แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (1) (31/5/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (1) (31/5/2554)



แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (1)


(31/5/2554)




 เมื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงประชากรไทย ครั้งล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงประชากรไทยทุกๆ 10 ปี ในปี พ.ศ. 2550 เราได้พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงในรอบ 20 ปี (จากปี พ.ศ. 2529-2549) ที่น่าสนใจ และทำให้เราสามารถมีมุมมองในอนาคตเกี่ยวกับ วิกฤตสุขภาพของคนไทยในอนาคตอันใกล้ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเราได้รับรู้ว่า



(1) สัดส่วนของประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ในช่วง 20 ปีนี้คือ เพิ่มขึ้นจาก 6.5% เป็น 10.9% และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก


(2) อายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้น คือผู้ชายเพิ่มขึ้นจาก 63.8 ปี เป็น 69.9 ปี ส่วนผู้หญิงเพิ่มขึ้นจาก 68.9 ปี เป็น 77.6 ปี


(3) อัตราการเสียชีวิตในวัยเด็กลดน้อยลงอย่างเด่นชัด คือ อัตราการตายของทารกลดลงจาก 40.7 เหลือ 11.3 ต่อหนึ่งพันคน เหตุที่อายุเฉลี่ยของคนไทยโดยรวมเพิ่มขึ้น ก็เพราะอัตราการตายของคนวัยเด็กลดลงนั่นเอง


(4) เมื่อวิเคราะห์ สาเหตุการเสียชีวิตของประชากรผู้ใหญ่ (อายุ 15 ปีขึ้นไป) กลับพบว่า การเสียชีวิตด้วยเหตุชราภาพลดต่ำลง คือ ลดลงจาก 169.2 เหลือ 144.4 ต่อหนึ่งแสนคน ขณะที่ การเสียชีวิตด้วยโรคกลับเพิ่มขึ้น โดย การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดเชื้อ (มะเร็งกับหัวใจ) เพิ่มขึ้นจาก 161.1 เป็น 193.3 ต่อหนึ่งแสนคน


(5) เมื่อลงไปดูปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการสำรวจ จะพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดของประชากรไทยที่เป็นผู้ใหญ่ คือ การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดเชื้อ ที่ 32.4% แซงหน้าการเสียชีวิตจากการชราภาพซึ่งเกิดขึ้น 23.5% ขณะที่การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอยู่ที่ 7.9% และจากโรคติดเชื้อ รวมทั้งโรคเอดส์คิดเป็น 7.7%



กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในจำนวนคนไทยที่เป็นผู้ใหญ่ในยุคนี้ 100 คน จะตายด้วยโรคไม่ติดเชื้ออย่างโรคมะเร็ง และโรคหัวใจถึง 32 คน ขณะที่จะตายเพราะสิ้นอายุขัย หรือเพราะชราภาพเพียง 23 คน แต่จะตายเพราะอุบัติเหตุเพียง 8 คน หรือตายเพราะโรคติดเชื้อเพียง 8 คนเท่านั้น ข้อมูลที่ผมยกมาข้างต้น ยังบอกอีกว่า ขณะที่คนไทยสามารถเอาชนะการตายในวัยเด็กได้อย่างน่าพึงพอใจ ทำให้อายุเฉลี่ยสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน คนไทยทั้งประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตสุขภาพครั้งใหญ่ ที่จะทำให้มีชีวิตบั้นปลายที่เต็มไปด้วยโรคไม่ติดต่ออย่างโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ และส่วนใหญ่คงเสียชีวิตหรือทุพพลภาพด้วยโรคเหล่านั้น



นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยประชากรไทยของโครงการความร่วมมือศึกษาโรคหลอดเลือดหัวใจเอเชีย ซึ่งรายงานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยโครงการนี้ได้สุ่มสำรวจคนไทยทั้งในเมือง และชนบทที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เพื่อดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่นำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจมากเพียงใด ผลการวิจัยพบว่า หากใช้ความดันโลหิตสูงที่ 140/90 หรือการกินยาลดความดันอยู่เป็นเกณฑ์ จะมีคนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไป เป็นความดันโลหิตสูงมากถึง 28.7% และมีค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกายเฉลี่ย 24.7 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ที่ใช้กับคนเอเชีย มีค่าคอเลสเตอรอลในเลือดเฉลี่ย 215 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเกินความพอดี



โดยที่ 39.8% ของคนกลุ่มนี้ จะมีคอเลสเตอรอลเกิน 240 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเป็นระดับที่สูงขึ้นถึงขั้นต้องใช้ยารักษา และยังมีค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือด 107 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับใกล้เป็นเบาหวาน และมีจำนวน 12.1% ที่ต้องถือว่าเป็นเบาหวานไปแล้ว หากถือเกณฑ์น้ำตาลในเลือดที่ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไปเป็นตัวตัด



จากข้อมูลที่ยกมาข้างต้น ทำให้เราได้ภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับ วิกฤตสุขภาพของคนไทย ที่เป็นผู้ใหญ่ในยุคปัจจุบันว่า คนไทยอ้วนมากขึ้น เป็นเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่คนไข้ในโรงพยาบาลสมัยนี้เป็นโรคหัวใจ ความดัน เบาหวานเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่เมื่อสามสิบหรือสี่สิบปีก่อน มีคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดไม่มากเลย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด



ขณะนี้ สังคมไทยกำลังมุ่งหน้าไปสู่การเป็นสังคมของคนอมโรคไม่ติดเชื้อเรื้อรังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ ความดันหรือเบาหวาน รวมทั้งมะเร็งด้วย และนี่คือ ความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะต้อง ผลักดันการปฏิรูปสุขภาพ โดยใช้แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคไม่ติดเชื้อที่ร้ายแรงต่างๆ เป็นใจกลาง หรือหัวใจของการปฏิรูปสุขภาพของคนไทยที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งประเทศ



ในอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และวิทยาศาสตร์การชะลอวัย (Anti-aging) ได้รุดหน้าไปมาก จนถึงขั้นสมาคมเวชศาสตร์ชะลอวัยของสหรัฐอเมริกาได้ประเมินว่า ความรู้ทางด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยแขนงต่างๆ จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 250 เท่าขององค์ความรู้ในปัจจุบัน เมื่อถึงปี ค.ศ. 2029 โดยที่อายุขัยเฉลี่ยของคนจะเพิ่มเป็น 150 ปีในปีเดียวกัน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์บางส่วนก็มั่นใจว่า ด้วยความรู้ทางการแพทย์เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้อายุขัยของคนเราเพิ่มขึ้นเป็น 120 ปีได้ไม่ยาก



สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ หมายความว่าอะไร? ผมต้องการจะบอกว่า สังคมไทยในอนาคตอันใกล้ เมื่อมองจากมุมมองของวิกฤตสุขภาพ และความก้าวหน้าของเวชศาสตร์ชะลอวัย จะทำให้คนไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปในปัจจุบัน แตกตัวออกเป็นสองขั้วหรือสองกลุ่มใหญ่ๆ



กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ไม่รู้จักดูแลตนเอง และใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมในเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด สุดท้ายก็จะมีชีวิตบั้นปลายที่ “ตายก่อนวัย” และเต็มไปด้วยโรคไม่ติดต่ออย่างโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ ทำให้มีชีวิตในบั้นปลายอย่างทุกข์ทรมาน คนกลุ่มนี้น่าจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม ถ้าหากพวกเขายังคงมี “วิถีชีวิต” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นต้นตอหลักของวิกฤตสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้น ในสังคมไทย



กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ใส่ใจต่อสุขภาพ รู้จักดูแลตัวเองและคนในครอบครัวอย่างจริงๆ ในทุกๆ มิติ ทั้งเรื่องการกิน การนอน การพักผ่อน การผ่อนคลาย การออกกำลังกาย การทำสมาธิ และการคิดในเชิงบวก เมื่อผนวกกับความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การชะลอวัย จะทำให้ มีความเป็นไปได้สูงว่า คนกลุ่มนี้จะมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 100 ปีหรือมากกว่านั้น ปัญหาของคนกลุ่มนี้ ซึ่งน่าจะมีจำนวนน้อยกว่าคนกลุ่มแรก ก็คือ พวกเขาจะต้องเตรียมพร้อม เตรียมการที่จะมีชีวิตที่ยืนยาวถึง 100 ปี พร้อมๆ กับการมีสุขภาพที่แข็งแรง และมีชีวิตที่มีคุณภาพตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เพื่อมิให้การมีชีวิตอยู่อย่างยืนยาวเกินคาดกลายเป็นสิ่งที่ต้องทนทุกข์ทรมาน เพราะไม่ได้มีการเตรียมตัวเตรียมรับมือในทุกๆ ด้านมาก่อน โดยเฉพาะในด้านการเงิน ด้านสุขภาพ และด้านกิจกรรมหลังเกษียณซึ่งมีเวลายาวนานหลายสิบปีอย่างเกินความคาดหมาย



ผมไม่ทราบว่า ท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านข้อเขียนของผมอยู่นี้ จะกลายเป็นคนกลุ่มแรก หรือคนกลุ่มที่สองในอนาคตที่จะมาถึง แต่ที่ผมอยากจะบอกอย่างจริงใจก็คือ ผมไม่อยากให้พวกท่านมานั่งเสียใจในภายหลัง ไม่ว่าท่านจะเป็นโรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจ (คนกลุ่มแรก) เพราะท่านไม่ดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ตั้งแต่บัดนี้ หรือเพราะไม่เคยมีใครมาบอกพวกท่านเหมือนอย่างที่ผมกำลังจะบอกพวกท่านว่า ควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร ถ้าหากท่านอาจมีชีวิตที่ยืนยาวถึง 100 ปี หรือมากกว่า จึงทำให้ท่านต้องทุกข์ทรมานจากการมีชีวิตอยู่อย่างยืนยาวเกินคาด โดยที่ท่านไม่ได้เตรียมตัวเตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมเงินมาก่อน (คนกลุ่มที่สอง)



พวกท่านอาจจะไม่ทราบว่า หากท่านมีอายุ 40-50 ปีในขณะนี้ ท่านมีโอกาสสูงมากที่จะมีชีวิตยืนยาวได้ถึง 100 ปี และลูกหลานของพวกท่านจะมีอายุยืนยาวมากกว่านี้อีก (120 ปี ถึง 150 ปี) การมีอายุยืนยาวขนาดนั้น อาจกลายเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว หากพวกท่านไม่มีทรัพย์สินเพียงพอ มีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงพอ รวมทั้งอาจเป็นภาระให้แก่ลูกหลานได้ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าพวกท่านจะกลายเป็นคนกลุ่มใดในอนาคตข้างหน้า การมีองค์ความรู้และแนวทางในการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด และขาดไม่ได้ในยุควิกฤตสุขภาพ และยุคคนมีอายุขัย 100 ปีที่กำลังมาถึง







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้