จดหมายจากท่าพระจันทร์ถึงอาจารย์อภิสิทธิ์ (การแก้ปัญหาส่งออกไม่ใช่ทางออกของวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน) 10/3/52

จดหมายจากท่าพระจันทร์ถึงอาจารย์อภิสิทธิ์ (การแก้ปัญหาส่งออกไม่ใช่ทางออกของวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน) 10/3/52


จดหมายจากท่าพระจันทร์ถึงอาจารย์อภิสิทธิ์

(การแก้ปัญหาส่งออกไม่ใช่ทางออกของวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน)

 

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันที่ 10 มีนาคม 2552
รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


อาจารย์อภิสิทธิ์ที่รัก


ปัจจุบันคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่อาจารย์เคยสอนได้มีการปรับปรุงโฉมจนแปลกตากว่าสมัยที่อาจารย์เคยอยู่เป็นอย่างมาก แม้ว่าจะสวยงามและภูมิฐานขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่น่าเสียดายที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีภาคภาษาไทยทั้งหมดได้ย้ายไปเรียนที่ศูนย์รังสิตหมดแล้ว


ก่อนอื่นพวกผมขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับอาจารย์สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยอันเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่สูงสุดเท่าที่นักการเมืองจะไขว่คว้าหามาได้ ประเทศไทยของเราไม่เคยได้โอกาสดีอย่างนี้มาก่อนที่จะมีผู้บริหารสูงสุดที่มีศักยภาพสูงเช่นอาจารย์ ประชาชนไทยทั้งประเทศเฝ้ารอโอกาสนี้มาเป็นเวลานานนับสิบๆ ปีแล้วและพวกผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาจารย์จะได้ใช้ศักยภาพของอาจารย์ที่มีอยู่อย่างเต็มความสามารถ


พวกผมในฐานะบุคคลมีความรู้สึกยินดี มิใช่เพราะได้รู้จักกับอาจารย์ในฐานะอดีตเพื่อนในที่ทำงานเดียวกันเท่านั้น หากแต่พวกผมยังมีความรู้สึกยินดีในฐานะที่อาจารย์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ไทยคนแรกๆ ที่มีโอกาสจริงที่จะบริหารประเทศไปตามความเชื่อและความรู้ในสิ่งที่อาจารย์ได้เล่าเรียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพเศรษฐกิจที่ประสบวิกฤตในปัจจุบัน นับว่าเป็นเรื่องท้าทายสติปัญญาและความรู้ของนักเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง


อย่างไรก็ตาม พวกผมขอแสดงความเห็นต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่อาจารย์อภิสิทธิ์กำลังดำเนินการอยู่ในประเด็นต่างๆ ที่จะกล่าวต่อไปในฐานะที่เคยเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกันดังต่อไปนี้


1.วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ก็แตกต่างไปจากที่เคยประสบมาเมื่อปี 2540 กล่าวคือ วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้น เกิดจากภาวะการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ที่รู้จักในชื่อของฟองสบู่แตกในประเทศไทย ทำให้สินเชื่อหดตัวอย่างรุนแรง แต่มิได้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (อัตราการเจริญเติบโตติดลบติดต่อกันสองไตรมาส) ในประเทศอื่นๆ ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นไปในทางตรงกันข้าม เรากำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันเนื่องมาจากภาวะฟองสบู่ในสหรัฐอเมริกาแตกและลุกลามทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยยาวนานไปพร้อมๆ กันในหลายประเทศทั่วโลก


ข้อที่แตกต่างอีกประการหนึ่งก็คือในครั้งนี้เรารู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน แต่ปัญหาที่เกิดจากนอกประเทศแล้วมากระทบที่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากผู้ซื้อรายใหญ่ของประเทศไทย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ต่างก็ประสบปัญหาจากภาคการเงินของประเทศตนเองเหมือนเช่นที่ประเทศไทยได้เคยประสบมาเมื่อปี 2540 ผลที่ติดตามมาก็คือเราขายสินค้าไปต่างประเทศไม่ได้ เศรษฐกิจโดยรวมก็เลยไม่เติบโตเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยมีลักษณะพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกประเทศเป็นหลักและไม่เคยปรับเปลี่ยนมาเป็นเวลานานปีแล้ว


อาจารย์อภิสิทธิ์คงทราบไม่มากก็น้อยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาอาศัยแต่เพียงความได้เปรียบด้านแรงงานและทรัพยากรที่มีอยู่เป็นปัจจัยหลัก ความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตของประเทศไทยจึงเริ่มถึงทางตันมากขึ้น ทั้งจากแรงงานที่มีราคาแพงขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มีน้อยลง และมีคู่แข่งมากขึ้น


ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกถึงกว่าร้อยละ 70 ของ GDP อย่างเช่นประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัวลง แต่เป็นเรื่องแปลกที่รัฐบาลที่ผ่านมาหลายๆ รัฐบาล แม้แต่รัฐบาลทักษิณที่อ้างว่า “คิดใหม่ทำใหม่” ก็ไม่เคย “คิดใหม่” โดยปรับโครงสร้างที่ไม่สมดุลดังกล่าว ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมิใช่ City State อย่างเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือบาฮามาส ที่มีขนาดด้านเนื้อที่เล็ก จำนวนประชากรน้อย ขาดแคลนซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเพื่อความอยู่รอดของตนเอง


ทำไมเราจึงไม่คิดที่จะพึ่งพาตลาดหรือกำลังซื้อภายในประเทศ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยก็จัดอยู่ในลำดับกลางๆ ของโลกทั้งในเชิง รายได้ เนื้อที่ หรือประชากร ทำไม?


2. ประเทศไทยแม้จะรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 มาได้เพราะการส่งออกและการปรับสมดุลอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ค่าเงินบาทมีค่าอ่อนตัวลง แต่ปัจจัยของความสำเร็จดังกล่าวก็มิใช่จะเป็นจุดแข็งที่ใช้ได้เสมอไป เพราะวิกฤตปี 2551-2 ทำให้ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการแก้วิกฤตเศรษฐกิจในอดีตเมื่อปี 2540 กลายเป็นปัจจัยแห่งความล้มเหลวในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยใช้เป็นกลไกตัวหลักในการแก้ไขปัญหาในภาคการเงินเมื่อปี 2528 จากความล้มเหลวของการขาดสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์โดยการเข้าไปพยุงกิจการอัดฉีดเงินเข้าไปในสถาบันการเงินทั้ง 2 ประเภทที่มีปัญหา แต่กองทุนฟื้นฟูฯ ก็กลายเป็นกลไกที่เป็นตัวปัญหาเสียเองเมื่อปี 2540 เพราะด้วยวิธีการเข้าไปอัดฉีดเงินในครั้งหลังนี้ได้ก่อให้เกิดภาระหนี้สินกับประชาชนผู้เสียภาษีเป็นอย่างมาก


บทเรียนที่ชัดเจนสำหรับนักเศรษฐศาสตร์และผู้ที่เกี่ยวข้องก็คือ การแก้ไขปัญหา 2 ครั้งโดยเครื่องมือเดียวกันอาจได้ผลสำเร็จต่างกันเพราะสาเหตุของปัญหาที่แตกต่างกันออกไป


ความสำเร็จของกองทุนฟื้นฟูฯ เมื่อปี 2528 ก็ดี หรือ ความสำเร็จของภาคส่งออกเมื่อปี 2540 ก็ดี จึงมิใช่เครื่องรับประกันของความสำเร็จที่จะมีต่อไปในอนาคต หากแต่เป็นปัญญาของมนุษย์ต่างหากที่จะวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาและหาทางแก้ไขที่ถูกต้อง


เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่บรรดานักการเมืองในระยะหลังที่ต้องรับผิดชอบแก้ไขปัญหาไม่ได้พัฒนา “สติและปัญญา” ให้เติบโตเท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้นมา เพราะหากมีสำเหนียกในความไม่เที่ยงดังกล่าวข้างต้นก็ย่อมที่จะมีสติที่จะคิดอ่านหาซึ่งปัญญาจากผู้อื่นหากตนเองไม่มี เพื่อมาปรับโครงสร้างของประเทศให้มีความสมดุลมากกว่าและไม่ประสบกับปัญหาที่รุนแรงดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


ประเทศไทยมิใช่ต้องการการเมืองใหม่แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องการเศรษฐกิจแนวใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน


3. มีการประเมินอย่างหลากหลายว่า วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้อาจจะยืดเยื้อยาวนานและอาจนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (เศรษฐกิจถดถอยขนาดใหญ่) เหมือนดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1930 ในยุโรปและสหรัฐฯ สาเหตุก็เพราะขนาดของความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาคการเงินของสหรัฐฯ และยุโรปมีมากขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่มีทีท่าว่าจะมีจุดสิ้นสุดอยู่ที่เท่าใด ทำให้เกิดอุปสรรคกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เพราะภาคการเงินไม่สามารถอำนวยสินเชื่อให้ตามหน้าที่ที่ควรจะเป็น ขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้ความมั่งคั่งที่ประชาชนทั่วไปสะสมไว้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเงินฝาก หุ้น หรือตราสารทางการเงินอื่นๆ หดหายไปจากราคาหุ้นที่ลดลง หรือจากสถาบันที่ฝากเงินต้องปิดกิจการลงไป ผลก็คือประชาชนรู้สึกว่าตนเองจนลงและจับจ่ายใช้สอยน้อยลงไป กิจการที่อาจไม่ได้รับผลกระทบจากภาคการเงินในครั้งแรกก็จะได้รับผลกระทบในรอบนี้ กลายเป็นวงจรของความต้องการที่ลดลงในที่สุด และอาจเป็นที่มาของ ภาวะเงินฝืดตามมาในที่สุด


จากข้อมูลดังกล่าว หากประเทศไทยยังคงเลือกที่จะแก้ไขโดยยึดติดกับกรอบแนวคิดเดิมที่ หากเป็นปัญหาที่ส่งออกก็แก้ที่ส่งออก ประเทศไทยก็จะต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจต่อไป เพราะต้องรอว่าเมื่อไรที่เศรษฐกิจของประเทศผู้ซื้อฟื้นตัว อาจจะเป็น 1 หรือ 2 ปีต่อจากนี้ไป แต่ที่แน่ๆ ก็คือประเทศไทยก็จะต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เราไม่ได้ก่อขึ้นด้วยระยะเวลาที่มากกว่าเศรษฐกิจของผู้ซื้อ อาจเป็น 1+ หรือ 2+ ปี และที่สำคัญก็คือ เป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่มีทางชนะ เพราะแม้ว่าสหรัฐฯ สามารถแก้วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้สำเร็จ แต่ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ก็จะติดตามมาในทันทีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว นั่นก็คือปัญหาราคาน้ำมันแพง และประเทศไทยก็จะต้องวนกลับมาแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงที่เคยเกิดขึ้นมาเมื่อครึ่งปีหลังของปี 2551 อีกครั้งในอนาคต


อาจารย์อภิสิทธิ์ที่รัก ด้วยเหตุผลข้างต้น พวกผมจึงเห็นว่าการแก้ปัญหาการส่งออกจึงมิใช่ทางออกของวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันอย่างแน่นอน


4. หากเราจะเลือกแก้ไขปัญหาที่ต้องเสียทั้ง เวลาและทรัพยากรที่มีค่ายิ่งที่มีอยู่อย่างน้อยนิดก็ควรจะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความสมดุล สามารถทนทานต่อความผันผวนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ดุจดังการขอเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกของประเทศต่างๆ ที่ผลประโยชน์อาจไม่ใช่รายได้ที่เกิดขึ้นแต่เพียงอย่างเดียวหากแต่มีผลประโยชน์อื่นๆ ที่หวังให้เกิดตามมา ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับถึงความก้าวหน้าหรือศักยภาพของประเทศนั้น และที่สำคัญก็คืออาจารย์อภิสิทธิ์มีโอกาสที่จะทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีความสุขมากขึ้นจากการพัฒนาที่ทำแล้วยังมีทรัพยากรเหลือให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ใช้ต่อไป นั่นคือแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งมิใช่การแก้ปัญหาโดยการล้างผลาญทรัพยากรโดยแทบไม่เหลือให้คนรุ่นต่อไปอย่างที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน


ประตูโอกาสของการเป็นผู้นำประเทศที่แท้จริง มิใช่เป็นเพียงผู้นำจอมปลอมที่ชอบสร้างภาพได้เปิดขึ้นแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าอาจารย์อภิสิทธิ์จะไขว่คว้าเอาไว้ได้หรือไม่


ทำไมประเทศไทยจะต้องดิ้นรนส่งออกโดยต้องนำเข้าสินค้ามาประกอบในประเทศเพื่อส่งออก โดยมีส่วนที่เพิ่มที่ตกเป็นของประเทศเราเพียงเล็กน้อย เพราะสินค้าส่งออกหลักของเรา เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ก็ดี รถยนต์ก็ดี ประเทศเรามีศักยภาพแค่ไหนในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าดังกล่าว หากไม่โกหกตัวเองก็จะได้คำตอบว่าเมื่อเปรียบกับการผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว มูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการผลิตข้าวจึงมากกว่ามูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการผลิตรถยนต์


ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ สินค้าอะไรที่เราผลิตแล้วทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีความสุข ผู้ที่ได้ประโยชน์ในปัจจุบันจากการส่งออกส่วนใหญ่ก็คือบริษัทขนาดใหญ่ และประโยชน์ในอนาคตก็ไม่ใช่เกิดกับคนไทยส่วนใหญ่ เพราะเทคโนโลยีในการผลิตก็ต้องพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก ความสามารถในการแข่งขันที่จะเป็นความยั่งยืนในการพัฒนาจะอยู่ที่ใด ทำไมเรายังไม่รู้จักใช้ศักยภาพที่แท้จริงของเราเอง


ประจักษ์พยานที่ชัดเจนก็คือผลการตัดสินให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษของศาลปกครองเมื่อ 3 มี.ค. 52 ที่ประชาชนในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ปล่อยให้โรงงานในบริเวณดังกล่าวปล่อยมลพิษออกมาทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และจากกากของเสียอันตราย ก่อให้เกิดปัญหามลพิษที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่เพราะขาดมาตรฐานในการควบคุม โรงงานเหล่านี้มิใช่หรือที่ส่วนใหญ่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและผลิตเพื่อส่งออก หากมันดีเพราะทำให้คนมีความสุข ทำไมจึงต้องย้ายโรงงานเหล่านี้ออกมาจากประเทศแม่ของตนเองเล่า


5. อาจมีข้อโต้แย้งว่าการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศมิใช่เป็นเรื่องที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในระยะสั้น ซึ่งก็เป็นความจริง แต่หากไม่ริเริ่มในทางที่ถูกต้องในวันนี้แล้ว อนาคตก็ย่อมไปไม่ถูกทางแน่นอน ความเชื่อมั่นที่อาจารย์อภิสิทธิ์เรียกร้องจากประชาชนจึงต้องมาจากการทำในสิ่งที่ถูกต้องของอาจารย์อภิสิทธิ์ด้วย


ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า อย่าให้ใครแก้ไขปัญหาแบบขอไปที โดยให้ความหวังว่าจะกลับมาปรับโครงสร้างทีหลัง ดูตัวอย่างของการขอปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 7 เมื่อคราวเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็ได้ คำว่า “ชั่วคราว” นั้นกินเวลากว่า 10 ปีแล้วยังไม่สามารถปรับกลับไปที่เดิมได้ จะให้พวกผมหวังว่านักการเมืองในระบบการเมืองเก่าที่อาจไม่ใช่อาจารย์อภิสิทธิ์จะมาทำในสิ่งที่ยากกว่าการขึ้นภาษีเพียงร้อยละ 3 หลายเท่าได้มากน้อยเพียงใด


แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นคำตอบ เพราะการปรับสมดุลที่โครงสร้าง โดยไม่พึ่งพาการส่งออกมากเกินไป และหันมาพึ่งพาตลาดภายในประเทศที่เราเองสามารถควบคุมได้มากขึ้นจะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับความพอเพียงและความสุขของประชาชนทั้งประเทศ


หากจะหวังพึ่งพาตนเองโดยตลาดในประเทศ มีหลายนโยบายที่สามารถทำได้ เช่น นโยบายกระจายรายได้เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย เพราะทฤษฎีการบริโภคได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า คนจนจะมีแนวโน้มของการบริโภคมากกว่าคนรวยเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นมาตรการที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่ทำให้รายได้คนจนเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นการบริโภคจึงเป็นแนวนโยบายที่สำคัญและจำเป็นในการขยายตลาดภายในประเทศ


พวกผมรู้สึกดีที่อาจารย์อภิสิทธิ์มีแนวคิดที่จะเพิ่มประเภทของภาษีชนิดใหม่เพื่อขยายฐานภาษีและลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เช่น กรณีริเริ่มภาษีมรดกหรือภาษีการถือครองที่ดิน ซึ่งพวกผมก็เข้าใจว่า ไม่ใช่เพื่อรายได้ ที่จะเกิดกับรัฐที่จะมีมากหรือน้อยก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากแต่เป็นไปเพื่อการลดช่องว่างในสังคมต่างหากที่สำคัญ และพวกผมก็ชื่นชมคนในรัฐบาลอาจารย์อภิสิทธิ์ เช่น คุณกรณ์ ที่ไม่ตอบสนองตอบต่อข้อเสนอของบริษัทขนาดใหญ่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จากที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นอาจารย์อภิสิทธิ์และคุณกรณ์จึงมิใช่เด็ก 2 คนที่ริอ่านเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเหมือนอย่างที่วาทกรรมของสื่อแนวร่วมระบอบทักษิณได้พยายามป้ายสีอย่างแน่นอน


6. การเปลี่ยนกรอบแนวคิดอาจเป็นสิ่งจำเป็นในระยะต่อไปนี้ จนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่งของอาจารย์อภิสิทธิ์ การเจริญเติบโตใน GDP อาจไม่ใช่ตัวตั้งหรือเป้าหมายที่สำคัญอีกต่อไป นโยบายที่เน้นคนจน (pro poor) เช่น นโยบายกระจายรายได้ หรือการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่างหากที่ควรเป็นเป้าหมายที่มีลำดับความสำคัญและสอดคล้องกับความสุขของคนไทยส่วนใหญ่มากกว่า การหายใจเข้าเป็นการเจริญเติบโตใน GDP และหายใจออกเป็นการเพิ่มการส่งออก ซึ่งมิใช่เป็นการเอาคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง เพราะสิ่งที่เคยทำมาในอดีตผ่านนโยบายการส่งออกหรือการเจริญเติบโตที่เน้นบริษัทขนาดใหญ่โดยหวังว่าจะมีการ top down แบ่งปันในผลประโยชน์ของการเจริญเติบโตลงไปสู่คนงานนั้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร ดังนั้นหากจะเน้นคนจนก็ต้องทำในลักษณะของ bottom up หรือเข้าถึงตัวคนจนโดยตรงจะได้ผลสำเร็จในการเพิ่มความสุขของคนไทยส่วนใหญ่มากกว่า


อาจารย์อภิสิทธิ์ครับ หากอาจารย์ต้องการหลีกเลี่ยงจากการถูกตราหน้าว่าลอกนโยบาย (ห่วยๆ) ของรัฐบาลในระบอบทักษิณชุดก่อนๆ เช่น นโยบายประชานิยมทั้งหลาย การเพิ่มสมรรถนะทางการคลังเป็นสิ่งที่ควรกระทำเพื่อมิให้นโยบายการคลังที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคตไม่กลายเป็นนโยบายประชานิยมไปเสียหมด เพราะหากจะให้รัฐเข้ามาดูแลและมีบทบาทในรัฐสวัสดิการ เช่น การศึกษาฟรี 12-15 ปี หรือหลักประกันบริการสาธารณสุขสำหรับคนไทยโดยทั่วหน้า ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในโครงการเหล่านี้อย่างชัดเจน


สิ่งนี้เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญของนโยบายประชานิยมกับนโยบายแบบรัฐสวัสดิการก็คือ รัฐบาลจำเป็นต้องมีรายรับใกล้เคียงกับรายจ่าย เนื่องจากหากรัฐบาลประสงค์ที่จะให้สวัสดิการที่ดีกับคนในสังคมโดยทั่วหน้าและไม่ก่อให้เกิดผลเสียกับวินัยทางการคลังของประเทศ มิเช่นนั้นก็จะเป็นอย่างประเทศในแถบละตินอเมริกา หรือรัฐบาลในยุคทักษิณที่มีแต่โครงการสวยหรูที่ใช้จ่ายเงินจากภาครัฐอยู่อย่างมากมายแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเอาเงินจากแหล่งใดมาจุนเจือ เพราะฐานภาษีก็ไม่ขยาย อัตราภาษีก็คงเดิมหรือพยายามจะลดด้วยซ้ำ ทำให้ในที่สุดประเทศชาติก็จะล้มเหลวในทางการเงินการคลังและนำไปสู่ภาวะล้มละลายในที่สุด


การขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้นทั้งจากจำนวนผู้เสียภาษีและประเภทของภาษีที่นอกจากจะทำให้ประชาชนแต่ละคนมีภาระภาษีในจำนวนที่น้อยลงกว่าเดิมและทำให้คนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นแล้ว ยังทำให้รัฐไม่ต้องพึ่งพารายรับทางการคลังที่มาจากภาษีบางประเภทมากเกินไปดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น ภาษีเงินได้ที่แม้เป็นภาษีทางตรงแต่มีฐานแคบ หรือภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นภาษีทางอ้อมที่ไม่เป็นธรรมกับคนจน เพราะคนจนก็เสียในอัตราเดียวกับคนรวยเมื่อซื้อสินค้า


7. การแก้ไขหนี้สาธารณะที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 โดยกองทุนฟื้นฟูฯก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะปลดพันธนาการทางการคลัง เพราะหนี้ที่เกิดจากกองทุนฟื้นฟูฯ ในปัจจุบันมีขนาดถึงกว่าหนึ่งในสามของหนี้สาธารณะทั้งหมดหรือคิดมูลหนี้เป็นตัวเงินจะมีประมาณ 1.15 ล้านล้านบาทเสียดอกเบี้ยที่ตั้งจ่ายจากงบประมาณประจำปีกว่าปีละ 6 หมื่นล้านบาท และที่สำคัญก็คือมิได้มีการจ่ายคืนเงินต้นมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว ดังนั้นการคืนหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ก่อนครบกำหนดของรัฐบาลทักษิณจึงเป็นการหาเสียงบนความทุกข์ของประชาชนอย่างเห็นแก่ตัวที่สุดเพราะมิได้เป็นการปลดแอกอะไรทั้งสิ้น


หากสามารถปลดหนี้ตัวนี้ได้ก็จะทำให้รัฐมีช่องว่างในการใช้นโยบายการคลังมากกว่าเดิมและเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดจากคนในรุ่นปัจจุบันให้สิ้นสุดในคนรุ่นนี้ มิให้เป็นปัญหาของคนรุ่นต่อไป แต่อาจต้องใช้ความตั้งใจและจริงใจทางการเมืองในการแก้กฎหมายบางฉบับ เช่น พ.ร.บ. เงินตรา แต่อาจารย์อภิสิทธิ์ก็อย่าลืมว่ารัฐบุรุษและผู้นำทั่วไปก็แตกต่างที่จุดนี้แหละว่าทำเพื่อปัจจุบันเอาตัวรอดไปวันๆ หรือทำเพื่ออนาคตเพื่อคนรุ่นหลังได้กล่าวสรรเสริญ


สุดท้ายนี้พวกผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อาจารย์อภิสิทธิ์จะกล้าหาญ กล้าคิด กล้าทำ เพื่อจะเป็นความหวังที่ประเทศไทยรอคอยมาเป็นเป็นเวลานานได้จนครบวาระ อย่าให้ประชาชนผิดหวังในตัวอาจารย์อภิสิทธิ์ เพราะพวกผมและประชาชนชาวไทยอีกไม่น้อยไม่มีความหวังกับนักการเมืองอื่นๆ อีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ชวลิต บรรหาร ทักษิณ สมัคร สมชาย หรือแม้แต่เป็ดตัวใดก็ตาม


หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้