เมื่อพันธมิตรฯ จะ Vote “No” (30/3/54)

เมื่อพันธมิตรฯ จะ Vote “No” (30/3/54)



เมื่อพันธมิตรฯ จะ Vote “No”




ล่อแหลมอีกครั้งแล้วครับท่านทั้งหลาย! ความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับการเมืองใหม่และพรรคการเมืองใหม่ดูจะมาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจ เมื่อมีแนวคิดเสนอไม่ลงคะแนนเสียงให้พรรคใดเลยหรือ Vote “No”
       


       ข้อเสนอของการที่จะไม่ลงคะแนนเสียงให้พรรคใดเลยหรือ Vote “No” ของพันธมิตรฯ บางคนบนเวทีมัฆวานฯ เมื่อเร็วๆ นี้นั้นน่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมมติฐาน 2 ประการก็คือ
       


       1. การเมืองโดยระบบรัฐสภาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันล้มเหลวไม่สามารถที่จะเป็นกลไกในการตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างถูกต้องตามที่ควรจะเป็นในระบบประชาธิปไตย ดังนั้นการนำปัญหาของชาติเข้าไปสู่รัฐสภาเพื่อให้มีการตัดสินใจเพื่อแก้ไขจึงทำไม่ได้ และเมื่อกลไกนี้ทำงานไม่ได้จะมีไว้ทำไม และ
       


       2. นักการเมืองในระบบการเมืองในปัจจุบันมิได้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยที่แท้จริง เพราะส่วนใหญ่อาศัยการเลือกตั้งเป็นข้ออ้างความชอบธรรมในการเข้าสู่ตำแหน่ง ส.ส./ส.ว.โดยมิได้สนใจว่าจะได้ตำแหน่งมาโดยการซื้อสิทธิขายเสียงหรือไม่ ดังนั้นจึงมิได้มีแนวคิดที่จะรักษาผลประโยชน์ของปวงชนที่เลือกตนมาแต่อย่างใด เพราะตำแหน่งที่ได้มานั้นมิได้รับบุญคุณหรือความไว้วางใจจากประชาชนแต่อย่างใด หากแต่เป็นความสัมพันธ์เชิงธุรกิจต่างตอบแทนเงินที่ลงทุนซื้อเสียงมาเท่านั้น เมื่อคนลงคะแนนขายเสียงได้เงินไปแล้วจะมาทวงบุญคุณหรือความรับผิดชอบอันใดอีก การตัดสินใจเมื่อได้รับการเลือกตั้งจึงไม่ต้องคำนึงถึงประโยชน์อื่นใดยกเว้นแต่เพียงผลประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ
       


       แต่ประเด็นสำคัญก็คือ การปลุกเร้าให้พันธมิตรฯ เลือกที่จะไม่ลงคะแนนเสียงให้พรรคใดเลยหรือ Vote “No” นั้นสามารถแก้ไขข้อบกพร่องตามสมมติฐานทั้ง 2 ข้อข้างต้นได้หรือไม่
       


       สมมติฐานทั้ง 2 ข้อข้างต้นน่าจะมิใช่ “เหตุ” หากแต่เป็น “ผล” หรือ “อาการ” ของปัญหาเชิงโครงสร้างการเมืองไทยที่ปะทุขึ้นมาให้เห็นเป็นประจักษ์ ประดุจดั่งฝีแตกหนองไหล นั่นคือ ระบบพรรคการเมืองไทยในปัจจุบันเป็นระบบที่เอื้ออำนวยให้พรรคการเมืองเป็นองค์กรตามกฎหมายที่สามารถ “ผูกขาด” ทางการเมืองโดยอาศัยพรรคเป็นองค์กรบังหน้าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเจ้าของที่อยู่เบื้องหลังได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
       


       การที่กฎหมายกำหนดให้ การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต้องกระทำโดยพรรคการเมืองเป็นองค์กรรับผิดชอบส่งลงสมัคร ในขณะที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นทั้งผู้นำทางการเมืองและผู้นำฝ่ายบริหารถูกกำหนดให้ต้องมีที่มาจาก ส.ส.ทำให้พรรคการเมืองสามารถ “ผูกขาด” การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยอาศัยอำนาจรัฐต่างหากที่เป็น “เหตุ” ของ “ผล” การเมืองที่ล้มเหลว
       


       ความพยายามที่มุ่งจะเรียนลัดโดยสร้างจุดแข็งให้กับการเมืองไทยให้มีเสถียรภาพและความรับผิดชอบโดยอาศัยพรรคการเมืองจึงเป็นเพียงมายาคติ เป็นการฝืนธรรมชาติทางการเมือง และได้กลายเป็นจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน เนื่องจากมิใช่แต่เพียงมหาชนเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของพรรคการเมืองได้ หากแต่ปัจเจกชนก็สามารถเป็นได้เช่นเดียวกันและอาจจะง่ายกว่าด้วยซ้ำ
       


       หากพิจารณาจากจำนวนสมาชิกพรรคซึ่งเป็นเจ้าของพรรคกับจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้มาจะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองที่มีอยู่ส่วนใหญ่ไม่มีประชาชนไม่ว่าชนชั้นใดเป็นเจ้าของพรรคแต่อย่างใด เพราะจำนวนสมาชิกพรรคไม่สัมพันธ์กับจำนวนคะแนนเสียงที่ได้รับ หากประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้แสดงตนเป็นเจ้าของพรรคที่แท้จริงด้วยการลงคะแนนเลือกพรรคที่ตนเองเป็นเจ้าของแล้วก็เป็นเครื่องชี้ที่แสดงให้เห็นว่าพรรคมิได้เป็นของสมาชิกแต่อย่างใด นี่คือการ “ผูกขาด” ทางการเมืองที่เป็น “เหตุ” ของการเมืองที่ล้มเหลว
       


       ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ พรรคมหาชนที่มีจำนวนสมาชิก 1.19 ล้านคนซึ่งเป็นอันดับสองรองจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มีสมาชิก 2.87 ล้านคน แต่กลับไม่ได้ ส.ส.จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแม้แต่คนเดียว แสดงว่าจำนวนสมาชิกพรรคที่มีอยู่นั้นเป็นแต่เพียงชื่อเท่านั้นหาได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีอุดมการณ์ร่วมกันกับพรรคที่ตนเองเป็นสมาชิกแต่อย่างใดไม่ เงินที่มาจากนายทุนเจ้าของพรรคต่างหากที่ทำให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง ดังจะเห็นได้จาก พรรคเพื่อไทยที่มีสมาชิกเพียง 1.7 หมื่นคนแต่มี ส.ส.ถึง 189 คน
       


       พรรคการเมืองจึงเป็นเหมือนองค์กรทางธุรกิจที่อาศัย “ทุน” มาแทนที่เจตนารมณ์ทางการเมือง ความต้องการของเจ้าของพรรคเพียงหยิบมือเดียวจึงมาแทนที่ความต้องการของปวงชน ผลก็คือเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในระบบการเมืองปัจจุบันจึงถูกแทนที่ด้วยมติพรรคที่ ส.ส.ต้องเคารพและมักเป็นไปในทางตรงกันข้าม
       


       ดังนั้น ประชาชนทั่วไปจึงไม่สามารถจะเป็นเจ้าของพรรคการเมืองในระบบการเมืองเก่า ไม่ว่าจะเป็น เพื่อไทย ภูมิใจไทย หรือแม้แต่ประชาธิปัตย์ได้แม้แต่น้อยนิด แต่ประชาชนไม่ว่าชนชั้นใดจะเป็นพันธมิตรฯ หรือไม่ก็สามารถเป็นเจ้าของพรรคการเมืองใหม่ได้ นี่คือสิ่งสำคัญที่แตกต่าง ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของได้ไม่ใช่จำกัดเฉพาะพันธมิตรฯ หรือแกนนำรุ่นใดหรือคนสีเสื้อใด
       


       ข้อสนับสนุนของการไม่ลงคะแนนเสียงให้พรรคใดเลยหรือ Vote “No” ในการเลือกตั้งที่จะมีในอนาคตอันใกล้นี้น่าจะอยู่ที่การคาดหมายว่า หากมี Vote “No” จำนวนมากกว่าคะแนนของผู้ได้รับเลือกตั้งก็จะเป็นกรณีที่ดีที่สุด หรือ first best ซึ่งจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่พอใจทั้งระบบการเมืองและนักการเมืองที่เป็นอยู่ และจะเป็นแรงกดดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองจากนอกสภา แต่หากไม่มากพอ หรือ second/third best ก็ยังเป็นเงื่อนไขเพื่อการเรียกร้องต่อไป
       


       แต่อย่าลืมว่าเป็นการ “เสียของ” โยนคะแนนทิ้งน้ำไปอย่างน่าเสียดายไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใดเพราะสามารถสร้างแรงกดดันแต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการ “ผูกขาด” อันเป็นที่มาของความล้มเหลวทางการเมืองที่ตนเองต้องการได้แม้แต่น้อย การ Vote “No” ไม่ได้ทำให้มีตัวแทนหรือมี “มือ” ในสภาเพื่อทำงานแทน ทำไมไม่เปลี่ยน Vote “No” ให้เป็นพลังในสภาแทน?
       


       การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของการ “ผูกขาด” ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นอาจกระทำโดยใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญมาแก้ไขได้ ซึ่งจากประสบการณ์ในอดีตมักจะคาดหมายไปในเรื่องของการรัฐประหารซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ เพราะการเมืองที่มาด้วยอำนาจก็ย่อมถูกโค่นล้มไปด้วยอำนาจ อุดมคติและสัจจะตามอุดมคตินั้นต่างหากที่จะคงอยู่ได้
       


       สถานการณ์ของพันธมิตรฯ ในขณะนี้ถือได้ว่าเป็นต่อเหนือกว่ารัฐบาล อันเนื่องมาจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ขาดความชอบธรรมและไร้ซึ่งความสามารถในการแก้ไขปัญหาโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเขตแดนไทยกับกัมพูชา ความจำเป็นในการเอาอำนาจนอกรัฐธรรมนูญมาแก้ปัญหาได้มีความจำเป็นไม่ เพราะโดยยุทธศาสตร์แล้วนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้หมดสภาพพ่ายแพ้โดนหมัดน็อกทางการเมืองจากพันธมิตรฯ ไปแล้วเมื่อไม่สามารถให้สภาที่ตนเองมีเสียงข้างมากรับรองบันทึกรายงานการประชุม JBC ทั้ง 3 ฉบับได้ ทำไมพันธมิตรฯจึงเลือกใช้ยุทธวิธีโยนคะแนนทิ้งน้ำแบบนี้ 
       


       ในทางตรงกันข้าม การแก้ไขปัญหาการ “ผูกขาด” ด้วยอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ด้วยวิถีทางรัฐสภาที่มีอยู่จะมีความชอบธรรมและมีเหตุมีผลให้คนทุกชนชั้นทุกสีเสื้อมาเป็นแนวร่วมสนับสนุนได้มากกว่า
       


       “การเมืองใหม่” จึงเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาเพื่อลดการ “ผูกขาด” ทางการเมืองในระบบพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ให้ลดน้อยลง โดยการเสนอพรรคการเมืองใหม่ให้เป็นทางเลือกของประชาชนทุกชนชั้นทุกสีเพราะสามารถเข้าถึงและมีส่วนรวมในการเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง มิใช่เป็นสมาชิกแต่เพียงในนามให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด จำนวนสมาชิกพรรคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่นอกจากจะแสดงความเป็นเจ้าของแล้วยังเป็นฐานเสียงที่แบ่งแยกคะแนนจากพรรคอื่นๆ อย่างชัดเจน
       


       หากเชื่อว่ากระแสไม่ลงคะแนนเสียงให้พรรคใดเลยหรือ Vote “No” จะมีมากแล้วทำไมจึงไม่เทคะแนนดังกล่าวไปให้พรรคการเมืองใหม่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของเพื่อไปแก้ไขในสิ่งที่ต้องการตามระบบที่มีอยู่ เป็นการ “แก้ระบบด้วยอำนาจในระบบ” หรือหากจะกังวลว่าพรรคการเมืองใหม่อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคของคนเสื้อเหลืองและจะได้รับการสนับสนุนจากคนในสังคมน้อยกว่า Vote “No” แต่ก็ยังดีกว่าแนะนำให้พันธมิตรฯ โยนคะแนนทิ้งน้ำไป เพราะการเลือกคนเข้าสภาเพื่อแก้กฎหมายมีโอกาสแก้ไขสำเร็จมากกว่า Vote “No” ที่ไม่มีโอกาสเลยมิใช่หรือ
       


       นอกจากนี้แล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนดีเข้าสภามากขึ้น ลองพิจารณาดูหากมีคนดังเช่น ปานเทพ เทพมนตรี คำนูณ เป็นส.ส.เพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้ส.ส.การเมืองเก่าลดลง ท่านคิดว่าจะเป็นนิมิตใหม่ของการเมืองไทยหรือไม่ นักการเมืองเก่าเช่นอภิสิทธิ์จะสามารถตระบัดสัตย์พูดความจริงในสภาเพียงครึ่งเดียวเหมือนการประชุมรัฐสภาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้หรือไม่ สอดคล้องกับการให้คนดีเข้ามาปกครองประเทศหรือไม่ หรือว่าแม้แต่พรรคในไส้ของพันธมิตรฯ เช่น พรรคการเมืองใหม่ก็ไม่สามารถเป็นที่ไว้วางใจได้?
       


       ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์แล้ว สถานะของการไม่ลงคะแนนเสียงให้พรรคใดเลยหรือ Vote “No” จึงอ่อนด้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการลงคะแนนให้พรรคที่เป็นทางเลือกของการเมืองใหม่ ไม่ว่าจะมีกรณีประชาชนมาสนับสนุนมากหรือน้อยก็ตามแต่
       


       การไม่มีพรรคเป็นกลไกทางการเมืองเป็นของตนเองจะทำให้พันธมิตรฯ อ่อนแอมากกว่าเข้มแข็งในอนาคต หากเหมาเจ๋อตงไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ จีนจะสามารถสร้างชาติได้สำเร็จเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้หรือ ลำพังเพียงกลุ่มมวลชนก็มีข้อจำกัดไม่สามารถที่จะทำงานแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกลุ่มมวลชนเช่นที่พันธมิตรฯ เป็นอยู่ไม่สามารถที่จะระดมคนมาทุกครั้งและหาเหตุผลเพื่อความชอบธรรมให้สังคมมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของตนได้ทุกครั้งเป็นแน่ หนทางในการแก้ไขปัญหาจึงควรอยู่ที่สภามากกว่าท้องถนน
       


       พลเมืองเข้มแข็งควรเป็นผู้ที่ตื่นรู้และก้าวข้ามอคติส่วนตน อย่าให้เป็นเช่นพ่อยกแม่ยกที่
       


       ไม่ชอบพันธมิตรฯ เพราะไม่ชอบแกนนำบางคน
       


       ไม่ชอบพันธมิตรฯ เพราะออกมาขับไล่ทักษิณที่เขารัก
       


       ไม่ชอบพันธมิตรฯ เพราะออกมาขับไล่อภิสิทธิ์ที่เขารัก
       


       ไม่ชอบพันธมิตรฯ เพราะจับโกหกนักวิชาการที่ตนเองเคยยกย่อง หรือ
       


       ไม่ชอบพันธมิตรฯ เพราะนอกจากชอบปิดถนนทำให้รถติดแล้วยังทำให้รู้สึกว่าตนเองโง่แต่ไม่กล้าบอกกับใคร เพราะไม่รู้และไม่เข้าใจเรื่องที่พันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวแต่อย่างใด
       


       พันธมิตรฯ จึงควรหันมามองและยืนอยู่บนความจริงที่เป็นอยู่และบนหนทางแก้ไขปัญหาการ “ผูกขาด” ทางการเมืองที่เป็นไปได้ อย่าวู่วาม “หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว” เพื่อความสะใจเพราะไม่ชอบนักการเมืองเก่าแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่แยแสว่าพันธมิตรฯ ก็มีนักการเมืองใหม่ที่ควรได้รับการสนับสนุน 
       


       พระโพธิสัตว์แม้บรรลุแล้วก็ยังออกมาโปรดสัตว์ (นรก) อีกหลายสิบปี ยอมรับคำวิจารณ์จากผู้ไม่รู้ ไม่ปลีกตัวหลีกหนีออกจากสังคมไป พันธมิตรฯ จึงควร “เอาธรรมนำหน้า” ทำทางเลือกให้กับสังคมด้วยวิถีทางที่ถูกที่ควร







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้