1. เผชิญหน้าภาวะล่มสลายและทางออกสังคมไทย

1. เผชิญหน้าภาวะล่มสลายและทางออกสังคมไทย



เผชิญหน้าภาวะล่มสลายและทางออกสังคมไทย




1.ภาวะเศรษฐกิจถดถอยระยะยาวประมาณ 12 ปี

การศึกษาจากประวัติศาสตร์ของการเกิดและการแตกของเศรษฐกิจฟองสบู่ในระดับโลก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นทำให้เห็นภายหลังจากการแตกของเศรษฐกิจฟองสบู่แล้วจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะยาวญี่ปุ่นที่ผ่านมา 10 กว่าปีแล้วก็ยังไม่ฟื้นตัว เศรษฐกิจฟองสบู่มี 3 ระดับ คือระดับที่1เป็นแบบชาวบ้าน เช่น แชร์แม่ชม้อย, ระดับที่2 เป็นระดับชนชั้นกลางเช่นกรณีเสี่ยสอง , ระดับที่ 3 เป็นระดับสถาบันการเงิน นายทุนขนาดใหญ่เข้ามาเล่นเกมการเงิน เศรษฐกิจฟองสบู่ของไทยอยู่ในระดับที่ 3 เหมือนกับขับรถยนต์ ถ้ายางแตกก็ซ่อมไม่นาน แต่รถอยู่ในสถานะชาร์ปละลายเศรษฐกิจเราอยู่ในชั้นหลอมละลาย การซ่อมก็ต้องเป็นเดือน รัฐบาลหลังเศรษฐกิจฟองสบู่แตกจึงต้องมีหน้าที่เปลี่ยนเครื่องยนต์ที่พัง ให้เศรษฐกิจทำหน้าที่เดินรุดหน้าต่อไป ต้องเปลี่ยนกลไกการสะสมของทุน ที่ทำอยู่ขณะนี้คือปรับโครงสร้างหนี้ให้ธุรกิจดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งระหว่างนี้จำเป็นต้องใช้อะไหล่จากต่างประเทศคือ การเปลี่ยนความเจ้าของ (Ownership) ไม่ใช่ของคนไทยแล้วต้องให้ต่างชาติเข้ามา ในทางเศรษฐศาสตร์สนใจคือว่ากลไกการผลักดันทางเศรษฐกิจและพลังการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมันทำงานได้ไหม เมืองไทยผ่าตัดในรูปที่ให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อไม่ว่าสถาบันการเงินก็ดี รัฐวิสาหกิจก็ดี แน่นอนคนไทยเสียเปรียบและเกิดความคิดชาตินิยมใหม่ ชาตินิยมก็ดีแต่อย่าให้เป็นแบบคลังชาติ ประเด็นสำคัญคือทำให้กลไกทำงานอีกมิฉะนั้นก็พังกันทั้งหมด


ผมเขียน "มังกรจักรวาล" เตือนว่าจะมีหายนะก่อนสิ้นศตวรรษนี้ ผมพูดในปี ค.ศ. 1995 ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังบูมผู้คนก็หัวเราะเยาะผม แต่ถ้าตอนนั้นเชื่อผมทำอย่างที่ผมบอกก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ประเทศไม่พังขนาดนี้ ในขณะนั้นคนส่วนใหญ่ยังมองเศรษฐกิจว่าโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ สุดท้ายเราก็พบหายนะจากวิกฤติเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่


แนวโน้มของศตวรรษที่21 เราต้องมองแนวโน้มของทศวรรษที่ 90 ให้แตก ที่ผ่านมาเราล้มเหลวทางเศรษฐกิจและล่มสลายทางธุรกิจเพราะเราอ่านแนวโน้มของทศวรรษที่ 90 ไม่แตกแนวโน้มเรื่องเศรษฐกิฟองสบู่ แนวโน้มเรื่องIT แนวโน้มเรื่องรีเอ็นจิเนียริ่ง แนวโน้มเรื่องสงครามทำลายราคา แนวโน้มเรื่องการค้าปลีก ฯลฯ ทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นองค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัฒน์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของเราคงใช้เวลาอีกประมาณ 12 ปี ภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อของโลกอยู่ที่ปี ค.ศ.2012 ซึ่งจะเป็นรอบของมันในระหว่าง 12 ปีนี้ปัญหาระดับโลกคือ เศรษฐกิจฟองสบู่ในอเมริกาจะแตก ความขัดแย้งระดับโลกก็จะเกิด จะเกิดอภิมหาโกลาหลสถานการณ์เช่นนี้จะเกิดผู้นำระดับโลกขึ้นมา เกิดคนรุ่นใหม่ขึ้นมา เป็นยุคNEW AGE ซึ่งมองโลกด้วยสายตาที่เปลี่ยนแปลงไป สถานการณ์ในขณะนี้คล้ายกับช่วงปี ค.ศ.1930 - 1945 คือ เศรษฐกิจฟองสบู่อเมริกาแตกในปี ค.ศ. 1929 ฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจในปีค.ศ. 1932 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีค.ศ. 1941 สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945 ด้วยระเบิดปรมาณู โลกวุ่นวายอยู่ 15 ปีกว่าจะลงเอยกัน เราผ่านเรื่องนั้นมาแล้ว แต่คนปัจจุบันลืมมันไป มันหดหู่อยู่ 15-20 ปี พอหลัง ค.ศ.1945 ก็เกิด "ข้อตกลง เบรตตัน วู๊ดส์" ,เกิด IMF ,เกิดWORLD BANK


เรามาดูว่าประมาณ 5 - 12 ปีขึ้นไป เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น เราต้องมีสุขภาพแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ทนทานต่อแรงกดดันได้ ควบคุมตัวเองได้ ไม่ให้คลั่งเครียดหรือฆ่าตัวตายยอมแพ้ไปก่อน ความพ่ายแพ้มาจากภายในไม่ใช่จากภายนอก เราควรมีความขยันหมั่นเพียรพัฒนาศักยภาพความสามารถตัวเองให้สูงขึ้น ทำงานให้มากกว่าเงินเดือนที่เขาให้ ทำงานเพื่อสร้างคุณค่าแก่ตัวเอง มีความกระตือรือร้นในการหาความรู้ใหม่ๆ เพื่มเติมตลอดเวลา เปิดตาให้กว้างถ้ามีคุณสมบัติเหล่านี้ก็ไม่ต้องกลัวใครๆ ก็อยากได้คุณ เราต้องทำงานหนัก สมถะใช้ให้น้อยหาให้มาก ทำให้อัตราการออมมันสูง ประมาณ 15 % - 30 % ของรายได้ เราต้องมีวินัย ญี่ปุ่นทั่วประเทศก็ออมในระดับนี้ซึ่งสูงมากในช่วงฟื้นฟูประเทศ การออกในระดับนี้ต้องหักภาระผ่อนบ้านและผ่อนรถยนต์แล้ว ยังออมอีก 15% - 30 %


สำหรับคนตกงานถ้าเข้าสู่ภาคโลกาภิวัฒน์ ไม่ได้ก็เข้าสู่ภาคเศรษฐกิจพอเพียง หาทักษะเพิ่มเรียนคอมพิวเตอร์ ขยันหนักเอาเบาสู้อย่าไปแคร์ปริญญา อย่าทิ้งความใฝ่ฝันของตัวเอง อย่าคิดว่าตนเองล้มเหลว เปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของตัวเอง พูดง่ายๆก็คือ จงมีชีวิตอยู่ด้วยความกล้าในแต่ละวัน ตื่นขึ้นด้วยความมุ่งมั่น อย่ามีชีวิตอยู่ด้วยความกลัวหรือความหวาดวิตกกังวล เหมือนล่องเรือไปก็ต้องเจอคลื่นบ้าง เข้าใจโลกาภิวัฒน์เข้าใจคุณสมบัติของโลกาภิวัฒน์ ถ้าเราหนีคลื่นโลกาภิวัฒน์ไม่ได้ ก็ต้องเรียนรู้ว่าทำอย่างไรเรือจะไม่ล่ม


หลัง ค.ศ. 2012 จะเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมใหม่ เทคโนโลยีจะทำให้ชีวิตคนเราเปลี่ยนไปหมด การเปลี่ยนแปลงจะมาเร็วและเป็นไปอย่างมโหฬาร ต่อไป ทีวี Internet ก็ต้องเป็นอันเดียวกัน การสื่อสารจะInteractive ทุกคนจะมีประจำบ้านเหมือนมีทีวีสีทุกบ้าน พัฒนาการของหุ่นยนต์คงมาช่วยงานบ้าน ดูแลคนป่วยหรือสัตว์เลี้ยง รถยนต์ก็จะเปลี่ยนเป็นไฮปริทมากขึ้น พัฒนาการทางพันธุวิศวกรรมจะทำให้การรักษาเปลี่ยนแปลงไป ระดับจิตสำนึกใหม่ก็จะเกิด คนทั่วไปจะเข้าใจศาสนาพุทธมากขึ้น


2.การบุกของทุนข้ามชาติในธุรกิจค้าปลีก

กลุ่มทุนข้ามชาติบุกไทยมาตั้งนานแล้ว ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็เกิดที่ประเทศญี่ปุ่นหลังเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เพราะการปฏิวัติเทคโนโลยี เกิด Retail Revolution การปฏิวัติการค้าปลีก เกิดการปฏิวัติของการทำลายราคาพอเกิดเศรษฐกิจตกต่ำผู้คนขาดกำลังเงินก็อยากได้ของราคาถูก วิธีที่จะได้ของถูกคือการค้าปลีกที่ไม่ผ่านคนกลาง โลกาภิวัฒน์ที่เข้ามาทำลายโครงสร้างค้าปลีกเมืองไทยคือตัดพ่อค้าคนกลาง ในแง่นี้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่อีกปัญหาหนึ่งคือผู้ประกอบการที่อ่อนแอก็ถูกทำลายถูดคัดออกจากการแข่งขันแบบทุนนิยม การค้าปลีกแบบดิสเคาร์สโตร์เป็นกระแสหลักเลย มันทำได้เพราะบาร์โค้ดการบริหารโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาคุมสินค้าและทำให้ต้นทุนถูกลง ข้อเสียคือทำให้ร้านค้าคนไทยรายเล็กน้อยสู้ไม่ได้และต้องแพ้ไปรวมไปถึงห้างสรรพสินค้าของคนไทยด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมและแก้ไขปรับปรุง นโยบายต้องชัดเจนว่าจะคุ้มครองธุรกิจ SME ไหม คุณจะยอมได้แค่ไหน แต่รัฐบาลเราไม่ทำ จึงเกิดสภาพบางพื้นที่มีห้างโลตัสเปิดถึง 3 ห้าง ในรัศมีเพียง 10 กม.เท่านั้น ญี่ปุ่นใช้แบบคุมเวลาแต่ภายหลังก็ผ่อนคลายข้อบังคับขึ้น แล้วอีกด้านหนึ่งทำลายกันเอง แข่งขันกันเอง เราอย่ามองแบบชาตินิยม คือมองให้เข้าใจว่าเป็นองค์ประกอบของโลกาภิวัฒน์ หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์ก็ดูว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์ไหม มันModern life style มันทำให้ต้นทุนถูกลง และคนก็จะมีงานทำเพิ่มขึ้น


ธนาคารในห้างสรรพสินค้าก็แสดงออกซึ่งชีวิตคนเรามีเวลาน้อยลง แนวโน้มคนไม่ไปวัดแต่ไปห้างสรรพสินค้าแทน ห้างสรรพสินค้าไทยเป็นที่มาของธุรกรรมทุกประเภท ล้างรถก็ที่นั่น ตัดผมก็ที่นั่น ชีวิตนอกจากครอบครัวแล้วก็อยู่ในห้างสรรพสินค้าหมด ธนาคารก็เป็นส่วนหนึ่ง ธนาคารแข่งขันกันสูงจึงเพิ่มการบริการให้ทั่วถึงขึ้น ธนาคารจะเอาตัวรอด ธนาคารก็ต้องเข้าไปหาลูกค้า ไม่ใช่ให้ลูกค้ามาหาธนาคารแบบเดิม ผลของการเอ็นจิเนียริ่งและการแข่งขันในระดับโลกบังคับให้ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง คุณไม่สามารถใช้ความเคยชินแบบดั้งเดิมมาทำธุรกิจอีกต่อไปแล้ว มันเป็นการทำลายจริงแต่เป็นการทำลายแบบสร้างสรรค์ของทุนนิยม ทำให้เกิดนวัตกรรมทางธุรกิจ คนที่ปรับตัวเท่านั้นที่จะรอด


จุดเปลี่ยนของประเทศไทยที่แท้จริงอยู่ที่ค.ศ.1985 ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า เงินทุนต่างชาติโดยตรงแห่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างมโหฬาร ทำให้สถานะของเศรษฐกิจไทยในระบบโลกหรือเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนเป็นขั้นแคนดิเนตในกลุ่มนิกส์ เพียงแต่น่าเสียดายที่การลงทุนโดยตรงมากระตุ้นเศรษฐกิจจริงแต่มันทำให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่โดยเริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ.1988 พอเราเปลี่ยนสถานภาพแล้วบรรษัทข้ามชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นบทบาทชี้นำและชี้ขาด พอเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเราเพลี่ยงพล้ำทำให้อำนาจต่อรองของบรรษัทข้ามชาติในไทยสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ปรากฎว่าเงินทุนต่างชาติ 1 ใน 3 เป็นเงินจากเอเชียด้วยกัน แยกเป็นทุนญี่ปุ่นซึ่งเมื่อก่อนเคยร่วมทุนกับไทย เช่นอุตสาหกรรมรถยนต์ ก็หันมาซื้อกลับถึงซื้อมาแล้วก็ยังมีความสัมพันธ์อยู่ โดยให้อดีตผู้ถือหุ้นไทยยังคงเป็นผู้บริหารอยู่ สิงคโปร์เป็นกลุ่มนิกส์ สถานะในระบบทุนนิยมโลกเขาสูงกว่าเรามาตั้งนานแล้ว สิงคโปร์เป็นเกาะเขาเกิดปัญหาช่วงไฟไหม้ป่าในอินโดนีเซีย ทำให้ประเทศเขารู้สึกว่าประเทศของเขาอันตราย ด้านหนึ่งความมั่งคั่งที่เขาสะสมไว้จึงซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่ค่อนข้างเปิด เช่นไปลงทุนในเซี่ยงไฮ้และที่สำคัญการมาลงทุนในประเทศไทยเพราะมาเลเซียเขามีปัญหาทางชาติพันธุ์ สิงคโปร์เป็นชาติพ่อค้าที่ฉลาดแต่ Fair เขาไม่โกงเราหรอก ด้านหนึ่งเป็นเหมือนกึ่งลี้ภัย สมมุติเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงหรือเกิดกลียุคในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ก็ไม่ค่อยปลอดภัย เขาถึงขยายบทบาทมาที่เมืองไทยเพื่อความมั่นคงของประเทศเขาเอง ไต้หวันก็เช่นกันที่มาเพราะจีนแผ่นดินใหญ่มีนโยบายชัดเจนมากจะต้องรวมไต้หวันให้ได้ ฮ่องกงก็สูญเสียคุณสมบัติประเทศที่มีความเป็นอิสระไปแล้วหลังจากที่คืนเกาะฮ่องกงให้ประเทศจีนในปี ค.ศ. 1997 ดังนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจที่สุด อีกด้านหนึ่งเป็นแหล่งของอาชญากรข้ามชาติ


ผมเป็นคนรักชาติแต่ไม่ใช่คนคลั่งชาติ พยายามมองทุนต่างชาติอย่างเข้าใจ สิ่งที่ผมนำเสนอมาตลอดในงานเขียนทางเศรษฐศาสตร์ของผมในเรื่อง "ทฤษฎีบรรษัทข้ามชาติกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย" ซึ่งเป็นงานเขียนเล่มขนาดใหญ่ เราต้องใช้เขาให้เป็น ต้องใช้ทุนข้ามชาติให้เป็น อย่าตกเป็นเบี้ยล่างของเขาคือถ้าเราโง่เราก็เสียเปรียบ ถ้าเราฉลาดเราได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากบรรษัทข้ามชาติเพราะเขาก็ต้องพึ่งเรา ประเทศไทยเราเป็นแผ่นดินทอง เรามีภูมิรัฐศาสตร์ที่ดี สิงคโปร์อยากมาวางรากฐานธุรกิจในไทย กลุ่มทุนไต้หวันและญี่ปุ่นก็เช่นกัน


ปัญหาที่หนักใจที่สุดคือ ประเทศไทยควร "เว้นวรรค" WTO "เว้นวรรค" การเปิดสู่โลกาภิวัฒน์มากเกินไปในธุรกรรม เงินตราและการบริการ แต่ควรเปิดเสรีเรื่องการส่งสินค้า การ "เว้นวรรค" ต้องไม่ใช่การรัฐประหาร คำตอบของผมต่างกับคนอื่น ไม่ใช่ชาตินิยมต่อต้านต่างชาติแต่เพราะสมรรถนะในการแข่งขันของเราตกต่ำไปอย่างน่าใจหาย จากการสำรวจอุตสาหกรรม 17 ประเทศเราแย่ลง ดังนั้นเราควร Slow Down ในการเปิดเสรีลง แต่ไม่จำเป็นต้องปิดประกาศ การ "เว้นวรรค" ไม่ใช่การปิดประเทศเหมือนวิ่งมาราธอน ช่วงนี้คุณวิ่งๆไปแล้วคุณล้มแน่ คุณก็เดินไป พอกำลังอยู่ตัวแล้วคุณก็วิ่งต่อ



3. หนึ่งประเทศสองระบบ

รัฐบาลควรแบ่งเศรษฐกิจออกเป็น 2 ระบบ ระบบที่ 1 คือ เศรษฐกิจพอเพียง คือเศรษฐกิจที่ไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันแบบโลกาภิวัฒน์มากนัก เพื่อฟื้นฟูพลังทางสังคม หรือทุนสังคม ทำให้คนส่วนใหญ่มีงานทำไม่ว่างงานไม่กลายเป็นปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรหรือยาบ้า ระบบที่ 2 คือต้องส่งเสริมภาคทุนนิยมสมัยใหม่ที่สามารถแข่งขันกับโลกาภิวัฒน์ได้ ทำให้ควบคู่กันไป ไม่ใช่เอาแต่เศรษฐกิจพอเพียงแล้วปฏิเสธภาคทุนนิยมแบบโลกาภิวัฒน์ หรือเอาแต่ภาคทุนนิยมสมัยใหม่แบบโลกาภิวัฒน์แล้วไม่สนใจเศรษฐกิจพอเพียง ต้องสมดุลและมีนโยบายที่ชัดเจน ที่ผ่านมาเราเสียสมดุลไป


ภาคการเงินและภาคส่งออกก็ดีก็เกี่ยวกับโลกาภิวัฒน์ ก็บริหารสไตล์โลกาภิวัฒน์ศึกษาจากสิงคโปร์หรือจากประเทศทีเก่งๆ ภาคเศรษฐกิจพอเพียงเราก็ทำแบบภูมิปัญญาชาวบ้านกัน คือหนึ่งประเทศสองระบบ นี่คือ แนวทางที่เห็นแล้วจะแก้ปัญหาได้ แก้ปัญหาความขัดแย้งภายในชาติได้ มิฉะนั้นประเทศก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือคนที่อยู่กับโลกาภิวัฒน์ได้กับคนที่อยู่กับโลกาภิวัฒน์ไม่ได้ก็จะกลายเป็นความเกลียดชังแล้วประเทศก็จะแตกอาจลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองได้


ระบบที่เราใช้บริหารเศรษฐกิจจนกระทั่งถึงปัจจุบันมีอายุ 40 ปีแล้ว คือถ้าเป็นรถยนต์ขับ 8 ปีก็จะเก่า ระบบเศรษฐกิจ 40 ปีมันก็เก่า ช่วงนี้เราต้องเปลี่ยนระบบใหม่ ระบบใหม่มันเกิดขึ้นช้ามากเราเพิ่งเริ่มปฎิรูปการเมือง การปฏิรูปทางเศรษฐกิจก็เพิ่งเริ่มแต่เริ่มแบบไฟจี้ก้นแบบวัวหายแล้วล้อมคอก ยังไม่มีใครมีวิสัยทัศน์ขึ้นมาล้างระบบแล้วทำธุรกิจกันใหม่ เรามีความพยายามเช่นธรรมาภิบาลหรือบรรษัทภิบาล เพื่อการบริหารธุรกิจให้โปร่งใส ไม่คอรัปชั่น มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เสริมบริการเหล่านี้เราต้องทำ หากไม่ทำแล้วคงความสัมพันธ์ธุรกิจแบบดั้งเดิมคุณล่มแน่ๆ ระบบแบบนี้เหมือนรถยนต์ ขับไปกลางทางรถมันต้องจอดต้องเปลี่ยนระบบใหม่และต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางการเมืองด้วย ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการทำธุรกิจ ปฏิรูปการใช้ชีวิต เราต้องสมถะเราต้องทำงานให้หนักแบบคนญี่ปุ่นหรือเถ้าแก่คนจีนสมัยก่อน รุ่นปู่ของเรา ทำงานให้หนักแบบสมัยก่อนแต่กระหายความรู้แบบคนสมัยใหม่เพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกาภิวัฒน์ได้ ถ้าเรามีความมุ่งมั่นแบบคนญี่ปุ่นในการกอบกู้ประเทศชาติ เลิกทะเลาะกัน เลิกคอรัปชั่น สร้างชาติใช้เวลา 15 ปี คาดว่าปี ค.ศ.2012 ก็จะฟื้นและฟื้นอย่างยั่งยืน แต่ถ้าเรายังทะเลาะกันแบบนี้แล้วใช้ชีวิตแบบทำลายตัวเองแบบนี้อีก 20 ปีก็ยังไม่ฟื้น เศรษฐกิจล่มสลายแบบนี้ต้องพบบ้าง การพบแบบนี้จะทำให้ทุนนิยมของเราเข้มแข็งขึ้น จะทำให้เรามีคุณธรรมมากขึ้น จริยธรรมมากขึ้น โปร่งใส และมีความเป็นศิวิไลซ์ขึ้น ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับคนอื่นมองโลกด้วยสายตาใหม่ มองชีวิตด้วยสายตาใหม่ สายตาที่สร้างสรรค์มีความอดกลั้นขันติ ซื่อตรงต่อกันและกันจะช่วยให้ประเทศนี้รอดแน่นอน


4.ภาครัฐและประชาชน

รัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลหลายๆชุดที่ผ่านมา มองเศรษฐกิจฟองสบู่ไม่แตก การแก้ปัญหาคือแก้แบบเฉพาะหน้า แค่มองว่าเป็นปัญหาสถาบันการเงินคือ เงินไม่พอเป็นหนี้มาก ก็ให้ต่างชาติเข้ามาซื้อ มองแบบแคบไป ถ้ามองระยะยาวจะเห็นว่า 40 ปีทีผ่านมาไม่มีทางต้องสถาปนาการนำในเชิงคุณธรรม เอาหลักการนี้ไปแก้ปัญหาต่างๆ สร้างผู้นำที่มีคุณธรรมเข้ามาในทุกวงการแล้วระดมความคิดระดมกำลังใจเข้ามากอบกู้ประเทศนี้ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม-ศีลธรรม ปัจจุบันเราไม่ใช่ล่มสลายแค่เศรษฐกิจเท่านั้น แต่เราล่มสลายทุกเรื่อง อย่าไปมองประเทศที่พัฒนาแล้ว มองประเทศที่ทุกข์กว่าเรา อินโดนีเซียก็หนักกว่าเรา ประเทศสหภาพโซเวียตช่วงแตกเป็นรัฐเล็กๆก็หนักกว่าเรา ประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิ่งหนักกว่านี้ คนไทยจะได้ทุกข์น้อยลง เลิกบ่นซะทีหันมาทำงานกันให้มากขึ้น


รัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง หากพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลปัญหาจะหนักมาก หนักกว่าช่วงคุณชวนจัดตั้งรัฐบาลหลังพลเอกชวลิตอีก ลักษณะเฉพาะของพรรคไทยรักไทยมีหลายก๊กคล้ายพรรคสามัคคีธรรมในอดีต ซึ่งทำให้เสียพลังงานกับเรื่องไร้สาระ คุณทักษิณเองก็มีบารมีไม่เทียบเท่าคุณอานันท์ ปันยารชุน หรือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต้องรีบสถาปนาการนำเชิงคุณธรรม เพราะเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายการคลังมาถึงจุดจำกัดหมดแล้ว ทำไม่ได้มาก ดังนั้นไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ลำบาก ที่พอทำได้คือกำลังใจและความน่าเชื่อถือเท่านั้นเองที่ทำให้ต่างชาติให้การสนับสนุน สังคมไทยยังต้องระวังความแตกแยกในสังคมไทย ระวังลัทธิคลั่งชาติ ระวังการรัฐประหาร


ข้อเสนอ "การพักชำระหนี้ 10 ปี" ของดร.เสกสรร ค์ประะเสริฐกุล ก็ยากไปหน่อยถ้าเสนอขนาดนั้น บางกลุ่มพวกที่ติดต่อกับโลกาภิวัฒน์ก็จะรับไม่ได้ แต่ดร.เสกสรร ค์ พูดถูกในแง่ที่ว่าเราต้องพัก 10 ปี พักไม่ใช่พักชำระหนี้ พักแบบสะสมกำลัง


การเคลื่อนไหวของแนวร่วมกู้ชาติกลุ่มต่างๆ ประกอบด้วยคน 3 ประเภท ประเภทที่ 1 คือนายทุนชาติ ธุรกิจไทยที่เสียผลประโยชน์อย่างรุนแรง ธุรกิจล้มละลายหรือเป็นลูกหนี้ก็แสดงออกมาเป็นชาตินิยม ประเภทที่ 2 คือชาวบ้านคนยากคนจนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ประเภทที่ 3 คือปัญญาชนหัวก้าวหน้า ปกติพันธมิตรระหว่างนายทุนชาติกับปัญญาชนหัวก้าวหน้ามักไปกันไม่ได้อย่างมากจึงได้แต่เคลื่อนไหวผ่านสื่อแต่ไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลง นายทุนชาติเองเคลื่อนไหวเพราะตัวเองสูญเสียประโยชน์ ไม่ได้ทำเพราะตัวเองมีอุดมการณ์จริง ทำไปเพื่ออำนาจต่อรอง ในบางกรณีเหมือนคุณไม่มีเงินชำระหนี้เขาแล้วจะเบี้ยว คุณอ้างเหตุผลรักชาติจึงฟังไม่ค่อยขึ้น


โอกาสที่ไทยจะมีกลุ่มลุกขึ้นสู้แบบ "ซาปาติสต้า" ในเม็กซิโกมีน้อยมากเพราะเลยจุดนั้นมาแล้ว ผมเห็นเป็นอภิมหาโกลาหลมากกว่า เช่น กรณีน้ำท่วมสงขลา คนก็ขายของโก่งราคาทั้งๆที่เป็นคนไทยด้วยกัน ต่างคนจะเอาตัวรอดแสดงว่าเราขาดความสามารถในการควบคุมทางสังคมแล้ว กรณีพม่าแรงงานเถื่อน ยังไม่เห็นขบวนการกู้ชาติและขบวนการปฏิวัติที่ชัดเจน ผมเห็นแต่มิคสัญญีและกลียุค อภิมหาโกลาหล เพราะทางมโนธรรมเรามีปัญหาทั้งในวงการสงฆ์เราก็มีปัญหา เราขาดศรัทธาในความดีแล้วก็เป็นแบบนี้ ผลพวงของการล่มสลายทางเศรษฐกิจที่น่ากลัวที่สุดคือความเชื่อมั่นในความดีงามมันหมดไปกับสังคมนี้มาก ความเสื่อมถอยทางคุณธรรม จริยธรรม จิตวิญญาณ ซึ่งน่ากลัวกว่าการล้มละลายทางตัวเงินอีก มันเป็นการล้มละลายทางบุคลิกภาพ ล้มละลายทางวัฒนธรรม


รัฐบาลใหม่ควรเสนอนโยบายชัดเจนที่ทุ่มทรัพยากรมาภาคสังคมภาคประชาชนมากขึ้น ให้เป็นเศรษฐกิจพอเพียง หันมาส่งเสริมอย่างจริงจังทำให้เป็นระบบโดยผ่านเศรษฐกิจชุมชนและอาศัยInternet ช่วย ส่งเสริมค้าขายกันในชุมชนและชายแดนโดยไม่ผ่านระบบเงินตราส่งเสริมการใช้แรงงานแลกกัน ให้ภาคเกษตรเหลือก็ขาย ไม่เหลือก็กินกันเองในชุมชน ทำให้คนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ได้ ประเทศเราก็จะรอด


สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกคือเศรษฐกิจฟองสบู่อเมริกาจะแตกในปี ค.ศ. 2001 - 2003 ต้องแตกแน่นอน ช่วงนี้ก็ Slow-Downลงแล้ว อัตราดอกเบี้ยก็ขยับสูงขึ้นตลอด เขตเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ไม่มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะฉะนั้น การที่เราจะขยายตัวก็เป็นไปได้ยากเพราะเราเลยจุดนั้นมาแล้ว เพียงแต่พัฒนาแบบยั่งยืนได้ก็ถือว่าบุญแล้ว ภาคส่งออกก็ยังพอไปได้แต่ก็มีคู่แข่งคือจีนและการเข้า WTO ของจีน เรายังมีศักยภาพในการผลิตอาหาร ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ทั้งหมดนี้เป็นตัวค้ำเมืองไทยเอาไว้ ภาคเกษตรเน้นแปรรูปเป็นครัวของโลกให้ได้ ภาคอุตสาหกรรมต้องพัฒนาคุณภาพและทักษะเราต้องแก้ปัญหาแรงงานเถื่อน ภาคธนาคารต้องทำใจว่าบางส่วนจะเป็นของต่างชาติ ภาคสาธารณสุข ต่อไปคนจะมีอายุยืนขึ้น คนจะสนใจสุขภาพและร่างกายแข็งแรง เรื่องสมุนไพรจะเป็นจุดขายของเมืองไทย เราอาจตั้งสถาบันฟื้นฟูความเป็นหนุ่มสาวดูแลชีวิตคนชราให้มีความสุขในเชิงจิตวิญญาณ ถ้าเราเอาศาสตร์บูรพาของจีน อินเดียและไทยมารวมกันแล้วเป็นจุดขายเน้นสมาธิ เราก็จะขายวัฒนธรรมเราได้ ต่อไปมวยไทยก็เป็นมวยไทยโบราณไม่ใช่มวยไทยแบบนี้ โอกาสของเรายังมีอยู่แต่ความยากลำบากและอภิมหาโกลาหลก็มีอยู่เช่นกัน


(จากเศรษฐกิจไทยตายแล้วฟื้น พิมพ์ครั้งที่ 3, ดร.สุวินัย ภรณวลัย, สำนักพิมพ์วิชั่น แวนควิช)






 


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้