ฝันร้ายที่ผ่านพ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (บทความของการคาดคะเนอย่างมีเหตุผล) 8/12/51

ฝันร้ายที่ผ่านพ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (บทความของการคาดคะเนอย่างมีเหตุผล) 8/12/51


ฝันร้ายที่ผ่านพ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

(บทความของการคาดคะเนอย่างมีเหตุผล)



เวทีทัศนะ โดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 8 ธ.ค. 51

รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


"มนุษย์ แปลว่า ใจสูง
หมายถึงมีจิตใจสูงกว่า สัตว์เดรฉาน เปรต ยักษ์ สัตว์นรก
มนุษย์รู้จักรับผิดชอบชั่วดี รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ มิใช่ประโยชน์
มีหิริโอตัปปะ ละอายเกรงกลัวต่อบาป"

พระอาจารย์มิสูโอะ คเวสโก




1


ฝันร้ายของประเทศไทยได้ผ่านพ้นไปเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรคคือพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย การทบทวนอดีตที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่วิญญูชนสมควรที่จะกระทำเพื่อให้ตนเองมีสติสมบูรณ์


มูลเหตุของการยุบพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็น “ตัวแทน” ของพรรคไทยรักไทยที่ได้ถูกยุบพรรคไปก่อนหน้านี้ มีที่มาจากนายยงยุทธ ติยะไพรัชซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ถูกศาลฏีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองตัดสินว่าได้กระทำผิดกฏหมายการเลือกตั้ง ทำให้พรรคที่ตนสังกัดอยู่ได้รับ ส.ส.เพิ่มขึ้น ซึ่งถือได้ว่าพรรคพลังประชาชนได้ประโยชน์และเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะที่มาของ ส.ส.จำเป็นที่จะต้องได้มาอย่าง ถูกต้อง เที่ยงธรรม สุจริต และปราศจากข้อสงสัย อันเป็นหลักการที่สำคัญของการเลือกตั้ง


โดยข้อเท็จจริงแล้วนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ก็เป็น ส.ส.สัดส่วนในกลุ่มดียวกับนายยงยุทธ ติยะไพรัชที่กระทำผิด หากมีสำนึกรู้จักผิดชอบชั่วดีก็ย่อมตระหนักได้ว่าที่มาของตนเองไม่ถูกต้อง ไม่เที่ยงธรรม ไม่สุจริต และมีข้อสงสัย ทำไมจึงยังประสงค์ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ เช่นเดียวกับ ส.ส.คนอื่นๆในพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล ทำไมจึงไม่มีสำนึกผิดชอบชั่วดีรับรองให้เข้าสู่ตำแหน่ง ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญก็ให้ความคุ้มครองเปิดช่องไว้ว่าการออกเสียงในวาระดังกล่าวสามารถทำได้โดยอิสสระไม่สามารถนำเอามติพรรคมาบีบบังคับได้


หากจะย้อนนึกไปถึงห้วงเวลาก่อนหน้านี้ สมัคร สุนทรเวช กล่าวไว้ว่าตนเองเป็น “ตัวแทน” ของทักษิณ ชินวัตรที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากการยุบพรรคไทยรักไทย การเป็นตัวแทนเป็นสิ่งเสียหายตรงไหน ตรรกที่อ้างก็คือ บริษัทต่างชาติที่แสร้งว่าเป็นบริษัทสัญชาติไทยเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยก็ใช้วิธี “ตัวแทน” เข้ามาถือหุ้นเช่นเดียวกับที่ตนทำทั้งนั้น


ดังนั้นนักการเมืองทั้งในพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลจึงมีบุคคลที่เป็นตัวแทนเพราะ ถ้าสามี ภรรยา หรือ ลูก ถูกบล็อกก็ต้องหาคนมาเป็นตัวแทน กรรมการบริหารพรรคก็จะไม่เป็นแกนนำหรือ ส.ส.อีกต่อไป มาตรา 237 ในรัฐธรรมนูญฉบัพ.ศ.2550 จึงเป็นสิ่งเลวร้ายที่ทำให้ตนต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง โดยหามีความละอายต่อความชั่วไม่ว่า การเมืองมิใช่เรื่องธุรกิจที่จำเป็นต้องทำเพื่อเลี้ยงชีพ หากแต่เป็นเรื่องของการอาสาเข้ามาทำเรื่องดีๆให้กับประเทศ หากจะไม่โกงการเลือกตั้งทำไมต้องเตรียม “ตัวแทน” เอาไว้ล่วงหน้า


การซื้อเสียงเพื่อให้นักการเมืองได้รับการเลือกตั้ง อันเป็นวิธีการหนึ่งที่นักการเมืองใช้มานานจนเกิดความเคยชิน จึงเป็นความผิดที่ร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 เพราะเป็นการบ่อนทำลายไม่ให้ประชาธิปไตยพัฒนาขึ้นมาเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงและก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ เนื่องจากนักการเมืองเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบ โดยไม่มีความละอาย เพื่อเตรียมไว้ใช้ในการเลือกตั้งต่อไป อันเป็นวงจรเลวร้ายไม่มีที่สิ้นสุด


การเมืองที่เป็นธุรกิจเลี้ยงชีพ และเข้าสู่ตำแหน่งอย่างเคยชินด้วยการซื้อเสียงจึงเป็นต้นเหตุของปัญหาบ้านเมืองมาโดยตลอด แต่ที่เป็นปัญหาจนกลายเป็นวิกฤตในปัจจุบันก็เพราะสัดส่วนนักการเมืองที่ไม่ซื้อเสียงมีน้อยลง ทำให้คนดีมีอยู่ในวงการเมืองน้อยลงและคนดีที่อยู่นอกการเมืองก็ไม่ประสงค์จะเข้ามาร่วมแปดเปื้อนด้วย ปรากฏการณ์ของคนไม่ดี คนไม่มีคุณภาพ มาเป็นผู้บริหารประเทศจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า




2


ศาลรัฐธรรมนูญในชุดปัจจุบันอาจกล่าวได้เป็น “เสาหลัก” ของการเมืองการปกครองไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนก็ว่าได้

นอกจากกรณี สมชาย วงศ์สวัสดิ์แล้ว สมัคร สุนทรเวช ก็ถูกถอดออกจากตำแหน่งนายกฯเพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไทยไม่เสียทีในกรณีประสาทพระวิหารก็เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มิใช่หรือ


ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ สภาผู้แทนแล้ว จะเห็น สวรรค์กับนรกชัดเจนขึ้นว่าองค์กรใดสามารถเป็นที่แก้ไขปัญหาให้กับชาติบ้านเมืองได้มากกว่ากัน และที่ทำให้แตกต่างก็เพราะคนที่อยู่ในองค์กรใช่หรือไม่


ศาลรัฐธรรมนูญมิใช่เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากแต่มีมาก่อนหน้านี้แล้วในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ที่มีผลงานเด่นที่เป็นโบว์ดำ เช่น การตัดสินที่อื้อฉาวที่ทำให้ทักษิณ ชินวัตร พ้นผิดจากข้อหาซุกหุ้น หรือ การขึ้นเงินเดือนให้กับตนเองจนเป็นตัวอย่างให้กับองค์กรอิสระอื่นๆทำตาม การที่ศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันมีผลงานดีขึ้นผิดหูผิดตาก็อาจจะเนื่องมาจากกระบวนการคัดคนที่จะมาเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญที่ได้ปรับปรุงให้ดีกว่าที่มีอยู่เดิมในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 เนื่องจากไม่ได้ฝากไว้กับวิจารณญาณของฝ่ายการเมืองในการคัดเลือกตุลาการเพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วว่าใช้ไม่ได้ ไม่ทำผิดซ้ำซาก


สมควรคารวะกับตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่าน ได้แก่ 1.นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.นายจรัล ภักดีธนากุล 3.นายจรูญ อินทจาร 4.นายเฉลิมพล เอกอุรุ 5.นายนุรักษ์ มาประณีต 6.นายบุญส่ง กุลบุปผา 7.นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ 8.นายสุพจน์ ไข่มุกด์ 9.นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี มา ณ ที่นี้




3


หากมองให้ทั่วทั้งป่าจะเห็นภาพป่าในปัจจุบันได้ชัดเจนว่า ประชาชนน่าจะมีโอกาสเป็นประชาชนที่มีสิทธิ์มีเสียงก็ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2550 เพราะมิได้ถูกผูกขาดตัดตอนอำนาจไปอยู่ในมือของนักการเมืองแต่ฝ่ายเดียว

หากจะเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 และ 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะเห็นว่า ข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2550 น่าจะมีมากกว่า ฉบับพ.ศ.2540 แม้ว่าที่มาจะมีผู้กล่าวหาว่ามาจากเผด็จการก็ตาม แต่ปัญหามิใช่มาจากใคร เพราะจะมีประชาธิปไตยที่ไหนบ้างที่มิได้มาจากเผด็จการ เพราะเผด็จการถ่ายโอนอำนาจให้ประชาชนมิใช่หรือจึงเป็นประชาธิปไตยได้ เนื้อหาและการปฏิบัติโดยชอบธรรมต่างหากที่สำคัญมากกว่าที่มา


ทักษิณ ชินวัตร สามารถรวบอำนาจทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และบริหารเข้ามาด้วยกันก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 แทรกแซงองค์กรอิสระได้ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 อาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับโปรดเลยก็ว่าได้ แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 จะเป็นไปในทางตรงกันข้ามแทบทั้งสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกประหลาดใจใดเลยที่ “ตัวแทน” ของเขาคนแล้วคนเล่าที่พยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ด้วยข้ออ้างต่างๆนาๆ แต่ผู้เขียนพอจะมองออกจากการมีชีวิตอยู่นานว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา”


อะไรที่นักการเมืองเลวไม่ชอบนั่นแหละคือสิ่งดี


การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการกลับมาสู่อำนาจอีกครั้งของ ทักษิณ ชินวัตร และระบอบทักษิณ ผู้ที่อาสาเป็น พระยาจักรี ผู้เปิดประตูเมืองให้พม่าคือ เหวง โตจิราการ ที่เสนอให้ “ล้มล้าง” รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 เพราะมิใช่เป็นแต่เพียงการแก้หรือปรับปรุงบางมาตรา หากแต่เป็นการตัดทุกหมวดของฉบับ พ.ศ.2550 และทดแทนด้วยหมวดที่คล้ายกันของฉบับ พ.ศ.2540 เป็นความแยบยลเพราะแทนที่จะเสนอให้แก้มาตราที่หลายฝ่ายเฝ้ามอง ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 190 หรือ 237 หรือ 309 ก็ ลับ ลวง พราง โดยแก้มันทั้งหมดโดยอาศัยฉบับ พ.ศ.2540 เสียเลย มาตราดังกล่าวข้างต้นก็จะถูกแก้โดยปริยายเพราะเดิมไม่มีอยู่ ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นการแก้ไขเพราะการแก้ไขน่าจะหมายถึงยังคงมีของเดิมหลงเหลืออยู่เป็นส่วนใหญ่ และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือการไม่มีหมวดว่าด้วยองคมนตรีเอาไว้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการลิดรอนพระราชอำนาจในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง



4


เหวง โตจิราการ เคยเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ของพรรคคอมมูนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต ซึ่งในปัจจุบันหน้าตาของคอมมูนิสต์แท้แบบ “คาร์ล มาร์ก” อาจไม่มีให้เห็นอีกแล้ว แต่รากเหง้ายังคงอยู่คือต้องการโค่นล้มศักดินา แต่อาจมิได้ด้วยปากระบอกปืนแต่เป็นการเข้าร่วมกับระบอบทักษิณ พร้อมด้วยสหายที่ออกมาจากป่าด้วยกันและนักวิชาการบางส่วน ชูธงรักษาประชาธิปไตยโดยไม่ได้ดูว่าประชาธิปไตยที่ตนเองต้องการปกป้องรักษานั้นมาจากการซื้อเสียงหรือไม่ ทำตัวเหมือนเป็นพวกก้าวหน้า (จอมปลอม)


หากสมมติด้วยสี ความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลือและเสื้อแดงจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะความขัดแย้งมิได้เกิดเฉพาะทักษิณ ชินวัตรแต่เพียงจุดเดียว หากแต่ลุกลามเกิดเป็นขบวนการ “ล้มทุน ล้มปืน และล้มเจ้า” ในหลายรูปแบบและหลากหลายช่องทาง และก่อให้เกิดการวิพากษ์เสื้อเหลืองโดยไม่วิพากษ์เสื้อแดงภายใต้แนวคิดของการสมานฉันท์หรือความเป็นกลางกลวง พยายามตั้งเป็นโจทย์ที่ยัดเยียดให้สังคมต้องเลือกระหว่าง ทุนนิยม (แม้สามานย์ ) กับ (ก็ดีกว่า) อำมาตยาธิปไตย (ที่ล้าหลัง)


โดยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ หลายๆประเทศก็มีความเจริญก้าวหน้าทันโลกได้โดยเลือกทั้งสองพร้อมกันก็ได้ เช่น หลายประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร หรือ สเปน เป็นต้น ทำไมต้องไปเลือกทางหนึ่งและทำลายอีกทางหนึ่ง ทำไมต้องมีประมุขเป็นประธานาธิบดี มันดีกว่าปัจจุบันอย่างไร เหล่านี้เป็นคำถามที่อดีตสหาย นักวิชาการ ที่ทำตัวเหมือนเป็นหัวก้าวหน้าไม่พยายามจะตอบต่อสังคม


พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่คนโง่ หรือสิ้นคิดที่จะไม่รู้ว่าการสนับสนุนทักษิณ ชินวัตรทั้งที่ถูกศาลตัดสินว่าฉ้อฉลอย่างชัดเจนนั้นขาดเหตุผลและความชอบธรรม แต่ที่ทำก็เพราะต้องการอาศัยระบอบทักษิณและทุนนิยมมาทำลายศัตรูของตน


การเผยแพร่แนวคิดโดยนักวิชาการบางส่วนที่เป็นเหมือนยาพิษแทรกซึมไปเรื่อยๆจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับสังคมนี้อย่าลืมว่านักการเมืองปัจจุบันก็เคยเป็นลูกศิษย์นักวิชาการมาก่อน บางทีอาจมิใช่สั่งสอนแล้วไม่จำ แต่อาจเป็นสั่งสอนแล้วมันจำได้ดีเกินคาดก็เป็นได้



5


การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองที่มีการนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ หรือปรากฏการณ์ข้างต้นที่กล่าวมา อาจมีคำอธิบายนอกเหนือจากสมมติฐาน “ตาปะเขียว” เข้าแทรกในฝันของ เปลว สีเงิน ซึ่งก็คือ การคาดคะเนอย่างมีเหตุผล (rational expectation)

การเปลี่ยนจากขั้วการเมืองเดิมของพรรคร่วมรัฐบาลเกือบทุกพรรคและกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบอาจมิได้มาจาก เงิน หรือ ตำแหน่งเป็นสำคัญ เพราะไม่ว่าจะเป็นขั้วใดก็ต้องอาศัยเสียงของตน ทำให้สามารถเรียกร้อง เงิน หรือ ตำแหน่งได้อยู่แล้ว แต่ทุกคนที่เปลี่ยนขั้วน่าจะมีการคาดคะเน (ไปในอนาคต) อย่างมีเหตุผลว่า การร่วมทำผิดซ้ำสามกับพรรคตัวแทนของทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะชื่อใดก็ตามจะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนในอนาคต เพราะขาดความชอบธรรม หากจะอยู่ต่อก็ต้องไม่ทำผิดซ้ำอีก แม้แต่ภาคธุรกิจก็คาดคะเนเช่นเดียวกันดังจะเห็นจากคำแถลงให้เปลี่ยนขั้วเมื่อเร็วๆ นี้


ในทางตรงกันข้าม ทักษิณ ชินวัตร และ พจมาน ดามาพงศ์ กลับคาดคะเนอย่างไม่มีเหตุผล พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะไม่ยอมรับกติกาใดที่มีผลในทางลบกับตนเอง คิดว่าเงินเป็นใหญ่สามารถซื้อทุกสิ่งได้ ทั้งที่การได้รับโทษจำคุกคนละ 2 หรือ 3 ปีนั้นก็เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนมิใช่หรือว่าเงินไม่ใช่ทุกสิ่ง การทำผิดซ้ำอยู่เรื่อยๆ ไม่เรียนรู้จากอดีตและข้อมูลปัจจุบัน การไม่รู้ถึงผิดชอบชั่วดี และไม่ละอายต่อบาปนั้นจึงไม่ส่งผลดีต่อความเป็นมนุษย์ของตนเองเลย


รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ที่เกิดจากการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองจึงมีหน้าที่ที่จะต้องสลาย ขบวนการ “ล้มทุน ล้มปืน ล้มเจ้า” ทั้งในเชิงองค์กรและเครือข่ายให้หมดพิษสงไปโดยเร็ววัน เพราะนี่คือต้นตอของ “ฝันร้าย” ของประเทศนี้ และทำให้เกิดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มิเช่นนั้นแล้ว ประเทศนี้จะไม่สามารถ “สร้างชาติ” และสร้างสรรค์ฟื้นฟูสิ่งดีงานทั้งหลายทั้งปวงให้กลับคืนสู่สังคมไทยได้เลย


เพื่อการนี้ “การปฏิรูปสื่อ” ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลใหม่จะต้องรีบเร่งดำเนินการโดยเร็ววัน ก่อนที่ “ฝันร้าย”จะกลับมาเยือนอีกครั้งหนึ่ง


(บทความนี้เป็นความเห็นของผุ้เขียน ไม่เกี่ยวกับต้นสังกัด)



หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด









 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้