สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มทางการเมือง ภาคต้น (จากคดีลอบสังหารสนธิถึงข้อหาก่อการร้ายที่มีต่อกลุ่มพันธมิตรฯ) 29/7/52

สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มทางการเมือง ภาคต้น (จากคดีลอบสังหารสนธิถึงข้อหาก่อการร้ายที่มีต่อกลุ่มพันธมิตรฯ)  29/7/52


สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มทางการเมือง ภาคต้น

(จากคดีลอบสังหารสนธิถึงข้อหาก่อการร้ายที่มีต่อกลุ่มพันธมิตรฯ)



หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
29 กรกฎาคม 2552
โดย รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง--รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

นายกฯ อภิสิทธิ์ โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง. . .


สัจวาจาของท่านในวันที่เข้ารับตำแหน่งฯ ว่าจะเข้ามา แก้ไขการเมืองที่ล้มเหลวกำลังถูกทดสอบจากคดีลอบสังหารสนธิและข้อหาก่อการร้ายอันเป็นเท็จที่มีต่อกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปรากฏการณ์จากคดีลอบสังหารสนธิถึงข้อหาก่อการร้ายที่มีต่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มเพื่อแสดงออกทางการเมืองในประเทศไทยยังอยู่ห่างจากความเป็นจริงเสียเหลือเกิน


แล้วสิทธิที่ว่านี้มันสำคัญที่ตรงไหน?


ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น นอกเหนือจากกลไกการเข้าสู่อำนาจเพื่อบริหารประเทศโดยเปิดเผยและเสรีโดยการเลือกตั้งแล้วนั้น กลไกอีกอันหนึ่งที่สำคัญและอาจจะสำคัญมากกว่าก็คือสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและหรือการรวมกลุ่มเพื่อแสดงออกทางการเมือง เพราะการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมิได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องของนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียวหลังจากที่ผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว หากแต่ประชาชนยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในการตรวจสอบและแสดงความเห็นผ่านสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ตลอดเวลาไม่เฉพาะแต่เพียงช่วงเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว การกีดขวางหรือปิดกั้นการแสดงออกโดยอ้างแต่เพียงเป็นเรื่องของนักการเมืองหรือเป็นเรื่องของสภาฯ ที่จะตัดสินใจเท่านั้นเพราะมีพวกเขาทั้งหลายเป็นตัวแทนอยู่แล้ว จึงมักเป็นเหตุผลที่นักการเมืองชอบอ้างอยู่เป็นประจำเพื่อให้พวกเขาทำตามอำเภอใจหรือเหลีกเลี่ยงการตรวจสอบเป็นสำคัญ


ประชาธิปไตยจึงมิได้มีแค่ 4 วินาทีตอนหย่อนบัตรเลือกตั้ง และประชาชนก็มิได้เซ็นเช็คเปล่าไปให้นักการเมืองกรอกตัวเลขหรือสั่งจ่ายใครก็ได้ตามใจชอบแต่อย่างใด


ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้น สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มเพื่อแสดงออกทางการเมืองจึงเป็นสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่งที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่นานาชาติให้การยอมรับและมีพันธสัญญาต่อกันว่าจะร่วมกันรักษาเอาไว้ เพราะการเคารพต่อสิทธิเสรีภาพดังกล่าวจะเป็นหลักประกันที่ดีที่มากกว่าคำพูดหรือนโยบายสวยหรูที่เป็นแค่เพียงนามธรรมต่อระบอบประชาธิปไตยที่ทุกประเทศแสวงหา หากประเทศใดไม่ให้สัญญาหรือให้สัญญาแล้วแต่ไม่รักษาพันธะที่มีอยู่ก็จะปรากฏเครื่องหมายที่หน้าผากแสดงถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยให้ผู้อื่นได้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม


การอ้างแต่เพียงการเลือกตั้งแล้วจะจำแลงแฝงกายบอกว่าตนเองเป็นประชาธิปไตยแล้วจึงเป็นสิ่งที่โกหกหากปราศจากซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกควบคู่ไปด้วยกัน เพราะมีหลายประเทศที่อ้างว่ามีประชาธิปไตยโดยจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างจำกัดหรือโกงการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่สำคัญที่ถูกละเลยและมักจะไม่ยินยอมให้มีก็คือการยินยอมให้ประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้โดยเสรี ดังนั้น ประเทศจีน หรือประเทศไทยก็อาจไม่แตกต่างกันในระดับของความเป็นประชาธิปไตย หากประเทศไทยไม่สามารถมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกแม้จะมีการเลือกตั้งเพื่อคัดเลือกผู้เข้ามาบริหารประเทศในขณะที่จีนไม่มีก็ตาม


อย่าสับสนกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์เป็นสำคัญ ประเทศที่มีสัมพันธ์ด้วยจะมีประชาธิปไตยหรือไม่วัดแค่มีการเลือกตั้งก็เพียงพอ หรือในบางกรณีก็ไม่สนใจด้วยว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ขอให้ประเทศตนเองได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ก็เพียงพอแล้ว ประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องภายในของประเทศนั้นที่จะแสวงหาต่อสู้เพื่อให้ได้มากันเอาเองอย่าได้คาดหวังว่าจะให้ใครมาหยิบยื่นให้เป็นอันขาด


ในปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าไปเป็นรัฐภาคีในสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติเป็นตัวตั้งตัวตีอยู่ 7 สนธิสัญญา และหนึ่งในนั้นก็คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับรองกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2509 มีผลบังคับใช้เมื่อพ.ศ. 2519 และประเทศไทยได้รับรองกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนี้ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา หน่วยงานหลักที่ประเทศไทยจัดตั้งขึ้นมาก็คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนี้มีสาระสำคัญก็คือ รัฐที่เข้าร่วมกติกานี้รับรองที่จะเคารพและประกันสิทธิของบุคคลในประเทศตนเองโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ภาษา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือ ฯลฯ การลิดรอนสิทธิในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการตีความกติกาที่จะเป็นการจำกัดสิทธิจะกระทำมิได้


สาระของสิทธิในส่วนที่เป็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่อาจยกตัวอย่างได้ เช่น การห้ามบุคคลมิให้ถูกจับกุมตามอำเภอใจ การคุ้มครองเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก สิทธิที่จะชุมนุมโดยสันติ สิทธิพลเมืองที่จะมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ หรือสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง (right to self-determination) เป็นต้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้บัญญัติเอาไว้


หากปราศจาการคุ้มครองสิทธิต่างๆ เหล่านี้ ประชาธิปไตยก็ไม่มีความหมายในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ยกเว้นแต่เพียงการหย่อนบัตรเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว เพราะนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลจะสามารถทำตามอำเภอใจโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากในระบอบรัฐสภา เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่ก็จะเป็นของรัฐบาล ดังนั้นความเป็นนิติรัฐจึงมีความสำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิต่างๆ ให้ฝ่ายค้านหรือการเมืองภาคประชาชนสามารถดำเนินการตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายรัฐบาลได้ อันเป็นหัวใจที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย


ประเทศไทยจะมีความเป็นประชาธิปไตยได้มากหรือน้อยกว่ากัมพูชาก็ตรงสิทธิเสรีภาพอันนี้นี่แหละที่ทำให้ผู้นำของเราต่างกับ ฮุน เซน และเคยมีบทเรียนมาแล้วเป็นอย่างดีมิใช่หรือในเรื่องนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัฐบาลทักษิณ


การลอบสังหารสนธิและการตั้งข้อกล่าวหาก่อการร้ายกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่ใช่การทะเลาะกันระหว่างพวกเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงที่หลายคนรวมทั้งสื่อสารมวลชนหลายแหล่งยังก้าวไม่พ้น หากแต่มีที่มาจากสาเหตุเดียวกันก็คือความพยายามในการขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มทางการเมืองเพื่อแสดงออกต่างหาก


ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะนักการเมือง พยายามจะผูกขาดความชอบธรรมในการกระทำ ของตนเองโดยไม่คาดหวังจะให้ผู้ใดแม้แต่ผู้ที่เลือกเขาเข้ามาสอดแทรก ไม่ว่าจะโดยการเสนอแนะความคิดเห็นหรือการตรวจสอบก็ตาม โดยอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งอยู่เสมอ สังคมไทยจึงมีประชาธิปไตยเพียง 4 วินาทีเท่านั้น หรือ


เป็นเพราะการเปิดเผยข้อเท็จจริงและความรู้เท่าทันนักการเมืองของสนธิและสื่อฯ เช่น หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หรือ ASTV ในขณะที่สื่อฯ อื่นๆ ส่วนใหญ่เลือกที่จะปิดปากตนเอง


จึงเป็นเงื่อนไขให้ต้องปิดปากด้วยผู้อื่น


เป็นเรื่องที่น่าสังเกตที่ สมัยรัฐบาลทักษิณ ทั้งที่มีเสียงข้างมากในสภาและเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญในขณะนั้นก็เอื้ออำนวย แต่กลับมีการออกกฎหมายผ่านสภาออกมาน้อยมาก และกฎหมายที่ออกมาส่วนใหญ่ก็มีบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงโดยไม่ผ่านกระบวนการรัฐสภารับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนอำนาจอธิปไตยที่ให้อำนาจตนมาแต่ประการใด


ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2546 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2546 หรืออาจเรียกโดยรวมกฎหมายทั้ง 2 ฉบับว่าเป็นกฎหมายก่อการร้ายที่นำมาใช้กล่าวหากลุ่มพันธมิตรฯที่ผ่านมานั่นเอง


ที่มาของกฎหมายก่อการร้ายดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ 11 ก.ย. 44 ที่ตึกเวิลด์เทรด สหรัฐอเมริกา ทำให้ในเวลาต่อมาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณมีมติเมื่อ 2 ต.ค. 44 สั่งให้ยกร่างกฎหมายโดยตราเป็นพระราชบัญญัติก่อการร้ายขึ้นมา โดยหวังจะให้มีการกำหนดคำจำกัดความกำหนดความผิดฐานก่อการร้าย และกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เกิดการก่อการร้าย ด้วยความพยายามที่จะตัดไฟแต่ต้นมือจากแหล่งเงินทุนที่ใช้สนับสนุนการก่อการร้าย


อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายดังกล่าวมีความล่าช้าจนทำให้ไม่สามารถเสนอได้ทันสมัยประชุมสภาเมื่อ พ.ศ. 2545 จนล่วงเลยมาถึง พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเร่งรัดและสามารถนำเสนอร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับต่อสภาได้เมื่อ 29 ก.ค. 46 แต่เมื่อเกิดเหตุระเบิดที่บาหลีเมื่อ 5 ส.ค. 46 วิษณุ เครืองาม ในฐานะรองนายกฯ ผู้รับผิดชอบในกฎหมายดังกล่าวได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยการประชุมลับให้ตราเป็น พ.ร.ก.แทน โดยอ้าง (1) กฎหมายไทยที่มีอยู่ไม่มีการบัญญัติฐานความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายไว้โดยเฉพาะและไม่มีกฎหมายรองรับให้อายัดเงินทุนหรือทรัพย์สินที่เป็นแหล่งเงินทุนให้ผู้ก่อการร้าย ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาก่อการร้ายได้ (2) ความจำเป็นเร่งด่วนจากข้อมติ 1373 เมื่อ ค.ศ. 2001 ของสหประชาชาติที่จะต้องมีกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไว้รับมือกับการก่อการร้ายและ (3) การที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมสุดยอดเอเปค ครั้งที่ 11 ที่จะมีขึ้นในช่วง 20-21 ต.ค. 46 เป็นเหตุผลสำคัญ และเมื่อมีการจับนายฮัมบาลี แกนนำกลุ่มเจไอได้เมื่อ 11 ส.ค. 46 ก็ได้มีการประกาศ ใช้ พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับในวันเดียวกัน


เนื่องจากเป็น พ.ร.ก.ที่ออกตามมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 เมื่อรัฐบาลมาขอการรับรองจากสภาเมื่อต้นปี 2547 หลังจากที่ประกาศใช้แล้ว จึงถูกทั้งฝ่ายวุฒิสภาและจากฝ่ายค้านเข้าชื่อฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าเป็นไปบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวหรือไม่ ในประเด็นว่า พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับตราขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศและความปลอดภัยสาธารณะหรือไม่


คงไม่ต้องกล่าวถึงว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในยุคนั้นตัดสินว่าอย่างไร คงเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วเพราะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ตัดสินคดีทักษิณซุกหุ้นและขอขึ้นเงินเดือนตนเอง แต่อยากจะกล่าวถึงสาระสำคัญที่เป็นเหตุผลของผู้ร้องที่คัดค้านกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เห็นด้วยซึ่งอาจประมวลสรุปได้ดังต่อไปนี้


เป็นการใช้ช่องทางพิเศษมาออกกฎหมายที่สามารถกระทำด้วยวิธีการปกติธรรมดาได้ เพราะพ.ร.ก.เป็นช่องทางพิเศษที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีได้ในกรณี “ฉุกเฉิน” ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของหลักการทั่วไป การตรากฎหมายเป็น พ.ร.ก.ที่กำหนดความผิดอาญาอันมีโทษถึงประหารชีวิตและจำกัดสิทธิเสรีภาพทางทรัพย์สิน และความเป็นอยู่ส่วนบุคคลถึงขนาดให้รัฐมีอำนาจแทรกแซงได้อย่างเต็มที่นั้นเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจาก ไม่มีสิทธิและเสรีภาพใดที่จะสำคัญไปกว่าเรื่องการมีชีวิต ทรัพย์สินและความเป็นอยู่ส่วนบุคคลอันเป็นส่วนสำคัญของสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ


เป็นการไม่เคารพในหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอันเป็นพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลในการใช้อำนาจอธิปไตยอันจะเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลที่ดีจึงจะต้องอยู่ภายใต้หลักการปกครองที่แต่ละอำนาจอธิปไตยถูกใช้โดยองค์กรแยกต่างหากจากกันและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากรวมอำนาจ นิติบัญญัติและอำนาจบริหารไว้ด้วยกันแล้ว การปกครองนั้นก็จะเป็นเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย เพราะ หากสามารถนำมาใช้ได้ทุกเรื่องเป็นกรณีปกติทั่วไปโดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนหรือเงื่อนไขเป็นการเฉพาะเจาะจง จะเป็นการขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและ อำนาจของรัฐบาลก็จะไม่มีการถ่วงดุล ผลเสียจะตกอยู่กับประชาชน


การอ้างความจำเป็นเร่งด่วนอันจะหลีกเลี่ยงมิได้นั้น ดูจะห่างไกลกับความเป็นจริงเป็นอย่างมากเพราะสถานการณ์ที่เรียกได้ว่า ไม่มีความปลอดภัยของประเทศ ไม่มีความปลอดภัยต่อสาธารณะ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สถานการณ์ “ฉุกเฉิน” ต้องตีความว่า เป็นไปหรือเกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนและต้องรีบแก้ไขโดยฉับพลัน เช่น พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาแชร์แม้ชม้อย หรือ พ.ร.ก.แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 11 ฉบับ เป็นต้น


กฎหมายก่อการร้ายทั้ง 2 ฉบับจึงตราขึ้นมาบนพื้นฐานของการคาดเดาที่ยังมิได้เกิดขึ้น เพราะการก่อการร้ายได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตก่อนกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นเวลานานแล้วและเกิดอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เหตุการณ์เมื่อ 11 ก.ย. 44 มีผลกระทบต่อความปลอดภัย ความเสียหาย และประโยชน์ของสหรัฐอเมริกามากที่สุด แต่สำหรับประเทศไทยยังคงเหมือนเดิมดังจะเห็นได้จากสัมภาษณ์ของทักษิณในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ยังยอมรับว่าแม้จะเกิดเหตุระเบิดที่บาหลีแต่ประเทศไทยมิได้เป็นเป้าหมายก่อการร้าย รัฐบาล (ทักษิณ) ดูแลเต็มที่จึงไม่ต้องห่วง สื่อฯ ไม่ควรตกใจไม่ต้องถามเรื่องพวกนี้จนทำให้เกิดความระแวง เนื่องจากงานเอเปคจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก


ผลของการใช้ช่องทางพิเศษนี้หากมีการลงโทษประหารชีวิตไปแล้วตามกฎหมายนี้แต่ พ.ร.ก.ไม่ผ่านใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ การแก้ไขกฎหมายที่สำคัญ เช่น กฎหมายอาญาจึงกระทำโดยช่องทางปกติเป็นพระราชบัญญัติเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้วิจารณญาณโดยรอบคอบ เพราะฐานความผิดตาม พ.ร.ก.อาจถูกยกเลิกได้โดยง่าย ดังจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายอาญาที่รวบรวมประมวลเข้ามาด้วยกันตั้งแต่ พ.ศ. 2499 และใช้จนถึงปัจจุบัน มีการแก้ไขเกือบ 20 ครั้งแต่ทุกครั้งก็เป็นการแก้ไขโดยตราเป็นพระราชบัญญัติ มีเพียงสมัยคณะปฏิวัติ พ.ศ. 2514 และคณะปฏิรูป พ.ศ. 2519 เท่านั้นที่ออกเป็นประกาศคณะปฏิวัติ/คณะปฏิรูป


มีแต่ในสมัยรัฐบาลทักษิณที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยเพราะมาจากการเลือกตั้งเท่านั้นที่ริอ่านทำตัวเป็นผู้เผด็จการดังเช่นคณะปฏิวัติ/คณะปฏิรูปออกกฎหมายร้ายแรงเช่นนี้ออกมาโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน หากจะอ้างเหมือนเช่นที่วิษณุ เครืองาม ที่อ้างว่าเคยมีตัวอย่างมาแล้วในอดีตเมื่อ พ.ศ. 2483 และพ.ศ. 2487 ที่ออกเป็นพระราชกำหนดก็ขอให้พิจารณาดูว่าสมเหตุสมผลหรือเอาสีข้างเข้าถูกันแน่


แต่คิดอีกทีก็ไม่น่าประหลาดใจอันใดเพราะแม้แต่ที่วัดที่เอามาทำสนามกอล์ฟก็ยังไม่ฟังเสียงกฤษฎีกาคณะใหญ่มาแล้ว บอกแต่ว่ารัฐบาลไม่ต้องทำตามก็ได้ หากเป็นเช่นนี้อีกหน่อยก็คงใช้ประกาศสำนักนายกฯ มาแก้กฎหมายอื่นๆ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเสนอกฎหมายเข้าสภาเพื่อพิจารณาเป็นแน่แท้


การอ้างว่าประเทศไทยหากไม่มีกฎหมายก่อการร้ายจะไม่สามารถจัดการปัญหาก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นได้นั้นดูจะห่างไกลกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะการให้คำจำกัดความ “การก่อการร้าย” เพื่อให้เป็นฐานความผิด ตามมาตรา 135/1 ก็เป็นความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่บังคับใช้อยู่แล้วและได้สัดส่วนกัน เช่น


ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 130-135 ว่าด้วยความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ แม้เป็นเพียงพยายามฆ่าก็มีโทษหนักถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต


หรือมาตรา 209-216 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนแม้เพียงตระเตรียมการเพื่อกระทำผิดก็มีความผิดเช่นเดียวพยายามกระทำผิดแล้ว


หรือมาตรา 217-239 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนที่ได้ครอบคลุมถึงลักษณะความผิดหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการวางเพลิง ทำให้เกิดการระเบิดแก่ทรัพย์สินเอกชน สาธารณชน สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โรงมหรสพ สถานที่ประชุม สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ก็ล้วนแล้วแต่มีโทษหนักจำคุกตั้งแต่ 5 ปี- ตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต หรือแม้เพียงการระเบิดที่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นเท่านี้ก็มีความผิดและรับโทษแล้ว


และศาลฎีกายังได้มีคำพิพากษาเมื่อ พ.ศ. 2543 ว่าการก่อการร้ายเท่ากับการกระทำเป็นอั้งยี่ซึ่งมีโทษประหารชีวิต ย่อมแสดงให้เห็นว่ากฎหมายอาญาที่ใช้บังคับอยู่มีความสมบูรณ์เพียงพอที่รัฐบาลจะนำมาใช้เป็นมาตรการกับการกระทำผิดฐานก่อการร้ายได้โดยไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายออกมาใหม่ (มารุต บุนนาค, ความเห็นเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ, 4 ก.ย.46)


นอกจากนี้ในมาตรา 135/2-135/4 ก็ยัง ขาดความชัดเจน เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่อาจนำมาทำให้บุคคลที่มีความเห็นขัดแย้งทางการเมืองกับรัฐบาลหรือทำการเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของรัฐบาลไทยหรือต่างประเทศกลายมาเป็นผู้ต้องหาที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดก่อการร้ายได้ เพราะเจตนาเรียกร้องก็อาจต้องหาว่ามีเจตนาขู่เข็ญ การเตรียมการประท้วงก็อาจจะต้องหากลายเป็นการเตรียมการประทุษร้ายหรือก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือเศรษฐกิจของชาติได้โดยง่าย


หากเป็นดังข้างต้น พฤติกรรมของนายราเกซ สักเสนาก็ดี หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามรายงาน ศปร.1 เมื่อช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ที่ยังลอยหน้าลอยตาเป็น “กูรู้” ด้านเศรษฐกิจหรือการเงินในปัจจุบันก็น่าจะเข้าข่ายเป็นผู้ก่อการร้ายได้ เพราะก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือเศรษฐกิจของชาติให้เห็นเป็นประจักษ์แล้ว


ที่น่าตกใจมากที่สุดก็คือ มาตรา 135/4 หากสหประชาติระบุว่าคณะบุคคลใดมีการกระทำเป็นผู้ก่อการร้าย และหากใครเป็นสมาชิกของคณะบุคคลนั้นก็ สามารถเป็นผู้ก่อการร้ายในทันทีที่รัฐบาลไทยประกาศรับรองมติหรือประกาศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เป็นความผิดสำเร็จรูปโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องผ่านสภา ไม่ต้องผ่านศาลไทย ไม่ต้องพิจารณาเลยว่าเป็นความผิดของผู้นั้นที่จงใจเป็นสมาชิกหรือไม่ เพียงแค่ทักษิณกับรัฐมนตรีอีกไม่กี่คนจะโดยหนังสือเวียนก็ได้ไม่ต้องประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยซ้ำ เป็นการแย่งทั้งอำนาจนิติบัญญัติและตุลาการไปไว้ที่ฝ่ายบริหารเพราะเมื่อรัฐบาลประกาศรับมติหรือประกาศฯ ก็เป็นกฎหมายที่มีระวางโทษความผิดโดยศาลไม่สามารถจะพิจารณาและกำหนดโทษได้เองเลย


UN ไม่ใช่พ่อจึงไม่จริง และ สถาบันกษัตริย์ไทยจึงมีคุณูปการกับผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งเพราะมองเห็นการณ์ไกล เห็นความสำคัญ ยอมเสียสละแม้กระทั่งดินแดนเพื่อแลกกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่หมายถึงอำนาจอธิปไตยด้านศาลให้มีในดินแดนไทยอย่างสมบูรณ์


ดังนั้นทั้ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2546 ที่มีการให้คำจำกัดความของการก่อการร้าย และพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2546 ที่เพิ่มฐานความผิดมูลฐานเพิ่มขึ้นจากการก่อการร้ายเป็นฐานที่แปด ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาก่อการร้ายตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้ได้เพราะกินความกว้างขวางแต่ไม่ชัดเจนอันอาจเป็นผลร้ายหากผู้รักษากฎหมายลุแก่อำนาจกล่าวหาบุคคลที่มีความคิดแตกต่างจากรัฐบาลหรือประท้วงโต้แย้งรัฐบาลไทยหรือต่างประเทศตามที่ผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ให้กล่าวไว้เมื่อ 5 ปีก่อนก็ได้เกิดขึ้นและเป็นจริงในที่สุด


ผู้เขียนไม่ได้เรียนกฎหมายแต่กฎหมายบังคับให้ต้องรู้กฎหมาย แต่ความเห็นต่อไปนี้สะท้อนให้เห็นถึง ลักษณะตัวตนที่แท้จริงของทักษิณ ชินวัตรได้ดีว่าเป็นคนที่รู้ไม่จริง ฉาบฉวย และความปราดเปรื่องของเนติบริกรในรัฐบาลทักษิณในขณะนั้นได้ทำงานรับใช้ประชาชนหรือไม่ ทั้งๆ ที่มี วิษณุ เครืองาม เป็นรองนายกฯ พงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรมต.ยุติธรรม และ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี


“โดยกฎหมายเช่นนี้ จึงเหมือนกับนักกฎหมายที่ไม่เข้าใจภาษากฎหมาย คือมองว่าหากไม่มีชื่อความผิดที่ปรารถนาแล้วก็จะลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ แสดงถึงความอ่อนแอในกลไกบังคับใช้กฎหมาย” (ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, สะกิดกฎหมาย, 2549)


(ยังมีต่อ ภาคปลาย) เสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มทางการเมือง : หลักการโยฮันเนสเบิร์ค


ความผิดเกี่ยวกับลักษณะการก่อการร้ายตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2546


มาตรา 135/1 ผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดอาญาดังต่อไปนี้


(1) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ


(2) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ


(3) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ


ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท


การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย


มาตรา 135/2 ผู้ใด


(1) ขู่เข็ญว่าจะกระทำการก่อการร้าย โดยมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะกระทำการตามที่ขู่เข็ญจริง หรือ


(2) สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือยุยงประชาชนให้เข้ามีส่วนในการก่อการร้าย หรือรู้ว่ามีผู้จะก่อการร้ายแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท


มาตรา 135/3 ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา 135/1 หรือมาตรา 135/2 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้นๆ


มาตรา 135/4 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งมีมติหรือประกาศภายใต้


คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นคณะบุคคลที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายและรัฐบาลไทยได้ประกาศให้ความรับรองมติหรือประกาศดังกล่าวด้วยแล้ว ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท


หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้