พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย . . . จบแล้ว? 15/9/53

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย . . . จบแล้ว? 15/9/53


พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย . . . จบแล้ว?

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
8 กันยายน 2553
โดย รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง--รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย


นักวิชาการแดงบอกว่า พันธมิตรฯ ทำการเมืองแบบ “ชั่วคราว”ไม่ยอมค้างคืนเสียด้วยซ้ำ


ไม่สร้างสรรค์เพราะมุ่งสร้างแต่ศัตรู และบอกอีกว่าการตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ นักสู้เสื้อเหลืองทั้งหลายคิดอย่างไรกับวาทกรรมข้างต้น


นักรบแห่งธรรมไม่มีวันตาย เพียงแต่ค่อยๆ เลือนจากไป


กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนที่เรียกตัวเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมานั้น ก็ต้องยอมรับว่า เป็น movement เพราะมีข้อเรียกร้องและมีมวลชนสนับสนุน


ข้อเรียกร้องที่เป็นเหตุให้เกิดการชุมนุมเคลื่อนไหวของ พันธมิตรฯ ก็คือการต่อต้านชุดนโยบายเศรษฐกิจของทักษิณ ชินวัตรในสมัยที่ยังอยู่ในตำเหน่งนายกรัฐมนตรีที่ถูกเรียกขนานนามว่า ทักษิโณมิกส์ หรือ Thaksinomicsในภาษาอังกฤษที่เลียนแบบ “รีแกนโณมิกส์” หรือ Reaganomics และสิ่งเกิดควบคู่กันไปกับทักษิโณมิกส์ ก็คือ การปกครองของประเทศไทยในสมัยทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่อาศัยการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนเป็นกลไกเข้าสู่อำนาจรัฐและแปรสภาพไปเป็นเผด็จการรัฐสภา ระบบการปกครองที่บิดเบือนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตยจึงถูกเรียกว่า ระบอบทักษิณ (Thaksinocracy) หรือทักษิณธิปไตย หรือทรราชเสียงข้างมาก หรือ สมบูรณาญาสิทธิ์จากการเลือกตั้ง


การที่พันธมิตรฯ มีสื่อทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์สนับสนุนโดยตรง มีการถ่ายทอดสดออกอากาศตลอด 24 ช.ม.ระหว่างการชุมนุม จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่อีกประการหนึ่งอันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของ information technology ที่ทำให้ระยะทางไม่เป็นปัญหาสำหรับมวลชนที่สนับสนุน เพราะมวลชนหน้าจอโทรทัศน์ก็เป็นมวลชนที่สนับสนุนเช่นกัน แต่ไม่ต้องมาที่ชุมนุม หาไม่แล้วจะมาเปิดดูทำไม การประเมินขนาดของมวลชนโดยวัดจากจำนวนผู้มาชุมนุมจึงมีแนวโน้มที่จะได้ตัวเลขที่ต่ำเกินจริงเพราะ underestimate


การที่ระบอบทักษิณมีพฤติกรรมอันเป็นที่ประจักษ์ของการ “ล้มทุน ล้มปืน ล้มเจ้า” ได้ทำให้ข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ ที่ตั้งอยู่บนแนวคิดเรื่อง “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เกิดแนวร่วมและเป็นการแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย (dichotomy) ได้โดยง่าย โดยเฉพาะเรื่องของ “สถาบัน” นี้โดยธรรมชาติของมันไม่สามารถเป็น “กลาง” หรือแทงกั๊กได้ มีแต่จะเอาหรือไม่ ก็เท่านั้นเอง การกล่าวหาพันธมิตรฯในเรื่องการผลักดันคนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิณไปเป็นศัตรูหากไม่มาเป็นพวกเดียวกับพันธมิตรฯ จึงน่าจะเป็นการกล่าวอ้างที่เกินเลยไปจนกลายเป็นการ “กล่าวร้าย ป้ายสี” เสียมากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักวิชาการแดงบางคนและสื่อบางสื่อ


ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ได้เกิดเหตุแทรกซ้อนก็คือ การปฏิวัติรัฐประหารโดยทหารกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า คณะความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ทำให้รัฐบาลทักษิณหลุดออกจากอำนาจรัฐไปได้ชั่วคราวและเปิดช่องว่างให้ประชาชนสามารถที่จะเข้ามา re-set ระบบการเมืองการปกครองเสียใหม่โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่แก้ไขปรับปรุงช่องว่างที่มีอยู่ของรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 ให้สามารถต่อสู้กับพฤติกรรมของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้ดีขึ้น


ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เช่น ม.190 ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ที่ทำให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลและต้องมาขออนุญาตกับประชาชนผ่านสภาเมื่อจะทำข้อตกลงที่ทำให้ประเทศต้องเสียอธิปไตยหรือดินแดน หรือการทุจริตซื้อเสียง (ม.237) ของนักการเมืองทุกคน หรือการนำทักษิณและคนในระบอบทักษิณขึ้นสู่ศาลในหลายคดีเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดตามข้อกล่าวหาการทุจริตเชิงนโยบายเป็นต้น


อุดมการณ์หรือแนวคิดของพันธมิตรฯ จึงมิใช่เรื่องของการเคลื่อนไหวโดยอาศัยการสร้างศัตรู เช่น ทักษิณและหรือคนในระบอบทักษิณ เพื่อนำมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนมวลชน หรือมิใช่เพื่อพิทักษ์มรดกของ คมช. แต่อย่างใดตามที่นักวิชาการแดงพยายามจะยัดเยียดให้อยู่เสมอๆ เพราะหากไม่มีพันธมิตรฯ และพันธมิตรฯ ไม่มีอุดมการณ์ที่ว่าไว้ข้างต้น ป่านนี้ประเทศไทยมิกลายเป็นรัฐไทยใหม่ไปแล้วดอกหรือ และที่สำคัญมันสอดคล้องกับความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่หรือไม่


การเรียกร้องมิให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือคนเพียงคนเดียวให้พ้นผิดของพันธมิตรฯ ในสมัยรัฐบาลหุ่นเชิดสมัครและสมชายในช่วงปี พ.ศ. 2551 เป็นการพิทักษ์ในสิ่งที่ดีหรือไม่ดี นักวิชาการหลายคนชอบอ้างตรรกะไร้เดียงสาแต่เพียงว่า “ต้องไม่ใช้กฎหมายที่มาจากพวกเผด็จการหรือจากการรัฐประหาร” แต่จะมีกฎหมายใดบ้างที่ไม่มีที่มาจากเผด็จการ เช่น กษัตริย์ในอดีต หรือคณะรัฐประหารที่มาจากการปฏิวัติ เป็นผู้เสียสละมอบอำนาจให้กับประชาชนใช้แทนตนเอง ลองคิดดูให้ดี จะมีก็แต่นักการเมืองที่อ้างความชอบธรรมว่าตนเองมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้นที่ส่วนใหญ่พยายามรักษาอำนาจที่ตนเองมีอยู่อย่างไม่ลืมหูลืมตา


ดูตัวอย่างของกรณีคว่ำกฎหมายสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินโดยไม่ยืนยันเมื่อวุฒิสภาส่งกลับมาให้ก็ได้ ทำไม ส.ส.ที่เคยรับร่างเห็นชอบมาแล้วทั้ง 3 วาระเมื่อถูกส่งกลับมาให้พิจารณาใหม่ เนื่องจากวุฒิสภามีมติรับอย่าง “ไม่สมบูรณ์” จึงไม่ยืนยันในสิ่งที่ตนเห็นชอบเหมือนเช่นที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้ ทั้งๆ ที่วุฒิสภาก็มิได้แก้ไขอะไรที่เป็นสาระสำคัญ หรือเป็นเพราะเมื่อมาพิจารณาดูใหม่อาจกลัวว่า สตง. ตามกฎหมายใหม่จะเป็น ป.ป.ช. เวอร์ชัน 1.1 ใช่หรือไม่ จึงยอมกลืนน้ำลายตนเอง ทำไมจึงไม่ยอมให้ สตง.เข้ามามีบทบาทช่วยรับภาระของ ป.ป.ช.ในการปราบทุจริตบ้าง


สิ่งที่ก่อให้เกิดความสับสนต่อสาธารณชนก็คือ เมื่อมีการจัดตั้งกลุ่มคนเสื้อแดง เช่น แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อเลียนแบบ เพราะผู้ที่เป็นแกนนำคิดว่า เมื่อพันธมิตรฯ ทำได้ทำไม นปช. จึงจะทำไม่ได้บ้างเพื่อเป็นการ “ย้อนศร” พันธมิตรฯ การชุมนุมเผาบ้านเผาเมืองจึงเกิดขึ้นถึง 2 ครั้งในรอบ 2 ปี แต่สิ่งที่ลืมคิดไปก็คือ อุดมการณ์ที่แตกต่างกันเพราะ นปช. ทำเพื่อรัฐไทยใหม่ที่มีผลประโยชน์ของทักษิณและระบอบทักษิณอยู่ตรงกลางซึ่งอยู่ตรงข้ามอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ของพันธมิตรฯ อย่างชัดเจน


จะปฏิเสธอย่างไรก็ทำได้ยากเพราะพฤติกรรมที่ปรากฏมันฟ้อง ดังนั้น นปช.จึงต้องดิ้นรนเคลื่อนไหวอยู่จนแม้ในปัจจุบันเพราะภารกิจที่รับ (จ้าง) มายังไม่จบสิ้น ในขณะที่ พันธมิตรฯ นั้นภารกิจได้จบสิ้นไปแล้ว


การจะยัดเยียดหรือตีขลุมโดยนักวิชาการหรือนักการเมืองบางคน โดยอาศัยตรรกะที่ว่า พลังของพันธมิตรฯ คือพลังของการตรวจสอบทุจริต ส่วน นปช.เป็นเรื่องของการพิทักษ์ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ทั้งพันธมิตรฯ และคนเสื้อแดงคือตัวปัญหาสุดโต่งทั้ง 2 ข้างที่สังคมไม่ควรยอมรับโดยอีกนัยหนึ่งควรขจัดออกไป จึงเป็นการพยายามสร้างความชอบธรรมหรือเป็นแนวร่วมมุมกลับให้กับการเคลื่อนไหวของ นปช.หรือคนเสื้อแดงโดยอาศัยพันธมิตรฯ เป็นตัวเปรียบเทียบ ทั้งๆ ที่ปราศจากพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่มาสนับสนุนแต่อย่างใด


เพราะเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาก่อนมิใช่หรือ หากเลื่อมใสและจะพิทักษ์ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งทำไมจึงไม่เลือกใช้วิถีทางการเมืองโดยระบบรัฐสภาแต่กลับเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ เป็นเพราะการเคลื่อนไหวในสภาเพื่อกลับมาเข้าสู่อำนาจรัฐมันล้มเหลวเมื่อรัฐบาลหุ่นเชิดทั้ง 2 รัฐบาลต้องหลุดจากอำนาจไปใช่หรือไม่ ทักษิณที่รอการเลือกตั้งใหม่ไม่ได้จึงต้องอาศัย นปช.ทำงานนอกสภาแทน ในขณะที่พันธมิตรฯ มีพรรคการเมืองใหม่ในภายหลังที่ยุติการเคลื่อนไหวไปแล้ว


การตั้งพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ จึงเป็นทางเลือกทางหนึ่งเมื่อภารกิจของพันธมิตรฯ บรรลุแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องทำให้พันธมิตรฯ กลายเป็นขบวนการปฏิวัติพลิกฟ้าคว่ำดินเหมือนเช่นที่นักวิชาการแดงหลายๆ คนที่ ไร้เดียงสา แต่เหี้ยนกระหือรือ อยากจะให้มันเป็นตามตำรา เพราะตำราที่งับอยู่ในปากเล่มมันใหญ่กลืนเข้าไปลึก มันคายออกมายาก


การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพันธมิตรฯ จึง (1) ไม่รุนแรง (radical) แบบไม่ชนะก็ต้องตายหรือติดคุกเหมือนที่คนเสื้อแดง เช่น อริสมันต์ พร่ำบอกบนเวทีแล้วให้สาวกของตนเองติดคุกแทน ขณะที่ (2) พันธมิตรฯ ก็ตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อเป็นแขนขาในการทำงานทางการเมืองในสภาเพราะภารกิจของพันธมิตรฯ ที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ได้บรรลุแล้ว และ (3) ที่สำคัญพรรคการเมืองใหม่ ก็ต้องไม่ทำการเมืองแบบเก่า ไม่เป็นพรรคที่ต้องเอาชนะการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ไม่ต้องยอมทำทุกอย่าง หรือยอมประนีประนอม หรือแตกหักไม่ได้ดังเช่นพรรคการเมืองแบบเดิม หากแต่ยอมเป็นศัตรูกับนักการเมืองมากกว่าเป็นศัตรูกับประชาชน


ข้อแรกและข้อสองได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วซึ่งอาจจะทำให้นักวิชาการแดงหลายคนอกแตกตายเพราะไม่ตรงตามตำราที่งับไว้ในปาก แต่ข้อสามยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามดูต่อไปว่าจะทำได้จริงหรือไม่


การตั้งพรรคการเมืองที่มีวัตรปฏิบัติแตกต่างจากวิถีการเมืองแบบเดิมหรือที่เรียกว่า “การเมืองใหม่” จึงเป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากการผูกขาดทางการเมืองโดยพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน


การเมืองเก่าที่ถูกผูกขาดโดยพรรคการเมืองก็เพราะมีผู้ที่เป็นเจ้าของและส่วนใหญ่จะเป็นนายทุนของพรรคในเวลาเดียวกันเป็นผู้ออกทุนให้นักการเมืองอาศัย “เงิน” เป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ผลแพ้ชนะในการเลือกตั้ง เมื่อเกิดจากทุนก็ต้องมีการถอนทุน ส.ส.ในมือจึงเปรียบได้กับสินค้าที่เจ้าของพรรคลงทุนเพื่อให้ได้มา เพื่อเป็นหนทางเข้าไปสู่อำนาจรัฐ และจะอาศัยอำนาจรัฐในการถอนทุนต่อไปในที่สุด วนเวียนเช่นนี้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญเริ่มบัญญัติให้ ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรค นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ทำให้มติพรรคอยู่เหนือศีลธรรมและความถูกต้อง


ความเป็นตัวแทนของประชาชนของ ส.ส.จึงมีน้อยกว่าความเป็นตัวแทนของเจ้าของพรรคไปเรื่อยๆ


พรรคการเมืองในปัจจุบันจะเป็นคล้ายกิจการธุรกิจ เช่น บริษัทในครอบครัวเครือญาติ ที่มี ส.ส.เป็นทรัพย์สินที่บริษัทไปลงทุนซื้อมาจากประชาชนด้วยเงินโครงการประชานิยม หรือผลประโยชน์อื่นๆ แล้วแต่ว่าประชาชนจะเลือกรับอะไร เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพรรคการเมืองเสียใหม่ที่ไม่มีในตำรา โดยเจ้าของพรรคเป็นผู้ซื้อ “สิทธิ์เลือกตั้ง” ขณะที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ขาย


การผูกขาดทางการเมืองโดยพรรคเป็นผู้ส่งคนลงสมัคร ส.ส.แต่เพียงลำพัง การผูกขาดตำแหน่งนายกฯ ไว้เฉพาะ ส.ส.เพื่อกีดกันคนอื่นๆ ที่มีศักยภาพกว่าโดยอาศัยข้ออ้างคุณสมบัติของการเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษที่เหนือกว่าบุคคลอื่นๆ ทั่วไป หรือการอ้างมติพรรคในการลงมติที่ฝืนความต้องการของประชาชน


“การเมืองใหม่” จึงเป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับสังคมไทยเพื่อการหลุดพ้นจากการผูกขาดทางการเมืองโดยพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่เป็นประชาธิปไตยก็เฉพาะระหว่างที่ท่านตัดสินใจลงคะแนนเลือกเพียง 4 วินาทีเท่านั้นเพราะอำนาจยังอยู่ในมือ


พรรคการเมืองใหม่จึงเป็นอนาคตของพันธมิตรฯ ดังนั้นจงอย่าให้อดีตของพันธมิตรฯ ที่มีเกียรติประวัติอันเกรียงไกรในการโค่นล้มระบอบทักษิณต้องลงเอยแบบเดียวกับสมาพันธ์ชื่ออะไรก็ไม่รู้ของหมอเหวงและครูประทีปที่ไม่ยอมเลิกราแม้บรรลุซึ่งภารกิจแล้ว แต่กลับนำมาใช้เป็นสมบัติส่วนตัว


จงแลไปข้างหน้าอย่างมีความหวังที่จะสร้างสังคมใหม่และการเมืองใหม่ร่วมกันดีกว่า สังคมจะต้อง “ก้าวข้าม” ความขัดแย้งระหว่างสีให้ได้






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้