จากคนเสื้อแดง และฝ่ายค้าน ถึงการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ : ปัญหาของการต่ำกว่ามาตรฐาน (บทความที่ prime personควรอ่าน) 12/1 /52

จากคนเสื้อแดง และฝ่ายค้าน ถึงการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ : ปัญหาของการต่ำกว่ามาตรฐาน (บทความที่ prime personควรอ่าน) 12/1 /52


จากคนเสื้อแดง และฝ่ายค้าน ถึงการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ : ปัญหาของการต่ำกว่ามาตรฐาน

(บทความที่ prime personควรอ่าน)



 

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
12 มกราคม พ.ศ. 2552

รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง
รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


วิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้อาจกล่าวได้ว่ามีที่มาจากการปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ต่ำกว่ามาตรฐานหรือ subprime borrower


คำว่ามาตรฐานในที่นี้จึงเป็นเส้นขีดแบ่งระหว่างผู้กู้ชั้นดี (prime borrower) กับผู้กู้ที่ต่ำกว่าชั้นดี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้กู้ต่ำกว่ามาตรฐานนั่นเอง เส้นแบ่งแดนดังกล่าวอาจดูได้จากเครื่องชี้หลายๆ ตัวประกอบกัน เช่น สัดส่วนเงินที่นำมาชำระหนี้กับรายได้ผู้กู้ สัดส่วนระหว่างมูลหนี้ที่ขอกู้กับราคาหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน หากสัดส่วนดังกล่าวมีค่ามากขึ้นก็จะแสดงถึงมาตรฐานของผู้ที่ลดลง หรือหากไม่เป็นอัตราส่วนทางการเงินก็อาจดูได้จากแหล่งข้อมูลที่มาของรายได้ผู้กู้ที่สามารถแจกแจงได้หรือไม่ว่ามีที่มาจากแหล่งใดบ้าง การไม่สามารถแสดงที่มาของรายได้ก็จะแสดงถึงมาตรฐานของผู้กู้เช่นกัน


ในทางการเมืองก็ปรากฏถึงปัญหาของการต่ำกว่ามาตรฐานเช่นกัน


กลุ่มคนเสื้อแดงและฝ่ายค้านในปัจจุบันเป็นตัวอย่างอันดีที่ชี้ให้เห็นว่า การเมืองของพวกเขาได้มาตรฐานหรือไม่


กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามที่จะเลียนแบบและใช้ตรรกะเดียวกับคนเสื้อเหลืองแทบทุกอย่าง โดยกล่าวเสมอว่าเป็นการย้อนรอย แต่กลับกลายเป็น “ความเหมือนที่แตกต่าง” สาเหตุหลักก็คือการขาดซึ่งอุดมการณ์หรือการมีจิตสำนึกเพื่อประโยชน์สาธารณะของพวกเขา


โดยตรรกะแล้ว ถ้าหากคนเสื้อแดงคิดว่าการปิดล้อมรัฐสภาของคนเสื้อเหลืองเพื่อมิให้มีการแถลงนโยบายได้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำไมจึงไปเลียนแบบทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นั่นคือเห็นคนอื่นๆ เขาทำไม่ดีแล้วทำไมจึงต้องไปทำไม่ดีตามด้วย


ในทางกลับกัน หากกลุ่มคนเสื้อแดงคิดว่าเป็นสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญในการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของพวกตน ก็แสดงว่าสิ่งที่ทำโดยคนเสื้อเหลืองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ทำไมจึงไม่เลียนแบบให้หมดว่าการรวมกลุ่มหรือชุมนุมนั้นจะต้องเป็นไปโดยสันติ ปราศจากความรุนแรง เพราะถ้าหากจะใช้ “ความรุนแรง” เป็นเส้นแบ่งก็จะพบว่า มาตรฐานการเมืองของคนเสื้อแดง “ต่ำกว่ามาตรฐาน” อย่างเห็นได้ชัด


มันจึงเป็น “ความเหมือนที่แตกต่าง” เพราะพวกเขาขาดซึ่งอุดมการณ์หรือการมีจิตสำนึกเพื่อประโยชน์สาธารณะ


ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายค้านในปัจจุบันก็ “ต่ำกว่ามาตรฐาน” ที่ฝ่ายค้านที่ดีพึงมี


การแสดงออกว่าสนับสนุนหรือเป็นฝ่ายเดียวกับคนเสื้อแดงอย่างชัดแจ้งก็ดี หรือโดยการใช้วาทกรรมใส่ร้ายบุคลากรบางคนของฝ่ายรัฐบาลว่าเป็นผู้ก่อการร้ายก็ดี หรือกล่าวหาว่าเป็นการปล้นประชาธิปไตยก็ดี รวมทั้งการไม่ยอมไปฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาล หรือการไปอภิปรายรัฐบาลนอกสภาฯ ก็ดี และอื่นๆ อีกมากมาย พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องชี้ที่ดีที่แบ่งแยกว่าฝ่ายค้านในปัจจุบัน “ต่ำกว่ามาตรฐาน” อย่างเห็นได้ชัด


อย่าลืมว่าถึงแม้ว่าพวกท่านเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็ได้รับค่าตอบแทนในการทำงานจากเงินภาษีของราษฎร์เหมือนเช่นฝ่ายรัฐบาล และมิได้หมายความว่าพวกท่านจะไม่ต้องทำงาน หากเป็น ส.ส.แล้วไม่มาทำงานในสภาฯ ก็เหมือนกับเป็นนักกอล์ฟอาชีพแต่ไม่มาสนามกอล์ฟแล้วจะอ้างว่าทำงานแล้วได้อย่างไร หน้าที่ในการฟังการแถลงนโยบาย การอภิปราย การตรวจสอบจึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่พึงกระทำของคนที่อาสามาทำงานเพื่อประเทศชาติเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย


จำเป็นด้วยหรือที่พวกท่านต้องเป็นรัฐมนตรีหรือต้องเดินทางด้วยเครื่องบินในชั้น First Class เท่านั้นจึงจะทำงานหรือไปสู่จุดหมายปลายทางได้


ปรากฏการณ์ของการขาดซึ่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ทั้งๆ ที่มีรัฐบาลแล้ว การแต่งตั้งหัวหน้าพรรคจากคนที่มิได้เป็น ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันที่ทำให้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านเข้าประชุมสภาฯ ไม่ได้และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเพียงหุ่นเชิด จึงเป็นเครื่องชี้ที่ดีว่าท่านเป็นฝ่ายค้านที่ “ต่ำกว่ามาตรฐาน”หรือไม่ และส.ส.ที่อยู่ในพรรคของท่านก็เป็น ส.ส.ที่ “ต่ำกว่ามาตรฐาน” หรือไม่


หากจะเลียนแบบก็ควรจะลองเปรียบเทียบกับตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านดูก็ได้ว่าพวกเขาทำงานในฐานะฝ่ายค้านอย่างไร แม้ว่าในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะมีเสียงน้อยกว่ารัฐบาลมากไม่สูสีเหมือนเช่นปัจจุบันเพื่อที่ พวกท่านจะไม่เป็นฝ่ายค้านเหมือนกันแต่ทำงานแตกต่างกันอย่างฟ้ากับเหว


ผู้เขียนอยากจะหยุดเรื่องคนเสื้อแดง และฝ่ายค้านที่ “ต่ำกว่ามาตรฐาน” แต่เพียงเท่านี้ก่อนเพราะปัญหาของชาติที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ก็คือปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาผู้กู้ต่ำกว่ามาตรฐานของสหรัฐอเมริกา


ปัญหาดังกล่าวดังที่ได้เคยกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วว่าได้ก่อให้เกิดการล้มละลายในภาคการเงินของสหรัฐฯ และประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศและได้สร้างสึนามิทางเศรษฐกิจขึ้นมา เพราะเมื่อภาคการเงินล้มเหลว หน้าที่ที่ภาคการเงินหล่อเลี้ยงภาคการผลิตอื่นๆ ที่เรียกรวมๆ ว่า ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้


ธุรกิจจึงขาดแคลนเงินทุนเพราะสถาบันการเงินไม่สามารถทำหน้าที่อำนายสินเชื่อได้โดยปกติ


ธุรกิจจึงขาดแคลนกำลังซื้อเพราะธุรกิจอื่นๆ ขาดแคลนเงินทุน


ธุรกิจไม่มีความต้องการในสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพราะไม่มีกำลังซื้อมาก่อให้เกิดการผลิต


สถาบันการเงินที่ยังไม่ล้มละลายก็อาจจะต้องล้มละลายเพราะธุรกิจไม่มีความต้องการในสินเชื่อ


กลายเป็นวงจรของการล้มละลายต่อไปอย่างไม่รู้จบ ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว


ประเทศไทยในปี 2552 จะรับมือกับสึนามิทางเศรษฐกิจ ที่ถาโถมเข้ามานี้ได้อย่างไร?


ประเทศไทยในปี 2552 นี้มี “ความเหมือนที่แตกต่าง” จากเมื่อปี 2540 อยู่ 2 ประการก็คือ วิกฤตในครั้งนี้ (1) ประชาชนส่วนใหญ่รู้ตัวล่วงหน้า มีการเตรียมตัว และ (2) ภาคการเงินของประเทศแข็งแรง


แม้ว่าผลของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้ไม่มีผู้ซื้อสินค้าไทยในตลาดโลกมากเท่าเดิม ทำให้การขยายตัวของการส่งออกซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศไม่สามารถทำได้ดีเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ก็ชดเชยด้วยการนำเข้าที่ลดลงเช่นกันเพราะราคาสินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น น้ำมัน ก็มีราคาลดลงไปด้วย การว่างงานจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อมจึงเป็นที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น และเป็นที่คาดการณ์ต่อไปอีกว่าสถาบันการเงินก็จะเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อเพราะไม่อยากเผชิญกับปัญหาหนี้เสียดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ทำให้ธุรกิจอื่นๆ ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย


แต่ก็อย่าลืมว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงเพียงภาคเดียว และเป็นปัญหาที่มาจากภายนอกประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าหากสามารถพยุงอำนาจซื้อของคนในประเทศได้ก็อาจบรรเทาปัญหานี้ให้ทุเลาไปได้บ้าง


ในปัจจุบันรายได้หรือผลผลิตของประเทศอาจคิดเป็นตัวเลขให้เห็นง่ายๆว่ามีประมาณ 9 ล้านล้านบาทในราคาปัจจุบัน (พ.ศ.2551) หากจะให้มีการขยายตัวหรือเพิ่มขึ้นในรายได้ร้อยละ 1 จะคิดเป็นตัวเงินประมาณ 9 หมื่นล้านบาท


การพยุงรายได้ของคนในประเทศไม่ให้ลดลงและสามารถรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นประเด็นปัญหาที่ชัดเจนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังเผชิญอยู่ หากสมมติให้เงินเฟ้อในปี 2552 จะมีเพียงร้อยละ 1 เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับหรือพยุงรายได้ของคนในประเทศให้คงที่อย่างน้อยก็ต้องมีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 หรือคิดเป็นตัวเงินประมาณ 18 หมื่นล้านบาท


รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ได้ใช้เวลาที่อยู่ในอำนาจกว่า 10 เดือนออกกฎหมายเพียงฉบับเดียวคือ พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2552 ซึ่งได้ตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ประมาณ 25 หมื่นล้านบาท หมายความว่าจะมีเงินเพิ่มมากขึ้นเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเท่ากับจำนวนที่ขาดดุล แต่นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน ต.ค.2551 สิ่งที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันมีสถานการณ์ที่รุนแรงมากกว่าที่คาดไว้มากรัฐบาลอภิสิทธิ์จึงได้ตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมอีก 10 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าจะมีเงินเพิ่มขึ้นมาอีก 35 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของรายได้ซึ่งดูแล้วน่าจะพอเพียงในระดับหนึ่ง


อย่างไรก็ตามการพยุงรายได้ของคนในประเทศมิให้ลดลงซึ่งเป็นแนวทางในการรับมือปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจนั้น จำเป็นต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าเงินที่เพิ่มจะนำไปใช้จ่ายในด้านใด หากย้อนกลับไปดูวงจรล้มละลายข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า การแก้ไขการขาดกำลังซื้อจะเป็นการตัดวงจรนี้ให้ขาดลง อันเป็นการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด


ฉะนั้นในระยะสั้น การเพิ่มกำลังซื้อของคนที่มีแนวโน้มจะซื้อมาก (ไม่นำไปออมเช่นคนรวย) และซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลักน่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหา เมกะโปรเจกต์ส่วนใหญ่ที่เสนอมาจะเป็นโครงการที่ใช้สินค้าจากต่างประเทศในสัดส่วนสูงซึ่งจะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้กับคนต่างชาติไม่ใช่คนไทย เพราะ รถไฟ เหล็ก รถเมล์ น้ำมัน เป็นสิ่งที่เราเองผลิตไม่ได้ การแก้ปัญหาตกงานของแรงงานในเมืองหรือการจ้างแรงงานในชนบทให้มีงานทำ เช่น โครงการตามเงินกู้มิยาซาว่า จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษากำลังซื้อที่ดีกว่าโดยเปรียบเทียบ


เหล่านี้คือตัวอย่างของรายละเอียดที่เป็นหน้าที่ร่วมของฝ่ายค้านที่จะต้องทำงานร่วมไปกับฝ่ายรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง เพราะเป็นหน้าที่หลักที่สำคัญในการเกาะติด เสนอแนะ และตรวจสอบการทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล


อย่าเอาการเอางานแต่เพียง ปาไข่ ปิดล้อม ฟ้องศาล ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ท้องหิว เพราะสิ่งนี้คืออุดมการณ์หรือการมีจิตสำนึกเพื่อประโยชน์สาธารณะที่เป็นรูปธรรม ประเทศอื่นๆ ที่คุณเห็นว่าเขาก้าวหน้ากว่าเราก็เพราะเวลามีปัญหาเช่นนี้ ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะสุมหัวร่วมมือกันแก้ไขเอาประเทศชาติไว้ก่อน


ในการเมืองภาคประชาชน หากกลุ่มคนเสื้อแดงใช้ความรุนแรงก็จะกลายเป็น “อันธพาลทางการเมืองข้างถนน”ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็น “ความเหมือนที่แตกต่าง” กับกลุ่มคนเสื้อเหลือง


พรรคฝ่ายค้านหากไม่ทำงานที่เป็นหน้าที่ที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยในสภาฯ ก็จะกลายเป็น “ก๊วนกวนเมือง” เป็น “ความเหมือนที่แตกต่าง” กับพรรครัฐบาลโดยเฉพาะอย่างพรรคประชาธิปัตย์


ดังนั้นประเทศชาติจำเป็นต้องมีทั้งภาคประชาชน ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านที่ได้มาตรฐาน ภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศกำลังเดินไปข้างหน้า แต่กลุ่มคนเสื้อแดงและฝ่ายค้าน กำลังเดินก้าวหน้าหรือถอยหลัง ทำตัวเป็นประโยชน์ หรือเป็นอุปสรรคของบ้านเมือง โปรดตั้งสติไตร่ตรองดูให้ดี พวกคุณสร้าง “ความแตกต่าง” ได้


หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้