มะเร็งกับระบบภูมิชีวิต (3) (24/5/2554)

มะเร็งกับระบบภูมิชีวิต (3) (24/5/2554)



มะเร็งกับระบบภูมิชีวิต (3)

(24/5/2554)





จากประสบการณ์ของอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ที่ได้เจอผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง ไม่ต่ำกว่าสองหมื่นคนในช่วงยี่สิบกว่าปีมานี้ เขามักจะย้ำกับผู้ป่วยเหล่านั้นเสมอว่า ตัวเขาหรือแม้แต่หมอมีความหมายน้อยมากในการบำบัดโรคมะเร็ง ถ้าหากผู้ป่วยจะหายจากโรคมะเร็งได้ นั่นก็เพราะว่าพวกเขาสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างเคร่งครัด และเอาจริงเอาจังในการฟื้นฟูระบบภูมิชีวิต (Immune System) ของตัวเอง เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงหายได้ เพราะตัวพวกเขาเอง



อาจารย์สาทิสอยากให้คนไทยทั้งหลายได้เข้าใจจริงๆ ว่า ชีวิตและสุขภาพของคนเราทุกคนขึ้นอยู่กับระบบภูมิชีวิต เขาอยากให้แพทย์ พยาบาล และนักวิทยาศาสตร์สุขภาพทุกคนใส่ใจ และเข้าใจบทบาทและความสำคัญของระบบภูมิชีวิตอย่างถ่องแท้ และอย่างละเอียด เพราะเขาเชื่อมั่นว่าถ้าทำเช่นนั้นได้ จะทำให้แพทย์ และพยาบาลสามารถช่วยชีวิตคนไข้ได้อีกเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นการที่คนเราจะมีสุขภาพที่แข็งแรง และป้องกันตัวเองจากโรคร้ายได้ การมีองค์ความรู้ ความเข้าใจว่า ระบบภูมิชีวิตคืออะไร และจะใช้ระบบภูมิชีวิต รักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยได้อย่างไร จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะว่าไปแล้ว แก่นกลางของฐานคิดของการแพทย์แบบองค์รวม หรือแบบบูรณาการนั้น อยู่ที่องค์ความรู้อันหลากหลาย และเป็นสหวิทยาการเกี่ยวกับการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิต นี้นั่นเอง



ชีวิตของคนเรานั้น อยู่ได้นับแต่เกิดจนตายตามอายุขัยได้ ก็เพราะมีระบบภูมิชีวิตคุ้มครองอยู่โดยไม่เกี่ยงว่า คนคนนั้นจะเป็นคนดีมีคุณธรรมหรือเป็นคนเลวคนชั่วร้ายที่กินบ้านกินเมือง แต่ประการใด การที่คนเรามีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะ ระบบภูมิชีวิตเป็นตัวคุ้มครองป้องกันชีวิตของคนเรา และยังเป็นผู้ทำนุบำรุงเลี้ยงร่างกายให้เติบใหญ่แข็งแรง รวมทั้งยังเป็นตัวสร้างพลังชีวิตให้แก่ร่างกายได้อีกด้วย



คำว่า “ระบบภูมิชีวิต” ที่อาจารย์สาทิสใช้มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Immune System ซึ่งโดยทั่วไปมักจะแปลว่า “ระบบภูมิคุ้มกัน” ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นคำแปลที่แคบไปแล้ว เมื่อคำนึงถึงบทบาทที่แท้จริงของมัน ดังนั้นเขาจึงเลือกใช้คำว่า ระบบภูมิชีวิตแทน



คำจำกัดความง่ายๆ ของ Immune System ตามตำราแพทย์ทั่วไปนั้น จะหมายถึง ระบบหลายระบบซึ่งทำงานร่วมกันอย่างซับซ้อนในร่างกาย เพื่อสร้างระบบการต่อสู้ และปราบปรามให้แก่ร่างกาย รวมทั้งช่วยป้องกันร่างกายให้พ้นอันตรายจากเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอม โดยที่อวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกายที่มีส่วนในการสร้าง Immune System นี้ก็คือ



(1) ต่อม Tonsil และ Adenvid ที่อยู่ในช่องปากตรงส่วนต่อกับลำคอ


(2) ต่อม Thymus ตรงกระดูกหน้าอก ต่อมนี้ทำงานตลอดชีวิตแม้ว่าต่อมจะเล็กหรือฝ่อลงเมื่อคนเราโตขึ้น


(3) ต่อมน้ำเหลือง (lymph node) อันที่จริงต่อมน้ำเหลืองนี้มีระบบของตัวเองเรียกว่า ระบบต่อมน้ำเหลือง (lymphatic system) โดยที่ระบบนี้เป็นระบบย่อย หรือส่วนหนึ่งของระบบภูมิชีวิตอีกทีหนึ่ง


(4) ม้าม (spleen) เป็นอวัยวะสำคัญในการสร้างระบบภูมิชีวิต


(5) แผงต่อมน้ำเหลืองในลำไส้ (Peyer’s patches) อยู่ที่ส่วนปลายของลำไส้เล็ก (ileum)


(6) ไส้ติ่ง (appendix) จริงๆ แล้วไส้ติ่งมีความสำคัญต่อการสร้างภูมิต้านทานให้ระบบย่อย ซึ่งเป็นระบบที่สำคัญที่สุดของร่างกาย


(7) ไขกระดูก (bone marrow) กระดูกท่อนยาวต่างๆ ของร่างกาย จะมีโพรงไขกระดูกอยู่ตรงกลาง โดยที่ไขกระดูกก็เป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของระบบภูมิชีวิต



ปัจจุบันองค์ความรู้เกี่ยวกับ Immune System มีความลุ่มลึกกว่าเมื่อสี่สิบห้าสิบปีก่อนมาก จนมีความเข้าใจแล้วว่า Immune System มิได้ทำหน้าที่แค่ป้องกันและปราบปรามเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมเหมือนอย่างที่เคยเข้าใจเช่นนั้นในอดีต แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้าง และบำรุงพละกำลังของตัวเองของร่างกายอีกด้วย จึงเกี่ยวโยงกับความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย และจิตใจด้วยอย่างแยกจากกันไม่ได้



หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ถ้าหากคนเรามีร่างกายแข็งแรง สุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ นั่นก็หมายความว่า ระบบภูมิชีวิตของเขาดีและสมบูรณ์ทุกประการ แต่ถ้าผู้นั้นอ่อนแอ เจ็บป่วยบ่อยหรือเป็นโรคร้าย นั่นก็ย่อมแสดงว่า ระบบภูมิชีวิตของผู้นั้นต่ำ หรือร่างกายเกือบจะไม่มีระบบภูมิชีวิตเหลือในร่างกายเลย ระบบภูมิชีวิตของคนเราจะทำงานทันที เมื่อมีเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เข้าสู่ร่างกายโดยตัวที่จะเริ่มทำงานก่อนคือ เลือดขาว (white blood cell) เลือดขาวกลุ่มแรกคือ ตัวเขมือบเซลล์ (phagocyte) โดยมีผู้ช่วยคือ macrophage กับ T เซลล์ และ B เซลล์มาช่วยกันล้อมกรอบเชื้อโรค รวมทั้งสร้าง Antibody ขึ้นมาปราบปราม



หากร่างกายเป็นเหมือนประเทศ เลือดขาวก็จะเป็นเหมือนตำรวจ และทหารซึ่งมีหน้าที่ป้องกันต่อสู้ และปราบปรามศัตรูของประเทศ แต่การที่บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองได้ จะต้องมีการทะนุบำรุงด้านต่างๆ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ด้วย เพราะตำรวจ ทหารอยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องทะนุบำรุงจากด้านอื่นๆ ให้ตัวเองแข็งแรงเสียก่อน จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงไปได้



ร่างกายของคนเราก็เช่นกัน การทะนุบำรุงร่างกายก็ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ช่วยเหลือกันเป็นทอดๆ ไปอย่างเป็นระบบ อย่างเช่น เลือดจะเกิดจากไขกระดูกเสียเป็นส่วนมาก ไขกระดูกก็ต้องอาศัยตัวกระดูก ส่วนกระดูกจะแข็งแรงหรือไม่แข็งแรง ก็ต้องอาศัย สารอาหาร (nutrients) และแร่ธาตุต่างๆ จากภายนอกร่างกาย เมื่อคนเรารับอาหารจากภายนอกร่างกายแล้ว ระบบต่างๆ ก็ต้องแปรอาหารต่างๆ เหล่านั้นให้เป็นสารอาหาร แล้วตัวเลือดเอง (เลือดแดง) ก็ต้องนำสารอาหารต่างๆ นั้นไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งไปสร้างเนื้อเยื่อและไขกระดูก โดยที่ไขกระดูกก็จะผลิตเลือดให้แก่ตัวเองต่อไป นี่คือ หลักการในการทะนุบำรุง และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งจะวนเวียน และหมุนเวียนกลับไปกลับมาเช่นนี้ตลอดชั่วชีวิตของคนเรา



ตัวเลือดขาวเองจะทำหน้าที่ปราบปรามต่อสู้กับเชื้อโรคโดยตรงไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเลือดแดงเป็นตัวนำพากลุ่มเลือดขาวออกไปต่อสู้กับเชื้อโรค แต่เลือดแดงถ้าไม่ได้รับการสูบฉีดจากหัวใจ ก็ไปไหนไม่ได้ นอกจากนี้ เลือดแดงยังต้องการการฟอกซักล้างตัวเอง โดยที่ตัวฟอกซักล้างนี้คือ ออกซิเจน ซึ่งต้องผ่านการทำงานของปอด (การหายใจ) แต่หัวใจเอง ถ้าไม่ได้เลือดมาเลี้ยงหัวใจตัวเอง หัวใจก็อยู่ไม่ได้



จึงเห็นได้ว่า ระบบภูมิชีวิต มิได้หมายถึงการต่อสู้ ป้องกัน และปราบปรามอย่างเดียว แต่กินความไปถึงการทะนำบำรุงด้านอื่นๆ และการต้องอาศัยพึ่งพากันและกันของระบบอื่นๆ ด้วย ในการศึกษาระบบภูมิชีวิต จึงจำต้องมองให้เห็น ภาพรวม หรือเห็น เครือข่ายของระบบภูมิชีวิตทั้งหมด ว่ามีหน้าที่ตรงอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และต้องอาศัยระบบอะไร ในการปฏิบัติหน้าที่ของมัน ซึ่งเราพบว่า ระบบภูมิชีวิตนั้นคือ เครือข่ายของระบบรากฐาน 5 ระบบในร่างกาย ดังต่อไปนี้



(1) ระบบเลือด (circulatory system) ซึ่งหมายถึง เครือข่ายของเส้นเลือดทั้งหมด ทั้งเส้นเลือดแดง และเส้นเลือดดำ


(2) ระบบหายใจ (respiratory system) ความสำคัญของระบบหายใจ คือ การถ่ายเทออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ให้เข้า และออกจากร่างกาย โดยการที่คนเราหายใจออกซิเจนเข้าทางจมูก และปากผ่านหลอดลมลงไปที่ปอด ออกซิเจนจะฟอกเลือดที่ปอดให้บริสุทธิ์ส่งผ่านไปที่หัวใจ หัวใจจะปั๊มเลือดออกไปตามเส้นเลือด เลือดไปเลี้ยงเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย ถ่ายเทคาร์บอนไดออกไซด์จากเซลล์มาเข้าเลือด เลือดกลับมาที่ปอด ปอดเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปนำออกซิเจนเข้ามาอีก เป็นวงจรอยู่เช่นนี้


(3) ระบบประสาทและสมอง (nervous system) คือระบบที่ควบคุมการทำงานทุกอย่างของร่างกาย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) ที่แบ่งออกเป็นสมองและไขสันหลังกับระบบประสาทส่วนปลาย (peripheral nervous system) ซึ่งมีเส้นประสาทจากไขสันหลัง (spinal nervous) และประสาทอัตโนมัติ


(4) ระบบย่อย (digestive system) ประกอบไปด้วยอวัยวะซึ่งเป็นท่อกล้ามเนื้อ และต่อมต่างๆ ซึ่งขับน้ำย่อย และการหล่อลื่นอวัยวะซึ่งเป็นท่อกล้ามเนื้อนั้นเริ่มจากปาก ลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไปสุดที่ทวารหนัก


(5) ระบบน้ำเหลือง (lymphatic system) เป็นระบบที่ทำงานร่วมกับต่อมทอนซิล ไทรอยด์ ไทมัส ม้าม เพเยอร์สแพทช์ ไส้ติ่ง และไขกระดูกที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยมีหน้าที่ร่วมกันต่อต้านปราบปรามศัตรูซึ่งมาจากภายนอกร่างกาย แต่ระบบน้ำเหลืองจะมีส่วนพิสดารกว่าอวัยวะอื่นๆ และต่อมอื่นๆ ของ Immune System ตรงที่ว่า ระบบน้ำเหลืองนี้มีท่อหรือเส้นน้ำเหลืองเป็นเครือข่ายทั่วร่างกาย คล้ายๆ กับเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำซึ่งมีอยู่ทั่วร่างกายเช่นกัน โดยการหมุนเวียนของน้ำเหลืองซึ่งไหลไปตามเส้นน้ำเหลืองทั่วร่างกายนี้จะกวาดท็อกซิน (Toxin) ไขมัน โปรตีน และสิ่งสกปรกซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายไปตามท่อน้ำเหลือง แล้วก็ผลักดันสิ่งต่างๆ เหล่านั้นลงเส้นเลือดด้านซ้ายและขวาของไหปลาร้า



ขอสรุปรวบยอดอีกครั้งว่า เราควรทำความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของระบบภูมิชีวิต จากมุมมองเชิงระบบ (system theory) ในการป้องกันและรักษาโรคร้ายอย่างโรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ โดยมองระบบภูมิชีวิตอย่างเป็นเครือข่ายแบบองค์รวม มิใช่จำกัดแค่ระบบต่อต้านปราบปรามเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมซึ่งมาจากภายนอกร่างกายเท่านั้น แต่จะต้องครอบคลุมไปถึงระบบรากฐานอื่นๆ ทั้งหมดของร่างกายด้วย แล้วเราก็จะเห็นได้เองว่า ระบบภูมิชีวิต คือ ตัวชีวิตเอง และเป็นตัวรักษา “ชีวิต” ในฐานะที่เป็น “ระบบ” (system) ชนิดหนึ่งให้แข็งแรงสมบูรณ์ตลอดไปตราบจนสิ้นอายุขัยของมัน สิ่งที่น่าคิดต่อไปก็คือว่า เราจะดูแล เสริมสร้างระบบภูมิชีวิตของคนเราอย่างไร ในการป้องกันโรค และทำให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้