“หยุดทำร้ายประเทศไทย”ได้แล้ว ทุนสามานย์ ( บทความวิพากษ์ซาตานในคราบนักบุญ ) 12/5/52

“หยุดทำร้ายประเทศไทย”ได้แล้ว ทุนสามานย์ ( บทความวิพากษ์ซาตานในคราบนักบุญ ) 12/5/52


“หยุดทำร้ายประเทศไทย”ได้แล้ว ทุนสามานย์

( บทความวิพากษ์ซาตานในคราบนักบุญ )




หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
12 พฤษภาคม 2552
รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง--รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ใครกันแน่ที่ทำร้ายประเทศไทย? ทุนสามานย์ใช่หรือไม่ มันใช่คนที่ใส่เสื้อสีต่างๆอย่างที่พวกวิญญูชนจอมปลอมทั้งหลายกำลังสร้างวาทกรรมผิดๆ ขึ้นมาบิดเบือนหรือไม่อย่างไร


เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่ทุนนิยม หรือ capitalism ได้กลายมาเป็นระบบเศรษฐกิจหลักของหลายประเทศในโลกใบนี้ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย


ทุนนิยมอาจให้หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ใช้ “ทุน” หรือ capital มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นเจ้าของทุน


มีผู้เข้าใจผิดและใช้อย่างสับสนอยู่เสมอๆ ระหว่างความหมายของ “ทุน” กับ “ต้นทุน” เพราะเขียนในภาษาไทยแล้วใกล้เคียงกันมาก แต่ที่มาหากดูจากภาษาอังกฤษแล้วมีความแตกต่างอย่างเด่นชัด “ทุน” หมายถึงสิ่งที่ใช้แล้วไม่หมดไปในครั้งเดียว ดังนั้นทรัพย์สินต่างๆ ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ หรือที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น ที่ดิน เครื่องจักรวัว ควาย เงิน ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ หรือแม้แต่คน จึงเป็นทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็น “ทุน” ได้เพราะใช้แล้วไม่สูญสลายหมดไปจากการใช้ในทันที ผลผลิตที่เกิดขึ้นมาจากการใช้ “ทุน” ตลอดช่วงอายุของมันจึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลตอบแทนที่ “ทุน” สามารถผลิตขึ้นมา


ดังนั้นนักการเมืองที่ชอบตัดพ้อต่อว่าโดยอ้างว่าตนเองมี “ต้นทุน” ต่ำ แต่ในความเป็นจริงนักการเมืองดังกล่าวหากมิได้ประพฤติดีประพฤติชอบก็มิได้หมายความว่ามีต้นทุนต่ำแต่ประการใด หากแต่ตนเองมี “ทุน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ “ต่ำ” ต่างหาก


“ทุน” จึงแตกต่างกับ “ต้นทุน” ที่หมายถึง cost ทั้งที่เป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไปจริง (จากกระเป๋าเงิน) หรือ explicit cost และที่ไม่ได้จ่ายออกไปจริงหรือ implicit cost แต่ต้องคิดรวมเอาไว้เพราะแนวคิดในการกำหนดต้นทุนในทางเศรษฐศาสตร์มีที่มาจากหลักของต้นทุนค่าเสียโอกาสหรือ opportunity cost ที่คิดบนพื้นฐานของ best benefits foregone ที่อาจหมายถึงประโยชน์สูงสุดที่พึงได้รับจากทรัพยากรนั้นนำมาคิดเป็นต้นทุน


ต้นทุนที่คิดจากหลักค่าเสียโอกาส เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับกรณีของ ส.ส.จึงวัดที่ประโยชน์ที่สังคมพึงได้รับมากที่สุดจากการมี ส.ส. ดังนั้นหากมี ส.ส.จอมถีบ หรือที่ชอบโกหกปั้นน้ำเป็นตัวอยู่เป็นประจำ 1 คนก็เท่ากับว่าจะมี ส.ส.ที่อาจทำประโยชน์ได้ดีกว่า ส.ส.จอมถีบนี้น้อยลงไป 1 คน


ต้นทุนของการมี ส.ส.ที่ไม่ดี ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง จึงมิได้คิดเฉพาะต้นทุนที่จ่ายออกไปจริงก็คือเงินค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายให้ทุกเดือนแล้ว หากแต่ยังมีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่มิได้จ่ายออกไปจริงก็คือ แทนที่จะได้รับ “ความดี” จากการมีส.ส.ที่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคม กลับได้ “ความเลว” ที่ส.ส.ดังกล่าวอาจไปก่อให้เกิดกับสังคม เช่น การไปกระโดดถีบเพื่อน ส.ส.ด้วยกัน หรือการไปก่อความวุ่นวายกับบ้านเมือง ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อช่วงสงกรานต์แดงเดือดที่ผ่านมา


ลักษณะเด่นของระบบทุนนิยมประการหนึ่งก็คือ ความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินของบุคคล หรือความสามารถในการเป็นเจ้าของทุนที่จะใช้สอยไปตามความพึงพอใจนั่นเอง ดังนั้นการพิจารณาว่าอยู่ในระบบทุนนิยมหรือไม่จึงอาจสังเกตได้จากกติกาหรือกฎหมายในการปกป้องหรือแสดงความเป็นเจ้าของที่ให้อำนาจบุคคลในการถือครองทรัพย์สินว่ามีมากหรือน้อยประการใด หากรัฐเป็นเจ้าของทรัพย์สินแทนบุคคลก็จะเป็นระบบคอมมิวนิสต์ (state economy) หรือหากรัฐเป็นเจ้าของทรัพย์สินแทนบุคคลในบางส่วนก็จะเป็นระบบแบบผสมหรือ mixed economy ที่รัฐเข้ามาแทรกแซงในบางกรณี


ด้วยเหตุนี้เอง ผู้เป็นเจ้าของทุนจึงสามารถแสวงหาความมั่งคั่งได้มากกว่าผู้ไม่มีทุนเพราะสามารถใช้ทุนมาทำประโยชน์แทนที่ตนเองจะต้องออกแรงทำ ความมี คุณ-นะ-(พึง) ทำ จึงลดน้อยลงไปตามทุนที่มีมากขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ การค้าทาสในสมัยโบราณ เจ้าของหรือนายทาสจึงเป็นบุคคลที่เป็นเจ้าของในทรัพย์สินที่สามารถก่อให้เกิดผลผลิตได้โดยตนเองไม่ต้องลงมือทำเอง


ส.ส.ในระบอบทักษิณ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จึงเปรียบเสมือนทรัพย์สินของนายทุนเจ้าของพรรค เพราะลงทุนจ่ายเงินซื้อเสียงเพื่อให้สามารถเข้ามาสู่ตำแหน่ง ส.ส.ได้ หรือไปจ่ายตลาดนักการเมือง ซื้อยกพรรค เพื่อเข้ามาควบรวมกับพรรคเพื่อไทย เพื่อกีดกันการตรวจสอบโดยระบบรัฐสภา ที่กำหนดว่าต้องมีจำนวน ส.ส.อย่างน้อย 100 คนสำหรับอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี หรือ 200 คนสำหรับกรณีนายกฯ


ดังนั้นนอกจากคนในฐานะทรัพย์สินที่เป็นทาสแล้ว แนวคิดในเรื่องการค้านิยมหรือ mercantilism จึงเป็นระบบทุนนิยมแบบหนึ่งที่เชื่อว่าทรัพย์สินอื่นๆ ที่สามารถไปแสวงหามาได้จากการค้า โดยการขายมากกว่าซื้อ เมื่อสะสมมากขึ้นจะทำให้ตนเองและประเทศมีความมั่งคั่ง ดังนั้นการปกป้องหรือสนับสนุนทางการค้าด้วยภาษีหรือกฎข้อบังคับต่างๆ จึงมีมานานแล้วแต่โบราณเพราะทุกประเทศพยายามที่จะขายมากกว่าซื้อ และเอกชนก็พยายามแสวงหาการปกป้องจากรัฐเพื่อป้องกันคู่แข่ง


การแสวงหาอาณานิคมเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรโดยเสียค่าใช้จ่ายต่ำ (มีแต่ค่าลูกปืนและเงินเดือนทหาร) และนำไปขายเพื่อแลกกับโลหะมีค่า เช่น ทองคำหรือเงิน จึงเป็นอีกแนวทางของทุนนิยมที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 -18 ทั้งที่รัฐทำเองหรือให้สัมปทานเอกชนไปเพื่อค้า/ล่าอาณานิคมเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากร ดังจะเห็นได้จากที่ริเริ่มเป็นระบบโดยบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ของทั้งอังกฤษหรือดัตช์ ทำให้ลัทธิการค้านิยมแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก


อย่างไรก็ตาม การขายมากกว่าซื้อไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับการล่าอาณานิคมที่มีขอบเขตจำกัด ทุนนิยมเริ่มประสบปัญหาในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เนื่องจากได้ผลตอบแทนต่ำกว่าค่าใช้จ่ายทางการทหาร และที่สำคัญก็คือเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมา เครื่องจักรที่สามารถผลิตสินค้าได้ทีละมากๆ ได้ทำให้นักอุตสาหกรรม นายธนาคารเข้ามามีบทบาทแทนที่พ่อค้า แต่ทุนนิยมยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นระบบอุตสาหกรรม มีโรงงานที่ใช้เครื่องจักรกลพร้อมๆ กับแรงงานที่มีการแบ่งงานกันทำโดยที่ส่วนเกินในการผลิตส่วนใหญ่ก็ยังตกอยู่กับนายทุนเหมือนเดิม


ความท้าทายของทุนนิยมครั้งสำคัญเกิดขึ้นมาเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หรือ Great Depression ในทศวรรษที่ 1930 แพร่กระจายไปทั่วโลกเนื่องจากการขาดซึ่งความต้องการในสินค้าและบริการอันเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และการปฏิวัติในรัสเซียในปี 1917 ทำให้คนมีเงินไม่กล้าใช้เงินซื้อสินค้าหรือบริการเพราะไม่แน่ใจในอนาคต เป็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน


เมื่อมีคนซื้อสินค้าหรือบริการลดลง ราคาของสินค้าหรือบริการก็จำเป็นต้องลดลง การลงทุนจึงชะงักงันเนื่องจากนายทุนหรือผู้มีรายได้เลือกที่จะถือเงินมากกว่าจะลงทุนซื้อหรือผลิตสินค้าหรือบริการเพราะคาดว่าราคาสินค้าจะตกลงไปกว่านี้อีกในอนาคต การซื้อพรุ่งนี้จะถูกกว่าซื้อวันนี้ ดังที่จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาเอาไว้ และเป็นที่มาของแนวความคิดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำโดยการเข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจโดยอาศัยรัฐเป็นผู้ลงทุนซื้อสินค้าบริการแทนนายทุนหรือผู้มีรายได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้สินค้าขายได้ ผู้ผลิตจ้างแรงงานต่อไป แรงงานมีรายได้ รัฐสามารถเก็บภาษีได้ในภายหลัง และที่สำคัญก็คือทำให้แนวคิดในเรื่องทุนของ คารล์ มากซ์ไม่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกเหมือนดังเช่นที่เกิดในรัสเซีย


ข้อดีของระบบทุนนิยม ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นจากประจักษ์พยานในอดีตที่ผ่านมาก็คือ การจัดการกับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สลับซับซ้อนดังเช่นที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบัน ที่สามารถทำได้ดีกว่าระบบแบบวางแผนส่วนกลาง (central planning/state economy) ที่นิยมใช้ในระบบคอมมูนิสต์


ด้วยกลไกราคา (price mechanism/market economy) การจัดการสินค้าบริการที่มีเป็นจำนวนมากจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าทั้งในกิจกรรมด้านการผลิต แลกเปลี่ยน หรือบริโภค ซึ่งระบบแบบวางส่วนกลางไม่สามารถจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาได้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะเห็นการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ทั้งยุโรปตะวันออกและรัสเซีย หรือแม้แต่จีนเองก็ยังต้องยอมรับนำมาใช้ไม่อาจฝืนได้ เพราะเมื่อคนมีความเพียงพอในปัจจัยการดำรงชีพแล้ว ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางก็มิอาจสนองตอบต่อความต้องการของคนได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับระบบทุนนิยมอีกต่อไป


อาจกล่าวได้ว่าจีนในโลกปัจจุบันมีความเป็นทุนนิยมค่อนข้างมากกว่าในอดีต หากวัดด้วยการให้เอกชนสามารถถือครองทรัพย์สินเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เพราะมีแต่เพียงที่ดินเท่านั้นที่เป็นทรัพย์สินที่รัฐยังคงเป็นตัวแทนเอกชนถือครองแทนเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ระบบทุนนิยมมิได้กล่าวถึงแม้แต่น้อยก็คือ การกระจายรายได้ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นความสามานย์ของทุนนิยมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด และเป็นข้อด้อยที่สำคัญของระบบทุนนิยม เพราะกลไกราคาไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับทำหน้าที่กระจายรายได้ ผู้ที่สามารถจ่ายค่าสินค้าบริการในราคาสูงสุดจะเป็นผู้ที่ได้สินค้าบริการนั้นไป จึงเป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นว่ากลไกราคาถูกออกแบบไว้สำหรับเป้าหมายด้านประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และกลไกราคาก็มิใช่สิ่งที่สมบูรณ์หากแต่ยังมีกรณีต่างๆ ที่กลไกราคาทำงานล้มเหลว (market failure) ไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การอาศัยกลไกราคาในการจัดการระบบเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถทำให้การกระจายรายได้เกิดขึ้นมาอย่างเป็นธรรมได้ในทุกภาคส่วนของสังคมและเป็นบ่อเกิดของความสามานย์ของทุนนิยม เป็นการทำร้ายประเทศอย่างชัดเจน


การแทรกแซงโดยรัฐเพื่อทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ไขความล้มเหลวของกลไกราคา โดยอาศัยเครื่องมือที่สำคัญก็คือภาษีหรือกฎข้อบังคับต่างๆ เช่น ภาษีมลพิษสำหรับป้องกันสิ่งแวดล้อม ภาษีการถือครองที่ดิน การบังคับมิให้ขายสุราโดยเสรี การให้เงินสนับสนุนให้ทำนุบำรุงวัฒนธรรม หรือการบังคับให้เด็กในวัยเรียนต้องเข้าเรียน สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถปล่อยให้ตกอยู่กับบทบาทหน้าที่ของกลไกราคาเพราะด้วยกลไกราคามันไม่มีส่วนใดที่ทำให้มาตรการเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างแน่นอน


ข้อสังเกตประการหนึ่งในประเด็นนี้ก็คือ การปล่อยให้นักการเมืองมาเป็นตัวแทนประชาชนในการเข้ามาปกครองประเทศโดยไม่มีกลไกที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ก็จะเป็นกรณีเดียวกับการใช้กลไกราคาเป็นเครื่องมือด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว


นักการเมืองมีธรรมชาติที่จะเอาใจประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย “การให้” ทั้งที่เป็นตัวเงินและที่ไม่ใช่ตัวเงิน แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องบังคับหรือห้าม โดยอาศัยเครื่องมือที่สำคัญก็คือภาษีหรือกฎข้อบังคับต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อมิให้เกิดการกระทำในทางที่ผิด กลับปล่อยปละละเลย ทั้งที่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมส่วนรวมดุจดัง รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ความเข้มแข็งและตื่นรู้ของประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อรู้เท่าทันและควบคุมนักการเมือง


นอกเหนือจากการบิดเบือนทำร้ายประเทศโดยอาศัยกลไกราคาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว ทุนนิยมพวกพ้องหรือ crony capitalism จึงเป็นทุนสามานย์ที่ควรกล่าวถึง เพราะเป็นระบบทุนนิยมที่เอื้ออำนวยผลประโยชน์กับพวกพ้องเพื่อนฝูงและญาติสนิทมิตรสหาย การทุจริตในเชิงนโยบายจึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นภาพของทุนนิยมพวกพ้องว่ามีความสามานย์มากน้อยเพียงใด เพราะหากท่านไม่เป็นพวกเขาก็ไม่มีทางที่จะได้รับประโยชน์


วิธีการละลายเงินเล่นเมื่อ 20-30 ปีก่อนหน้านี้วิธีหนึ่งก็คือ เล่นการเมืองหรือสมัครเป็นผู้แทนราษฎร แต่ในปัจจุบันหากจะหาวิธีการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนมากและรวดเร็วที่สุดคำตอบที่ได้ก็คือ เล่นการเมือง


การลงทุนในการเมือง เช่น การสะสม ส.ส.ไว้ในความควบคุม เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐในการบริหารประเทศดูจะเป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนดีที่สุด เมื่อมีอำนาจรัฐอยู่ในมือก็สามารถทุจริตในเชิงนโยบายได้โดยสะดวกและเป็นวิธีที่ปลอดภัยเพราะมิได้เรียกร้องผลประโยชน์หรือกินสินบาทคาดสินบน หากแต่เป็นการกินรวบไม่แบ่งให้ผู้อื่นในสังคมยกเว้นพวกพ้อง เพื่อสะสมเอาเงินที่ได้มาจากการทุจริตเชิงนโยบายไปซื้อเสียงในคราวต่อไป อันเป็นวงจรอันชั่วร้ายที่ทำให้ร้ายประเทศไทย ก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองที่เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการกระทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพราะตนเองเป็นผู้ออกกฎหมาย จะผิดได้อย่างไร?


ด้วยเหตุนี้เอง หากผู้ใดมีเงินใกล้เคียงกับ ทักษิณ ชินวัตร การเข้าสู่อำนาจรัฐโดยการซื้อเสียงจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพื่อให้ได้อำนาจรัฐ ส.ส.ครึ่งหนึ่งในสภาอาจใช้เงินเพียงไม่กี่พันล้านบาท และอาจใช้เงินอีกไม่มากนักในการแทรกแซงกลไกตรวจสอบขององค์กรอิสระที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งจะเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าเกินกว่าเงินที่ได้ลงทุนไปแล้วหลายเท่านัก หากไม่เชื่อก็ลองนับเงินที่เชื่อว่าทักษิณ ชินวัตรมีอยู่ก็ได้ว่าเหตุใดมันจึงงอกเงยรวดเร็วยิ่งนัก


การปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาเป็นฉบับ พ.ศ. 2550 จึงเป็นการตอบโต้ต่อทุนสามานย์ที่พยายามทำร้ายประเทศไทย อย่างโหดร้ายด้วยการใช้ทุนเพื่อเอาชนะในทุกสิ่งทุกอย่าง โดยมาตรการหลายอย่าง เช่น


มาตรา 237 ในเรื่องการซื้อเสียงและความรับผิดชอบสาธารณะของนักการเมืองดูจะเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเป็นมาตรการที่ป้องกันการใช้ทุนแบบสามานย์เพื่อเข้ามาสู่อำนาจรัฐ ของนายทุนที่แปลงร่างมาเป็นนักการเมือง หรือพยายามลงทุนซื้อเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ หรือ


มาตรา 190 ที่ร่างขึ้นมาเพื่อ ป้องกันการนำเอาผลประโยชน์ของรัฐไปเป็นเครื่องต่อรองกับต่างชาติเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง หรือ


การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ส.ส.จากเดิม 1 เขต 1 เบอร์ มาเป็นแบ่งเขตเรียงเบอร์ เพื่อป้องกันการเผชิญหน้าและลดความขัดแย้งให้บรรเทาเบาบางลง เป็นการป้องกันการใช้ทุนแบบสามานย์เพื่อให้ได้อำนาจรัฐ เพราะด้วยระบบการแบ่งเขตเรียงเบอร์อย่างน้อยก็สามารถมีผู้แพ้ที่เป็น ส.ส.ได้ ไม่ต้องห้ำหั่นอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อที่จะเป็นผู้ชนะแต่เพียงอย่างเดียวดังเช่น ระบบ 1 เขต 1 เบอร์ที่ไม่มีที่ให้สำหรับผู้แพ้ ทำให้ผู้สมัครทุกคนต้องสู้ตายและหันมาใช้ทุนในแบบสามานย์ ซึ่งทำให้หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเป็นทาสนายทุนที่เป็นเจ้าของพรรคการเมืองที่มีเงินให้ไปซื้อเสียงได้ หรือ


ระบบการสรรหาวุฒิสมาชิกแทนการเลือกตั้งทั้งหมดก็เป็นอีกมิติหนึ่งในการป้องกันทุนสามานย์มิให้เข้ามาทำร้ายประเทศไทยเพราะวุฒิสภามีหน้าที่หลักในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นกลไกตรวจสอบที่สำคัญ การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกทั้งหมดก็จะหลีกเลี่ยงการใช้ทุนเพื่อเอาชนะเหมือนดังเช่นการเลือก ส.ส.ได้ยาก และหากดูจากผลงานที่ผ่านมาวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหาอาจมีผลงานและคุณภาพมากกว่าที่มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำ


อย่าลืมว่ากลไกราคาแม้จะใช้ได้ผลดีในระบบทุนนิยม แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องไม่สามารถใช้ได้เต็มร้อยเสมอไป เป็นบ่อเกิดของทุนสามานย์ การอ้างว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียวก็เป็นดุจเดียวกับการใช้กลไกราคาแต่เพียงอย่างเดียว เป็นการทำคุณหรือทำร้ายประเทศกันแน่


กระแสความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวข้างต้นในหลายรูปแบบ เช่น การนำเอารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 มาใช้ทั้งฉบับ หรือการนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ต้องคำพิพากษาตามมาตรา 237 จึงเป็นการทำร้ายประเทศไทยอย่างปฏิเสธได้ยาก


วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันส่วนหนึ่งมาจากสำนึกในความเป็น “อภิสิทธิชน” ของนักการเมืองไทยที่มีเหนือประชาชนทั่วไปโดยแท้ กฎหมายออกจากมือนักการเมืองที่ยกให้แต่ไม่สามารถมาบังคับนักการเมืองได้ สังคมต้องยินยอมให้นักการเมืองประพฤติปฏิบัติตนตามที่เคยเป็นมาโดยเฉพาะการซื้อเสียง หากมีกฎอะไรที่มาขัดก็เป็นความผิดของกฎ มิใช่เป็นความผิดของผู้ฝ่าฝืน


การรณรงค์ “หยุดทำร้ายประเทศไทย” ที่มีผู้นำขับเคลื่อน 2 คน คือ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จากสถาบันพระปกเกล้า และประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ จากหนังสือพิมพ์มติชน ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการเบี่ยงเบนประเด็นให้สังคมมีความเข้าใจผิด


ผู้เขียนยังจำได้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้โดยเฉพาะที่ตากใบที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั้งที่อยู่ในความดูแลของทางการ เกิดกระแสกดดันรัฐบาลทักษิณในสมัยนั้นอย่างมากให้แสดงความรับผิดชอบ ผลของการเข้าพบหารือระหว่างตัวแทนนักวิชาการส่วนหนึ่งและนายกฯ ทักษิณ กลับได้การพับนกขึ้นมาแทนการแสดงความรับผิดชอบ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ไม่ยุติจนถึงปัจจุบันเพราะเราไม่พูดความจริงกันว่าใครทำร้ายใคร


ความจริงง่ายๆ ที่อยากจะพูดให้ชัดก็คือ ท่านกำลังจะให้ “ใคร” หยุดทำร้ายประเทศไทยและ “อะไร” คือการทำร้ายประเทศไทย


ผู้เขียนขี้เกียจที่จะค้นว่าบวรศักดิ์เข้าทำงานกับนายกฯ ทักษิณแล้วหรือยังในขณะนั้นและทำมานานมากน้อยเท่าใด หรือประสงค์เลิกค้นหานานแล้วหรือยังว่าทักษิณมีการซุกหุ้นอีกหรือไม่ แต่อยากจะขอยืมนิยามของพวกเป็นกลางประเภท 3 ของอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มาใช้ว่า การรณรงค์ “หยุดทำร้ายประเทศไทย” เป็นความพยายามที่จะบอกให้สังคมรู้ว่าทั้งสีแดง สีเหลือง หรือสีอื่นๆ เลวหมด มีแต่ผู้ที่กำลังรณรงค์อยู่เท่านั้นที่ดีเพราะเป็นกลางโดยไม่ทำอะไรเลย เอาแต่เรียกร้องและยกตนข่มคนอื่นๆ ไม่สนใจเหตุที่เกิดก่อนหน้านั้นเลยว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมจึงเกิดความรุนแรง


ไม่มีความเป็นกลางระหว่างความดีกับความเลวอย่างแน่นอน


เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ในปัจจุบันยังมีวิญญูชนจอมปลอมอย่าง งัก ปุ๊ก คุ้ง เกิดขึ้นมาในสังคมไทยทั้งที่เป็นเพียงตัวละครหนึ่งจากจินตนาการของกิมย้งในเรื่องกระบี่เย้ยยุทธจักร


เป็นเรื่องเหลือเชื่ออีกเช่นกันที่มีความพยายามที่จะใช้ตรรกะของ “พลังเงียบ” มาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมอยู่อีกในสังคมไทยยุคปัจจุบัน


พลังเงียบหากหมายถึงผู้ที่ไม่ไปออกเสียงเลือกตั้ง หรือแสดงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 พวกเขาเหล่านั้นมิใช่พลังเงียบหากแต่เป็น “ผู้ยอมจำนน” ดังเช่นยิวในค่ายกักกันของนาซีสมัยสงครามโลกที่ยอมตายเข้าห้องแก๊สโดยไม่ขัดขืน ทั้งที่มีจำนวนมากกว่าผู้คุมหลายเท่านัก


พลังเงียบจึงไม่สามารถนำไปอ้างอิงเพื่อแสดงความชอบธรรมหรือประชามติได้เลยแม้แต่น้อยว่าพวกเขาเหล่านั้นอยู่ข้างเดียวกับพวกตนแต่ไม่ได้มาออกเสียงหรือมาแสดงพลัง พวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่พวก no vote เพราะอย่างน้อยพวก no vote ก็ยังตัดสินใจเลือกแล้วว่าจะ “ไม่เลือก” เป็นการแสดงความต้องการของตนออกมาแล้ว มิใช่ “ผู้ยอมจำนน” ที่ไม่ยอมแสดงถึงความต้องการของตนเองแต่ประการใด


ทุนนิยมสามานย์ที่ทำร้ายประเทศไทยดูจะเป็นด้านมืดของพวกบัวใต้น้ำโดยแท้


ท่านผู้หญิงผู้สูงศักดิ์ยังคงพยายามจะบอกกับสังคมผ่านนาย “ปลื้ม” ว่าเงินที่มาทำบุญจะมีที่มาจากการโกงกินไม่บริสุทธิ์ก็ไม่เป็นไร ยิ่งมีมาทำบุญมากเท่าใดก็เป็นเรื่องน่ายินดีเท่านั้น เป็นการชี้ผิดให้เห็นถึง “บุญ” ในเชิงรูปธรรมว่าเกี่ยวข้องกันกับ “เงิน” หรือกล่าวง่ายๆ ว่าหากมีเงินมาทำบุญมากก็จะได้บุญมาก เช่นเดียวกับการสั่งสอนของวัดจานบิน


แม้แต่การไปสู่สวรรค์ก็ยังถูกทุนสามานย์เบียดเบียน เพราะจนแล้วจะมีบุญมากได้อย่างไร


หยุดเสียได้ไหม ซาตานในคราบนักบุญทั้งหลาย “หยุดทำร้ายประเทศไทย” ได้แล้ว “ทุนสามานย์”



หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้