11. เศรษฐกิจอเมริกา : ทรุดซึมลึก-ยืดเยื้อยาวนาน

11. เศรษฐกิจอเมริกา : ทรุดซึมลึก-ยืดเยื้อยาวนาน


เศรษฐกิจอเมริกา ทรุดซึมลึก-ยืดเยื้อยาวนาน

 



ระยะไม่กี่ปีมานี้ มีคนกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง ว่า ฟองสบู่ใกล้จะแตกเต็มทีแล้ว แต่เศรษฐกิจสหรัฐก็ยังเติบโตไม่หยุดยั้ง กระทั่งธุรกิจดอทคอมเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ตก และปรากฏข่าวฉาวออกมาถึงการตบแต่งบัญชีของบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง ส่งผลให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในตลาดหุ้น และเริ่มถอนทุนออกจากสหรัฐ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างไร หากฟองสบู่แตกลงตามการคาดการณ์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงแค่ไหน โลกจะเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไร

เพื่อตอบคำถามนี้ สถาบันวิถีทรรศน์ ได้จัดสัมมนาเรื่อง "เศรษฐกิจฟองสบู่อเมริกา" เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วย รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย และ ผศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ จากสถาบันวิถีทรรศน์

 

รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย กล่าวว่า ปรากฏการณ์ของเศรษฐกิจฟองสบู่เกิดควบคู่กับระบบโลก หรือทุนนิยมโลกตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในยุโรป พร้อมกับวิวัฒนาการของเศรษฐกิจทุนนิยม ถ้าเราเข้าใจกลไกการเกิดขึ้นก็ไม่ยาก ที่ยากคือความซับซ้อนของปรากฏการณ์ในแต่ละยุคสมัย การจะเข้าใจปรากฏการณ์ฟองสบู่ เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้เล่นหลักคือใคร เพราะกลไกของการเกิดฟองสบู่คือ การเล่นเกมเงินตรา

ฟองสบู่อเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1990-2002 นับเป็นปรากฏการณ์ฟองสบู่ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่เคยมีในรอบ 400 ปีที่ผ่านมา เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ

1) ผู้เล่นในการเก็งกำไรคือกองทุนบำนาญ ซึ่งระดมเงินได้มหาศาลจากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ
2) เกิดเศรษฐกิจใหม่ในภาคการผลิตจริง อันเป็นผลจากการปฏิวัติไอที ที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตแบบข้ามชาติ ในหมู่บรรษัทโลกบาล ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ นับเป็นครั้งแรกที่กระบวนการไม่ใช่แค่ฟีเวอร์ช่วง สั้นๆ ทั้งยังแทนที่เศรษฐกิจจริงด้วยซ้ำไป ความเสียหายจึงกระทบโครงสร้างแท้จริง
3) อินเทอร์เน็ต ทำให้ประชาคมโลกสามารถร่วมเล่นเกมเก็งกำไรได้ง่ายขึ้น ฟองสบู่ดอทคอมของอเมริกา จึงกลายเป็นฟองสบู่ของโลกด้วย และผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะอเมริกาเท่านั้น

ในการศึกษาวิเคราะห์วัฏจักรธุรกิจและวัฏจักรเศรษฐกิจที่ผ่านมา เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีจุดอ่อนตรงที่มองแต่ปัจจัยภายนอกแบบแยกส่วน เช่น เป็นเรื่องของสงคราม นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ฯลฯ โดยขาดการวิเคราะห์กลไกภายใน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในช่วงตอนต่างๆ ของวัฏจักรนั้น


สุวินัยมีความเห็นว่า การวิเคราะห์วัฏจักรธุรกิจ หรือเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงฟองสบู่ ต้องมีการวิเคราะห์ในเรื่องต่อไปนี้

1) กระบวนการสะสมความมั่งคั่ง
2) บทบาทของนวัตกรรมของเทคโนโลยี คือ การสร้างมายาความเชื่อมั่น ตัวอย่างเช่น อเมริกาสร้างมายาเรื่อง "เศรษฐกิจใหม่" ว่าไม่มีวันล้ม จะขยายตัวต่อเนื่องยาวนาน ทำให้คนกล้าเล่นเก็งกำไรกัน ในญี่ปุ่นเองเคยเชื่อว่าธนาคารไม่ล้ม ที่ดินราคาไม่ตก คนไทยก็เคยเชื่ออย่างนั้น
3) บทบาทของการเก็งกำไรเป็นกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ
4) สถาบันหลักที่สนับสนุนการเก็งกำไรให้กลายเป็นกิจกรรมหลัก
5) เครือข่ายการเก็งกำไรที่ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ การเล่นพนันบอลก็เช่นเดียวกัน
6) ฟองสบู่ในฐานะเป็นระบบซับซ้อนในภาวะวิกฤติ

กล่าวโดยสรุป สุวินัย มีความเห็นว่า ผลกระทบจากฟองสบู่อเมริกาแตกในระยะอันใกล้นี้ คงไม่นำไปสู่การพังทลายของระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ภายใน 12 ปีนี้มีความเป็นไปได้อยู่



ส่วน รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ มีความเห็นไม่ต่างจากสุวินัยมากนัก โดยพิจารณาจากอัตราการเติบโตของจีดีพีสหรัฐ นับตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดี จอห์นเอฟ เคเนดี้ ถึงปัจจุบันจะพบว่า ก่อนนี้จีดีพีสหรัฐเติบโตมากแต่ก็ลงเร็ว นั่นเป็นเพราะฐานของจีดีพียังไม่ใหญ่มาก แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านล้านดอลลาร์ (คิดเป็น 1/3 ของจีดีพีโลก) ปี 1991 จีดีพีติดลบเพราะสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทว่า นับตั้งแต่ บิล คลินตัน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 1993 จีดีพีก็เติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตรา 4-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี


เหตุที่จีดีพีเติบโตอย่างต่อเนื่องมาในสมัยคลินตัน มีปัจจัย 8 ประการ ดังนี้

หนึ่ง การคลั่งไคล้ในการควบรวมกิจการ ซึ่งเริ่มต้นในปี 1995 มีมูลค่าการควบรวม 5 แสนล้านดอลลาร์ ปี 1997 มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ปี 1999 เพิ่มเป็น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ และขยับเป็น 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2000 แต่เมื่อฟองสบู่แตกปี 2001 ลดลงเหลือ 5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับปี 1995 ขณะที่ครึ่งปี 2002 เหลือ 2.2 ล้านดอลลาร์ มูลค่าที่ลดลงส่งผลต่อฟองสบู่ มีผลต่อปัจจัยพื้นฐาน เพราะการควบรวมกิจการ ทำให้การบริหารต้นทุน บริหารตลาดมีประสิทธิภาพขึ้น ข้อสำคัญคือทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้น

สอง เงินทุนจำนวนมากไหลเข้าสู่อเมริกา ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เพราะฟองสบู่ในญี่ปุ่นแตก สมทบกับไทยที่เกิดต้มยำกุ้ง เงินทุนจากภูมิภาคนี้ก็ไหลเข้าไป สมทบด้วยเงินทุนจากยุโรป แต่ตอนนี้กลับสวนกระแส เงินทุนไหลออกจากอเมริกา แสดงว่าคนอเมริกันไม่ไว้ใจกองทุน และต่างชาติก็ถอนเงินออกนอกประเทศด้วย ปัจจัยตัวนี้สำคัญเพราะต่างประเทศไปลงทุนในอเมริกา ปี 2000 เกือบ 8 ล้านล้านดอลลาร์ (เศรษฐกิจอเมริกาไม่ได้พึ่งการนำเข้า-ส่งออก เพราะมูลค่าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี)

สาม อเมริกาขาดดุลงบประมาณตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีนิกสัน และเพิ่มมากขึ้นในสมัยประธานาธิบดีโรแนลด์ เรแกน ช่วงต้นสมัยเรแกนปี 1981 ปริมาณหนี้สาธารณะอยู่ที่ 3.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี พอมาปีสุดท้ายของประธานาธิบดีจอร์จ บุช หนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 63 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ทว่า ในสมัยประธานาธิบดีคลินตัน ตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา งบประมาณกลับเป็นแบบเกินดุล ปัจจุบันเริ่มกลับมาขาดดุลอีกครั้ง โดยนโยบายของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (ปีนี้ขาดดุล 165,000 ล้านดอลลาร์)

สี่ การบริโภคภายในประเทศ เกิดจากผลพวงแห่งความมั่งคั่ง โดยคนอเมริกันคาดว่าอสังหาริมทรัพย์ และหุ้นราคาจะขึ้นอีก จึงจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในวันนี้ ทำให้การออมในครัวเรือนน้อยลง ดังจะเห็นได้จากปี 1994 อัตราการออมคิดเป็น 6.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ปี 2000 เหลือ 0.5 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าการออมลดลง มีการกู้มาใช้จ่ายล่วงหน้ามากขึ้น

ห้า อัตราการขยายตัวในตลาดหุ้น ปรากฏการณ์แบล็คมันเดย์ปี 1987 ซึ่งตลาดหุ้นขึ้นไป 2 พันจุดต้นๆ หลังจากนั้นวันเดียวลดไป 508 จุด พอปี 1988 หุ้นติดลบ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาต้นทศวรรษ 1990 ดัชนีดาวโจนส์อยู่ที่ 2-3 พันจุด ปี 1995 ขึ้นมาเป็น 4,500 จุด ปี 2000 เป็น 12,000 กว่าจุด ฉะนั้น เราจะเห็นอัตราการขยายตัวในตลาดหุ้นที่รุนแรง หุ้นแนสแด็กก็เช่นกัน การที่ตลาดหุ้นขยายตัวมาก เกิดจาก 4 ปัจจัยข้างต้นเป็นตัวกระตุ้น
คำถามคือ ตลาดหุ้นอเมริกาจะรักษาอาการนี้ไว้ได้นานขนาดไหน อะไรคือตัวแปรที่จะรักษาโครงสร้างนี้ได้?

หก อสังหาริมทรัพย์ เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ คนจึงกู้เงินมาซื้อบ้านมาก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงไปได้ดีพอควร ทำให้ฟองสบู่ยังไม่แตกอย่างแหลกลาญ
โดยตัวแปรที่ก่อให้เกิดกระแสฟองสบู่มี 4 ตัว คือ อสังหาริมทรัพย์ ตลาดทุน ธุรกิจไอที และการบริโภค ซึ่งตอนนี้แตกไปแล้ว 2 ตัว คือ ตลาดทุนและไอที ถ้าสหรัฐไม่สามารถรักษา 2 ตัวที่เหลือไว้ได้ ฟองสบู่จะแตกมากกว่านี้แน่นอน และไม่มีทางฟื้นตัวได้โดยง่าย

เจ็ด อัตราการผลิตขยายตัวพอสมควร

แปด ภาคการเงิน

ประเด็นต่อมา อเมริกาถึงคราวต้องปรับฐานเศรษฐกิจหรือไม่

สมภพ ตอบว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คงไม่ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาถึงกับล้มคว่ำ เหมือนตอนที่เกิดเกรทดีเปรสชั่น อย่างไรก็ดี หากจะดูว่าอเมริกาหลุดพ้นจากฟองสบู่แตกหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าอเมริกาต้องปรับฐาน หรือสามารถขยายตัวออกไปได้หรือไม่


โดยปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณา ประกอบด้วย

1) การหดตัวของมูลค่าสินทรัพย์ เช่น สินทรัพย์ภาคการเงิน ดอลลาร์หดตัวลงหรือไม่ (การที่ค่าเงินลดลงแสดงว่าคุณค่าลดลง) และการหดตัวของตลาดทุนซึ่งชัดเจนมากในขณะนี้

2) การหดตัวของเศรษฐกิจ ฟองสบู่ไทยแตกมาแล้ว 5 ปี ตัวเลขจีดีพียังไม่ได้กลับไปที่ 5 ปีก่อน เมื่อเกิดการหดตัวก็ต้องปรับฐานเศรษฐกิจใหม่ และสิ่งหนึ่งที่จะเกิดตามมาคือ สภาพคล่องล้นเกิน (กรณีนี้อาจไม่เกิดในอเมริกา) เช่น ญี่ปุ่น ไทย มีกับดักสภาพคล่อง ล่าสุด รัฐบาลไทยต้องออกพันธบัตร 3 แสนล้านบาท เพื่อดูดซับสภาพคล่อง แต่อเมริกาคงมีปัญหาน้อยกว่า

3) กำลังการผลิตล้นเกิน ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมอเมริกาใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ คงต้องดูว่าหลังจากนี้ไปเป็นอย่างไร หากเปรียบเทียบกับไทยหลังฟองสบู่แตกช่วงต่ำสุด กำลังการผลิตลดเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ และใช้เวลา 5 ปีจึงจะมีกำลังการผลิตเป็น 60 เปอร์เซ็นต์เช่นในปัจจุบัน

คำถามคือ อเมริกาจะทำอย่างไร เพื่อรักษากำลังการผลิตไว้ได้

หากใช้ตลาดภายในประเทศ ค่าเงินดอลลาร์ต้องอ่อนตัวลงกว่านี้อีกมาก เพื่อทำให้สินค้านำเข้าราคาแพง ไม่ต้องแข่งกับสินค้าในประเทศ จึงจะสามารถกอบกู้กำลังการผลิตในประเทศได้ แต่ดัชนีผู้บริโภคเมื่อเดือนมิถุนายน 2545 กลับหล่นลงมาต่ำสุดในรอบ 30 ปี จนบางคนบอกจะเกิดเงินฝืดหรือเปล่า ทำไมดอลลาร์อ่อนตัวแล้วดัชนีราคาผู้บริโภคยังลดลงอีก

4) ความไม่เชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินกับภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งเกิดขึ้นเสมอในช่วงเกิดฟองสบู่แตก ดังจะเห็นได้จากธนาคารพาณิชย์ไทย ที่อยากปล่อยกู้ก็ปล่อยไม่ได้ ภาคเศรษฐกิจจริงหดเล็กลง คนที่เครดิตดีๆ ก็ไม่อยากกู้เงินทำธุรกิจ

5) แรงกดดันจากภาวะเงินฝืด

6) ความผันผวนของจีดีพี ปัจจุบันมีวิวาทะว่าเศรษฐกิจไทยต่ำสุดหรือยัง อยู่ในช่วงขาขึ้นหรือลง ภายใต้โลกาภิวัตน์แบบนี้ จีดีพีมันขึ้นๆ ลงๆ เสมอ ขณะที่ยังไม่ได้สมดุล จีดีพียิ่งมีความผันผวนสูง 7) ปัญหาจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ เช่น ตบแต่งบัญชี ให้เห็นว่ากิจการของตนเองดี เพื่อเวลาควบรวมกิจการ หรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็ทำให้หุ้นราคาดีไปด้วย

การตบแต่งบัญชี คือตัวเร่งกระแสฟองสบู่ตัวหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น ในภาคแมคโครก็มี ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวเลขจีดีพีของสหรัฐ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปรับตัวเลขจีดีพีใหม่ว่าปีที่แล้วติดลบ 3 ไตรมาสติดต่อกัน (ไม่ใช่ไตรมาสเดียว) ซึ่งตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์แล้ว การติดลบต่อกัน 2 ไตรมาสก็ถือว่าเศรษฐกิจทรุดแล้ว รวมทั้งการปรับตัวเลขปี 2542-2543 อีกประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คือถ้าปรับตั้งแต่ในอดีตให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ฟองสบู่คงไม่ใหญ่โตมากขนาดนี้ แต่เมื่อตัวเลขจีดีพีดี บรรดาแมลงเม่าก็ผวาเข้าหาตลาดหุ้น ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน

ภาวการณ์เช่นนี้ อเมริกาปรับตัวอย่างไร จะฟื้นตัวจริงจัง หรือใช้เวลานานแค่ไหนในการฟื้นตัวหลังฟองสบู่แตก? ที่ผ่านมาธุรกิจอเมริกาได้ทำ 5 สิ่งต่อไปนี้ (ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544) คือ ลดการลงทุนคงที่เหลือ 1/3, ลดปริมาณการสต็อกสินค้าเหลือ 2/3 จากที่เคยสต็อกไว้ 75 วัน เหลือ 50 วัน, เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การขาย ขายน้อยลง เร็วขึ้น ขายเป็นเงินสดมากขึ้น ถือเงินสดเพิ่มเป็น 2 เท่า

ประการสำคัญคือ กลต.อนุญาตให้ธุรกิจ ซื้อหุ้นบริษัทตัวเองในตลาดหลักทรัพย์กลับคืนได้ จึงช่วยรักษาราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ให้ยังดีอยู่ ในช่วงปลายปีที่แล้วถึงต้นปี

คำถามคือ ถ้าหุ้นยังตกจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ?

กล่าวโดยสรุป ฟองสบู่แตกคราวนี้ แม้อเมริกาไม่ถึงกับล่มสลาย แต่มีโอกาสที่เศรษฐกิจอเมริกาจะซึมลึก ยืดเยื้อยาวนาน

 

ขณะที่ ผศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ มีความเห็นที่ต่างออกไป กล่าวคือ ฟองสบู่ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นแค่วิกฤติเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ เป็นปรากฏการณ์เฉพาะส่วน ไม่ใช่ทั้งระบบ โดยใช้กรอบการวิเคราะห์ว่า ฟองสบู่เกิดได้อย่างไร บทบาทอยู่ตรงไหน ผลกระทบ และแนวโน้มภายใน 2 เดือนข้างหน้า

พิชิตกล่าวว่า ฟองสบู่ที่กำลังเกิดและแตกในสหรัฐ อาจไม่ใหญ่โตขนาดนี้ถ้า อลัน กรีนสแปน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำเนินการบางอย่างในเวลานั้น แต่กรีนสแปนไม่ได้ทำ เพราะเหตุผลทางการเมืองบางประการ

ในส่วนของรัฐเข้ามามีบทบาทได้ โดยสร้างภาพ พยุงความเชื่อมั่นไว้ แม้จะมีช่องว่างระหว่างผลตอบแทนจริง กับผลตอบแทนบนกระดาษ แต่ถ้าคนยังเชื่อว่าอย่างไรเสียผลตอบแทนต้องมาถึง คนก็คงซื้อกันต่อไป เพราะฉะนั้น การมองภาวะฟองสบู่ต้องมองเป็นกรณีๆ ไป

ปลายปี 1995 กรีนสแปน ได้ออกมาเตือนสาธารณชนว่าสงสัยจะมีฟองสบู่ ทางออกที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแนะนำคือ ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อหยุดฟองสบู่ แต่กรีนสแปนไม่ทำอะไรเลย

ตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นขึ้นตลอด ปกติแล้วภาวการณ์เช่นนี้ต้องสะท้อนความเป็นจริงบางอย่าง กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจสหรัฐต้องมีอะไรที่ดี หุ้นถึงขึ้น แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เขาก็เลยคิดคำว่า "นิว อิโคโนมี" ขึ้นมา บอกว่าเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานอะไร เพราะมีการผลิต มีการสะสมทุนทั่วโลก สามารถค้าขายบนเวบไซต์ มีอัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ได้เกิดจากการผลิตจริง

กล่าวได้ว่าฟองสบู่ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1995-1997 มีมาเรื่อยๆ และเริ่มแตกลูกแรกในเดือนกันยายน 1998 โดยลองเทอม แคปปิตอล แมเนจเมนท์ ซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐล้ม กองทุนดังกล่าวได้ไปเก็งกำไรในตลาดอนุพันธ์และขาดทุน ตอนนั้นมี 2 ทางเลือกสำหรับรัฐบาลสหรัฐ คืออุ้ม หรือปล่อยให้กองทุนล้มไป ในที่สุดก็อุ้มเพราะเกรงว่าถ้าปล่อยให้ล้มอาจลุกลามไปที่อื่นได้

รัฐบาลสหรัฐเข้าไปอุ้ม โดยกรีนสแปนเป็นคนเรียกนายธนาคารมาประชุม ลงขันอัดฉีดเงิน และลดดอกเบี้ยอัดฉีดสภาพคล่องในตลาด ทำให้ฟองสบู่ยืดต่อไปได้อีกไม่แตกในปี 1998

ต้นปี 2000 สถานการณ์หนักข้อเข้าไปอีก ปี 2001 ฟองสบู่แตก เริ่มจากธุรกิจดอทคอม หุ้นแนสแด็กตก และดาวโจนส์ก็ตาม หลังจากนั้นฟองสบู่อื่นๆ ก็ตามมา ช่วงแรกคือ ดอทคอม ต่อมาเป็นบริษัทการเงิน รอบสามคือการโกงบัญชี กลายเป็นว่าระบบทุนนิยมสหรัฐ ซึ่งได้ชื่อว่าโปร่งใสที่สุดในโลก กลับเป็นทุนนิยมอุปถัมภ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน ทั้งยังพัวพันกับนักการเมืองคนสำคัญ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นวิกฤติทางการเมือง วิกฤติบรรษัทภิบาล วิกฤติของบริษัทในอินเทอร์เน็ต และวิกฤติการเงินของโบรกเกอร์ด้วย

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าฟองสบู่สหรัฐ แตกในขณะที่ระบบเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวช้าๆ ความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงไม่มากนัก (ถ้าฟองสบู่แตกในช่วงเศรษฐกิจขาลงเหมือนไทยปัญหาจะแรงกว่านี้มาก)

พิชิต มีความเห็นว่า การเกิดฟองสบู่ของสหรัฐในคราวนี้ ส่งผลกระทบไม่รุนแรงนักเพราะ 1) ฟองสบู่แตกในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว 2) ปัจจุบันระบบการเงินของสหรัฐ มีพื้นฐานแข็งกว่าช่วงก่อนปี 1997 ดังจะเห็นได้ว่าวิกฤติหนี้ในละตินอเมริกาปี 1980 รุนแรงมาก กระทั่งอเมริกาและไอเอ็มเอฟต้องเข้าแทรกแซง เพราะถ้าปล่อยไว้ธนาคารในสหรัฐและยุโรปจะล้มกันเป็นแถว กรณีเม็กซิโกก็เช่นกัน ทว่า หลังปี 1997 โครงสร้างบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป 3) พื้นฐานการเงินของสหรัฐแข็งพอสมควร คือ ดังจะเห็นได้จากเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ในอาร์เจนตินา ธนาคารสหรัฐไม่ได้รับผลกระทบเท่าไรนัก

กล่าวโดยสรุป วิกฤติที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อศูนย์กลางการเงินไม่มากเหมือนครั้งก่อน และมีต่อระบบเศรษฐกิจไม่รุนแรงมากนัก ในระยะอันสั้นนี้ยังไม่ถึงกับเป็นวิกฤติของทั้งระบบโลก นอกจากว่าอเมริกาจะทำสงครามกับอิรัก หรือประเทศในละตินอเมริกาอีก 5-10 ประเทศ มีปัญหาเศรษฐกิจล้มลงติดๆ กัน นั่นอาจทำให้เกิดวิกฤติใหญ่โตได้

(จากนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 532 วันที่ 12-18 ส.ค. 2545)






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้