คมดาบซากุระ 2 : "เจ๊ง" ทั้งแผ่นดิน - บทเรียนประชานิยมจากกรีซถึงไทย ตอนที่ 1 โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (16 พฤษภาคม 2555)

คมดาบซากุระ 2 : "เจ๊ง" ทั้งแผ่นดิน - บทเรียนประชานิยมจากกรีซถึงไทย ตอนที่ 1 โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (16 พฤษภาคม 2555)



"เจ๊ง" ทั้งแผ่นดิน : บทเรียนประชานิยมจากกรีซถึงไทย ตอนที่ 1

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

16 พฤษภาคม 2555





นโยบายประชานิยมทำให้ราคาค่าจ้างไม่เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจคือจุดวิกฤต



ข้อสงสัยว่าไทยจะเป็นเหมือนประเทศที่ใช้นโยบายประชานิยมแล้วย่อยยับในภายหลังเหมือนที่อาร์เจนตินาในอดีตเคยประสบพบมาหรือตัวอย่างของกรีซในปัจจุบันดูจะเป็นจริงมากขึ้นเป็นลำดับ อันเนื่องจากมีพื้นฐานด้านนโยบายประชานิยมเช่นเดียวกัน



บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจของกรีซที่ปะทุขึ้นอีกครั้งและในคราวนี้ได้ส่งผลไปในอีกหลายๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส หรือสเปน ก็คือ การเสพติดนโยบายประชานิยม ดังจะเห็นได้จากพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลของประเทศที่ประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเหล่านี้ต่างต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งด้วยต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดไม่สามารถดำเนินนโยบายประชานิยมต่อไปได้อีกอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจตนเองบอบช้ำจากการดำเนินนโยบายประชานิยม



นโยบายประชานิยมจึงเป็นดั่ง “ยาเสพติด” ที่เมื่อใครได้ลองเสพแล้วเลิกยาก สบายในขณะที่ “เสพ” แต่จะลำบากในอนาคต ดังนั้นใครก็ตามที่พยายามเลิกนโยบายประชานิยมก็จะไม่ได้รับความนิยม ในขณะที่พรรคการเมืองก็จะอาศัยประเด็นการไม่เลิกโครงการประชานิยมมาเป็นจุดขายในการหาเสียงมอมเมาประชาชนต่อไป



ยาเสพติดกับนโยบายประชานิยมจึงคล้ายคลึงกัน ทำให้ประชาชนผู้เสพนโยบายไม่สนใจโลกของความเป็นจริง “หลอก” ตนเองและคนอื่นได้ด้วยฤทธิ์ของนโยบาย หากใครจะมาเลิกก็จะต่อต้านโดยไม่รับฟังเหตุผลข้อเท็จจริง ร่ำร้องเรียกหาแต่ผู้ที่จะเสนอนโยบายประชานิยม แม้พ่อแม่หรือผู้หวังดีก็ทำร้ายได้เพราะอยาก “เสพ” เช่นเดียวกับยาเสพติด



ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาของกรีซหรือฝรั่งเศสเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ดีที่สนับสนุนให้เห็นว่าพรรคการเมืองที่เสนอแนวนโยบายให้คงไว้ซึ่งนโยบายประชานิยมหรืออีกนัยหนึ่งคือต่อต้านการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่ประสบอยู่ด้วยการรัดเข็มขัดการใช้จ่ายในภาครัฐของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกลุ่มอียู (EU) ที่เรียกว่า ทรอยก้า กลับได้ ส.ส.เข้ามาเป็นอันดับสอง ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลรวมไปถึงท่าทีต่อไปของกรีซที่จะรักษาสัญญาที่ได้ทำไว้กับทรอยก้ามีปัญหา



กล่าวอีกครั้งในข้อเท็จจริงอย่างง่ายๆ ว่า วิกฤตของกรีซในขณะนี้เกิดจากพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลของกรีซใช้จ่ายเงินเพื่อหวังให้มีการเจริญเติบโตด้วยนโยบายประชานิยม ผลก็คือการเจริญเติบโตมันเกิดน้อยแต่หนี้สินในภาครัฐจากการใช้จ่ายมันเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะหนึ่งในคุณลักษณะของนโยบายประชานิยมที่สำคัญคือไม่อาศัยการเก็บภาษีเพื่อเป็นที่มาของการใช้จ่าย (ดู จากกรีซถึงไทย ปลายทางที่นรก? ผู้จัดการายวัน 28 ก.พ.55)



ประเทศไทยจะแตกต่างตรงที่ใด? เพราะใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาโดยตลอดโดยไม่มีการเพิ่มการเก็บภาษีแต่อย่างใดทั้งชนิดและอัตราภาษีเพื่อมาเป็นแหล่งรายได้ จะมีประเทศใดบ้างที่สามารถขาดดุลงบประมาณคือมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ไปได้ตลอดเวลา?



เมื่อความจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่า เงินที่นำไปใช้ไม่สามารถก่อให้เกิดรายได้พอเพียงกับรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หลายประเทศที่มีระดับหนี้สาธารณะสูงกว่าแต่ไม่เกิดวิกฤตเช่นกรีซก็เพราะเจ้าหนี้ประเมินแล้วว่ามีความสามารถหารายได้ในอนาคตมาชำระหนี้ได้ ระดับหนี้สาธารณะแต่เพียงลำพังจึงไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ดีตามที่หลายฝ่ายพยายามอ้างถึงตัวเลขนี้แต่อย่างใด



แต่ในกรณีของกรีซนอกจากความสามารถในการชำระหนี้มีน้อยเพราะความสามารถในการแข่งขันต่ำ เช่น ส่งออกได้เพียงร้อยละ 14 ของ GDP แถมยังมีโรคแทรกซ้อนคือการ “โกหก” จำนวนหนี้ให้ต่ำกว่าความเป็นจริงปรากฏออกมา ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงตะลึงเมื่อพบว่าหนี้สาธารณะที่รายงานร้อยละ 6 ของ GDPนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 2 เท่า (ร้อยละ 12) ไม่ต่างจากที่ “โกร่ง” หรือใครอีกหลายคนพยายาม “หลอก” ประชาชนคิดไปเองว่าการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยชำระหนี้แทนจะทำให้หนี้สาธารณะลดแต่อย่างใด



ประเด็นสำคัญประการหนึ่งของการปรับโครงสร้างหนี้ก็คือ เจ้าหนี้ของกรีซนั้นส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ เหตุก็เพราะรัฐบาลกรีซอาศัยการเข้ารวมกลุ่มทางการเงินใช้เงินสกุลยูโร ใช้เครดิตของชาติที่มีเศรษฐกิจแข็งแรงที่ใช้เงินสกุลเดียวกันกับของตนในการกู้ยืมเงิน มันอาจง่ายและถูกในตอนแรกแต่ก็เป็นอุปสรรคที่แสนสาหัสในภายหลัง เหตุเพราะนักการเมืองไม่ว่าชาติใดส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าเศรษฐกิจมหภาคสำคัญต่อการบริหารบ้านเมืองอย่างไร



เมื่อใช้เงินสกุลร่วมเช่นยูโร นโยบายการเงินการคลังก็ไม่สามารถกำหนดได้เองอย่างอิสระ ตามอำเภอใจ จะบอกว่า EU หรือ IMF ไม่ใช่ “พ่อ” ก็บอกไม่ได้เพราะเป็นผู้ให้เงินยืมและค้ำประกันหนี้ให้จึงเป็นยิ่งกว่า “พ่อ” เสียอีก



ประเทศไทยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 อันเนื่องมาจากการขาดดุลการค้าและดุลการชำระเงินสำเร็จได้ด้วยการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากแบบคงที่เป็นลอยตัว ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้นจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ลดการนำเข้าลง



แต่วิกฤตเศรษฐกิจของกรีซ ณ ปัจจุบัน ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เพราะไปใช้สกุลเงินร่วมกับชาวบ้านที่กำหนดค่าระหว่างสมาชิกไว้คงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ กลไกการแก้ไขจึงต้องทำที่การลดราคา (โดยรวม) ด้วยการลดค่าจ้างที่เพิ่มสูงเกินกว่าขีดความสามารถของแรงงานที่มีอยู่จากนโยบายประชานิยมที่ฝ่ายการเมืองได้กระทำแทรกแซงกลไกตลาดมาโดยตลอดและ/หรือลดคน



พูดง่ายๆ ก็คือแรงงานกรีซได้ค่าจ้างเพิ่มเกินกว่าประสิทธิภาพของแรงงานเช่นเดียวกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยในปัจจุบันทั้งๆ ที่แรงงานยังคงทำงานได้ผลผลิตเท่าเดิมอยู่แต่ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นจาก 200 บาทต้นๆเป็น 300 บาทต่อวัน หรือปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน หรือนโยบายสองสูง(สินค้าเกษตรราคาสูงและราคาค่าจ้างสูง) นโยบายเหล่านี้ดูดีในแง่ประชานิยมแต่เป็นการทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทำให้สินค้าบริการไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้เพราะไม่มีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานทำควบคู่ไปด้วยกัน



แม้ว่าค่าจ้างอาจเป็นเพียงบางส่วนของต้นทุนทั้งหมด แต่เงินเฟ้อในขณะนี้นอกจากการเพิ่มปริมาณเงินด้วยการ “เพิ่มเงินในกระเป๋า” แล้วก็มีที่มาอีกส่วนจากการชี้นำราคาจากการขึ้นค่าจ้างอันเป็นผลจากนโยบายประชานิยมอย่างปฏิเสธไม่ได้ นาง “แพง” ที่อดีตเคยชื่อนาง “ปู” อย่า “หลอก” ตนเองและผู้อื่นหรือตะแบงกันต่อไปอีกเลยว่าเงินไม่เฟ้อของไม่แพง



องค์ความรู้ในเรื่องอุปทานรวมและค่าจ้างทางเศรษฐศาสตร์มหภาคนั้นเป็นที่รับรู้โดยชัดแจ้งตั้งแต่สมัยเคนส์ (John M. Keynes) แล้วว่า ค่าจ้างนั้นเพิ่มง่ายแต่ลดยาก ดังนั้น ปัญหาที่แสนสาหัสในขณะนี้ของกรีซก็คือ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศตนเองผลิตสินค้าบริการให้ไม่แพงกว่าประเทศอื่นๆ เอาเฉพาะกับประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรก็พอไม่ว่าจะโดย (ก) การเพิ่มผลผลิต หรือ (ข) ลดต้นทุนโดยการลดค่าจ้างและ/หรือลดคน



แต่จะทำอย่างไรในเมื่อราคาค่าจ้าง (ข) นั้นไม่ได้เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจเสียแล้ว หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประชานิยมที่ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงบิดเบือนเช่นเดียวกับราคาสินค้าอื่นๆ อีกหลายรายการ แถมรัฐจะเข้ามาบรรเทาเยียวยาผ่อนหนักเป็นเบาก็ทำไม่ได้เพราะต้องรัดเข็มขัดจากการใช้จ่ายเงินเกินตัวจะเอาเงินที่ไหนมาช่วยเหลือ ส่วน (ก) นั้นเป็นเรื่องในระยะยาว



ความวุ่นวายทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมาถึงสังคมโดยรวมของกรีซจึงมีที่มาจากการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อหวังผลระยะสั้นจากการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว หาได้สนใจว่าจะเป็นการมอมเมา “หลอก” ให้ประชาชน “เสพ” ติดนโยบายจนละเลิกไม่ได้แต่อย่างใดไม่



ปลายทางไทยจะ “เจ๊ง” ทั้งแผ่นดินเช่นเดียวกับกรีซหรือไม่? ถ้ายังเดินไปในทิศทางเดียวกันโปรดติดตาม




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้