จุดจบของขบวนการล้มเจ้า หรือจุดจบของรัฐบาลอภิสิทธิ์(บทความที่คนห่วงใยบ้านเมืองควรอ่าน) 31/3/52

จุดจบของขบวนการล้มเจ้า หรือจุดจบของรัฐบาลอภิสิทธิ์(บทความที่คนห่วงใยบ้านเมืองควรอ่าน) 31/3/52


จุดจบของขบวนการล้มเจ้า หรือจุดจบของรัฐบาลอภิสิทธิ์

(บทความที่คนห่วงใยบ้านเมืองควรอ่าน)

 

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันที่ 31มีนาคม 2552
รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นมาโดยตลอดในบทความหลายๆ ชิ้นที่ผ่านมาของผู้เขียนว่า มีการดำรงอยู่จริงของ “ขบวนการล้มเจ้า” ในประเทศไทย โดยที่สถานการณ์ในขณะนี้ได้พิสูจน์และปรากฏให้เห็นโดยปราศจากข้อกังขาอีกต่อไปแล้ว เพราะตัวหัวหน้าขบวนการนี้ได้ออกมา “โทรฯ เข้า” แม้จะไม่พูดตรงๆ แต่ก็ได้ใช้วาทกรรมโจมตี “ระบอบอมาตยาธิปไตย” แทน


สถานการณ์ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นถึงขั้นแตกหักในขณะนี้ เพราะได้มีการปลุกระดมคนเสื้อแดงทั้งประเทศให้ลุกฮือขึ้นมาสู้จนถึงที่สุดด้วยนี้ จะมีจุดจบเพียง 2 อย่างเท่านั้นกล่าวคือ จะเป็นจุดจบของขบวนการล้มเจ้า หรือจะเป็นจุดจบของรัฐบาลอภิสิทธิ์ นี่เป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตามองและติดตามอย่างใกล้ชิด


ผู้เขียนขอวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบันดังต่อไปนี้ ก่อนอื่นผู้เขียนมีความเห็นว่า


บททดสอบรัฐบาลอภิสิทธิ์บทที่ 2 กำลังจะได้รับการประเมินจากประชาชน หลังจากที่ บททดสอบแรกในเรื่องการย้ายไปสุวรรณภูมิไม่ผ่าน เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่สามารถที่จะเป็นรัฐบาลของประชาชนได้อย่างเต็มที่


จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มีนายอภิสิทธิ์เป็นประธาน เมื่อ 11 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมาได้พิจารณาเรื่องการตัดสินใจย้ายบริการของการบินไทยไปสุวรรณภูมิทั้งหมดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมว่า ยังไม่ชัดเจน สมควรให้ผู้บริหาร (การบินไทย) ชุดใหม่เข้ามาตัดสินใจในเรื่องนี้เพื่อความเหมาะสม


แต่การบินไทยก็มิได้นำพาในมติ ครม.เศรษฐกิจดังกล่าว ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มิได้เอ่ยถึงเรื่องนี้อีกเลยว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมอย่างไรที่นโยบายสาธารณะ เช่น การมีสนามบินเดี่ยวหรือคู่นี้จะถูกกำหนดโดยบริษัทจำกัด


เมื่อมองจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพิ่งผ่านไปเมื่อ 19-21 มีนาคม ก็พอจะเข้าใจและอธิบายได้ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้เหตุผลอะไรในการตัดสินใจที่จะอยู่นิ่งๆ


การประชุมสภาเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาเป็นเพียงแต่การอภิปรายถึง พรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นส่วนใหญ่ มิใช่เป็นการอภิปรายถึงผลการทำงานของรัฐบาลตามญัตติที่ได้เสนอขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะมิได้เป็นการอภิปรายให้เห็นถึงความบกพร่องที่มิอาจปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไปอีกได้ของรัฐบาลแต่อย่างใด


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือจำนวนเวลาที่รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การดูแลโดยเนวินใช้ตอบในการอภิปรายในครั้งนี้มีน้อยมาก มีบางคนไม่ได้ตอบเลย แต่ก็ได้รับความไว้วางใจและมากกว่าผู้ที่ตอบอย่างมีเหตุมีผลเช่นรัฐมนตรีกษิต การมิได้ฟังคำตอบแต่ลงมติได้จึงเป็นประจักษ์พยานที่ดีว่ามีคำตอบอยู่ในใจแล้ว


นี่ยังมิได้กล่าวถึงมาตรฐานและพฤติกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนที่อภิปรายในสภาว่าต่ำกว่าระดับเพียงใด โดยความเห็นของผู้เขียนอาจกล่าวได้ว่ามี ส.ส.เช่นนี้เพียงร้อยละ 30 ก็มากเกินไปแล้ว ประชาชนไม่ได้อะไรจากการอภิปรายในครั้งนี้นอกจาก คำหยาบ และพฤติกรรมที่ปราศจากศีลธรรม ดังนั้นตัวอย่างที่ถูกวิจารณ์อยู่เสมอๆ ของการเมืองใหม่เรื่องที่มาของ ส.ส.จากการเลือกตั้งเพียงร้อยละ 70 อาจมากเกินไปด้วยซ้ำ


แม้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เสร็จสิ้นไปไม่นานมานี้จะเป็นชัยชนะของฝ่ายรัฐบาลอย่างท่วมท้น ฝ่ายรัฐบาลชนะการรบแต่ก็มิได้หมายความว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ ชนะสงครามกับระบอบทักษิณก็หาไม่


แนวรบใหม่ได้ถูกเปิดฉากโดยการ “แฉ” บุคคลที่สำคัญของประเทศของทักษิณ ชินวัตร ทั้ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรีในปัจจุบัน รวมถึงประธานศาลปกครองและอดีตประธานศาลฎีกาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 49 ที่ผ่านมาโดยอาศัยคำบอกเล่าของพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี


วาทกรรมที่ใช้ก็คือ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ที่ทักษิณ ชินวัตรเคยกล่าวมาก่อนหน้านี้ได้ถูกเฉลยว่าคือประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขณะที่ผู้ที่อาสามาทำการปฏิวัติรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตรก็คือพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดังนั้นหากเป็นองคมนตรีแล้วมายุ่งกับการเมืองก็ชอบแล้วที่ฝ่ายคนเสื้อแดงจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ มิได้เป็นการไม่เคารพหรือต้องการล้มล้างสถาบันแต่ประการใด หากไม่อยากถูกวิจารณ์ก็ลาออกไปเสีย และถือเป็นพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย ดังที่ สมชาย ปรีชาศิลปกุลจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ให้ความเห็นไว้


อาจกล่าวได้ว่าการ “แฉ” ในครั้งนี้เป็นการเปิดแนวรบโดยการกล่าวหาทั้ง ศาล องคมนตรี และทหารบางส่วนเป็นหลัก ในขณะที่เชิดชูตนเองว่ามีความจงรักภักดีต่อสถาบัน เป็นการกระทำที่เป็นระบบโดยกลไกในระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็น พรรคการเมืองคือพรรคเพื่อไทย หรือนักการเมืองที่ยังเป็น “อีแอบ” ในพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่ข้าราชการบางส่วน เพราะทักษิณ ชินวัตรได้กระตุ้นโดยการกล่าวโดยตรงว่า “ไม่ต้องเหนียมอาย” อีกต่อไปขอให้ออกมารณรงค์ร่วมกับตน (ที่อยู่ห่างไกล) อีกทั้งยังมีสื่อฯ ที่ยังคงรับใช้ทั้งทางตรง เช่น เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของช่อง 11 ที่เข้าไปช่วยเหลือถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมกลับมาที่ประเทศไทย หรือในทางอ้อมที่เผยแพร่เป็นกระบอกเสียงให้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ หรือโทรทัศน์


วาทกรรมวิพากษ์ให้ร้ายองคมนตรีแต่เชิดชูสถาบัน จึงเป็นการตีวัวกระทบคราดโดยแท้ เพราะคณะองคมนตรีเป็นผู้มีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ดังระบุไว้ในมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ และที่สำคัญก็คือ การเลือก แต่งตั้ง และพ้นจากตำแหน่งองคมนตรีให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย (มาตรา 13) แม้ว่าในมาตรา 14 จะได้ระบุถึงบทบาทหรือหน้าที่ที่องคมนตรีไม่สามารถกระทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด” แต่ก็อย่าลืมว่าตามมาตรา 15 ก่อนการเข้ารับหน้าที่จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้คือ


“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”


ทำไมทักษิณ ชินวัตรจึงจะไม่เข้าใจในเรื่องพื้นฐานเช่นนี้หากมีความจงรักภักดีจริงตามที่กล่าวอ้าง


ทักษิณ ชินวัตรหากจงรักภักดีตามที่อ้าง ทำไมจึงต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกเสื้อสูทในสภา พวกเสื้อแดงนอกสภา และพวกเสื้อแดงสายวิชาการ ที่มีพฤติกรรมตีวัวกระทบคราดที่กำลังละเมิดพระราชอำนาจอยู่ในขณะนี้


เหตุใดจึงเชื่อแต่เพียงคำบอกเล่าของพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณีแต่เพียงฝ่ายเดียว ถ้าอ้างว่าท่านรู้นานแล้วเพียงแต่ซักถามพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณีเพื่อความแน่ใจ ก็แสดงว่าท่านลอบติดตามบุคคลเหล่านี้โดยใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง อีกทั้งมีการปฏิเสธจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะๆ รวมถึงเจ้าของสถานที่ที่บุคคลที่ถูกกล่าวถึงไปพบปะกัน


ที่สำคัญก็คือทักษิณ ชินวัตรมีประจักษ์พยานหลายครั้งในความบกพร่องเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ว่าในอดีตก่อนมีตำแหน่งใหญ่โตที่เคยถูกฟ้องเรื่องคดีเช็คจากแม่ชม้อย หรือในช่วงที่มีตำแหน่งแล้วในหลายๆ กรณีที่ถูกเปิดโปงออกมา เช่น จากกรณีซุกหุ้น กรณีแก้ไขกฎหมายแล้วขายหุ้นชินคอร์ปให้ต่างชาติโดยไม่ยอมเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว หรือคดีที่ดินรัชดาฯ ที่อาศัยตำแหน่งทางเมืองเป็นคู่สัญญากับภรรยาตนเองจนถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี


เหตุใดประชาชนทั่วไปจึงจะต้องเชื่อคำพูดของคนที่ขาดซึ่งความซื่อสัตย์สุจริตเป็นนิจ แต่กลับกล้าที่จะไปกล่าวหารัฐบุรุษผู้ที่ได้รับการยกย่องและปราศจากข้อสงสัยจากสังคมว่าซื่อสัตย์ เช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์


ดังนั้นเป้าหมายของคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมรับฟังการ “แฉ” ของทักษิณ ชินวัตรจึงเข้าใกล้กับข้อกล่าวหาว่า เพื่อสร้างระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเฉยๆโดยไม่จำเป็นต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มันมิใช่เป็นไปอย่างที่สมชาย ปรีชาศิลปกุลปฏิเสธให้กับกลุ่มคนเสื้อแดงแต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาอย่างล่อนจ้อนออกมา


เพราะต้นตอของปัญหาที่แท้จริงเกิดจาก ทักษิณ ชินวัตรที่การพูดแต่ละครั้งไม่เคยพูดถึงปัญหาที่เกิดจากตนเอง พูดแต่ปัญหาที่ตนเองได้รับ ไม่ยอมเลิกการเมืองเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนจนเกิดการปฏิวัติ และยังประกาศสู้ทุกวันโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศตนเอง


คำถามง่ายๆ ก็คือ หากท่านเป็นนักการเมืองรู้จักการเสียสละและอดทนต่อความอยุติธรรมที่อาจได้รับอันเป็นปฐมบทของการเป็นนักการเมืองที่ดีแล้ว ท่านได้เสียสละทำในสิ่งเหล่านี้แล้วหรือยัง หรือยังมีจิตไม่บริสุทธิ์ ขาดเมตตา อยู่ในข่ายที่รับความเจ็บปวดไม่ได้ ถ้าตนเองได้รับความเจ็บปวด คนอื่นๆ ก็ต้องเจ็บด้วย


นายเนลสัน แมนเดลลา กับนายทักษิณ ชินวัตรก็แตกต่างกันตรงนี้แหละเพราะจิตไม่บริสุทธิ์ ขาดเมตตา ประวัติศาสตร์จะจารึกไว้อย่างแน่นอน


แม้การประกาศสู้ของทักษิณ ชินวัตรจึงเป็นการทำร้ายประเทศบ้านเกิดเมืองนอนอย่างร้ายกาจ เป็นกรรมที่อาจตกทอดไปสู่คนที่รัก แต่ก็เป็นบททดสอบในด้านการสื่อสารและความมั่นคงที่รัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังจะสอบไม่ผ่าน


ทักษิณ ชินวัตรมิใช่เพิ่งเริ่มการกล่าวให้ร้ายกับประเทศไทย มีการโจมตีทั้งจากสื่อต่างประเทศและในประเทศ


การใช้กำลังในการแก้ปัญหาคนเสื้อแดงจะเป็นการเข้าทางระบอบทักษิณที่ต้องการความรุนแรงอยู่แล้ว เนื่องจากไม่สามารถสู้อย่างยืดเยื้อยาวนานได้ เพื่อประโคมข่าวบอกให้สาธารณชนรู้ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มิได้แตกต่างไปจากรัฐบาลในระบอบทักษิณแต่อย่างใด


ทางแก้ในปัญหานี้ที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ การสู้ที่ข่าวสารข้อมูล ให้ข้อเท็จจริง สู้และเอาชนะด้วยเหตุและผลที่มาจากข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ เหมือนดังเช่นที่แนวรบด้านวิชาการของฝ่ายเสื้อแดงได้พ่ายแพ้อย่างราบคาบมาแล้ว


เมื่อแนวคิดพ่าย การกระทำก็จะขาดความชอบธรรม


ในเชิงรูปธรรม ถ้าสาทิตย์คิดอะไรไม่ออก วิธีง่ายๆ ก็ลองเชื่อมต่อสัญญาณช่อง 11 กับ ASTV ก็ได้ ในเมื่อสาทิตย์และช่อง 11 ก็ยอมรับแล้วว่าทำข่าวไม่ได้ ไม่เป็น จนต้องเลหลังขายเวลาให้คนอื่นทำ แถมยังได้เงินน้อยกว่าเดิมเสียอีก


“...พี่น้อง ผม (ทักษิณ) พร้อมครับ ถ้าผมจะต้องเดินเข้าประเทศไทย เราเดินไปด้วยกันเพื่อบอกว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เราต้องการ...ผมพร้อมครับ” นี่เป็นการปลุกระดมประชาชนโดยการโทรฯ เข้าในที่ชุมนุมอย่างน่าละอายปราศจากความกล้าหาญ ทำไมทักษิณไม่เข้ามาเอง ทำไมต้องให้ประชาชนมาเป็นโล่กำบังตนเอง ทั้งที่ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ก็เพื่อประโยชน์ของตัวทักษิณเอง


รัฐบาลอภิสิทธิ์นี้จึงมิใช่มีแต่ผลงานแต่โฆษณาตนเองไม่เป็น รัฐบาลชุดนี้หลงผิดทั้งๆ ที่ยังมีผลงานน้อยและคิดว่าตนเองดีที่สุดจนไม่ต้องโฆษณา


รัฐมนตรีในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เช่น สาทิตย์ วงศ์หนองเตย มิใช่ผู้ที่ไม่เคยรู้ว่าสมัยรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลตัวแทนของเขามีวิธีจัดการสื่อฯ ให้สื่อสารไปทิศทางที่ต้องการได้อย่างไร แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่กว่า 3 เดือนแล้ว สาทิตย์ทำได้แต่เพียงเปลี่ยนเครื่องหมาย (โลโก) ช่อง 11 แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ช่างน่าสมเพชเสียเหลือเกิน


สาทิตย์จะสู้ด้วยข่าวสารหรือโลโกกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ โลโกแถลงข่าวหรือให้ข้อมูลไม่ได้ ในขณะนี้เป็นเรื่องของความมั่นคงที่ฝ่ายที่ดูแลสื่อฯ นอกจากต้องห้ามปราม สกัดกั้น แล้วในการปลุกระดมที่ฝ่ายเสื้อแดงกำลังทำอยู่ ยังต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน จะบอกแต่เพียงว่าให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับชมรับฟัง แต่สื่อฯส่วนใหญ่ในขณะนี้ได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่


ทักษิณ ชินวัตรไม่ใช่บุคคลธรรมดา แต่เป็นนักโทษหนีคำพิพากษาโทษจำคุก หนีคดีความที่รอการพิจารณาอยู่อีกหลายคดี


ทักษิณ ชินวัตรจึงเป็น Fugitive ที่ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่พึงมีตามกฎหมายเหมือนคนทั่วไปได้ เพราะหากยอมให้นักโทษซื้อหน้าโฆษณาหนังสือพิมพ์เหมือนอย่างที่มติชนทำ ข้อใหญ่ใจความที่นักโทษจะแสดงออกคืออะไร ไม่ต้องเดาก็บอกได้ว่า “ผมไม่ผิด”


สาทิตย์จะยอมให้คุณชลอ เกิดเทศ วัฒนา อัศวเหม กำนันเป๊าะ และนักโทษรอการประหารหรือที่ต้องติดคุกตลอดชีวิตอีกมากในคุก ใช้เสรีภาพในการแสดงออกเหมือนทักษิณหรือไม่


สาทิตย์ต้องปกป้องประชาชนที่ไม่ได้รับข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้อง นี่เป็นหน้าที่ของคุณโดยตรงที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ตัดสินใจนั่นคือประชาชน


อย่าให้หลงประเด็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นปัญหา และสมควรที่จะต้องแก้ไขโดยอาศัยฉบับปี 2540 เป็นตัวตั้งเหมือนเช่นที่หมอเหวงได้ยื่นร่างแก้ไขไว้ในวาระการประชุมของสภาฯ แล้ว เพราะร่างดังกล่าวไม่มีการรับรององคมนตรี ซึ่งเป็นการลิดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไม่ให้ผู้บริหารพรรครับผิดชอบถูกยุบพรรคเมื่อมีการซื้อเสียง รัฐบาลไม่ต้องขออนุญาตกับประชาชนก่อนการทำสัญญาผูกพันกับต่างประเทศ


อย่าให้หลงประเด็นในเรื่องกฎหมายปรองดองแห่งชาติ เพราะการนิรโทษกรรมเพื่อบุคคลบางกลุ่มจะทำลายนิติรัฐของประเทศ ทำให้บ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป


หรืออย่าให้หลงประเด็นว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์มีที่มาอย่างไม่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่ก็อาศัยสภาชุดเดียวกับที่เลือกสมัคร หรือสมชายมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี


รัฐมนตรีที่ต้องออกไปมิใช่เพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับนายกฯ แต่เพียงเหตุเดียว หากแต่ทำงานไม่ได้ก็ควรออกไปเช่นกัน เพราะเรื่องบ้านเมืองเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ มิใช่เป็นเรื่องต่างตอบแทนหรือเพื่อศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูลแต่เพียงอย่างเดียว


ลาออกไปเสียเถิดสาทิตย์ ให้คนอื่นที่กล้าและมีกึ๋นกว่าเข้ามาทำงานแทนดีกว่า



หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้