ทำไมรัฐบาลสมชายจึงใช้คนดีไม่ได้ 29/9/51

ทำไมรัฐบาลสมชายจึงใช้คนดีไม่ได้ 29/9/51


ทำไมรัฐบาลสมชายจึงใช้คนดีไม่ได้



รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง
รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 29 กันยายน 2551



“วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์”ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามิใช่เรื่องไกลตัวสำหรับประเทศไทย เหมือนอย่างที่หลายคนอาจจะคิดเช่นนั้น ทั้งนี้ก็เพราะว่า......

วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ทางการเงินของย่านวอลล์สตรีทอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับจากยุคตลาดหลักทรัพย์ล่มเมื่อ ค.ศ.1930 เป็นต้นมา เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤตดังกล่าวอยู่ในระดับที่มากมายมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังจะเห็นได้จาก

วานิชธนกิจชั้นนำของโลกการเงิน 5 แห่งถูกพายุทางการเงินพัดถล่มจนล้มละลายเหลือเพียง 2 แห่ง และต้องขอเปลี่ยนสถานะเป็นธนาคารเพื่อจะสามารถขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารกลางสหรัฐได้ ขณะที่ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังของสหรัฐฯได้เข้ามาร่วมกันเสนอแผนการให้สภาคองเกรสอนุมัติความช่วยเหลือสถาบันการเงินต่างๆเป็นเงินประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ธนาคารกลางทั่วโลกต่างต้องออกมาอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในตลาดเงินทั้งภายในและภายนอกประเทศตนเองทั่วโลกเพื่อป้องกันมิให้ระบบการเงินโลกล่มสลายอีกทั้งยังเพื่อป้องกันมิให้เกิดการตึงตัวในสภาพคล่องของสถาบันการเงินที่ตนเองกำกับดูแลอยู่ด้วย

สาเหตุของปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐที่ประทุขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อกันยายน 2551 เกิดมาจากอะไร ?

รากเหง้าของปัญหาอาจกล่าวได้ว่าอยู่ที่ความพยายามที่จะให้สินเชื่อกับรากหญ้าที่ตลาดประเมินแล้วว่ามีความสามารถในการชำระเงินกู้ต่ำกว่าผู้กู้มาตรฐานทั่วไป (prime borrower) หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่าเป็นปัญหา subprime borrower (ผู้กู้ต่ำกว่ามาตรฐาน) เพราะผู้กู้เหล่านี้มีโอกาสเป็นหนี้เสียหรือ NPL มากกว่า ในขณะที่ผู้กู้เหล่านี้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าผู้กู้มาตรฐานทั่วไป

แต่ก็เช่นเดียวกับกรณีบ้านเอื้ออาทรในสมัยของอดีตรัฐบาลทักษิณที่พยายามจะให้ชาวรากหญ้าซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับ subprime borrower กู้เงินเพื่อมีที่อยู่อาศัย ก็เป็นปัญหา subprime borrower แบบไทยๆที่มีต่อธนาคารอาคารสงเคราะห์และการเคหะแห่งชาติ

สภาพตลาดสินเชื่อของสหรัฐในปัจจุบันมิได้ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินที่รับฝากเงินโดยทั่วไป (Depository Institutions) เช่น ธนาคารเหมือนแต่ก่อน หากแต่ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินที่มิได้รับฝากเงินหรือ Non-Depository Institutions เช่น วานิชธนกิจ(investment bank) เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่สำคัญตัวหนึ่งของวานิชธนกิจก็คือ สินค้าอนุพันธ์ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (collaterized debt obligation)หรือ CDO ที่เป็นการนำเอาทรัพย์สินของธนาคารซึ่งก็คือลูกหนี้ออกมาขายต่อ ทำให้ธนาคารที่รับฝากเงินไม่ต้องพึ่งพาเงินฝากเพื่อเป็นทุนสำหรับปล่อยกู้อีกต่อไปและที่สำคัญก็คือ สัดส่วนทรัพย์สินเสี่ยงต่อทุนซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ธนาคารกลางใช้ควบคุมธนาคารก็ไม่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดเพราะได้แปลร่างเป็น CDO และขายออกไปจากงบดุลของตนเองแล้ว

เมื่อ CDO ได้รับความนิยมจากธนาคารและนักลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนสถาบัน ธนาคารจึงเร่งหาลูกค้าเพื่อปล่อยกู้ ทำให้ผู้กู้ที่ต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไปหรือ subprime borrower สามารถเข้ามาเป็นลูกค้าธนาคารได้เพราะมีหลักประกัน(อสังหาริมทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน) และสร้างรายได้ดีเนื่องจากเป็นผู้กู้ที่ต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไปทำให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้แพงกว่า

นอกเหนือจากนวัตกรรมทางการเงินแบบใหม่ที่ว่านี้แล้ว สภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐก็อยู่ในสภาพฟองสบู่คือเมื่อมีการซื้อง่ายขายคล่องมากขึ้น ทำให้ความต้องการในการเก็งกำไรติดตามมาเนื่องจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นตามไม่ทันอุปสงค์ ราคาอสังหาริมทรัพย์จึงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้จึงมีความรู้สึกว่า subprime borrower ไม่ได้เป็นปัญหาเพราะแม้จะมีโอกาสเป็นหนี้เสียมากแต่หลักประกันที่มีอยู่ก็ไม่เสื่อมค่าแต่อย่างใดซึ่งเป็นความหลงผิดและผิดพลาดอย่างร้ายแรง

วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐที่ประทุขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อ ก.ย.51ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง ?

ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อ subprime borrower เป็นหนี้เสียตามธรรมชาติของตัวมันเองที่มีโอกาสเป็น NPL สูงอยู่แล้ว และเมื่อมันกลายเป็นหนี้เสียขึ้นมาจริงๆ มูลค่าของCDO ก็จะมีค่าลดลง หลักทรัพย์ที่ถืออยู่ก็จะกลายเป็นพิษ (toxic asset) ต่อผู้ที่ถือมันไว้เพราะมูลค่าตลาดของทรัพย์สินได้ลดลงตามไปด้วย Lehman Brothers ก็เช่นเดียวกัน ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนที่จะประกาศล้มละลาย มูลค่าทรัพย์สิน เช่น senior bond ที่ถือเป็นตราสารหนี้ชั้นดีของ Lehman Brothers จำนวนประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ขายไปในตลาดมีราคาประมาณ 95 เซ็นต์ต่อหน้าตั๋ว 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปัจจุบันมีราคาเหลือแค่ประมาณ 18 เซ็นต์ต่อหน้าตั๋ว 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ผลของการเสื่อมค่าจากการถือหลักทรัพย์ที่เป็นพิษทำให้สถาบันการเงินหากเป็นผู้ถือก็ต้องหาเงินมาชดเชยการเสื่อมค่านี้หรือต้องไปหาเงินมาตั้งสำรองไว้นั่นเอง เพราะถ้าขายออกไปก็จะมีมูลค่าลดลงอย่างมากเนื่องจากไม่มีใครอยากได้

ขอบเขตของความเสียหายจึงเป็นไปในวงกว้างแพร่กระจายไปทั่วโลกเพราะ CDO ที่เป็นหลักทรัพย์ที่เป็นพิษต่องบดุลนี้ได้รับความนิยมเป็นอันมาก แม้แต่ในเมืองไทยก็ยังพลอยขาดทุนไปกับเขาด้วย

จะว่าไปแล้วปัญหานี้มิได้เพิ่งจะเกิดขึ้นมา หากแต่เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 2 ปีแล้ว แต่เริ่มที่จะประทุเป็นประเด็นปัญหามากขึ้นเมื่อ 1ใน5 ของวานิชธนกิจชั้นนำของวอลล์สตรีทคือ Bear Sterns ที่เป็นผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ให้กับ subprime borrower ได้ล้มละลายเป็นเจ้าแรกเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 และก่อให้เกิดความผันผวนทางการเงินจนธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสหรัฐต้องเข้ามาแทรกแซงตลาดโดยเพิ่มสภาพคล่องกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐและชักนำให้วานิชธนกิจชั้นนำอีกแห่งคือ JP Morgan ให้เข้ามารับซื้อกิจการของ Bear Sterns ไปในราคาหุ้นละ 2 ดอลลาร์สหรัฐในอีก 8 เดือนต่อมา

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการเข้ามารับซื้อกิจการพร้อมกับอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเป็นจำนวนมหาศาลแล้วก็ตามแต่ดูเหมือนว่าปัญหา subprime borrower ก็ไม่มีทีว่าจะสงบลง ในต้นเดือนกันยายน 2551 สถาบันการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยที่รัฐบาลสหรัฐเป็นผู้สนับสนุน 2 แห่งคือ Fannie Mae และ Freddie Mac ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันและต้องมีการให้เงินช่วยเหลือพยุงกิจการทั้ง 2 อีกประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดตามมาด้วย Lehman Brother ที่เป็นวานิชธนกิจชั้นนำที่ตั้งมากว่า 150 ปีที่ต้องประกาศขอล้มละลายตนเอง เช่นเดียวกับบริษัท American International Group หรือ AIG ที่มีขนาดใหญ่กว่า Lehman Brothers มากและมีธุรกิจรับประกันความเสี่ยงจากตราสารหนี้เช่น CDO จากสถาบันการเงินต่างๆไว้มาก ก็กำลังประสบปัญหาจากหลักทรัพย์ที่เป็นพิษ จึงต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจำนวน 8หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารกลางสหรัฐโดยแลกกับหุ้นของตนเองร้อยละ80 Merrill Lynch ซึ่งเป็นอีก 1 ยักษ์วานิชธนกิจของวอลล์สตรีทก็เพิ่งประกาศขายกิจการให้กับ Bank of America เนื่องจากปัญหา subprime borrower เช่นกัน

ที่กล่าวมาข้างต้นแม้เป็นเพียงผลกระทบระลอกแรกที่เกิดขึ้นมาราวกับหิมะถล่มแต่ก็ยังโหดร้ายได้ถึงเพียงนี้ และยังเป็นที่เชื่อกันอีกว่ามันยังไม่สิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้ ผลกระทบระลอกที่สองจะต้องตามมาอีกอย่างแน่นอน

วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐในครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนอดนึกถึงประสบการณ์อันขมขื่นจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเมื่อปีพ.ศ.2540ไม่ได้ เพราะ ทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดวิกฤตย่อมมี“ ตัวการ” ที่ก่อให้เกิดวิกฤตอยู่เสมอๆ

ประเทศไทยมีประสบการณ์ซึ่งถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากภาคการเงิน ซึ่งอาจสรุปได้โดยย่อว่ามาจาก

(1) วิกฤตในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ที่เกิดขึ้นมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดไปปกป้องค่าเงินบาทให้มีค่าคงที่เมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศเช่น ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย โดยละเลยการปกป้องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นหัวใจสำคัญมากกว่า การทุ่มเทเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างขาดความรอบคอบจนทำให้เมื่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือเพียง 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 จากที่มีอยู่กว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อช่วงต้นปี 2540 ทำให้ต้องเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ระบบเศรษฐกิจไทย

รายงาน ศปร. (คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ) ได้สรุปความเห็นถึงผู้ที่มีบทบาทในการปกป้องค่าเงินบาทไว้ว่าประกอบไปด้วย นายอำนวย วีรวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ต่อจากนายวิจิตร สุพินิจที่ต้องลาออกไปจากปัญหากรณีธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ รองผู้ว่าการ ธปท.ที่ดูแลกองทุนรักษาระดับเงินตราต่างประเทศและฝ่ายวิชาการ และผู้บริหารระดับสูงของธปท.อีก 2 ท่าน

ข้อเท็จจริงที่สำคัญจากรายงานข้างต้นก็คือ การเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทเป็นอำนาจของรัฐมนตรีคลังก็จริงอยู่แต่ต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ว่า ธปท. ซึ่งนายเริงชัยได้ทำหนังสือเป็นบันทึกเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2540 ขอความเห็นจากนายชัยวัฒน์ในการปรับเปลี่ยนค่าเงินบาท แต่ไม่มีการตอบมาในทันที จนกระทั่งอีก 1 เดือนเศษเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2540 จึงตอบกลับมาแบบขอไปทีทั้งที่นายชัยวัฒน์ก็ทราบว่ามีการโจมตีค่าเงินบาทอยู่เป็นระยะ ในช่วงเวลาวิกฤตดังกล่าวทุกๆวันมีค่าอย่างยิ่ง เพราะ ธปท.ต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศวันละหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ในบางวันถึงพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นความเสียหายอย่างชัดแจ้ง ในทางตรงกันข้าม นายชัยวัฒน์กลับแสดงความกระตือรือร้นที่จะเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 โดยไม่มีนายเริงชัย และตกลงว่าต้องยอมให้เงินบาทลอยตัวและกำหนดแผนปฏิบัติการขึ้นมา เมื่อแล้วเสร็จจึงแจ้งให้นายเริงชัยทราบทางโทรศัพท์ภายหลัง

แม้ว่านายเริงชัยในฐานะผู้ว่า ธปท.จะปฏิบัติงานแล้วเกิดความเสียหายร้ายแรงจนถูกฟ้องร้องอยู่ในขณะนี้ก็ตาม แต่น่าเสียดายที่นายชัยวัฒน์ซึ่งไม่ถูกฟ้องร้องด้วยทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับสูง เคยได้รับความไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีช่วยคลังเมื่อก่อนหน้านั้น (ปี 2539) และมีความชำนาญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเพราะเคยทำมาแล้ว 2 ครั้งคือเมื่อ 2524 และ 2527 แต่กลับสงวนถ้อยคำ โดยมิได้เห็นว่าการจำกัดตนดังกล่าวอาจเป็นผลเสียหายต่อประเทศส่วนรวม ดูจะเป็นการตั้งแง่เพราะไม่สะดวกใจในการทำงานร่วมกับนายเริงชัยอันเป็นการนำเอาเรื่องส่วนตัวมาอยู่เหนือเรื่องส่วนรวม

ช่างเลือดเย็นเสียเหลือเกินที่ละเลยเรื่องของประเทศชาติ ปล่อยให้ตกอยู่ในวิกฤตโดยไม่ดูดายเพียงเพราะความไม่ชอบส่วนตัว ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ในปัจจุบันทำไมคนๆนี้กลับได้ดีมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการธนาคารกรุงไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีของประเทศ

(2) วิกฤตในสถาบันการเงิน กรณีธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด

เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านความมั่นคงต่อสถาบันการเงินและระบบการเงินของประเทศ

การแก้ไขปัญหาของ ธปท.ที่มีต่อธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การอย่างไม่เด็ดขาด เช่น การไม่สั่งให้ลดทุนก่อนการเพิ่มทุนเมื่อตรวจพบความเสียหาย เพราะการลดทุนเป็นการชะล้างความเสียหายที่มีอยู่ให้หมดไปก่อนที่จะใส่เงินทุนหรือเพิ่มทุนซึ่งเป็นของใหม่ที่สะอาดทำให้เงินของทางการไม่ว่าจะมาจากกองทุนฟื้นฟูหรือจากกระป๋องออมสินเด็กคือธนาคารออมสินได้รับความเสียหายจนต้องมีการฟ้องร้องให้ผู้รับผิดชอบ เช่น นายนิพัทธ์ พุกกะณะสุต ถูกให้ออกจากราชการเป็นต้น หรือ การไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารคือ นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ นายราเกซ สักเสนาโดยทันที เพราะได้สั่งการเป็นหนังสือให้แก้ไขปัญหาที่ ธปท.ได้ตรวจพบกว่า 14 ฉบับในช่วงปี 2537-39 และส่งนายวีรพงษ์ รามางกูรเข้าไปเป็นที่ปรึกษา แต่ก็มิได้ปฏิบัติตามอย่างทันท่วงที เป็นผลทำให้ความเสียหายในธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ยืดเยื้อออกไปและกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแลอีกด้วย

ความเห็นของ ศปร. ได้กล่าวไว้ว่า ในส่วนของผู้ตัดสินใจดำเนินการให้ความช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การนั้น ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในเรื่อง เพิ่มทุน ลดทุนและการแก้ปัญหาที่ไม่เด็ดขาดก็คือ นายวิจิตร สุพินิจ ผู้ว่า ธปท.ระหว่างปี 2533 – 39 ถึงแม้มิได้รับผิดชอบในทางกฎหมาย แต่สมควรต้องรับผิดชอบในการทำลายชื่อเสียงและความเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทยในสายตาของสาธารณชน

ถึงแม้ว่าประสบการณ์จากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 จะผ่านไปแล้วถึง 11 ปีเศษ แต่มาบัดนี้ดูเหมือนว่า “ฝันร้าย”ในครั้งนั้นกำลังจะกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้งภายใต้การนำของรัฐบาลสมชาย ใครว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยตนเอง

ทำไมรัฐบาลสมชายจึงใช้คนดีไม่ได้ ?

รัฐมนตรีส่วนใหญ่ในรัฐบาลสมชายเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมในด้านความรู้ความสามารถในตำแหน่ง อย่างไรก็ตามในสายเศรษฐกิจจะเห็นได้ว่า all minister’s men ล้วนมีประวัติการทำงานที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง

หากใช้เกณฑ์ประวัติศาสตร์มาเป็นหลัก เราจะพบว่าเราไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่ผ่านมาแล้วหรือแก้ประวัติศาสตร์ได้ แต่ประวัติศาสตร์ก็เที่ยงธรรมตรงที่มันได้เปิดเผยความจริงที่โกหกไม่ได้ ผิดกับการแสดงวิสัยทัศน์หรือแถลงนโยบายที่อาจเป็นการแข่งการโกหกเพราะพูดในสิ่งที่ยังไม่เกิดยังไม่ได้ทำ การใช้สิ่งที่ทำมาแล้วเป็นเกณฑ์ในการตัดสินจึงน่าจะเหมาะสมในการค้นหาความจริงเพราะการบริหารประเทศเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ของที่จะมาทำกันเล่นๆได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาข้างต้น หากไม่ลืมเรามีหัวหน้ารัฐบาลชื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แม้ว่าเราจะไม่มีนายวิจิตร สุพินิจ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ และนายนิพัทธ์ พุกกะณะสุตมาเป็นรัฐมนตรีแต่บุคคลเหล่านี้ก็ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการคัดเลือก กรรมการธปท. บ้าง หรือบางท่านก็เป็นประธานกรรมการ เช่น นายวิจิตร สุพินิจเป็นประธาน กลต.(คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) หรือ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์เป็นประธานธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลังเป็นต้น

ผู้มีอำนาจที่ได้แต่งตั้งคนเหล่านี้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญที่บทบาทต่อการเงินของประเทศ ช่างไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์มาบ้างเลยหรืออย่างไร แต่ถ้าถามคนที่ยังใช้หนี้ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี2540 ไม่หมด หรือผู้ที่ต้องตกงานในยุคนั้น ซึ่งเชื่อแน่ว่ายังมีหลงเหลืออยู่รับรองว่าพวกเขาต้องจดจำ “ตัวการ”เหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ

ในส่วนของผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ตรง ไม่ต้องพูดถึงพยาบาลหรือนักธุรกิจที่มาเป็นรมช.คลัง แต่ตัว รมว.คลังคือ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่มีประสบการณ์หรือประวัติในการบริหารเศรษฐกิจประเทศมาก่อน และเมื่อได้กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วสมัยที่ยังเป็น รมช.คลังอยู่หยกๆ ว่า เมื่อผู้ว่า ธปท.มีความคิดทางเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกับรัฐบาลก็สมควรที่จะต้องลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากอ้างว่ารัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบตอบคำถามกับประชาชน

ความคิดนี้ดูเผินๆ เหมือนถูกแต่ผิด สาเหตุหลักก็คือแม้ว่ารัฐบาลจะมาจากผู้แทนที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา แต่ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะทำให้นโยบายการคลังมีความน่าเชื่อถือนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างกลไกที่จะไม่ให้รัฐมนตรีที่ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองมาทำอะไรได้ตามอำเภอใจแม้ว่าตัวรัฐมนตรีเองจะมีอำนาจเช่นที่ว่านี้ก็ตาม

รูปธรรมอันหนึ่งของการสร้างความน่าเชื่อถือนั้นก็คือ การให้อิสระกับธนาคารกลาง อิสระดังกล่าวอาจกินความตั้งแต่ อิสระในเชิงกฎหมายที่ให้กับหน่วยงาน หรืออิสระในการกำหนดนโยบาย(การเงิน) หรืออิสระในการเลือกเครื่องมือในการดำเนินนโยบายเป็นต้น ประโยชน์จากการให้อิสระจึงมิใช่สร้างความน่าเชื่อถือในนโยบายการคลังแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของประเทศโดยส่วนรวมด้วย เพราะนี่จะเป็นหลักประกันว่านักการเมืองหรือรัฐบาลจะไม่ทำอะไรตามอำเภอใจเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้องได้

การอ้างแต่เพียงว่าได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วจะเป็นความชอบธรรมขั้นสูงจนสามารถผูกขาดทำอะไรก็ได้ จึงเป็นการเมืองแบบเก่าที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง

ขณะนี้ท่านผู้อ่านเชื่อหรือยังว่าเรามี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่อ่อนประสบการณ์แต่กลับหลงตัวเองเอามากๆเป็นอย่างยิ่ง

รัฐบาลสมชายจะรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐได้หรือไม่ ?

นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะรัฐบาลชุดนี้ พอเกิดขึ้นมาก็ติดลบ ในความรู้สึกของประชาชนที่คาดหวังว่าจะได้คนที่เหมาะสมกับงานมาจัดการปัญหาบ้านเมืองที่กำลังประสบวิกฤตซ้อนวิกฤตอยู่ในขณะนี้

ผลกระทบระลอกที่สองที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงตามมาก็คือ การแก้ไขปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐที่รัฐบาลบุชเสนอขออนุมัติเงินสนับสนุนจากรัฐสภาจำนวน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นจะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาเสียเอง

ยอดหนี้สาธารณะภายหลังจากที่เข้ามาแก้ไขปัญหา Fannie Mae และ Freddie Mac คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 40 มาเป็นร้อยละ 80 ของ GDP สหรัฐ หากรวมเอาวงเงินใหม่นี้เข้าไปน่าจะทำให้สหรัฐมีหนี้สาธารณะแซงหน้าอิตาลีและญี่ปุ่นที่เคยเป็นแชมป์อยู่ได้โดยง่าย แต่ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ การนำเอาเงินส่วนรวมมาช่วยเหลือสถาบันการเงินภาคเอกชนจะทำให้นักลงทุนทั่วโลกไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยไม่ไว้วางใจฐานะการเงินการคลังของสหรัฐซึ่งก่อนหน้านี้ก็ย่ำแย่มากแล้ว
รัฐบาลสมชายจะทำอย่างไรกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อาจผันผวนมากขึ้น เงินเฟ้อจะมากขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมจะสูงขึ้นพร้อมๆกับสินเชื่อที่จะมีน้อยลงเพราะทางการสหรัฐคงจะต้องเพิ่มมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นซึ่งจะมีผลการต่อการกู้ยืม การใช้จ่าย และ GDP ของสหรัฐในที่สุด อย่าลืมว่าเขาเคยเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในการค้าระหว่างประเทศของไทย

ผู้เขียนไม่คิดว่ารัฐบาลสมชายจะมี “คนดี”และสามารถใช้ “คนดี” มาแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึงในครั้งนี้ได้

( เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด )







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้