แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (5) (24/4/2555)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (5) (24/4/2555)



แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (5)


(24/4/2555)



*ร่างกายของเราเป็นสิ่งที่ไม่มีแก่นสาร แต่คิดเป็น*



(2) ข้อสันนิษฐานใหม่ประการที่สอง



“ร่างกายเราประกอบด้วยพลังงาน และข้อมูลข่าวสาร” (จากหนังสือ “ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา” ของ ดีปัก โชปรา, สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2551)



ร่างกายของคนเราดูเหมือนประกอบด้วยสสารที่เป็นของแข็ง ซึ่งสามารถแยกสลายเป็นโมเลกุลและอะตอม แต่ควอนตัมฟิสิกส์กลับบอกว่า ทุกอะตอมมีพื้นที่ว่างมากกว่า 99.999% มีอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมเคลื่อนที่ด้วยความเร็วแสงผ่านช่องว่างนี้ ซึ่งอนุภาคนี้ที่จริงก็คือพวงมัดของพลังงานที่สั่นไหว (bundles of vibrating energy) นั่นเอง



เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราติดตามโครงสร้างทางกายภาพของร่างกายไปจนถึงแหล่งสุดท้ายที่ปลายสุด คือ จากโมเลกุลสู่อะตอม จากอะตอมสู่อนุภาค และจากอนุภาคสู่พลังงานซึ่งเป็นเหมือนเงามืดที่ละลายไปสู่ “ความว่าง” (สุญตา) ความว่างหรือสุญตานี้ถูกประทับด้วยข้อมูลข่าวสารอย่างเร้นลับ ก่อนที่ข้อมูลข่าวสารจะปรากฏตัว เช่นเดียวกับที่คำพูดนับหมื่นนับพันอยู่ในความทรงจำของเราอย่างเงียบๆ โดยไม่เคยเอ่ยออกมา



นี่คือ “สนามควอนตัม” ที่ครอบครองและครอบคลุมทั่วทั้งจักรวาลในรูปแบบที่ไม่ปรากฏเผยออกมา มันเป็นเช่นนี้นับตั้งแต่การเกิดบิ๊กแบง เมื่อกาแล็กซีนับพันล้านถูกบีบเข้าไปในช่องว่างที่เล็กกว่าจุดฟุลสต็อปหลายล้านเท่า จะเห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ทั้งจักรวาล และร่างกายของเรา มิใช่สิ่งที่มีแก่นสาร (non-stuff) หรือเป็น “อนัตตา” แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่มีแก่นสารหรือเป็นอนัตตาที่คิดเป็น (thinking non-stuff) นี่คือ ความจริงอันน่าอัศจรรย์และเหลือเชื่อ



ความว่างในทุกๆ อะตอมของร่างกายเราเต้นเป็นจังหวะ ด้วยเชาวน์ปัญญาที่มองไม่เห็นของจักรวาล เชาวน์ปัญญาแห่งจักรวาลเพียงหนึ่งเดียวอันนี้ที่นำมาใช้ร่วมกันทั่วร่างกาย โดยเป็น “กระแสของเชาวน์ปัญญา” ที่ทำให้คนเรามีชีวิต หากกระแสดังกล่าวนี้หยุดไหล จะถึงห้วงเวลาแห่งความตายของผู้นั้น หากคนเราแก่ตัวลง กระแสของเชาวน์ปัญญานี้จะเสื่อมถอยลงในแบบต่างๆ โดยเฉพาะความถดถอยของเชาวน์ปัญญาแห่งระบบภูมิคุ้มกันระบบประสาท และระบบต่อมไร้ท่อที่ทำให้ความชราของทั้งร่างกายคืบคลานเข้าสู่ผู้นั้น



ความเสื่อมถอยของความชราจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือชะลอได้เลย ถ้าหากร่างกายเป็นแค่วัตถุ เพราะสิ่งที่เป็นวัตถุทั้งหลาย ล้วนเป็นเหยื่อของเอนโทรปี (entropy) อันเป็นความโน้มเอียงของระบบที่เป็นระเบียบที่จะกลายเป็นไร้ระเบียบ ตัวอย่างที่เป็นแบบฉบับของเอนโทรปีคือ รถที่ขึ้นสนิมในกองเศษเหล็ก เอนโทรปีทำลายเครื่องจักรกลที่เป็นระเบียบให้กลายเป็นเศษสนิม กระบวนการนี้ไม่อาจกระทำเป็นแบบอื่นหรือย้อนกลับ เช่น ทำให้กองสนิมรวมตัวกันกลายเป็นรถยนต์คันใหม่ได้



แต่เอนโทรปีไม่มีผลต่อเชาวน์ปัญญา อันเป็นส่วนที่มองไม่เห็นของคนเรา และเป็นสิ่งที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อการทำลายล้างของเวลา วิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างควอนตัม ฟิสิกส์ เป็นเพียงการค้นพบ “ความหมาย” ของสิ่งเหล่านี้ แต่เป็นที่รู้กันมานานนับศตวรรษในภูมิปัญญาโบราณแบบตะวันออกอย่างเหล่าคุรุ (masters) ในสายเต๋า สายพุธ และสายโยคะ (ฮินดู) ที่สามารถรักษาความวัยเยาว์หนุ่มแน่นของร่างกายได้ยืนนานก่อนเข้าสู่วัยชรา โดยผ่านการฝึกลมปราณ และสมาธิที่ทำให้สามารถเอาชนะเอนโทรปีในระดับที่ลึกกว่าของธรรมชาติได้ โดยการใช้พลังปราณ และพลังจิตทะนุถนอมกระแสของเชาวน์ปัญญาแห่งจักรวาลในร่างกายของพวกท่านได้ปีแล้วปีเล่า ก่อนที่จะละสังขารไปจากโลกนี้



การดำรงอยู่ของคุรุทั้งหลายเหล่านี้ คือข้อพิสูจน์ความจริงที่ควอนตัม ฟิสิกส์เพิ่งค้นพบในร้อยปีที่ผ่านมานี้เองว่า “ชีวิตคือจิตสำนึก และจิตสำนึกคือชีวิต” โดยที่ในระดับที่ลึกสุดๆ แล้ว จิตกับปราณ (พลังงานที่เป็น “พลังชีวิต”) เป็นสิ่งเดียวกัน



(3) ข้อสันนิษฐานใหม่ประการที่สาม


“จิตใจและร่างกายเป็นองค์ที่ไม่อาจแยกจากกัน”



เราได้กล่าวไปแล้วในข้อสันนิษฐานใหม่ ประการที่สองว่า ร่างกายเราประกอบด้วยพลังงานและข้อมูลข่าวสารที่ผุดขึ้นมาจาก “สนามของพลังงาน” ที่ไร้ขีดจำกัดและทอดข้ามจักรวาล ในข้อสันนิษฐานใหม่ประการที่สามนี้ เรายังบอกอีกว่า จิตใจและร่างกายเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่อาจแยกจากกันได้ องค์เอกภาพที่เป็นตัวตน “ฉัน” ของคนเราแยกออกเป็นประสบการณ์สองสายธาร



กล่าวคือ “ฉัน” มีประสบการณ์ของสายธารทางอัตวิสัยในฐานะของความคิด ความรู้สึก และความอยากความปรารถนา และ “ฉัน” ก็มีประสบการณ์ทางภววิสัยในฐานะของร่างกายด้วยเช่นกัน โดยที่ในระดับลึกๆ แล้ว สายธารทั้งสองสายนี้พบกันที่ต้นกำเนิดของการรังสรรค์เดียวกัน และเป็นต้นกำเนิดที่กำหนดชีวิตของคนเรา



การปฏิวัติทางการแพทย์ในยุคที่สองจากยุคการแพทย์เชิงกายภาพในยุคที่หนึ่งสู่การแพทย์เชิงใจ-กาย ในยุคที่สอง คือ การค้นพบว่า ไม่ว่าความคิดไปที่ไหน สารเคมีในร่างกายจะไปด้วย ด้วยเหตุนี้เอง สภาวะจิตใจที่โศกเศร้า ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี ซึ่งก่อให้เกิดโรคได้ ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถจุดชนวนความตั้งใจที่จะไม่แก่ชรา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ร่างกายปฏิบัติตามโดยอัตโนมัติ เพราะความมีชีวิตชีวาที่ถดถอยลงในผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มักเป็นผลมาจากความตั้งใจที่ถดถอยก่อนเป็นอันดับแรก คนแก่ที่หมดไฟเหล่านี้ ได้ปลูกฝังความตั้งใจที่จะยอมแพ้ตัวเองโดยไม่รู้ตัวในรูปแบบของความเชื่อที่แรงกล้าอย่างผิดๆ ว่า ความแก่ชราไม่สามารถชะลอได้ พอใจของคนแก่เหล่านี้หลงเชื่อเช่นนั้น ร่างกายของคนแก่เหล่านั้นก็ปฏิบัติตาม ความตั้งใจนี้อย่างอัตโนมัติ



แต่ด้วยการสร้างความตั้งใจขึ้นใหม่ที่จะใช้ชีวิตอย่างกระตือรือร้นมีชีวิตอย่างมีจุดหมายที่จะมีอายุยืนอย่างแข็งแรงถึงร้อยปีหรือกว่านั้น จะช่วยให้ผู้สูงอายุจำนวนมากสามารถปรับปรุงความสามารถในการเคลื่อนไหว ความแข็งแรง ความกระฉับกระเฉง และการตอบสนองทางด้านจิตใจได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว



เพราะฉะนั้น คนเราจึงควรปลุกเร้าพลังความตั้งใจขึ้นใหม่ตั้งแต่วัยกลางคน จะได้มีช่วงเวลาที่ยาวนานในการเตรียมตัวก่อนที่จะเริ่มแก่ตัวเพื่อคงความหนุ่มสาว ความเยาว์วัยเอาไว้จากการใช้พลังแห่งความตั้งใจ มุ่งมั่นของเราให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะนานได้



(4) ข้อสันนิษฐานใหม่ประการที่สี่


“ชีวเคมีของร่างกายเป็นผลผลิตของจิตสำนึก”



หนึ่งในข้อจำกัดที่ใหญ่ที่สุดของแบบแผนเก่า คือการยึดถือว่าจิตสำนึกของคนเรา ไม่มีบทบาทในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกาย ทั้งๆ ที่เราจะไม่อาจเข้าใจการบำบัดโรคได้เลย หากปราศจากความเข้าใจต่อความเชื่อ การยึดติด ความคาดหวัง และภาพลักษณ์เกี่ยวกับตนเองที่ส่งผลต่ออาการเจ็บป่วยของผู้นั้น ยกตัวอย่างเช่น ได้มีการพิสูจน์ทางการแพทย์ออกมาแล้วว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง และโรคหัวใจเพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยที่มีภาวะจิตใจสิ้นหวัง และลดต่ำลงในผู้ป่วยที่มีจิตสำนึกอย่างแรงกล้าที่จะมีชีวิตอย่างมีจุดหมาย



ในทำนองเดียวกัน จิตสำนึก ย่อมทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นมากมายในเรื่องความแก่ชรา ถึงแม้ว่าสิ่งมีชีวิตชั้นสูงทุกชนิดจะแก่ตัวลง แต่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตน และได้แปลความรับรู้นี้ไปสู่ความแก่ชราของตนด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสิ้นหวังต่อความแก่จะทำให้คนผู้นั้นยิ่งแก่เร็วขึ้น ในทางตรงกันข้าม การยอมรับความแก่อย่างสง่าผ่าเผย และลงมือปฏิบัติอย่างบูรณาการเพื่อ “ชะลอวัย” จะป้องกันความทุกข์ต่างๆ ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจให้กลายเป็นเรื่องไกลตัวของผู้นั้น



“คนเราจะแก่เท่าที่คนผู้นั้นคิดว่าตัวเองแก่เท่านั้น” นี่เป็นคำสอนของศาสตร์ชะลอวัยที่ลึกซึ้ง เพราะบ่งบอกถึง พลังของความคิดในการชะลอวัย เพราะความคิดคือแรงกระตุ้นของพลังงาน และข้อมูลข่าวสารเหมือนทุกๆ สิ่งในธรรมชาติ ถ้าหากเราเข้าไปมีส่วนร่วมในปฏิกิริยาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในตัวเราอย่างมีจิตสำนึก มันก็น่าจะส่งผลในเชิงบวกต่อร่างกายของเราได้ กล่าวคือ ความเชื่อ ความคิด และอารมณ์ของเรา สามารถรังสรรค์ปฏิกิริยาชีวเคมีที่ค้ำจุนชีวิตในทุกๆ เซลล์ของร่างกายของเราได้ ขณะที่เซลล์ที่แก่ตัวลงเป็นผลผลิตบั้นปลายของจิตสำนึกที่ลืมไปว่าจะคงความสดใหม่ได้อย่างไร แต่พลังของจิตสำนึกจะไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างในชีวิตของเราเลย ถ้าหากธรรมชาติสร้างคนเราทุกคนให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อประสบการณ์ในแบบเดียวกัน แต่โชคดีเหลือเกินที่ในความเป็นจริง มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้