยังมีลักษณะไม่เป็นธรรมสูง และยังมุ่งเน้นแต่การส่งเสริมการหากำไรของเอกชนแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาอยู่ ในที่สุดคนจนส่วนใหญ่คงมีแนวโน้มเป็นหนี้เรื้อรังเพิ่มขึ้นมากกว่า


พร้อมกันนั้น วิทยากรก็ได้เสนอ "ทางเลือกใหม่" ในการแก้ปัญหาความยากจนเพื่อคนส่วนใหญ่อย่างยั่งยืน โดยเขาเสนอให้ลดสัดส่วนการพึ่งพาทุนและการค้ากับต่างประเทศลง ให้เลือกผลิตเพื่อส่งออกแข่งขันกับต่างประเทศให้ส่วนที่พอแข่งขันได้ และให้หันกลับมาเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงในระดับประเทศ คือผลิตสินค้าที่จำเป็นเพื่อตลาดภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น หลักคิดที่วิทยากรเสนอคือ หลักคิดใหม่ที่เน้นเศรษฐกิจพอเพียง ความสมดุลและการกระจายที่เป็นธรรม


จุดอ่อน ในกรอบความคิดของวิทยากร เชียงกูล เท่าที่พอเห็นในงานเขียนชิ้นนี้ของเขาคือ ยังมีเค้าเงาของทฤษฎี "พึ่งพา" (Dependency theory) แฝงอยู่ ทั้งๆ ที่สำนักคิดทฤษฎีอันนี้ได้ "ล้มละลาย" ไปแล้ว เพราะ "ล้มเหลว" ในการทดลองมาใช้ (อย่างกรณีของ "เขมรแดง") แต่หลายประเด็นที่วิทยากรได้วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลไทยรักไทย สมควรที่รัฐบาลจะน้อมรับฟังอย่างแยกแยะ ในอีกแง่หนึ่ง การวิจารณ์นโยบายรัฐบาลของวิทยากร กลับมิได้เป็นการ "รื้อถอน" หรือ "ถอดรื้อ" ฐานคิดของทักษิโณมิกส์เลย ขณะที่ "ทางเลือกใหม่" ที่เขาเสนอก็ไม่มีแรงดึงดูดใจเพียงพอ


การวิพากษ์ทักษิโณมิกส์ นอกจากกระทำโดยนักเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างวิทยากร และ รัตพงษ์ แล้ว นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักระดับ "คุรุ" (guru) อย่าง อัมมาร สยามวาลา ก็ออกมาวิจารณ์อย่างเปิดเผยด้วยเช่นกันในหลายวาระ อัมมารต่างกับวิทยากรตรงที่เขาไม่วิจารณ์จากความเชื่อเชิงอุดมการณ์ แต่เขาวิจารณ์จากความซื่อตรงแห่งวิชาชีพในฐานะที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์เถรตรง ซึ่งโดยหน้าที่แล้วต้องตั้งข้อสงสัยระแวงคลางแคลงใจไว้ก่อน (skeptic)


สิ่งที่อัมมารตั้งข้อสงสัยในนโยบายต่างๆ ของทักษิโณมิกส์นั้น ได้แก่

(1) การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ โดยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดย่อม มีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะล้มเหลวและก่อหนี้ให้ภาครัฐ


(2) ในการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ด้วยกองทุนหมู่บ้าน และการพักชำระหนี้เกษตรกรของรัฐบาลทักษิณ เป็นการกระทำที่ขัดแย้งกันเอง และไม่คงเส้นคงวา เพราะหนี้เดิมยังไม่มีการชำระแต่ให้พักไว้แล้วกลับมาปล่อยให้กู้ใหม่


(3) การมุ่งส่งเสริมประชาชนให้หันมาเป็นผู้ประกอบการของรัฐบาลทักษิณ แม้เป็นความตั้งใจดี แต่ดูเบาในเรื่องการมีวินัยในการบริหารจัดการ และไม่ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจภายใต้กลไกแบบทุนนิยม ซึ่งชาวบ้านยังขาดประสบการณ์อยู่มาก ซึ่งสุดท้ายความเสี่ยงของประชาชน รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ ทักษิณ ก็จะมารับความเสี่ยงแทนโดยผ่านสถาบันการเงินของรัฐ


(4) เรื่อง SMEs แม้เป็นแนวคิดที่ดีในเชิงหลักการ แต่ในความเป็นจริงยังไม่มีโมเดลทางธุรกิจที่จะมารับรองความสำเร็จของ SMEs ได้ สุดท้ายพอถึงจุดหนึ่ง พวก SMEs คงยากที่จะหลีกเลี่ยงการช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ได้ และอาจกลายเป็นภาระของรัฐบาลในที่สุด


(5) หากนโยบายของทักษิโณมิกส์ล้มเหลว ภาคชนบทของไทยจะกลายเป็นแค่ ศูนย์กลางการบริโภค โดยมิได้เป็นศูนย์กลางการผลิต ซึ่งจะกลับเป็นการเพิ่มวิกฤตในชนบท


(6) โครงการสินค้าโอทอปมีแนวโน้มที่จะทำให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมเล็กๆ จำนวนมาก แต่อ่อนแอและต้องการเงินอุดหนุนจากรัฐบาล


(7) หลังฟองสบู่แตกในปี 2540 ซึ่งทำให้ทุนนิยมแบบนายธนาคารของไทยที่มีลักษณะเหมือนแชร์แม่ชม้อย (คืออยู่ได้เมื่อเศรษฐกิจยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา ทุกอย่างก็สิ้นสุดลง) ถึงจุดจบ แต่ทุนนิยมแบบไหนจะเกิดขึ้นในยุคนี้ และจะเป็นอย่างไรยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แม้รัฐบาลทักษิณจะมีการทดลองใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจรากหญ้า กองทุนวายุภักษ์ ธนาคารประชาชน หรือนโยบายเอื้ออาทรอื่นๆ ซึ่งในที่สุดแล้ว ผู้ที่เป็นคนจัดสรรทุนคือ รัฐ แต่องค์กรที่มารับช่วงพัฒนาทุนนิยมยังไม่ชัด ความยืนยาวยังดูไม่ออก ยังอ่านไม่ออกว่าจะเป็นทุนนิยมแบบไหน


(8) คนไทยจึงควรต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ด้วยการตั้งคำถามเอาไว้เสมอว่า ใครเป็นผู้ดำเนินการ? อำนาจอยู่กับใคร? การใช้เงินตามนโยบายรัฐให้ผลตอบแทนเพียงพอที่จะให้มีชีวิตแบบยั่งยืนหรือไม่? เพื่อระวังไม่ให้เกิดหายนะรอบสองเหมือนที่เกิดจากความหายนะของนายธนาคารในช่วงฟองสบู่ แต่คราวนี้ถ้าหากหายนะรอบสองจะเกิดมันจะเกิดจากความหายนะของรัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณ ในรูปของวิกฤตหนี้สาธารณะ (โดยเฉพาะหนี้นอกงบประมาณ) ที่ท่วมท้นจากนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน


(9) ความเป็นเศรษฐกิจที่เปิดมากขึ้นของไทย โดยผ่านนโยบายเขตการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะการที่เศรษฐกิจไทยไปอิงกับเศรษฐกิจจีนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ขณะนี้กำลังมี "ฟองสบู่" เกิดขึ้นในจีนอยู่ ก็เป็นความเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง


การตั้งข้อสงสัยต่างๆ ข้างต้นของอัมมาร ล้วนแล้วแต่เป็นข้อสงสัยโดยสุจริตของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มีต่อทักษิโณมิกส์ทั้งสิ้น นี่ยังไม่รวมเรื่อง การทับซ้อนเรื่องผลประโยชน์ ที่ถูกวิจารณ์มาโดยตลอด


อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์ทักษิโณมิกส์ที่กล่าวมาข้างต้น ยังเป็นการวิพากษ์ในกรอบ "ทันสมัยนิยม" (ในระดับจิตมีมสีส้ม อันเป็นระดับจิตเดียวกับระดับจิตของทักษิโณมิกส์) ซึ่งมีข้อจำกัดอยู่ในตัวเองตรงที่มันไม่สามารถ "ก้าวข้าม" "ข้ามพ้น" (transcend) ระบอบทักษิณได้ในระดับปรัชญา และฐานคิด


โชคดีที่ยังมีการวิพากษ์จากกรอบ "หลังทันสมัยนิยม" (โพสต์โมเดิร์น) โดย ธีรยุทธ บุญมี (ในระดับจิตมีมสีเขียว ที่สูงกว่าระดับจิตของทักษิโณมิกส์) ที่มีพลังในการวิพากษ์มากกว่าในเชิงปรัชญา และฐานคิด จึงถูกโต้ตอบอย่างกราดเกรี้ยวที่สุดกว่าผู้วิพากษ์คนอื่นๆ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปอย่างละเอียด






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้