คมดาบซากุระ 2 : หนี้สาธารณะและการสร้างเครดิตให้ชาติของวีรพงษ์ โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (25 มกราคม 2555)

คมดาบซากุระ 2 : หนี้สาธารณะและการสร้างเครดิตให้ชาติของวีรพงษ์ โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (25 มกราคม 2555)


หนี้สาธารณะและการสร้างเครดิตให้ชาติของวีรพงษ์

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

25 มกราคม 2555




ไทยกำลังจะเป็นไปเหมือน อาร์เจนตินาหรือกรีซ
All Pain No Gain



การให้สัมภาษณ์ของวีรพงษ์ รามางกูรเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของทักษิณผ่านรัฐบาล “หุ่นโชว์” ว่าจะนำพาประเทศไปสู่จุดใดในอนาคต



วีรพงษ์กล่าวเกี่ยวกับการลดหนี้สาธารณะที่เป็นรัฐวิสาหกิจไว้ว่า “หนี้สาธารณะประเภทที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นมหาชน เป็นรัฐวิสาหกิจกึ่งเอกชน และเข้มแข็งยืนอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ได้เป็นภาระ และไม่ได้ให้รัฐบาลไปค้ำประกันหนี้ ไม่ต้องการโลโกรัฐบาลไปปิดหน้าบริษัทเพื่อให้คนเชื่อถือได้ทั่วโลก เช่น บริษัท ปตท. หรือการบินไทย” ก็จะลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐลงให้เหลือต่ำกว่าร้อยละ 49 จากปัจจุบันที่มีประมาณร้อยละ 51 หรือมากกว่า เพื่อมิให้เป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไปโดยให้กองทุนวายุภักษ์ที่เป็นของรัฐไปถือหุ้นแทน



ดังนั้นเมื่อกองทุนวายุภักษ์ไปถือหุ้นแทนรัฐบาล “ปตท.ทั้งยวงก็หลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ หนี้ของ ปตท. และข้อผูกพันของ ปตท.ประมาณ 7 แสนล้านบาทก็ไม่เป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งมันจะสะท้อนฐานะทางการคลังของรัฐบาลไทยได้ดีว่า การที่หนี้ของ ปตท.มาเป็นหนี้สาธารณะนี้ มันไม่ตรงความจริง เพราะ ปตท.ยืนด้วยขาของตัวเอง ลงทุนเองไม่ได้ใช้งบประมาณซักบาท ซักสตางค์แดงเดียว แต่มาเป็นหนี้รัฐบาล หนี้สาธารณะ ก็ทำให้มันตรงกับข้อเท็จจริง ผู้บริหารของ ปตท.เขาสบายใจ เพราะสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ ถ้าไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ”



วีรพงษ์ให้เหตุผลราวกับว่า รัฐวิสาหกิจเป็นลูกที่ไม่รู้จักบุญคุณ ไม่คิดหรือว่าที่รัฐวิสาหกิจแข็งแรงเติบใหญ่มาถึงทุกวันนี้ก็เพราะประชาชนให้น้ำให้ข้าวเขาค้ำประกันเป็นทุนประเดิมไปใช้ตอนยังแบเบาะ หากไม่ได้หนึ่งบาทตอนนั้นก็ไม่มีหมื่นล้านตอนนี้



หนี้สาธารณะตามกฎหมายไทยบัญญัติไว้ตาม ม. 4 ของ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ที่ออกในสมัยรัฐบาลทักษิณ กำหนดว่าเป็นหนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยกระทรวงการคลังมิได้ค้ำประกัน



กล่าวง่ายๆ ก็คือเป็นหนี้ของ รัฐบาล + รัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับนิยามที่ใช้กันทั่วโลกเพราะรัฐบาลสามารถให้องค์กรหรือหน่วยงานใดเป็นตัวแทนไปสร้างหนี้ก็ได้ ดูตัวอย่างของกองทุนหมู่บ้านฯในปี พ.ศ. 2545 ก็ได้ว่าก่อหนี้โดยให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีทรัพย์สินใดเลยไปกู้จากธนาคารออมสินแทนรัฐบาล ในทำนองเดียวกันสมมติว่าหากการไฟฟ้าฯ ไปกู้เงินแม้รัฐบาลไม่ค้ำประกันแต่หากไม่ชำระหนี้รัฐบาลจะนิ่งเฉยไม่ชำระแทนโดยปล่อยให้เจ้าหนี้มายึดทรัพย์ดับไฟให้ประชาชนเดือดร้อนได้หรือไม่



นอกจากนี้ใน ม. 7 และ ม. 8 ของกฎหมายดังกล่าวจึงกำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจในการกู้หรือค้ำประกันแต่ผู้เดียว หน่วยงานรัฐอื่นใดจะไปกู้โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้มิได้



ต่างจากรัฐวิสาหกิจเป็นสถาบันการเงินหนี้สินที่เกิดขึ้น เช่น เงินฝากจะมีทรัพย์สิน เช่น ลูกหนี้จากการให้กู้ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งในบัญชีเกิดขึ้นเช่นกัน



หนี้ที่ออมสินหรือกรุงไทยจึงไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ในขณะที่หนี้ ปตท. การบินไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจึงเป็นหนี้สาธารณะด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น



การ “หลอก” คนอื่นโดยตกแต่งบัญชีให้กองทุนวายุภักษ์ที่วีรพงษ์เองก็บอกเองว่าเป็นของรัฐให้ถือหุ้นแทนก็ไม่ได้ทำให้ทั้ง ปตท. หรือ การบินไทย หลุดพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจไปได้เพราะสัดส่วนที่รัฐถืออยู่โดยรวมก็ยังเกินกว่าร้อยละ 50 อยู่ดี เพียงแต่ว่าจะไปอยู่ในมือของรัฐและหน่วยงานรัฐใดเท่านั้น



รัฐวิสาหกิจไทยในกฎหมายหลายๆ ฉบับแม้แต่ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ม. 4 (ก) ให้ความหมายไว้ว่าเป็นของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรของรัฐบาลที่รัฐเป็นเจ้าของ (ข) จะโดยรัฐหรือหน่วยงานใดถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 หรือ (ค) ถือหุ้นโดยหลายหน่วยงานของรัฐรวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ก็ได้เพราะคำนวณจากทุนตามที่หน่วยงานนั้นๆ ลงทุนไป จะมาอ้างมั่วๆ แบบ “โกร่งๆ” ว่าพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้วเพราะคิดเฉพาะหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ไม่คิดหุ้นที่กองทุนวายุภักษ์ที่เป็นของรัฐบาลเช่นกันได้อย่างไร



แนวคิดแบบที่วีรพงษ์ให้สัมภาษณ์ จึงไม่สะท้อนความเป็นจริงในสถานะทางการคลังของรัฐบาลไทยแต่อย่างใด หนี้สาธารณะจะหายไปได้ก็เพราะ (1) มีการใช้หนี้คืนและ/หรือ (2) ขายรัฐวิสาหกิจไปให้เอกชนอันจะเป็นหนทางที่แท้จริงในการลดระดับหนี้สาธารณะเท่านั้น



ในทางกลับกัน ทั้งแนวคิดและความพยายามในการปิดบังซ่อนเร้นและตกแต่งบัญชีดังเช่นที่วีรพงษ์ให้สัมภาษณ์มานี่แหละจะเป็นเครื่องบั่นทอนเครดิตของประเทศไทย



วีรพงษ์น่าจะพ้นจากความเป็นนักวิชาการหรือาจารย์ไปนานแล้ว คงมีแต่สื่อมวลชนนี้แหละที่ยกยอปอปั้นเรียกคำนำหน้าหรือสรรพนามว่าอาจารย์ ทั้งๆที่เคยเขียนงานวิชาการเผยแพร่ครั้งสุดท้ายเมื่อใดเจ้าตัวจำได้หรือไม่ อย่าลืมว่าหมอนวดตามโรงนวด เซียนพระหรือหมอดูตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่บาทวิถีจนถึงโรงแรมก็เรียกว่าเป็นอาจารย์ เครดิตหรือความน่าเชื่อถือทางการคลังนี้วีรพงษ์รู้หรือไม่ว่าไม่มีขายมีแต่ต้องทำเอง และวิธีที่จะทำขึ้นมาก็คือ ทำตามที่พูดและโปร่งใสตรวจสอบได้



แนวคิดและความพยายามที่จะบอกกับสังคมว่าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มิใช่เป็นหนี้สาธารณะซึ่งรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ก่อ และบัดนี้เจ้าของหนี้ก็แข็งแรงแล้ว ก็ขอให้รับคืนไปจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เป็นความชอบธรรมของรัฐบาลที่จะโอนคืนนั้น มันตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการอย่างไร



หน้าที่หลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คือทำหน้าที่ธนาคารกลางให้กับประเทศโดยมีเป้าหมายหลักในการรักษาเสถียรภาพโดยการรักษาระดับราคามิให้ผันผวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือที่เรียกง่ายๆ ว่า เงินเฟ้อ อาศัยอำนาจในการเพิ่มหรือลดปริมาณเงินในระบบเป็นเครื่องมือ ไม่มีหน่วยงานอื่นที่ทำหน้าที่เช่นนี้ได้



ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการสร้างความน่าเชื่อถือว่าเศรษฐกิจภายใต้การบริหารของตนเองว่ามีเสถียรภาพก็ต้องให้อิสระกับ ธปท.ในการควบคุมเงินเฟ้อ เพราะอำนาจในการเพิ่มเงินเป็นสิ่งล่อใจอาจทำให้รัฐบาลเห็นกงจักรเป็นดอกบัวสั่งให้เพิ่มเงินแทนการเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้จ่าย ตัวอย่างมีให้เห็นทั่วโลกว่าหากรัฐบาลสามารถสั่งให้ธนาคารกลางเพิ่มเงินให้เอาไปใช้จ่ายโดยเสรีแล้ว ความน่าเชื่อถือก็จะหมดไปเพราะจะไม่สามารถรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อเอาไว้ได้



ผลเสียจากเงินเฟ้อ นอกจากจะกระทบประชาชนโดยเฉพาะคนที่มีรายได้คงที่แล้วยังกระทบต่อความสามารถในการกู้เงินของประเทศเพราะจะไม่สามารถกู้เงินในสกุลเงินของตนเองในระยะยาวและกำหนดดอกเบี้ยแบบคงที่ได้ เงินเฟ้อจะทำให้อำนาจซื้อของเงินในอนาคตลดลง แล้วเสถียรภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไรหากต้องกู้เป็นเงินตราต่างประเทศ ระยะสั้น และดอกเบี้ยลอยตัวตามเงินเฟ้อ หลายประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาที่นิยมใช้นโยบายประชานิยมมาก่อนเป็นตัวอย่างที่ดีว่าจนบัดนี้ยังไม่สามารถกู้ในแบบที่ไทยสามารถกู้ได้ในปัจจุบัน เงินเฟ้อมีผลต่อโครงสร้างหนี้



การโอนหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่ ธปท.กำกับดูแลก็หมายความว่าจะให้ธปท.ออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยมาทดแทนพันธบัตรที่รัฐบาลเคยออกให้แล้วรัฐบาลจะรักษาเงินเฟ้อได้อย่างไรเพราะปริมาณเงินในระบบจะต้องเพิ่มขึ้น ไม่ทราบว่า “ความแข็งแรง” ที่วีรพงษ์กล่าวนั้นหมายถึงอะไรเพราะที่กล่าวมาล้วนทำร้ายเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างเลือดเย็น



การลดระดับหนี้สาธารณะที่พยายามทำอยู่ ไม่ว่าจะบังคับโอนหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปชำระแทนก็ดี หรือการให้กองทุนวายุภักษ์มาถือหุ้นบางส่วนของ ปตท.แทนกระทรวงการคลังก็ดี ล้วนเป็นแนวคิดและความพยายามที่จะหลอกลวง ปกปิด และทำร้ายประเทศด้วยการทำลายความน่าเชื่อถือทางการคลัง



อย่าคิดว่าประเทศไทยจะไม่เป็นเหมือนกับอาร์เจนตินาในอดีต หรือกรีซในปัจจุบัน เพราะแนวคิดของวีรพงษ์และรัฐบาลนี้กำลังทำก็ไปในทิศทางเดียวกับที่ประเทศเหล่านั้นเคยเดิน



วีรพงษ์ก็เรียนรู้มาบ้างมิใช่หรือจากการเป็นประธานธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การที่หลอกลวงและปกปิดประชาชน เป็นจุดเริ่มต้นและศูนย์กลางของปัญหาที่ต้องให้คนอื่นๆ ที่รวมถึงกองทุนฟื้นฟูฯ ต้องตามล้างตามเช็ดมาถึงปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ใครจะเชื่อว่าเกริกเกียรติทำได้คนเดียว



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้