3. เศรษฐกิจไทยตายแล้วฟื้น

3. เศรษฐกิจไทยตายแล้วฟื้น



เศรษฐกิจไทย : ตายแล้วฟื้น


1. ต้นตอของวิกฤติในปัจจุบัน

วิกฤติเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ เปรียบได้กับคนไข้ที่ป่วยหนักด้วยโรคร้ายครั้นเข้าโรงพยาบาลไปให้หมอรักษากลับปรากฎว่าหมอวินิจฉัยโรคผิดจ่ายยาผิดและชักช้าไม่ทันการ โรคที่ทรุดหนักอยู่แล้วยิ่งทรุดหนักลงไปอีกจนคนไข้ถึงขั้นโคม่าหรือขั้นตรีทูตไปเรียบร้อยแล้ว การยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยได้ล้มละลายถึงขั้นหายนะไปแล้วดูท่าจะเป็นการยอมรับความจริงที่เหมาะสมที่สุดแล้วในขณะนี้ เพราะพอเราทำใจยอมรับความจริงในเรื่องนี้ได้แล้ว เราก็ย่อมสามารถคิดต่อไปได้อีกว่า เราควรทำอย่างไรดีถึงจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาคืนชีพอีกครั้ง


ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องมีความรับรู้ที่แจ่มชัดเกี่ยวกับต้นตอสาเหตุของ "วิกฤติเศรษฐกิจไทย" ในครั้งนี้เสียก่อน


วิกฤติเศรษฐกิจไทยที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้ถือว่าร้ายแรงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรวรรษ 2470 ที่ก่อ ให้เกิดการปฏิวัติ พ.ศ.2475 เสียอีกพูดง่าย ๆ ก็คือในรอบ 70 ปีมานี้ หรือตลอดช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 20 มานี้ ครั้งนี้ทุนนิยมไทยเพิ่งประสบกับวิกฤตของระบบ เป็นครั้งแรกก็เห็นจะไม่ผิดนัก


วิกฤติเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้ เป็นวิกฤติเศรษฐกิจ 3 ด้าน ที่เกิดขึ้น พร้อม ๆ กัน คือ

(1) วิกฤติเศรษฐกิจ " ระยะยาว " อันเป็นผลพวงที่เกิดจากยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มุ่งขยายทางเศรษฐกิจเป็นหลักจนทำลายสภาพแวดล้อมธรรมชาติและทรัพยากรกรธรรมชาติของแผ่นดิน นำมาซึ่งความสูญเปล่า และการสูญเสียต้นทุนทางสังคมที่มากมายมหาศาลจนแทบประเมินมิได้ หากไม่มีการทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงวิกฤติ "ระยะยาว" ที่เป็นความขัดแย้งเชิงกระบวนทัศน์นี้ไปได้พ้น แต่ลำพังแค่วิกฤติ"ระยะยาว" (ระยะยาวในที่นี้หมายถึง วิกฤติที่จะดำรงอยู่นาน) อันนี้ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่มีมานานแล้วและถูกพวกปัญญาชนหัวก้าวหน้าของสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด คงไม่รุนแรงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดหนักอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาแค่ครึ่งปี จนถึงขั้นต้องเรียกว่า " หายนะ " อย่างปัจจุบันนี้ได้ จะว่าไปแล้ววิกฤติ "ระยะยาว" อันเนื่องมาจากยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจอันนี้เป็น " ภาวะปกติ" ของระบบทุนนิยมในทุกประเทศด้วยซ้ำ


(2) วิกฤติเศรษฐกิจ "ระยะกลาง" เป็นวิกฤติเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ ปรากฎออกมาในรูปของ "โครงสร้างการผลิตที่ปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก" ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความได้เปรียบ โดยเปรียบเทียบในการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวก็จริงแต่เป็นการขยายตัวเชิงปริมาณที่ขาดประสิทธิภาพ และการกิน "บุญเก่า" เป็นหลัก ไม่แต่เท่านั้นการเกิดของ "เศรษฐกิจฟองสบู่" นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมาได้มีส่วนบิดเบือนโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน และต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาที่ดินในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นขณะที่สินค้าที่ใช้ทุนกับความรู้เข้มข้นก็ยังไม่ใช่สินค้าที่เศรษฐกิจไทยมีความชำนาญเป็นพิเศษ อันที่จริงวิกฤติเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย นอกจากจะมีปัญหาในเรื่อง "โครงสร้างการผลิต" ดังที่ได้กล่าวมาแล้วมันยังมีปัญหาในเรื่อง "โครงสร้างการพึ่งพิงเงินทุนต่างประเทศ" กับ "ขนาดของการเปิดประเทศที่มากไป" โดยวัดจากมูลค่าของสินค้าและบริการที่นำเข้าและส่งออกเมื่อเทียบกับผลผลิตประชาชาติ อย่างไรก็ตามปัญหาทางโครงสร้างต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่เริ่มเกิดมาตั้งแต่เมื่อ 4 ปี ก่อนแล้ว และเป็นปัญหาที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ถดถอยลง มิใช่ปัญหาที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีอาการเพียบหนักถึงขั้นตรีทูตภายในช่วงเวลาไม่ถึงครึ่งปีอย่างปัจจุบันได้ แน่นอนว่าอาการโรคที่มีพื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ "ระยะยาว" พอผนวกเข้ากับวิกฤติเศรษฐกิจ "ระยะกลาง" อย่างมากก็แค่ทำให้ เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจ " ขาขึ้น" กลายมาเป็นเศรษฐกิจ "ขาลง" เท่านี้ย่อมไม่อาจทำให้ถึงขั้น "ล้มละลาย" ได้ ถ้าไม่เกิดวิกฤติอันที่สามตามมา เป็น "หมัดเด็ด" ที่น๊อคเศรษฐกิจไทยจนล้มได้ในที่สุด


(3) วิกฤติเศรษฐกิจ "ระยะสั้น" เป็นวิกฤติของ กระบวนการตัดสินใจทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐบาล วิกฤตินี้เป็นปัญหาการขาดวิสัยทัศน์และปัญหาการขาดจริยธรรมในการบริหาร โดยแท้ ปัญหาวิกฤติของกระบวนการตัดสินใจในภาคเอกชน ปรากฎออกมาในรูปของการกู้เงินทุนจากต่างประเทศที่ดอกเบี้ยต่ำจำนวนมหาศาล มาปล่อยกู้ให้แก่ธรุกิจฟองสบู่ภายในประเทศด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากกว่า ด้วยความโลภอยากได้กำไรอย่างง่าย ๆ จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย โดยไม่ตระหนักถึงภัยจากการแตกของเศรษฐกิจฟองสบู่ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นก่อนหน้านั้นแล้วแล้วตั้งหลายประเทศ มิหนำซ้ำยังขาดวินัยและจริยธรรมในการเลือกลูกค้าให้กู้ ทำให้เกิดหนี้เสียเป็นจำนวนมหาศาลทับถมเป็นจำนวนมาก จนหมดปัญญาหาเงินมาคืนเงินต้นให้แก่ต่างประเทศ เกิดเป็นปัญหาขาดสภาพคล่องไปทั้งระบบ ฉุดเศรษฐกิจไทยให้ทำดิ่งสู่หายนะ ความจริงเมื่อภาคเอกชนก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่องขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2540 หากภาครัฐบาลมีวิสัยทัศน์ และมีความสามารถที่เข้มแข็งพอ ก็ยังพอที่จะกอบกู้สถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายไปกว่าเดิมได้บ้าง


แต่เหตุการณ์กลับกลายเป็นว่า หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะ ธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลัง กลับไปซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยการอัดฉีดเงินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อไปค้ำจุนบริษัทเงินทุนไม่ให้ล้ม ทั้ง ๆ ที่ ไม่มีทางยับยั้งการล้มของบริษัทเงินทุนต่าง ๆ ที่ไปก่อให้เกิด " หนี้เสีย" จำนวนมหาศาลได้ ไม่แต่เท่านั้นธนาคารแห่งประเทศไทย ยังผิดพลาดอย่างมหันต์ในการไม่ยอมลดค่าเงินบาทเพราะไม่อยากยอมรับความจริงของเศรษฐกิจไทย ไม่รับรู้ถึงสถานภาพที่แท้จริงของตัวเอง และไม่ได้ตระหนักถึงมหันตภัยทางเศรษฐกิจที่กำลังคุมคามอยู่ ปล่อยให้ "วันแห่งความหายนะ" มาเยือน และก็ไม่รู้ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไร?


ผลจากความเฮงซวยของหน่วยงานรัฐที่ปิดบังข้อมูลจนภาคเอกชนในภาคเศรษฐกิจจริงก็มองภาพไม่เห็น โดยไม่ได้รับสัญญาณเตือนภัยจากภาครัฐมาก่อนเลยทำให้ภาคเอกชนในส่วนที่เป็นภาคการผลิตก็พลอยถูกทำลายไปด้วย บริษัทเอกชนรายใหญ่อย่าง กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ที่ถือเป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมไทย ก็ยังได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ทำให้บริษัทมีหนี้สินที่เป็นเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นล้านบาท ยิ่งภาคการเงินซึ่งเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ และเป็นโลหิตหล่อเลี้ยงธุรกิจในประเทศไม่ต้องพูดถึงมันอยู่ในอาการ "ปางตาย" แล้ว คงมีธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ๆ ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่จะรอดจากหายนะในครั้งนี้ได้


ปัจจุบัน ประเทศไทยมีหนี้ที่กู้ยืมจากต่างประเทศ 90 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.33 ล้าน-ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ที่ 37 บาทต่อหนึ่งดอลล่าร์) โดยแบ่งเป็น หนี้ภาครัฐ 18 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นหนี้ภาคเอกชนล้วน ๆ ถึง 72 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจำแนกย่อยได้เป็นหนี้ระยะสั้นถึง49,018.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือ 54.6 % ของหนี้ภาคเอกชน และเป็นหนี้ระยะยาว 40,759.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 45.4 % ของนี้ภาคเอกชน อนึ่งหนี้ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยังไม่รวมภาระหนี้ที่เกิดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกไปซื้อขายเงินตราล่วงหน้าอีก 32.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ต้องชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้า ถ้าหากใน 12 เดือนข้างหน้า ค่าเงินบาทยังคงตกต่ำกว่าระดับที่ 33 บาท ขึ้นไปก็จะทำให้ภาระหนี้สูงขึ้นอีกหลายแสนล้านบาทเลยทีเดียว


จึงเห็นได้ชัดว่า "วิกฤติเศรษฐกิจไทย" ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ รากเหง้าที่แท้จริงนั้นก็คือ ภาระหนี้ที่เกิดจากภาคเอกชน โดยเฉพาะจากสถาบันการเงิน นั่นเอง ภาระหนี้จำนวนมหาศาลที่ภาคเอกชนไทยเป็นผู้ก่อได้ทำให้เกิด ปัญหาเศรษฐกิจระดับมหภาค 5 ประการด้วยกัน ดังต่อไปนี้

(1) การขาดดุลบัญชีเงินสะพัด

(2) การกู้ของภาคเอกชนเป็นการกู้ในรูปเงินทุนระยะสั้น แต่กลับมาปล่อยกู้เป็นเงินทุนระยะยาว โดยอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ จนทำให้เงินบาทตกเป็น "เป้า" ของการเก็งกำไรจากพวกเก็งกำไรข้ามชาติ

(3) ภาคเอกชนไทยไม่เพียงกู้เงินจากต่างประเทศอย่างมากเท่านั้น มันยังกู้เงินจากแหล่งกู้เงินภายในประเทศเป็นจำนวนมากด้วย ทำให้ฐานะการเงินของบริษัทไทยมีอัตราหนี้สินสูงกว่าโดยเฉลี่ยมาก

(4) สถาบันการเงินไทยหมดความสามารถในการชำระหนี้ หรืออยู่ในภาวะล้มละลาย

(5) ธนาคารแห่งประเทศไทย อัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบอย่าง สูญเปล่า

ปัญหาทั้ง 5 ประการนี้ ที่รุนแรงหนักหน่วงที่สุดก็คือ ปัญหาภาวะใกล้ล้มละลายของสถาบันการเงินนั่นเอง ซึ่งเป็นที่มาของวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน



2. ทางออกต่อวิกฤติปัจจุบัน

เมื่อทราบที่มาของวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้แล้ว ทางแก้ที่เหมาะสมที่สุดก็คือ ต้องรีบระดมพลังมันสมองและทรัพยากรที่ยังพอมีอยู่เข้าไปแก้วิกฤติ "ระยะสั้น" ก่อนเป็นอันดับแรก ขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ หาทางแก้วิกฤติ ระดับโครงสร้างหรือวิกฤติ "ระยะกลาง" ไปพร้อมกัน ด้วย

ข้อเรียกร้องที่นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ ปัญหาการเร่งฟื้นฟูศรัทธาที่มีต่อสถาบันการเงิน ให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด พร้อมกับให้รีบเร่งสร้างเสถียรภาพให้กับอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาท สองปัญหานี้ที่ต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุด


ปัญหาที่รัฐบาลต้องทำก็คือ

(1) การสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงิน โดยจะต้องทำให้โปร่งใสและชัดเจนไปเลยว่า สถาบันการเงินแห่งไหนบ้างที่จะรอด แห่งไหนบ้างที่จำต้องปล่อยให้ล้ม ภาระหนี้เสียที่สถาบันการเงินก่อ ใครจะเป็นผู้รับแบกภาระ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องแบกภาระเท่าไร และจะเป็นภาระแก่ผู้เสียภาษีเท่าไร และจะต้องเป็นแบกภาระหนี้ไปอีกกี่ปี ถ้าหากรัฐบาลและสถาบันการเงินทั้งหลายสามารถให้ตัวเลขที่น่าเชื่อถือแก่สาธารณะชนเหมือนอย่างญี่ปุ่นก็เคยทำมา ในช่วงหลังฟองสบู่แตกได้ ก็คิดว่าความมั่นใจในระดับหนึ่งจะกลับคืนมาทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ เพราะตอนนี้คิดว่าทุกฝ่ายคงทำใจกันได้แล้ว่าาจะต้องแบกรับภาระกันทุกฝ่ายแน่ แต่ที่ไม่แน่ใจก็คือ ขนาดของภาระ และระยะเวลาเท่านั้น ซึ่งควรทำออกมาให้ชัดเจนและโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้


(2) การสร้างความมั่นคงให้กับค่าเงินบาท ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนนอกจากจะเกิดจากการทุบค่าเงินบาทของกลุ่มนักลงทุนนักเก็งกำไรข้ามชาติแล้วยังเกิดจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีของกระแสโลกาภิวัฒน์อีกด้วย เพราะฉะนั้น จะให้ค่าเงินบาทไม่ผันผวนเลยนี้คงทำได้ยาก เพราะเมื่อ "ข้อมูล" เกี่ยวกับการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจ "ขาลง" ของประเทศไทยเป็นที่รับรู้อย่างทั่วถึงกันไปทั่วโลกเช่นนี้ กลไกการเคลื่อนไหวของกระแสเงินทุนย่อมเป็นไปในทิศทางไหลออกซึ่งย่อมกระทบค่าเงินบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาที่ถูกแนวทางที่สุด คือ การเร่งแก้ไขปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อเข้าสู่ภาวะปกติ และเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ภาวะปกติ และเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่เศรษฐกิจขาขึ้น อีกครั้ง ถึงจะทำให้ค่าเงินบาทกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง แต่การจะปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานนี้มันต้องใช้เวลา 2-3 ปีขึ้นไป อันเป็นปัญหา "ระยะกลาง" ในภาวะเฉพาะหน้าแบบนี้รัฐบาลไทยไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว นอกจากต้องกู้ยืม เงิน IMF เพราะขณะนี้ เราไม่มีเงินตราต่างประเทศ ถ้าเจ้าหนี้ต่างประเทศมาทวงเงินเราก็จะไม่มีเงินใช้หนี้ และผู้นำเข้าก็จะไม่มีเงินตราต่างประเทศไปชำระค่าสินค้าและบริการ


การไปกู้เงินจาก IMF จึงเป็นการสร้าง "สภาพคล่อง" และสร้าง ความเชื่อมั่นให้แก่เจ้าหนี้ต่างประเทศนั่นเอง แต่ลำพังแค่เงินกู้จาก IMF แต่เพียงอย่างเดียวคงไม่พอที่จะสามารถช่วยแก้วิกฤติทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมาแล้วได้เลย สิ่งที่ IMF ช่วยเราได้ก็คือ ช่วยซื้อ "เวลา" ให้แก่เรา อีก 2-3 ปี เพื่อให้เรามีเวลาแก้ปัญหาต่างที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดได้เท่านั้นเอง


สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตามหลังไปกู้เงินจาก IMF คือ การบริหารที่ดีและมีประสิทธิภาพของรัฐบาลไทย ในการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นเงื่อนไขของ IMF "ปัจจัยทางการเมือง" ได้กลายเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จ และต่อการสร้างความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ด้อยไปกว่า "ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ" ของประเทศไทยไปเสียแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า บทบาทของเทคโนเครตไทยที่เข้มแข็ง มีความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นปัจจัยสำคัญที่เคยช่วยให้ประเทศไทยสามารถฝ่าฟันอุปสรรคและวิกฤติในอดีตมาได้หลายครั้งแล้ว บัดนี้ได้เสื่อมถอยลงไปมากในด้านคุณภาพและจริยธรรม โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีมานี้ เพราะถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงาน ขณะที่ตัวเทคโนเครตไทยเองก็ลงไปเกลือกกลั้วกับนักการเมือง และผู้นำธรุกิจมีการประสานผลประโยชน์กันดังจะเห็นได้จากกรณีปัญหาธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) และการพยายามเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินเป็นกรณีที่ล่าสุด เมื่อผนวกกับในช่วง 10 ปีนี้ที่เกิดปัญหา "สมองไหล" จากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชนที่ดูดซับบุคลากรที่มีความสามารถไปเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ "ความสามารถในการแก้วิกฤติ" ของรัฐบาลไทยเสื่อมถอยลงไปกว่าเดิมมาก


การเข้ามาแทรกแซงการบริหารเศรษฐกิจของฝ่ายการเมือง ความอ่อนแอของเทคโนแครตไทย คุณภาพของเทคโนแครตไทยที่ด้อยลง การสุมหัวกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์เดียวกันระหว่างนักการเมือง-เทคโนแครต-นักธุรกิจฯลฯ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้ระเบิดออกมาเป็น "ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการปฏิรูปการเมือง " ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะคับขันยิ่งทำให้ภาครัฐบาล "วิกฤติการนำ" ขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


จนเดี๋ยวนี้ เกิดความไม่ชัดเจนขึ้นมาแล้วว่า หน่วยงานไหนกันแน่ที่จำต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเป้าหมายของนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ว่า การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และอำนาจในการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจนโยบาย การคลัง-การเงิน-หนี้สาธารณะด้วย สิ่งเหล่านี้และที่สะท้อน "วิกฤติ" และการขาด "จริยธรรมในการบริหาร" ของผู้นำประเทศได้อย่างดี จนถึงกับต้องสรุปว่า วิกฤติแห่งกระบวนการตัดสินใจและกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ได้กลายเป็นวิกฤติที่ต้องรีบเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนเพื่อน หาไม่แล้วปัญหาการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินก็ดี ปัญหาการสร้างความมั่นคงให้กับเงินบาทก็ดี และปัญหาเชิงโครงสร้างอื่น ๆ จะไม่มีทางแก้อย่างมีประสิทธิภาพได้เลย เพราะตัวรัฐบาลและกลไกของรัฐบาลได้กลายเป็นตัวการที่ไปซ้ำเติมและเร่งวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้ให้มันรุนแรงขึ้น สำหรับในกรณีของประเทศไทย ไม่ใช่ทั้ง "คอมมิวนิสต์" หรือพวกเก็งกำไรข้ามชาติหรอกที่เป็นตัว "บ่อนทำลาย" ทุนนิยมไทยแต่เป็นตัวผู้นำรัฐบาลไทย โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองกับเทคโนแครต ที่เป็นผู้บ่อนทำลายระบบนี้ด้วยน้ำมือของตนเอง



3. ใครบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจไทย ?

แต่เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า หนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาลในครั้งนี้ภาครัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น แต่เป็นภาคเอกชน ต่างหาก เราจึงต้องสรุปลงไปว่า ภาคเอกชนโดยเฉพาะสถาบันการเงินและกลุ่มธรุกิจฟองสบู่ทั้งหลายนี่แหละที่เป็นตัวการ "บ่อนทำลาย" ระบบทุนนิยมไทยอย่างแท้จริง!! เพราะในปรัชญาการบริหารธุรกิจแบบทุนนิยมนี้ บริษัทต่าง ๆ ต้องมีรายงานที่แสดงบัญชีการประกอบการของบริษัททั้งสิ้น โดยเฉพาะบริษัทมหาชน หรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากโดยการแสดงบัญชีหนี้สินและสินทรัพย์กับบัญชีกำไรและขาดทุนของบริษัทให้ชัดเจนแจ่มแจ้งออกมาให้สาธารณชนรับทราบ ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นการบริหารธุรกิจแบบทุนนิยมขนานแท้และสมบูรณ์แบบ


หากบริษัทมหาชนเหล่านี้ไม่สามารถแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายออกมาให้มวลชนได้รับทราบอย่างเปิดเผยและโปร่งใสได้แล้ว ความเป็น "ทุนนิยมขนายแท้" ของมันย่อมถูกกังขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ บริษัทที่ขาดทุนจำนวนมหาศาลสมควรที่จะต้องล้มละลาย หรือ "ตายไป" ในระบบทุนนิยม นี่คือกฏธรรมชาติที่รับประกันความ มีชีวิตชีวาของระบบทุนนิยมเอาไว้


แต่สิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย ในช่วง 4-5 ปีนี้ โดยเฉพาะกับสถาบันการเงินของไทยกลับตรงกันข้ามกับหลักการอันนี้อย่างสิ้นเชิง ด้านหนึ่งสถาบันการเงินเหล่านี้ได้พยายามปกปิดซ่อนเร้นหนี้เสียของตนเองเอาไว้ไม่ยอมให้ประชาชนได้รับรู้ จนกระทั่งความแตกเพระหนี้ที่เสียมันใหญ่มากจนไม่อาจปกปิดอีกต่อไปได้แล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ทางการไทยกลับละเมิดกฏเกณฑ์ของทุนนิยมเสียเองโดยพยายามจะต่ออายุบริษัทที่ตายไปแล้วให้มีชีวิตต่อไปด้วยวิธีการต่าง ๆ และเข้าอุ้มถึงขนาดธนาคารแห่งประเทศไทยลงไปพยุงค่าเงินบาทในตลาดอนุพันธ์ด้วยตัวเอง การกระทำเหล่านี้ ถือเป็นการกระทำแบบ "ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิด" ทั้งสิ้น และน่าจะถือได้ว่าเป็นการบ่อนทำลายระบบทุนนิยมโดยตรงก็เห็นจะไม่ผิดนัก


4. เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบเชิงซ้อน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีต่อจากนี้ไปคือ ภาวะ เศรษฐกิจถดถอยเชิงซ้อน หรือ "Combined Recession" ซึ่งมีกลไกตามแผนภูมิต่อไปนี้








นโยบายการคลังที่เข้มงวดเพราะรัดเข็มขัดตามเงื่อนไขของ IMF กับความพยายามอย่างเต็มที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยในการควบคุมปริมาณเงินเพื่อไม่ให้เกิดเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปในปี พ.ศ.2541 คงจะทำให้ "ปัญหาการขาดสภาพคล่อง" ไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นโดยเร็วได้ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงคงเกิดขึ้นในรูปของอัตราดอกเบี้ย ที่สูงมาก ขณะที่ราคาสินค้าก็จะแพงขึ้นเพราะค่าเงินบาทอ่อนตัว ธุรกิจเอกชนจะขาดเงินหมุมเวียนมากและในที่สุดคงมีธุรกิจที่ล้มละลายไปเป็นจำนวนมาก บริษัทที่คนไทยเคยเป็นเจ้าของในที่สุดก็ต้องตกไปอยู่ในกำมือของชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด เศรษฐกิจไทยคงมีสภาพไม่แตกต่างไปจาก "เมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ" ของนานาประเทศ โดยเฉพาะสถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่คงตกอยู่ใต้อิทธิพลของสถาบันการเงินข้ามชาติแทน และจำนวนคนตกงานคงเป็นหลักล้านขึ้นไป จนปัญญาชนหัวก้าวหน้าบางคนถึงกับประกาศก้องว่า


"บัดนี้เราได้สูญเสียกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งที่ 1 ไปแล้ว" "เพราะสงครามไร้รูปแบบ สงครามที่ไร้อาวุธ ไม่สูญเสียเลือดเนื้อ กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมกับเอกราชความเป็นไทได้สูญเสียไปทีละน้อย ๆ จนกระทั่งต้องกลายเป็นเมืองขึ้นของอภิมหาอำนาจทุนไร้พรมแดนขณะที่นักลงทุนไทยมัวเมาอยู่กับการพนันในตลาดหลักทรัพย์ สร้างปัญหาปั่นป่วนเดือดร้อนไปทั่วหย่อมหญ้า ขณะที่ชาวไทยและรัฐบาลไทยยังไม่รู้ตัว เลยว่าเราได้สูญเสียกรุง-รัตนโกสินทร์ครั้งที่ 1 ไปแล้ว !!"


"ดังนั้น การแก้ไขปัญหาด้วยการร้องขอ การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศหรือองค์กรเงินทุนใด โดยมีเงื่อนไขสัญญาต่าง ๆ จึงเท่ากับเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามากำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเมืองของประเทศโดยปริยาย หรือการยินยอมให้ต่างชาติเข้ามาซื้อทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ย่อมหมายถึงการขายสิทธิ์ในผืนแผ่นดินไทยและการเสียเอกราช และ ขณะนี้ เรากำลังก้าวไปสู่การขายประเทศด้วยการมองปัญหาง่าย ๆ ของคนบางคน
ระวัง!! กลียุคของสังคมไทยเริ่มเปิดฉากแล้ว….."
(จากวารสาร "วิถีทรรศน์" ตอน "กลียุคกับหายนะเศรษฐกิจไทย" สิงหาคม 2540)



5. จงแปรวิกฤติให้เป็น "พลัง"

เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องยอมรับเงื่อนไขของ IMF และต้องทำใจจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนอันเนื่องมาจากการลดลงของค่าเงินบาท สิ่งที่พวกเราควรทำอย่างที่สุดคือ การมีทัศนคติในเชิงบวก ต่อวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้


ก่อนอื่น เราต้องหาทางเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาทลดลงให้ได้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ ราคาสินค้าส่งออกของไทยจะถูกลงกับจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ให้แก่ประเทศไทย


ขณะเดียวกัน เราจะต้องพยายามควบคุมไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อด้วยการประหยัดรายจ่ายทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจและภาครัฐบาล ทั้งนี้เพราะหากราคาสินค้าในประเทศแพงขึ้นก็จะทำให้ราคาส่งออกแพงขึ้นซึ่งจะทำให้แข่งขันไม่ได้ในตลาดโลก นอกจากนี้ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นก็จะไปกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงไปอีกซึ่งก็จะส่งผลกระทบให้สินค้าราคาสูงขึ้นอีกเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่วงจรอุบาทว์


สำหรับภาคเอกชนน่าจะใช้โอกาสที่เกิดวิกฤติในครั้งนี้ทำการปรับตัวด้วยการทำรีเอ็นจีเนียริ่งไปเลย เพราะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แรงต้านการทำรีเอ็นจีเนียริ่งภายในองค์กรจะเบาบางกว่าภาวะปกติมาก และพนักงานในองค์กรมักจะเต็มใจร่วมมือกับผู้บริหารที่มีในการกอบกู้รักษาองค์การที่เป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ" ของตนเองไว้ สำหรับ "มนุษย์เงินเดือน" ที่ยังหนุ่มยังสาวทั้งหลายพวกเธอน่าจะใช้โอกาสนี้เลิกทำงานบริษัท หันไปเป็น "เถ้าแก่" ทำธุรกิจเล็ก ๆ ของตนเอง แบบคนรุ่นปู่รุ่นพ่อของพวกเธออย่างขยันขันแข็ง เพื่อความสำเร็จในอีกยี่สิบปีข้างหน้า อาจจะดีกว่าเป็นได้ มันคงเป็นเรื่องที่น่าท้าทายสำหรับชีวิตของพวกเธอเป็นอย่างยิ่ง


สิ่งที่เป็นความหวังอันเดียวว่า ในอนาคตข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวผงาดขึ้นมาอีกครั้งได้อย่าง แน่นอนก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจไทยของเรายังมีศักยภาพมีกำลังการผลิตและมีทรัพย์สินจำนวนมหึมาดำรงอยู่ไม่ได้สูญหายไปไหน (ตอนนี้เราขาดเงินในระบบและขาดเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาลเท่านั้น) ทรัพย์ส่วนนี้เป็นทรัพย์สินที่มีตัวตนและไม่ได้แตกสลายไปกับเศรษฐกิจฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์แต่ประการใด ศักยภาพและกำลังการผลิตเหล่านี้ย่อมทำให้เราสามารถหารายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องได้แน่ ถ้าหากเราไม่ทำลายกันเอง ถ้าหากเราสามารถสถาปนาความสัมพันธ์แบบร่วมมือจมหัวจมท้ายระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างคนงานได้เหมือนอย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่น อย่าลืมว่าประเทศเรากำลังจะมีกำลังการผลิตรถยนต์กว่า 1 ล้านคันต่อปี และจะมีกำลังการผลิตปิโตรเคมีกว่า 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้เรายังมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์และเหล็กเส้นมากมาย เพราะฉะนั้น ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี เราต้องหาเงินมาใช้หนี้ต่างประเทศได้แน่ ขอเพียงพวกเราไม่ท้อแท้ท้อถอยก่อนกลางคันเท่านั้น


สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ในขณะนี้ต้องการมากที่สุด คือ กำลังใจหรือพลังแห่งเจตนารมณ์ ที่จะฟันฝ่าอุปสรรค ครั้งใหญ่นี้ไปได้และกอบกู้ประเทศนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เกี่ยวกับเคล็ดลับการสร้างกำลังใจเช่นนี้ ผมได้เขียนหนังสือแนวนี้ออกมาหลายเล่มแล้ว ดังต่อไปนี้ และเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่พวกเราควรจะอ่านหนังสือแนวนี้ เพราะนี่เป็นการลงทุนให้กับตัวเองที่ถูกที่สุด

(1) มังกรจักรวาลภาคพิศดาร "ฮาร์ท แอนด์ โซล "
(สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง, มิถุนายน 2540, โทร. 880-7390-1)

(2) "มูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์"
(โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. โทร, 225-9536-40

(3) "เค็นอิจิโร่" (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. โทร. 255-9536-40)

(4) "วิถีมังกร" (สำนักพิมพ์เคล็ดไทย. โทร. 255-9536-40)

(5) มังกรจักรวาล ภาค 1 "สมาธิหมุน"

(6) มังกรจักรวาล ภาค 2 "เทพอวตาร"
(บริษัท ไอโอนิค. โทร. 671-0318-20)


สิ่งที่พวกเราจะต้องกระทำนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป คือการสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจทั้งหลายขึ้นมาใหม่ ท่ามกลางซากหักพังของระบบเก่า นี่ไม่ใช่งานง่ายเลย มันเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของพวกเราเป็นอย่างยิ่งและเป็นงานที่ต้องใช้ "พลัง" เป็นอย่างยิ่ง เราทำได้ และเราจะต้องทำให้ได้ เราจะยอมให้การล่มสลายทางเศรษฐกิจในครั้งนี้เป็นไปอย่างสูญเปล่าไม่ได้อย่างเป็นอันขาด เราจะต้องไม่ยอมสยบ ยอมจำนนต่อความเลยร้ายเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป วิกฤติในวันนี้คือวันเริ่มต้นแห่งการสร้างชาติใหม่กันอีกครั้งของพวกเรา และเราจะสร้างชาติใหม่ด้วยธรรม !!



เศรษฐกิจไทยได้ตายไปแล้วครั้งหนึ่ง และมันจะต้องฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ดุจ นกฟีนิกซ์ หรือ "ปักษาอมตะ" ที่ไม่มีวันตาย นี่คือคำประกาศของพวกเรา และเป็นปณิธานความมุ่งมั่นของพวกเราด้วย

 

(จากเศรษฐกิจไทยตายแล้วฟื้น พิมพ์ครั้งที่ 3, ดร.สุวินัย ภรณวลัย, สำนักพิมพ์วิชั่น แวนควิช)





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้