ก้าวแรกของการเมืองใหม่อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด (17/92551)

ก้าวแรกของการเมืองใหม่อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด (17/92551)



ก้าวแรกของการเมืองใหม่อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด


 

ทัศนะวิจารณ์ จับกระแส
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
17 กันยายน พ.ศ. 2551

รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง, รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ขณะนี้ 6 พรรคร่วมรัฐบาลกำลังจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงพวกเขาได้หมดความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยไปตั้งแต่ 8 กรกฎาคม 2551 ทั้งนี้ ก็เพราะว่า

รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ให้ความเห็นชอบการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และมีผลสืบเนื่องต่อมาในวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นได้กระทำการแทนรัฐบาลลงนามในคำแถลงการณ์ร่วม ให้ความเห็นชอบการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของรัฐบาลกัมพูชา ทำให้มีการจำกัดสิทธิบางประการของประเทศไทยในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว จนเป็นเหตุให้เกิดการประท้วงโต้แย้งคัดค้านการดำเนินการของรัฐบาลอย่างกว้างขวาง

ในเวลาต่อมา วุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งได้เข้าชื่อเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 วรรคสอง ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่

นอกเหนือจากนี้ พรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ได้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายทรงศักดิ์ ทองศรี และนายนพดล ปัทมะ รวม 8 ท่าน ในวันที่ 24 มิถุนายน 2551

ผลการลงมติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างก็ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรคอย่างท่วมท้น 280 ต่อ 161 เสียง เป็นส่วนใหญ่

ผลลัพธ์เช่นนี้ เป็นไปตามการเมืองแบบเก่า ที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องอาศัยเสียงข้างมากเข้ามาโอบอุ้มโดยไม่ไยดีว่าสมควรจะพิจารณาไว้วางใจหรือไม่ แต่ผลการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 8 กรกฎาคม 2551 ที่อาศัยเสียงเพียง 9 เสียงของคณะตุลาการก็วินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ ว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551ดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 และด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 เห็นว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 วรรคสอง ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

รัฐบาลนายสมัครได้ทำผิดกฎหมายสูงสุด แต่กลับนิ่งเฉย เป็นไปตามการเมืองแบบเก่า ที่อาศัยเสียงข้างมากเข้ามาตัดสินว่าอะไรถูกหรือไม่

ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

มีผู้กล่าวมากมายหลายคนว่า ต้องการ "การเมืองใหม่" แต่ยังไม่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ว่า "การเมืองใหม่" ที่ว่านั้นคืออะไร การเมืองใหม่ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด ในขณะนี้ ก็คือ รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด ที่จะดำรงตำแหน่งอยู่เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลได้ทำผิดกฎหมายสูงสุดมาตั้งแต่ 8 กรกฎาคม 2551 เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ขาดไปแล้ว แต่รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลกลับไม่แยแสแต่อย่างใด

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง 3 ท่านนี้ คนใดคนหนึ่งกำลังจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อพิจารณาดูจากตำแหน่งหน้าที่การงานแล้ว เป็นที่สงสัยว่า ท่านทั้ง 3 จะมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเมืองใหม่มากน้อยเพียงใด และถ้ามีท่านจะกล้ารับตำแหน่งอีกหรือไม่ ในเมื่อพวกท่านยังไม่ได้แก้ไขในสิ่งที่ได้กระทำผิดไปเลย

ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรคโปรดไตร่ตรองดูให้ดี ระหว่างเสียงข้างมากกับกฎหมายที่พวกท่านต้องเป็นแบบอย่างให้ยึดถือ การที่พวกท่านได้ไปยกมือรับรองสิ่งที่กฎหมายชี้ว่าผิดไปแล้ว จะทำให้เป็นถูกอีกมันจะเป็นไปได้อย่างไร พวกท่านจะไม่มีความรับผิดชอบอะไรเลยหรือ

หาก ท่าน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลมีความประสงค์จะได้ การเมืองใหม่ เช่นเดียวกันกับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ จึงเป็นการแสดงออกซึ่งการเมืองใหม่อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด มิใช่การใช้เสียงข้างมากมาเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่มีมลทินอันเนื่องมาจากได้กระทำผิดกฎหมายสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ 8 กรกฎาคม 2551

โทมัส มอร์ ได้กล่าวไว้เมื่อกว่า 500 ปีที่แล้ว ว่า "รัฐบาลนั้น เป็นองค์กรที่สำคัญมากเกินกว่าที่จะปล่อยให้อยู่ในเงื้อมมือของพวกวายร้ายได้" เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนคนธรรมดาอย่างพวกเรา ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมและสร้างหลักประกัน ว่า ประเทศของเราจะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง นี่แหละคือ ก้าวแรกของการเมืองใหม่อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด นั่นคือ จงอย่าให้รัฐบาลอยู่ในเงื้อมมือของพวกวายร้ายเป็นอันขาด





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้