“ทักษิณ” รีเทิร์น (20/4/2554)

“ทักษิณ” รีเทิร์น (20/4/2554)



"ทักษิณรีเทิรน์"





เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์เลือกที่จะสวมตอนโยบายประชานิยมของทักษิณ
 
       
“ทักษิณ” จึงรีเทิร์นกลับมาใหม่
       


       เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่จำกัดบทบาททางเศรษฐกิจของตนเอง ทำหน้าที่เกินความจำเป็นโดยการเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด ผลกระทบในการก่อให้เกิดความเสี่ยงกับความเสียหายกับประเทศจึงหลีกเลี่ยงได้ยาก
       


       การ “แทรกแซง” นั้นเป็นสภาวะที่ตรงกันข้ามกับ “เสรี” ไม่ว่าจะเป็น การตรึงราคาพลังงาน เช่น ตรึงราคาน้ำมันดีเซล การแยกอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มกับที่มิได้ใช้เพื่อหุงต้ม หรือการเข้าไปขอร้อง (แกมบังคับ) ให้ผู้ผลิตตรึงราคาสินค้า ล้วนแล้วแต่เป็นการฝืนภาวะความเป็นไปโดยธรรมชาติของกลไกที่ระบบเศรษฐกิจมีอยู่ นั่นคือกลไกตลาด
       


       มีเหตุอะไรที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงโกรธเกลียด “กลไกตลาด” ทั้งๆ ที่กลไกตลาด เป็นหัวใจ เป็นรากฐาน ของแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยมที่อภิสิทธิ์ร่ำเรียนมา
       


       มนุษย์มีคุณลักษณะพิเศษที่บรรดาสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ไม่มีก็คือ เมื่อมีสินค้าที่บริโภคหรือใช้ไม่หมดก็จะนำมาแลกเปลี่ยนหรือ exchange
       


       การแลกเปลี่ยนหรืออีกนัยหนึ่งคือการค้าทำให้สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น เมื่อไม่ค้าก็ต้องผลิตทุกอย่างขึ้นมาเอง การบริโภคจึงต้องเป็นไปตามปริมาณการผลิตที่แต่ละคน/ประเทศผลิตได้ในแต่ละชนิดของสินค้า และการผลิตจะขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน แรงงาน หรือทุนที่มีอยู่เป็นหลัก ดังนั้น เมื่อไม่มีการค้าสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์จึงเป็น zero sum game เพราะหากต้องผลิตสินค้าหนึ่งเพิ่มขึ้นก็ต้องลดการผลิตสินค้าอื่นๆ ลงไปไม่ดีขึ้น
       


       แต่หากมีการค้าเกิดขึ้น สถานะของการผลิตและบริโภคจะเปลี่ยนไป คน/ประเทศอาจเลือกผลิตสินค้าที่ตนเองมีความได้เปรียบเพราะมีความชำนาญในการผลิตมากกว่า เช่น คอมพิวเตอร์ เพราะด้วยเวลาหรือปัจจัยการผลิตที่เท่ากันสามารถได้ผลผลิตมากกว่าข้าว การหันเหมาผลิตคอมพิวเตอร์ด้วยปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ทั้งหมดโดยไม่ผลิตข้าวแต่นำเอาคอมพิวเตอร์ไปขายแลกข้าวจะทำให้คน/ประเทศมีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นเพราะคู่ค้าทั้งสองฝ่ายสามารถบริโภคทั้งข้าวและคอมพิวเตอร์ได้มากกว่าเดิมเมื่อไม่มีการค้า ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์เป็น positive sum game เมื่อมีการค้าเกิดขึ้น การบริโภคมิได้ถูกจำกัดด้วยการผลิตอีกต่อไป
       


       ผลประโยชน์ที่คนในประเทศทั้งสองจะได้รับจากการผลิตและการบริโภคข้างต้นจะไม่เกิดขึ้นหากมีการเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดหรือไม่ยินยอมให้มีการค้าโดยเสรี
       


       มีผู้กล่าวอยู่เสมอๆ ว่านักเศรษฐศาสตร์เป็นพวกนั่งอยู่บนหอคอยงาช้างที่ไม่รู้เลยหรือว่าการค้าเสรีนั้นไม่มีในโลก แม้แต่คนที่ร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์บางคนก็ไม่กล้าพอที่จะยืนยันความถูกผิดในแนวคิดดังกล่าว
       


       แต่ผู้ที่วิพากษ์ในประเด็นข้างต้นทั้งหลายจะฉุกคิดหรือไม่ว่าท่านเองก็ใช้ประโยชน์จากความชำนาญในการผลิตที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในชีวิตจริงของพวกท่าน ดังนั้นหากไม่มีการค้าเสรีท่านจะสามารถเลือกไปทำงานนอกบ้านที่ได้ผลผลิตมากกว่าทำงานบ้านและซื้อบริการ เช่น จ้างแรงงานต่างชาติมาทำงานบ้านแทน เป็นการแลกเปลี่ยนเอารายรับจากการไปทำงานนอกบ้านมาจ่ายซื้อแรงงานทำงานบ้านแทนที่คุ้มค่ามากกว่าได้อย่างไร
       


       มีความหลงผิดอีกประการหนึ่งก็คือ สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ดีขึ้นที่เรียกกันว่าสวัสดิการ หรือ welfare ที่ดีในสังคมนั้นมิได้หมายถึงการมีสินค้าบริการมาขายในราคาถูกดังเช่นที่ทักษิณหรืออภิสิทธิ์พยายามจะสร้างภาพให้เห็นว่าตนเองมีความสามารถ หากแต่หมายถึงสถานะที่คนในสังคมมีสิทธิที่จะเลือกได้อย่างเสรี หรือ free to choose ต่างหาก 
       


       จีนในอดีตที่มีแต่เสื้อผ้าแบบ “เหมา เจ๋อ ตุง” ให้เลือกได้แค่สีทั้งชายและหญิง ย่อมจะมีสวัสดิการสังคมต่ำกว่าจีนในปัจจุบันที่มีเสื้อผ้าให้เลือกนับแบบไม่ถ้วนมิใช่แค่สี หาใช่เพราะมีเสื้อผ้าราคาถูกแต่ไม่มีแบบให้เลือกไม่ โรงอาหารในตึกหรือหอพักอาจจะขายอาหารในราคาถูกแต่ไม่มีรายการอาหารให้เลือกมากนักย่อมจะมีสวัสดิการด้อยกว่าการมีร้านอาหารให้เลือกมากร้านพร้อมรายการอาหารที่หลากหลายแม้จะมีราคาแพงกว่าก็ตาม
       


       ภาษีหรือการกีดกันทางการค้าที่เป็นเครื่องมือของรัฐในการแทรกแซงกลไกตลาดต่างหากที่ทำให้การค้าเสรีไม่เกิด ดังนั้นหากไม่มีสิ่งกีดขวางทางการค้าดังกล่าว ผู้บริโภคไทยก็อยากซื้อคอมพิวเตอร์ รถยนต์ จากญี่ปุ่นที่มีคุณภาพดีราคาถูกกว่าที่ผลิตในประเทศไทย เช่นเดียวกับผู้บริโภคญี่ปุ่นที่อยากบริโภคข้าวหอมมะลิของไทยกิโลกรัมละ 40 บาทแทน 200 บาท กลไกตลาดจึงเปรียบเสมือนมือที่มองไม่เห็นหรือ invisible hand เข้ามาจัดการทั้งการผลิตและการบริโภคด้วยตัวของมันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       


       เหตุของการแทรกแซงจึงอยู่ที่ความต้องการในการปกป้องผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มมากกว่าผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ ข้ออ้างที่สุดเก๋ก็คือเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของชาติ ไม่ให้ตำแหน่งงานถูกต่างชาติแย่งเอาไปหากต้องไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศ หรือเพื่อคุ้มครองมิให้ผู้บริโภคถูกผู้ผลิตในประเทศเอาเปรียบ
       


       การเข้ามากำหนดราคาสินค้าใดสินค้าหนึ่งมิให้ขายเกินราคาควบคุม การปกป้องตำแหน่งงานหรือการจ้างงานโดยการกีดกันมิให้สินค้าต่างชาติเข้ามาขายได้โดยเสรีไม่ว่าจะด้วยการเก็บภาษี กำหนดโควตานำเข้า ล้วนแล้วแต่เป็น “มายาคติ” ที่รัฐบาลหรือผู้มีส่วนได้เสียส่วนใหญ่พยายามฉายภาพให้เห็นว่า เป็นการช่วยประชาชนในประเทศมิให้ถูกผู้ผลิตหรือพ่อค้าทั้งในและนอกประเทศเอาเปรียบ
       


       รัฐจะอาศัยหลักเกณฑ์ใดเลือกคุมต้นทุนหรือคุมราคาในสินค้าใดบ้างจากที่มีอยู่มากมายและราคาเท่าใดจึงจะไม่ “ค้ากำไรเกินควร” เพราะข้อมูลเรื่องต้นทุนของผู้ผลิตเป็นเรื่องที่คนนอกทราบได้ยาก ในระยะยาวหากผู้ผลิตไม่สามารถปรับราคาตามต้นทุนที่เป็นไปแล้วจะมีใครบ้างทนผลิตสินค้าโดยไม่มีกำไรให้ผู้บริโภค หากไม่มีกำไรเป็นเครื่องจูงใจ ความคิดหรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ที่สำคัญก็คือ การแทรกแซงต้องใช้เงินและรัฐบาลไม่มีเงิน และเงินที่มีอยู่ก็เป็นเงินของประชาชนส่วนรวมซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำไปใช้เพื่อประโยชน์คนบางกลุ่ม
       


       ตัวอย่างที่ดีก็คือการคุมราคาน้ำมันของรัฐบาลทักษิณและอภิสิทธิ์ ที่ต่างก็ใช้เงินของประชาชนเพื่อซื้อเสียงหวังผลประโยชน์ส่วนตนทางการเมืองว่าเป็นผู้ปกป้องสวัสดิการสังคม
       


       รัฐบาลทักษิณใช้เงินอุดหนุนหรือภาษีทางลบในการแทรกแซงมิให้ราคาน้ำมันในประเทศขึ้นตามราคาตลาดโลกในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ผลก็คือมีการใช้เงินไปกว่า 9 หมื่น 2 พันล้านบาทในช่วง 551 วันเพื่อชดเชยราคาน้ำมันกับผู้นำเข้าเพื่อให้ผู้บริโภคน้ำมันใช้น้ำมันราคาถูกซึ่งในที่สุดก็ไม่สามารถตรึงราคาน้ำมันราคาถูกได้และประชาชนก็ต้องเป็นผู้รับภาระ 9 หมื่น 2 พันล้านบาทอยู่ดี
       


       เช่นเดียวกัน ในช่วงก่อนการเลือกตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ใช้เงินกองทุนน้ำมันที่เก็บจากผู้ที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นหลักในการอุดหนุนตรึงราคาผู้ใช้น้ำมันดีเซลตั้งแต่ต้นปี2554 เป็นต้นมา โดยข้ออ้างป้องกันมิให้สินค้าขึ้นราคา ณ ปัจจุบัน (12 เม.ษ. 54) ผู้ใช้เบนซิน 95 ถูกเก็บเงินเข้ากองทุน 7.5 บาท/ลิตร ในขณะที่กองทุนชดเชยให้ผู้ใช้ดีเซล 6.4 บาท/ลิตร
       


       ผลที่ปรากฏก็คือเงินกองทุนน้ำมันซึ่งเป็นเงินของประชาชนก็หมดไปอย่างไร้สาระเกือบ 3 หมื่นล้านบาทในช่วงระยะเวลา 3 เดือนเศษ เงินที่นำมาชดเชยจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินก็ไม่สามารถชดเชยผู้ใช้น้ำมันดีเซลได้เพราะคนใช้เบนซินประหยัดขึ้นในขณะที่คนใช้ดีเซลกลับใช้มากขึ้นอันเนื่องมาจากส่วนต่างของราคาน้ำมัน 2 ชนิดแตกต่างกันมากถึง 18 บาท/ลิตร
       


       การขอลดภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากน้ำมันดีเซล 5.3 บาท/ลิตรคิดเป็นรายได้รัฐที่ต้องเสียไปประมาณ 8,500 ล้านบาทต่อเดือนจึงเป็นมาตรการใหม่เพราะกองทุนน้ำมันเงินหมดแล้ว ภายใต้ข้ออ้างป้องกันเงินเฟ้อที่อภิสิทธิ์และกรณ์ประสานเสียงโดยมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนับสนุนว่าสามารถตรึงเงินเฟ้อได้ถึงร้อยละ 0.7 ต่อปีหากคงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร
       


       เงินที่เสียไปแล้ว 3 หมื่นล้าน + 8,500 ล้านบาทต่อเดือนนับจากนี้ไปจะไม่เป็นการใช้จ่ายอย่างไร้สาระหรือ? เพราะหากจะมีรัฐบาลใหม่มาก็กว่า 4 เดือน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็ไม่หนี 3.5 หมื่นล้านบาท ไม่ว่าจะเก็บภาษีได้เกินเป้ามากเท่าใดก็ตาม แต่เงินส่วนนี้ก็สามารถนำไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้ดีกว่านำไปชดเชยหลอกให้คนคิดว่าสามารถใช้ดีเซลในราคาถูกมิใช่หรือ?
       


       ส่วนเงินเฟ้อนั้นเป็นหน้าที่โดยตรงของ ธปท. ตามเป้าหมายเงินเฟ้อหรือ inflation targeting มิใช่หรือ ทำไมรัฐบาลต้องมาคิดให้ว่าจะควบคุมเงินเฟ้ออย่างไร? หรือกลัวว่า ธปท.จะควบคุมปริมาณเงินและขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
       


       รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงกำลังทำ 2 สิ่งที่ขัดแย้งกันในตัวเองในภาพรวม การตรึงราคาดีเซลซึ่งเป็นผลมาจาก cost push ทำให้รัฐบาลมีภาระเพิ่มขึ้นต้องหาเงินมาชดเชยในด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งก็พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มการใช้จ่ายจากภาครัฐเป็นเครื่องมือทำให้เกิด demand pull ผลสรุปก็คือเงินในระบบจะมีมากขึ้น นั่นก็คือเงินเฟ้อในที่สุดนั่นเองหากสิ่งอื่นๆ คงที่
       


       รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงแสดงออกซึ่งตัวตนที่แท้จริงว่าเป็น “ทักษิณ” รีเทิร์น เลือกใช้วิธีมักง่ายเช่นเดียวกันด้วยการแทรกแซงกลไกตลาดเหล่านี้ โดยไม่พยายามที่จะ “ทำงานยาก” อาศัยกลไกตลาดควบคุมด้วยตัวของมันเอง
       


       ทางรอดประเทศในระยะยาวคือ การปรับโครงสร้างประเทศเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขัน แต่ภายใต้สภาวะของการแทรกแซงตลาดที่มีมากขึ้นเรื่อยๆจนไม่รู้ว่าจะมีสินค้าบริการใดหลงเหลืออยู่บ้างที่รัฐบาลไม่เข้ามาคุมราคาราวกับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ ความสามารถในการแข่งขันซึ่งเป็นหนทางรอดของประเทศในยุคโลกาภิวัตน์จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรเพราะมีหลักฐานปรากฏให้เห็นแล้วว่าระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ไม่สามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้ดีเท่าระบบทุนนิยม
       


       อย่าด่าพวกเสื้อแดงเลยว่านิยมคอมมิวนิสต์ อภิสิทธิ์เองนั่นแหละ “แดง” เต็มตัว
       


       เมื่อแลมองไปยังประเทศที่ประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น ไอร์แลนด์ กรีซ โปรตุเกส ต่างมีคุณลักษณะที่คล้ายคลึงกันก็คือ ขาดขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ขาดดุลการค้าเพราะไม่สามารถขายสินค้าสู้กับคู่แข่งได้ ในขณะที่รัฐบาลก็ไม่จำกัดบทบาทของตนเองเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อหวังผลทางการเมืองจนมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น เมื่อประเทศไม่มีรายรับการก่อหนี้ก็ทำได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆเพราะต้องเสนออัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงกับเจ้าหนี้ จนในที่สุดหากไม่ประกาศหยุดพักชำระหนี้ก็ต้องเข้าโรงเรียน IMF เป็นปลายทางที่หลีกหนีไม่พ้น
       


       พลเมืองเข้มแข็งควรรู้เท่าทันเล่ห์นักการเมืองว่าอะไรคือสวัสดิการสังคมที่แท้จริง และอภิสิทธิ์ก็ไม่ต่างอะไรกับ “ทักษิณ” ดังนั้นทักษิณแม้ไม่กลับมาก็เหมือนมาแล้ว







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้