เมื่อความจริงไล่ล่าอภิสิทธิ์ ตอนที่ 2 (26/1/2554)

เมื่อความจริงไล่ล่าอภิสิทธิ์ ตอนที่ 2 (26/1/2554)



เมื่อความจริงไล่ล่าอภิสิทธิ์ ตอนที่ 2

(26/01/2554)




       มีหลายคนทึกทักเอาว่า อภิ
สิทธิ์ เป็นความจำเป็นของประเทศไทยในเวลานี้ ถ้าไม่เป็นอภิสิทธิ์จะเอาใครมาเป็นนายกฯ

       
       แต่จะมีสักกี่คนรู้ว่า สิ่งที่อภิสิทธิ์กำลังทำอยู่ก็ไม่แตกต่างไปจากทักษิณ สมชาย บรรหาร หรือแม้แต่ชวลิต คือไม่ซื่อตรงต่อผลประโยชน์ของประเทศ

       
       ความจริงกำลังไล่ล่าอภิสิทธิ์อย่างบ้าคลั่ง

       
       การชุมนุมในวันที่ 25 ม.ค. 54 แม้ว่าจะมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นแกนหลักในการชุมนุม แต่งานนี้ไม่จำกัดสีเพราะเป็นเรื่องของชาติบ้านเมือง คนไทยทุกท่านมีหน้าที่ใช้หนี้แผ่นดินเกิด ถ้าท่านไม่ทำแล้วจะหวังให้ใครมาทำแทนท่าน?

       
       ประเด็นปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาทั้งเรื่องปราสาทพระวิหารและการจับคนไทย 7 คนเมื่อเร็วๆนี้ ล้วนก่อกำเนิดมาจากบันทึกความเข้าใจฯ ปี พ.ศ. 2543 ระหว่างไทย-กัมพูชาที่ทำในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่จะทำไปโดยความรู้เท่าทันถึงผลกระทบของมันหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ต่อไป แต่รัฐบาลทักษิณและรัฐบาลหุ่นเชิดของเขาได้อาศัยบันทึกความเข้าใจฯปี พ.ศ. 2543 นี้ในการที่จะเอาดินแดนไทยไปแลกกับผลประโยชน์จากพลังงานในอ่าวไทยกับกัมพูชา

       
       การเปลี่ยนจุดยืนและยินยอมให้ฝ่ายกัมพูชานำเอาปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยเปลี่ยนจุดยืนของฝ่ายไทยที่มีมาตั้งแต่คำพิพากษาของศาลโลกที่สงวนสิทธิ์ที่จะเรียกคืนปราสาทในภายหลัง เป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย เพราะข้อชี้ขาดของศาลโลกให้เพียงอธิปไตยเหนือตัวปราสาทเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ฝ่ายกัมพูชาสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากตัวปราสาทได้โดยง่ายเนื่องจากต้องไต่หน้าผาที่สูงชันขึ้นมาก็เพราะสันปันน้ำเป็นเขตแดน

       
       กัมพูชาสบช่องที่จะหาหนทางครอบครองตัวปราสาทที่มีทางขึ้นที่สะดวกสบายมากกว่าเดิม นั่นคือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ที่อยู่ด้านตะวันตกของตัวปราสาทที่ฝ่ายกัมพูชาเข้ามายึดครองในปัจจุบัน โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ของตนจากหลักฐานแผนที่ฝรั่งเศสที่มีระวางอัตราส่วน 1:200,000 ซึ่งเป็นแผนที่ที่ฝ่ายไทยไม่เคยยอมรับเพราะฝรั่งเศสทำแต่ฝ่ายเดียว แต่บันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543 กลับนำมาเป็นหนึ่งในหลักฐานอ้างอิงในการพิสูจน์ทราบหลักเขตแดนตามวัตถุประสงค์ในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว โดยอ้างว่าหากไม่นำเข้ามากัมพูชาก็ไม่ยอมเจรจาด้วย

       
       เรื่องจึงกลายเป็นว่า เมื่อฝ่ายกัมพูชาเสนอให้นำเอาแผนที่ฝรั่งเศส 1:200,000 มาใช้ด้วย ฝ่ายไทยก็สนองด้วยข้อตกลงในบันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543 ดังนั้นจากแผนที่ที่ไทยไม่เคยยอมรับก็กลายเป็นยอมรับไปโดยไม่รู้ตัว

       
       เมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้านอภิสิทธิ์ก็ได้อภิปรายเรื่องนี้ในสภาอย่างดุเดือด แต่เมื่อได้เป็นฝ่ายบริหารแทนที่จะทบทวนหรือยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543 ดังกล่าวกลับยึดถือเป็นคัมภีร์บอกว่า “มัน” มีประโยชน์ หากไม่คงไว้ไทยจะต้องรบกับกัมพูชา การถอนตัวจากสมาชิกองค์การมรดกโลกจะทำให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวสำเร็จเพราะไม่มีใครไปค้าน และชุมชนชาวกัมพูชาที่มาตั้งอยู่ในเขตไทยหรือเขตที่ยังไม่ชัดเจนก็ไม่สามารถอ้างเอาดินแดนไปได้เพราะยังพิสูจน์ทราบเรื่องหลักเขตแดนไม่แล้วเสร็จ

       
       อภิสิทธิ์เป็นหัวหน้ารัฐบาลย่อมมีสิทธิ์ที่จะเลือกวิธีการดำเนินการ เห็นต่างกับผู้อื่นได้แต่ต้องเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ฝ่ายคัดค้านที่ออกมาชุมนุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธมิตรฯ จะดีใจเป็นอย่างยิ่งที่เป็นฝ่ายคิดผิดและอภิสิทธิ์เป็นฝ่ายคิดถูก หากสามารถคัดค้านไม่ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแต่ฝ่ายเดียวได้และไม่ยึดเอาดินแดนโดยรอบ 4.6 ตร.กม.ที่เป็นของไทยไปเป็นของตนเองโดยการให้ตัวแทนคณะกรรมการมรดกโลกเข้ามาจัดการบริหารพื้นที่ดังกล่าว

       
       แต่หากความจริงเป็นไปทางตรงกันข้าม แม้อภิสิทธิ์จะปูผ้าขาวแล้วทำการคว้านท้องร่วมกับรัฐมนตรีที่มีส่วนร่วมเพื่อหนีความอับอายหรือแสดงความรับผิดชอบ ดินแดนและอธิปไตยของไทยก็สูญเสียไปแล้ว ความรับผิดชอบนี้ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่อภิสิทธิ์และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะถือดีรับผิดชอบได้แต่เพียงลำพังโดยไม่รับฟังเสียงของเจ้านายของพวกเขา นั่นคือประชาชน

       
       บันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2543 ชัดเจนแล้วว่าเป็นสนธิสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา มิได้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารแต่เพียงลำพังเพราะ “มัน” มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือเขตอำนาจของรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ก็มีบทบัญญัติเอาไว้ในมาตรา 224 เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550ในมาตรา 190 แต่อภิสิทธิ์ก็มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องที่จะนำเข้าสภาเพื่อขอความเห็นชอบ กลับเลือกใช้วิธีลัดโดยการนำเอาบันทึกการประชุมของคณะกรรมการฯ ที่เป็นผลของบันทึกความเข้าฯ ใจ พ.ศ. 2543 มาเข้าสภาเพื่อรับรองแทนโดยคาดหมายว่าเมื่อรับรอง “ลูก” ว่าถูกต้องก็เสมือนรับรอง “แม่” เช่นเดียวกัน

       
       เมื่อถูกจับผิดและคัดค้านจาก ส.ว.ส่วนหนึ่งจนต้องถอนออกมา แทนที่จะทำให้ถูกต้องกลับพยายามให้ตีความอีกว่าเป็นสนธิสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาหรือไม่ แถมยังมีความพยายามแก้ไขอุปสรรคที่ต้นตอคือรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เสียเลย การกระทำแบบนี้เขาเรียกว่า “ซื่อสัตย์สุจริต” เอาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักหรือไม่ เล่นการเมืองมากไปใช่ไหม?

       
       อภิสิทธิ์ยังจำได้หรือไม่ว่าการลดระดับความสัมพันธ์โดยเรียกทูตไทยประจำพนมเปญกลับเมื่อปลายปี พ.ศ. 2552 ก็เพื่อเป็นการตอบโต้กัมพูชาในการไม่ยอมส่งตัวทักษิณในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนทั้งๆ ที่มีสัญญาระหว่างกันแถมยังแต่งตั้งผู้ร้ายเป็นที่ปรึกษา แล้วอภิสิทธิ์ได้ทำอะไรบ้างในกรณีการจับกุม 7 คนไทยในดินแดนไทยทั้งที่ยังมิได้มีการพิสูจน์ทราบแต่อย่างใด ซึ่งโดยเปรียบเทียบแล้วมีความรุนแรงกว่าปฏิเสธการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เพราะกัมพูชาได้ละเมิดอธิปไตยของไทยที่ท่านได้ถวายสัตย์ฯ ไว้แล้วว่าจะปกป้อง

       
       รัฐบาลไทยที่อภิสิทธิ์บริหารได้แถลงชี้แจงกับรัฐบาลกัมพูชาในขณะนั้นว่า “ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศต้องอยู่เหนือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล” แล้วกรณีการจับกุม 7 คนไทยในดินแดนไทยที่ฮุนเซนไม่รับสายโทรศัพท์จากเสนาบดีฝ่ายไทยที่โทร.ไปหลายครั้งก็ดี หรือบิ๊กทหารไทยก็แถลงว่าใช้ทุกช่องทาง (ส่วนตัว) ในการแก้ปัญหาแล้วก็ดี เหล่านี้เป็นความสัมพันธ์แบบใด ทำไมไม่ใช้ช่องทางปกติเรียกทูตกัมพูชามาชี้แจงรับการประท้วง อย่างนี้หรือที่เรียกว่าปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ คนไทยให้โอกาสท่านอาสามาบริหารประเทศ มิได้จ้างมาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นเพื่อนกับฮุนเซน


      


       อภิสิทธิ์และกษิตได้แถลงในเวลาต่อมาว่าจะยกเลิกบันทึกความเข้าใจเรื่องการปักปันเขตแดนทางทะเลที่มีพื้นที่ทับซ้อนกันดังรูปหรือที่รู้จักในชื่อบันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2544 ที่ทำในสมัยทักษิณ และโฆษก ครม.ก็แถลงเมื่อ 10 พ.ย. 52 ว่าครม.อนุมัติให้ยกเลิกตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอโดยอ้างว่าทักษิณเป็นฝ่ายจัดทำและปัจจุบันไปเป็นที่ปรึกษาฮุนเซน อีกทั้งไม่มีความก้าวหน้าในการเจรจา

       
       บันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2544 มีความสำคัญตรงที่ว่าเป็นการแบ่งอาณาเขตระหว่างไทยกับกัมพูชาในทะเลที่เชื่อมั่นว่ามีน้ำมันในปริมาณที่มาก โดยเส้นสีแดงผ่านจุดที่เป็นวงกลมเป็นของฝ่ายไทย ขณะที่เส้นสีดำเป็นของฝ่ายกัมพูชา แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่ไม่ปรากฏมติครม.ในเรื่องดังกล่าวออกมาเผยแพร่เป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนเช่นเรื่องอื่นๆ เลยไม่รู้ว่ายกเลิกแล้วจริงหรือไม่

       
       นี่คือความจริงที่จะเป็นผลประโยชน์ที่อภิสิทธิ์และรัฐบาลของเขา “สวมตอ” ต่อจากทักษิณใช่หรือไม่? เป็นต้นเหตุของ “ความเกรงใจ” จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกลายเป็นเรื่องส่วนตัวไป ยอมทะเลาะและให้ร้ายกับคนไทยดีกว่าให้ฮุนเซนโกรธ เพราะการกำหนดเขตแดนในทะเลจะกระทำไม่ได้เลยหากจุดอ้างอิงบนบกคือหลักเขตที่ 73 ไม่ชัดเจนแน่นอน และการลากผ่าเกาะกูดของไทยโดยฝ่ายกัมพูชาที่ไม่ได้อาศัยหลักอะไรรองรับก็ไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำกัน

       
       หากไม่มีการยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ พ.ศ. 2544 ทั้งที่แถลงมากว่า 1 ปีแล้วก็แสดงว่ายังพยายาม “สวมตอ” ทักษิณอยู่ อภิสิทธิ์ก็ไม่แตกต่างอะไรกับทักษิณและคนของเขาที่ถูกประณามว่า “ขายชาติ” หรือหากเลิกแล้วแต่ไม่ยอมแถลงเป็นมติครม.โดยเปิดเผยก็ไม่เห็นจะเกิดสงครามกับทางกัมพูชาตามที่ขู่ไว้แต่อย่างใด บันทึกความเข้าใจฯ ไม่ว่าจะเป็นฉบับ พ.ศ. 2543 ต่างจาก 2544 ตรงที่ใด หากจะบอกว่าฉบับ 2544 ทักษิณเป็นคนจัดทำต้องยกเลิก แล้วฉบับ 2543 ใครเป็นคนจัดทำ แสดงว่าต้องดูคนทำด้วยหรือไม่จึงจะตัดสินใจได้ว่ามีประโยชน์หรือไม่?

       
       ความจริงกำลังไล่ล่าอภิสิทธิ์อย่างบ้าคลั่ง การชี้แจงทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจก็ไม่มีความชัดเจนว่าคนไทยทั้ง 7 คนถูกจับที่ใด การล่วงล้ำ “แนวปฏิบัติการ” ที่เป็นข้อมูลใหม่ที่ท่านอ้างก็มิใช่เขตแดนแล้วทำไมกัมพูชาถือสิทธิอะไรจึงไม่คืนตัวคนไทยกลับมา ทำไมรัฐบาลไทยจึงไม่ประท้วงหรือใช้มาตรการกดดันทางการทูตเหมือนที่เคยทำ ที่ฮาที่สุดก็คืออภิสิทธิ์จะไปประท้วงคำตัดสินเมื่อศาลกัมพูชาตัดสินไปแล้วเพื่ออะไร ทำไมไม่ทำเสียก่อน

       
       อภิสิทธิ์ ปัญหาของคุณอยู่ที่ประเทศไทย ในบ้านเมืองที่คุณอาสามารับผิดชอบ ไม่ใช่ที่ Davos กรุณากลับมาเผชิญความจริงกันดีกว่าเพราะพลเมืองเข้มแข็งมีคำถามที่ต้องการคำตอบ















Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้