แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (10) (29/5/2555)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (10) (29/5/2555)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (10)


(29/5/2555)





*อันตรายของการไม่ใส่ใจกับการแก่ก่อนวัย*



การมีความเข้าใจว่า จิตสำนึกเป็นเหมือนสนามควอนตัม นั้น จะนำเราไปสู่การทำความเข้าใจ ความแก่ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะนี่ย่อมหมายความว่า การเพิกเฉยไม่ใส่ใจต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานของร่างกาย โดยเฉพาะความจำเป็นของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะนำไปสู่การทำลายสุขภาพของผู้นั้น และจะนำไปสู่ “การแก่ก่อนวัย” อย่างรวดเร็ว เพราะ การเพิกเฉยหรือการไม่ใส่ใจคือสัญลักษณ์ของการขาดจิตสำนึก ที่เห็นได้ชัด นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม ทั้งเรื่องของสุขภาพ หรือเรื่องของบ้านเมือง



การไม่ใส่ใจ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเสื่อมของร่างกายก่อนวัยอันควรเท่านั้น แต่ยังอาจนำไปสู่ภาวะหดหู่ ซึ่งเป็นความผิดปกติของอารมณ์ได้ด้วย ซึ่งการออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยป้องกันภาวะหดหู่นี้ได้ กล่าวในอีกมุมมองหนึ่งก็คือ ความแก่เป็นเรื่องของการที่ผู้นั้น เมื่อมีอายุมากขึ้นแล้ว ผู้นั้นได้สูญเสียการควบคุมกระบวนการแก่ของตน ด้วยการขาดการติดต่อกับจิตสำนึกของตัวเอง จึงทำให้เกิดความไม่ใส่ใจกับการสร้าง “ชีวิตใหม่” ให้แก่ตัวเองโดยเฉพาะชีวิตหลังเกษียณ



วิธีการใช้ชีวิตที่ทำให้คนเราแก่เร็วนั้น ส่วนใหญ่มักมีจุดเริ่มต้นมาจากการขาดจิตสำนึกของผู้นั้นเอง ที่ไม่เอาใจใส่หรือมีความเคยชินในพฤติกรรมหลายๆ อย่างที่จะส่งผลให้ผู้นั้น “แก่เร็ว” ยกตัวอย่างเช่น ไม่สนใจกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่ค่อยดื่มน้ำซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้สรีระของร่างกายเข้าสู่สภาวะที่เป็นพิษ (โดยปกติคนแก่มักไม่ค่อยดื่มน้ำอย่างเพียงพอ) ยังสูบบุหรี่ ยังดื่มสุราเฉื่อยชา และไม่ชอบออกกำลังกาย เป็นต้น



ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ความแก่เป็นวงจรอุบาทว์ หากผู้นั้นปล่อยตัวให้แก่ตัวอย่าง ไม่เอาใจใส่ ผู้นั้นก็จะสร้างเงื่อนไขตามความเชื่อเก่าของตนเองให้แก่เร็วยิ่งขึ้น โดยที่พฤติกรรมเก่า และความเคยชินเก่าๆ ของผู้นั้น จะเป็นตัวควบคุมกระบวนการแก่ของผู้นั้น มิใช่จิตสำนึกของผู้นั้น เพราะฉะนั้น คนเราจึงควรตระหนักก่อนที่จะเริ่มแก่ว่า คุณภาพชีวิตของคนเรานั้น ขึ้นอยู่กับความใส่ใจของตัวเราเอง สิ่งใดก็ตามที่เราให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายมากขึ้นในชีวิตของเรา หากเราใส่ใจกับการชะลอวัย เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะปลุกพลังแห่งจิตสำนึกของเราขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ดังต่อไปนี้ (จากดีปัก โชปรา) “ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา” (สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2551)



(1) การฝึกความใส่ใจในร่างกาย


...นั่งหรือนอนหลับตาในท่าที่สบาย เพ่งความสนใจของเราไปที่นิ้วเท้าข้างขวา งุ้มนิ้วเท้าจนกระทั่งรู้สึกตึงๆ จากนั้นจึงคลายแล้วรับรู้ถึงความรู้สึกผ่อนคลายที่ไหลเข้าสู่นิ้วเท้า ทำช้าๆ ไม่ต้องรีบร้อน ทั้งการเหยียด และการคลาย ให้เวลากับความรู้สึกที่เกิดขึ้น จากนั้นจงหายใจออกให้ยาวและลึกราวกับว่า เรากำลังหายใจออกจากนิ้วเท้าของเรา ปล่อยให้ความเหนื่อยล้า และความเครียดทั้งหมดที่สะสมอยู่ไหลออกไปพร้อมกับลมหายใจนั้น เมื่อทำได้แล้ว ให้หันความสนใจไปยังแต่ละส่วนของร่างกายตามลำดับ จากเท้าขวาไปสู่เท้าซ้าย ไปสู่สะโพกและต้นขาขวา ไปสู่สะโพกและต้นขาซ้าย ไปสู่กล้ามเนื้อหน้าท้อง (กระบังลม) ไปสู่หลังส่วนล่าง ไปสู่หลังส่วนบน ไปสู่มือขวา ไปสู่มือซ้าย ไปสู่ไหล่ ไปสู่คอ ไปสู่ใบหน้า (ถ้าไม่มีเวลาให้ทำ เฉพาะนิ้วเท้า กระบังลม นิ้วมือ ไหล่ คอ และใบหน้า) นี่คือ การฝึกความใส่ใจไปที่ร่างกายแต่ละส่วนของเรา และทำให้ผ่อนคลายในส่วนนั้นๆ



(2) การฝึกเพ่งความตั้งใจ


...โดยการรวมศูนย์ความตั้งใจอย่างถูกต้อง ด้วยการทำตามสบายและไม่เกร็ง จิตสำนึก ย่อมสามารถปฏิบัติตามคำสั่งเฉพาะได้ ความตั้งใจไม่จำเป็นต้องเป็นความคิดที่อธิบายเป็นคำพูดได้ แต่ควรเป็นความตั้งใจที่โยงเข้ากับส่วนที่ลึกที่สุดของเราที่ศูนย์กลางของร่างกาย ซึ่งเป็นความต้องการที่แท้จริงอย่างเช่น ความรัก ความเข้าใจ และกำลังใจ การฝึกเพ่งความตั้งใจที่ถูกต้อง คือ ความตั้งใจที่จะค้นพบความพึงพอใจด้วยตัวเองอย่างอัตโนมัติ เมื่ออยู่ตามลำพัง โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก หรือเงื่อนไขภายนอกใดๆ เลย นั่นคือ การทำให้ทุกเซลล์ในร่างกายเราค้นพบความพึงพอใจจากความสุข ความงาม ความรัก และความสำนึกในคุณค่าได้ โดยเพ่งความตั้งใจของเราไปที่ลมหายใจเข้าออกของเราเท่านั้น ดังนี้ (วิธีหายใจของหลวงปู่พุทธะอิสระ)



...ก่อนอื่นนั่งตัวตรง หลังตรง ยืดอกขึ้นสำรวจตรวจดูสันหลังของเราให้กระดูกข้อต่อตรงทุกข้อไม่ขบกัน จากหลับตาด้วยความนุ่มนวล และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้เนื้อ รู้ตัว จากนั้น จงสูดลมหายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ แผ่วเบา นิ่มนวลให้เต็มปอด เมื่อรู้สึกว่ามันเต็มแล้วก็ผ่อนลมออกมาอย่างแผ่วเบา ยาวๆ ช้าๆ คราใดที่เราผ่อนลมออก จงผ่อนคลายลมออกพร้อมกับขับไล่ความเครียด ความเบื่อ ความเซ็งออกมาพร้อมกับลม แล้วสูดลมเข้าไปใหม่เมื่อผ่อนลมออกหมดแล้ว โดยสูดเอาพลังชีวิตที่ปลุกกระตุ้นเซลล์ประสาท และวิญญาณของเราให้สดชื่น แจ่มใส เข้าไปอย่างเนิบนาบช้าๆ เต็มเปี่ยมไปด้วยความหนักแน่น แล้วผ่อนคลายลมออกมาอีก ทำอย่างนี้โดยไม่ให้มีอะไรเข้ามาอยู่ในกาย ไม่ว่าความคิด หรืออารมณ์ใดๆ มีแต่ลมหายใจกับการขับไล่ของเสียในกายเท่านั้น



เวลาหายใจเข้า จงสูดอย่างแผ่วเบา ยาว เชื่องช้า แต่หนักหน่วงเต็มเปี่ยม ตอนหายใจออก จงผ่อนคลายลมออกมาด้วยความเนิบนาบ นิ่มนวล หมดจด อย่าลืมว่า หากฝึกเพ่งความตั้งใจของเราไปที่ลมหายใจเข้าออก จะต้องไม่มีอารมณ์อันใดนอกจากลมหายใจเท่านั้น...



ความตั้งใจเป็นชนวนของการเปลี่ยนแปลง เราจะต้องตระหนักว่าไม่ว่าความตั้งใจใดๆ ล้วนเป็นชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น ทันทีที่เราตัดสินใจว่าต้องการอะไร ระบบประสาทจะตอบสนองเพื่อให้บรรลุจุดหมายที่เราต้องการ โดยที่จิตใจที่มีสำนึกไม่จำเป็นต้องชี้นำสัญญาณทางประสาทและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ทุกอย่างให้ไปสู่จุดหมาย แต่ความตั้งใจจะสอดแทรกอยู่ในสนามของจิตสำนึก ก่อให้เกิดการตอบสนองที่ถูกต้องได้เอง หากเราอยู่ในกระแสของจิตสำนึกอย่างเป็นธรรมชาติที่ผ่อนคลาย จะส่งผลโดยตรงต่อการแก่ที่ดี และทำให้แก่ช้าเพราะร่างกายของเราจะสึกหรอน้อยลงกว่าผู้ที่มักอยู่ในกระแสจิตที่เต็มไปด้วยความกังวล ความขัดแย้ง และความคาดหวังผิดๆ



จิตสำนึกของคนเรา และความตั้งใจของคนเรายังเกี่ยวพันกับสนามควอนตัมอันไม่มีที่สิ้นสุด นี่หมายความว่า เมื่อเรามีความปรารถนา เท่ากับเรากำลังส่งข่าวสารเข้าไปใน “สนาม” โดยรวม นั่นคือ ความตั้งใจของเราแม้เพียงน้อยนิด กำลังกลายเป็นระลอกคลื่นข้ามจักรวาลในระดับควอนตัม ซึ่งไม่เพียงทำให้ร่างกายเรามีการดำเนินการตามนั้นอย่างอัตโนมัติเท่านั้น หากส่งความตั้งใจออกไปนอกร่างกาย “สนาม” มีพลังในการจัดการ เพื่อนำความสำเร็จมาสู่ความตั้งใจนั้นได้อีกด้วย โดยที่ความปรารถนาของเราจะบรรลุผลง่ายขึ้นถ้าจิตสำนึกของเราเปิดออกและแจ่มชัด ดังต่อไปนี้



...จงนั่งสมาธิเงียบๆ โดยทำให้ร่างกายผ่อนคลายมากที่สุดจนตระหนักถึงความสงบภายใน เพ่งความตั้งใจไปยังผลที่จะได้รับตามที่เราต้องการอย่างเจาะจง โดยจะใช้จินตนาการถึงผลที่จะเกิดขึ้นหรือบรรยายออกมาเป็นคำพูดก็ได้ อย่าจมอยู่กับรายละเอียด ความตั้งใจของเราต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น หากเราตั้งใจที่จะ “ชะลอวัย” ก็จงเพ่งความตั้งใจไปที่การมีชีวิตอยู่ด้วยระดับสมรรถภาพร่างกายที่อ่อนวัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยตั้งใจที่จะมีพลังเพิ่มขึ้น มีความตื่นตัวมากขึ้น มีความกระตือรือร้นอย่างเยาว์วัยเพิ่มขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และมุ่งปรับปรุงความสามารถของร่างกายและจิตใจทุกระดับให้ “ย้อนวัย” อย่างต่อเนื่อง




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้